ทำสบายๆ ทำหัวใจเอกเขนก

เราสามารถช่วยเรื่องน้ำท่วม...ได้มากกว่าแค่การบริจาคเงินหรือสิ่งของ



1. ลดการสร้างตึก การต่อเติมอาคาร การสร้างบ้านหลังใหญ่ๆ สร้างถนน ทำถนน(โดยไม่จำเป็น) ซะทีเถอะ ...
เพราะการก่อสร้างเหล่านี้ มันต้องใช้อิฐ หิน ดิน ทราย
ถามว่าได้วัตถุดิบเหล่านี้มันมาจากไหน ... มันก็มาจากการระเบิดภูเขา
ยิ่งก่อสร้างกันมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งต้องระเบิดภูเขามากขึ้นเท่านั้น
และแน่นอน ... ภูเขาหาย ต้นไม้หาย
แล้วใครล่ะ จะคอยดูดซับน้ำ

ทางเลือก :
ก. ไม่ต้องสร้างมันหรอก จะสร้างอะไรกันนักหนา ไอ้ที่มีอยู่มันใช้ไม่ได้จริงอ๊ะ ถ้ามันยังใช้ได้ ใช้ไปเห๊อะ ความหรูหราสะดวกสบายที่เพิ่มมา มันอาจไม่คุ้มกับผืนป่าที่ต้องหายไป
ข. บ้านดิน ... เป็นทางเลือกหนึ่งที่ก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติขึ้นมาหน่อย วิธีสร้างแค่เสิร์ชกูเกิลก็ขึ้นมาเพียบแล้ว แต่ถึงยังไง การใช้ดิน มันก็ต้องขุดหน้าดินซึ่งเป็นบ้านของต้นไม้อยู่ดีนั่นแหละหนอ
เพราะฉะนั้น ถ้าเลิกสร้างได้ จะดีมากๆ
เพราะทุกวันนี้ เห็นการโค่นต้นไม่ใหญ่เพื่อสร้างอาคารมากมายเหลือเกิน ...
แม้แต่สวนลุมก็ไม่เว้น จากสระว่ายน้ำที่มองเห็นต้นไม่ใหญ่ ตอนนี้ได้ถูกแทนที่ด้วยปั้นจั่นเรียบร้อยแล้ว
น่าเศร้าใจนัก


2. ลดการซื้อเฟอร์นิเจอร์ หรือ ของตกแต่งอะไรต่างๆที่ทำด้วยไม้....
เพราะไม้พวกนี้ มันก็มาจากอุตสาหกรรมไม้ที่ตัดไม้มาจากป่านั่นแหละ
ถ้าเราช่วยกันให้ demand ลดลงได้ .... supply ก็จะลดลงตาม
แล้วการตัดไม้ก็น้อยลง
จะโทษไอ้พวกบุกรุกค้าไม้เถื่อนอย่างเดียวมันไม่ได้หรอก เพราะถ้ามันไม่มี demand จากคนเมือง ก็คงไม่มีใครมาทำ supply ให้ขนาดนี้หรอก ถ้าเงินไม่ดี ขายไม่ได้ ไอ้พวกนี้มันก็ไม่ทำหร้อก

ทางเลือก :
เฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากของเหลือใช้ ....
อย่าเพิ่งร้องยี้ ...เพราะถ้าเห็นสินค้าแล้วจะตาโต มันดูดีไฮโซมากขอบอก
เท่าที่มีข้อมูลก็เป็นเฟอร์นิเจอร์ของ อ.สิงห์ในแบรนด์ OSISU ที่วัสดุทุกชนิดมาจากของเหลือใช้ทั้งนั้น
อ.สิงห์ถึงขั้นไปคุ้ยเศษไม้เหลือใช้จากโรงงานทีเดียว

[ ผลงานอาจารย์ก็มีอยู่ที่ร้าน Plato (Siam Paragon ชั้น 3) , TCDC Shop (Emporium ชั้น 6) ,
The Adjective (Central world) , Eco Shop (Digital Gateway- Siam Square) ]


3. ลดการใช้ตะเกียบแบบใช้แล้วทิ้ง
กว่าต้นไม้จะโต... ใช้เวลากี่สิบปี
แต่เราใช้ตะเกียบแค่ไม่กี่นาที
แล้วก็ทิ้ง
มันน่าเสียดายไปไหม ที่ต้นไม้หนึ่งต้น ต้องมาตายไปอย่างไม่คุ้มค่าอย่างนี้

ทางเลือก : “น้องๆ ขอช้อนส้อมคู่นึง”
หรือไม่ก็ ...พกตะเกียบพลาสติกมาจากบ้านเองเลย ฮ่าๆ ... เอ้า...ได้ยินว่าที่ญี่ปุ่นเค้าก็มีคนทำอย่างนี้นะเออ


4. ไอ้พวกรีสอร์ตสวยๆ บ้านพักหรูๆ หรือสนามกอล์ฟในป่าในเขาเนี่ย อย่าไปสนับสนุนมันนัก ...
เพราะพื้นที่รีสอร์ตเหล่านี้ มันมาจากการทำลายพื้นที่ป่าทั้งนั้น
ที่เมืองนอก เค้าไม่ให้มีพวกบ้านพักอะไรอย่างนี้ในเขตอุทยานเลยด้วยซ้ำ แต่ของเรา ...
บางคนบอก ... ก็แค่พื้นที่นิดเดียว
แต่ไอ้พื้นที่นิดเดียวแต่ใจกลางอุทยานนั่นน่ะ ...
มันปล่อยของเสียตั้งเท่าไหร่ แถมยังเป็นการรบกวนสัตว์ป่าอย่างร้ายแรงด้วย
เมื่อสัตว์ป่ามีพื้นที่ลดลง จำนวนสัตว์ป่าก็ลดลง
เมื่อสัตว์ป่าหาย การขยายพันธุ์ของต้นไม้ที่ต้องอาศัยสัตว์ป่าก็น้อยลง
แล้วไง ... ป่าก็เสื่อม ...
มันก็ทำให้น้ำท่วมได้ง่ายขึ้น

