ไปรษณีย์



ไปรษณีย์



การเขียนจดหมาย และการส่งเอกสาร คงจะไม่มีวันหมดไปจากโลกใบนี้ง่ายๆ เพราะในจดหมายจะมีลายมือและมีลายเซ็น เป็นสิ่งสวยงามที่สื่ออีเล็กทรอนิกส์ ยังทำไม่ได้ ..ยิ่งกว่านั้นการส่งเอกสารถึงกัน จะเป็นจากคนถึงองค์กร จากองค์กรถึงคน จากองค์กรถึงองค์กร ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ นับเป็นการส่งหลักฐานทางกฎหมายถึงต่อกันวิธีหนึ่ง



ไปรษณีย์ จึงเป็นการสื่อสารที่ยังจะไม่หมดไปจากโลกนี้ง่ายๆ ตราบใดที่คนและองค์กรยังมีเอกสารที่จะส่งถึงกัน



ไปรษณีย์เกิดขึ้นในเมืองไทยเมื่อไหร่?



หลายคนอาจจะรู้คำตอบนี้แล้ว ..ว่าเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 คือประมาณเมื่อ 128 ปีที่แล้ว



แต่คงจะมีไม่มากคนนัก ที่จะรู้รายละเอียดว่า ...ไปรษณีย์เกิดขึ้นได้อย่างไร?





ลองติดตาม





ก่อนสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่มีองค์กรใดไม่ว่าจะเป็นของทางราชการหรือของเอกชน รับนำจดหมายจากบุคคลหนึ่งไปส่งบุคคลหนึ่ง ...การส่งข่าวสารของประชาชนในสมัยนั้น เป็นไปในทำนองบอกฝากกันด้วยวาจา หรือฝากจดหมายไปกับบุคคลผู้เดินหนังสือราชการหรือพ่อค้า



การรับฝากจดหมายหรือข่าวสารทำนองนี้ เป็นการรับฝากส่วนตัว ฐานคนที่รู้จักคุ้นเคยกัน ไม่มีรูปแบบเป็นระบบ หรือดำเนินการแบบเป็นการค้า รับค่าบริการตอบแทนอย่างเปิดเผย



ในปีพ.ศ.2418 ..มีพระบรมวงศานุวงศ์ประกอบด้วยเจ้านาย 11 พระองค์ ภายใต้การนำของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ฯ กรมหลวงภาณุพันธุวงศ์วรเดช (หากคลิกตรงข้อความ เชิญอ่านความคิดเห็นที่18) ทรงร่วมกันออกหนังสือรายวันฉบับหนึ่ง เพื่ออ่านกันในหมู่เจ้านาย ให้ชื่อภาษาอังกฤษว่า “COURT” และให้ชื่อภาษาไทยว่า “ข่าวราชการ”



หมายเหตุ จากจขบ.1 : หากท่านใด ต้องการจะอ่านพระนิพนธ์ ในสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ฯ กรมหลวงภาณุพันธุวงศ์วรเดช ..หนังสือชื่อ “ชีวิวัฒน์” ตอน เมืองตานี เชิญอ่านที่นี่




เมื่อหนังสือ “ข่าวราชการ” พิมพ์ออกแจกจ่ายแก่บรรดาสมาชิกได้ไม่นานนัก ก็ปรากฏว่ามีผู้สนใจมาทูลขอรับหนังสือเป็นจำนวนมาก เป็นเหตุให้ต้องพิมพ์เพิ่มขึ้นมากกว่าที่ได้ทรงคาดหมายไว้



ในขั้นแรก สมาชิกผู้รับหนังสือ จะต้องไปรับหนังสือเอง ที่สำนักงาน ณ หอพิทยาคม ในพระบรมมหาราชวัง ..แต่เนื่องจากผู้รับไม่ไปรับหนังสือตามกำหนด จึงเป็นเหตุให้สำนักพิมพ์ต้องเก็บหนังสือไว้คอยจ่ายเป็นจำนวนมาก เกิดความไม่สะดวกและเปลืองสถานที่เก็บหนังสือ อันเป็นสาเหตุข้อหนึ่งที่ก่อให้เกิดแนวคิดการไปรษณีย์ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5



เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่บรรดาสมาชิกผู้รับหนังสือ และไม่เปลืองสถานที่เก็บ สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ฯ จึงทรงโปรดให้มีบุรุษเดินหนังสือสำหรับการส่งหนังสือ “ข่าวราชการ” ขึ้น.. เรียกว่า “โปสต์แมน” และทรงโปรดให้มีตั๋ว “แสตมป์” สำหรับใช้เพื่อแสดงว่าได้เสียค่าเดินหนังสือแล้ว



แสตมป์ที่ใช้ในครั้งนั้น.. อาจนับเป็นตราไปรษณียากรที่ประเทศไทยมีขึ้นเป็นครั้งแรกก็ว่าได้ (แต่สุดท้าย ไม่นับ) เพราะนอกจากจะใช้สำหรับส่งหนังสือ“ข่าวราชการ” แล้ว ..สมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์นี้ ยังได้ทรงอนุญาตให้สมาชิกผู้รับหนังสือ ซื้อตั๋ว “แสตมป์” สำหรับปิดลงบนจดหมายอื่นๆของตน เมื่อต้องการจะให้บุรุษเดินหนังสือ ช่วยเดินจดหมายให้ โดยคิดราคาค่าแสตมป์ดวงละ 1 อัฐ



หลักเกณฑ์การคิดค่าส่งจดหมายมีดังนี้ ..จดหมายถึงผู้รับ อยู่ในเขตกำแพงเมือง ให้ปิดแสตมป์หนึ่งดวง เท่ากับ 1 อัฐ ..จดหมายถึงผู้รับที่อยู่นอกกำแพงเมือง ให้ปิดแสตมป์สองดวง เท่ากับ 2 อัฐ



แสตมป์นี้ พิมพ์มาจากต่างประเทศ มีขนาด18 x 21ม.ม.ภายในมีลวดลายและมีภาพหลายแบบ เช่น ภาพพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, ภาพพระบรมฉายาลักษณ์พระบรมราชินีนาถ และภาพพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง ..แต่แสตมป์นี้ ยังไม่มีข้อความและไม่มีตัวเลขราคาปรากฏอยู่บนแสตมป์แบบแสตมป์ทั่วไป



ภาพแสตมป์ในราชสำนัก ในสมัยนั้น







หนังสือ “ข่าวราชการ” ซึ่งถือกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2418 แต่ต้องล้มเลิกไป เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2419 คืออยู่ได้ประมาณ 1 ปี....การหยุดทำหนังสือ “ข่าวราชการ” นี้ ทำให้บริการไปรษณีย์แบบชนิดไม่เป็นทางการ พลอยหยุดชะงักไปด้วย




ปีพ.ศ.2423 การไปรษณีย์ถือกำเนิด


4ปี หลังจากที่หนังสือ “ข่าวราชการ” หยุดทำ.. ที่สุด การไปรษณีย์แบบชนิดเป็นทางการ ก็ถือกำเนิดขึ้นในปีพ.ศ.2423 ..โดย จมื่นเสมอใจราชหัวหมื่นมหาดเล็กเวรสิทธิ์ ผู้เคยเห็นกิจการไปรษณีย์ในต่างประเทศ ตระหนักถึงคุณประโยชน์ของการไปรษณีย์ที่จะมีต่อประเทศ จึงทำหนังสือกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถวายคำแนะนำให้เปิดบริการไปรษณีย์ขึ้นเมื่อวันที่ 23 กันยายน พ.ศ.2423 โดยได้เสนอโครงการให้ทรงทราบถึงผลดีและค่าใช้จ่ายโดยประมาณ ตลอดจนวิธีดำเนินการตามแบบแผนที่ได้เคยเห็นและศึกษาจากต่างประเทศ



พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริเห็นชอบ จึงทรงแต่งตั้งให้ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ฯ กรมหลวงภาณุพันธุวงศ์วรเดช ผู้ทรงมีประสบการณ์การจัดส่งหนังสือ “ข่าวราชการ” ดำรงตำแหน่ง ผู้สำเร็จราชการกรมไปรษณีย์



สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ฯ กรมหลวงภาณุพันธุวงศ์วรเดช








หมายเหตุ จากจขบ.2 : เชิญอ่านพระประวัติ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ฯ กรมหลวงภาณุพันธุวงศ์วรเดช หรือที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันดีในชื่อ “สมเด็จวังบูรพา” เพราะพระองค์ได้รับพระราชทาน วังบูรพาภิรมย์ ให้เป็นที่ประทับ ...สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯ พระองค์นี้ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็นที่ปรึกษาของผู้สำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์ ในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินประพาส ทั้งในและต่างประเทศ หรือเมื่อทรงพระประชวร





เมื่อสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ฯ กรมหลวงภาณุพันธุวงศ์วรเดช ได้ทรงวางโครงการและเตรียมการให้บริการไปรษณีย์ไว้พร้อมแล้ว ก็ได้ประกาศเปิดรับฝากส่งจดหมายและหนังสือในเขตพระนครและธนบุรี เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ.2426 โดยมีที่ทำการตั้งอยู่ ณ อาคารใหญ่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตอนปากคลองโอ่งอ่าง ด้านทิศเหนือ ..อาคารนี้ เดิมทีเป็นของพระปรีชากลการ (สำอางค์ อมาตยกุล) เจ้าเมืองปราจีนบุรี ซึ่งได้โอนมาเป็นของหลวง ..แต่ปัจจุบันน่าเสียดาย อาคารนี้ถูกรื้อไปแล้ว เพื่อใช้สถานที่สร้างสะพานคู่ขนานกับสะพานพุทธ ..และที่ทำการไปรษณีย์แห่งแรกนี้ ได้ใช้เป็นที่ทำการไปรษณีย์จังหวัดพระนครด้วย เรียกชื่ออาคารว่า “ไปรษณียาคาร”


“ไปรษณียาคาร”





เขตจ่ายไปรษณีย์ เมื่อปีพ.ศ.2426 มีตึก “ไปรษณียาคาร” เป็นศูนย์กลางจ่ายทั้ง 4 ด้าน ทิศเหนือ ถึงสามเสน / ทิศตะวันออก ถึงสระปทุม / ทิศใต้ ถึงบางคอแหลม / ทิศตะวันตก ถึงตลาดพลู







แสตมป์ชุดแรก ชื่อชุด โสฬศ

วันแรกจำหน่าย 4 สิงหาคม 2426



เป็นภาพพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผินพระพักตร์เบื้องซ้าย ภายในกรอบรูปไข่

มีชนิดราคา 1 โสฬส (สีคราม), 1 อัฐ (สีชมพูแก่), และ 1 เสี้ยว (สีแสด) สามชนิดนี้ มีขนาด 28 x 23 ม.ม. มีตัวเลขและมีข้อความบนแสตมป์

ส่วนชนิดราคา 1 ซีก (สีเหลืองอ่อน), 1 สลึง (สีเหลืองแก่), และ1 เฟื้อง (สีแดงชาด แต่ไม่ได้นำออกใช้ เพราะจัดส่งมาไม่ทัน) มีขนาด 25 x 22 ม.ม. จะมีเพียงข้อความ ไม่มีตัวเลข

ผู้ออกแบบ กรมไปรษณีย์โทรเลข จัดพิมพ์ที่ บริษัท Waterlow and sons ltd ประเทศอังกฤษ






แสตมป์ชุดที่ 2 ชื่อชุด พระบรมฉายาลัษณ์ ร.5

วันแรกจำหน่าย 1 เมษายน พ.ศ. 2430



ภาพพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระพักตร์ตรง ภายในกรอบวงกลม

มีชนิดราคา 1 อัฐ (สีเขียว), 2 อัฐ (สีเขียวกับชมพู), 3 อัฐ (สีเขียวกับน้ำเงิน), 4 อัฐ (สีเขียวกับสีแสด), 8 อัฐ (สีเขียวกับสีเหลือง), 12 อัฐ (สีม่วงกับชมพู), 24 อัฐ (สีม่วงกับน้ำเงิน), และ 64 อัฐ (สีม่วงกับน้ำตาล)

ทุกดวงมีขนาด 24 x 20 ½ มม.

ผู้ออกแบบ บริษัท เดอ ลารู จำกัด, ลอนดอน ประเทศอังกฤษ






ในปีพ.ศ.2441 เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ กราบบังคมทูลเสนอความเห็นว่า ราชการของกรมไปรษณีย์และราชการของกรมโทรเลข ซึ่งตั้งขึ้นมาก่อนกรมไปรษณีย์นั้น เป็นงานในด้านการสื่อสารด้วยกัน ควรจะรวมเป็นหน่วยราชการเดียวกัน เพื่อความสะดวกในการดำเนินงาน…พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นเป็นการสมควร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้รวมกรมทั้งสองเข้าด้วยกัน เรียกว่า “กรมไปรษณีย์โทรเลข”



กรมไปรษณีย์โทรเลข ตั้งอยู่ ณ ไปรษณียาคาร จนกระทั่งถึงปีพ.ศ.2470 จึงได้ย้ายไปใช้อาคารและที่ดินริมถนนเจริญกรุงเป็นที่ทำการ(บริเวณนี้เดิมเป็นที่ตั้งสถานทูตอังกฤษ) ..ณ ที่ทำการแห่งใหม่นี้ใช้งานอยู่ 12 ปี พอถึงปีพ.ศ.2482 ก็ได้ปรับปรุงอาคารโดยรื้ออาคารออก แล้วสร้างอาคารหลังใหม่เป็นที่ทำการกรมไปรษณีย์โทรเลข เรียกกันโดยทั่วไปว่า “ที่ทำการไปรษณีย์กลาง”




ในบรรดาอาคารเก่าที่รื้อลงนั้น มีอาคารเล็กแฝดสองหลัง ซึ่งทำเป็นซุ้มประตูของสถานทูตอังกฤษ ด้านติดแม่น้ำเจ้าพระยา รวมอยู่ด้วย ..อาคารเล็กแฝดที่กล่าวถึงนี้ สถานทูตอังกฤษเคยใช้เป็นที่รับฝากจดหมายและหนังสือ ซึ่งทางราชการและประชาชนนำไปฝากเพื่อส่งไปยังต่างประเทศ








มีใครเคยเห็นแบบฟอร์มส่งโทรเลขบ้าง?


เดี๋ยวนี้ เกือบจะไม่มีใครส่งโทรเลขกันแล้ว เพราะ..โทรศัพท์มือถือเอย ..SMSเอย ...อีเมล์เอย ประชาชนชาวไทยทุกเพศทุกวัยทุกอาชีพและทุกตำบล ใช้กันจนถือเป็นเรื่องธรรมดา.. เดี๋ยวนี้จะมีส่งโทรเลขกันบ้างก็เพื่อการทวงหนี้เท่านั้น เพราะผู้รับไม่ยอมรับโทรศัพท์หรือSMS






หมายเหตุ จากจขบ.3 : เพราะจำนวนผู้ใช้บริการโทรเลขมีน้อยมาก ประมาณปีละ 100 ครั้ง ..ในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2551 ที่จะถึงนี้ ...การสื่อสารแห่งประเทศไทยจะถือเป็นวันดีเดย์ ยกเลิกการใช้โทรเลข ในประทศไทย ปิดฉากการให้บริการโทรเลขที่เคยมีให้บริการมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2418 (มีมาก่อนไปรษณีย์ ซึ่งไปรษณีย์เริ่มให้บริการในปีพ.ศ.2423) ..สิริรวมอายุโทรเลข 133 ปี



ใครอยากจะสร้างประวัติศาสตร์ ลองไปส่งโทรเลขถึงตัวเองดูซิ ..เอาไว้ให้ลูกหลานดู ..แต่ต้องก่อนวันที่ 1 พฤษภาคม นะครับ.. เพราะวันที่ 1 พฤษภาคมนั้น เขาหยุดวันแรงงาน






