Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2552
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
8 ธันวาคม 2552
 
All Blogs
 

เยือน"ตลาดศรีประจันต์" เยี่ยมบ้าน "ป.อ.ปยุตฺโต"ปราชญ์แห่งสงฆ์ไทย


บรรยากาศสงบริมแม่น้ำสุพรรณบุรี

หากพูดถึงตลาดเก่าในจังหวัดสุพรรณบุรี หลายคนคงนึกถึงตลาดสามชุก หรือตลาดเก้าห้อง
อันเป็นตลาดยอดฮิต ที่บรรดานักท่องเที่ยวต่างก็ติดใจในเสน่ห์ความเก่า

แต่มีตลาดอีกแห่งหนึ่งซึ่งมีอายุอานามไล่เลี่ยกัน และมีสิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน นั่นก็คือ “ตลาดศรีประจันต์”
ในอำเภอศรีประจันต์ เลยจากตัวเมืองสุพรรณไปประมาณ 20 ก.ม. ตลาดเก่าแก่อายุร่วมร้อยปี
ที่ยังคงมีกลิ่นอายของความเป็นตลาดโบราณที่ไม่ปรุงแต่งอยู่มาก
ด้วยความที่ยังคงเสน่ห์ของดั้งเดิมอยู่ ตลาดศรีประจันต์จึงได้รับรางวัลอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ประจำปี 2551
รางวัลดีเด่นประเภทแหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรมอีกด้วย


บรรยากาศเก่าๆในตลาดศรีประจันต์

แต่เดิมตลาดศรีประจันต์นั้นเคยเป็นตลาดค้าส่งริมแม่น้ำท่าจีน หรือแม่น้ำสุพรรณบุรี
ได้บรรยากาศเก่าด้วยตัวอาคารในตลาดที่เป็นห้องแถวไม้ 2 ชั้น หันหน้าเข้าหากัน ชั้นล่างของบ้านแต่ละหลัง
ก็จะเป็นที่วางขายข้าวของต่างๆไว้ หรือเปิดเป็นร้านอาหารตามความถนัดของแต่ละบ้าน

ชื่อเสียงของตลาดศรีประจันต์ไม่โด่งดังเท่าตลาดสามชุก นักท่องเที่ยวจึงไม่คึกคักเท่าไรนัก
แต่ก็เป็นข้อดีตรงที่ได้สัมผัสกับการค้าขายของพ่อค้าแม่ค้า ที่เป็นคนในชุมชน
จริงๆ ไม่มีพ่อค้าแม่ค้าจากข้างนอกเข้ามาขาย
และนักท่องเที่ยวยังสามารถชมกับบรรยากาศของตลาด ได้อย่างเต็มที่ไม่ต้องเบียด กับผู้คนมากมายอีกด้วย


ได้บรรยากาศตลาดเก่าที่ตลาดศรีประจันต์

ช่วงเวลาที่เหมาะจะมาเที่ยวชมตลาดก็คือช่วงเช้าของวันเสาร์อาทิตย์ ที่ชาวบ้านจะเปิดร้านอาหาร
ทั้งอาหารคาวและอาหารหวานรสชาติดั้งเดิมแก่นักท่องเที่ยว โดยของกินไม่ควรพลาดของตลาดศรีประจันต์ก็คือ
ก๋วยจั๊บน้ำใส ก๋วยเตี๋ยวเป็ด กาแฟโบราณ และขนมต่างๆ ทั้งแบบไทยและจีน

นอกจากจะมีของกินอร่อยๆ ในบรรยากาศตลาดเก่าที่น่าชมแล้ว ที่ตลาดศรีประจันต์ก็ยังเป็นสถานที่สำคัญ
เพราะที่นี่เป็นบ้านเกิดของ “ท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)” ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็น
“คนดีศรีประจันต์” อีกทั้งยังเป็นพระสงฆ์ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น “ปราญช์แห่งสงฆ์ไทย”
มีศาสนกิจด้านเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการอภิปรายธรรม การเทศนา ปาฐกถา การเสวนาธรรม
รวมทั้งมีผลงานในการประพันธ์อีกมากมาย เป็นที่ยอมรับของทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
จนได้รับรางวัล “การศึกษาเพื่อสันติภาพ” จากองค์การยูเนสโก เมื่อปี 2537
และในปัจจุบันท่านเจ้าคุณ ป.อ.ปยุตฺโตมีอายุได้ 71 พรรษา
และเป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่วัดญาณเวศกวัน อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม


ด้านหน้าชาติภูมิสถาน ป.อ.ปยุตฺโต

บ้านเกิดของท่านในตลาดศรีประจันต์นี้ แต่เดิมเคยเป็นร้าน “ใบรัตนาคาร” หรือร้านขายผ้ามาก่อนในอดีต
แต่ปัจจุบันได้จัดทำเป็น “ชาติภูมิสถาน พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)” ที่จัดตั้งขึ้น
โดยมูลนิธิชาติภูมิ ป.อ.ปยุตฺโต โดยได้รับทุนบริจาคจากชาวบ้านในท้องถิ่นเป็นส่วนสำคัญ เพื่อเชิดชูเกียรติแก่ท่าน

