Group Blog
 
All Blogs
 

คุณพ่อ Full Time

โดยปกติเราๆท่านๆมักคุ้นชินว่า การดูแลเลี้ยงลูก รวมถึงทำงานบ้าน คือบทบาท หน้าที่ของฝ่ายหญิง ผู้เป็นแม่ ส่วนฝ่ายชาย หรือคนเป็นพ่อทำหน้าที่หาเลี้ยงครอบครัว ทำมาหากิน วิ่งเต้นอยู่ภายนอกบ้าน

แม้ว่าครอบครัวยุคใหม่ พ่อแม่จะออกไปทำงานหาเงินเลี้ยงชีพด้วยกันทั้งคู่ ทิ้งลูกน้อยให้อยู่ในการดูแล เลี้ยงดูของปู่ย่า ตายาย ญาติพี่น้อง หรือฝากไว้ตามสถานที่รับเลี้ยงเด็ก แต่เมื่อกลับมาจากที่ทำงานในตอนเย็นบทบาทเลี้ยงดูลูก ยังคงตกหนักอยู่ที่ฝ่ายหญิง

ในสังคมโลกตะวันตก ปรากฏการณ์ดังกล่าวกำลัง เปลี่ยนไป

ช่วงไม่กี่ปีนี้ กระแสของ Stay-At-Home Dad กำลังมาแรงครับ

เทรนด์ใหม่นี้ เป็นการสลับบทบาท หน้าที่ ของพ่อบ้านและแม่บ้าน

ผู้ชายจำนวนไม่น้อยสมัครใจเป็นคุณพ่อเต็มเวลา...นั่นคือ อยู่บ้านเลี้ยงลูก รวมทั้งทำงานบ้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการหุงหาอาหาร ทำความสะอาด ซักรีดเสื้อผ้า ฯลฯ ส่วนฝ่ายหญิงออกไปทำงานนอกบ้าน เพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัว

จากการวิจัยของ The Australian Institute of Family Studies พบว่าการสลับบทบาท หน้าที่ในครัวเรือนมีเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 3 เท่าตัวเลยทีเดียว ปริมาณที่มากขึ้นไม่ได้เกิดเฉพาะในประเทศออสเตรเลียนะครับ แม้แต่ในประเทศอังกฤษ อเมริกา รวมถึงประเทศในซีกโลกตะวันตกอีกหลายแห่งล้วนแต่มีสถิติไม่แตกต่างกันมากนัก

เพื่อนชาวออสซี่ของผมคนหนึ่งชื่อ Tim เป็นหนึ่งในกลุ่ม Stay-At-Home Dad แต่เดิมเขาทำงานในสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง ส่วนแฟนทำงานในธุรกิจโฆษณา หลังจากมีลูก Tim ตัดสินใจลาออกจากงาน อยู่บ้านเพื่อเลี้ยงลูกเต็มเวลา ส่วนแฟนของเขาหลังลาคลอด เธอกลับไปทำงานที่เดิม

Tim เล่าให้ฟังว่า เหตุที่ตัดสินใจลาออกจากงานมาเลี้ยงลูก แทนที่จะให้แฟนลาออกมาเลี้ยงลูกเหมือนค่านิยมเก่าๆ เพราะเงินเดือนค่าตอบแทนของแฟนสูงมากกว่าของเขา แล้วเขายังต้องการอยู่ใกล้ชิด และเลี้ยงดูลูกเอง ไม่อยากจะฝากลูกให้คนอื่นเลี้ยง

“ผมไม่เคยพลาดการเห็นพัฒนาการของลูกเลย ไม่ว่าจะเป็นการยิ้มครั้งแรกของเขา การคลาน การเดินหรือแม้แต่การวิ่ง มันมีค่ามากกว่าเม็ดเงินเยอะนะ ผมมีความสุขมากเวลาอยู่กับลูก...”

คุณพ่อเต็มเวลาหลายคน ไม่เพียงแต่เลี้ยงลูก พวกเขายังทำธุรกิจ หรือทำงานในบ้านด้วย เรียกว่าเปลี่ยนบ้านให้เป็นทั้งโรงเลี้ยงเด็ก บวก Home office

อย่าง Frank เพื่อนของ Tim เดิมทำงานเป็นสถาปนิกในบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง หลังจากภรรยาตั้งครรภ์ได้ 4 เดือน เขาลาออกจากงาน ตกแต่งบางส่วนของบ้านทำเป็นออฟฟิต รับงานออกแบบมาทำที่บ้าน เมื่อภรรยาคลอดลูกและกลับไปทำงาน Frank รับหน้าที่เลี้ยงลูก พร้อมๆกับทำงานออกแบบในบ้านของเขา

บางครอบครัว ฝ่ายชายแม้จะไม่ลาออกจากงานมาทำหน้าที่เลี้ยงลูกเต็มเวลาทุกวัน แต่ใช้วิธีสลับกันหยุดงานกับฝ่ายหญิง เพื่อทำหน้าที่พ่อและแม่อย่างเต็มเวลา ประเภทว่า สามีทำงานเต็มเวลาในวันจันทร์ พุธ ศุกร์ ภรรยาทำงานเต็มเวลาในวันอังคาร พฤหัสฯ เสาร์ วันที่ไม่ได้ทำงานจะอยู่บ้านเลี้ยงดูลูก เป็นต้น อ้อ...ที่เขาแบ่งสลับกันหยุดงานได้ เพราะบริษัทหลายแห่งในออสเตรเลียเขาอนุญาตนะครับ

ถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะตั้งคำถามในใจว่า เอ...แล้วอย่างนี้เด็กที่มีพ่อเลี้ยงดูแทนแม่ โตขึ้นมาจะมีปัญหาอะไรไหม

