Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2552
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
24 พฤศจิกายน 2552
 
All Blogs
 
ล่องใต้ ไปแล ‘เมืองลิกอร์’ ณ นครศรีธรรมราช


พระบรมธาตุเมืองนครโดดเด่นเหนือหมู่เจดีย์ราย

คนใจใฝ่ธรรมะอย่าง“ตะลอนเที่ยว” ลงเที่ยวเมืองใต้ ก็ได้โคจรมาเยือนดินแดนแห่งพุทธศาสน์เมืองใต้
อย่างเมืองนครศรีธรรมราชแห่ง นี้อีกครา แรกเริ่มเดิมทีตั้งใจไว้ว่า เข้าไปไหว้พระบรมธาตุเมืองนคร
ภายใน”วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร”เป็นการเรียบร้อยแล้ว จะตระเวนทัวร์นอกตัวเมืองคอนทันที

แต่เพิ่งมาแจ้งแก่ใจตัวว่า เข้าเมืองคอนครั้งใด ก็ยังๆไม่เคยสัมผัสเสน่ห์ในเมืองอย่างเต็มๆเป็นล่ำเป็นสัน
ดังนั้นก่อนที่คิดจะผลีผลามไปเที่ยวนอกเมือง เลยเปลี่ยนแปรเป็นเที่ยวเบาๆภายในเมืองแทน


ยามค่ำคืนของพระบรมธาตุเมืองนคร

มงกุฎเมืองลิกอร์
เริ่มต้นกับเป้าหมายหลักที่ตั้งใจไว้ มาเมืองคอนทีไร ต้องแวะไปกราบไหว้บูชาทุกครั้ง
ที่ “วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร” วัดที่เป็นศูนย์รวมใจของชาวเมืองนครศรีธรรมราช
ที่ชาวบ้านนิยมเรียกแตกต่างกันออกไป เช่น วัดพระธาตุ วัดพระมหาธาตุ ที่มีฐานะเป็นอารามหลวงชั้นเอก
ชนิด วรมหาวิหาร สันนิษฐานว่าสร้างในปี พ.ศ. 854 ด้วยศิลปะแบบศรีวิชัย

ด้วยทำเลที่ตั้งอยู่ในเขตริมถนนราชดำเนิน ต.ในเมือง อ.เมือง บนเนื้อที่จำนวน 25 ไร่ 2 งาน ทำให้ภายในวัดแห่งนี้
มากด้วยสรรพสิ่งชวนมอง ความโดดเด่นอันดับแรกที่เราจะสัมผัสได้
ตั้งแต่ยังไม่ทันย่างกรายเข้าภายใน บริเวณวัดเสียด้วยซ้ำก็คือ ความยิ่งใหญ่ของ “พระบรมธาตุเจดีย์”
ซึ่งเป็นพระเจดีย์บรรจุบรมสารีริกธาตุ สัญลักษณ์ของเมืองนคร อันเปรียบประดุจมงกุฏแห่งมือง


บันไดทางขึ้นสู่พระบรมธาตุที่มีเหล่าผู้ปกปักรักษาอยู่

พระบรมธาตุเจดีย์ที่ปรากฏในปัจจุบันนี้ เป็นทรงลังกาหรือระฆังคว่ำบ้างก็ว่าโอคว่ำ
(โอ คือ ภาชนะเครื่องสานอย่างหนึ่งสำหรับใส่ของรูปร่างคล้ายขัน) หรือ ระฆังคว่ำ

สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับองค์พระบรมธาตุเจดีย์ สูง 55.78 เมตร มีปล้องไฉน 52 ปล้อง
ยอดของปล้องไฉนหุ้มทองคำเหลืองอร่าม สูง 6 วา 1 ศอก
ส่วนรอบพระบรมมหาธาตุเจดีย์ มีเจดีย์รายรอบถึง 158 องค์ เยอะเอาการทีเดียว