ภายในชาติภูมิสถานฯนี้แบ่งเป็นสองชั้นด้วยกัน ในชั้นล่างนั้นได้จำลองเอาบรรยากาศของร้านใบรัตนาคาร
จำหน่ายสินค้าประเภทผ้าไหม เสื้อคอฝักแค และกางเกงแพรจีน หรือที่เรียกว่ากางเกงแพรปังลิ้น
ซึ่งเป็นที่กล่าวถึงโดยทั่วไปในละแวกนี้ว่า “จะซื้อผ้าไหม กางเกงแพร ต้องไปร้านแม่กี-ท่านมหา”
โดยแม่กีและท่านมหานั้นก็หมายถึงมารดาและบิดาของ ท่านเจ้าคุณ ป.อ.ปยุตฺโตนั่นเอง
ในมุมร้านใบรัตนาคารนี้ ยังมีจักรเย็บผ้าวางจัดแสดงไว้ คงบรรยากาศของการเป็นร้านตัดเสื้อ
ในตู้ติดผนังใบใหญ่สองตู้ก็มีผืนผ้าและเสื้อผ้าจัดวางไว้ และมีตู้โชว์อุปกรณ์ต่างๆ เกี่ยวกับร้านตัดเสื้อ


บริเวณชั้นบนของชาติภูมิสถาน ป.อ.ปยุตฺโต

ส่วนอีกฟากหนึ่งของบ้านจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ดั้งเดิม ที่เคยใช้ในบ้าน
บนฝาผนังมีรูปภาพของเด็กชายประยุทธ์ อารยางกูร หรือท่าน ป.อ.ปยุตฺโตในวัยเด็ก รวมถึงรูปบิดามารดาของท่าน
มีป้ายข้อมูลเล่าประวัติความเป็นมาของท่านว่า เด็กชายประยุทธ์นั้นได้เริ่มต้นเรียนหนังสือระดับชั้นอนุบาล
ที่โรงเรียนครู เฉลียว และระดับชั้นประถมที่โรงเรียนประชาบาลชัยศรีประชาราษฎร์
ก่อนจะได้ทุนเรียนดีมาเรียนต่อมัธยมที่โรงเรียนปทุมคงคาในกรุงเทพฯ แต่ท่านมีสุขภาพไม่ค่อยแข็งแรง
ทางบ้านจึงสนับสนุนให้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดบ้านกร่าง อำเภอศรีประจันต์ เมื่ออายุได้ 12 ปี

เส้นทางสายธรรมะของท่านได้เริ่มต้นขึ้นต่อมา โดยท่านสามารถสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค ขณะเป็นสามเณร
และได้รับโปรดเกล้าฯให้อุปสมบทเป็นนาคหลวง ณ อุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
และต่อมาก็ได้สำเร็จการศึกษาปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 1) จากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
เมื่อปี 2505


จักรเย็บผ้าเก่าสมัยที่บ้านยังคงเป็นร้านตัดเสื้อ

ทราบประวัติของท่านไปแล้วคราวนี้กลับมาชมชาติภูมิสถานของท่านกันต่อ
ในชั้นล่างนี้ยังมีอีกหนึ่งห้องทางด้านหลังของบ้าน
ซึ่งเป็นห้องเก็บหนังสือหลายร้อยเล่มอันเป็นผลงานของท่าน ป.อ.ปยุตฺโตทั้งสิ้น ซึ่งก็เป็นหนังสือธรรมะ
ที่เป็นคติสอนใจแก่ชาวพุทธ ใครที่สนใจอยากอ่านเล่มไหน ตรงมุมนี้ก็มีโต๊ะเล็กๆให้นั่งอ่านกันได้

คราวนี้ขึ้นไปชมบนชั้นสองของบ้านกันบ้าง ในชั้นบนนี้มีรูปภาพขนาดเท่าตัวจริงของท่านเจ้าคุณ ป.อ.ปยุตโต
และแผ่นป้ายข้อมูลเกี่ยวกับอุปนิสัยและเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย ที่น่าสนใจเกี่ยวกับตัวท่านให้อ่านกัน เช่นว่า
เรื่องสุขภาพของท่านที่ไม่ค่อยแข็งแรงนักตั้งแต่ยังเด็ก
แต่ท่านกลับมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา เห็นโรคภัยไข้เจ็บเป็นเพื่อนกันมา และถือว่า “กายป่วย แต่ใจไม่ป่วย”


