Group Blog
 
All Blogs
 

หนังสือพิมพ์แห่งอนาคต

พูดถึงสื่อหนังสือพิมพ์จัดว่าเป็นสื่อมวลชนดั้งเดิม เกิดขึ้นมาก่อนสื่อมวลชนอื่น ทั้งวิทยุและโทรทัศน์

ถ้ากล่าวเฉพาะในสังคมไทย ผู้คนมักเริ่มต้นนับหนึ่งกันตรงหนังสือพิมพ์“บางกอกรีคอร์เดอร์” (The Bangkok Recorder) หรือ “หนังสือจดหมายเหตุ” ซึ่งเป็นผลงานของมิชชันนารีชาวอเมริกัน ชื่อ หมอ บรัดเลย์ (Dr. Dan Beach Bradley) โดยถือกันว่า ฉบับปฐมฤกษ์ของหนังสือพิมพ์บางกอกรีคอร์เดอร์ ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2387 คือการปักหมุดแรกของประวัติศาสตร์หนังสือพิมพ์ไทย

แต่ในทางประวัติศาสตร์การพิมพ์คงต้องถือว่า สังคมไทยอิมพอร์ตกิจการการพิมพ์จากโลกตะวันตกมาก่อนหน้านั้นนานแล้ว คือตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ในยุคสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

ถ้านับต่อเนื่องถึงวันนี้ สื่อสิ่งพิมพ์ไทยได้ฟันฝ่าอุปสรรคมากว่า 2 ศตวรรษ ส่วนหนังสือพิมพ์ไทยก็ฮึดสู้มาได้ถึง 165 ปี

แล้วในยุคสมัยต่อไปละครับ...สื่อสิ่งพิมพ์โดยเฉพาะสื่อหนังสือพิมพ์ยังจะสามารถยืนหยัดเป็นสื่อมวลชนอันทรงพลังทางความคิด เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงเหมือนเช่นอดีตหรือไม่ และรูปโฉมของหนังสือพิมพ์แห่งอนาคตจะเป็นไปในรูปลักษณ์ใด นี่เป็นคำถามที่ท้าทายยิ่งนัก

ครับ…อย่างที่ผมเคยเขียนในกรอบคอลัมน์นี้อยู่บ่อยครั้งว่า การก้าวเข้ามาของสื่ออินเตอร์เนทเปรียบเสมือนการปฎิวัติครั้งยิ่งใหญ่ของการสื่อสาร เหมือนเมื่อครั้งนายโจฮันน์ กูเต็นเบิร์ก (Johannes Gutenberg) ประดิษฐ์เครื่องพิมพ์ได้สำเร็จในปี ค.ศ. 1439

การเกิดขึ้นของแท่นพิมพ์ทำให้องค์ความรู้ต่างๆซึ่งเดิมถูกจำกัดอยู่ในมือของชนชั้นนำเพียงกลุ่มเล็กๆ กลายเป็นองค์ความรู้สาธารณะ

เนื่องเพราะ หนังสือที่เป็นแหล่งรวมองค์ความรู้ต่างๆในยุคสมัยนั้น เดิมใช้การคัดลอกทีละเล่มแล้วส่งต่ออยู่ในแวดวงจำกัด เมื่อมีแท่นพิมพ์ซึ่งสามารถผลิตสำเนาต้นฉบับได้ครั้งละมากๆ ย่อมทำให้องค์ความรู้เหล่านี้กระจัดกระจายสู่ผู้คนวงกว้างมากขึ้น อันนำมาซึ่งการปฎิวัติเปลี่ยนแปลงสังคมในมิติอื่นๆต่อเนื่องตามมา

การเกิดขึ้นของสื่ออินเตอร์เนทก็เช่นเดียวกันครับ ย่อมก่อให้เกิดผลกระทบต่อเนื่องตามมา แต่จะเป็นไปในมิติใดบ้างคงต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนในวันนี้คือการทำให้สื่อดั้งเดิม (Traditional Media) อย่างสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุ สื่อโทรทัศน์ ฯลฯ จำต้องปรับตัวก้าวสู่โลกดิจิตอลอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง

ทุกวันนี้เราเห็นคนรุ่นใหม่เลือกเสพรับสื่อได้ทุกที่ ทุกเวลา และสามารถเลือกสรรเนื้อหาข้อมูลข่าวสารได้ตามใจชอบ (Content-on-demand)

อาทิ ถ้าอยากฟังเพลงบรรเลงเปียโนก็ไม่จำเป็นต้องรอรายการวิทยุใดนำเสนอเพลงดังกล่าวให้ฟัง แต่ผู้บริโภคสามารถดาว์นโหลดเลือกสรรเพลงเก็บไว้ในเครื่องเล่นแบบพกพาส่วนตัว เปิดฟังที่ไหน เมื่อใดก็ได้ หรือนึกอยากชมรายการโทรทัศน์เรื่องโปรด ก็สามารถดาว์นโหลดเก็บเอาไว้ดูเมื่อไหร่ก็ได้

นั่นเป็นก้าวแรกของการเปลี่ยนผ่านของสื่อดั่งเดิมกลายเป็นสื่อใหม่ (New media)

ทีนี้มาพูดถึงเฉพาะสื่อดั่งเดิมอย่างหนังสือพิมพ์กันบ้าง ดูว่ามีการปรับตัวเข้าสู่ยุคสื่อใหม่อย่างไร

ที่ผ่านมาเราเห็นแต่สื่อหนังสือพิมพ์ขยับตัวก้าวสู่โลกออนไลน์ด้วยการเปิดเวบไซด์ข่าวของตนเอง บางค่าย บางฉบับอาจจะย่อส่วนหนังสือพิมพ์จริงลงในโลกดิจิตอล บางค่าย บางฉบับอาจจะผลิตข่าวสารข้อมูลบางอย่างเป็นการเฉพาะสำหรับผู้บริโภคในโลกอินเตอร์เนทเพียงอย่างเดียว หรืออาจจะนำข้อมูลข่าวสารของตนไปนำเสนอในโทรศัพท์มือถือในรูปแบบของ SMS และ MMS

แต่ยังไม่มีการนำเสนอหนังสือพิมพ์ในรูปแบบของ การให้ผู้บริโภคสามารถเลือกสรรข้อมูลข่าวสารได้เองตามใจชอบ หรือที่เรียกกันว่า Customized Newspaper หรือ Individuated Newspaper หรือ Personalized newspaper

ใช่แล้วครับ ผมกำลังพูดถึงหนังสือพิมพ์จริงๆที่จับต้องได้ในรูปแบบส่วนตัว ผู้บริโภคแต่ละคนสามารถเลือกอ่านเนื้อหาข่าวสารได้อย่างใจชอบ

หนังสือพิมพ์แบบส่วนตัวอย่างนี้แหละครับคือต้นร่างของหนังสือพิมพ์แห่งอนาคต

แนวคิดหลักของหนังสือพิมพ์แบบนี้ เกิดขึ้นจากการทำวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคสื่อหนังสือพิมพ์ในซีกโลกตะวันตกพบว่า ปกติคนเราจะอ่านข่าวสาร หรือคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์รายวันโดยเฉลี่ยคนละ 4-8 เรื่องเท่านั้น ในขณะที่มีเรื่องราวข่าวสารในหนังสือพิมพ์รายวันมากถึง 50-100 เรื่องต่อวัน

นั่นหมายความว่า คนธรรมดาทั่วไปมักเลือกอ่านข่าวสาร คอลัมน์ เฉพาะที่ตนเองชอบหรือสนใจเท่านั้น

คำถามคือ แล้วทำไมผู้บริโภคจำต้องเสียเงินเพื่อได้ข่าวสาร ข้อมูลส่วนอื่นๆที่เขาไม่สนใจละครับ เป็นไปได้ไหมที่ผู้บริโภคจะเลือกเฉพาะข่าวสาร คอลัมน์ในส่วนที่เขาสนใจเท่านั้น

อันที่จริง แนวคิดหนังสือพิมพ์แห่งอนาคตเช่นนี้ถูกคิดและทดลองใช้มาแล้วในสถาบันการศึกษา MIT (Massachusetts Institute of Technology) เมื่อปี ค.ศ. 1994 หรือ 15 ปีที่แล้ว แต่ตอนนั้นยังเป็นไปในรูปแบบของหนังสือพิมพ์เสมือนจริง (The virtual daily newspaper) ยังไม่ใช่หนังสือพิมพ์จริง เนื่องด้วยเทคโนโลยี่การพิมพ์ในระยะเวลานั้นไม่สามารถรองรับแนวคิดดังกล่าว