5. แม้แต่หินประดับตกแต่ง ... ก็ต้องคิด
จากข้อมูลในนิตยสาร ฅ คน ฉบับเดือนกันยายน 53 เล่าว่า ในแม่น้ำแม่สรวย จ.เชียงราย กำลังมีปัญหานายทุนที่ใช้รถมาตักก้อนหินในแม่น้ำ เพื่อไปขายเป็นหินประดับตกแต่ง
เมื่อหิน - ซึ่งเป็นเครื่องกรองน้ำตามธรรมชาติหายไป
ผลก็คือทำให้น้ำขุ่นจากทรายที่ฟุ้งขึ้นมา ท้องน้ำกว้างขึ้น ไหลเร็วขึ้น
นอกจากจะทำให้ชาวบ้านแถวนั้นเดือดร้อนจากจำนวนปลาที่ลดลงแล้ว
ทางปลายน้ำก็มีโอกาสที่น้ำจะหลากและท่วมมากขึ้น เพราะน้ำมันไหลเร็วขึ้น

ทางเลือก : ไม่แน่ใจก็อย่าซื้อมันเลย ซื้อน้อยๆบริโภคน้อยๆแหละดีสุด


6. ไม่สนับสนุนการขยายถนนตัดป่าในเขตอุทยาน
รถติดน่ะ มันก็แค่ความไม่สะดวกสบาย ... แต่การสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ เป็นเรื่องร้ายแรง
รถติดน่ะ มันก็แค่ไม่กี่ครั้งในรอบปี ... แต่ต้นไม้ที่เสียไป มันส่งผลในระยะยาว
การแก้ปัญหารถติดในช่วงเทศกาล คือการอำนวยความสะดวกให้คนเมือง
แต่ผลเสียที่เกิดขึ้นจากการตัดไม้ล่ะ ไปเกิดที่ใคร?? ...

สร้างถนน .... สิ่งที่หายไปมันไม่ใช่แค่ต้นไม้ในพื้นที่ แต่มันยังมีต้นไม้จากภูเขา ที่ถูกระเบิดเอามาทำเป็นอิฐหินดินทรายในการก่อสร้าง
และอีกอย่าง มันก็คือการแบ่งแยกพื้นที่ป่า
ทำให้พื้นที่หากินของสัตว์ป่าถูกแบ่งแยก
สัตว์จึงมีพื้นที่น้อยลงและเกิดการผสมพันธุ์ในสายเลือดเดียวกันมากขึ้น
ส่งผลให้สัตว์อ่อนแอและลดจำนวนลง
ซึ่งก็มีผลก็ต้นไม้ตามมา

7. ลดการซื้อขวดน้ำพลาสติก โดยพกกระติกน้ำ
ลดการรับถุงพลาสติกจากการซื้อของ โดยพกถุงผ้าเตรียมไป หากรู้ว่าจะไปช้อปปิ้ง หรือไม่ก็มีถุงพลาสติกรียูสพับเก็บติดไว้ในกระเป๋า ต้องการถุงเมื่อไหร่ ก็หยิบถุงเก่ามาใช้ได้ทันที ไม่ต้องรับถุงใหม่ให้โลกมันร้อน
ลดการซื้อข้าวกล่องโฟม พกปิ่นโตไปใส่ก็น่ารักดีนะ
ถึงมันจะเล็กน้อยมากถ้าเทียบกับโลกใหญ่ๆใบร้อนใบนี้ ...
แต่ 0 + 0 + 0 + 0 + ……. ย่อมมีค่าต่างกับ 0.1 + 0.1 + 0.1 + 0.1 + ….
ใครว่า 0.1 ไม่มีค่า ~


8. นึกออกเท่านี้แหละ ใครนึกอะไรออกมากกว่านี้ ก็ช่วยบอกกันมานะ






 

Create Date : 22 ตุลาคม 2553    
Last Update : 22 ตุลาคม 2553 21:48:34 น.
Counter : 628 Pageviews.  

เครือข่ายคนกินข้าวเกื้อกูลชาวนา - เมื่อการกินข้าวจะเป็นมากกว่ามื้ออาหารและความอิ่มท้อง

เครือข่ายฅนกินข้าวเกื้อกูลชาวนา
-- เพื่อการกินข้าว ที่จะเป็นมากกว่ามื้ออาหารและความอิ่มท้อง - -


มีการเดินทางอยู่ครั้งหนึ่ง ที่เปลี่ยนแปลงความรู้สึกในการกินข้าวของฉันไปอย่างสิ้นเชิง
การเดินทางครั้งนั้น ทำให้รู้ว่า การกินข้าวแต่ละมื้อของเรานั้น มันมีความหมายมากกว่าแค่ความอร่อยและความอิ่มท้อง
แต่มันมีความหมายถึงขั้นเปลี่ยนแปลงประเทศชาติ และทำให้ได้รู้ว่าการกินข้าวของคนหนึ่งคนนั้น มันไม่ใช่แค่เรื่องของคนเพียงคนเดียวอีกต่อไป

การเดินทางครั้งนั้น คือการเดินทางที่มีชื่อว่า “ความจริงจากคนปลูกข้าว ถึงชาวเครือข่าย” ที่จัดขึ้นโดยบริษัททีวีบูรพา จำกัด ซึ่งเป็นการเดินทางที่พาคนกินข้าวในเมือง ไปพบปะและรู้จักกับชาวนาผู้ปลูกข้าวให้เรากิน ทำให้คนกินข้าวอย่างเรา ได้รู้ถึงที่มาของข้าว ได้เห็นเรื่องราวของข้าว และได้รับรู้ความจริงบางอย่างที่น่าสลดใจที่เกิดขึ้นกับคนปลูกข้าว - ความจริงที่คนเมืองไม่สามารถนิ่งดูดาย เพราะมันอาจหมายถึงการ “สิ้นนา สิ้นชาติ” และความลำบากก็ย่อมตกมาถึงคนกินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่นอกเหนือจากการได้รับรู้ปัญหา สิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่งที่ได้มาคือการมองเห็นทางออก

ทางออกที่ว่า ในฐานะคนกินข้าวอย่างเรา
จะ “เลือก” กินอย่างไร ที่ไม่เป็นการเบียดเบียดสังคม
จะ “เลือก” กินอย่างไร ที่ไม่เป็นการเอาเปรียบชาวนา
และจะ “เลือก” กินอย่างไร เพื่อช่วยประเทศชาติให้ดีขึ้น