ตำนานเมืองนครเล่าสืบต่อกันมาว่า
เจ้าหญิงเหมชาลาและเจ้าชายทนทกุมาร ขณะที่อัญเชิญพระธาตุไปเมืองลังกานั้น เผอิญเจอพายุหนัก
จนเรือสำเภาแตก ทำให้ทั้งสองพระองค์มาเกยขึ้นฝั่งบริเวณหาดทรายแก้ว(บริเวณวัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร)
จึงฝังพระทนตธาตุ (พระเขี้ยวแก้วเบื้องซ้าย) ไว้ส่วนหนึ่ง
สร้างเจดีย์เล็กๆ ครอบไว้เป็นเครื่องหมาย ก่อนจะเสด็จต่อไปที่เมืองลังกา
ครั้งพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชได้ย้ายมาสร้างเมืองใหม่ที่หาดทรายแก้ว ประมาณปีพ.ศ.1770
ทรงทราบเรื่องจากตำนานดังกล่าว จึงให้อัญเชิญพระทันตธาตุมาประดิษฐานในพระบรมธาตุเจดีย์องค์ใหญ่
เพื่อเป็น ปูชนียสถานอันศักดิ์สิทธิ์ของอาณาจักรนี้


ภาพยนต์ที่ตั้งอยู่ด้านขวามือของทางขึ้น

นอกเหนือจากพระบรมธาตุอันเป็นที่เคารพบูชาแล้ว
ถ้าไม่เอ่ยถึงต้นตำรับของ “จตุคามรามเทพ” ก็มิอาจเรียกได้ว่าได้มาถึงวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร

รูปปั้นเทวดาลอยตัวทั้งสององค์ ลักษณะทรงเครื่องกษัตริย์นั่งชันเข่าขวาขึ้นตั้ง ขาซ้ายวางราบ
เรียกว่าท่ามหาราชลีลา อันเป็นท่านั่งของผู้สูงศักดิ์ อยู่ทางด้านรอยพระพุทธบาทจำลอง
มีชื่อว่า “ท้าวขัตตุคาม” คู่กับ “ท้าวรามเทพ” นั่งเป็นศรีสง่าอยู่บริเวณทางขึ้นสู่พระบรมธาตุ

ที่ด้านข้างมีเทวรูป 4 กรอยู่ด้วย คือพระหลักเมือง พระทรงเมือง
ส่วนประตูไม้จำหลักที่งดงามประณีตเป็นรูปพระทวารบาล ได้แก่ พระพรหมและพระนารายณ์
อยู่ในวิหารพระทรงม้าเป็นรูปเจ้าชายสิทธัตถะทรงม้าเสด็จออกบรรพชา
หรือที่เรียกว่า “เสด็จออกมหาภิเนษกรม” ศิลปะสมัยอยุธยาตอนกลาง


ศาลหลักเมืองนคร

รายรอบเชิงบันไดด้านล่างยังมีเหล่า “ภาพยนต์” (หุ่นที่ผูกขึ้นด้วยฟ่อนหญ้าแล้วปลุกเสกด้วยเวทมนต์คาถา)
ผู้ปกปักรักษาพระ บรมธาตุ เป็นงานปูนปั้นลอยตัวตามตำนานระบุว่า
“เจ้ากากภาษาผูกภาพยนต์ด้วยเวทมนต์คาถาเป็นยักษ์ครุฑ นาค สิงห์ โค ม้าและช้าง” ประกอบด้วย
ยักษ์คู่ คือ ท้างเวฬุราชและท้าวเวชสุวรรณ
ครุฑคู่ คือ ท้าววิรุฬปักษ์
และท้าววิรุฬหก นาคคู่ คือ ท้าวทตตรฐมหาราช

ภายในวัดยังมีวิหารสำคัญอีกหลายแห่งให้เราได้เดินชมสักการะทั้ง “วิหารสามจอม”
สักการะพระพุทธรูปปางมารวิชัยเครื่องอย่างกษัตริย์โบราณ คือ “พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช”
ประดิษฐานในตู้กระจกใหญ่ เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องที่งดงามที่สุดองค์หนึ่งของไทย