แต่วันนี้เทคโนโลยี่การพิมพ์ก้าวเข้าสู่ยุคดิจิตอล ระบบการถ่ายโอนข้อมูลการพิมพ์พัฒนาก้าวไกล เช่นเดียวกับระบบการพิมพ์พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว

พูดได้ว่า ทุกอย่างพร้อมสำหรับการผลิตหนังสือพิมพ์แห่งอนาคต

ตอนนี้ หลายประเทศได้เริ่มนับหนึ่งสำหรับหนังสือพิมพ์แบบ “ตามใจผู้บริโภค” ไปแล้วนะครับ ยกตัวอย่างเช่นในบราซิล หนังสือพิมพ์ O Estado De S. Paulo แห่ง Sao Paolo ได้ร่วมกับแคมเปญโฆษณาของนิสสัน (Nissan) ตีพิมพ์เชิญชวนให้ผู้อ่านเลือกข่าวและรูปภาพที่เขาต้องการในเวบไซด์ของหนังสือพิมพ์ หลังจากนั้น 1 สัปดาห์ ในวันอาทิตย์ผู้อ่านเหล่านั้นจะได้รับหนังสือพิมพ์มีภาพและข่าวตามที่เขาได้เลือกสรร แน่นอนครับ...รวมทั้งโฆษณาขนาดบิ๊กเบิ้มของนิสสัน ในฐานะของสปอนเซอร์ใหญ่

ทีนี้มาดูในโซนประเทศทางยุโรปกันบ้างครับ เมื่อปีที่แล้ว ทาง Swiss Post ซึ่งให้บริการทางด้านการรับส่งสินค้า ได้จับมือกับ Syntops บริษัทเทคโนโลยีซอฟแวร์ทางการพิมพ์ของเยอรมัน ทำโปรเจคหนังสือพิมพ์ข่าวส่วนตัวขึ้น (Personal News project)

โปรเจคนี้ทดลองจัดทำขึ้นให้กับผู้อ่านในเขตซูริก (Zurich) สวิตเซอร์แลนด์เป็นการเฉพาะ โดยคนอ่านสามารถเลือกข่าวสารข้อมูลได้จากหนังสือพิมพ์ 7 ฉบับ ซึ่งมีทั้งหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของสวิตเซอร์แลนด์ และหนังสือพิมพ์ระดับบิ๊กของอเมริกา อย่าง The Washington Post เป็นต้น

คนอ่านสามารถเลือกส่วนการเมืองของหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง แล้วเลือกอ่านหน้าข่าวกีฬาจากอีกหนังสือพิมพ์หนึ่ง และเลือกอ่านข่าวเศรษฐกิจจากอีกฉบับก็ได้ตามใจชอบ

ระบบการพิมพ์ของหนังสือพิมพ์แห่งอนาคตในรูปแบบนี้ เริ่มต้นขึ้นเมื่อหนังสือพิมพ์ในเครือข่ายทั้ง 7 แห่งจัดหน้าหนังสือพิมพ์ของตนเองเสร็จก็จะส่งไฟล์ PDFs มาให้กับ Swiss Post รวบรวมให้กับ Syntops แยกพิมพ์แล้วส่งกลับให้ Swiss Post จัดส่งหนังสือพิมพ์ถึงมือผู้อ่านเป็นการเฉพาะ นอกจากนั้นยังมีการส่งไฟล์ดิจิตอลถึงคนอ่านทางออนไลน์ด้วย

หนังสือพิมพ์แห่งอนาคต นอกจากจะมีข่าวและคอลัมน์ที่ผู้บริโภคต้องการแล้ว ยังมีข่าวสารกลางที่กองบรรณาธิการจัดทำให้กับผู้อ่านทุกคนเหมือนกันอีกด้วย