เรื่องราวเบื้องหลังเมล็ดข้าว – ความจริงที่น่าสลดใจ

มันน่าแปลกไหม ...ที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกข้าวเป็นอันดับหนึ่งของโลกติดต่อกันมานานหลายปี แต่ชาวนาไทยส่วนใหญ่ กลับไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง

มันน่าแปลกไหม ... ที่คนไทย 60 กว่าล้านคนในประเทศกินข้าวทุกวัน วันละ 3 มื้อ แต่ชาวนาผู้ปลูกข้าวกลับอดอยากและเต็มไปด้วยหนี้สิน

มันน่าแปลกไหม ... ที่หลักสูตรในตำราเรียนบอกว่า ชาวนาคือกระดูกสันหลังของชาติ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับกลายเป็นว่า เด็กรุ่นใหม่ไม่มีใครอยากทำนา ที่นามีเพียงคนแก่ๆทำนา เพราะลูกหลานพากันทิ้งนาเข้าเมืองกันหมด

มันน่าแปลกไหม ... ที่อาชีพที่ปลูกข้าวให้คนทั้งประเทศได้กิน กลับไม่เคยได้รับการยกย่อง ใช้ชีวิตอยู่อย่างถูกเอารัดเอาเปรียบ จนมีคำพูดที่ว่า “ชาวนาเนี่ยกำหนดราคาได้สองอย่าง คือลูกสาว กับ วัว เท่านั้นแหละ” ถูกกดขี่จนชาวนาบางคนถึงกับบอกว่า “ให้ลูกทำนาน่ะเหรอ ...ให้ไปขายตัวยังจะดีซะกว่า”

มันน่าแปลกไหม ... ที่อาชีพที่สำคัญที่สุดอย่างชาวนา กลับกลายเป็นอาชีพที่ดูต้อยต่ำในสังคม ใครเรียนจบปริญญา แล้วไปเป็นชาวนา กลายเป็นว่าเป็นเรื่องแปลก

มันเกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย


ทั้งๆที่รู้

ทั้งๆที่เราก็รู้กันมาตั้งแต่เด็กๆว่า ชาวนายากจน เพราะถูกพ่อค้าคนกลางกดราคา
ปัญหาที่ทุกคนในประเทศรู้ แต่ไม่ว่ากี่ปีผ่านไป ปัญหาก็ยังคงอยู่ที่เดิม
ผู้นำประเทศแต่ละชุด ก็ไม่เคยมีใครที่จะใส่ใจอย่างแท้จริง ปัญหาเดิมก็ยังคงถูกทิ้งไว้เช่นนั้น

แม้ว่าคนกินข้าวอย่างเรา จะรู้สึกสงสารชาวนาแค่ไหน แต่ที่ผ่านมาเราก็มองไม่เห็นหนทางว่าเราจะช่วยชาวนาได้อย่างไร

สิ่งที่คนเมืองทำเพื่อชาวนา และสำนึกในบุญคุณของชาวนาได้ ก็มีเพียงแค่ว่า “กินข้าวให้หมดจาน”

ซึ่งเอาเข้าจริงๆแล้ว การกินข้าวให้หมดจานของคนเมือง -- ไม่ได้มีผลช่วยให้ชาวนามีชีวิตที่ดีขึ้นได้เลย



แต่วันนี้ คนกินข้าวอย่าง เราสามารถทำอะไรได้มากกว่านั้น

นั่นคือที่ผ่านมา ... แต่วันนี้ คนกินข้าวของเรา ทำได้มากกว่านั้น
เราจะสามารถทำให้การกินข้าวของเรา เป็นการช่วยให้ชาวนากลุ่มหนึ่งมีชีวิตที่ดีขึ้นได้

“เครือข่ายฅนกินข้าว เกือกูลชาวนา” คือคำตอบนั้น

เครือข่ายนี้ จัดตั้งขึ้นโดยบริษัททีวีบูรพาจำกัด ( ผู้ผลิตรายการ คนค้นฅน และกบนอกกะลา) ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อให้คนกินข้าว ได้ซื้อข้าวจากคนปลูกข้าวโดยตรง โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง และทางเครือข่ายจะเป็นตัวกลางในการจัดส่ง โดยไม่หวังผลกำไรใดๆ

การสั่งซื้อข้าวจากทางเครือข่ายนี้ ก็จะทำให้เงินค่าข้าวที่เราจ่ายไปนั้น ได้ไปถึงชาวนาโดยตรง โดยชาวนาเป็นผู้กำหนดราคาเอง ซึ่งในฐานะคนกินข้าว ไหนๆเราก็ต้องจ่ายค่าข้าวอยู่แล้ว มันคงจะดีหากว่าเงินที่เราต้องจ่ายไปนั้น มันได้ไปตกอยู่ที่คนที่ควรจะได้ ไม่ใช่คนตรงกลางอยู่สบายๆแล้วชุบมือเปิบ

ไม่ใช่แค่ชาวนาที่ได้รับประโยชน์เท่านั้น ทางด้านคนกินก็ได้รับประโยชน์เช่นเดียวกัน เพราะข้าวจากเครือข่ายนี้ คือข้าวพันธุ์พื้นเมืองคุณภาพที่ผ่านการคัดเลือกพัฒนาพันธุ์มาอย่างดี และดำเนินการปลูกด้วยวิถีเกษตรอินทรีย์แท้ๆ มั่นใจได้ว่าไร้สารพิษร้อยเปอร์เซ็นต์ ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากล

แค่นั้นยังไม่พอ เงินที่เราจ่ายไปนั้น เราไม่ต้องห่วงว่าชาวนาจะเอาไปกินเหล้าเล่นการพนันที่ไหน เพราะชาวนาที่ส่งข้าวให้ทางเครือข่ายนี้ เขาเรียกตัวเองว่า “กลุ่มชาวนาคุณธรรม” คือกลุ่มชาวนาที่มีปฏิญญาร่วมกันว่า จะต้องดำเนินชีวิตตามหลักคุณธรรม รักษาศีลห้า งดเว้นซึ่งอบายมุขทั้งปวง ไม่ว่า เหล้า เบียร์ บุหรี่ หรือการพนันใดๆ รวมทั้งดำเนินการปลูกข้าวในระบบเกษตรอินทรีย์ ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเอื้อเฟื้อต่อคนกิน ไม่เอาเปรียบคนกิน

