สวัสดีค่ะ ภาระหน้าที่ทำให้ต้องเดินทางไกลมาถึงบัวโนสไอเรส แต่ยังคิดถึงเพื่อนบล็อกทุกคนนะค่ะ

โรคจอประสาทตาเสื่อม

การที่คนเราจะมองเห็นอะไรได้ดีและชัดเจนนั้น ภาพที่เรามองจะต้องสามารถเดินทางผ่านเข้าไปในลูกตา โดยผ่านส่วนประกอบต่าง ๆ ของตา คือ กระจกตา (Cornea) และเลนส์แก้วตา (Lens) ไปตกที่จอประสาทตา (Retina) ซึ่งเป็นผนังชั้นในของลูกตา ที่ประกอบไปด้วยเซลล์ประสาทตาจำนวนมาก ที่จะส่งสัญญาณภาพที่ได้ผ่านไปทางเส้นประสาทตา (Optic nerve) สู่สมอง เพื่อแปลสัญญาณเป็นภาพที่เรามองเห็น ทำให้เรารับรู้ว่าเป็นภาพอะไร และสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ เช่น อ่านหนังสือ, ขับรถ หรือทักทายคนรู้จักได้อย่างถูกต้อง


บริเวณจุดกลางรับภาพของจอประสาทตาที่เรียกว่า macula เป็นบริเวณที่สำคัญที่สุดบนจอประสาทตา ที่จะทำให้สามารถมองเห็นภาพต่าง ๆ ได้ชัดเจน ถ้าจุดกลางรับภาพนี้เสีย จะทำให้มองภาพไม่ชัด เห็นเหมือนมีจุดดำบังตรงกลาง หรือเห็นภาพบิดเบี้ยวไป ทำให้ความสามารถในการเห็นภาพที่ระยะใกล้และไกลเสียไป จนทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น อ่านหนังสือ หรือสนด้ายเข้าเข็มได้ยากหรือไม่สามารถทำได้


โรคจอประสาทตาเสื่อม เป็นโรคที่มีความผิดปรกติเกิดขึ้นในจุดกลางรับ
ภาพของจอประสาทตา พบมากในกลุ่มอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป และเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการเกิดการสูญเสียการมองเห็นในผู้สูงอายุ อย่างไรก็ตาม โรคจอประสาทตาเสื่อม จะทำให้สูญเสียการมองเห็นเฉพาะภาพตรงกลาง โดยที่ภาพด้านข้างของการมองเห็นยังดีอยู่ เช่น คุณอาจเห็นขอบของนาฬิกา แต่ไม่สามารถบอกได้ว่า เป็นเวลาอะไร ดังนั้น โดยตัวของโรคจอประสาทตาเสื่อม จะไม่ทำให้การมองเห็นมืดสนิทไปทั้งหมด แม้แต่ในรายที่เป็นมาก คนไข้จะยังพอมองเห็นทางด้านขอบข้างของภาพ และพอที่จะช่วยเหลือดูแลตัวเองได้บ้าง





อะไรเป็นสาเหตุของโรคจอประสาทตาเสื่อม

มีหลายภาวะที่พบว่าทำให้เกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมได้ เช่น คนที่มี
สายตาสั้นมาก ๆ (Degenerative or pathologic myopia) หรือในโรคติดเชื้อบางอย่าง แต่สาเหตุส่วนใหญ่แล้ว พบในผู้สูงอายุ จึงเชื่อว่าเป็นขบวนการเสื่อมสภาพของร่างกาย (Aging Process) แต่ไม่ทราบต้นเหตุที่ชัดเจน ผลการศึกษาวิจัยจากหลายสถาบัน พบว่า มีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างที่มีอิทธิพลต่อการเกิดโรคจอประสาทตตาเสื่อมตามอายุ (Aged related macula degeneration) ได้แก่


อายุ : พบโรคนี้ได้บ่อยขึ้นในคนที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป
พันธุกรรม : มีความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมของคนที่เป็นโรคกับญาติ
สายตรง วิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งอเมริกา จึงแนะนำให้ผู้เกี่ยวข้องดังกล่าว ควรได้รับการตรวจเช็คจอประสาทตาทุก 2 ปี

เชื้อชาติ / เพศ : พบอุบัติการของโรคสูงสุดในคนผิวขาว (Caucasian)
เพศหญิง อายุมากกว่า 60 ปี