เรื่องนี้หายห่วงได้เลยครับ เพราะมีการศึกษาวิจัยโดย Yale University พบว่า เด็กที่มีพ่อช่วยเลี้ยงดูจะมีคะแนนสอบของ IQ Test ดีกว่าเด็กที่มีแม่เลี้ยงดูเพียงคนเดียว

นอกจากนั้น ยังมีการวิจัยอีกชุดหนึ่งชี้ชัดว่า เด็กทารกซึ่งได้รับการเลี้ยงดูจากแม่อย่างเต็มเวลา ส่วนพ่อไปทำงานนอกบ้าน หากเด็กเกิดเจ็บป่วย หรือฝันร้ายขึ้นมากลางดึก ร้อยละ 80 จะเดินไปหาแม่ หรือร้องเรียกหาแม่ อีกร้อยละ 20 จะเดินหรือร้องเรียกหาพ่อ

สำหรับเด็กที่มีพ่อดูแลเลี้ยงดูเต็มเวลา ส่วนแม่ออกไปทำงานนอกบ้าน เด็กจะเดินไปหาหรือร้องเรียกหาพ่อและแม่ในเปอร์เซ็นต์ที่เท่าๆกัน

หมายความว่า เด็กนอกจากจะต้องการความรัก ความเข้าใจ ความอบอุ่น ความใกล้ชิดจากแม่แล้ว เขายังต้องการจากผู้เป็นพ่อไม่ได้ยิ่งหย่อนกว่ากัน

ถึงตรงนี้ แม้ว่าเมืองไทย การเป็น Stay-At-Home Dad จะยังเป็นเรื่องแปลกใหม่ และเป็นเรื่องยาก มีน้อยคนจะกล้าทำ ทั้งด้วยเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ หรือทางวัฒนธรรม แต่อย่างน้อย คุณพ่อทั้งหลายน่าจะปลีกเวลาจากการทำงาน กลับมาช่วยคุณแม่เลี้ยงดูลูก หรือช่วยทำงานบ้าน น่าจะดีกว่าทุ่มเวลาหาเงิน หรือเฮฮาสนุกสนานกับเพื่อนฝูงจนละเลยลูกเมียที่บ้าน

ครับ...มาทำเพื่อลูก เพื่อครอบครัวกันเถอะ

........................................................................................................
บทความนี้ผมเขียนลง ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Mother & Care ฉบับที่ 8 เดือน สิงหาคม 2548




 

Create Date : 15 ธันวาคม 2550    
Last Update : 15 ธันวาคม 2550 10:08:23 น.
Counter : 948 Pageviews.  

คุยเรื่องนมแม่

ในฐานะของพ่อลูกอ่อน ทุกครั้งที่เห็นหญิงสาวคู่ชีวิตให้นมเจ้าตัวเล็ก ผมอดจะชื่นชมในความยิ่งใหญ่ของความเป็นแม่เสียไม่ได้

เนื่องเพราะน้ำนมแม่ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่อาหารทิพย์เปี่ยมด้วยคุณค่าทางอาหารเท่านั้น หากแต่มันคือหยดน้ำแห่งความรักกลั่นรินไหลจากอกแม่สู่ลูกน้อย

ด้วยความวิเศษของนมแม่นี่เอง ทำให้รัฐบาลของหลายๆประเทศพยายามรณรงค์ให้คุณแม่ลูกอ่อนหันกลับมาใช้นมแม่เป็นอาหารทารกให้ยาวนานที่สุด เพราะหลักการแพทย์พิสูจน์แน่ชัดแล้วว่า นมแม่คืออาหารดีที่สุดสำหรับทารก นอกจากคุณค่าทางอาหารแล้วยังมีสารภูมิคุ้มกันโรคภัยหลากชนิดที่หาไม่ได้ในนมกระป๋อง

อย่างในออสเตรเลีย รัฐบาลจิงโจ้พยายามรณรงค์ให้ใช้นมแม่เป็นอาหารทารกอย่างน้อย 6 เดือน และนัยว่าจะขยายโครงการรณรงค์เป็น 1 ปี

นั่นเพราะเขาตระหนักว่า ยิ่งให้นมแม่นานแค่ไหน คุณภาพของประชากรจะดียิ่งขึ้น

นอกจากนี้รัฐบาลออสเตรเลียยังมีกฎหมายอนุญาตแม่ลูกอ่อนสามารถเปิดหน้าอกให้นมลูกดูดในที่สาธารณะได้

ใครห้ามแม่ลูกอ่อนให้นมลูกมีโทษตามกฎหมาย Anti-discrimination laws เชียวนะครับ

แต่ถึงกระนั้น ยังมีคนออสซี่จำนวนไม่น้อย (แหะ...แหะ...ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชายครับ) ดูถูกเหยียดหยาม หรือตะขิดตะขวงใจกับการให้นมของแม่ลูกอ่อนในที่สาธารณะ

เชื่อไหมครับ เคยมีคุณแม่ออสซี่บางคนถูกเชิญออกจากร้านอาหาร หรือถูกไล่ลงจากรถเมล์ เนื่องจากเปิดหน้าอกให้นมลูกในที่สาธารณะ

นักการเมืองหญิง นักแสดง หลายคนเคยประกาศจุดยืนเรื่องการให้นมลูกในที่สาธารณะผ่านทางจอทีวีมาแล้ว

หลายปีก่อนนักการเมืองหญิงชาวออสซี่คนหนึ่งชื่อ Kirstie Marshall เคยจุดประเด็นนี้มาแล้ว เมื่อเธอนั่งให้นมลูกดูดอย่างเปิดเผยกลางการประชุมสภาในรัฐวิคตอเรีย ทำให้เหล่านักการเมืองชายหลายคนอึกอัก ออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันมากมาย

นักแสดงแม่ลูกอ่อนชาวออสซี่บางคนถึงกับโชว์การให้นมลูกสดๆผ่านจอทีวีขณะให้สัมภาษณ์ สร้างความฮือฮาเป็นประเด็นนาครสนทนาทั่วประเทศ

พูดถึงการให้นมแม่กับทารก โรงพยาบาลในเมืองไทยหลายแห่งยังใช้วิธีป้อนนมกระป๋องแก่ทารกเพิ่งคลอด แต่ในออสเตรเลีย การให้นมกระป๋องแก่เด็กแรกเกิดเป็นเรื่องใหญ่มาก พยาบาลจะไม่ยอมให้นมกระป๋องแก่ทารก แม้ว่าเบบี๋จะร้องไห้ดังลั่นนานเพียงใดก็ตาม ยกเว้นว่าแม่ของเด็กจะร้องขอนมผง พร้อมทั้งเซ็นต์ชื่อยินยอมการใช้นมผงแก่ทารกก่อนเท่านั้น

ทุกวันที่อยู่ในโรงพยาบาลแดนจิงโจ้ พยาบาลจะพยายามสอน เคี่ยวเข็ญ พร้อมทั้งให้กำลังใจแม่และทารกให้เรียนรู้เรื่องการดูดนมแม่

ตอนแรกผมยังเข้าใจผิด คิดว่าเบบี๋คงรู้จักวิธีดูดนมแม่ด้วยตัวเอง ผมนึกว่ามันเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ แต่พยาบาลช่วยไขความกระจ่างแก่ผมว่า ทั้งแม่และเด็กต่างต้องเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

อย่างเจ้าตัวเล็กของผมตอนแรกไม่สามารถดูดนมแม่ได้เอง เพราะเขาชอบเอาลิ้นดุนขึ้นเหนือหัวนมแม่ ทำให้ดูดเท่าไหร่ก็ไม่มีน้ำนมไหลผ่านปาก พยาบาลเธอแนะว่าให้แม่ค่อยๆสอนลูกด้วยการใช้นิ้วเขี่ยปากลูกขึ้นลงเบาๆ ก่อนจะสอดนิ้วเข้าไปกดลิ้นลูก ให้ลูกดูดนิ้วก่อนจะใช้หัวนมแม่แทนนิ้ว

ส่วนคนเป็นแม่นั้นต้องเรียนรู้วิธีให้นมลูก ทั้งท่านั่ง ท่าอุ้มลูก ท่าป้อนนม ซึ่งดูเหมือนง่าย แต่สำหรับคุณแม่มือใหม่การโอบอุ้มทารกแรกเกิดตัวเล็กๆอ่อนปวกเปียกเอาไว้แนบอก พร้อมป้อนนมลูกไปด้วยล้วนเป็นทักษะที่ต้องฝึกฝนให้ชำนาญ

แล้วคนเป็นพ่อละ ทำอะไรได้บ้าง...

สำหรับบทบาทของคุณพ่อในเรื่องการให้นมลูก พยาบาลชาวออสซี่แนะนำว่า...

“แม่จะให้นมลูกด้วยน้ำนมตัวเองได้ยาวนานแค่ไหนนั้น คนเป็นพ่อมีส่วนช่วยสำคัญมาก โดยเฉพาะเรื่องการให้กำลังใจ”

ดังนั้น คนเป็นพ่อนอกจากจะต้องพูดให้กำลังใจกับแม่ลูกอ่อนแล้ว ยังควรช่วยเหลืองานบ้าน ช่วยอุ้มลูกเรอนม กล่อมลูกนอน ฯลฯ เพื่อให้แม่มีเวลาพักผ่อนให้มากขึ้น

และที่สำคัญอีกอย่าง คือการเรียนรู้เรื่องการช่วยคุณแม่รีดนมที่คัดเต้า !

โดยช่วยประคบน้ำร้อนที่หน้าอก แล้วใช้มือช่วยรีดส่วนที่คัด ให้น้ำนมไหลออกมา หากยังไม่ออกอีกอาจจะต้องช่วยดูดน้ำนมส่วนที่คัดออกมาด้วย

ไม่เช่นนั้น คุณแม่ลูกอ่อนจะปวดเจ็บหน้าอก และอาจมีอาการเต้านมอักเสบ

การให้นมแม่ อาหารทิพย์ แก่ลูกน้อยให้ได้ผลยาวนาน จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งพ่อ แม่ และลูก

อย่าปล่อยให้บทบาทนี้ตกหนักอยู่แค่คนเป็นแม่เลยนะครับ

........................................................................................................
บทความนี้ผมเขียนลง ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Mother & Care ฉบับที่ 7 เดือน กรกฎาคม 2548




 

Create Date : 14 ธันวาคม 2550    
Last Update : 14 ธันวาคม 2550 17:02:07 น.
Counter : 776 Pageviews.  