“เรามั่นใจว่า สิ่งที่เราทำให้ท่านบริโภค เป็นสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิตของเรา”

นี่คือคำพูดของพ่อวิจิตร – ประธานกลุ่มข้าวคุณธรรม ที่หากใครได้ฟังอยู่ตรงนั้น จะเห็นได้ชัดจากแววตาว่าคำพูดนั้น เป็นคำพูดที่มาจากใจจริงๆ ไม่ใช่คำพูดปั้นแต่งสวยหรูที่มาจากฝีมือครีเอทีฟโฆษณา ที่เห็นกันเกลื่อนกลาดบนหน้าจอโทรทัศน์


มันมากกว่าแค่การปลูกข้าว

จากการที่ได้เดินทางไปพบปะผู้ปลูกข้าวกลุ่มนี้ ฉันพบว่า สิ่งที่ชาวนากลุ่มนี้ทำ ไม่ใช่แค่การปลูกข้าวเพื่อขายไปวันๆ แต่เขาปลูกด้วยความตั้งใจ ด้วยหัวใจที่ปรารถนาดีต่อคนกินและต่อสังคมอย่างแท้จริง

“ตุ๊หล่าง” ชาวนาตัวเล็กๆคนหนึ่งที่จังหวัดยโสธร เลือกที่จะปฏิเสธการเดินเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย – เส้นทางที่จะมุ่งไปสู่การมีรายได้สูงๆ แต่กลับเลือกที่จะเดินเข้าหาท้องนา เพื่อฟื้นฟูพัฒนาพันธุ์ข้าวพื้นบ้าน

“ข้าวคือสมบัติของชาติ ผมอยากเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้สังคมอนุรักษ์มรดกของบรรพบุรุษไว้”

ตลอดระยะเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมา “ตุ๊หล่าง” ไม่ใช่ชาวนาที่ปลูกข้าวเพื่อขายไปวันๆ แต่เขาใช้เวลาทุกๆวันในท้องนา เพื่อศึกษาและพัฒนาพันธุ์ข้าวพื้นบ้าน โดยมีการวิจัยพันธุ์ข้าว เปรียบเทียบคุณภาพของข้าวพันธุ์ต่างๆ ว่าพันธุ์ไหนต้านทานโรคดี พันธุ์ไหนออกรวงดี พันธุ์ไหนต้นแข็งแรง เมื่อเลือกได้แล้ว ก็เอาไปขยายพันธุ์ต่อโดยการปลูกลงแปลงนา เมื่อข้าวออกรวงมา ก็มาคัดเลือกรวงสวยๆ เมล็ดสวยๆ มาเพาะต่อในรุ่นถัดไป พัฒนาจากรุ่นสู่รุ่น จากข้าวแปลงแรก ที่คุณภาพดีบ้างไม่ดีบ้าง จนกระทั่งได้ข้าวที่มีคุณภาพดีสม่ำเสมอทั้งแปลง ก็ใช้เวลาไม่ต่ำกว่าสี่ปีในแต่ละสายพันธุ์ จนปัจจุบัน ที่บ้านของตุ๊หล่างได้กลายเป็นธนาคารเมล็ดพันธุ์ข้าว ที่มีเมล็ดพันธุ์ข้าวพื้นบ้านไม่ต่ำกว่า 170 สายพันธุ์

ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้ เขาไม่ได้ทำเพื่อขาย แต่กลับแจกจ่ายให้เพื่อนชาวนาอย่างฟรีๆ ด้วยความคิดที่ว่า คนไทยจะได้มีข้าวดีๆกิน

“ที่ต้องทำอย่างนี้ เพราะผมรู้สึกว่าทำไมข้าวดีๆ คนไทยถึงไม่ได้กิน ข้าวดีๆที่ปลอดสารพิษ ถูกส่งออกต่างประเทศหมด
ในขณะที่คนในประเทศ ได้กินแต่ข้าวที่เต็มไปด้วยสารเคมี ขนาดที่ว่าชาวนายังไม่กล้ากินข้าวที่ตัวเองปลูกเลยด้วยซ้ำ”


ความจริงของข้าวที่วางขายอยู่เกลื่อนท้องตลาดนี้ คือข้าวที่เต็มไปด้วยสารเคมี ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า ยาคุมเลน ยาหนอน ยาเชื้อรา ยาฮอร์โมน ตั้งแต่หว่านจนกระทั่งเกี่ยว ก็ฉีดยารวมๆแล้ว 9 เที่ยว ฉีดยาขนาดที่ว่า เหงื่อยังมีกลิ่นยา

แต่ทั้งนี้ จะโทษชาวนาก็ไม่ได้ เพราะทั้งหมดทั้งมวลนี้ มันเกิดมาจากการกลไกบางอย่างของรัฐ ตั้งแต่ยุค “ปฏิวัติเขียว” ในพ.ศ. 2504 เป็นต้นมา การปฏิวัติที่เปลี่ยนจากการปลูกเพื่อกิน เป็นการปลูกเพื่อขาย

จากที่ชาวบ้าน ปลูกข้าวพื้นบ้าน แบบพออยู่พอกิน รัฐก็เข้ามาส่งเสริมให้ปลูกข้าวพันธุ์ใหม่ ที่กรมการข้าวปรับปรุงสายพันธุ์ขึ้นมา เพื่อเพิ่มผลผลิตให้สูงๆ ให้ปลูกได้ปีละหลายๆครั้ง ตามนโยบายเพิ่มการส่งออก

ข้าวสายพันธุ์ใหม่นี้ ถูกแจกจ่ายให้กับชาวนาทั่วประเทศ พร้อมกับคำโฆษณาที่ว่า ผลผลิตมากขึ้น รายได้มากขึ้น แล้วจะรวยๆๆ และเพียงไม่ถึง5 ปี ข้าวพันธุ์พื้นบ้าน ก็แทบจะหายไปจากเมืองไทย
แต่แน่นอนว่าทุกสิ่ง ไม่มีเพียงแค่ด้านสวยงาม รายได้เป็นกอบเป็นกำที่โฆษณาไว้เป็นแค่ภาพฝัน เพราะมันยังมีความจริงที่ว่าข้าวสายพันธุ์ใหม่นี้ มีคุณสมบัติอ่อนแอ ไม่ต้านทานโรคและแมลง และที่สำคัญคือ มันต้องการปุ๋ยเคมี!!!

