Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2552
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
19 ธันวาคม 2552
 
All Blogs
 

"วัดทองทั่ว"แหล่งเรียนรู้โบราณสถาน "เมืองเพนียด"


วัดทองทั่ว แหล่งเรียนรู้สำคัญของเมืองเพนียด

จันทบุรีเป็นจังหวัดหนึ่งที่ มีประวัติความเป็นมายาวนานนับพันปี ตั้งแต่ก่อนที่เราจะรู้จักกันในนามเมืองจันทบูร
อดีตหัวเมืองชายทะเลตะวันออกสมัยอยุธยา ที่พระเจ้าตากสินมหาราชรวบรวมไพร่พล
กอบกู้เอกราชคืนแก่ปวงชนชาวไทย สันนิษฐานว่าจันทบุรีเคยเป็น"เมืองเพนียด"มาก่อน

เมืองเพนียด มีชื่อปรากฏในพงศาวดารแต่แรกสร้างกรุงศรีอยุธยา จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่า
เมื่อประมาณ พุทธศตวรรษที่ 12 คือปลายสมัยฟูนัน ได้ค้นพบเมืองโบราณเก่าแก่ที่ได้รับวัฒนธรรมมาจากอินเดีย
มากกว่า 1,000 ปี ชาวบ้านเรียกว่า เมืองเพนียด หรือเมืองกาไว
โดยเชื่อกันว่าชุมชนแรกที่เริ่มเข้ามาก่อตั้งคือ ชุมชนชอง ตั้งอยู่บริเวณที่ราบชายเขาสระบาป


พระพุทธสุวรรณมงคลศากยมุนีศรีสรรญเพ็ชญ์ หรือ หลวงพ่อทอง

เมืองเพนียด มีลักษณะเป็นเนินดินรูปสี่เหลียมผืนผ้า กำแพงก่อด้วยศิลาแลงขนาดกว้าง 16 ม. ยาว 26 ม. สูง 3 ม.
ภายในเมืองมีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ และยังเชื่อว่า สถานที่แห่งนี้แต่เดิมเป็นเมืองคล้องช้างหรือขังช้าง
ต่อมาได้ย้ายเมืองมาตั้งถิ่นฐานบริเวณบ้านหัววัง ต.พุงทะลาย เมืองเพนียดจึงถูกปล่อยให้เป็นเมืองร้าง
แต่เนื่องจากเมืองพุงทะลายมีทำเลที่ไม่เหมาะมีน้ำท่วมเป็นประจำ จึงมีการย้ายเมืองไปยังบ้านลุ่ม ริมแม่น้ำจันทบุรี
ซึ่งเป็นที่ตั้งของตัวเมืองในปัจจุบัน

มีตำนานเล่าสืบต่อกันมาเกี่ยวกับเมืองเพนียดว่า เมืองเพนียดมีพระเจ้าพรหมทัต เป็นกษัตริย์ผู้ปกครองนคร
พระมเหสีคือ พระนางจงพิพัฒน์ มีพระราชโอรสด้วยกัน 2 พระองค์ คือ เจ้าชายบริพงษ์ และเจ้าชายวงศ์สุริยคาส
ต่อมาพระนางจงพิพัฒน์ทรงสิ้นพระชนม์ลง
พระนางกาไวจึงได้ทำเสน่ห์ให้พระเจ้าพรหมทัตหลงใหลและอภิเษกกัน
จนพระนางได้ตั้งครรภ์จึงได้อ้อนวอนขอสิ่งที่พระนางปรารถนา พระเจ้าพรหมทัตจึงพลั้งพระโอษฐ์ให้


ผู้เฒ่าผู้แก่ร้องรำเพลงโบราณในโบราณสถานเมืองเพนียด

เมื่อพระนางได้ประสูติพระไวยทัต พระราชโอรส
พระนางกาไวก็ได้ทูลขอพระราชสมบัติให้แก่พระไวยทัต ตามที่เคยรับปากไว้
จึงทำให้เจ้าชายบริพงษ์ และเจ้าชายวงศ์สุริยคาส ต้องอพยพไปสร้างเมืองใหม่ทางเหนือของเมืองเพนียด
ในดินแดนเขมร เรียกว่า เมืองสามสิบ

ครั้นต่อมาพระเจ้าพรหมทัตสวรรคต พระไวยทัตขึ้นครองราชย์สมบัติ โดยมีพระนางกาไวเป็นผู้สำเร็จราชการแทน
เมื่อเจ้าชายบริพงษ์ และเจ้าชายวงศ์สุริยคาสทราบข่าวจึงยกทัพมาตีเพื่อเอาพระนครคืน
พระไวยทัตสู้ไม่ไหวจึงถอยทัพร่นกลับแต่ก็ถูกตีแตก พระไวยทัตถูกฟันคอสิ้นพระชนม์บนหลังช้าง
ตรงบริเวณเกาะทัพแตก ซึ่งเพี้ยนมาเป็นเกาะตะแบกในปัจจุบัน