Birth Story… เหตุเกิดในห้องคลอด

ช่วงที่หญิงสาวข้างกายของผมอุ้มท้องเจ้าตัวน้อยอยู่นั้น ผมชอบอ่านเรื่องประสบการณ์จริงเกี่ยวกับการคลอด หรือที่เรียกกันว่า Birth Story ในหนังสือนิตยสารประเภทแม่ๆลูกๆ ของออสเตรเลียมากๆ ประเภทซื้อนิตยสารมาปุ๊บ ต้องพลิกหาอ่านประสบการณ์จริงเหล่านี้ทันที

ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะผมและคู่ชีวิตล้วนเป็นมือใหม่ ไม่รู้ประสีประสาเรื่องการตั้งครรภ์...การคลอด อีกทั้งยังอยู่ห่างไกลจากบ้านเกิด Birth Storyเหล่านี้พอจะทำให้ผมอุ่นใจ คาดเดาเหตุการณ์ในห้องคลอดแดนออสซี่ได้บ้าง

และแล้ว Birth Storyของ “สายน้ำ”...เทวดาตัวน้อยของครอบครัวผมเปิดฉากขึ้น เมื่ออายุครรภ์ได้ 38สัปดาห์เศษ ในคืนวันที่ 21 เมษายน ระหว่างพักผ่อนดูโทรทัศน์ สาวข้างกายของผมเดินอุ้มท้องโย้ออกมาจากห้องน้ำ พูดด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นว่า มีเลือดไหลออกมาจากช่องคลอด แต่เลือดนั้นสีออกชมพูแดงมากกว่าสีแดงสด และไหลออกมาไม่มากนัก

ผมมือไม้สั่นรีบพลิกคู่มือการตั้งครรภ์หลายเล่ม จึงพอคาดเดาอาการได้ว่านั่นคงเป็น “มูกเลือด” หรือ The show บ่งบอกให้รู้ว่าพร้อมจะคลอดได้ตั้งแต่คืนนั้นหรืออาจจะรอนานถึงสองสามอาทิตย์ แต่เพื่อความแน่ใจผมรีบโทรศัพท์ไปสอบถามที่ฝ่ายคลอดของโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่เธอยืนยันตามตำรา บอกให้พวกเราใจเย็นๆ หากมีอาการปวดท้องค่อยโทรศัพท์มาใหม่อีกครั้ง คืนนั้นผ่านพ้นไปโดยปราศจากการปวดท้องคลอด

วันรุ่งขึ้นแม้ว่าสาวท้องโตคู่ชีวิตของผมจะมีมูกเลือดออกมาบ้าง แต่เธอยังแข็งแรง ไม่มีสัญญาณอาการใกล้คลอดอย่างอื่นมารบกวน จนกระทั่งตกดึกประมาณตีสองของวันที่ 23 เมษายน สาวข้างกายปลุกผมขึ้นมาบอกว่าเจ็บท้องมาก

ผมตั้งสติ นึกทบทวนสิ่งที่เรียนรู้มาจากหลักสูตรอบรมว่าที่คุณพ่อคุณแม่ เกี่ยวกับการคลอด

อืม...อย่างแรก ต้องจับเวลาการเจ็บท้องคลอด ดูว่าเป็นการเจ็บท้องสม่ำเสมอหรือเปล่า ถ้าไม่สม่ำเสมอ แสดงว่ายังเป็นการเจ็บท้องหลอก

แต่เมื่อจับเวลาดูปรากฏว่าเธอเจ็บท้องถี่สม่ำเสมอ แทบจะทุก 5 นาทีเจ็บครั้งหนึ่ง ผมรอจับเวลาให้แน่นอนจนถึงตี 4 ถึงโทรศัพท์ไปห้องคลอดของโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่บอกว่าน่าจะเป็นอาการคลอด ให้รออีกสักสองชั่วโมงค่อยโทรศัพท์มาอีกครั้ง ช่วงนี้ให้บรรเทาอาการเจ็บของคนท้องไปก่อน

ครับ...ระบบของออสเตรเลียเขาให้คนท้องรออยู่บ้านให้นานที่สุดจนใกล้คลอดถึงมาโรงพยาบาล แหม๋...นี่ถ้าอยู่เมืองไทย ผมคงพาคู่ชีวิตไปนอนรออยู่ในโรงพยาบาลตั้งแต่เริ่มเจ็บท้องแล้วละครับ

ระหว่างรอ ผมรีบจัดเก็บเตรียมข้าวของสำหรับไปโรงพยาบาล พร้อมทั้งจับเวลาความถี่ของการเจ็บท้อง ผลคือเจ็บท้องทุก 4-5 นาที และเจ็บนาน 45-60 วินาที

พอ 6 โมงเช้าปุ๊บ ผมรีบโทรศัพท์ไปที่ห้องคลอดอีกครั้ง เจ้าหน้าที่บอกว่าสามารถพาคนท้องมาโรงพยาบาลได้ทุกเมื่อ ผมเลยโทรศัพท์หาเพื่อนให้ช่วยขับรถมารับไปโรงพยาบาล

พวกเราไปถึงโรงพยาบาลตอน 7 โมงเช้า การตรวจขั้นตอนแรกนั้น เจ้าหน้าที่ผดุงครรภ์ หรือ Midwife ใช้เครื่องมือตรวจจังหวะการเต้นของหัวใจทารกในครรภ์ และความถี่การบีบรัดของมดลูก ผลคือหัวใจเต้นเป็นจังหวะปกติ คงเพราะเจ้าตัวเล็กในท้องนอนหลับ ไม่รับรู้ถึงอาการบีบรัดของมดลูก หรือความเจ็บปวดของแม่เลย Midwife ต้องให้ดื่มน้ำส้มกระตุ้นให้เจ้าหนูตื่นเพื่อดูจังหวะการเต้นของหัวใจ ผลคือทุกอย่างปกติ เป็นไปตามขั้นตอนการคลอด ปากช่องคลอดของคู่ชีวิตผมเปิดเพียงแค่ 3 ซม.