เมื่อแรกที่ตั้งกรมไปรษณีย์โทรเลขขึ้นนั้น.. ทางราชการได้จ้างชาวยุโรปเข้ามาปฏิบัติงานและอบรมวิชาการ ให้แก่ข้าราชการไทยด้วย ..รวมทั้งได้เปิดโรงเรียนสอนวิชาการไปรษณีย์โทรเลขขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2472 ...ในระยะต่อมา เมื่อโรงเรียนไปรษณีย์โทรเลข ผลิตผู้ชำนาญปฏิบัติงานได้แล้ว การจ้างชาวยุโรปมาเป็นเจ้าหน้าที่ จึงค่อยๆน้อยลงเป็นลำดับจนหมดไป



ปีพ.ศ.2426 มีบ้านเลขที่บ้าน


กรมไปรษณีย์โทรเลข ได้รับวิวัฒนาการตามแนวทางที่ เจ้าหมื่นเสมอใจราช กราบบังคมทูลไว้ คือเปิดกิจการไปรษณีย์ขึ้นในบางท้องที่ของจังหวัดพระนครก่อน แล้วค่อยๆขยายออกไปยังหัวเมือง ...จัดให้เคหสถานบ้านเรือนมีเลขหมายประจำ เพื่อการนำส่งไปรษณียภัณฑ์ได้ถูกต้อง ..จัดทำระเบียบข้อบังคับไปรษณีย์ ..พิมพ์ตราไปรษณียากรขึ้นสำหรับใช้แทนค่าธรรมเนียม ..และสร้างเครื่องมือ เครื่องใช้ เช่น เครื่องชั่งน้ำหนัก และตู้ไปรษณีย์ เป็นต้น




บุรุษไปรษณีย์ ปีพ.ศ.2426







เมื่อบริการไปรษณีย์ได้รับการจัดตั้งขึ้นในจังหวัดพระนคร(ปีพ.ศ.2426) ..ในปีพ.ศ.2428 ทางราชการจึงได้เปิดที่ทำการไปรษณีย์ในต่างจังหวัดขึ้นที่ จังหวัดสมุทรปราการ และ จังหวัดนครเขื่อนขัณฑ์(พระประแดง)..และในจังหวัดอื่นๆในระยะต่อมา เมื่อพิจารณาเห็นสมควร



และในปีพ.ศ.2448 กรมไปรษณีย์โทรเลข จึงได้ทำสัญญาตกลงกับกรมรถไฟหลวง(การรถไฟแห่งประเทศไทย) เปิดการไปรษณีย์โทรเลขขึ้นตามสถานีรถไฟ โดยเริ่มด้วยทางสายกรุงเทพฯ-นครราชสีมาในปีพ.ศ.2449 ก่อน ..แล้วเปิดตามสถานีในทางรถไฟสายอื่นๆต่อไปทุกสาย



ที่ทำการไปรษณีย์สถานีรถไฟ มีส่วนช่วยให้การไปรษณีย์ได้แพร่หลายกว้างขวางออกไปตามชนบทต่างๆที่มีการเดินรถไฟ ..และในปีพ.ศ.2478 ได้เปิดที่ทำการไปรษณีย์ประจำรถด่วนขึ้น ในทางรถไฟสายใต้เป็นขบวนแรก ..ปัจจุบันนี้ มีที่ทำการไปรษณีย์รถด่วนประจำขบวนรถด่วนทุกสาย




บุรุษไปรษณีย์ ปีพ.ศ.2478








แสตมป์ชุดที่ 6 ชื่อชุด ครุธพาหนะ (แปลกดี ‘ครุธ’ แต่ก่อนสะกดไม่เหมือนปัจจุบัน)

วันแรกจำหน่าย 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2453



ภาพรูปครุธพาหนะเชิญกรอบพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ รัชกาลที่ 5 ผินพระพักตร์เบื้องซ้าย

ชนิดราคา 2 สตางค์ (พื้นสีเหลืองแก่ วงในสีเขียว), 3 สตางค์ (พื้นและวงในสีเขียว), 6 สตางค์ (พื้นและวงในสีแดง), 12 สตางค์ (พื้นสีดำวงในสีเหลืองอ่อน), 14 สตางค์ (พื้นและวงในสีน้ำเงิน), และ 28 สตางค์ (พื้นและวงในสีน้ำตาลแก่)

ทุกดวง มีขนาด 30 x 23 มม.






แสตมป์ชุดที่ 22 ชื่อชุด พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลปัจจุบัน (ร.9) (สยาม) (ชุด 1)

วันแรกจำหน่าย 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490



ภาพพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลปัจจุบัน( พระบรมฉายาลักษณ์ ร.9 บนแสตมป์ไทย เป็นครั้งแรก)

ชนิดราคา 5 สตางค์ (สีม่วง), 10 สตางค์ (สีแดง), 20 สตางค์ (สีน้ำตาลและสีม่วง), 50 สตางค์ (สีสมออ่อน), 1 บาท (สีม่วงและสีน้ำเงิน), 2 บาท (สีน้ำเงินและสีเขียว), 3 บาท (สีแสดและสีดำ), 5 บาท (สีเขียวแก่และสีแสด), 10 บาท (สีน้ำตาลและสีม่วง), และ 20 บาท (สีดำและสีชมพู)

ราคาเป็นสตางค์ มีขนาด 28 x 23 มม., ราคาเป็นบาท มีขนาด 30 x 25 มม.

ผู้ออกแบบ กรมไปรษณีย์โทรเลข






เพื่อขยายกิจการไปรษณีย์โทรเลขในท้องถิ่นชนบทให้แพร่หลายยิ่งขึ้น ในปีพ.ศ.2470 กรมไปรษณีย์โทรเลข จึงได้เริ่มให้เอกชนรับอนุญาตตั้งที่ทำการไปรษณีย์โทรเลฃขึ้น เรียกว่า “ที่ทำการไปรษณีย์อนุญาตเอกชน”



ที่ทำการไปรษณีย์ประเภทนี้ ได้รับอนุญาตให้ตั้งขึ้น ทั้งในจังหวัดพระนครและต่างจังหวัด แต่โดยมากมักจะตั้งอยู่ตามชุมชนใหญ่ในตัวจังหวัด ไม่แพร่หลายออกไปในชนบท ..เพราะผู้รับอนุญาตตั้ง ต้องการจะหารายได้เอากำไร จึงทำให้ประชาชนในท้องถิ่นห่างไกลจากจังหวัดและสถานีรถไฟ ไม่ได้รับบริการไปรษณีย์โทรเลข ได้ดีเท่าที่ควร





ในปีพ.ศ.2479 กรมไปรษณีย์โทรเลข ได้พิจารณาเห็นสมควรจัดตั้งที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขตามอำเภอบางแห่ง ที่พอจะดำเนินการได้ โดยทำความตกลงกับกระทรวงมหาดไทย เรียกว่า “ที่ทำการไปรษณีย์อนุญาตอำเภอ”



การเปิดที่ทำการไปรษณีย์อนุญาตอำเภอนี้ ช่วยให้กรมไปรษณีย์โทรเลขให้บริการแก่ประชาชนในประเทศได้มากขึ้น และช่วยแบ่งเบาภาระด้านงบประมาณแผ่นดินอีกทางหนึ่งด้วย ..เนื่องจากใช้สถานที่และอุปกรณ์ของที่ว่าการอำเภอ เป็นที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข ..เพียงแต่จ่ายค่าตอบแทนจำนวนเล็กน้อย ให้แก่นายอำเภอ ในฐานะนายไปรษณีย์อนุญาตอำเภอ



บุรุษไปรษณีย์ ปีพ.ศ.2493







แสตมป์ชุดที่ 33 ชื่อชุด ที่ระลึกฉลอง 25 พุทธศตวรรษ

วันแรกจำหน่าย 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2500



ภาพธรรมจักรกับกวาง, ภาพธรรมจักรกับนิ้วพระหัตถ์ และภาพธรรมจักรกับพระปฐมเจดีย์

ชนิดราคา 5 สตางค์ (สีน้ำตาลแก่), 10 สตางค์ (สีม่วงแดงอ่อน), 15 สตางค์ (สีเขียว), 20 สตางค์ (สีส้ม), 25 สตางค์ (สีน้ำตาลอ่อน), 50 สตางค์ (สีชมพู), 2 บาท (สีน้ำตาลอ่อน), 1.25 บาท (สีสมอ), และ 2 บาท (สีม่วงแดงแก่)

มีขนาด 32 x 22 มม.

