Air SurOundinG mE liKe mY besT frIendS !
Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2561
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
5 กรกฏาคม 2561
 
All Blogs
 
หมื่นมนัสประชากับบ้านนาจอก :บันทึกสุดท้ายก่อนลับเลือนหายตอนที่ 2 อนุสรณ์สืบเนื่องจากหมื่นมนัสประชา

 
ตอนที่ 2 อนุสรณ์สืบเนื่องจากหมื่นมนัสประชา
 
(พ.ศ.2387 - 2476)
หมื่นมนัสประชาในชุดสูทสากล เบื้องซ้ายกลัดตราพระราชสีห์ (ตราผู้ใหญ่บ้าน) เครื่องหมายสิงห์บำบัดทุกข์ บำรุงสุข 
และประดับเหรียญที่ระลึกประดับแพรแถบ พระราชพิธีสมโภชพระนคร 150 ปี 
ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2475


Theo dấu chân tiên tổ hướng về tổ quốc.
Góp công dựng Bản Mạy gìn giữ giống nòi.
 
หลังการก่อตั้งหมู่บ้านนาจอกได้ระยะหนึ่งหมื่นมนัสประชาและกลุ่มคนรุ่นแรกของบ้านนาจอกจึงได้สร้างและวางแบบแผนธรรมเนียมปฏิบัติต่าง ๆในหมู่บ้านนาจอกหลายอย่าง นับเนื่องถึงปัจจุบันจนกลายเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญของบ้านนาจอก นับว่าท่านได้ปรับประยุกต์หลายสิ่งให้กลายเป็นวัฒนธรรมคนไทยเชื้อสายเวียดนามบ้านนาจอกได้อย่างลงตัว งดงาม โดยจะขอเล่าให้ฟังเป็นข้อ  ๆ เท่าที่สามารถค้นคว้าได้กอรปทั้งสติปัญญาของผู้เขียนจะพึงมี ดังนี้
 

1. โรงเรียนบ้านนาจอก (แรงประชาชน)


เมื่อปี พ.ศ. 2474 หมื่นมนัสประชาเริ่มสร้างโรงเรียนบ้านนาจอก (แรงประชาชน) บริเวณผืนดินกึ่งกลางซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างบ้านใหม่และบ้านต้นผึ้ง (สองหมู่บ้านนี้ปัจจุบันร่วมกันเป็นบ้านนาจอก) ขึ้นโดยท่านออกทุนและระดมแรงของสมาชิกในหมู่บ้านทั้งสองร่วมกันสร้างโรงเรียนแห่งนี้ขึ้น เนื่องจากท่านเองเป็นผู้ที่รู้ภาษาไทยและภาษาลาวมาแต่เดิม แต่ครั้งอยู่ที่ฝั่งลาวจึงเล็งเห็นว่าหากต้องการอยู่บนแผ่นดินไทยและต้องการให้ลูกหลานรุ่นใหม่เป็นคนไทยอย่างสมบูรณ์การเรียนภาษาไทยย่อมเป็นกุญแจดอกสำคัญที่เปิดโอกาสกว้างในทุกสิ่งรวมทั้งจะเป็นทางเดียวที่จะสร้างอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของชาวบ้านนาจอกให้สำเร็จได้ในที่สุด โรงเรียนบ้านนาจอกนี้สร้างจากแรงประชาชนทั้งสองหมู่บ้าน  จนสำเร็จและเปิดทำการได้เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2475  แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายว่าต่อมาในปี พ.ศ. 2543 ทางราชการยกเลิกการสอน (ยุบโรงเรียน) เพราะจำนวนนักเรียนมีน้อยมาก นับระยะเวลาที่เปิดทำการเป็นเวลาเพียง 68 ปี


หลักฐานสำคัญที่ยังคงหลงเหลืออยู่จนปัจจุบันคือบันทึกในสมุดจดหมายเหตุรายวันของโรงเรียนบ้านนาจอก  พ.ศ. 2475 ที่กล่าวถึงหมื่นมนัสประชาผู้ก่อตั้งโรงเรียนว่าได้มาร่วมในพิธีเปิดทำการของโรงเรียนบ้านนาจอก

 