บุหรี่ : มีหลักฐานทางการศึกษาพบว่า การสูบบุหรี่ เป็นการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคอย่างชัดเจน

ความดันเลือดสูง : คนไข้ที่ต้องทานยาลดความดันเลือด และมีระดับของไขมัน Cholesterol ในเลือดสูงและระดับ Carotenoid ในเลือดต่ำ มีความเสี่ยงสูงมากต่อการเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อม แบบสูญเสียการมองเห็นอย่างรวดเร็ว (Wet AMD)

วัยหมดประจำเดือน : ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่ไม่ได้รับประทานยาฮอร์โมน estrogen ถูกพบว่าอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน


ชนิดของจอประสาทตาเสื่อม

โรคจอประสาทตาเสื่อม มีลักษณะโรค 2 รูปแบบ คือ

แบบแห้ง (Dry AMD) เป็นรูปแบบที่พบมากที่สุด จะมีการเสื่อมสลาย และบางลงของ จุดกลางรับภาพจอประสาทตา (macula) จากขบวนการเสื่อมตามอายุ (aging) ความสามารถในการมองเห็นจะค่อย ๆ ลดลง และเป็นไปอย่างช้า ๆ

แบบเปียก (Wet AMD) พบประมาณ 10-15 % ของโรคจอประสาทตาเสื่อมทั้งหมด แต่มีลักษณะการเกิดการสูญเสียการมองเห็นอย่างรวดเร็ว และเป็นสาเหตุสำคัญของการตาบอดในโรค จอประสาทตาเสื่อม เกิดจากการที่มีเส้นเลือดผิดปรกติงอกอยู่ใต้จอประสาทตา และผนังชั้นพี่เลี้ยง (Retinal pigment epithelium) มีการรั่วซึมของเลือดและสารเหลวจากเส้นเลือดเหล่านี้ ทำให้จุดกลางรับภาพบวม คนไข้ จะเริ่มมองเห็นภาพตรงกลางบิดเบี้ยว และมืดลงในที่สุด เมื่อเซลล์ประสาทตาตาย


จะทราบได้อย่างไรว่าเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อม

อาการและอาการแสดง โรคจอประสาทตาเสื่อม อาจแสดงอาการแตกต่างกันในคนไข้แต่ละคน และยากต่อคนไข้ที่จะสังเกตความผิดปรกติในการมองเห็นเองตั้งแต่ระยะเริ่มแรก โดยเฉพาะถ้าตาอีกข้างหนึ่งยังมองเห็นได้ดี คนไข้อาจไม่สังเกตถึงความผิดปรกติไปหลายปี แต่ถ้ามีจอประสาทตาเสื่อมเกิดขึ้นในตาทั้ง 2 ข้าง คนไข้จะรู้สึกถึงความผิดปรกติในการมองเห็นอย่างรวดเร็ว เช่น มองตรงกลางภาพไม่ชัด ส่วนกลางของภาพที่มองขาดหายไป หรือมืดดำไป หรือภาพที่เห็นดูบิดเบี้ยวไป


สิ่งตรวจพบ ตามคำแนะนำของวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งสหรัฐเมริกา
"บุคคลทั่วไปอายุระหว่าง 40 - 64 ปี ที่ไม่มีอาการผิดปรกติในการมองเห็น ควรได้รับการตรวจสุขภาพตา (รวมทั้งตรวจจอประสาทตา) ทุก 2 - 4 ปี สำหรับคนที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป แนะนำให้ตรวจทุก 1 - 2 ปี แม้ไม่มีอาการผิดปรกติอะไร" เนื่องจาก การที่คนไข้จะรู้สึกถึงความผิดปรกติจากโรคจอประสาทตาเสื่อม ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกเป็นสิ่งที่ยาก แต่ในขณะเดียวกัน การตรวจพบและให้การรักษาโรคตั้งแต่ระยะแรกเริ่มเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุด เพราะว่าจอประสาทตาที่เสื่อมเสียไปแล้ว มีแต่จะเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ
การรักษาในปัจจุบันจึงทำได้เพียงหยุดหรือชะลอการเสื่อมเสียของจอประสาทตาให้ช้าที่สุด ซึ่งอาจรักษาไม่ได้เลย ถ้าโรคเป็นรุนแรง