ผู้ออกแบบ กรมศิลปากร





ยิ่งกว่านั้น ในปีพ.ศ.2505 ทางการไปรษณีย์ได้พิจารณาขยายบริการออกไปอีก เพื่อให้ประชาชนตามตำบลและหมู่บ้าน มีได้โอกาสใช้บริการไปรษณีย์กันอย่างทั่วถึงและสะดวกรวดเร็ว โดยการจัดตั้ง ที่รับส่งไปรษณีย์ตำบล และที่รับส่งไปรษณีย์สุขาภิบาล ขึ้น ..โดยทำความตกลงร่วมกันระหว่างกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงคมนาคม ..กำหนดให้นายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ เป็นผู้พิจารณาแต่งตั้งกำนันเป็นผู้รับส่งไปรษณีย์ตำบลโดยตำแหน่ง ..และให้ประธานกรรมการสุขาภิบาลแต่งตั้งพนักงานสุขาภิบาลชาย เป็นผู้รับส่งไปรษณีย์สุขาภิบาล ..ใช้บ้านกำนันและสำนักงานสุขาภิบาลเป็นสถานที่ทำการ ..และจ่ายค่าตอบแทนให้แก่กำนันและพนักงานสุขาภิบาลนั้น






การไปรษณีย์เป็นบริการสาธารณะ จำเป็นต้องมีระเบียบข้อบังคับ เพื่อให้ประชาชนผู้ใช้บริการและเจ้าหน้าที่ทราบและถือปฏิบัติ ...เมื่อเปิดการไปรษณีย์โทรเลขได้ประมาณ 2 ปี รัฐบาลจึงได้ตรากฏหมายขึ้นในปีพ.ศ.2428 เรียกว่า “พระราชบัญญัติการไปรษณีย์ไทย จุลศักราช 1248”



ต่อมาในปีพ.ศ.2440 ได้ออกพระราชกำหนดไปรษณีย์ ร.ศ.116 (ยกเลิกพระราชบัญญัติฉบับปีพ.ศ.2428) และใช้พระราชกำหนดไปรษณีย์ ร.ศ.116 นี้ตลอดมา จนกระทั่งปรับปรุงใหม่ ออกเป็น “พระราชบัญญัติไปรษณีย์ พุทธศักราช 2477” ..มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ เป็นผู้รักษาตามพระราชบัญญัติ(ปัจจุบันรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติ) และพระราชบัญญัติฉบับนี้ ปัจจุบันก็ยังมีผลใช้บังคับอยู่




ด้านการไปรษณีย์ระหว่างประเทศ ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีแห่งสหภาพสากลไปรษณีย์ ในปีพ.ศ.2428 ..อันเป็นปีเดียวกันกับที่ได้ตรากฎหมายเกี่ยวกับการไปรษณีย์ขึ้น ..และได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมแก้ไขปรับปรุง อนุสัญญาสากลไปรษณีย์ตามสมัยประชุมเป็นลำดับมา




การไปรษณีย์ระหว่างประเทศตามอนุสัญญาสากลไปรษณีย์ มิได้มีแต่เฉพาะการส่งจดหมายอย่างเดียวเท่านั้น ..ยังมีการส่ง ไปรษณียบัตร สิ่งตีพิมพ์ พัสดุไปรษณีย์ บริการธนาณัติ และอื่นๆ ซึ่งกรมไปรษณีย์โทรเลขได้เปิดบริการเหล่านี้ให้แก่ประชาชน ตามระเบียบการที่กำหนดไว้ ในอนุสัญญาสากลไปรษณีย์ และข้อตกลงกับต่างประเทศ




สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงส่งจดหมายลงตู้ไปรษณีย์ที่อเมริกา







การไปรษณีย์ของประเทศไทย ดำเนินกิจการในรูปแบบรัฐพาณิชย์โดยระบบราชการ มาตั้งแต่ปีพ.ศ.2423 รวมเป็นเวลา 93 ปี ความไม่คล่องตัวในด้านการบริหาร ทั้งด้านงบประมาณและบุคลากร ทำให้พัฒนาการด้านสื่อสารทั้งด้านการขยายและปรับปรุง ไม่สะดวกรวดเร็วเท่าที่ควร …ในปีพ.ศ.2516 กรมไปรษณีย์โทรเลขจึงขอปรับปรุงระบบการบริหารของกรมฯ ออกเป็นสองระดับ คือ งานระดับอำนวยการ ยังคงมีฐานะเป็นกรมไปรษณีย์โทรเลข หรือเป็นรัฐบาล ส่วนงานระดับปฏิบัติการด้านการสื่อสาร ให้จัดรูปงานเป็นรัฐวิสาหกิจ



บุรุษไปรษณีย์ ปีพ.ศ.2517







ในปีพ.ศ.2519 รัฐบาลที่มี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี มีประกาศใช้พระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย



ในปีพ.ศ.2520 การสื่อสารแห่งประเทศไทย ดำเนินงานในรูปแบบรัฐวิสาหกิจ



ในปีพ.ศ.2525 การไปรษณีย์ กำหนดใช้รหัสไปรษณีย์ เป็นครั้งแรก และเปิดให้บริการการรับประกันไปรษณียภัณฑ์ในประเทศ



และในปีพ.ศ.2529 จึงเปิดให้บริการ EMS ในประเทศ และย้ายสำนักงานใหญ่ฝ่ายบริหาร ของ การสื่อสารแห่งประเทศไทย ไปที่ถนนแจ้งวัฒนะ หลักสี่



บุรุษไปรษณีย์ ปีพ.ศ.2544






บุรุษไปรษณีย์ ปีพ.ศ.2549 (ยูนิฟอร์มของบุรุษไปรษณีย์ ในทุกวันนี้)







จากข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2549 ของเว๊ปไปรษณีย์ไทย..ปัจจุบันการไปรษณีย์ของไทย ดำเนินการโดยบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ.2546 โดยมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้น 100% ทุนจดทะเบียน หนึ่งพันสองร้อยห้าสิบล้านบาทถ้วน



ประกอบธุรกิจด้านการรับ-ส่งข่าวสาร สิ่งของ บริการการเงิน และบริการตัวแทน มีพนักงานและลูกจ้างจำนวน 21,036 คน, มีที่ทำการไปรษณีย์ 1,177 แห่ง, ศูนย์ไปรษณีย์13 แห่ง, ที่ทำการไปรษณีย์อนุญาต 3,341 แห่ง, ร้านจำหน่ายตราไปรษณียากร 2,222 แห่ง, และตู้ไปรษณีย์จำนวน 36,756 ตู้














โดย yyswim









Create Date : 06 มีนาคม 2551
Last Update : 6 มีนาคม 2551 0:42:03 น. 32 comments
Counter : 10815 Pageviews.

 

ผมจะไม่อยู่บล๊อกสัก 3 -4 วันครับ จะไปพักร้อนกับครอบครัวที่หัวหิน


โดย: yyswim วันที่: 6 มีนาคม 2551 เวลา:0:31:05 น.  

 
ไม่น่าเชื่อว่ากว่าจะอ่านจบ ผ่านไป 40 นาที ได้ความรู้มากค่ะ แถม
มุกที่ให้ส่งโทรเลขให้ตัวเองนี่ กะวันศุกร์นี้ต้องไปไปรษณีย์อยู่แล้ว
ว่าจะส่งให้ตัวเองเป็นที่ระลึกอยู่พอดี....


โดย: ลิตช์ (Litchi ) วันที่: 6 มีนาคม 2551 เวลา:1:16:22 น.  

 
ยินดีที่ได้รู้จัก

ผู้ทายทักแห่งกาลสมัย

ผู้ยังอยู่และผู้ผ่านไป

เพื่อสิ่งใหม่กำลังมา

ยินดีที่ได้ทายทัก

โอ้ความรัก ปราถนา

ยิ้มนั่น ฉันศรัทธา

และควรค่าจะครอบครอง


ขอบคุณสำหรับข้อมูลและสาระดีๆ


โดย: somnumberone วันที่: 6 มีนาคม 2551 เวลา:8:17:02 น.  

