Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2552
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
24 ธันวาคม 2552
 
All Blogs
 
ทะเลหมอกเมืองไทย

อะไรจะโรแมนติกเท่ากับการได้ออก ไปยืนดูทะเลหมอกตอนเช้าตรู่
เวลาไปเที่ยวตามดอยต่างๆ สิ่งที่เราจะต้องนึกตามมาคือ มีทะเลหมอกด้วยหรือเปล่า

แต่ท่านผู้อ่านคงเคยเจอ ว่าแม้ในที่ที่เคยมีหมอกก็ใช่ว่าจะเห็นหมอกทุกครั้ง
ผมไปสอบถามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่กรมอุตุนิยมมาให้แล้วว่า หมอกมันเกิดมาจากอะไร
ทีนี้เราลองมารู้จักหมอกพร้อมๆ กัน




หมอกในหน้าหนาวนี้เป็นมวลอากาศเย็น ที่เคลื่อนตัวลงมาจากประเทศจีน
ลงมาปะทะกับอากาศร้อนชื้นในบ้านเรา กลายเป็นละอองน้ำเล็กๆ กระจายอยู่ทั่วไปในอากาศ
หลักการง่ายๆ เหมือนไอเย็นมาปะทะไอร้อนก็จะเป็นหยดน้ำ...นั่นแหละครับ
เพียงแต่มันย่อขนาดลงมา จะลอยขึ้นไปเป็นเมฆก็ยังไม่ถึงขนาดนั้น
หมอกบางส่วนลอยไปลอยมา ไปโดนยอดไม้ ใบหญ้า หลังคาเต็นท์ หลังคาบ้าน ก็กลายเป็นน้ำค้าง
ถ้าอุณหภูมิต่ำลงมากๆ ก็จะทำให้น้ำค้างที่ว่ากลายเป็นของแข็งที่เราเรียก "แม่คะนิ้ง" นั่นแหละ
บางที่แม่คะนิ้งไม่ทันจะเป็นน้ำก็แข็งซะก่อน เราจึงเห็นเป็นเสี้ยนน้ำแข็ง เหมือนในช่องฟรีตในตู้เย็นนั่นเอง

แล้วทำไมเวลาเราไปท่องเที่ยวจริงๆ อุตส่าห์ไปที่อากาศหนาวแล้ว
แต่บางเช้ากลับไม่มีทะเลหมอกให้ดูซะอย่างนั้น?




ลองมาดูมุมมองของคนเดินทางที่เป็น “นักสังเกตการณ์” ไม่ใช่ “นักวิชาการ” บ้าง
ผมสังเกตว่าที่ไหนจะมีหมอก จะเป็นแบบนี้ครับ..

★ 1.เป็นช่วงหน้าหนาว เพราะมีมวลอากาศเย็นลงมาจากประเทศจีน อย่างที่เจ้าหน้าที่กรมอุตุเขาบอก

★ 2.ฟ้าวันนั้นมักจะใส แดดจัด เพราะแดดจัดนี่แหละที่จะทำให้ดินได้รับความร้อนเต็มที่
เพื่อที่ความร้อนจากในดินจะได้ปล่อยออกไปปะทะอากาศเย็นในตอนกลางคืน

★ 3.ทำเลที่เกิดจะต้องเป็นลักษณะคล้ายอ่างกระทะ เพราะพื้นที่แบบนี้จะได้อาศัยขอบคูของอ่าง
อาจจะเป็นภูเขานั้นช่วยกั้นอาณาบริเวณทำให้อุณหภูมิค่อนข้างคงตัว

★ 4.ต้องไม่มีลมพัดแรง เพราะลมพัดแรงก็จะพัดหมอกหายไปหมด (ขอบคูในข้อ 3 ก็จะช่วยกั้นลมด้วย)

★ 5.อีกข้อคือ เราจะต้องอยู่เหนือจากบริเวณที่มันเป็นหมอก เราจึงจะเห็นว่ามันเป็นทะเลหมอก
ถ้าเราไปจมอยู่ในหมอก หรือรอบๆ ตัวเรามีแต่หมอก
เราต้องนั่งเครื่องบินหรือขึ้นบอลลูน ขึ้นไปดูข้างบนที่มันสูงกว่าระดับที่เป็นหมอก
เพราะแบบนี้แหละจุดดูทะเลหมอกทั้งหลายจึงต้องอยู่บนที่สูง เพื่อดูจุดที่จะเป็นทะเลหมอกในที่ที่ต่ำกว่า

6.ถ้าบริเวณในแอ่งข้างล่าง มีแม่น้ำ ลำห้วยด้วยแล้ว โอกาสเห็นทะเลหมอกมีสูง

สรุปว่าเรื่องหมอกนี่ต้องเกี่ยวกับอุณหภูมิเป็นหลัก ดังนั้นที่ไหนที่มีป่า โดยเฉพาะดงดิบกว้างใหญ่ อุดมสมบูรณ์
ไม่ใช่ช่วงหน้าหนาว ก็อาจจะมีทะเลหมอกได้ เพราะป่าสร้างมวลอากาศเย็นของตัวเองขึ้นมานั่นเอง
อย่างที่พะเนินทุ่ง อช.แก่งกระจาน จะมีหมอกไปจนถึงเดือนมีนาคม เรียกว่ามีทุกวัน ยกเว้นวันที่ลมแรง
หรือที่ยอดเขาหลวงนครศรีธรรมราช ช่วงพฤษภาคมยังมีทะเลหมอกให้เห็น

