Group Blog
มีนาคม 2552

1
2
3
5
6
7
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
26
27
 
 
All Blog
10 สัญญาณเตือนเรื่องสุขภาพ
1. ปวดหัวเป็นประจำ
อาการปวดหัวเป็นสัญญาณเบื้องต้นที่ฟ้องว่าร่างกายคุณกำลังอยู่ในภาวะไม่ปกติ สาเหตุหลักมาจากความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอหรืออาจเกิดจากการดื่มกาแฟ แอลกอฮอล์มากเกินไป การนวดศีรษะทุกวันก่อนเข้านอนจะช่วยให้ระบบเลือดไหลเวียนดีขึ้น โดยใช้นิ้วชี้กดที่หัวคิ้ว นวดคลึงและกดไปตามคิ้วจนถึงขมับจากนั้นใช้นิ้วทั้งสิบนิ้วกดและนวดคลึงหนังศีรษะให้ทั่ว บางครั้งอาการปวดศีรษะอาจเกิดจากไมเกรนที่เส้นเลือดส่งเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ คุณจึงควรบริหารร่างกายด้วยการก้มศีรษะให้คางจรดหน้าอก ค่อย ๆ หมุนเป็นวงกลมจนกลับมาที่เดิมแล้วเวียนกลับอีกทางหนึ่ง เพื่อให้เลือดไหลเวียนจากต้นคอ หนังศีรษะและสมองได้อย่างทั่วถึง แต่หากมีอาการปวดรุนแรงพร้อมกับ มีไข้ อาเจียน หรือไม่ดีขึ้นภายใน 1-2 วัน ควรรีบพบแพทย์เพราะอาจเป็นอาการทางสมอง

2. ปวดต้นคอ
มักเป็นอาการที่ต่อเนื่องมาจากความเครียด หรืออาจเกิดจากการเคลื่อนไหวไม่ถูกต้อง เช่น นั่งขับรถนาน ๆ โดยไม่มีหนอนรองต้นคอ นอนหลับบนที่นอนนุ่มเกินไป ยกของหนักเกินไป การนวดต้นคอและไหล่จะช่วยบรรเทาอาการปวดให้ดีขึ้น แต่ควรทำร่วมกับการปรับท่านั่งและนอนให้ถูกต้องด้วย ที่นอนที่ดีต้องแข็ง นอนแล้วไม่ยุบเป็นแอ่ง หรือหากที่นอนมีความนุ่ม ให้เลือกใช้หมอนใบเล็กหนุนหลังเอาไว้ และมีหมอนข้างสำหรับวางขาเพื่อรักษาแนวกระดูกสันหลังเอาไว้ให้ตรงเป็นแนวเดียวกัน ส่วนเก้าอี้ที่ดีจะต่างจากที่นอน คือยิ่งนุ่มมากเท่าไรจะยิ่งดีมากเท่านั้น เพราะความนุ่มจะช่วยให้น้ำหนักกระจายไปได้ทั่ว ไม่ตกอยู่เฉพาะบริเวณสะโพกที่เดียว หากเป็นไปได้ ควรเลือกเก้าอี้ให้เหมาะกับรูปร่างของแต่ละคน และมีพนักพิงเพื่อใช้เอนหลังพักผ่อนสำหรับลดอาการปวดเกร็งที่ต้นคอ

3. ปวดหลัง
อาจเกิดได้จากการเคลื่อนไหวที่ไม่ถูกต้อง เช่น นอนคว่ำ นั่งท่าเดียวนาน ๆ หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรงเพราะขาดการออกกำลังกาย รวมทั้งน้ำหนักตัวมากขึ้นเพราะความอ้วนหรือการตั้งครรภ์ การนั่ง ยืน นอนให้ถูกต้องจะช่วยป้องกันอาการปวดหลังได้มาก หากต้องทำงานในอิริยาบถเดิม ๆ ทั้งวัน ให้หมั่นเคลื่อนไหวร่างกายทุก ๆ 30 นาที หากอาการปวดหลังของคุณเกิดจากน้ำหนักตัวที่มากเกินไปก็ต้องเพิ่มการออกกำลังกายให้มากขึ้น หรือเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหลังด้วยการ ซิทอัพวันละประมาณ15 นาที แต่ถ้าคุณมีอาการปวดหลังร่วมกับอาการชาตามแขนขา ให้รีบพบแพทย์