ดังนั้น มันจึงเป็นภาคบังคับ ที่ทำให้ชาวนาต้องซื้อปุ๋ยซื้อยาเพื่อบำรุงข้าวพันธุ์ใหม่นี้อยู่เรื่อยไป ยิ่งใส่ปุ๋ยเคมีเท่าไหร่ ดินก็ยิ่งเสื่อมสภาพมากขึ้นเท่านั้น มันจึงเป็นภาวะบังคับให้ต้องซื้อปุ๋ยเคมีมากขึ้นทุกทีๆ อีกทั้งเมื่อใช้ยาฆ่าแมลงมากขึ้น แมลงก็เริ่มดื้อยา บริษัทยาก็ผลิตยาสูตรใหม่ออกมา พร้อมกับราคาที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างกับรู้ว่า – ยังไงชาวนาก็ของตาย

ในเมื่อรายจ่ายเพิ่มสูงขึ้นเป็นเท่าทวี ในขณะที่รายได้จากการขายข้าวยังคงถูกกดราคา ชาวนาจึงหนีไม่พ้นภาวะหนี้สิน จนถึงขั้นขายนาใช้หนี้ หรือไม่ก็ถูกยึดที่ไปขายทอดตลาด ให้นายทุนข้ามชาติมากว้านซื้อไปลงทุน
นายทุนข้ามชาติมากมายครอบครองที่ดินในไทยมากขึ้นทุกที ในขณะที่ชาวนาเจ้าของประเทศมากมายกลับไร้ที่ทำกิน

และหากปล่อยให้เป็นอย่างนี้ คำว่า “สิ้นนา สิ้นชาติ” อาจไม่ไกลเกินจริงนัก


และนี่คือเหตุผลที่ทำให้ “ตุ๊หล่าง” ต้องมาฟื้นฟูพันธุ์ข้าวพื้นบ้านให้กลับมา ข้าวพันธุ์พื้นบ้าน ที่ตอบสนองต่อธรรมชาติ ไม่ใช่ตอบสนองต่อสารเคมี เพื่อให้ชาวนาหลุดพ้นจากวงจรหนี้สิน และคนกินก็ไม่ต้องกินข้าวที่เต็มไปด้วยสารเคมี

นี่ไม่ใช่แค่การปลูกข้าวเพื่อขาย แต่เป็นการปลูกข้าวเพื่อกู้ชาติ เพื่อรักษาระบบนิเวศน์ รักษาผืนแผ่นดินไทย
จะเห็นได้ว่า ทั้งหมดนี้ “ตุ๊หล่าง” ไม่ได้ทำเพื่อตัวเองเลยแม้แต่น้อย

“ผมอยากจะทำข้าวดีๆให้เขาได้กิน เพราะผมไม่ได้รู้สึกว่าพวกเขาเป็นแค่คนซื้อข้าว แต่พวกเขาเป็นเพื่อนๆของเราอีกคนหนึ่ง ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ปีหน้าผมอยากลดกำไรลงด้วยซ้ำ” นี่คือสิ่งที่ตุ๊หล่างพูดกับชาวเครือข่ายก่อนที่จะจากกัน

การลดกำไร - นี่คือสิ่งที่ชาวนาธรรมดาๆคนหนึ่งคิด ความคิดที่เกิดจากหัวใจแห่งการให้
ความคิดที่เจ้าของธุรกิจพันล้านหรือนักเศรษฐศาตร์ไม่เคยคิดได้


มันมากกว่าแค่การกินข้าว

หากที่ผ่านมา การกินข้าวแต่ละมื้อ มีความหมายแค่เพียงความอร่อยและความอิ่มท้อง แต่วันนี้ การกินข้าวของเราจะมีความหมายที่มากกว่านั้น

ข้าวจากชาวนาคุณธรรมกลุ่มนี้ ไม่ใช่ข้าวธรรมดา แต่เป็น “ข้าวกู้ชาติ”

ข้าว - ที่ปลูกด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ที่จะทำให้ชาวนาหลุดพ้นจากวงจรหนี้สิน และไม่ต้องขายที่ดินให้นายทุนต่อไป

ข้าว - ที่ปลูกด้วยหัวใจที่เคารพต่อธรรมชาติ ช่วยให้ผืนดินผืนน้ำ ไม่ต้องปนเปื้อนสารเคมีอีกต่อไป

ข้าว - ที่ปลูกขึ้นด้วยความตั้งใจ ด้วยหัวใจที่ปรารถนาดีต่อคนกินอย่างแท้จริง


ทุกครั้งที่ฉันกินข้าวจากกลุ่มชาวนาคุณธรรมนี้ สิ่งที่ฉันมองเห็นในจาน มันไม่ได้มีแค่เพียงเมล็ดข้าว แต่มันมีหัวใจของชาวนากลุ่มหนึ่งอยู่ในนั้น

ทุกครั้งที่ซื้อข้าว สิ่งที่ไปถึงชาวนา มันไม่ได้มีเพียงแค่เงิน แต่มันยังหมายถึงกำลังใจ ที่ส่งไปถึงชาวนาด้วย

เพราะการซื้อข้าวนี้ เป็นการบอกว่า คนกินข้าวอย่างเรา - สนับสนุนและเห็นคุณค่าในสิ่งที่พวกเขาทำ ซึ่งสิ่งนี้ก็จะเป็นกำลังใจ ที่ทำให้ชาวนา- กระดูกสันหลังของชาติกลุ่มนี้ได้มีความภูมิใจในอาชีพ รู้สึกมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี และยึดมั่นในอาชีพนี้ต่อไปอย่างภาคภูมิใจ ว่าสิ่งที่พวกเขาทำนั้นยิ่งใหญ่ คือการปลูกข้าวดีๆให้คนไทยได้กิน