คณะครูและนักเรียนบ้านนาจอกถ่ายหน้าอาคารไม้หลังเก่า เมื่อ  พ.ศ.2529
 

กระทั่งปี พ.ศ. 2547 หลังจากที่โรงเรียนได้ปิดร้างมาหลายปี ก็ได้มีโครงการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์หมู่บ้านมิตรภาพไทย -เวียดนามขึ้นโดยทางราชการได้ใช้สถานที่โรงเรียนบ้านนาจอกเดิมทั้งหมด แต่มีการรื้ออาคารไม้ไป 2 หลัง เหลือไว้แต่อาคารปูนปรับปรุงเป็นอาคารหลักของพิพิธภัณฑ์จนถึงปัจจุบัน


อาคารปูหลังเดียวของโรงเรียนบ้านนาจอกที่ยังคงหลงอยู่จนถึงปัจจุบัน

(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ตามลิงค์ข้างล่าง)

โรงเรียนบ้านนาจอก (แรงประชาชน)


2. ศาลเจ้าพ่อด่ายเวือง

ปี พ.ศ. 2441 หลังจากการตั้งบ้านเรือนของชาวบ้านนาจอกมีความมั่นคงได้ระยะหนึ่งแล้วหมื่นมนัสประชาและชาวบ้านได้ร่วมกันสร้างศาลเจ้าประจำหมู่บ้านขึ้น (ศาลเจ้าพ่อด่ายเวือง) โดยพบว่าสิ่งที่แสดงถึงภูมิปัญญาของท่านและคนในยุคก่อนคือการเลือกทำเลที่ตั้งศาลเจ้าแห่งนี้ล้วนเป็นไปตามหลักฮวงจุ้ยโบราณทุกประการ กล่าวคือด้านหน้าศาลเจ้าเป็นหนองน้ำ (หนองญาติ) ซึ่งหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ ส่วนด้านหลังของศาลเจ้าเป็นที่สูงหรือภูเขา (ภูกระแต) ซึ่งหมายถึงความมั่นคงถาวรนั่นเอง ศาลเจ้าแห่งนี้นับว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้านนาจอกและลูกหลานสืบต่อเนื่องกันมานับร้อยปี  

และสิ่งสำคัญยิ่งอีกประการคือการเขียนบทสักการระ (วันเต๋ :Văn tế) 18 แถวไว้ในคราวเดียวกัน ซึ่งบทสักการะนี้ยังคงใช้เป็นบทหลักในการทำพิธีสักการะขอพรของศาลเจ้าพ่อด่ายเวือง ปีละ 2 ครั้ง จนถึงปัจจุบัน

 

บทสักการะขอพรหรือวันเต๋ 18 แถว พิมพ์ขึ้นใหม่โดยความอนุเคราะห์ของอาจารย์ผู้สอนภาษาเวียดนามท่านหนึ่งเพื่อใช้แทนต้นฉบับที่คัดลอกด้วยลายมือต่อ ๆ กันมานับร้อยปี

 

(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ตามลิงค์ข้างล่างนี้)

 

 
 
 
 

 

3. วิชาเท่ยกุ๋ง

เล่าให้ฟังก่อนว่าแต่เดิมตำราพิธีกรรมการเซ่นไหว้หรือกุ๋งของนาจอกนั้นเป็นตำราที่มีระเบียบแบบแผนเข้มข้น ไม่ต่างจากหมู่บ้านชาวไทยเชื้อสายเวียดนามหมู่บ้านอื่นในเขตจังหวัดนครพนม โดยในหมู่บ้านจะมีผู้อาวุโสที่ทำหน้าที่เป็นผู้ทำพิธี ภาษาเวียดนามเรียกว่า "เท่ยกุ๋ง" หมื่นมนัสประชาถือเป็นผู้วางรากฐานระเบียบแบบแผนตลอดจนขั้นตอนต่าง ๆในการประกอบพิธีกรรม จากนั้นจึงถ่ายทอดให้ชนรุ่นหลัง โดยเฉพาะบุตรชายคนโตของท่านคือคุณทวดเกตุ ประชากุล (Ông Lê văn Phi) เป็นผู้สืบทอดตำราการเซ่นไหว้จากท่านโดยตรง และเป็นผู้ที่มีความสามารถในการแต่งบทกลอนและบทไหว้ในพิธีกรรมต่าง ๆที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วทุกหมู่บ้านของชาวเวียดนามในยุคสมัยนั้นในภาษาเวียดนามเรียกบทไหว้เหล่านี้ว่า “วันกุ๋ง-วันเต๋”  (Văn cúng-Văn tế) 

