Air SurOundinG mE liKe mY besT frIendS !
Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2555
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
11 กรกฏาคม 2555
 
All Blogs
 
Lá Triệu - หลาเจี่ยว เอกสารการเดินทางสู่ปรโลก

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เดิมทีที่บ้านนาจอกฝั่งบ้านใหม่นั้นไม่มีธรรมเนียมการใช้หล่าเจี่ยวมาตั้งแต่แรกสร้างหมู่บ้าน แต่ทว่าบ้านนาจอกฝั่งต้นผึ้งซึ่งไปรวมเข้ากับสมาคมศาลเจ้าแ่ท่งฮว่าง นั่นยังคงมีการใช้หล่าเจี่ยวอยู่จนปัจจุบัน

ผมเห็นว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจ เพราะเป็นเรื่องราวที่ลึกซึ้งหาอ่านได้ยาก หากได้บทความนี้มาลงไว้ในบล๊อกนาจอก ณ นครพนมน่าจะทำให้เรื่องราวธรรมเนียมหลังความตายของชาวไทยเชื้อสายเวียตนามในบล๊อกนี้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

ขอบคุณเจ้าของบทความ น้องต้อม หรือพัชรพงษ์ ภูเบศร์พีรวัส ที่อนุญาตให้นำบทความพร้อมรูปประกอบที่ทรงคุณค่ามาเผยแพร่ในบล๊อกนี้

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

...ในพิธีศพแบบเวียดนาม สิ่งที่มักจะเห็นจนคุ้นตาคือกระดาษสีแดงยาวๆ ที่ปลายถูกตัดเป็นริ้วๆ 3 ริ้ว เขียนด้วยภาษาเวียดนามใช้อ่านในพิธีฝังศพ กระดาษสีแดงแผ่นนี้มีชื่อว่า “Lá Triệu – หลาเจี่ยว” ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะขาดเสียมิได้ในการจัดพิธีศพแบบเวียดนาม เพราะหลาเจี่ยวเปรียบเสมือนหนังสือเดินทางที่ดวงวิญญาณของผู้ตายจะต้องนำติดตัวไปด้วย เอาให้เข้าใจง่ายๆ มันก็เหมือนกับพาสปอตของเราเราท่านท่านนั่นเอง

            การเขียนหลาเจี่ยวได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมจีนโดยตรง ไม่ใช่เฉพาะเวียดนามเพียงชาติเดียวที่ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมจีน เกาหลีเองก็เป็นอีกหนึ่งชาติที่ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมจีนโดยตรงเช่นกัน หากสังเกตให้ดีเวลาดูซีรี่ส์เกาหลีจะพบว่าพิธีกรรมหลังความตายหลายของเกาหลีและเวียดนามคล้ายกันมาก  เกาหลีเองก็มีการเขียนหลาเจี่ยวในพิธีศพเช่นกัน เพียงแต่จะสั้นและกระชับกว่าของเวียดนาม

 

หลาเจี่ยวของเกาหลีจะนิยมเขียนใส่ผ้าสีแดง มีขนาดใหญ่และมีการเขียนที่กระชับกว่าหลาเจี่ยวของเวียดนาม ภาษาเกาหลีเรียกหลาเจี่ยวว่า มยอง จอง (명정)

 

การเขียนหลาเจี่ยวของเกาหลีจะสั้นและกระชับ ด้านบนเป็นของผู้ตายที่เป็นหญิง ด้านล่างเป็นของผู้ตายที่เป็นชาย

 มีอะไรอยู่ในหลาเจี่ยว??? 

            ในหลาเจี่ยวจะเขียนข้อมูลเบื้องต้นของผู้ตาย เช่น ภูมิลำเนา ชื่อ – สกุล ปีเกิด วันเสียชีวิต เป็นต้น การเขียนหลาเจี่ยวแต่เดิมนั้นเขียนด้วยอักษรจีนและใช้หมึกสีขาว หลังจากนั้นจึงเปลี่ยนมาใช้อักษรเวียดนามในยุคปัจจุบัน การเขียนหลาเจี่ยวมีอยู่ 2 แบบ ซึ่งมีการใช้ไวยากรณ์อยู่ 2 ประเภท คือ 1) ไวยากรณ์แบบจีน – เวียดนาม เรียกว่า หาน - เวียด (Hán – Việt) และ 2) ไวยากรณ์แบบเวียดนามล้วนๆ เรียกว่า ถ่วนเวียด (Thuần Việt) โดยมีรายละเอียดการเขียนหลาเจี่ยวแต่ละประเภท ดังนี้