จักษุแพทย์จะแนะนำให้คนไข้ที่ถูกตรวจพบว่า มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดของโรคจอประสาทตาเสื่อมสังเกตความผิดปรกติด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก โดยการใช้แผ่น Amsler grid ถ้าคนไข้มองเห็นภาพที่ Amsler grid ผิดปรกติไป จะต้องพบจักษุแพทย์ เพื่อรับการตรวจจอประสาทตาทันที


จักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางโรคจอประสาทตา (Retinal specialist) จะมีวิธีในการตรวจหาความผิดปรกติที่จอประสาทตา โดยใช้กล้องตรวจ biomicroscope (Opthalmoscopic examination) และตรวจพิเศษด้วยการฉีดสีถ่ายภาพ (Fluorescein angiography) หรือตรวจวิเคราะห์ภาพตัดขวางจอประสาทตาด้วยเลเซอร์ (Optical coherence tomography) เพื่อดูลักษณะและขอบเขตความผิดปรกติที่เกิดขึ้น เพื่อกำหนดแนวทางรักษา และพยากรณ์การดำเนินโรคได้


การรักษาในปัจจุบัน

สารอาหารทดแทน (Vitamin and mineral supplement)
โรคจอประสาทตาเสื่อม มีสาเหตุการเกิดโรคจากหลายปัจจัย (Multifactorial) ปัจจัยหนึ่งคือ กระบวนการที่เกิดจากการเสื่อมสภาพของเนื้อเยื่อ จากอายุที่เพิ่มขึ้น (Aging process) ทำให้เชื่อว่าสารต้านอนุมูลอิสระ(antioxidant agents) น่าจะช่วยลดการเกิดโรคได้(อนุมูลอิสระเป็นสาเหตุของความเสื่อมในระดับของเซลล์)


ผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโรคตาที่สัมพันธ์กับอายุ (Age-related eye diseases study) ของสถาบันจักษุแห่งชาติสหรัฐอเมริกา พบว่า
การรับประทานสารต้านอนุมูลอิสระ (วิตามิน C,E,beta carotene) และ Zinc ในปริมาณสูง สามารถลดความเสี่ยงของการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมระยะรุนแรงลงได้ร้อยละ 25 ในคนไข้โรคจอประสาทตาเสื่อมระยะ 3 หรือ 4 (กลุ่มความเสี่ยงสูง, high risk) และลดความเสี่ยงของการสูญเสียการมองเห็นจากภาวะจอประสาทตาเสื่อมอย่างรุนแรง ลงได้ร้อยละ 19 ในกลุ่มความเสี่ยงสูง แต่ไม่สามารถป้องกันการเกิดโรค หรือมีประโยชน์ในคนไข้ที่เริ่มมีจอประสาทตาเสื่อมเล็กน้อย (ระยะที่ 1 , 2)


ขนาดของสารทดแทนที่แนะนำให้รับประทานต่อวัน คือ

วิตามิน C 500 mg
วิตามิน E 400 IU
Beta carotene 15 mg (ประมาณ 25,000 IU)
Zinc 80 mg ของ Zinc oxide
Copper 2 mg ของ Copper oxide (เพราะว่าคนที่รับประทาน Zinc
ในขนาดสูง จะมีการขาด Copper ได้)
ไม่พบผลข้างเคียงของการใช้สารทดแทนในระหว่างการศึกษา (ระยะ
เวลาเฉลี่ย 6-3 ปี) แต่ผลข้างเคียงระยะยาว (มากกว่า 10 ปี) ยังไม่ทราบ
คนที่สูบบุหรี่ ไม่ควรใช้สารทดแทนที่มี beta carotene รวมอยู่ด้วย
(เพราะพบความสัมพันธ์ของการเกิดมะเร็งปอดในคนสูบบุหรี่ที่รับประทานอาหารที่มี beta carotene ประจำ)


สิ่งสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจ คือ สารทดแทนที่ว่านี้ ไม่สามารถป้องกัน,รักษา หรือช่วยให้การมองเห็นที่สูญเสียไปแล้วดีขึ้นได้ แต่เป็นการลดความเสี่ยงที่โรคจะดำเนินไปสู่ระยะรุนแรง จนทำให้เกิดการสูญเสียการมองเห็น ในคนไข้จอประสาทตาเสื่อมที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง


ดังนั้น ในคนทั่วไปที่อายุมากกว่า 55 ปี ควรได้รับการตรวจจอประสาทตาจากจักษุแพทย์ เพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อม และควรปรึกษาจักษุแพทย์เสียก่อนว่า มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับประทาน vitamin and mineral supplement หรือไม่