คุณทวดเกตุ ประชากุล บุตรชายคนโตของหมื่นมนัสประชา ผู้สืบทอดวิชาเท่ยกุ๋งจากบิดา

 

กระทั่งถึงช่วงแห่งการให้ความร่วมมือและสนับสนุนการกอบกู้เอกราชให้กับเวียดนามหลังจากการเดินทางมายังบ้านนาจอกของท่านประธานโฮจิมินห์ในช่วงปี ค.ศ.1928 -1929  (พ.ศ.2471 - 2472) ชาวบ้านนาจอกต่างมุ่งมั่นให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ เพื่อสนับสนุนการกอบกู้เอกราชให้กับเวียดนาม  ด้วยเหตุนี้วิถีชีวิตของชาวบ้านนาจอกจึงต้องปรับเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ ดังนั้นตำราพิธีกรรมต่างๆ จึงมีการปรับปรุงให้กระชับเหมาะสมกับบริบทมากยิ่งขึ้น ซึ่งหลังจากนั้นเมื่อการกอบกู้เอกสารของเวียดนามเสร็จสิ้นลง หากแต่แบบแผนการไหว้และทำพิธีก็ยังคงยึดแบบกระชับที่ปรับเปลี่ยนไว้แล้วและใช้มาอย่างยาวนานจนกลายเป็นอัตลักษณ์พิธีกรรมที่แตกต่างจากชุมชนชาวไทยเชื้อสายเวียดนามแห่งอื่นในเขตจังหวัดนครพนม อาจกล่าวให้เข้าใจได้โดยการยกตัวอย่างพิธีกรรมแบบบ้านนาจอกที่คนรุ่นเก่าทั่วไปมักคุ้นชิน เช่น

- ไม่มีการทำพิธีใด ๆ ระหว่างที่มีการตั้งศพที่บ้าน มีเพียงการแจกผ้าขาวไว้ทุกข์และการเข้าคารวะศพจากคณะกรรมการหมู่บ้าน

- ไม่มีการเขียนป้ายวิญญาณ (Bài vị) และป้ายข้อมูลผู้ตาย (Long triệu) ในพิธีศพแต่อย่างใด

- การเซ่นไหว้ครั้งแรกหลังจากมีการตายจะเกิดขึ้นในวันทำพิธีเปิดสุสาน หรือเรียกว่า Mở cửa mả

พิธีฝังศพลูกสะใภ้ของหมื่นมนัสประชา พ.ศ. 2532 สังเกตว่าไม่ปรากฎ ป้ายวิญญาณ และป้ายข้อมูลผู้ตาย
ในภ
าพผู้ทำพิธีคือคุณทวดลาย ประชากุล บุตรชายคนรองของหมื่นมนัสประชาซึ่งสืบทอดวิชาเท่ยมาจากพี่ชายอีกต่อหนึ่ง

 

แต่ทว่าธรรมเนียมแบบบ้านนาจอกดั้งเดิมที่คนทั่วไปคุ้นชินก็ถึงคราวต้องเปลี่ยนแปลงไปเป็นแบบเดียวกับชุมชนชาวไทยเชื้อสายเวียดนามอื่น ๆ อีกครั้งเนื่องจากการสิ้นสุดลงของระบบเท่ยหล่าง (Thầy làng) ที่สืบทอดตำราการเซ่นไหว้แบบบ้านนาจอก ดังนั้นในปี พ.ศ.2558 เป็นต้นมาเมื่อมีพิธีกรรมต่าง ๆ จึงจำเป็นต้องไปเชิญเท่ยจากชุมชนอื่นมาทำพิธี ซึ่งก็แน่นอนว่าพิธีกรรมย่อมเป็นไปตามตำราของเท่ยที่ไปเชิญมานั่นเอง

 

พิธีฝังศพของชาวบ้านนาจอก พ.ศ.2559 สังเกตว่าปรากฎป้ายวิญญาณ และป้ายข้อมูลผู้ตายสีแดงในการทำพิธีซึ่งเป็นไปตามตำราของเท่ยที่เชิญมาจากชุมชนอื่น