Midwife ถามว่าอยากจะกลับบ้านก่อนแล้วมาใหม่ หรือจะนอนรอที่โรงพยาบาล พวกเรารีบบอกว่ารอที่โรงพยาบาลดีกว่า แหะ...แหะ...ใกล้หมออุ่นใจกว่าเยอะ Midwife เลยพาพวกเราไปนอนรอที่ห้องคลอด

ห้องคลอดที่นี่กว้างขวางใหญ่ใหญ่โตมากๆ มีห้องน้ำในตัว ในห้องน้ำมีทั้งอ่างอาบน้ำ ทั้งฝักบัวให้คนท้องใช้บรรเทาความเจ็บปวด บรรยากาศดูเหมือนห้องพักในโรงแรมหรูมากกว่าโรงพยาบาล

หลังจากแนะนำอุปกรณ์ต่างๆในห้องคลอด Midwife ปล่อยให้เราอยู่กันตามลำพังในห้องคลอดใหญ่ โดยบอกว่าจะแวะมาดูอยู่เรื่อยๆ หากต้องการความช่วยเหลือใดๆให้กดปุ่มเรียกได้ตลอด

เออ...ผมนึกว่า หมอหรือ Midwife จะต้องอยู่กับคนท้องในห้องคลอดตลอดเวลาเสียอีก

คู่ชีวิตของผมเจ็บท้องมากขึ้นเรื่อยๆ ก๊าซดมบรรเทาความเจ็บปวดซึ่งต่อสายไว้ข้างเตียงช่วยบรรเทาความเจ็บได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น เมื่อเวลาผ่านมาได้เกือบ 10 โมงเช้า ปากมดลูกเปิดเพียง 4 ซม. ผมบอกคู่ชีวิตว่าถ้าทนไม่ไหวให้ใช้ยาชาบล็อกหลังที่เรียกว่า Epidural ดีกว่า

ครับ...ที่นี่ถ้าเราไม่เรียกขอยาแก้ปวด เขาจะไม่ให้ เพราะมีคุณแม่ออสซี่จำนวนมากต้องการคลอดแบบธรรมชาติ ไม่รับยาแก้ปวดใดๆ นัยว่า...ต้องการรับรู้รสซึ้งของความเป็นแม่ให้เต็มเปี่ยม

เมื่อ Midwife แวะเข้ามาตรวจอีกครั้ง พวกเราบอกขอยา Epidural เจ้าหน้าที่จึงไปตามหมอผู้เชี่ยวชาญมาเจาะบล็อกหลัง หมอที่มาเป็นคงเป็นมือใหม่ เพราะมีหมอผู้เชี่ยวชาญอีกคนมาคอยตรวจดูตลอดที่เธอทำงาน และด้วยความมือใหม่นี่เองทำให้เจาะข้อพับมือให้ยาชาผิดเสียสองเข็ม เลือดงี้หยดไหลออกมาเปื้อนเสื้อเลย พอถึงช่วงเจาะหลังยังต้องใช้ข็มยาวเหยียดแทงเข้าไปสู่กระดูกสันหลังถึงสองครั้ง เห็นแล้วอดเสียวแทนไม่ได้

ยา Epidural ทำงานดีมากครับ หลังจากให้ยาไม่นาน ขาเริ่มชา ช่วงล่างไม่รับรู้ความรู้สึกใดๆ คู่ชีวิตของผมสามารถนอนพักได้ หลังจากอดนอน ทนเจ็บมาทั้งคืน

ช่วงใกล้เที่ยง Midwife มาตรวจ ปากช่องคลอดเปิดเพิ่มอีกเพียง 1 ซม.เท่านั้น คงเนื่องจากผลของยาชาทำให้การคลอดไม่คืบหน้ามากนัก ช่วงนี้คนท้องนอนพักได้สบายๆ ไม่เจ็บปวดเหมือนก่อน แต่พอยาหมดฤทธิ์ จะเจ็บมาก ปวดดิ้นไปมา จนต้องขอยาเพิ่ม ปัญหาในตอนนี้คือปากมดลูกคงไว้แค่ 5 ซม. ไม่ขยายเพิ่มแต่อย่างไร

Midwife พยายามแก้ปัญหา เพิ่มยาบางอย่างให้เพื่อให้การคลอดคืบหน้า จนกระทั่งประมาณทุ่มเศษ Midwife บอกว่าถ้าผลการคลอดไม่พัฒนาอาจจะต้องปรึกษาว่าจะต้องใช้วิธีการคลอดอื่น นั่นอาจจะหมายถึงการผ่าคลอดนั่นเอง

ระหว่างรอคลอด ผมได้ยินเสียงคุณแม่ห้องคลอดอื่นๆส่งเสียงร้อง และต่อมาได้ยินเสียงเด็กร้องเป็นระยะๆ ผมได้แต่นั่งๆเดินๆไปมารอว่าเมื่อไหร่จะได้อุ้ม ได้เชยชมเจ้าตัวน้อยเหมือนคนอื่นๆบ้าง

โชคดีว่า ตอนประมาณ 3 ทุ่มเศษ ปากช่องคลอดของคู่ชีวิตผมขยายครบ 10 ซม.อย่างรวดเร็ว Midwife เลยลดยา Epidural เพื่อให้มีลมเบ่ง ตอนเบ่งคลอดเธอเจ็บปวดมากๆ เสียงร้องเจ็บปวดทำให้ผมน้ำตาซึม ได้แต่ปลอบและให้กำลังใจ เธอเบ่งอยู่เกือบ 2 ชั่วโมงเศษ กว่าผมจะเห็นปลายผมของลูกน้อยเคลื่อนผ่านช่องคลอดของแม่ หลังจากทนเจ็บเบ่งคลอดอีกหลายครั้ง ผมเห็นหัวน้อยๆโผล่ออกมาทีละน้อย ก่อนแขนขาจะขยับยื่นออกมา