4. นอนไม่หลับ
การนอนไม่หลับอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ อาทิ ความเครียด การดื่มกาแฟและแอลกอฮอล์มากเกินไป การรับประทานอาหารรสจัดการออกกำลังกายก่อนเข้านอน หากมีอาการนอนไม่หลับ ให้นวดบริเวณต้นคอเรื่อยไปจนถึงปลายแขนทั้งสองข้าง เพื่อให้เกิดการผ่อนคลาย แช่น้ำอุ่นหรือดื่มเครื่องดื่มอุ่น ๆ ก่อนนอน แต่ถ้าคุณนอน ไม่เต็มอิ่มจากปัญหาเรื่องสุขภาพ ให้งีบหลับตอนกลางวันประมาณครึ่งชั่วโมง(หากนานกว่านั้นอาจทำให้นอนไม่หลับในตอนกลางคืน) แต่ถ้าอาการนอนไม่หลับของคุณเกิดขึ้นเป็นเวลานานร่วมกับอาการกระสับกระส่าย หัวใจเต้นแรง หรือลุกไปปัสสาวะตอนกลางคืนบ่อย ๆ ให้รีบพบแพทย์ เพราะอาจเป็นอาการเริ่มต้นของไทรอยด์ผิดปกติ เบาหวาน ฯลฯ

5. น้ำหนักเพิ่มหรือลดผิดปกติ
การลดน้ำหนักที่ดีไม่ควรเกินกว่า1 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ หากมีการลดมากกว่านั้นในระยะเวลา 6 เดือน ควรต้องระวังเป็นพิเศษ การมีน้ำหนักลดลง อย่างต่อเนื่องอาจเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาสุขภาพต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน ต่อมไทรอยด์ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ สำไส้อักเสบหรือโรคมะเร็ง ส่วนการมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ให้พิจารณาว่ามาจากความอ้วนหรือไม่ ถ้าใช่ ให้ควบคุมเรื่องอาหารและการออกกำลังกาย แต่ถ้าน้ำหนักเพิ่มขึ้นร่วมกับอาการบวมน้ำ คือ ตัวบวม หายใจหอบถี่ต้องลุกไปปัสสาวะบ่อย ๆ ตอนกลางคืน อาจต้องรีบพบแพทย์ เพราะอาจเป็นอาการเริ่มต้นของโรคหัวใจ ไตวาย ต่อมไทรอยด์ผิดปกติ

6. เหนื่อยง่าย
โดยปกติแล้วคนเราอาจจะเดินขึ้นบันได 3 ชั้น หรือออกแรงทำงานต่อเนื่องกัน 1 ชั่วโมงได้โดยไม่เหนื่อย แต่ถ้าคุณรู้สึกเหนื่อยหอบ นี่คือสัญญาณบอกว่าหัวใจไม่แข็งแรง หรือหลอดเลือดอุดตันด้วยไขมัน ดังนั้นคุณต้องออกกำลังกายให้มากขึ้น เริ่มต้นจากชนิดกีฬาที่ออกแรงเบา ๆ ก็ได้ ทำให้ได้เป็นประจำอย่างน้อยวันละ 30 นาที

7. หน้ามืด
อาการหน้ามืดเกิดจากการที่สมองขาดเลือดและออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงชั่วคราว อาจเกิดจากลุกขึ้นยืนเร็วเกินไป การพักผ่อนไม่เพียงพอ ขาดการออกกำลังกาย กินยาหรือดื่มแอลกอฮอล์ที่มีฤทธิ์กดประสาท การแก้ไขที่ดีที่สุดคือการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ระบบไหลเวียนเลือดทำงานดีขึ้น แต่หากยังคงมีอาการต่อเนื่องกัน 2-3 วันให้รีบไปพบแพทย์ เพราะอาจมีปัญหาเรื่องความดันดลหิตต่ำหรือโลหิตจาง