 

4. สุสานบ้านนาจอก

สุสานเป็นที่ฝังศพที่จะต้องมีอยู่คู่กับหมู่บ้านหรือชุมชนชาวเวียดนามเสมอรวมทั้งบ้านนาจอกด้วย หมื่นมนัสประชาในฐานะผู้นำจึงต้องบุกเบิกแผ่วถางป่าเพื่อสร้างเป็นสุสานสำหรับฝังศพสมาชิกในหมู่บ้านประจักษ์พยานประการหนึ่งที่แสดงว่าท่านเป็นผู้บุกเบิกสุสานบ้านนาจอกคือการได้รับเกียรติให้หลุมศพของตระกูลประชากุล (หมื่นมนัสประชาและทายาท) ฝังอยู่บริเวณกึ่งกลางหรือแถวกลางของพื้นที่สุสานร่วมกับตระกูลเก่าแก่อื่น ๆ ก่อนที่จะมีการขยายพื้นที่ฝังศพของตระกูลอื่น ๆไปโดยรอบกลุ่มหลุมศพของตระกูลประชากุล

พิธีฝังศพของคุณทวดเกตุ ประชากุล บุตรชายคนโตของหมื่นมนัสประชาในปี พ.ศ. 2510 บริเวณตำแหน่งที่ฝังคือแถวกลางของสุสานบ้านนาจอก

 

หลุมศพหรือโหม่ของหมื่นมนัสประชาและทายาทรุ่นแรก ๆ (ปรับปรุงใหม่ตามยุคสมัย) จะตั้งอยู่บริเวณแถวกลางของสุสานบ้านนาจอก
 
 
5. แซ ด่อน รอง ( xe đòn rồng)

เล่าให้ฟังก่อนว่า แซด่อน หรือ แซด่อนรอง เป็นรถสำหรับใช้ในการเคลื่อนศพไปทำพิธีฝังที่สุสาน ในหมู่บ้านชาวไทยเชื้อสายเวียดนามทุกหมู่บ้านรวมทั้งบ้านนาจอกล้วนแล้วแต่มีรถสำหรับเคลื่อนศพลักษณะนี้ โดยต้นกำเนิดของแซด่อนนั้น เริ่มจากในอดีต การจัดพิธีศพแบบเวียดนามทันทีที่มีคนเสียชีวิตในหมู่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้านจะจัดสรรแบ่งหน้าที่ให้กับชาวบ้าน ภาระงานที่สำคัญที่สุดคือการยกศพไปฝังในอดีตการเคลื่อนย้ายศพไปฝังยังสุสานไม่ได้นำขึ้นรถดังเช่นในปัจจุบัน หากแต่เป็นการนำโลงศพขึ้นวางบนคานหามแห่ไปทำพิธีฝังศพที่สุสาน คานหามศพในภาษาเวียดนามเรียกว่า “ด่อน เคียง”  โดนคานหามนี้มีลักษณะเป็นคานยาวขนานไปกับแนวโลงศพ ส่วนหัวของคานหามจะสลักเป็นหัวมังกรและส่วนท้ายจะสลักเป็นหางมังกรเป็นนัยว่าผู้ตายมีมังกรเป็นพาหนะนำดวงวิญญาณไปสู่สรวงสวรรค์นอกจากคานหามหลักแล้วยังมีคานหามย่อยวางขวางตามแนวของโลกศพอีก 4 ท่อนการหามศพแบบโบราณใช้คนหามทั้งสิ้น 16 คน (คานหลักหน้า 4 คน หลัง 4 คน คานหามย่อย 4 ท่อน ท่อนละ 2 คน ซ้ายขวา)

 

ตัวอย่างภาพด่อนเคียงในยุคโบราณซึ่งเป็นต้นแบบของ แซ ด่อน รอง  ในยุคปัจจุบันของบ้านนาจอก
 

แซ ด่อน รอง สีดำคันแรกของบ้านนาจอกสร้างขึ้นในยุคแรก ๆ หลังจากการใช้ ด่อน เคียง มาระยะหนึ่ง แซ ด่อน รองคันนี้ใช้งานมาจนถึง พ.ศ. 2521 

 