และแล้วเมื่อเวลา 11.26 น. ของวันที่ 23 เมษายน เจ้าเทวดาตัวน้อยของครอบครัวผมคลอดออกมาสู่โลกกว้างด้วยน้ำหนัก 3.265 กิโลกรัม ยาว 49.5 ซม. หลังจากแม่ต้องทนเจ็บท้องอยู่กว่ายี่สิบชั่วโมง

เสียงร้องไห้ดังลั่น นับว่าเป็นเสียงทิพย์ที่พ่อแม่อยากได้ยินมากที่สุด หลังจากรอคอยมากว่า 8 เดือน

........................................................................................................
บทความนี้ผมเขียนลง ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Mother & Care ฉบับที่ 6 เดือน มิถุนายน 2548




 

Create Date : 14 ธันวาคม 2550    
Last Update : 14 ธันวาคม 2550 12:11:09 น.
Counter : 1345 Pageviews.  

กองหนุนวันคลอด

ในอดีต...การคลอดลูกตามโรงพยาบาลของไทยนั้น ว่าที่คุณแม่ทั้งหลายต้องเผชิญหน้ากับความหวาดวิตก ต้องทนสู้กับความเจ็บปวดแสนสาหัสแต่เพียงลำพังในห้องคลอด ห่างไกลคนใกล้ชิด มีเพียงนางพยาบาลและหมอแปลกหน้ารุมล้อมสั่งให้ทำโน่น ทำนี่ วุ่นวายไปหมด

ส่วนสามี ญาติมิตร ทำได้เพียงเฝ้ารอ เดินกระวนกระวายใจไปมาอยู่หน้าห้องคลอด พอเห็นใครเดินเข้าออกจากห้องคลอด เป็นได้ถลาเข้าสอบถามความคืบหน้าในการคลอดอย่างลุ้นระทึก

แต่ปัจจุบัน...โรงพยาบาลหลายแห่งในเมืองไทย อนุญาตให้ว่าที่คุณพ่อสามารถอยู่ร่วมให้กำลังใจภรรยาในห้องคลอด

ถือได้ว่า ให้สามีมาลุ้น มาเชียร์ภรรยาคลอดลูกอย่างใกล้ชิด ชนิดติดขอบสนามกันเลย

สำหรับประเทศออสเตรเลียและอีกหลายประเทศในซีกโลกตะวันตก เขาไม่เพียงแต่อนุญาตให้สามีอยู่ให้กำลังใจภรรยาในการคลอดลูกเท่านั้นนะครับ แต่ยังอนุญาตให้บุคคลอื่นอยู่ร่วมในห้องคลอดได้ด้วย

สาวออสซี่บางคนให้แม่มาอยู่ด้วย เพราะภาวะตึงเครียดเจ็บปวดเช่นนี้ แม่ของเธอเคยผ่านประสบการณ์มาแล้ว อีกทั้งแม่ยังรักเธอปานดวงใจ เมื่อมีแม่มาอยู่ใกล้ชิดในช่วงคลอด เธอย่อมผ่อนวิตกไปได้บ้าง

บางคนเลือกญาติพี่น้องเพื่อนฝูงผู้ผ่านประสบการณ์การคลอดลูกมาได้ไม่นาน ให้มาอยู่ในห้องคลอดด้วยหวังให้เธอเหล่านั้นถ่ายทอดประสบการณ์ บอกเล่า ย้ำเตือนให้ทำสิ่งนั้นสิ่งนี้

บางคนเลือกจ้างผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการคลอด ให้มาเป็นโค้ชตลอดช่วงการคลอดของเธอ !

ส่วนใหญ่ผู้ทำหน้าที่ “โค้ชการคลอดลูก” จะเป็นผดุงครรภ์ มีประสบการณ์การคลอดมานาน

ยิ่งมีประสบการณ์มาก คิวจองให้เป็นโค้ชยิ่งยาวหยียด

ว่าที่คุณแม่บางคนพอรู้ตัวว่าท้องปุ๊บยังไม่ได้ไปหาหมอเพื่อฝากครรภ์ตามโรงพยาบาล ก็เริ่มจองคิวโค้ชการคลอดชื่อดังทันที นัยว่ายอมเสียเงินเพิ่มเพื่อมีที่ปรึกษาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการคลอดเอาไว้เป็นการส่วนตัว มีปัญหาหนักใจอะไรในช่วงตั้งครรภ์ เธอสามารถกริ๊งกร๊างไปสอบถามได้ทันที ยิ่งวันสำคัญ ในวันคลอดลูก มีโค้ชอยู่ใกล้ๆ ยิ่งทำให้อุ่นใจคลายเครียดไปได้เยอะ

ผู้อยู่ร่วมให้กำลังใจในห้องคลอดเหล่านี้ เรียกขานกันว่าเป็น “Support Person”

ถือว่าเป็นกองหนุนสำคัญในการคลอดลูกเลยทีเดียว

แน่นอนครับว่า กองหนุนคนแรกสุด ซึ่งสาวท้องโตอยากให้อยู่ใกล้ชิดด้วยคือ...
สามี ผู้ร่วมรังสรรค์ก่อเกิดเจ้าตัวน้อยในท้องนั่นเอง

แต่เชื่อไหมครับว่า ผู้ชายมาดแมน ว่าที่คุณพ่อจำนวนไม่น้อย กลัวห้องคลอด !