นั่นหมายถึง หนังสือพิมพ์ในอนาคตไม่ใช่การนำเสนอข้อมูลข่าวสารทางเดียวจากกองบรรณาธิการ ซึ่งทำหน้าที่เหมือนนายทวารข่าวสาร (Gatekeeper) ตามกรอบทฤษฏีด้านนิเทศศาสตร์อีกต่อไป

หากแต่เป็นการทำงานร่วมของทั้งกองบรรณาธิการ ในฐานะผู้ผลิตเนื้อหาข้อมูลข่าวสารและผู้บริโภคในการคัดเลือกข้อมูลข่าวสารตามใจชอบ

ในสหรัฐอเมริกา แนวคิดเรื่องหนังสือพิมพ์ตามใจผู้บริโภคเช่นนี้กำลังเป็นที่ถกเถียงว่าจะเป็นอีกโมเดลธุรกิจหนึ่งสำหรับหนังสือพิมพ์ในอนาคตได้หรือไม่

โดยเมื่อปีที่แล้วเหล่ากูรูสื่อทั้งหลายได้จับมือกันจัดการประชุมหารือกับเจ้าของสื่อสิ่งพิมพ์ค่ายยักษ์หลายแห่ง ใช้ชื่อการประชุมว่า The Global Conference on Individuated Newspaper และล่าสุดเมื่อวันที่ 15-16 มกราคม 2552 ก็มีการประชุมโต๊ะกลมกันอีกครั้งเพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินการหนังสือพิมพ์รูปแบบใหม่

ในปีนี้ สื่อค่ายยักษ์อย่าง MediaNews Group วางแผนทดลองผลิตหนังสือพิมพ์แห่งอนาคตขึ้นครั้งแรกในสหรัฐอเมริกาที่เมือง Los Angeles ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ภายใต้ชื่อโปรเจคว่า “I-News”

Vin Crosbie นักกลยุทธ์สื่อมือพระกาฬระบุไว้ว่า หนังสือพิมพ์แบบผู้บริโภคสามารถเลือกสรรข้อมูลข่าวสารได้เองตามใจเช่นนี้จะช่วยให้สื่อหนังสือพิมพ์มีคุณค่ามากขึ้น และแน่นอนครับว่ามันทำให้บริษัทโฆษณาสามารถเจาะถึงกลุ่มเป้าหมายของตนเองได้ชัดเจนมากขึ้นด้วย

ด้านผู้บริโภคก็สามารถเลือกคัดสรรโฆษณาตามที่ต้องการได้เช่นกัน

ดังนั้นหนังสือพิมพ์ในอนาคตนอกจากจะทำหน้าที่เป็นสถาบันผู้นำทางความคิดของผู้คนเหมือนเดิมแล้ว ยังทำหน้าที่เสมือนไดเร็กเมล์ตอบสนองความต้องการของคนอ่านอีกประการหนึ่งด้วย

ว่าแต่เมืองไทย เมื่อไหร่ถึงจะเริ่มนับหนึ่งกับหนังสือพิมพ์แบบนี้ละครับ

..............................................................................................................................................................

บทความนี้ผมเขียนลง ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Thaicoon ฉบับที่เดือน มีนาคม 2552




 

Create Date : 05 มีนาคม 2552    
Last Update : 5 มีนาคม 2552 23:10:32 น.
Counter : 704 Pageviews.  

โวยผ่านเนท

เคยไหมครับ ไปทานข้าวในร้านอาหารหรู แต่ถูกดูแคลนจากกิริยาท่าทาง รวมถึงคำพูดของพนักงาน เพียงเพราะการแต่งตัวไม่ได้หรูเลิศอย่างกับเหล่าไฮโซ หรือเจอพนักงานประเภทหน้าหงิกหน้างอ สั่งอาหารไปบางอย่างแต่ให้นั่งรอเป็นชั่วโมง ถามแล้วก็บอกว่ากำลังทำอยู่...ใกล้เสร็จแล้ว สุดท้ายตัดสินใจเช็คบิลออกจากร้านถึงรู้ว่าพนักงานลืมจดออเดอร์ ฯลฯ

