Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2552
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
12 มิถุนายน 2552
 
All Blogs
 
เปิดหวูดถวิลหาอดีต ที่ 'ราด-รี'

เปิดหวูดถวิลหาอดีต ที่ ราด-รี

เช้าตรู่ของเช้าวันเสาร์ 'เดลินิวส์ ไกด์' มีนัดกับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่จะร่วมเดินทางไปกับ ขบวนรถไฟ
ตามโปรแกรม 'เที่ยวใกล้ๆ หัวใจเปิดหวูด : ถวิลหาอดีต ราชบุรี' หนึ่งใน โปรแกรมเที่ยวทางรถไฟ
ตามโครงการเที่ยวรถไฟครึกครื้น เศรษฐกิจไทยคึกคัก 'ผู้โดยสารโปรดทราบ รถไฟขบวนธรรมดา กรุงเทพฯ
ปลายทางหัวหิน เที่ยวเวลา 09.20 น. ได้เวลาขบวนรถออกแล้ว.....'

เปิดหวูดถวิลหาอดีต ที่ ราด-รี

เมื่อรู้ว่าอีกไม่ถึง 3 นาที รถไฟขบวนนี้จะมุ่งหน้าสู่จุดหมายปลายทาง 'เดลินิวส์ ไกด์' ก็ไม่รอช้า
รีบหาเก้าอี้ไม้ที่ถูกใจ จับจองมุมที่นั่งเป็นของตัวเอง
โดยการเดินทางในครั้งนี้ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงเศษ ก็มาถึง สถานีราชบุรี หรือ สถานี ราด-รี

มาถึงราชบุรี เมืองโอ่งแล้ว ต้องเปลี่ยนไปขึ้นรถโค้ช เพื่อความสะดวกในการเดินทางภายในตัวเมือง
แต่ก่อนที่จะเที่ยว ต้องเติมพลังให้ท้องสักหน่อย ที่ 'ร้านก๋วยเตี๋ยวไข่เมืองราชบุรี'
ร้านก๋วยเตี๋ยวขึ้นชื่อ ที่คนในเมืองราชบุรี รู้จักกันแทบทุกคน

ที่ 'ร้านก๋วยเตี๋ยวไข่เมืองราชบุรี' นั้น มีอาหารให้เลือกหลายอย่าง แต่ที่ขึ้นชื่อก็คือ 'ก๋วยเตี๋ยวไข่' ก๋วยเตี๋ยว ใส่ไข่ต้ม
หรือจะเป็นก๋วยเตี๋ยวแห้ง น้ำใส ต้มยำ ฯลฯ รสชาติก็กลมกล่อมไม่แพ้กัน แต่หากไม่ถูกปากกับก๋วยเตี๋ยว
ก็ยังมีข้าวราดแกงจานด่วน รวมไปถึงอาหารเรียกน้ำย่อยอย่างหมูสะเต๊ะ และส้มตำผลไม้ไว้บริการ

เปิดหวูดถวิลหาอดีต ที่ ราด-รี

หนังท้องตึง แต่หนังตายังหย่อนไม่ได้ เพราะจากนี้ไป จะเป็นการเดินทางย้อนอดีตภายใน จ.ราชบุรี
โดยเริ่มต้นที่การชม 'หนังใหญ่' วัดขนอน ที่ ต.สร้อยฟ้า ริมแม่น้ำแม่กลอง
อยู่ห่างจากตัว อ.โพธาราม ไปประมาณ 10 กิโลเมตร

สำหรับหนังใหญ่นั้น ปัจจุบันหาดูได้ยากนัก เนื่องจากสมัยก่อน ถือเป็นมหรสพชั้นสูง
ปัจจุบันเหลือสืบทอดกันเพียง 3 แห่งเท่านั้น คือ หนังใหญ่วัดสว่างอารมณ์ จังหวัดสิงห์บุรี
หนังใหญ่วัดบ้านดอน จังหวัดระยอง และหนังใหญ่วัดขนอน จังหวัดราชบุรี

หนังใหญ่วัดขนอน สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยอดีตเจ้าอาวาสคือ ท่านพระครูศรัทธาสุนทร (หลวงปู่กล่อม)
ท่านได้ชักชวนครูอั๋ง ช่างจาด ช่างจ๊ะ และช่างพ่วง มาร่วมกันสร้างตัวหนัง
หนังชุดแรกที่สร้างคือ ชุดหนุมานถวายแหวน ต่อมาได้สร้างเพิ่มอีกรวม 9 ชุด รวม 313 ตัว

ในปี 2532 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเห็นคุณค่าในการแสดง
และศิลปะในตัวหนังใหญ่ ทรงมีพระราชดำริให้ทางวัดช่วยอนุรักษ์ตัวหนังทั้ง 313 ตัว
และจัดทำหนังใหญ่ชุดใหม่ขึ้นแสดงแทน พร้อมดำเนินโครงการสร้างพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ขึ้นในวัด
โดยมีมหาวิทยาลัยศิลปากรรับผิดชอบงานช่างจัดทำ