 
อยากได้ตุ๊กตาบุรุษไปรษณีย์มาสะสมจัง น่ารักมาก


โดย: coming soon (The Yearling ) วันที่: 6 มีนาคม 2551 เวลา:10:32:26 น.  

 
จดหมายยังอยู่ การไปรษณีย์ก็ยังอยู่ แต่ว่าน่าเศร้าคือโทรเลขล้มหายตายจากเสียแล้วล่ะ


ปล. ขอให้เที่ยวสนุกเน้อ


โดย: ณ มน วันที่: 6 มีนาคม 2551 เวลา:11:15:40 น.  

 
สุดยอดเลยครับ ความรู้เพียบ
โทรเลขจะยกเลิก 1 พค. นี้ เสียดายจัง ทั้งๆที่เป็นสาธารนูปโภค ขาดทุนก็ต้องทำ แต่ กสท.โทรคม เขาไม่เอา
สำหรับไปรษณีย์จดหมายฉบับละ 3 บาท ต้นทุน 5 บาท ขาดทุนเช่นกันแต่เขายังให้บริการอยู่เลย เพราะเป็นบริการขั้นพื้นฐานที่ต้องให้บริการประชาชน เขาหาบริการอื่นมาเสริมได้เพื่อให้อยู่ได้เช่น EMS และบริการอื่นๆอีกมากมาย




ตอบท่านที่ 4 ตุ๊กตามีจำหน่ายที่ทำการไปรษณีย์ครับ


โดย: โต้ง IP: 61.90.184.250 วันที่: 6 มีนาคม 2551 เวลา:12:07:50 น.  

 
ให้ความรู้ดีมาก แล้วผมจะให้นักเรียนของผมเข้าชมเวปนี้ต่อไปนะครับ


โดย: ไมตรี IP: 61.90.184.250 วันที่: 6 มีนาคม 2551 เวลา:13:16:35 น.  

 


คุณลิตช์......ขอบคุณที่มาเยี่ยมบ่อยๆ ไปไปรษณีย์เดี๋ยวนี้ คุณลิตช์ส่งเงินก็ได้ ต่อทะเบียนรถก็ได้ จ่ายบิลค่าไฟก็ได้ ร้อยแปดพันอย่าง ...โอ อ่านตั้งเกือบชั่วโมงเหรอ? ขออภัยนะครับ ..แต่ผมก็ใช้เวลานานเหมือนกัน ..ใช้เวลาทำบล็อกเกือบหนึ่งวัน


คุณsomnumberone....ยินดีที่ได้รู้จักเช่นกัน ผมเห็นเค๊กก้อนใหญ่ของคุณบ่อยๆ ทำไว้เยอะนาครับ


สุ่น.....ตุ๊กตาปั้น รูปบุรุษไปรษณีย์ เหมาะกับวางโชว์ไว้ในตู้กระจกครับ ถ้าวางข้างนอกจะดำ ราคาขายตัวละ150บาท ซื้อแยกตัวได้

ตอนนี้บางไปรษณีย์จะขายหมดไปแล้ว ต้องขยันเสาะหา ถึงจะเจอ


คุณ ณ มน.....ผมจะเดินทางไปเที่ยวกับครอบครัว พรุ่งนี้เช้าครับ ขอบคุณที่อวยชัย

โทรเลขเดี่ยวนี้ คนไม่นิยมใช้แล้วครับ ธุรกิจตัวนี้ขาดทุน จึงต้องล้มเลิกไป

ที่จริงก็มีบางอย่างที่ล้มเลิกไปแล้ว ซึ่งคุณ ณ มนอาจจะสังเกตได้เช่น เทเล็กซ์ เพจเจอร์


โต้ง..... นายเข้ามาเยี่ยม เออ ขอบคุณ

แหม่ ..โทรเลขเลิกวันใดไม่เลิก มาเลิกเอาตอนวันขอบคุณพระเจ้า ..ที่ให้นายเกิดมา



อาจารย์ไมตรี.....เข้ามาเยี่ยม ขอบคุณคร้าบบบ

อาจารย์ อาจแนะนำให้นักเรียนเขียนบล็อก(หรือเว๊ปส่วนตัว)ของนักเรียนแต่ละคน หรือจะให้ทำบล็อก 1 รุ่นต่อ 1 บล็อกก็ได้ น่าสนใจนะครับ ติดขัดตรงไหน เดี่ยวผมจะขับรถไปช่วยแนะนำ

.ผมหวังว่า หากนักเรียนทำบล็อกของรุ่น แต่ละรุ่น บล็อกก็จะอยู่ยงคงกระพันไปอีกนาน แม้จะเรียนจบออกไปทำงานนานแล้ว อและจะนานไปจนถึงแต่ละคนเป็นผู้บริหาร

แล้วแต่ละรุ่นก็ทำลิ๊งก์ต่อกัน หรือหากใครมีบล็อกของตนเองแล้ว ก้อทำลิ้งก์ไปที่บล็อกรุ่น หรือเชื่อมบล๊อกรุ่นมาถึงบล็อกของตนเองด้วย

เรื่องทำบล็อกนี่ ประหยัดเงินและทำไม่ยากเลยครับ





โดย: yyswim วันที่: 6 มีนาคม 2551 เวลา:14:06:47 น.  

 
เนื้อหาดีมากและรูปก็สวยครับ โทรคมยกเลิกโทรเลขแล้ว ไปรษณีย์ฟื้นเอามาเป็นของไปรษณีย์เองได้หรือเปล่าครับ... เสียดายสิ่งที่รัชกาลที่ 5 ทรงสร้างไว้


โดย: A IP: 61.90.184.250 วันที่: 6 มีนาคม 2551 เวลา:14:13:30 น.  

 


พี่สินคะ..


ไม่เคยผิดหวังสักทีที่เข้ามาเยี่ยมชม ความรู้ดีมากๆ นะคะ



โดย: Nok_Noah วันที่: 6 มีนาคม 2551 เวลา:20:06:34 น.  

 
ทุกวันนี้ยังต้องใช้บริการของไปรษณีย์

เน้นหนักไปทางส่งซีดีและหนังสือธรรมะ

บางครั้งใส่ตู้หน้าหมู่บ้าน

แต่ส่วนใหญ่ต้องไปต่อคิวที่ไปรษณีย์เพราะต้องชั่งน้ำหนักบ้าง ส่งแบบพัสดุบ้าง

ใครที่ไม่ค่อยได้ใช้บริการไปรษณีย์อาจคิดว่าคงเป็นหน่วยงานที่เหงา

แต่ลองแวะไปสักครั้งจะรู้ว่าถ้าเป็นช่วงเช้าคนแน่นคิวยาวกว่าธนาคารเสียอีก หากเป็นช่วงบ่ายคิววิ่งไปถึงเลข 5-6ร้อยทีเดียว

สำหรับป้าไปรษณีย์จึงยังมีความหมายและให้ประโยชน์อย่างยิ่ง


โดย: ป้ากุ๊กไก่ IP: 124.121.61.237 วันที่: 6 มีนาคม 2551 เวลา:22:56:33 น.  

 
อ่านแล้วได้ความรู้อีกแยะเลย ขอบคุณมาก
เมื่อก่อนผมก็สะสมแสตมป์ไว้จำนวนมาก ว่างๆก็เอามาจัด เปิดดูเพลินดีออก ดูแล้วไม่มีเบื่อ และได้ความรู้ดีด้วย
แต่มาโดนน้ำท่วมบ้านขนของหนีไม่ทัน เสียหายหมดเลย ตอนนี้ก็มีแต่รุ่นใหม่ๆ นึกแล้วยังเสียดาย

ไปพักร้อนที่หัวหิน ขอให้เที่ยวให้สนุก อย่าลืมเก็บเกี่ยว เรื่องราวดีๆ มาเล่าสู่ให้อ่านด้วยนะครับ


โดย: หน่อไม้ดอง IP: 58.8.78.173 วันที่: 7 มีนาคม 2551 เวลา:0:09:10 น.  