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน เพื่อความสะดวกในการเคลื่อนศพชาวไทยเชื้อสายเวียดนามจึงคิดประดิษฐ์รถเคลื่อนศพขึ้นโดยประยุกต์จากเกวียนขนข้าวด้วยการใช้คานหามหลักที่สลักหัวมังกรและหางมังกรมาผูกติดกับเกวียนและเรียกรถคันนี้ว่า “แซ ด่อน” และเมื่อมีการใช้หัวมังกร (rồng -รอง) เป็นส่วนประกอบด้วยจึงเป็นที่มาของการเรียกรถส่งศพแบบนี้ว่า แซ ด่อน รอง (xe đòn rồng) นั่นเอง รถนี้ใช้ในการเคลื่อนศพไปยังสุสานแทนที่การหามบนคานตามแบบโบราณซึ่งรถลักษณะนี้เดิมทีมีใช้ทุกชุมชนที่เป็นชาวไทยเชื้อสายเวียดนามในเขตจังหวัดนครพนม หากแต่ปัจจุบันความเจริญและลักษณะถนนหนทางได้เปลี่ยนไปมาก หลายชุมชนจึงยกเลิกการใช้ แซ ด่อน รอง เท่าที่มีข้อมูลในเขตจังหวัดนครพนม ชุมชนชาวไทยเชื้อสายเวียดนามที่ยังคงใช้ แซ ด่อน รอง ส่งศพอยู่คือ บ้านนาจอก บ้านโพนบก และบ้านต้นผึ้ง-ดอนโมง (กำลังอยู่ในช่วงจะเปลี่ยนแปลงจากแซด่อนรองไปเป็นรถยนต์ส่งศพ)

แซด่อนรองสีเขียวของบ้านนาจอก

 

แซด่อนรองสีเีขียวคันที่ 2 ของบ้านนาจอก สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2522 นับถึงปัจจุบัน (2561) มีอายุใช้งานมาแล้วกว่า 40 ปี

 

แซด่อนรองที่ปรับปรุงขึ้นใหม่จากคันสีเขียวเดิม (คันที่ 2) ในเดือนกรกฎาคม ปี พ.ศ.2561

 

 

ข้อสังเกตประการหนึ่งเกี่ยวกับ แซ ด่อน รอง บ้านนาจอกนี้คือแม้ว่าช่วงที่หมื่นมนัสประชาอพยพเข้ามาในประเทศไทยจะตรงกับช่วงที่ราชวงศ์เหงียนของเวียดนามที่ศิลปะแทบทุกอย่างจะเลียนแบบมาจากจีนรวมทั้งหัวมังกรแบบจีน (มีเขาแบบกวาง) แต่หมื่นมนัสประชาและคนกลุ่มแรกของบ้านนาจอกก็เลือกใช้หัวมังกรแบบราชวงศ์เล (ราชวงศ์นี้ปกครองเวียดนามเมื่อกว่า 400 ปีที่แล้ว) ซึ่งเป็นศิลปะแบบเวียดนามแท้ ๆ กล่าวคือหัวมังกรตามแบบของสมัยราชวงศ์เลนี้จะไม่มีเขามีเพียงหนวด 1 คู่ (เพราะชาวเวียดนามโบราณเชื่อว่ามังกรเกิดจาก เต่า ปลา และงู จึงไม่มีเขา)
 
หัวมังกร แซ ด่อน รอง ของบ้านนาจอกเป็นศิลปะแบบราชวงศ์เลของเวียดนาม (ไม่มีเขา แต่จะมีหนวด)
 

(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากลิงค์ข้างล่างนี้)


แซ ดอน รอง (Xe đòn rồng) ส่งศพ

 
 