การรักษาด้วยแสงเลเซอร์

โรคจอประสาทตาเสื่อมแบบเปียก "Wet AMD" สามารถรักษาได้โดยใช้แสงเลเซอร์ การฉายแสงเลเซอร์ลงบนจอประสาทตาส่วนที่มีพยาธิสภาพ จะยับยั้งหรือชะลอเส้นเลือดผิดปรกติที่ทำให้เกิดเลือดออกใต้จอประสาทตาได้ แม้ว่าจะไม่สามารถทำให้การมองเห็นที่เสียไปกลับคืนมา หรือรักษาโรคให้หายขาดได้ แต่สามารถช่วยคงสภาพการมองเห็นให้เหลือไว้ได้มากกว่าการที่ไม่ได้รับการรักษาเลย


ปัจจุบันการรักษาโรคจอประสาทตาเสื่อมแบบเปียกด้วยแสงเลเซอร์
มี 2 วิธี คือ

วิธีแรก เรียกว่า Laser Photocoagulation เป็นการฉายแสงเลเซอร์ ที่ก่อให้เกิดความร้อนขึ้นจนยับยั้งหรือชะลอการลุกลามของเส้นเลือดที่ผิดปรกติใต้จอประสาทตาได้ ส่วนของจอประสาทตาที่โดนแสงเลเซอร์แบบนี้ จะถูกความร้อนทำลายไปด้วย กลายเป็นแผลเป็น ทำให้เกิดเป็นจุดมืดดำอย่างถาวร การมองเห็นจะลดลงทันทีหลังการรักษา แต่โดยทั่วไปแล้ว การสูญเสียการมองเห็นจะไม่รุนแรงเหมือนที่เกิดขึ้นเองจากโรคจอประสาทตาเสื่อมที่ไม่ได้การรักษาโดยการฉายแสงเลเซอร์

วิธีที่สอง เรียกว่า Photodynamic therapy ประกอบด้วยการฉีดยา ที่มีคุณสมบัติเป็น Photosensitizer เข้าทางเส้นเลือด ยาจะผ่านไปตามระบบไหลเวียนโลหิต และจับกับเซลล์ที่มีการแบ่งตัวที่ผนังหลอดเลือดที่ผิดปรกติใต้จอประสาทตา จากนั้นจึงฉายแสงเลเซอร์ที่ไม่ก่อให้เกิดความร้อนไปยังจุดที่จะรักษา ตัวยาจะทำปฏิกิริยากับแสงเลเซอร์ ที่ได้คำนวณระดับความเข้มข้นของยา และปริมาณแสงเลเซอร์ไว้ตั้งแต่แรก เพื่อให้เกิดปฏิกิริยาที่มากพอจะทำลายหลอดเลือดที่ผิดปรกติได้ โดยแทบไม่มีผลกระทบต่อจอประสาทตาบริเวณนั้น เหมือนการฉายแสงเลเซอร์แบบ Photocoagulation ทำให้หลังการรักษาคนไข้สามารถคงการมองเห็นได้เหมือนก่อนการฉายแสงเลเซอร์ ในบางรายที่โรคยังไม่รุนแรงมาก การมองเห็นที่ลดลงก่อนการรักษา อาจฟื้นขึ้นมาใกล้เคียงปรกติได้


การผ่าตัด Submacular surgery

เป็นการผ่าตัดน้ำวุ้นตา,จอประสาทตา เพื่อทำลายหรือนำเส้นเลือดที่ผิดปรกติออกจากใต้จอประสาทตา รวมทั้งแก้ไขภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ของโรค เช่น ภาวะเลือดออกใต้จอประสาทตา แม้ว่าผลการผ่าตัดจะดี แต่คนไข้ก็จะมีการมองเห็นลดลงหลังการรักษา เหมือนการฉายแสงเลเซอร์แบบ Photocoagulation