1)  แบบโบราณ คือ จะเขียนโดยใช้ไวยากรณ์แบบจีน – เวียดนาม ในภาษาเวียดนามเรียกว่า หาน - เวียด (Hán – Việt) ซึ่งเป็นไวยากรณ์แบบเวียดนามยุคเก่า และได้รับอิทธิพลการเรียงคำมาจากภาษาจีนโดยตรง แต่ก็ใช่ว่าจะเหมือนกับไวยากรณ์จีนทั้งหมดซะทีเดียว โดยปกติแล้วการเรียงคำในภาษาเวียดนามจะคล้ายกับการเรียงคำในภาษาไทย แต่หากเรียงแบบจีน – เวียดนาม คำบางคำจะสลับหัวสลับหางกันกับภาษาเวียดนามในยุคปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น การเรียงลำดับที่อยู่ ปัจจุบันการเขียนที่อยู่มักจะเริ่มจากบ้านเลขที่ ตามด้วยหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด แต่การเรียงลำดับที่อยู่โดยใช้ไวยากรณ์แบบจีน – เวียดนาม นั้นจะสลับกันโดยสิ้นเชิง โดยจะเริ่มจากจังหวัด อำเภอ ตำบล ตามด้วยหมู่บ้านและบ้านเลขที่อยู่ท้ายสุด การเขียนโดยยึดไวยากรณ์จีน – เวียดนาม คำว่าจังหวัดจะอยู่หลังชื่อของจังหวัด เช่น จังหวัดนครพนม หากเขียนโดยใช้ไวยากรณ์จีน – เวียดนามแล้ว จะต้องเขียนว่า นครพนมจังหวัด นอกจากนี้ การเรียงวันที่แบบจีน – เวียด จะเรียงจากปีไปหาวัน ตัวอย่างเช่น ปี 2555 เดือนมิถุนายน วันที่ 25 ข้อสำคัญการเขียนแบบโบราณนิยมใช้คำที่ลึกซึ้งและเป็นคำที่มีรากศัพท์มาจากภาษาจีนเป็นส่วนใหญ่

 

การเขียนหลาเจี่ยวแบบโบราณที่ถูกประยุกต์กับยุคสมัยใหม่ โดยเขียนด้วยอักษรจีนและมีคำอ่านเป็นภาษาเวียดนามอยู่ด้านล่าง เพื่อความสะดวกในการประกอบพิธีต่างๆ

2) แบบสมัยใหม่ คือ จะเขียนโดยใช้ไวยากรณ์เวียดนามล้วนๆ ภาษาเวียดนามเรียกว่า ถ่วนเวียด (Thuần Việt) โดยการเรียงคำจะเรียงแบบใหม่ ไม่ใช้คำที่ลึกซึ้งมากนัก คำที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นคำเวียดนามโดยแท้ การเรียงลำดับก็จะไม่กลับหัวกลับหางเหมือนกับการเขียนโดยยึดไว้ยากรณ์จีน – เวียดนาม ถึงแม้จะใช้ไวยากรณ์เวียดนามล้วนๆ แต่การใช้คำศัพท์บางคำซึ่งเป็นศัพท์เฉพาะและมาจากภาษาจีนก็ยังคงปะปนอยู่ในการเขียนหลาเจี่ยวแบบสมัยใหม่อยู่บ้าง บางครั้งอาจทำให้เนื้อความบางช่วงเข้าใจยากบ้างง่ายบ้างสลับกันได้ การเขียนหลาเจี่ยวแบบสมัยใหม่จะนิยมใช้วันเดือนปีตามปฏิทินสุริยคติ ซึ่งต่างจากการเขียนแบบโบราณที่จะนิยมใช้วันเดือนปีตามปฏิทินจันทรคติ

ตัวอย่างการเขียนหลาเจี่ยวแบบโบราณ (ตำราบ้านโพนบก)