 
6. ธรรมเนียมการใช้ธงงานศพสีขาว-น้ำเงิน

ธรรมเนียมการใช้ธงสีขาว-น้ำเงิน ในงานศพของชาวบ้านนาจอก เป็นคำถามที่มีผู้ถามกันมากว่าเหตุใดธงงานศพบ้านนาจอก (หมายถึงธงหลักของหล่างหรือธงประจำหมู่บ้าน) ถึงเป็นสีขาว-น้ำเงิน แตกต่างจากชุมชนชาวไทยเชื้อสายเวียดนามอื่น ๆ ในเขตจังหวัดนครพนม ที่พบว่าใช้ผืนธงสีขาว-ดำทุกผืน หรือแม้กระทั่งใช้สีขาว-ดำ ปะปนกับธงสีขาว-น้ำเงิน ที่เป็นดังนี้ขออธิบายว่าเพราะธรรมเนียมการใช้ผืนธงสามเหลี่ยมสีขาว-น้ำเงิน (ผืนธงสามเหลี่ยมจะใช้ในเขตจังหวัดภาคกลางของประเทศเวียดนาม ส่วนผืนธงสี่เหลี่ยมจะใช้ในเขตจังหวัดภาคเหนือของประเทศเวียดนาม-ผู้เขียน) ที่เป็นดังนี้เนื่องจากหมื่นมนัสประชาเพราะท่านเป็นชาวจังหวัดเหงะอาน (Nghệ An) อันเป็นจังหวัดเดียวในประเทศเวียดนามเท่านั้นที่ใช้ผืนธงงานศพลักษณะสีขาว-น้ำเงิน ดังนั้นหากสรุปจากผืนธงงานศพที่บ้านนาจอกใช้ย่อมบ่งบอกว่าพื้นเพดั้งเดิมหรือบรรพบุรุษของชาวบ้านนาจอกว่ามาจากจังหวัดเหงะอานภาคกลางของประเทศเวียดนาม ด้วยเหตุนี้หากมีผู้สังเกตเสียหน่อยถึงความแตกต่างนี้ก็จะทราบทันที่ว่านี่คือเอกลักษณ์หนึ่งของบ้านนาจอกที่แตกต่างจากชุมชนชายไทยเชื้อสายเวียดนามอื่นในเขตจังหวัดนครพนม

ป้ายจารึกบ้านเกิด (quê quán) จังหวัดเหงะอาน (Nghệ An) ที่หลุมศพของหมื่นมนัสประชา
ที่จัดสร้างและปรับปรุงขึ้นใหม่ ในปี พ.ศ.2535 โดยทายาทสายคุณเทียดทอง ประชากุล

 

ตรงนี้ขออธิบายเพิ่มเติมหน่อยว่าผืนธงงานศพสีขาว-ดำ ในบ้านนาจอกนั้นก็มีปรากฎใช้ หากแต่นั่นไม่ใช่ธงงานศพหลัก (ธงหล่างหรือธงประจำหมู่บ้าน) แต่ธงสีขาว-ดำ  เรียกกันว่าธงดอง (Cờ thông gia) ที่จะใช้ในกรณีดองอีกฝ่ายหนึ่งส่งไปร่วมในพิธีศพส่งศพของดองตนเอง โดยกฎเกณฑ์นี้มีข้อจำกัดอยู่หน่อยว่าฝ่ายดองที่จะส่งธงไปร่วมส่งศพดองนั้น ตนเองต้องยังคงชีวิตอยู่เท่านั้น (ลูกหลานจะส่งไปตระกูลดองแทนพ่อแม่ผู้วายชนม์ของตนเองไม่ได้) แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าธรรมเนียมนี้กำลังจะเลือนหายไปจากบ้านนาจอกแล้วเนื่องจากคนยุคหลังเห็นเป็นเรื่องยุ่งยากเพราะต้องผูกธงกับเสาไม้ไผ่ และยังจะต้องจัดคนไปถือธงในขบวนแห่ส่งศพเองด้วย

ผืนธงดองงานศพสามเหลี่ยม สีขาว-ดำ ของบ้านนาจอก
ธรรมเนียมปฏิบัติจะต้องใช้เสาไม้ไผ่และโดยตำแหน่งในขบวนแห่จะต้องเดินตามหลัง แซ ด่อน รอง
 
 
 
ผืนธงงานศพสีขาว-น้ำเงิน (ธงหล่างหรือธงประจำหมู่บ้าน) เอกลักษณ์หนึ่งเดียวของบ้านนาจอก
 
 
ที่นี่จะขอยกตัวอย่างภาพการใช้ธงงานศพของชุมชนชาวไทยเชื้อสายเวียดนามอื่น ๆ ในเขตจังหวัดนครพนมให้ได้เห็นภาพชัดเจนขึ้น เพื่อจะได้เข้าใจเรื่องผืนธงขาว-น้ำเงิน ของบ้านนาจอกว่าแตกต่างเป็นเอกลักษณ์จากชุมชนชาวไทยเชื้อสายเวียดนามอื่น ๆ ในเขตจังหวัดนครพนมอย่างไร
 