เพราะกำลังใจ คือสิ่งสำคัญ ที่จะทำให้ใครคนใดคนหนึ่งยึดมั่นในสิ่งที่ทำนั้นต่อไป

เพราะมันคงน่าเศร้า หากว่าประเทศที่เคยเป็นอู่ข้าวอู่น้ำอย่างประเทศเรา แต่ชาวนากลับหมดกำลังใจ จนหันหลังให้ท้องนา มุ่งหน้าเข้าสู่เมืองหลวง และที่นาหายไปจากเมืองไทย กลายเป็นสนามกอล์ฟ รีสอร์ตหรู หรือ โครงการธุรกิจใหญ่ยักษ์
มันคงเจ็บปวดเกินไป หากว่าวันหนึ่งข้างหน้า ประเทศเราจะไม่มีชาวนา และต้องนำเข้าข้าว จากต่างประเทศ

เมื่อการกินข้าว มันไม่ใช่เรื่องของคนเพียงคนเดียวอีกต่อไป

แต่การกินข้าวของเรา มันบอกได้ ว่าเรากำลัง “เลือก” ที่จะ “สนับสนุน” สิ่งไหน

ระหว่างระบบเกษตรเคมี ที่ราคาอาจถูกกว่า แต่เบื้องหลังเต็มไปด้วยด้วยการกดราคาเอาเปรียบชาวนา และมาจากการสารเคมี ซึ่งเป็นสาเหตุให้ชาวนาติดหนี้สิน จนถึงขั้นขายนา

กับระบบเกษตรอินทรีย์ ที่อาจจะมีราคาแพงกว่า มาจากความเป็นธรรมต่อชาวนา และทำให้ชาวนาพึ่งพาตนเองได้ พอมี พอกิน ไม่ต้องใช้ปุ๋ยยา ไม่ต้องใช้สารเคมี ไม่ต้องเร่งเพิ่มผลผลิต ทำให้ไม่ต้องเป็นหนี้เป็นสิน และคงไว้ซึ่งวิถีชีวิตชาวนาที่เรียบง่ายและสวยงาม เป็นกระดูกสันหลังของชาติ ปลูกข้าวให้คนไทยได้กินต่อไป

การกินของเรามันบอกได้ว่าเราจะเลือกสนับสนุนสิ่งไหน
ถ้าพูดแบบการตลาดก็คงบอกว่า “demand เป็นอย่างไร supply ก็เป็นอย่างนั้น”
คนกินข้าวอย่างเรา มีส่วนในการกำหนดทิศทางการปลูกข้าวของชาวนาได้

ถ้าเลือกได้ เราทุกคนก็น่าจะช่วยกันเลือกทางที่ให้ประเทศไทย ยังคงคำพูดที่ว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” ไว้
ก่อนที่จะกลายเป็นว่า “ในน้ำไม่มีปลา เพราะในนา มีแต่สารเคมี”


* รายละเอียดเพิ่มเติม //www.tvburabha.com/tvb/rice.html




 

Create Date : 18 ตุลาคม 2553    
Last Update : 18 ตุลาคม 2553 18:29:22 น.
Counter : 664 Pageviews.  

เรื่องราว , ความคิด ,ความรู้สึก จากงาน 20 ปี “สืบ นาคะเสถียร”

บุคคลกลุ่มหนึ่ง ทุ่มเททั้งชีวิตในการรักษาผืนป่าและช่วยชีวิตสัตว์ป่า

บุคคลกลุ่มนั้น ไม่เคยสนใจถึงความยากลำบากของตัวเอง แต่สนใจในการทำทุกวิธีทาง เพื่อให้ผืนป่ายังคงความอุดมสมบูรณ์เอาไว้

บุคคลกลุ่มนั้น ยอมเสียสละความสุขความสบายส่วนตน เพื่อปกป้องผืนป่า ซึ่งเป็นทรัพย์สมบัติของประเทศชาติ

เพื่อผืนป่า .... บุคคลคนหนึ่ง ยอมแม้กระทั่งสละชีวิตตนเอง



ในขณะที่บุคคลอีกกลุ่มหนึ่ง ไม่เคยคิดอะไร นอกจากการสร้างกำไรจากป่า

บุคคลกลุ่มนั้น คิดแต่ตัวเลขของกำไรเข้าว่า โดยไม่สนว่าจะเกิดผลกระทบอะไรยังไงต่อใคร

บุคคลกลุ่มนั้น คิดแต่จะทำยังไงให้ตนเองสุข สนุก สบาย โดยไม่สนว่าจะทำลายสิ่งใดไปบ้าง

บุคคลกลุ่มนั้น คิดเพียงแต่ว่า ทำเพื่อตัวเอง



นั่นคือเรื่องราว ของคุณสืบ และมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร - ผู้ดูแลและปกป้องผืนป่า

และเรื่องราวของคนอีกกลุ่ม – ที่คอยแต่จะตักตวงผลประโยชน์จากผืนป่าไม่มีที่สิ้นสุด



2534 โครงการสร้างถนน 48 สาย

2536 โครงการเขื่อนแม่วงศ์ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงศ์

2538 โครงการสร้างถนน 3011 รอบป่าห้วยขาแข้ง

2540 โครงการท่อก๊าซไทยพม่า การบุกรุกอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด นโยบายอนุญาตให้เอกชนเช่าพื้นที่อุทยาน

2541 โครงการการสร้างบ้านพักVIP กลางเขตรักษาพันธุ์ป่าห้วยขาแข้ง , โครงการทำเหมืองแร่ในทุ่งใหญ่นเรศวร , โครงการสร้างโรงไฟฟ้าบ่อนอก-หินกรูด

2544 พรบ.แร่ และเหมืองแร่โปแตซ , โครงการสร้างถนนผ่าป่าทุ่งใหญ่นเรศวรตะวันตก

2545 พบการปล่อยสารตะกั่วจากโรงงานลงสู่ลำห้วยคลิตี้

2547 โครงการตัดถนน คลองลาน- อุ้มผาง

2548 โครงการตัดถนนผ่านป่าทุ่งใหญ่นเรศวร

2549 โครงการขุดอุโมงค์ผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ผ่านพื้นที่อนุรักษ์ , นโยบายเปลี่ยนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผางเป็นอุทยานแห่งชาติ , โครงการสร้างถนนผ่านอุทยานแห่งชาติแก่งกรุง , โครงการการสร้างเหมืองแร่และการขนส่งแร่ผ่านป่าทุ่งใหญ่นเรศวร

2550 นโยบายการให้เช่าพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ

2551 นโยบายการให้เช่าพื้นที่อุทยานแห่งชาติทางทะเล(อันดามัน) *



....ฯลฯ ....