             การเขียนหลาเจี่ยวแบบโบราณมักจะนิยมเขียนด้วยอักษรจีนบนกระดาษสีแดง แต่เนื่องจากยุคสมัยเปลี่ยน คนที่รู้ตัวอักษรจีนในหมู่ชาวไทยเชื้อสายเวียดนามต่างล้มหายตายจากไปตามกาลเวลา จึงมีการถอดคำอ่านในภาษาจีนมาเขียนด้วยตัวอักษรเวียดนามในปัจจุบันแทน แต่การเรียงคำศัพท์และไวยากรณ์ในการเขียนยังคงเป็นแบบเดิม กล่าวคือยังใช้ไวยากรณ์แบบจีน – เวียดนาม โดยไม่มีการปรับเปลี่ยนลำดับข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เนื้อหาในหลาเจี่ยวจะระบุว่าผู้ตายเป็นใคร เกิดที่ไหน ปีอะไร เป็นพี่น้องคนที่เท่าไหร่ในครอบครัว เสียวันที่เท่าไหร่ เดือนและปีอะไร อายุเท่าไหร่ เป็นต้น ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างการเขียนหลาเจี่ยวแบบฉบับชุมชนโพนบก ซึ่งยังคงเขียนหลาเจี่ยวยึดแบบโบราณ เพียงแต่ไม่ได้เขียนด้วยอักษรจีนเหมือนในอดีตและเปลี่ยนจากเขียนด้วยหมึกสีขาวมาเป็นหมึกสีดำ

ตัวอย่างหลาเจี่ยวในกรณีที่ผู้ตายเป็นชาย

แถวกลาง – Phục vị cố phụ sinh trưởng Thái Lan quốc Nakhon Phanôm tỉnh Phôn Bốc xã Đặng cán phủ đệ nhất hàng hạ huý Đặng Văn Hiền quy tiên chi linh chính cữu

แถวขวา – Nguyên mạnh sinh ư Quý Hợi niên thượng thọ bát thập nhị tuế tả tam hồn câu lai

แถวซ้าย – Đại hạn ư Giáp Thân niên lục nguyệt thập tứ nhật mạnh chung hữu thất phách câu chí

คำแปล 

แถวกลาง – พ่อผู้วายชนม์ เกิดและโตที่ประเทศไทย จังหวัดนครพนม บ้านโพนบก เป็นคนในตระกูลดั่ง พี่น้องลำดับที่หนึ่ง ชื่อ-สกุลจริงคือ ดั่ง วัน เหี่ยน ได้เสียชีวิตลง วิญญาณจงมาสถิตย์ที่หีบศพ

แถวขวา – เกิดเมื่อปีกุล อายุ 82 ปี วิญญาณทั้ง 3 จงมารวมกัน

แถวซ้าย – เสียชีวิตในปีวอกเดือน 6 วันที่ 14 ขวัญทั้ง 7 จงมารวมกัน

*** หมายเหตุ : วันเดือนปีที่ใช้ในการเขียนหลาเจี่ยวแบบโบราณนั้น จะนิยมใช้วันเดือนปีตามปฏิทินจันทรคติของเวียดนาม ไม่นิยมใช้ปฏิทินสุริยคติแต่อย่างใด ***

ตัวอย่างหลาเจี่ยวในกรณีที่ผู้ตายเป็นหญิง

แถวกลาง – Phục vị cố mẫu sinh trưởng Thái Lan quốc Nakhon Phanôm tỉnh Phôn Bốc xã Đặng lĩnh thị đệ tứ hàng huý Đặng Thị Nang quy tiên chi linh chính cữu

แถวขวา – Nguyên mạnh sinh ư Canh Dần niên hưởng dương ngũ thập cửu tuế tả tam hồn câu lai

แถวซ้าย – Đại hạn ư Mậu Tý niên ngũ nguyệt nhị thập tứ nhật mạnh chung hữu cửu phách câu chí

คำแปล 

แถวกลาง – แม่ผู้วายชนม์ เกิดและโตที่ประเทศไทย จังหวัดนครพนม บ้านโพนบก เป็นคนในตระกูลดั่ง พี่น้องลำดับที่สี่ ชื่อ-สกุลจริงคือ ดั่ง ถิ นาง ได้เสียชีวิตลง วิญญาณจงมาสถิตย์ที่หีบศพ

แถวขวา – เกิดเมื่อปีขาล อายุ 59 ปี วิญญาณทั้ง 3 จงมารวมกัน

แถวซ้าย – เสียชีวิตในปีชวด เดือน 5 วันที่ 24 ขวัญทั้ง 9 จงมารวมกัน

*** หมายเหตุ : วันเดือนปีที่ใช้ในการเขียนหลาเจี่ยวแบบโบราณนั้น จะนิยมใช้วันเดือนปีตามปฏิทินจันทรคติของเวียดนาม ไม่นิยมใช้ปฏิทินสุริยคติแต่อย่างใด ***