“วิหารทับเกษตร” เป็นส่วนที่ทางวัดอนุญาตให้จุดธูปเทียนสักการบูชาพระบรมธาตุเจดีย์
วิหารนี้เป็นส่วนที่สร้างคลุมฐานของพระบรมธาตุเจดีย์ไว้
เป็นพระวิหารที่เชื่อว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดให้บูรณปฏิสังขรณ์ ครั้งใหญ่เมื่อ พ.ศ.2312

และสิ่งน่าสนใจอื่นที่ต่างก็มากไปด้วยคุณค่าทางศิลปกรรมและทาง ประวัติศาสตร์
อาทิ พระวิหารหลวง พระระเบียงตีนธาตุ วิหารเขียน วิหารโพธิ์ลังกา
ที่นี่จึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวหลัก ที่คนมาเมืองนครจะพลาดการมาเยือนไม่ได้


ด้านหน้าหอพระอิศวร

แลเมืองลิกอร์
ถ้าจะมีใครถาม “ตะลอนเที่ยว” ว่าเมืองใดมีชื่อเรียกเมืองมากที่สุด
“ตะลอนเที่ยว” คงยกให้เมืองนครจัดลำดับอยู่ในอันดับต้นๆเป็นแน่ เอาชื่อมีพอคุ้นหูกันก่อน
ก็ต้อง ตามพรลิงค์ ไล่เรื่อยต่อทั้งกะมะลิง มัทธมาลิงคัม ตมลิงคาม เต็งหลิวมาย

เรียกแบบโปรตุเกสก็ต้อง “ลิกอร์” เป็นการออกเสียงจากเมืองนครฯ กลายเป็นเมืองละคร
ฝรั่งเข้ามาเรียกไม่ชัดกลายเป็นลิกอร์ จากนั้นมาจนถึงปัจจุบัน คนใน 4 จังหวัดชายแดนใต้ของไทย
รวมไปถึงมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ยังคงเรียกจังหวัดนครศรีธรรมราชว่า “ลิกอร์”หรือ “ละกอร์”

ในเมืองลิกอร์แห่งนี้ จากวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ห่างออกไปไม่ไกล เป็นที่ตั้งของ “หอพระพุทธสิหิงค์”
เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปสำคัญหนึ่งในสามองค์ที่มีอยู่ในประเทศไทย
อีกสององค์ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทธไธศวรรย์พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร
และวัดพระสิงค์ จังหวัดเชียงใหม่


เสาชิงช้าภายในหอพระอิศวร

กล่าวกันว่าพระมหากษัตริย์แห่งลังกา โปรดเกล้าให้สร้างขึ้นในปีพ.ศ.700 แล้วอัญเชิญมายังแผ่นดินสยาม
ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เป็นพระพุทธรูปที่มีศิลปกรรมอยู่ในตระกูลช่างแบบนครศรีธรรมราช
หรือ ที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “แบบขนมต้ม” เป็นพระพุทธรูปที่งดงามมากองค์หนึ่ง
พระพักตร์กลมอมยิ้ม พระอุระอวบอ้วน ประทับนั่งในท่าขัดสมาธิเพชร

และใกล้ๆกันบนเส้นถนนราชดำเนิน ยังเป็นที่ตั้งของ “หอพระอิศวร” ด้านใต้ในบริเวณเดียวกันเป็นเสาชิงช้า
แต่เดิมมีโบสถ์พราหมณ์อยู่บริเวณเสาชิงช้าด้วย
แต่ต้องนี้ปรักหักพังไปหมดแล้ว ใช้พิธีตรียัมปวายและยัมปวาย เป็นโบราณสถานในศาสนาฮินดู

เป็นที่ประดิษฐานศิวลึงค์ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของพระอิศวร สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยา
แต่ของเดิมชำรุดอาคาร ปัจจุบันเป็นอาคารที่กรมศิลปากรสร้างขึ้นใหม่ในปีพ .ศ.2509
และฐานโยนีรวมทั้งเทวรูปสำริดจำลองจากองค์จริงที่เก็บรักษาไว้ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช


เก๋งจีนวัดแจ้ง

ส่วนอีกฟากฝั่งของถนนตรงข้ามกับหอพระอิศวร เป็นที่ประดิษฐานเทวรูปพระนารายณ์ เรียกกันว่า
“หอพระนารายณ์” ซึ่งจำลองจากองค์จริงในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาตินครศรีธรรมราช
ซึ่งพบในแหล่งโบราณคดีแถบอำเภอสิชล มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 10-11
เทวรูปพระนารายณ์จำลององค์นี้สลักจากหินทรายสีเทา ทรงมาลากระบอกพระหัตถ์ขวาทรงสังข์

เมืองนครศรีธรรมราชเป็นอีกเมืองหนึ่งที่ทำให้ “ตะลอนเที่ยว” เล็งเห็นว่าศาสนาทุกศาสนาอยู่ร่วมกันได้ฉันท์มิตร
ยกตัวอย่างง่ายๆ เพียงแค่บนเส้นถนนราชดำเนิน ถนนสายหลักสายสำคัญของเมืองคอนเพียงเส้นเดียว
ก็ เป็นที่ตั้งของวัดพุทธ โบสถ์พราหมณ์ และมัสยิดหลายแห่งตั้งอยู่บนเส้นทางเดียวกัน

สถานที่ท่องเที่ยวที่พาทัวร์ในครั้งนี้ ตั้งอยู่บนเส้นถนนราชดำเนินเสียเป็นส่วนใหญ่
ดังนั้นแหล่งท่องเที่ยวแต่ละแห่ง จึงสามารถเดินเที่ยวชมได้ตลอดเส้นทาง
แต่ถ้าเป็นคนเมื่อยง่ายขี้คร้านจะเดินทาง เมืองนครฯเขาก็มีบริการนั่งรถรางชมเมือง
พร้อมกับมัคคุเทศก์ไว้บรรยายถึงความเป็นมา และความสำคัญของแต่ละแห่งให้ฟัง

มาเยือนหัวใจของเมืองกันดีกว่า ที่ “ศาลหลักเมือง” ประดิษฐานอยู่บริเวณทิศเหนือของสนามหน้าเมือง
ใกล้กับหอพระสูง สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2530 เพื่อให้เป็นสถานที่เคารพสักการะของชาวเมืองอีกแห่งหนึ่ง
ในช่วงกระแสจตุคามฟีเว่อร์ ที่ศาลหลักเมืองแห่งนี้ถือเป็น 1 ใน 2 สถานที่สำคัญ
เช่นเดียวกับวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ที่หากว่าวัตถุมงคลจตุคามได้มาผ่านพิธีปลุกเสกที่นี่
ก็จะสร้างความขลังและ ศักดิ์สิทธิ์มากขึ้น


เก๋งจีนวัดประดู่

ด้านนอกประกอบไปด้วยอาคาร 5 หลัง มีอาคารประธานเป็นที่ประดิษฐานของเสาหลักเมือง
ออกแบบเป็นทรงเหมราชลีลาในศิลปะศรีวิชัย มีอาคารเล็กทั้งสี่หลัง เป็นบริวารสี่ทิศ เรียกว่าศาลจตุโลกเทพ
ประกอบด้วยศาลพระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระพรหมเมือง และศาลพรบันดาลเมือง

ด้านในอาคารประธานเป็นที่ประดิษฐานของเสาหลักเมืองทำจากไม้ตะเคียน ทอง
มีการแกะสลักลวดลายต่างๆอย่างสวยงาม ไล่ตั้งแต่ส่วนฐานขึ้นไปเป็นวงรอบเก้า ชั้น จำนวน 9 ลาย
ส่วนยอดหลักเมือง แกะสลักเป็นรูปพรหมสี่หน้าใหญ่และเล็ก

การจะดูความยิ่งใหญ่ของเมืองใดนั้น สิ่งหนึ่งที่เป็นเครื่องชี้บอกสำหรับ “ตะลอนเที่ยว” คือมองดู “กำแพงเมือง”
แล้วจะ เห็นความรุ่งโรจน์ของเมืองได้อย่างเด่นชัด สำหรับกำแพงเมืองนครฯ
เดิมก่ออิฐถือปูนทั้งสี่ด้าน มีเชิงเทียน ใบเสมา และป้อมที่มีมุมกำแพงทั้งสี่มุม