ผืนธงงานศพสามเหลี่ยมสีดำ-ขาว ของชุมชนหนองแสง  (สังเกตว่ามีทั้งผืนสี่เหลี่่ยมและผืนสามเหลี่ยม)
 
 
ผืนธงงานศพแบบสามเหลี่ยม สีขาว-ดำ ของชุมชนโพนบก
 
 
ผืนธงงานศพแบบสามเหลี่ยมสีขาว-ดำ ผสมกับผืนธงสีขาว-น้ำเงิน  ของชุมชนต้นผึ้ง-ดอนโมง
 
 

ผืนธงงานศพสี่่เหลี่ยมสีขาว-ดำ ของชุมชนด่ายเหียว
 
 
ผืนธงงานศพสี่เหลี่ยม สีเหลือง-แดง ของชุมชุนวัดป่า (กรณีผู้ตายอายุ 70 ปีขึ้นไป)
 

(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากลิงค์ข้างล่างนี้)

 

โบกพริ้วทิวธงส่งศพ
 
 

6. ถนนนมัสประชา
 
ราว พ.ศ. 2530 เป็นยุคที่ท่านผู้ใหญ่บ้าน เจริญ เวียนศรี ได้พัฒนาขยายถนนหนทางในหมู่บ้านนาจอก (ถนนลูกรัง) และครั้งนั้นได้มีการตั้งชื่อถนนต่าง ๆให้มีชื่อเรียกตามหลักสากล โดยท่านและผู้หลักผู้ใหญ่ในยุคนั้นอนุสรณ์ถึงคุณูปการของหมื่นมนัสประชาที่มีต่อหมู่บ้านนาจอกมาแต่เดิม จึงตั้งชื่อถนนเส้นหลักเส้นแรกของหมู่บ้านนาจอก ซึ่งก็คือถนนที่ตัดตรงจาก ถ.นิตโย ผ่านสุสานบ้านนาจอก และผ่านที่ดินอันเป็นที่ตั้งของบ้านหมื่นมนัสประชาไปจนสิ้นสุดที่ที่ว่าการอำเภอแห่งใหม่ของอำเภอเมืองนครพนมว่า
 
 "ถนนมนัสประชา "
 

ถนนมนัสประชา คือถนนเส้นหลักที่ตัดตรงจาก ถ.นิตโย ผ่านสุสานบ้านนาจอก  ผ่านสุสานด่ายเหียว
เข้าไปจนสิ้นสุดที่หน้าบ้านของหมื่นมนัสประชา ก่อนที่ต่อมาจะตัดถนนเพิ่มผ่ากลางที่นาท่านไปยังที่ว่าการอำเภอแห่งใหม่

 
 
ซึ่งผู้คนที่เกิดทันในยุคก่อนจะจดจำได้ดีเพราะเคยมีป้ายชื่อถนนติดอยู่นานปี แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าหลังจากนั้นก็มีโครงการขยายถนนเส้นนี้อีก   2 - 3 ครั้ง โดยแปลงที่ดินหัวมุมของหมื่นมนัสประชาได้ถูกขอที่เพื่อขยายถนนล้ำเข้าไปเรื่อย ๆ ทั้ง 2 ฝั่ง (ฝั่งถนนมนัสประชา และถนนอีกเส้นที่เลียบทุ่งนา) จนที่แปลงนี้ที่เคยกว้างขวางประมาณ 3 ไร่เศษ ถูกทอนลงจนเหลือเพียง 2 ไร่เท่านั้น
 
และนอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2542 เกิดโครงการพัฒนาอ่างเก็บน้ำหนองญาติขึ้น ได้มีการถมที่บริเวณหนองญาติเพื่อสร้างที่ว่าการอำเภอแห่งใหม่  และทำถนนวงแหวนรอบอ่านเก็บน้ำหนองญาติ จึงได้มีการตัดถนนเพิ่มเติมอีก ซึ่งตัดถนนต่อจากถนนมมัสประชาผ่านที่นาของทายาทหมื่นมนัสประชาไปตลอดแนวจนถึงที่ว่าการอำเภอแห่งใหม่ทำให้ในครั้งนี้ทายาทต้องเสียสละที่ดินไปในการนี้อีกหลายไร่เพื่อความเจริญของส่วนรวม
 