 

            สิ่งที่น่าทึ่งสำหรับการเขียนหลาเจี่ยวแบบโบราณคือความสละสลวยของการใช้คำที่แฝงไปด้วยความหมายอันลึกซึ้ง ซึ่งผู้เขียนขอยกตัวอย่างและอธิบายการใช้คำบางส่วนให้ได้ฟังกันดังนี้นะครับ ไล่เรียงตามลำดับดังนี้

            คำแรกคือคำว่า Phục vị (ฝุก หวี่) หมายถึงการแสดงความเคารพบูชา เป็นคำที่ใช้เขียนขึ้นต้นของหลาเจี่ยว ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชายก็จะขึ้นต้นด้วยคำนี้ทั้งสิ้น

            คำต่อมาคือคำที่บ่งบอกว่าผู้ตายเป็นใคร ในการเขียนหลาเจี่ยวกรณีที่ผู้ตายเป็นพ่อจะศัพท์คำว่า cố phụ (โก๋ ฝุ) ซึ่งสามารถแยกอธิบายความหมายได้ดังนี้ cố (โก๋) หมายถึง เก่าหรืออดีต ส่วนคำว่า phụ (ฝุ) หมายถึงพ่อ สองคำนี้เป็นคำยืมมาจากภาษาจีน รวมกันแล้วได้ความหมายว่าพ่อซึ่งจากโลกนี้ไป หากจะแปลตามตัวก็คืออดีตพ่อผู้ที่เคยมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้  และในกรณีที่ผู้ตายเป็นแม่ก็จะใช้คำว่า cố mẫu (โก๋ เมิ๋ว) ซึ่งก็หมายถึงแม่ผู้ซึ่งจากโลกนี้ไป

            ในกรณีที่ลูกเสียชีวิตก่อนพ่อแม่และอายุยังน้อย การเขียนหลาเจี่ยวก็จะใช้คำว่า yểu tử (เอี่ยว ตื่อ)ซึ่งหมายถึง ลูกวาสนาน้อยเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ส่วนในกรณีที่แต่งงานแล้วแต่ไม่มีลูก หากผู้หญิงเป็นฝ่ายเสียชีวิตจะใช้คำว่า nhụ nhân (หยุ เยิน) หมายถึงภรรยาผู้ดีเลิศ ขณะที่ชายจะใช้คำว่า phủ quân (ฝู่ เกวิน) หมายถึงสามีอันประเสริฐ

            ต่อมาคือสถานที่เกิดและภูมิลำเนาของผู้ตาย จากนั้นก็จะมาถึงส่วนที่บอกว่าผู้ตายเป็นคนในตระกูลใดโดยจะกล่าวถึงนามสกุลของผู้ตายแล้วตามด้วยคำที่บ่งบอกว่าผู้ตายเป็นชายหรือหญิง

            ในหลาเจี่ยวจะมีคำที่บ่งบอกว่าผู้ตายเป็นชายหรือหญิง โดยจะอยู่หลังนามสกุล ในกรณีที่ผู้ตายเป็นชายจะใช้คำว่า cán phủ (ก๋าน ฝู่) และถ้าหากผู้ตายเป็นหญิงจะใช้คำว่า lĩnh thị (หลิง ถิ) ซึ่งสองคำนี้จะยืนอยู่หลังนามสกุลของผู้ตาย สมมุติว่าผู้ตายเป็นชายอยู่ในตระกูลดั่งก็จะเขียนว่า Đặng cán phủ (ดั่ง ก๋าน ฝู่) หากผู้ตายเป็นหญิงในตระกูลดั่งก็จะเขียนว่า Đặng lĩnh thị (ดั่ง หลิง ถิ)