ตามตำนานกล่าวว่า กำแพงเมืองชั้นแรกสุดนั้น
สร้างในสมัยพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชโดยเป็นกำแพงดิน ผู้สร้างคือชาวอินเดียและมอญฝ่ายใต้

กำแพงด้านเหนือและด้านใต้มีประตูเมือง คือ ประตูชัยเหนือ และประตูชัยใต้
ขนาดของเมืองวัดตามแนวกำแพงเมืองยาว 2,238.50 ม. กว้าง 456.50 ม.
กำแพงเมืองได้รับการบูรณะครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ.2533
ปัจจุบันแนวกำแพงเมือง ที่หลงเหลืออยู่เป็นแนวขนานไปกับคูเมืองตั้งแต่ประตู ชัยเหนือไปทางทิศตะวันออก
ยาวประมาณ 100 ม. และเส้นถนนราชดำเนินก็คือแนวกำแพงเมืองเก่า


พระพุทธสิหิงค์เมืองนคร

“ตะลอนเที่ยว” ตะลอนทัวร์จนเหนื่อย จึงหลบอากาศร้อนเข้ามาในเขตวิทยาลัยสงฆ์ภาคทักษิณวัดแจ้ง
มาชมสถาปัตยกรรมแบบจีนๆกันที่ “เก๋งจีนวัดแจ้ง” เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนแบบเก๋งจีน
ก่อสร้างในสมัยรัตนโกสินทร์
ภายในประดิษฐานที่เก็บอัฐิของเจ้าพระยานคร (หนู) และหม่อมทองเหนี่ยวผู้เป็นชายา
และเชื่อว่ารวมถึงพระอัฐิของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชด้วย

วัดใกล้ๆกันอย่างวัดประดู่เองก็มี “เก๋งจีนวัดประดู่” ตั้งอยู่ในบริเวณวัดประดู่
เป็นสถาปัตยกรรมแบบจีนเช่นเดียวกับเก๋งจีนวัดแจ้ง เป็นที่ประดิษฐานอัฐิของพระเจ้าพระยานคร (น้อย)
ซึ่งเป็นบุตรของเจ้าพระยานคร (หนู) ตั้งหลบมุมเงียบอยู่ภายในวัดประดู่

แม้จะเที่ยวไม่ทั่ว
เพราะยังเหลือสถานที่อีกหลายแห่งอาทิ วัดวังตะวันตก วัดนางพระยา วัดสวนป่าน ฯลฯ แต่ “ตะลอนเที่ยว”
ก็ได้เห็นประจักษ์แล้วว่า “เมืองลิกอร์” แห่งนี้ เป็นเมืองแห่งอารยธรรมเก่าแก่ ของแดนใต้โดยแท้.

* * * * * * * * * * * * *

สนใจ ติดต่อสอบถามเพิ่มได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
สำนักงานภาคใต้เขต 2 สนามหน้าเมือง ถนนราชดำเนิน อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช โทร.0-7534-6515-6


ที่มา ://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9520000097404



Create Date : 24 พฤศจิกายน 2552
Last Update : 24 พฤศจิกายน 2552 12:44:03 น. 4 comments
Counter : 959 Pageviews.

 
บ้านเกิดเราแท้ ๆ เรายังเที่ยวไม่ทั่วเลย


โดย: แม่นกลูกคนแรก IP: 124.120.200.213 วันที่: 24 พฤศจิกายน 2552 เวลา:14:26:33 น.  

 
คอนสี้ เมือ่งนี้ต้องเไปเที่ยวให้ทั่ว ไปมาแระ แต่ไม่ั่ทั่วสักที อิอิ


โดย: นายหัว (nindhua ) วันที่: 24 พฤศจิกายน 2552 เวลา:18:12:12 น.  

 
เคยไปแค่ครั้งเดียวเอง แต่ชอบมากค่ะ ใหญ่และสวยงามมากจริงๆ


โดย: say hi (Nature Escape ) วันที่: 25 พฤศจิกายน 2552 เวลา:9:09:40 น.  

 
ชอบมากเลย



โดย: boss IP: 125.26.243.199 วันที่: 28 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา:21:52:39 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.