8. ท้องผูก
อาการท้องผูก หมายถึง การถ่ายอุจจาระได้น้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ เนื่องจากมีปัจจัยบางอย่างขัดขวางการทำงานของลำไส้ ทำให้กากอาหารผ่านลำไส้ใหญ่ได้ช้าลง อาจเกิดจากความเครียด การดื่มน้ำน้อย รับประทานอาหารเหลวหรือไม่มีกากใย ไม่ฝึกขับถ่ายให้เป็นเวลา และไม่ออกกำลังกาย เราสามารถหลีกเลี่ยงอาการท้องผูกได้ด้วยการกินอาหารที่มีเส้นใยสูง ดื่มน้ำมาก ๆ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และสร้างนิสัยการขับถ่ายให้ตนเอง ทำให้เป็นกิจวัตรในเวลานั้น ๆ อาการท้องผูกเรื้อรัง (นานกว่า 3 สัปดาห์) อาจสร้างความเสี่ยงโรคริดสีดวงทวารหนัก โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ แต่ในขณะเดียวกันก็อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคมะเร็ง โรคหัวใจ หรืออาการไตวายได้เช่นกัน

9. ตัวเหลืองตาเหลือง
อาจเกิดขึ้นได้จากการพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือเกิดจากปัญหาสุขภาพตับ เช่น การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ หรือมีนิ่วอุดตันในท่อน้ำดี ทำให้เกิดอาการดีซ่าน คือ ร่างกายมีสารสีเหลือง(ชื่อบิลิรูบินซึ่งเกิดจากการทำลายเม็ดเลือดแดงที่หมดอายุ) ตกค้างอยู่ในกระแสเลือด หากเริ่มต้นมีอาการ ตัวเหลือง-ตาเหลือง ควรปรับเปลี่ยนอาหารโดยงดอาหารกลางวัน รสจัด และแอลกอฮอล์ รวมทั้งรับประทานอาหารรสจืด คาร์โบไฮเดรต และธัญพืชให้มากขึ้น เพื่อช่วยให้ตับฟื้นตัวเร็วขึ้น เพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้นาน อาการตับอักเสบอาจลุกลามกลายเป็นมะเร็งตับได้

10. ขี้ลืมมากกว่าทุก ๆ วัน
การเรียกใช้ข้อมูลในสมอง ร่างกายจะต้องทำงานผ่านเซลล์ประสาทนับหมื่นล้านตัว เซลล์เหล่านี้จะลดลงเรื่อย ๆ ตามอายุที่มากขึ้น แต่ถ้าอายุยังน้อย แต่มีอาการขี้หลงขี้ลืม อาจเป็นได้จากความเครียด วิตกกังวล หรืออาจเกิดจากการขาดสารอาหารที่ใช้บำรุงสมองให้ทำงานฉับไวยิ่งขึ้น ได้แก่ โปรตีนจากปลาทะเล การทำสมาธิก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้สมองจัดระเบียบลิ้นชักความคิดเป็นระบบ ช่วยเพิ่มความกระฉับกระเฉงยิ่งขึ้น ดังนั้น ควรแบ่งเวลาทำสมาธิให้เป็นประจำ วันละครึ่งชั่วโมงเป็นอย่างน้อย

อาการเหล่านี้แม้จะเป็นอาการเล็กน้อยที่เกิดขึ้นได้บ่อย ๆ แต่คุณก็ต้องหมั่นสังเกตระดับความรุนแรง และความถี่ที่เกิดขึ้น หากมีความผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์ทันที!!!



Create Date : 25 มีนาคม 2552
Last Update : 25 มีนาคม 2552 17:28:45 น.
Counter : 828 Pageviews.

0 comments

Mimi-jaiko
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 28 คน [?]