นี่คือ ตัวอย่าง ของแนวคิดการตักตวงผลประโยชน์จากป่า เพียงเพราะคำว่าเงิน

แต่ยังเป็นความโชคดีของประเทศไทย ... ที่ยังมีคนอีกฝ่ายหนึ่ง ที่ได้ทำหน้าที่คัดค้านโครงการทำลายป่าเหล่านี้อย่างเข้มแข็ง

นึกภาพไม่ออกเลยว่า หากไม่มีกลุ่มคนผู้เสียสละกลุ่มนี้อยู่ในประเทศไทย

พื้นที่ป่าไม้ของประเทศเรา จะลดหายไปแค่ไหน ...



นี่ขนาดว่า ได้พยายามคัดค้านจนสำเร็จหลายโครงการแล้ว

ข้อมูลที่เกิดขึ้นจริง ยังบอกว่า ในช่วงระหว่างปี 2543 – 2547 มีการบุกรุกผืนป่า รวมแล้วเกือบ 4 ล้านไร่ **



ยังมีอีกหลายโครงการเหลือเกินที่ไม่สามารถต้านทานได้

ยังมีอีกหลายโครงการเหลือเกินที่ทำได้แค่ชะลอโครงการ แต่ยังไม่มีคำสั่งให้ยุติ

และยังมีอีกหลายโครงการใหม่ๆ ที่รอให้คนกลุ่มนี้ต้องเหนื่อยคัดค้านกันต่อไป



ถ้าหากว่าคนเรามีความโลภน้อยลง เห็นแก่ตัวน้อยลง -- พวกเขา คงไม่ต้องทำงานเหนื่อยกันขนาดนี้



ทำไมนะ

ทำไมคนบางคน ถึงได้ทุ่มเทและเสียสละเพื่อสังคม เพื่อผู้อื่นได้มากขนาดนี้

ในขณะที่คนบางคน กลับคิดแต่จะกอบโกยผลประโยชน์จากทุกสิ่งทุกอย่าง อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

อะไรนะ ที่ทำให้คนเราแตกต่างกันได้ถึงเพียงนี้



ทำไมนะ

ทำไมคนบางคน จึงเร่งแต่สะสม สะสมเงิน สะสมวัตถุ สะสมยศถาบรรดาศักดิ์มากมาย ด้วยคิดว่ามันจะทำให้ตนเองยิ่งใหญ่

แต่ในขณะที่คนบางคน ทั้งชีวิตมีแต่จะให้ ทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อรักษาผืนป่า ... ป่า ที่ไม่ใช่ของตัวเขา แต่เป็นป่า ที่เป็นของคนทั้งชาติ

คนที่สะสมอะไรไว้มากมาย กับคนที่มีแต่จะให้ .... ใครกันแน่ ที่ยิ่งใหญ่กว่า

ความยิ่งใหญ่ของคน ...ที่แท้จริงดูกันที่ไหน ... ลาภ ยศ ชื่อเสียง เงินทอง

หรือว่า ...หัวใจ

มันน่าเศร้าและน่าเสียดาย ...ที่คนใหญ่คนโตในบ้านเมืองเรา ยังเข้าใจอะไรตรงนี้ผิดๆ



บางคนเถียงว่า เราต้องยอมตัดต้นไม้บ้าง เพื่อการพัฒนา

แต่ถามว่า การพัฒนา ที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัย แต่ไม่มีอากาศดีๆหายใจ

มันใช่การพัฒนาจริงๆหรือ ?



ถนนหนทาง มันสำคัญกว่าต้นไม้ ...จริงหรือ ?

ความสะดวกสบายในการคมนาคมขนส่ง มันสำคัญกว่าชีวิตสัตว์ป่า... จริงหรือ?

ความดูดีทันสมัย มันให้ความรู้สึกอิ่มเอิบ สุขใจ มากกว่าความสวยงามของธรรมชาติ ...จริงหรือ?



ชีวิตคน ควรจะได้ฟังอะไร ... ระหว่างเสียงรถยนต์ กับ เสียงนกร้อง

ชีวิตคน ควรจะได้มองอะไร ...ระหว่างตึกใหญ่ทันสมัย กับ ดอกไม้เล็กๆริมทาง

ชีวิตคน ควรจะสูดกลิ่นอะไร ...ระหว่างกลิ่นไอในห้องปรับอากาศ กับ กลิ่นไอธรรมชาติใต้ร่มไม้

ชีวิตคน ควรจะอยู่กับอะไร ... ระหว่างเครื่องยนต์กลไก กับ ต้นไม้ใหญ่ ใต้แผ่นฟ้า





แต่ทำไม ... โครงการสร้างถนนตัดป่า ยังคงมีมาไม่สิ้นสุด

หากบอกว่า เราควรมีถนนเพื่อความสะดวกสบาย

ก็อยากจะถามกลับว่า หากไม่มีถนนเส้นนี้ แล้วสะดวกสบายน้อยลงหน่อย ....จะตายไหม

หากต้องเดินทางอ้อมกว่าหน่อย ... จะตายไหม

หากไม่ได้ขึ้นไปยังภูเขาลูกนี้ ไม่ได้ไปเที่ยวที่นี่...จะตายไหม

แต่ถ้าหากมัวแต่ห่วงความสะดวกสบาย จนตัดต้นไม้มากเข้า มากเข้า มากเข้า ... นั่นล่ะ

จะตายเอาได้



แต่ก็น่าเศร้า ที่คนบางคนไม่สนว่าใครจะตาย รู้แค่ว่าฉันจะได้เงิน แค่นั้นพอ ...