จึงนับได้ว่าหมื่นมนัสประชาและทายาทเป็นผู้มีส่วนเสียสละที่ดินและที่นารวมกันค่อนข้างมากเพื่อขยายถนนจนมีความเจริญเรื่อยมา
ปัจจุบันถนนเส้นนี้ไม่มีป้ายถนนมนัสประชาปรากฎอยู่แล้ว และยังจะคงใช้ชื่อถนนนี้อยู่หรือไม่ก็ไม่ทราบแน่ชัด
 
 แต่ทว่าทายาทของท่านในรุ่นหลัง ๆ ต่างก็ภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนเสียสละเพื่อเจริญของส่วนรวม และยังจดจำได้ดีว่าครั้งหนึ่งผู้หลักผู้ใหญ่ในหมู่บ้านก็อนุสรณ์ถึงคุณงามความดีของหมื่นมนัสประชาที่ท่านได้สร้างไว้ให้กับบ้านนาจอกโดยในยุคหนึ่งได้เคยตั้งชื่อถนนสายนี้ว่า "ถนนมนัสประชา" เพื่อเป็นเกียรติแก่ท่าน
 
ถนนมนัสประชาจะตัดผ่านที่ดินแปลงหัวมุมที่เคยเป็นบ้านของหมื่นมนัสประชา โดยที่ดินผืนนี้ถูกขอพื้นที่เพื่อขยายถนนเข้าไปทั้ง 2 ฝั่ง
 
 
ถนนมนัสประชาในปัจจุบัน (พ.ศ. 2561)
 
 
 
**** โปรดติดตามตอนที่ 3  (ตอนสุดท้าย)  ครอบครัวของหมื่นมนัสประชา กดลิงค์ข้างล่างนี้ ****
 
 
 
 
จนกว่าจะพบกันใหม่

Nguyễn Gia Huy

 

 

*************************************************************************************

 "Chân thành cảm ơn Thầy Minh Quang đã giúp đỡ tận tình về việc viết bài và chỉnh sửa lại bài viết "

"Cảm ơn Anh Viết Thành đã có lời động viên tinh thần và giúp đỡ về Tiếng Việt thường xuyên"

*************************************************************************************

 

 

 

 

 




Create Date : 05 กรกฎาคม 2561
Last Update : 21 พฤษภาคม 2562 21:04:20 น. 3 comments
Counter : 2385 Pageviews.

 
เพิ่งเห็นที่คุณพีร์ไป comment ค่ะ
หลังจากชาวบล็อกชักชวนให้กลับมาเขียนบล็อกกัน สรุปได้เขียนบล็อกใหม่อยู่ 3 บล็อกค่ะ
โรงเรียนบ้านนาจอกก่อตั้งก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง 1 ปีนะคะ
ช่วงนี้อินกับการอ่านหรือฟังทาง youtube เรื่องประวัติศาสตร์ค่ะ เพิ่งซื้อหนังสือนิยายอิงประวัติศาสตร์พระเจ้าตาก เขียนโดยฝรั่งค่ะ โดยผู้เขียนก็ได้หลักฐานของฝรั่งที่เข้ามาสยามในยุคโน้นเหมือนกัน
การบันทึกเรื่องราวเป็นหลักฐานให้คนในโลกอนาคตเหมือนกันนะคะ


โดย: รัชชี่ IP: 210.86.219.2 วันที่: 11 กรกฎาคม 2561 เวลา:15:50:49 น.  

 
รออ่านตอนสามค่ะ


โดย: tuk-tuk@korat วันที่: 17 กรกฎาคม 2561 เวลา:13:30:25 น.  

 
เป็นประโยชน์มากครับ


โดย: สุริยา คำหว่าน IP: 202.28.21.95 วันที่: 21 กันยายน 2561 เวลา:15:16:13 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Gia Huy - Peeradol
Location :
นนทบุรี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 13 คน [?]




Air SurOundinG mE liKe mY besT frIendS !
แจกฟรีแบ๊คกราว
Friends' blogs
[Add Gia Huy - Peeradol's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.