บางคนบ่ายเบี่ยงไม่ยอมอยู่ร่วมให้กำลังใจกับศรีภรรยาในห้องคลอด อ้างโน้นอ้างนี่

แต่จากการวิจัยของออสเตรเลีย พบว่ามูลเหตุแห่งการกลัวห้องคลอดมากที่สุดของชายออสซี่คือ กลัวทนเห็นความเจ็บปวดของภรรยาไม่ได้นั่นเอง เนื่องเพราะจิตสำนึกของฝ่ายชายจะคอยย้ำเตือนว่า เขานั่นแหละคือต้นเหตุทำให้หญิงอันเป็นที่รักต้องร้องโหยหวนเจ็บปวดปางตายเช่นนี้ อีกทั้งยังช่วยผ่อนคลายความเจ็บปวดของเธอไม่ได้อีกด้วย

มูลเหตุความกลัวอันดับต่อมา คือ กลัวว่าจะไม่สามารถรับกับสภาพกดดันในคลอด บางคนกลัวเลือด บางคนวิงเวียนกลิ่นยา ฯลฯ

สาเหตุอันดับต่อไปคือกลัวว่า ภรรยาและลูกน้อยจะพิการ หรือเสียชีวิต

เหตุแห่งความกลัวเหล่านี้พอจะแก้ไขได้ครับ

แพทย์และทีมผดุงครรภ์ของออสเตรเลียมักจะแนะนำว่าที่คุณพ่อให้เข้าเรียนในคอร์สเตรียมการคลอดร่วมกับภรรยา เพื่อให้เข้าใจถึงกระบวนการและขั้นตอนการคลอดว่ามีกี่ระยะ จะได้ไม่ตื่นตระหนก ตกใจเมื่อเผชิญกับสภาพความเป็นจริงในวันคลอด

อีกทั้งควรวางแผนการคลอดเขียน Birth Plan ร่วมกับภรรยา เรียนรู้และเข้าใจว่าภรรยาต้องการหรือไม่ต้องการอะไรในวันคลอด เพราะในวันคลอดจริงๆ ว่าที่คุณพ่ออาจจะต้องเป็นปากเป็นเสียงแทนภรรยาซึ่งนอนร้องโอดโอยไปมา

อันนี้ผมหมายถึงคุณพ่อในออสเตรเลียนะครับ ที่นี่เขาสามารถบอกหมอได้ว่าต้องการยาแก้ปวดแบบไหน หรือไม่ใช้ยาแก้ปวดเลย หรือต้องการบรรยากาศ ต้องการสภาพการคลอดแบบไหน แต่หากเป็นของไทย ทุกอย่างเราโยนภาระให้หมอตัดสินใจหมด

สำหรับบทบาทหลักๆของ กองหนุน หรือ “Support Person” คือการกระตุ้น ให้กำลังใจผู้คลอด คอยบริการตามความต้องการของผู้คลอด รวมถึงคอยบอกจังหวะหายใจผ่อนคลายความเจ็บปวด และบอกจังหวะการเบ่งคลอด

รางวัลอันยิ่งใหญ่ของ “Support Person” คือการได้ชื่นชมความน่ารักน่าชังของทารกตัวน้อยๆ

แต่สำหรับคุณพ่อนั้น รางวัลอีกอย่างคือการตัดสายสะดือลูกน้อย

อ้อ...แต่อย่าเป็นลมเพราะเห็นเลือดไปก่อนละครับ


........................................................................................................
บทความนี้ผมเขียนลง ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Mother & Care ฉบับที่ 5 เดือน พฤษภาคม 2548




 

Create Date : 14 ธันวาคม 2550    
Last Update : 14 ธันวาคม 2550 12:06:50 น.
Counter : 706 Pageviews.  

Birth Plan…วางแผนคลอด

หากหญิงสาวคู่ชีวิตของผมตั้งครรภ์ในเมืองไทย ภาระรับผิดชอบในการดูแลครรภ์ตลอดจนถึงการทำคลอดคงอยู่ในการตัดสินใจของสูติแพทย์ตามโรงพยาบาล

จะให้ผ่าคลอด เบ่งคลอด หรือคลอดท่าโน้น ท่านี้ คงขึ้นอยู่กับความเห็นของหมอเป็นหลัก

แต่เพราะพวกเราอยู่ต่างแดน ในแผ่นดินออสเตรเลีย ที่นี่เราต้องวางแผนตัดสินใจเรื่องการดูแลครรภ์ ตลอดจนถึงต้องวางแผนการคลอดกันเองครับ
เริ่มตั้งแต่วันแรกเมื่อไปโรงพยาบาลฝากครรภ์ หรือที่เรียกกันว่า Booking Visit กันเลย

วันนั้นหลังจากผดุงครรภ์สอบถาม ตรวจเช็ครายละเอียดข้อมูลสุขภาพเบื้องต้น เธอให้เราตัดสินใจเลือกว่าจะดูแลครรภ์แบบไหน

อย่างแรกคือ Midwives’ Clinics รูปแบบนี้ ผดุงครรภ์ (Midwife) จะดูแล ตรวจครรภ์เป็นหลัก หากมีปัญหาด้านการตั้งครรภ์จะมีทีมสูติแพทย์ในโรงพยาบาลคอยช่วยเหลือ ทีมแพทย์ดังกล่าวจะเป็นกองหนุนคอยช่วยเหลือในวันคลอดด้วย

อย่างที่สองคือ Birth Centre แบบนี้จะคล้ายกับรูปแบบแรกคือ ทีมผดุงครรภ์ (Midwife) จะเป็นหลักในการดูแลตลอดช่วงของการตั้งครรภ์ สิ่งที่แตกต่างคือจะคลอดใน Birth Centre ไม่ใช่ห้องคลอดของโรงพยาบาล ปรัชญาของ Birth Centre คือ เน้นการคลอดแบบธรรมชาติให้มากที่สุด ไม่ใช้ยาหรือเครื่องบรรเทาความเจ็บปวดใดๆมาช่วยเหลือ