            และที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับการเขียนหลาเจี่ยวคือคำลงท้าย chi linh chính cữu แยกตามลำดับดังนี้ chi (จี) หมายถึง ที่ ส่วนคำว่า linh cữu (ลิง กื๋ว) หมายถึงโลงศพ และคำว่า chính (จิ๋ง) เป็นคำที่เข้ามาเสริมเพื่อชี้ชัดว่าให้วิญญาณมาสถิตย์ที่ใจกลางของหีบศพ เพราะคำว่า chính (จิ๋ง) มีความหมายว่าใจกลาง คำลงท้ายนี้สามารถเพิ่มลดได้ตามความเหมาะสม บางครั้งอาจเขียนแค่ chi linh cữu (จี ลิง กื๋ว) หรือตัดให้สั้นกว่านั้นก็เขียนแค่ chi cữu (จี กื๋ว) ก็ได้ ซึ่งก็ไม่ได้ถือว่าผิดหลักแต่ประการใด เพราะความหมายยังคงเดิม ขึ้นอยู่กับความนิยมของแต่ละพื้นที่  คำลงท้ายนี้เป็นตัวบอกว่าสิ่งที่เขียนมาทั้งหมดคืออะไร

หลาเจี่ยวถูกใช้เมื่อใด??? 

            หลาเจี่ยวจะถูกใช้ในการประกอบพิธีที่สำคัญอยู่ 2 พิธี คือ          

 1. พิธีบบรจุศพเข้าโลง ในพิธีนี้หลังจากที่มีการบรรจุศพเข้าโลงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก่อนที่ฝาโลงจะถูกปิดสนิทชั่วนิรันดร์ ซินแสจะอ่านหลาเจี่ยวทั้งหมด 3 ครั้ง เมื่ออ่านจบในแต่ละครั้งซินแซจะเรียกวิญญาณให้มาสถิตย์อยู่ที่หีบศพ หลังจากอ่านครบ 3 ครั้งแล้ว ฝาโลงศพก็จะถูกปิด หลาเจี่ยวก็จะถูกแขวนอยู่ใกล้ๆ บริเวณตั้งศพจนกว่าจะถึงวันฝังศพ เมื่อถึงวันฝังศพ หลาเจี่ยวจะถูกแขวนบนไม้ไผ่ หรือติดบนโครงเหล็กที่อยู่กับลิงซา (ที่สถิตย์ของวิญญาณในขบวนแห่ศพ) ใช้นำหน้าในขบวนเคลื่อนศพแบบเวียดนาม

 

 

ซินแซอ่านหลาเจี่ยวในพิธีบรรจุศพเข้าโลง

 2. พิธีฝังศพ ในพิธีนี้ ทันทีที่โลงศพถูกวางลงในหลุมศพเรียบร้อยแล้ว ก่อนจะปิดหลุมศพอย่างถาวร ซินแซก็จะอ่านหลาเจี่ยวอีก 3 ครั้ง เพื่อเรียกให้วิญญาณผู้ตายมาสถิตย์อยู่ที่หลุมศพ หลังจากนั้น หลาเจี่ยวจะถูกเผาเพื่อให้ผู้ตายนำติดตัวไปยังปรโลก ทั้งนี้ ประเพณีแบบโบราณหลาเจี่ยวจะถูกฝังไปกับโลงศพ เหตุที่ยุคหลังนิยมเผาหลาเจี่ยวก็เป็นเพราะหลาเจี่ยวสมัยใหม่ถูกเขียนด้วยปากกาหมึก ไม่สามารถลบได้ ซึ่งในอดีตหลาเจี่ยวจะถูกเขียนด้วยปูนขาว เมื่อถึงเวลาที่จะต้องฝัง ซินแซก็จะขูดเอาปูนขาวคำที่เขียนนามสกุลของผู้ตายออก เพราะมีความหมายว่าหากไม่ขูดออกก็เท่ากับว่าฝังทั้งตระกูล ดังนั้น ก่อนจะฝังหลาเจี่ยวไปกับหีบศพจึงต้องขูดเอาส่วนที่เป็นนามสกุลนั้นออก นี่คือเหตุผลว่าทำไมจึงนิยมเผาหลาเจี่ยวในยุคหลังๆ

 