การพัฒนาการรักษา

ได้มีความพยายามที่จะพัฒนาวิธีการรักษาโรคจอประสาทตาเสื่อมให้ได้ผลดีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการรักษาทางยา เช่น มีการพัฒนายาใหม่ ที่มีคุณสมบัติ Photosensitizer ที่ให้ผลการรักษาดีกว่ายาที่ใช้ในปัจจุบัน
หรือการพัฒนายาที่เป็น Angiostasis ใช้ฉีดไปด้านหลังลูกตา ให้ผลในการยับยั้ง และรักษาโรคโดยไม่ต้องฉายแสงเลเซอร์ ในด้านการผ่าตัด ได้
มีวิธีการผ่าตัดย้ายจุดรับภาพบนจอประสาทตา (Macular translocation) การปลูกถ่ายเนื้อเยื่อชั้นเซลล์พี่เลี้ยงของจอประสาทตา
(RPE transplantation) แต่ยังมีข้อจำกัด และเกิดภาวะแทรกซ้อน หลังการผ่าตัดอยู่มาก ทำให้ยังต้องมีการปรับปรุงพัฒนาวิธีการรักษา เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดียิ่งขึ้น


แม้จะมีพัฒนาการด้านการรักษามากขึ้น แต่คนไข้ส่วนใหญ่ที่เป็นโรคจอประสาทตาเสื่อม ก็ยังสูญเสียการมองเห็นไม่มากก็น้อย และมักอยู่ในกลุ่มคนไข้ที่มีภาวะสายตาเลือนลาง (Low vision) ดังนั้นการให้คนไข้ปรับตัวได้กับภาวะสายตาเลือนลาง และหัดใช้เครื่องมือช่วยการมองเห็น (Low vision aid) จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้คนไข้สามารถใช้การมองเห็นที่เหลืออยู่ ช่วยให้สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างดีที่สุด






ขอบคุณข้อมูลความรู้จาก//www.eye.go.th/amd.html




 

Create Date : 26 กรกฎาคม 2552
7 comments
Last Update : 26 กรกฎาคม 2552 7:43:48 น.
Counter : 2427 Pageviews.

 

คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ...

 

โดย: ไก่ย่างถูกเผามันจะถูกไม้เสียบ 26 กรกฎาคม 2552 8:41:31 น.  

 

แวะมาเยี่ยมคะคุณกบ

สบายดีนะค่ะ
รักษาสุขภาพด้วยนะค่ะ
เป็นห่วงเสมอค่ะ

 

โดย: นู๋หญิงจ๋า 26 กรกฎาคม 2552 12:03:15 น.  

 

ดิฉันกลัวที่จะเป็นโรคนี้จังเมื่อวานแต่งหน้าเจ้าสาวตอนตีสามมีความรู้สึกว่าต้องเพ่งมากๆไม่เหมือนเมื่อก่อน
แวะมาทักทายค่ะคุณกบมีความสุขมากๆค่ะระลึกถึงเสมอค่ะ
คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ...

 

โดย: เกศสุริยง 26 กรกฎาคม 2552 21:46:32 น.  

 

เป็นข้อมูลที่ดีมาก ๆ ค่ะ และหนี่ฯ ก้อสบายดีค่ะ --พักผ่อนหลับฝันดีนะคะ จุ๊บ ๆ

 

โดย: หนี่หนีหนี้ (แพรวขวัญ ) 26 กรกฎาคม 2552 22:17:44 น.  

 

คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ...

emoemoemo



แวะมาทักทายกันวันจันทร์สุดท้ายของสัปดาห์จ้า
โรคภัยไข้เจ็บเกิดจากวิบากกรรมค่ะคุณกบ
ขอให้สุขภาพแข็งแรงไม่เจ็บไข้ด้วยอานิสงส์ของวิทยาทานนะคะ

 

โดย: หอมกร 27 กรกฎาคม 2552 8:48:13 น.  

 

สวัสดีวันจันทร์ค่ะคุณกบ
เข้ามาที่นี่ก็ได้รับความรู้ใกล้ตัวกลับไปทุกทีเลย
รักษาสุขภาพค่ะ มีความสุขมากๆนะคะ

 

โดย: busabap 27 กรกฎาคม 2552 15:39:13 น.  

 

บล็อกมีประโยชน์มากค่ะ เดี๋ยววันหลังจะมาอ่านใหม่ค่ะ

แสงเดือนขอบคุณมากนะคะที่ไปแสดงความยินดีกับแสงเดือนค่ะ

 

โดย: Sangduan (macdreamnurse ) 27 กรกฎาคม 2552 23:27:03 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


kobnon
Location :
นนทบุรี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 92 คน [?]




.
สาระน่ารู้ประจำวัน
1.โรคข้อสันหลังอักเสบติดยึด
2. บุหรี่ ทำนมยาน หูตึง
3. Upside down pineapple cake


music
Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2552
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
26 กรกฏาคม 2552
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add kobnon's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.