 
ช่วงขึ้นมาเรียน กทม. ใหม่ๆ ผมต้องไป ปณ.ทุกเดือน
เพราะว่ายุคนั้น ระบบ ATM ยังไม่มี เวลาที่บ้านส่งเงินมา
ก็ส่งมาทาง ปณ.น่านแหละ เวลาจะไปขึ้นเงิน ก็เอาบัตรปชช.
หรือบัตร นศ.ไปเป็นหลักฐานยื่นให้เจ้าหน้าที่

หลังจากเริ่มมี ATM แล้วก็ห่างหายจาก ปณ.ไปนานร่วม 20 ปี

จนเมื่อ 3 ปีที่แล้วผมต้องเดินเข้าออก ปณ.เกือบทุกวันทำการ
บางวันก็เข้าออกถึงวันละ 3 ครั้ง เรียกว่าเจ้าหน้าที่ในนั้นจำหน้าผมได้ทุกคน
ครับผมเริ่มขายอะไหล่จักรยานในเน็ต ลูกค้าส่วนมากก็เป็นคน ตจว.
คนเหล่านี้ มีที่ให้ขี่จักรยานเยอะ แต่มักจะหาอะไหล่จักรยานดีๆ ไม่ค่อยได้
เพราะของพวกนี้เป็นของเฉพาะกลุ่ม ไม่ค่อยมีขายในร้านจักรยานธรรมดา
เนื่องด้วยเพราะราคามันสูง

ผมเคยรวมตัวเลขค่าส่งของปีหนึ่งผมอุดหนุน ไปรษณีย์ไทย
ไปร่วม 2X,XXX (อ่านว่า สองหมื่นกว่า)
ส่งจนเรียกว่าเดินถือของไปชิ้นหนึ่ง สามารถประมาณการเคร่าๆได้เลยว่า
ค่าส่งถ้าเป็น EMS จะเท่าไหร่ ๔้าเป็น ลงทะเบียนธรรมดา จะเท่าไหร่
ถ้าเป็น พกง. (เก็บเงินปลายทาง) ต้องไปบวกเพิ่มกับสินค้าเท่าไหร่

แต่ทุกวันนี้ไม่ถี่อย่างนั้นแล้วล่ะครับ เพราะว่าการไปทำงานอยู่ที่พัทยา
เป็นอุปสรรคในการหาสินค้ามาขายอย่างมาก... (แต่ก็ดีกับไอ้ไข่นุ้ยผมครับ ได้อย่างเสียอย่าง)

ทุกวันนี้ ปณ.มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปมากครับ
มีการต่อยอดธุรกิจได้หลายอย่าง เช่นการจ่ายค่าน้ำ/ไฟ ค่าอะไรต่ออะไรอีกมาก แถมเรื่องการโอนเงิน ก็มีแบบ online ซึ่งปลายทางสามารถได้เงินทันทีเลย ผิดกับเมื่อก่อนซึ่งต้อง 3-5 วัน

แต่มีสิ่งหนึ่งที่ผมพึ่งจะได้ข้อมูลมาก่อนอ่าน blog ท่านสินแค่ 1 วัน
ก็คือ การบริการโทรเลข ครับ

ถ้าผมจำไม่ผิด ในวันที่ 1 พค. ปีนี้ เค้าจะทำการปิดการให้บริการ โทรเลข เป็นการถาวรแล้วครับ มันก็น่าจะเป็นอย่างนั้นแหละครับ
ค่าบำรุงรักษาระบบเสาโทรเลข ตกปีละ 25 ล้านบาท
แต่มีคนใช้บริการแค่ปีละ 5000 บาท .... ส่วนต่างยังกะ ฟ้ากะเหวเลย

ถ้าเป็นไปได้ผมว่าาน่าจะไปใช้บริการดูนะครับ เอาใบโทรเลขมาเก็บไว้ให้ลูกหลานรุ่นหลังๆดูกัน

ผมจำได้ว่าผมทั้งเคยส่งและเคยรับมาแล้วทั้งคู๋ แต่นั้นมันก็ 30 ปีแล้วครับ


โดย: merf1970 IP: 202.139.223.18 วันที่: 7 มีนาคม 2551 เวลา:11:16:19 น.  

 
แถมให้นะครับ

//track.thailandpost.co.th/trackinternet/Default.aspx

ข้างบนนั้นเป็น เว็บสำหรับเช็ดสถานะของ พัสดุที่เราส่งไป
ว่ามันอยู่ตรงจุดไหนล้ว หรือไม่ก็ถึงผู้รับแล้วหรือยัง ใครเป็นคนเซ็นรับ
นับว่าสะดวกมากๆครับ

ปล. แต่ยังใช้ไม่ได้กับพัสดุหรือจดหมาย ที่ไม่ลงทะเบียนนะ


โดย: merf1970 IP: 202.139.223.18 วันที่: 7 มีนาคม 2551 เวลา:11:20:06 น.  

 
ขอบคุณมากค่ะ สำหรับเรื่องราวดีดีที่เอามาฝาก
อ่านแล้วได้ความรู้ดีค่ะ ชอบดวงตราไปรษณีย์เก่า ๆมากเลย
ดูมีคุณค่าและเหมือนกับการบันทึกประวัติศาสตร์ไว้ในดวงตราไปรษณย์เลยค่ะ


โดย: เราสองคน (ฝากเธอ ) วันที่: 7 มีนาคม 2551 เวลา:16:11:16 น.  

 
เข้ามาอ่านเรื่องราวดีๆอีกแล้ว...

มาขอบคุณ คุณลุงสินของน้องมีน
ตามมาจากบล๊อกแม่ดีดีค่ะ ขอบคุณค่ะที่ไปอวยพรวันเกิดล่วงหน้าให้น้องมีน ยังไม่ทารบว่าจะพาเขาไปเที่ยวไหนดีเลยค่ะ น้องมีนอยากเป่าเค็กกับย่าและพี่ๆ ที่ราชบุรี
คุณสินจะไปไหมค่ะ ไปเที่ยวหัวหินอย่าลืมถ่ายภาพทะเลยามเย็นมาให้ดูบ้าง ชอบค่ะ


โดย: มดทิพย์ วันที่: 7 มีนาคม 2551 เวลา:17:15:14 น.  

 
ขอส่งโทรเลข 1 ฉบับ....ท่านลืมมือถือไว้ที่ห้องน้ำค่ายพระราม.6 ในพระราชนิเวศน์มีคนเก็บได้ เป็นเจ้าหน้าที่ดูแลห้องน้ำทิศใต้ ชื่อ คุณแต้ว บุณฑริกา ไปรับคืนได้ที่ท่านลืมไว้ แล้วอย่าลืมสมนาคุณคุณแต้วให้ด้วยข้าขอออกให้เอง

.....ข้าจำได้ว่าเครื่องนี้เป็นเครื่องที่ 2 ที่ลืม เครื่องแรกหายต๋อมไปเลย ราคาตั้ง 17,000 ถ้าหายอีกก็เป็น 34,000
เดชบุญทำบุญไว้เยอะจึงได้ของคืนมา.. เห้อโล่งอกไปที


โดย: โต้ง IP: 61.90.184.250 วันที่: 7 มีนาคม 2551 เวลา:17:30:00 น.  

 
โห...พี่สินครับ

ข้อมูลละเอียดยิบเลยครับ
น่าทึ่งมากครับ

ผมหวัง..แอบหวังว่าวันนึง ไปรษณีย์ไทยจะทำงานเร็วเหมือน FedEx

หลังๆมีแต่คนเขียน Email แต่ยังไงผมก็ยังเป้นชายไทยที่ชอบเขียนจดหมายมากๆอยู่ครับ

สวัสดียามค่ำพี่สินและป้ากุ๊กไก่ด้วยนะครับ



โดย: ก๋า เก็กเสียง (กะว่าก๋า ) วันที่: 7 มีนาคม 2551 เวลา:22:41:46 น.  

 
น่าเสียดายที่ ไปรษณียาคาร ถูกรื้อทิ้งเพื้อสร้างสะพานพระปกเกล้าเมื่อปี 2524 ไม่งั้นผมจะไปดูสถานที่แห่งนี้ให้เป็นบุญตา...