ถ้าเราลองสังเกตดูทะเลหมอก ในช่วงเช้ามืดจะเห็นหมอกเป็นริ้วคลื่นชัดเจน
แต่พอสายๆ หมอกจะฟุ้งไม่เป็นก้อน เหมือนกับทะเลหมอกที่เกิดในหน้าฝน
หมอกในหน้าฝนเรามักจะเห็นเป็นก้อนๆ ถ้าไม่เป็นก้อนก็คือจางหายฟุ้งไปทั่ว
ในภาษาคนเดินทางจึงเรียกหมอกแบบนี้ว่า "หมอกฝน" ซึ่งในทางวิชาการคงไม่ระบุขนาดนี้
แต่องค์ประกอบของหมอกฝนก็เหมือนการเกิดหมอกทั่วไป
เหตุที่หมอกหน้าหนาวค่อยๆ ฟุ้ง เพราะมีอากาศเย็นใกล้เคียงคอยเลี้ยงสภาพอยู่
แต่สำหรับหมอกฝน พออิทธิพลความเย็นของฝนหายไปก็หายกันนั่นเอง

ทะเลหมอกเกิดในที่ที่เปิดโล่งแบบในทะเลก็ได้ ถ้าไม่มีลม เพราะผมเคยเห็นทะเลหมอกเหนืออ่าวมะนาว
ประจวบมาแล้ว แต่ต้องขึ้นไปดูบนยอดเขาหลวง อช.น้ำตกห้วยยาง




พูดถึงหมอกฟุ้ง ซึ่งเป็นมูลเหตุของคำว่า "ฟ้าหลัว" จะว่ามาจากสลัวก็คงไม่ผิด
แต่ลักษณะหลัวนี่มาจากทัศนวิสัยการมองเห็นนั้น ไม่ชัดเจนจากปัจจัยอากาศ ไม่ใช่คนมองเป็นต้อกระจก
แต่เพราะอากาศที่ทำให้ทัศนวิสัยการมองเห็นมันสั้นเข้า
ซึ่งอาจจะหลัวเพราะในอากาศมีละอองน้ำหรือหมอกที่เราว่านี่แหละ หรือหลัวเพราะควันไฟ ก็หลัวได้ทั้งนั้น
ซึ่งอย่างที่ผมบอกไปว่า ถ้าฟ้าหลัวก็อย่าหวังว่าจะได้เจอทะเลหมอกเลย โอกาสน้อยมาก

สรุปง่ายๆ ก็คือ วันรุ่งขึ้นที่จะเจอทะเลหมอก ต้องฟ้าโปร่ง แดดจัด ไม่มีหมอกควัน อุณหภูมิต่ำ ลมสงบ
ถ้าครบองค์ประกอบแบบนี้ เช้าขึ้นมาเตรียมดูทะเลหมอกสวยๆ ได้เลย
ในช่วงนี้บ้านเรามีแหล่งดูทะเลหมอกหลายแห่ง ส่วนใหญ่อยู่ทางภาคเหนือ
เพราะทางอีสานแม้จะมีหมอก แต่ลมมักแรง พื้นที่เปิดโล่งเป็นส่วนใหญ่
บางพื้นที่เป็นหุบเป็นแอ่ง แต่ความชื้นก็ไม่ค่อยได้
ส่วนใหญ่ทะเลหมอกทางอีสานจึงมักเห็นในช่วงหน้าฝน อย่างเช่น บนภูกระดึง (เลย),
ผาชะนะได อช. ผาแต้ม (อุบล), ผากำปั่น เขตฯ ภูวัว (หนองคาย), ภูคิ้ง เขตฯภูเขียว (ชัยภูมิ) เป็นต้น

ส่วนทางภาคเหนือที่มักจะมีหมอกให้เห็นคือ ม่อนกิ่วลมและอีกหลายม่อน ของ อช.แม่เมย (ตาก),
ภูชี้ฟ้า-ผาตั้ง (เชียงราย), ภูลังกา (พะเยา), อช.ศรีน่าน (น่าน),
ห้วยน้ำดัง-ดอยผ้าห่มปก- อ่างขาง-ดอยอินทนนท์-ดอยสามหมื่น ฯลฯ พวกนี้อยู่ในเชียงใหม่
ส่วนทางภาคกลางก็ต้องที่พะเนินทุ่ง อช.แก่งกระจาน (เพชรบุรี) ที่นี่มีทุกวันไปจนถึงเดือนมีนาคมด้วยซ้ำไป

รู้ซึ้งถึงทะเลหมอกแบบนี้
ปีนี้หวังว่าท่านผู้อ่านคงคาดการณ์ และเลือกสถานที่ ที่จะได้เห็นทะเลหมอกให้สมใจหวังนะครับ...


โดย : คมฉาน ตะวันฉาย
ที่มา ://www.bangkokbiznews.com


Create Date : 24 ธันวาคม 2552
Last Update : 24 ธันวาคม 2552 14:36:10 น. 2 comments
Counter : 873 Pageviews.

 
ปรบมือ ๆ เข้ามาซึมซับความรู้


โดย: น้ำ-ฟ้า-ป่า-เขา วันที่: 24 ธันวาคม 2552 เวลา:22:27:49 น.  

 
ขอบคุณข้อมูลดีดีนะค่ะ


โดย: ta (tookta_tt ) วันที่: 25 ธันวาคม 2552 เวลา:12:42:38 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.