เปิดหวูดถวิลหาอดีต ที่ ราด-รี

นอกจากการชมหนังใหญ่แล้ว ภายในวัดยังมี 'พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่' เพื่อใช้เป็นสถานที่เก็บรักษาตัวหนังใหญ่
ชุดเก่าอย่างถูกวิธี และนักท่องเที่ยวยังได้ศึกษาเกี่ยวกับที่มาที่ไปของหนังใหญ่ รวมไปถึงวัสดุ และวิธีการทำด้วย

เพื่อสืบทอดให้มหรสพชั้นสูงนี้ยังคงอยู่ต่อไป ทุกวันเสาร์เวลา 10.00 น. คณะหนังใหญ่ วัดขนอน
จะแสดงหนังใหญ่ให้ประชาชนและผู้สนใจเข้าชม และศึกษา ฟรี ณ โรงแสดงหนังใหญ่วัดขนอน

จากนั้นเดินทางไปต่อที่ ‘อุทยานหุ่นขี้ผึ้งสยาม’ ที่ อ.บางแพ
ภายในอาคารจัดแสดงหุ่นขี้ผึ้งไฟเบอร์กลาสของบุคคลสำคัญท่านต่างๆ
ลานกลางแจ้งจัดแสดง ‘ลานพระสามสมัย’ โดดเด่นที่การสร้างท่ามกลางร่มรื่นของไม้ใหญ่
หรือจะเป็นมุม ‘ถ้ำชาดก’ ถ้ำจำลองจัดแสดงแสงเสียงเกี่ยวกับพระชาติสุดท้ายของพระเวสสันดร
รวมไปถึง กุฏิพระสงฆ์, บ้านไทย 4 ภาค, ลานพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ฯลฯ

เปิดหวูดถวิลหาอดีต ที่ ราด-รี

ออกจาก อุทยานหุ่นขี้ผึ้งสยาม เดินทางสู่ ‘ชุมชนเจ็ดเสมียน’ เพื่อแวะชิมไชโป๊หวานที่ร้านแม่กิมฮวย
พร้อมสัมผัสกับความเป็นอดีต ท่ามกลางบรรยากาศตลาดเก่าโบราณ ที่ยังคงรักษาขนบธรรมเนียม การดำรงชีวิต
การซื้อขายเฉกเช่นในสมัยอดีต

แต่สิ่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากทีเดียว เห็นจะเป็นการร้อง เล่น เต้น
และเห่เพลงอย่างสนุกสนานของผู้เฒ่า ผู้แก่ชุมชนเจ็ดเสมียน เรียกว่า ลืมแก่กันไปชั่วขณะเลยทีเดียว

เมื่อแดดร่ม ลมตก ก็ได้เวลาของการแสดง ‘All About Art : สืบสานงานศิลป์ ภูมิปัญญาคนของแผ่นดิน’
การแสดงภายใต้การกำกับของ ‘มานพ มีจำรัส’ ศิลปินเจ้าของรางวัลศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดง
ที่ทำงานตอบแทนแผ่นดินเกิดด้วยการสร้าง 'สวนศิลป์ บ้านดิน'
เพื่อเปิดให้เป็นเวทีเติมเต็มโอกาสและฝันให้เด็กๆ รวมไปถึงผู้ที่รักและชื่นชอบในศิลปะแขนงต่างๆ

พระจันทร์เด่นหลาอยู่กลางนภา เป็นสัญญาณแสดงให้ทราบว่า ได้เวลาพักผ่อน เตรียมร่างกายให้พร้อมก่อนออกเดินทางต่อในวันรุ่งขึ้น

เปิดหวูดถวิลหาอดีต ที่ ราด-รี

เช้าสดใสรับอรุณ ผู้ร่วมทริปทุกท่านพร้อมขึ้นรถ เพื่อเดินทางต่อไป
ชมประวัติความเป็นมาของชาวลุ่มแม่น้ำแม่กลอง ที่ ’พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี’
ซึ่งเดิมเป็นศาลาว่าการรัฐบาลมณฑลราชบุรี จัดแสดงเรื่องราวความเป็นมาของชุมชนในพื้นที่จังหวัดราชบุรี
อีกทั้งยังใช้เป็นศูนย์กลางการศึกษาอนุรักษ์ และเผยแพร่ให้ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติ ตามแนวทาง
การพัฒนากิจการพิพิธภัณฑสถานสมัยใหม่ ทั้งในด้านธรณีวิทยา โบราณคดี ประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ศิลปะ
วัฒนธรรมพื้นบ้าน ชาติพันธุ์วิทยา และแหล่งท่องเที่ยวด้านวัฒนธรรม และธรรมชาติที่สำคัญของจังหวัด
ซึ่งได้แบ่งเรื่องราวออกตามลักษณะของห้องจัดแสดงรวมทั้งสิ้น 10 ห้องจัดแสดง