ปี 2519 มีแสตมป์ชุดบุรุษไปรษณีย์ด้วยนะคับ เดี๋ยวนี้ราคาหลักร้อยอ่ะคับ ไม่มีตังค์ซื้อ


ส่วนโทรเลขก็น่าจะส่งซักครั้งนึงในชีวิตนะคับ เพราะต่อไปคงจะไม่มีอีกแล้ว


โดย: K_chang วันที่: 7 มีนาคม 2551 เวลา:23:53:35 น.  

 
ขอบคุณสำหรับคำอวยพรด้วยนะคะพี่สิน ขอให้คำอวยพรดีๆที่ส่งให้มาขอให้กลับไปร้อยเท่าพันเท่าด้วยนะคะ




เมื่อตอนกินเจปีก่อนไปซื้อกระปุกออมสินไปให้หลานเหมือนกันคะ วิวัฒนาการของไปรษณีย์ แบบโบราณๆนี่ก็ดูคลาสสิคดีนะคะ


โดย: eeh (คิตตี้น้อยสีชมพู ) วันที่: 8 มีนาคม 2551 เวลา:16:25:04 น.  

 



แวะมาสวัสดีค่ะ



โดย: โสดในซอย วันที่: 9 มีนาคม 2551 เวลา:19:01:22 น.  

 
เข้ามาทักทาย และ เก็บเกี่ยวข้อมูลของ
ไปรษณีไทยค่ะ
ได้ความรู้มากมายเลยค่ะ

ชอบรูป แสตมป์ชุดแรก ที่ชื่อชุด โสฬศค่ะ

แบบฟอร์มส่งโทรเลขอ้อเคยได้ใช้อยู่ค่ะ แต่ก็นานเป็น 10 ปีแล้วค่ะ

ขอบคุณน่ะค่ะที่นำความรู้มาแบ่งปันกันค่ะ


โดย: sao-aor วันที่: 10 มีนาคม 2551 เวลา:3:04:39 น.  

 
จุว่า ไปรษณีย์มันมีค่านะ มันเก็บความคิดถึงที่ส่งผ่านมากับหลักฐานเช่น จดหมาย โปสการ์ดได้ จุชอบค่ะ


แล้วจุ ก็กำลังจะกลับไปหามัน เขียนจดหมายด้วยมือ ส่งไปรษณีย์ให้เพื่อน จุคิดถึงมันค่ะ...หมายถึง การใช้จดหมายนะคะ ไม่ใช่เพื่อน เพราะเพื่อนๆ น่ะ บางที ก็ไม่คิดถึงเท่าไหร่


โดย: กระจ้อน วันที่: 10 มีนาคม 2551 เวลา:20:44:33 น.  

 


หวัดดีค่ะคุณสิน
อื้อฮือ..ทั้งอ่านข้อมูลแล้วก็อ่านเม๊นท์ต่าง ๆ ด้วย
เกือบชม.เลยนะคะนี่ย เป็นอาไรที่ให้ความรู้มาก ๆ
สำหรับคนที่ไม่เคยรู้เลย มีรุ่นพี่มินคนนึง
เขาชอบสะสมสแตมป์มาก ๆ จะมีทุกรุ่นเลย
มีทั้งของเรา และของต่างประเทศ
เห็นว่าสะสมมาตั้งแต่รุ่นคุณพ่อแล้วค่ะ
เรื่องเขียนจดหมายส่งไปรษณีย์นี่
มินนึก ๆ ดู ตัวเอง ไม่เคยเลยนะ
ถ้าจะมีก็เป็นการ์ดอ่ะค่ะ ส่งไป surprise
พรรคพวกเพื่อนฝูง อันนั้นเคย
แต่น่าลองส่งโทรเลขดูเหมือนกัน นะคะ
แต่ต้องนึกก่อนว่า ส่งไปหาใครดี
ส่งให้ตัวเองมันไม่ตื่นเต้นอ่ะค่ะ ฮ่า ๆ ๆ..
ปล.เที่ยวให้สนุกนะคะ หวังว่าเมื่อวาน
คงไม่เจอฝนนะ เพราะกรุงเทพฝนตกหนักเลยค่ะ
เวลามินไปหัวหิน จะพักที่ไหนก็แล้วแต่
จะต้องไปทานข้าวที่โรงแรมสายลม
อย่างน้อยหนึ่งมื้อประจำค่ะ
เพราะตอนเด็ก ๆ เวลาพ่อพาไปหัวหิน
จะไปพักที่นี่ตลอด...


โดย: มิน (มินทิวา ) วันที่: 11 มีนาคม 2551 เวลา:4:44:18 น.  

 
อีกนิดนะคะ..
มินลืมบอกไป
ชอบมาก ๆ ๆ ๆ เลยค่ะกับปฏิทิน
ด้านขวามืออ่ะค่ะ กดลงไปวันไหน
รู้หมดเลยเป็นไง สำคัญยังไง
ขอบคุณค่า เพราะมันทำให้มินยิ้มทู๊กที..


โดย: มิน (มินทิวา ) วันที่: 11 มีนาคม 2551 เวลา:4:50:35 น.  

 


แวะมาชมภาพแล้วก็ชวนไปทำบุญด้วยล่ะ
โครงการห้องสมุดเพื่อน้อง


โดย: อุ้มสี วันที่: 11 มีนาคม 2551 เวลา:12:06:03 น.  

 
สวัสดีค่ะคุณสิน...ขอบคุณมากนะค่ะที่ไปอวยพรวันเกิดน้องมีน
เมื่อวานนี้ไปกัน3-4คนเองค่ะพี่ไก่ น้าบี ลุงกล่องไม่ได้ไปด้วย มีแต่น้าอี้ตามไปทีหลัง คิดถึงทุคนเลย คิดว่างตรงกันเมื่อไรจะนัดไปเจอกันที่บางแสนดีไหมค่ะ แต่ต้องเป็นเดือนหน้าค่ะ อยากเจอทุกคนเลย


โดย: มดทิพย์ วันที่: 11 มีนาคม 2551 เวลา:15:04:16 น.  

 


คุณ A ….ผมเข้ามาตอบช้า ขออภัย ป่านนี้คงเลิกเข้าบล๊อกนี้แล้วมั๊ง

เรื่องโทรเลข ก็เป็นไปตามกาลเวลาละครับ เพราะทุกวันนี้ คนใช้มือถือ ใช้SMS .ใช้เน็ตกันสะดวก การไปส่งโทรเลข(กรอกแบบฟอร์ม) การรอรับโทรเลข ซึ่งอีกหลายชั่วโมง จึงไม่ทันใจ และได้ข้อความน้อยด้วย สู้กดมือถือพูดกันเลย ไม่ได้

จะไม่ลองส่งโทรเลขให้ใคร เป็นอนุสรณ์สักครั้งเหรอ? ก่อนที่โทรเลขจะหมดลม


น้องนก....ขอบคุณคำชมจ้า


เจ๊.... ผมก็ไม่ค่อยได้ไปไปรษณีย์บ่อยนัก เพราะไม่รู้จะไปทำอะไร เรื่องจ่ายค่าบริการ ก็จ่ายผ่านแบ๊งค์เป็นส่วนใหญ่ หรือ7-Eleven

..โอว์ คนใช้บริการเยอะเหรอ? ดีใจที่เป็นธุรกิจเก่าที่ปรับตัวทันเทคโนโลยี


หน่อไม้....กลับมาจากหัวหินแล้ว ทานกุ้งทะเล ปูม้า ปลา หอย ปลาหมึก ทำเป็นอาหารหลากหลายอย่าง ล้วนสดๆทั้งนั้น อยากจะดูรูปเหรอ? คงไม่อัพบล๊อกเรื่องหัวหินหร๊อก อายยยย... เพราะ ยังถ่ายรูปไม่ค่อยเป็น เรื่องจะเล่าก้อไม่มีอะไร เป็นการคุยเล่นคุยหัวคุยสนุกกับครอบครัวและคุณแม่เท่านั้น ไปเพื่อความเบิกบานสบายใจน่ะ


นิ๊ง….ขอบคุณที่ช่วยเมนต์ให้อ่านกันยาวๆ ไปรษณีย์เดี๋ยวนี้ สีแดงดูโก้ แอร์เย็นฉ่ำ สะอาดดี พนักงานก็ยิ้มแย้มช่วยเหลือลูกค้าดีมาก แบบนี้คงจะอายุยืนยาว

อย่าลืมส่งโทรเลขให้ตัวเอง อีกสักรอบนะ หากผ่านหน้าไปรษณีย์

บล๊อกเรื่องหน้า หวังว่านิ๊งจะเข้าไปอ่านนะ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการขายของซื้อของ




โดย: yyswim วันที่: 11 มีนาคม 2551 เวลา:21:46:00 น.  