อย่างที่สามคือ GP Shared Care Program รูปแบบนี้ถูกคิดค้นขึ้นมา เพื่อลดจำนวนผู้มาใช้บริการในโรงพยาบาล การดูแลครรภ์ในลักษณะนี้ ผู้ทำหน้าที่จะประกอบด้วย หมอ GP (General Practitioner) ที่ผ่านการอบรมจากโรงพยาบาลและเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล ถ้าเลือกรูปแบบนี้จะต้องไปหาหมอ GP ตรวจครรภ์ตามตารางนัดหมาย แต่บางสัปดาห์จะต้องมาที่โรงพยาบาลเพื่อตรวจผลรวมอีกครั้ง

อย่างสุดท้ายคือ Specialty Clinicsรูปแบบนี้ ทีมงานของสูติแพทย์จะคอยดูแลและเฝ้าระวังตลอดช่วงการตั้งครรภ์ แบบนี้เขาจัดให้เฉพาะคนตั้งครรภ์ผิดปกติครับ

หลังจากปรึกษากับสาวข้างกาย พวกเราตัดสินใจเลือกดูแลครรภ์แบบ Midwives’ Clinics เพราะเชื่อมั่นในประสบการณ์ของผดุงครรภ์และทีมสูติแพทย์ในโรงพยาบาลมากกว่าหมอ GP

อีกทั้งคู่ชีวิตของผมไม่อยากจะเจ็บท้องร้องโอดโอยให้มากมายนัก เธอกลัวจะเป็นแบบ “นางนาก” น่ะครับ เธอบอกว่าถ้าเริ่มเจ็บท้องมาก ให้ขอยาบรรเทาปวดเลย

เมื่อตัดสินใจเลือกดูแลครรภ์แบบนี้ ผมต้องพาหญิงท้องโย้มาตรวจที่โรงพยาบาลทุกเดือนจนอายุครรภ์ของเธอครบ 32 สัปดาห์ ถึงมาตรวจบ่อยขึ้นเป็น 2 สัปดาห์ครั้ง และในช่วงเดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์จะต้องมาตรวจทุกสัปดาห์

แต่การเลือกตัดสินใจของพวกเรายังไม่สิ้นสุดแค่นั้นนะครับ พอใกล้ๆกำหนดคลอด พวกเราได้รับการแนะนำจากผดุงครรภ์ว่าให้ทำ Birth Plan ล่วงหน้าเอาไว้ด้วย

Birth Plan คือการวางแผนรูปแบบการคลอด

ในออสเตรเลียและอีกหลายประเทศในโลกตะวันตก เขาเน้นให้สิทธิกับว่าที่คุณแม่ในการเลือกบรรยากาศ สภาพแวดล้อม รวมถึงหยูกยาในการบรรเทาความเจ็บปวดว่าต้องการอะไร เขาจะพยายามจัดให้ได้ตามความต้องการให้มากที่สุด

หากต้องการได้ยินเสียงเพลงเบาๆคลอในช่วงเจ็บท้องรอคลอด หรือต้องการฟังเพลงแจ๊ซ เพลงป๊อบ เพลงโปรดใดๆ ขอให้บอก เขาพร้อมจัดให้ว่าที่คุณแม่ผ่อนคลายให้มากที่สุด

หรืออยากลงไปแช่ในอ่างอาบน้ำอุ่นบรรเทาอาการปวดท้อง หรืออยากจะเดินโยกย้ายไปมาเพื่อลดทอนอาการปวด อยากเบ่งท้องคลอดท่านั้น ท่านี้

หรือต้องการให้ใครอยู่ร่วมในห้องคลอดบ้าง ต้องการใช้ยาแก้ปวดใดหรือไม่ ใช้ยาช่วงไหน หรือแม้แต่ต้องการให้ใครตัดสายสะดือลูก

ทุกอย่างสามารถเขียนลงไปใน Birth Plan ได้เลยครับ

แต่ไม่ใช่เขียนลงไปว่าต้องการผ่าคลอด วันเวลา เลขผานาทีนั้นนี้ตามคำโหราจารย์เหมือนเมืองไทยนะครับ ที่นี่เขาเน้นให้ว่าที่คุณแม่เบ่งคลอดตามธรรมชาติให้มากที่สุด ยกเว้นแต่ว่าจะมีเหตุสุดวิสัย หรือมีแนวโน้มว่าจะเกิดอันตรายต่อแม่หรือทารกในครรภ์ เขาจึงยอมผ่าคลอดให้

ผดุงครรภ์เธอแนะนำพวกเราว่า ให้พยายามคิดวางแผนและเขียน Birth Plan ให้ละเอียดที่สุด อย่างน้อยพอถึงวันจริงจะได้รู้ว่าควรทำอะไรก่อนหลัง

เมื่อเขียน Birth Plan เสร็จให้ทำสำเนาไว้สองชุด พอถึงวันสำคัญ วันคลอด ไปถึงโรงพยาบาลค่อยยื่น Birth Plan ให้กับผดุงครรภ์ชุดหนึ่ง

จากนั้นค่อยมาลุ้นกันว่า ทุกอย่างจะเป็นไปตามแผนการที่วางไว้หรือไม่...

........................................................................................................
บทความนี้ผมเขียนลง ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Mother & Care ฉบับที่ 4 เดือน เมษายน 2548




 

Create Date : 14 ธันวาคม 2550    
Last Update : 14 ธันวาคม 2550 12:01:23 น.
Counter : 1321 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  

สายน้ำกับสายเมฆ
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




Locations of visitors to this page

Tracked by Histats.com
Friends' blogs
[Add สายน้ำกับสายเมฆ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.