เมื่อพระนางกาไวทราบข่าวพระไวยทัตสิ้นพระชนม์ จึงได้ขนทรัพย์สินแก้วแหวนเงินทองออกมาโปรยหว่าน
เพื่อล่อให้ข้าศึกเก็บ แต่ครั้นจะหนีก็เห็นว่าไม่มีทางรอด จึงดื่มยาพิษชื่อว่า ยามหาไวย สิ้นพระชนม์ในห้องบรรทม
และสถานที่ที่พระนางกาไวหว่านทรัพย์สินเงินทองนั้น เรียกว่า ทองทั่ว
และเป็นสถานที่ตั้งของ "วัดทองทั่ว" ในปัจจุบัน


โบราณวัตถุบางส่วนถูกเก็บอยู่ที่วัดทองทั่ว

สำหรับ "วัดทองทั่ว" ต.คลองนารายณ์ อ.เมือง จ.จันทบุรี เป็นวัดเก่าแก่ที่มีความเจริญรุ่งเรื่องมาช้านาน
พร้อมกับตำนาน และโบราณสถานโบราณวัตถุที่มีอายุกว่าพันปี ตามประวัติบอกไว้ว่า
วัดแห่งนี้มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เดิมชื่อ วัดเพนียด บริเวณใกล้วัดยังมีหลักฐานกำแพงเมืองปรากฏอยู่
มีหลักฐานเก่าให้เชื่อว่าเป็นวัดโบราณ อาทิ ใบเสมาของอุโบสถเก่าเป็นแบบใบเสมาคู่
ภายในวัดยังมีพระพุทธรูปหล่อทองสัมฤทธิ์องค์หนึ่ง เป็นพระพุทธรูปสมัยอยุธยา ตอนปลาย

โดยเชื่อว่าวัดแห่งนี้เป็นพระอารามหลวง เนื่องจากพบใบสีมาคู่เก่าแก่รอบพระอุโบสถทั้ง 8 ทิศ
ตามลักษณะใบสีมาจัดอยู่ในสมัยนิยมอยุธยา มีรูปเทวดาถือดอกบัว 2 ดอก แยกออกซ้ายขวา บางแห่งกล่าวว่า
เป็นศิลปะศรีวิชัย ภายในพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐาน "พระพุทธสุวรรณมงคลศากยมุนีศรีสรรญเพ็ชญ์"
หรือ "หลวงพ่อทอง" เป็นพระพุทธรูปที่มีอายุเก่าแก่คู่มากับพระอุโบสถ


หน้าวัดทองทั่วมีเจดีย์โบราณรูปทรงลังกา ลักษณะนิยมสมัยอยุธยา

ตามคำบอกเล่าของคนเก่าคนแก่ เล่าว่า เมื่อพ.ศ.2471 ได้มีการบูรณะอุโบสถพร้อมพระประธาน
ซึ่งพระประธานได้เอียงทรุดไปด้านหนึ่ง จึงได้เกณฑ์ชาวบ้านมาช่วยกันดีดแล้วค้ำยันองค์พระให้ตั้งตรง
แต่ส่วนฐานพระประธานกลับหลุดกะเทาะ ตรงปูนปั้นด้านหน้าฐานพระที่เรียกว่า ผ้าทิพย์
ก็ได้พบโกศงาช้างกลึงสวยงาม ภายในโกศมีกระดูก 2 ชิ้น มีผ้าดิ้นลายทองยกรูปดอกไม้พื้นสีออกม่วงห่อไว้

และได้พบแผ่นทองคำรูปใบโพธิ์เขียนจาตึกเป็นตัวหนังสือไว้ว่า
พระอัฐิ พระเจ้าตาก พระยาจันทบุรีเป็นผู้นำมาไว้ แต่ต่อมาแผ่นทองนั้นก็ได้หายไป
อีกทั้งจนปัจจุบันก็ยังไม่สามารถสืบค้นได้ว่า พระยาจันทบุรีนี้คือใคร และนำมาไว้ที่วัดแห่งนี้เมื่อใด
สันนิษฐานว่าคงจะนำมาไว้เมื่อสมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อถวายพระเพลิงพระศพเรียบร้อยแล้ว


ซากโบราณสถานเมืองเพนียด

นอกจากนี้ยังมีโบราณวัตถุอีกมากมาย อาทิ ธรรมมาส สร้างในปีพ.ศ.2467 โดยขุนนราพิทักกรม
มีลวดลายแกะสลักที่งดงามตามยุคสมัย ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุเรียบร้อยแล้ว
และยังคงมีการ ใช้แสดงธรรมในวันพระ 8 ค่ำ และ 15 ค่ำ