เรื่องราวมันจึงวนเวียนเกิดขึ้นซ้ำๆ เหมือนกับละครน้ำเน่า ที่เอาเรื่องเก่ามาทำใหม่ ฉายซ้ำเรื่อยไป เพียงแค่เปลี่ยนตัวแสดงใหม่

ไปเรื่อยๆ



บางคนบอกว่า ตัดนิดตัดหน่อยจะเป็นอะไรไป

แต่ไอ้นิดหน่อยที่ว่านั้น มันกี่โครงการเข้าไปแล้ว แล้วก็ยังมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ

และที่สำคัญคือ การตัดถนน มันไม่ใช่เพียงแค่ต้นไม้ที่หายไป

แต่มันคือการที่พื้นที่ป่าถูกตัดขาดออกจากกัน ส่งผลให้สัตว์ป่าที่เคยออกหากินได้กว้างไกล ต้องถูกจำกัดอยู่ในพื้นที่ที่แคบลง จนเกิดการผสมพันธุ์ภายในกลุ่ม และเป็นผลทำให้ยีนด้อยลง จนสัตว์อ่อนแอ และสูญพันธุ์



ความสะดวกสบายที่ได้จากการตัดถนน มันดูจะไม่คุ้มเอาซะเลยกับผลเสียที่ตามมา



และมันคงเป็นตลกร้ายนะ หากว่าประเทศเรา จะเต็มไปด้วยถนนหนทางที่สะดวกสบาย เทคโนโลยีที่ล้ำสมัย เศรษฐกิจพองฟูยิ่งใหญ่ .... แต่เราต้องใช้ออกซิเจนกระป๋อง เพราะไม่มีอากาศดีๆหายใจแล้ว



----------------------------------------------------------------------


ข้อมูลจาก

* สูจิบัตรคอนเสิร์ต 20 ปี สืบ นาคะเสถียร จัดทำโดย มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร

** บทความเรื่อง คนกับป่า คนกับคน ของอ.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ในนิตยสาร ฅ คน ฉบับเดือนกันยายน 2553


แรงบันดาลใจ

งาน 20 Years 20 Days สืบ นาคะเสถียร

นิตยสาร ฅ คน ฉบับเดือนกันยายน 2553


ขอบคุณ

พี่โตโต้ สำหรับบัตรคอนเสิร์ต -- คอนเสิร์ตที่ทำให้เกิดแรงบันดาลใจจนเกิดบทความนี้ขึ้นมา




 

Create Date : 21 กันยายน 2553    
Last Update : 21 กันยายน 2553 23:59:38 น.
Counter : 428 Pageviews.  

กลับมาอีกครั้ง

หายจากที่นี่ไปนาน
ไปเขียนในมัลติพลายบ้าง เฟสบุ๊คบ้าง
วันนี้ ขอกลับมาเขียนที่นี่อีกครั้ง
กลับมาด้วยวัยที่เปลี่ยนไป
มาพร้อมประสบการณ์การอ่านและการเขียนที่เพิ่มขึ้น
แต่ฝีมือ...เพิ่มขึ้นมั้ยก็ไม่แน่ใจ
แต่ที่แน่ๆคือมีข้อเสียว่ามันก็ทำให้ความสดลดลง เพราะเราคิดก่อนเขียนมากขึ้น
ซึ่งไอ้เจ้าความคิดมาก มุมหนึ่งก็ทำให้งานมีคุณภาพ แต่ในขณะที่อีกมุมมันก็ให้กลัวมากขึ้น และไม่กล้าลองผิดลองถูกเหมือนเมื่อก่อนอีก

ที่ผ่านมา เรามีปัญหากับ การตั้งใจเขียนมากไปจนเขียนไม่ออก
คือยิ่งเขียน ก็ยิ่งอยากให้งานพัฒนา ก็ยิ่งใส่ใจกับคุณภาพมากขึ้น คิดมากขึ้น
แต่พอคิดมาก ใส่ใจมาก.... กว่าจะเขียนได้แต่ละย่อหน้า มันกลับยากขึ้นมหาศาล
เกิดอาการของการ แก้ไปแก้มาอยู่หลายตลบในแต่ละย่อหน้า วนไปวนมากับย่อหน้าเดิม
เลยกลายเป็นว่า ความสนุกในการเขียนลดลง ผลงานก็น้อยลงด้วย
เขียนไม่ออกเยอะขึ้น

เลยขอกลับเข้าสู่โหมดเดิมดีกว่า คือ เขียนบล็อคแบบอารมณ์สดๆ สบายๆ ไม่ต้องกังวลคุณภาพ
และการเขียนลงที่นี่ น่าจะให้ความรู้สึกนั้นได้ เพราะที่นี่ เราเคยเขียนมันด้วยความรู้สึกแบบนั้น


แต่พอมานั่งอ่านบล็อกเก่าๆของตัวเองแล้วก็รู้สึกอายว่ะ....
วันนี้กรูมั่นใจว่ามันดีนักหนา วันนี้กลับมาอ่าน ...ขอโทษเถอะ..ฝีมือแม่งโคตรเด็กอนุบาลเลย แต่ทำเป็นรู้เยอะ เขียนเหมือนสอนคนอ่าน น่าเขกกะโหลกตัวเองชะมัดเลย

แต่ก็นะ .... หากมัวแต่กลัวผิดพลาด ก็คงไม่ได้เริ่มต้น
ไม่มีใครเขียนปุ๊บเก่งปั๊บเป็นแน่แท้
คนขี่จักรยานเป็นทุกคน ย่อมเคยหกล้มมาก่อนทั้งนั้น แล้วจะอายทำไมกับแผลจากการตกจักรยานวะ
งานเขียนงี่เง่าๆในอดีต บางทีมันก็เป็นสิ่งค่อยๆปูทางมาจนถึงวันนี้แหละนะ
อย่างน้อย ที่นี่ก็เป็นที่ที่เริ่มเขียนอย่างจริงจังครั้งแรกล่ะนะ




 

Create Date : 29 สิงหาคม 2553    
Last Update : 29 สิงหาคม 2553 1:51:54 น.
Counter : 317 Pageviews.  


may_intania
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]


ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




จะเปลี่ยวจะเดียวดาย
ไม่มีใครอยู่เคียงกาย..สักคนหนึ่งนั้น
"ให้ใจมีฝันอยู่เคียงใจ"

(จากเพลง ย้ำคิดย้ำฝัน ของเฉลียง )
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add may_intania's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.