ข้าวของเครื่องใช้เก่าๆภายในชาติภูมิสถานฯ

และทั้งที่ต้องอยู่กับโรคภัยไข้เจ็บมาโดยตลอด
แต่ท่านก็มีความรับผิดชอบ มีวินัยและวิริยะอุตสาหะกับเรื่องการเรียนมาโดยตลอด
อีกทั้งยังทำให้เราได้ทราบถึงคติชีวิต ที่ท่านยึดประพฤติปฏิบัติมาโดยตลอด นั่นก็คือ “บัณฑิตย่อมฝึกตน”
และ “ถ้าจะทำอะไร ก็ต้องพยายามทำให้สำเร็จและทำให้ดีที่สุด”
และได้ทราบถึงความสามารถกับงานอดิเรกของท่าน ในเรื่องของการประดิษฐ์สิ่งของ เครื่องใช้ต่างๆ
โดยเฉพาะเครื่องไฟฟ้า โดยท่านได้เคยบอกว่า หากอาตมาไม่ได้เขียนหนังสือธรรมะ ก็คงจะเป็นนักประดิษฐ์
เหล่านี้ที่เล่ามาก็คือเกร็ดต่างๆ เกี่ยวกับตัวท่านที่ลูกศิษย์ลูกหาได้เล่าบันทึกกันไว้

ในชั้นบนนี้มีมุมหนึ่งที่น่าสนใจ โดยจัดตกแต่งเป็นห้องเรียนขนาดเล็ก มีโต๊ะและเก้าอี้ไม้ตั้งอยู่หน้ากระดานดำ
ส่วนนี้จัดจำลองไว้ให้รำลึกถึงโรงเรียนบำรุงวุฒิราษฎร์ โรงเรียนมัธยมแห่งแรกในอำเภอศรีประจันต์
ซึ่งโยมบิดาของท่านเจ้าคุณเป็นผู้ตั้งขึ้น เพื่อให้เด็กในอำเภอได้มีโอกาส เรียนต่อใกล้บ้าน
ไม่ต้องไปไกลถึงตัวเมืองสุพรรณ หรือกรุงเทพฯ แต่ภายหลังโรงเรียนนี้ต้องปิดกิจการลง
แต่ยังคงเหลืออุปกรณ์การสอนต่างๆ เช่นโต๊ะ เก้าอี้ และกระดานดำ ซึ่งอุปกรณ์ที่มีอยู่เหล่านี้ทำให้เด็กชายประยุทธ์
ซึ่งในขณะนั้นยังเรียนอยู่ชั้นมัธยม ได้ใช้เป็นสถานที่เล่นสอนหนังสือให้เด็กๆในละแวกบ้าน
โดยสอนทั้งวิชาภาษาอังกฤษ ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีในหลักสูตรของนักเรียนชั้นประถมเสียด้วยซ้ำ
บางครั้งก็สอนวิธีคิดเลขในใจ สอนการอ่านการเขียน วรรณคดี มีการสอบให้คะแนน
และให้รางวัลคนที่ทำคะแนนได้ดี บางครั้งก็เปลี่ยนบรรยากาศเป็นการแสดงละครกันบ้าง
สนุกทั้งคนสอนและคนเรียน และเป็นการบ่มเพาะ นิสัยของการเป็นผู้ให้ผู้สอนของท่านตั้งแต่ยังเด็ก
เพราะเมื่อโตมาปรากฏว่าท่านก็ได้เป็นพระอาจารย์ มีลูกศิษย์ลูกหาทั้งในมหาวิทยาลัยในประเทศและต่างประเทศ


หนังสือมากมายที่ท่าน ป.อ.ปยุตฺโต แต่งขึ้น

ไม่น่าแปลกใจเลยที่ชาวศรีประจันต์จะยกย่องท่านให้เป็น “คนดีศรีประจันต์”
และช่วยกันบริจาคเงินบูรณะบ้านเกิดของท่านให้กลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์
หรือในชื่อ “ชาติภูมิสถานพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)” ขึ้น หากใครมีโอกาสได้ผ่านมาที่เมืองสุพรรณบุรี
ก็ไม่ควรพลาดที่จะแวะเยี่ยมชมตลาดศรีประจันต์ และเยี่ยมบ้านของคนดีศรีประจันต์แห่งนี้

* * * * * * * * *

“ตลาดศรีประจันต์” ตั้งอยู่ที่ตำบลศรีประจันต์ อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี
ส่วน “ชาติภูมิสถาน ป.อ.ปยุตฺโต” ตั้งอยู่ภายในตัวตลาด เปิดให้บริการทุกวัน ยกเว้นวันจันทร์
ตั้งแต่ 09.00-17.00 น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และมีบริการนำชมสำหรับหมู่คณะ
และท่านที่มาชมในวันเสาร์อาทิตย์ สอบถามโทร.0-3554-8722


ที่มา ://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9520000099284




 

Create Date : 08 ธันวาคม 2552
2 comments
Last Update : 8 ธันวาคม 2552 15:32:03 น.
Counter : 1340 Pageviews.

 

ชอบตลาดเก่าๆมาก ดูแล้วอยากกลับไปสู่อดีด ที่เรียบง่าย สงบๆ

 

โดย: พระจันทร์สัญจร 8 ธันวาคม 2552 20:56:49 น.  

 

ภาพก็สวย ข้อมูลก็แน่น มีสาระดีจังค่ะ

 

โดย: hellojaae (hellojaae ) 9 ธันวาคม 2552 9:16:10 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.