ตู้พระไตรปิฎกลายทอง อายุราว 200 กว่าปี เป็นตู้ลายรดน้ำลายทองเป็นลายกนกเปลวเพลิง
ด้านข้างเป็นลายกนกเปลวเพลิงเล่าเรื่องรามเกียรติ์ และสัตว์ป่าหิมพานต์
ที่บานประตูเป็นรูปเทวดาเปรียบเหมือนเป็นผู้รักษา มี 2 ชั้นใช้สำหรับเก็บพระไตรปิฎก


กระดูกที่สันนิษฐานว่าเป็นพระอัฐิพระเจ้าตาก

หีบคัมภีร์ขนาดใหญ่ อายุราว 300 กว่าปี มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมคางหมู
แกะสลักลานกนกใบเถาวัลย์เป็นรูปสัตว์ต่างๆ และลายเทพพนม และหีบพระธรรม อายุราว 200 ปี
เป็นหีบสำหรับใส่หนังสือพระมาลัย ใช้สวดพระมาลัย เป็นทำนองที่ไพเราะ
เป็นลายกนกเปลวเพลิงมีเทวดา 3 องค์ และรูปเล่าเรื่องรามเกียรติ์เป็นลายรดน้ำปิดทอง

ด้านนอกพระอุโบสถยังมีเจดีย์ 2 องค์ เป็นรูปทรงลังกา ลักษณะนิยมสมัยอยุธยา จึงสันนิษฐานว่า
เจดีย์ทั้ง 2 องค์น่าจะสร้างขึ้นในสมัยนั้นคู่มากับวัด แต่ก็มีชาวบ้านเล่ากันว่า เจดีย์องค์ที่อยู่หลังอุโบสถ
ปัจจุบันคือองค์หน้าศาลาการเปรียญได้สร้างก่อนทั้ง 2 องค์ มีลายศิลปะผสมผสานกันอายุราว 200 ปี
นับเป็นโบราณสถานของวัดชิ้นหนึ่ง ที่บ่งบอกถึงความเจริญรุ่งเรืองมานับร้อยปี

อีกทั้งยังมีการค้นพบหลักฐาน ที่เป็นลายลักษณ์อักษรบริเวณเมืองเพนียด เป็นจารึกศิลาแลง ขนาดกว้าง 49 ซม.
สูง 47 ซม. หนา 16.5 ซม. จารึกด้วยอักษรขอมโบราณ ภาษาสันสกฤตและเขมร
ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่หอพระสมุดวชิรญาณ กรุงเทพฯ ชื่อว่า "จารึกวัดทองทั่ว-ไชยชุมพล"

จารึกที่พบอีกหลักก็คือ "จารึกเพนียด" เป็นจารึกอักษรขอมโบราณ สันสกฤต และเขมร
มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 15 ปัจจุบันก็เก็บรักษาไว้ที่หอพระสมุดวชิรญาณ กรุงเทพฯ เช่นกัน
และยังพบ "จารึกเพนียดหลักที่ 52" จารึกด้วยอักษรขอมโบราณ อายุราวเดียวกับจารึกเพนียดเช่นกัน


โบราณวัตถุที่ขุดค้นพบบริเวณเมืองเพนียดจัดเก็บไว้ที่วัดทองทั่ว

นอกจากนี้ยังมีการขุดพบโบราณวัตถุ ชิ้นส่วนเทวรูป และเศษถ้วยชามต่างๆ ภายในเมืองเพนียด
ซึ่งปัจจุบันจัดเก็บไว้ที่วัดทองทั่ว จากหลักฐานที่พบในเมืองเพนียดพอจะระบุได้ว่า
เมืองเพนียดตั้งแต่ราวพุทธ ศตวรรษที่ 12 ถึงราวพุทธศตวรรษที่ 18 คงจะร่วมอยู่ในวัฒนธรรมเขมร
จนกระทั่งอาณาจักรเขมรถูกอยุธยาเข้ายึดครอง

และวัดทองทั่วแห่งนี้ กรมการศาสนาได้ออกหนังสือรับรองสภาพวัดว่าได้ตั้งวัดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2310
และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.2318 ในสมัยกรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร
ศิลปะโครงสร้างเดิมเป็นที่นิยมในสมัยอยุธยา แต่ปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนแปลงต่อเติมบางส่วนจนเป็นดังปัจจุบัน


ที่มา : //www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9520000055392




 

Create Date : 19 ธันวาคม 2552
0 comments
Last Update : 19 ธันวาคม 2552 12:58:30 น.
Counter : 2484 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.