ซินแซอ่านหลาเจี่ยวในพิธีฝังศพ

             ก่อนหน้านี้ นับว่าเป็นโชคดีของผู้เขียนเป็นอย่างมาก ที่ได้ข้อมูลการเขียนหลาเจี่ยวจากซินแซประจำชุมชนโพนบก ซึ่งการเขียนหลาเจี่ยวของซินแซท่านนี้ ในอดีตถูกเขียนด้วยตัวอักษรจีน จากนั้นยุคสมัยเปลี่ยน อะไรๆ จึงเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา การเขียนหลาเจี่ยวของชุมชนโพนบกจึงเปลี่ยนมาใช้อักษรเวียดนามในปัจจุบัน เหตุที่นับว่าเป็นโชคของผู้เขียนก็คือ ผู้เขียนลองนำข้อมูลการเขียนหลาเจี่ยวของชุมชนโพนบกมาแปลงย้อนกลับไปเป็นอักษรจีน โดยได้รับความช่วยเหลือจากปู่ของเพื่อนรักที่เวียดนาม ซึ่งท่านเองก็รู้อักษรจีนอยู่มาก สิ่งที่ทำให้ประหลาดใจที่สุดคือ สามารถแปลงการเขียนหลาเจี่ยวจากอักษรเวียดนามกลับคืนมาเป็นอักษรจีนได้อีกครั้ง โดยถูกต้องตามหลักไวยากรณ์และไม่มีผิดเพี้ยนแม้แต่น้อย จึงถือเป็นสิ่งที่ผู้เขียนรู้สึกประทับใจเป็นอย่างมากว่า มรดกจากบรรพบุรุษครั้งนึงถูกปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพื่อควาอยู่รอด แต่บัดนี้มันถูกปรับเปลี่ยนย้อนกลับคืนมาให้เหมือนเมื่อในอดีต  ราวกับว่ามีบางสิ่งที่ห่างหายไปนานแสนนานได้กลับคืนมาที่ที่เดิมของมันอีกครั้ง

 

หลาเจี่ยวที่ถูกปรับจากอักษรเวียดนามกลับไปเป็นอักษรจีนอีกครั้ง

     ทั้งหมดนี้ คือที่มาที่ไปของกระดาษสีแดงหนึ่งแผ่นที่ดูจะเป็นสิ่งของธรรมดาในพิธีศพ แต่หารู้มั้ยว่าของสิ่งนี้มีความหมายและความสำคัญกับผู้ที่จากโลกนี้ไปเป็นอย่างมาก สำหรับคนเวีดยนามแล้ว จะยากดีมีจน จะสูงต่ำหรือดำขาว จะมียศฐาบรรดาศักดิ์มากมายขนาดไหน สุดท้ายแล้วสิ่งของที่นำติดตัวไปยังภพหน้าได้ก็มีเพียงกระดาษสีแดงแผ่นนี้แผ่นเดียวเท่านั้น เพราะฉะนั้น หลาเจี่ยว จึงถือเป็นเอกสารสำคัญของดวงวิญญาณในการเดินทางสู่โลกหลังความตาย ที่วันหนึ่งเราๆ ท่านๆ เองก็คงได้ถือมันแล้วออกเดินทางไกลกันอีกครั้ง

       " สัพเพธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ - สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น "

 

 

 




Create Date : 11 กรกฎาคม 2555
Last Update : 11 กรกฎาคม 2555 15:32:08 น. 5 comments
Counter : 4123 Pageviews.

 


โดย: tuk-tuk@korat วันที่: 11 กรกฎาคม 2555 เวลา:14:31:49 น.  

 
ขอบคุณครับที่นำมาเผยแพร่ เป็นการบันทึกรายละเอียดที่น่าสนใจมากครับ


โดย: Insignia_Museum วันที่: 11 กรกฎาคม 2555 เวลา:21:49:03 น.  

 
อรุณสวัสดิ์ครับพี่พีร์

รายละเอียดมากทีเดียวนะครับ
ถ้าไม่มีใครจดไว้ หรือบอกสอนกันไว้
สักวันคงถูกลืมไปได้ไม่ยากเลย








โดย: กะว่าก๋า วันที่: 12 กรกฎาคม 2555 เวลา:6:08:50 น.  

 
พี่พีร์ครับ ที่ท่าบ่อ หลาเจี่ยวหลายส่วนจะเขียนด้วยภาษาจีน เหวียดอ่ะครับ แต่แบบที่เขียนแบบตัวอักษร ก๋วกหงือ ก็มีบ้างนิดนึง


โดย: บอส IP: 49.48.129.27 วันที่: 12 กรกฎาคม 2555 เวลา:13:32:01 น.  

 
อรุณสวัสดิ์ครับพี่



กลับมารายงานตัวอีกครั้งนะครับ









โดย: กะว่าก๋า วันที่: 23 กรกฎาคม 2555 เวลา:6:22:59 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Gia Huy - Peeradol
Location :
นนทบุรี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 13 คน [?]




Air SurOundinG mE liKe mY besT frIendS !
แจกฟรีแบ๊คกราว
Friends' blogs
[Add Gia Huy - Peeradol's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.