 

เราสองคน....ผมก็ขอขอบคุณคุณเราสองคนด้วย ที่แวะมาอ่านมาให้กำลังใจ

ผมเองชอบรูปพระเทพ รูปแรก มากกว่าภาพไหนๆครับ โชคดี วันที่ได้ไปบรรยายที่โรงเรียนไปรษณีย์ อาจารย์ระดับผู้บริหารของโรงเรียน ได้มอบรูปนี้ให้ เป็นรูปเก่าที่หาได้ยากครับ


คุณตรี....ขอบคุณที่เข้ามาเยี่ยม ไปหัวหิน ผมไม่ได้ถ่ายภาพทะเล ไม่ว่าทั้งยามเช้า หรือยามเย็นครับ เพราะรู้ว่าถ่ายไป ภาพก็ยังไม่ดี อาจจะต้องไปเรียนถ่ายภาพแบบจริงจังสักที

น้องมีน 5 ขวบแล้ว สุขสันต์วันเกิดครับน้องมีน เกิดวันจันทร์วันเดียวกันกะลุงเลย



โต้ง..... ขอบใจมากที่มาเม๊าท์ให้คนอื่นรู้ คนที่เขาเก็บได้ คนนี้เขาใจดี อันนี้รู้อยู่แล้ว เพราะคุยกัน เขาช่วยเหลือคุณแม่ด้วย แล้วถ่ายรูปด้วยกัน แต่ตอนแรกคิดไปว่าคนอื่นเขาจะเก็บได้ หากเป็นคนนี้เก็บ ไม่ต้องรีบไปรับ ก็วางใจได้

พอรู้ว่าหาย ก็ให้หลานโทร.เข้ามือถือ บอกคนๆนี้ว่าอีกสักแป๊บจะไปรับคืนน่ะ ราวชั่วโมงก็ไปถึง ซื้อของไปฝากด้วยแหร่ะ เขายังฝากบอกถึงคุณแม่ด้วยเลยว่าขอให้แวะไปเยี่ยมใหม่


กิจ....ขอบคุณที่แวะมาอ่าน มาดามและก๋าน้อยเป็นไงบ้าง หวังว่าใกล้ๆนี้จะเป็นวันแห่งโชคลาภและความสุขของทุกๆคนในบ้านนะครับ



น้องเฟิร์น.....พี่เองก็ไม่เคยเห็น ไปรษณียาคาร ทั้งๆที่เพิ่งถูกทุบทิ้งตอนที่สร้างสะพานคู่ขนานสะพานพุทธ แต่เคยเห็นไปรษณีย์กลางนะครับ

ไปรษณีย์เดี๋ยวนี้มี Pay@post และปรับปรุงงานใหม่ น่าไปใช้บริการครับ

แสตมป์ชุดบุรุษไปรษณีย์ คุ้นๆว่าจะเคยเห็น เดี๋ยวหากเจอ จะนำมาให้เพื่อนๆดูครับ



น้องอี๊....พี่แวะเข้าไปดูรูปเป่าเค๊กในบล๊อกของน้องอี๊แล้ว สุขสันติ์วันเกิดนะครับ



คุณโสดในซอย.....สวัสดีครับ สบายดีนะครับ


คุณอ้อ....ผมเองเคยใช้บริการส่งจดหมาย รับธนาณัติ และส่งโทรเลข มาบ้างเหมือนกันสมัยมหา-ลัย ยังจำบรรยากาศได้ครับ


คุณจุ....จดหมาย เป็นอะไรที่งดงามครับ เพราะบอกตัวตนของผู้เขียนจดหมายแบบที่อีเมล์ยังเลียนแบบไม่ได้ ผมเองไม่ได้รับจดหมายจากใครๆนานมากแล้ว 10 ปีแล้วมั๊ง


น้องมิน....พี่สินกลับมาแล้ว สนุกมาก ยังอยากจะไปอีกครับ หัวหิน

โรงแรมสายลมไม่ได้ไปครับ เพราะไปแบบเต็มแพ็ค รวม 21 คน ต้องหุงข้าวปลาอาหาร ชงกาแฟ ปรุงยำ ปิ้งปลาหมึกกันด้วยมือของคนอยากกินเอง อิอิอิ แต่ผมจะโชคดี มีพี่ มีพี่สะใภ้ น้องๆ และหลานๆ ช่วยทำให้ ผมไม่ต้องทำอะไรเลย สุโข มากกกกๆ

ออกไปกินนอกบ้านเฉพาะไปตลาดโต้รุ่งเท่านั้น ส่วนใหญ่เฮฮาสนุกกันในบ้านและแถวสระว่ายน้ำครับ ออกไปเที่ยวนอกบ้านน้อยมากด้วย

ปฏิทินทางขวามือ ไปจิ๊กเขามาครับ แบบเห็นว่าของเขาน่ารัก ก็หาทางก๊อปโค๊ตเขามา หากน้องมินต้องการบ้าง ยินดีนะครับ แต่โค๊ตจะยาวหน่อย



น้องอุ้ม....ขอบคุณนะที่นำบุญมาฝาก พรุ่งนี้จะไปโอนเงินให้เลย


คุณตรี....เข้ามาอีกรอบ คร้าบ ขอบคุณคร้าบบบ





โดย: yyswim วันที่: 11 มีนาคม 2551 เวลา:22:22:57 น.  

 
ผมชอบแสตมป์ครับ สวยดี
แต่ผมไม่เคยสะสมแสตมป์แฮะ


โดย: พลทหารไรอัน วันที่: 17 เมษายน 2551 เวลา:21:08:13 น.  

 


เจฟ....บล๊อกนี้ ผมชอบรูปพระเทพครับ มีถึงสองรูป เป็นรูปที่เผยแพร่น้อย ผมได้มาเพราะอาจารย์ที่ร.ร.ไปรษณีย์มอบให้ ตอนไปสอนให้เด็กที่นั่น




โดย: yyswim วันที่: 18 เมษายน 2551 เวลา:23:31:15 น.  

 
เป็นข้อมูลที่ละเอียดดีทีเดียวครับ
เป็นกำลังใจให้คนทำบอร์ดนะครับ
ในใจอยากจะบอกลึก ๆ ว่า
เรารักไปรษณีย์ เพราะไปรษณีย์สอนให้เราทำเพื่อคนไทย...


โดย: คุณเอ ส่วนลูกค้าสัมพันธ์ 1 ปณท IP: 61.7.134.65 วันที่: 24 มิถุนายน 2552 เวลา:22:24:13 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

yyswim
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 40 คน [?]





บล็อกสรรสาระนี้ จขบ.ไม่ได้เขียน-ไม่ได้ถ่ายภาพ-ไม่ได้อัพโหลดคลิปเอง หากแต่ทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการบล็อก เสาะหาเรื่องดีๆ รูปสวยๆ คลิปแปลกๆ มาไว้ในบล็อก


ขอขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยม ขอเชิญชมหรืออ่านตามสบาย ไม่ต้องคอมเมนต์ก็ได้ จขบ.ชอบการเข้ามาเยี่ยม แบบกันเอง ง่ายๆ สบายๆ




เริ่มเขียนBlog เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2548


เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ.2550 เวลา 23.30 น.


เริ่มนับจำนวนผู้เข้าเยี่ยมชม




Latest Blogs

New Comments
Group Blog
 
<<
มีนาคม 2551
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
6 มีนาคม 2551
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add yyswim's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friends


 
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.