นอกจากนี้ ยังมีโบราณวัตถุที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็น 'โครงกระดูกมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์' ถูกค้นพบที่
แหล่งโบราณคดี ต.โคกพลับ อ.บางแพ, 'เทวรูปพระอิศวร ศิลปทวารวดี ราวพุทธ' ทำจากหิน, 'เศียรพระพุทธรูป'
ศิลปะทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ 13 - 14 กว้าง 40, 'พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี' ศิลปะลพบุรี พุทธ
พบที่บริเวณโบราณสถานจอมปราสาท เมืองโบราณโกสินารายณ์ อ.บ้านโป่ง,
'พระแสงราชศาสตราประจำมณฑลราชบุรี' ศิลปะในสมัยรัตนโกสินทร์ ฯลฯ

เปิดหวูดถวิลหาอดีต ที่ ราด-รี

เรียนรู้เรื่องราวของประวัติศาสตร์เมืองราชบุรีไปแล้ว ก็ไปต่อกันที่ของดีราชบุรี นั่นคือ การทำเซรามิค
ที่ 'โรงงานเซรามิคเถ้าฮงไถ่' แต่ด้วยเวลาที่มีอยู่ไม่มากนัก
จึงทำได้แต่เพียงการเพ้นท์ชามด้วยศิลปะที่เรียกว่า 'ลากุ' และการเพ้นท์แจกัน

หลักการเพ้นท์ก็มีอยู่ไม่มากนัก อยากได้สีไหน ลวดลายอะไร ก็แต่งเติมลงไป ไม่มีการปิดกั้น
แต่หากว่าหลังจากการเผาแล้ว ออกมาไม่สวยดังใจหวัง ก็อย่าวางทิ้งไว้เป็นที่ระลึกให้กับโรงงานก็แล้วกัน
ซึ่งหลังจากเพ้นท์เรียบร้อยแล้ว ก็ต้องรอเวลาในการเผาถึง 2 ชั่วโมง เพื่อให้ได้ชามศิลปะแบบลากุ
ส่วนแจกันนั้นใช้เวลาอบเพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น

เมื่อได้งานศิลปะชิ้นเอก ที่มีเพียงชิ้นเดียวในโลกแล้ว ก็ไปต่อกันที่สุดท้ายกับ ‘จิปาถะภัณฑ์สถานบ้านคูบัว'
สถานที่จัดแสดงและรวบรวมผ้าจก ศิลปะ ของเก่า วัฒนธรรมที่แสดงถึงวิถีชีวิตชาวไทยวนคูบัว เพื่อให้เป็น
อนุสรณ์แก่คนรุ่นหลัง ซึ่ง ดร.อุดม สมพร ผอ.จิปาถะภัณฑ์สถานบ้านคูบัว แสดงความคิดเห็นว่า
หากไม่เริ่มเก็บตั้งแต่วันนี้ อาจสูญหายไปสักวัน อีกทั้งของบางชิ้นที่เห็นว่าเป็นของใหม่สำหรับเรา
แต่ในอนาคต มันจะเป็นของเก่าสำหรับคนข้างหน้า

สำหรับจิปาถะภัณฑ์สถานบ้านคูบัวแห่งนี้ แบ่งส่วนจัดแสดงออกเป็น 2 ส่วนคือ ชั้นล่าง ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ห้อง
คือ สำนักงานพิพิธภัณฑ์, ห้องแสดงศิลปะ-วัตถุโบราณสมัยทวารวดี
และห้องภูมิปัญญาวิถีชีวิตของชาวไทยวนที่อยู่ในบ้านคูบัว

ชั้นบน ก็ถูกบ่งออกเป็น 3 ห้องเช่นกัน คือ ห้องรองอำมาตย์เอกหลวงศรีสวัสดิ์ (ชั้น เทพยสุวรรณ)
จัดแสดงหูกและอุปกรณ์ทอผ้าที่ใช้จริง, ห้องสุปราณี ชีวิประวัติดำรงค์
จัดแสดงผ้าจกโบราณแต่ละผืนมีอายุตั้งแต่ 150 ปี
และ ห้องสมสมัย-คริสโตเฟอร์ พรหมมี จัดแสดงเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มของชาติพันธุ์ต่างๆ ที่มีอยู่ใน จ.ราชบุรี

2 วัน 1 คืน กับการเรียนรู้จุดเริ่มต้น การดำรงอยู่ ศิลปะ ตลอดจนการรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมของราชบุรีอย่างเต็มอิ่ม.

ที่มา : เดลินิวส์


Create Date : 12 มิถุนายน 2552
Last Update : 12 มิถุนายน 2552 14:58:30 น. 0 comments
Counter : 1188 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.