เคยไหมครับ ไปพักโรงแรมหรูแต่เจอสัตว์ประเภท หนู แมลงสาบวิ่งไล่กันทั่วห้อง หรือเจอห้องโทรมสุดฤทธิ์ แอร์เสียงดังอย่างกับโรงงานเดินเครื่องจักร น้ำชักโครกไม่ไหล ฯลฯ

เคยไหมครับ ซื้อสินค้าราคาแพง แต่ใช้ได้ไม่นานกลายเป็นของไร้ค่า เพราะเสียจนเกินซ่อม ฯลฯ

ปัญหาเหล่านี้ ผมเชื่อว่าเราๆท่านๆคงเคยพบเจอกันมากบ้างน้อยบ้าง แล้วแต่บุญกรรมของแต่ละคน

ในอดีตหากเราไม่พึงพอใจสินค้าหรือบริการใด คงทำได้แค่เพียงบ่นระบายอารมณ์กับเพื่อนฝูง คนใกล้ชิด พร้อมทั้งสาบส่งกับสินค้าและบริการนั้นๆ

หรือบางคนอาจจะเสียความรู้สึกรุนแรงถึงขั้นโทรศัพท์ หรือเขียนจดหมายไปโวยวายกับเจ้าของกิจการหรือสินค้าต้นเหตุ

แต่มันมักไม่มีผลสะท้อนกลับอะไรในเชิงปฏิบัติ เพราะเจ้าของเหล่านี้มักเพิกเฉยต่อเสียงติติงวิพากษ์วิจารณ์ของลูกค้า ถือว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย เป็นเสียงของคนแค่ไม่กี่คน ไม่ส่งผลกระทบต่อสินค้าและบริการของเขา

อย่างไรก็ตาม เมื่อโลกขยับขาก้าวสู่ยุคดิจิตอล อินเตอร์เนทกลายเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ อะไรหลายๆอย่างก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไป แม้กระทั่งการโวยวายแสดงความไม่พึงพอใจต่อสินค้าและบริการ

ทุกวันนี้เราคงเห็นการแสดงความคิดเห็นต่อสินค้าและบริการหลากหลายรูปแบบผ่านทางสื่ออินเตอร์เนท ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารผ่านเวบบอร์ด ผ่านอีเมล์ หรือผ่านบล็อกส่วนตัว

เสียงบ่น แสดงความไม่พึงพอใจต่อสินค้าและบริการเริ่มมีเสียงดังมากขึ้น หลายเรื่องหลายประเด็นกลายเป็นเรื่องนาครสนทนา (Talk of the town) ให้ชาวเนทส่งต่อ หรือฟอร์เวิร์ดข้อมูลในลักษณะลูกโซ่

ทำให้เรื่องซึ่งเดิมเป็นปัญหาส่วนบุคคล กลายเป็นประเด็นร่วม รับรู้กันอย่างกว้างขวาง

แล้วน่าแปลกนะครับ เรื่องด้านลบของสินค้าและบริการมักเป็นเรื่องที่ผู้คนสนใจอยากมีส่วนร่วมด้วยเป็นพิเศษ

ไม่ต้องไปดูอื่นไกล ลองเข้าไปในเวบของพันทิป //www.pantip.com เบอร์หนึ่งของเวบบอร์ดแสดงความคิดเห็นดูสิครับ จะเห็นว่ากระทู้ยอดฮิต จนกลายเป็นกระทู้แนะนำของสมาชิกชาวพันทิปนั้น จำนวนไม่น้อยเป็นเรื่องเกี่ยวกับด้านลบของสินค้าและบริการ

อย่างเช่น มีลูกค้าร้านสุกี้ดังแห่งหนึ่งเขียนมาเล่าประสบการณ์ว่า ไปกินสุกี้แล้วสั่งบะหมี่หยกเป็ดย่าง ด้วยความชอบน้ำราดเป็ดย่างของร้านนี้มากเป็นพิเศษจึงขอน้ำเป็ดย่างมาเพิ่ม แต่พนักงานเอามาให้เพิ่มเพียงถ้วยนิดเดียว ไม่เพียงพอกับความต้องการ จึงขอน้ำเป็ดไปเพิ่มอีก แต่ปรากฏว่าน้ำเป็ดถ้วยหลังต้องเสียเงิน เจ้าของกระทู้คนนี้จึงหงุดหงิด อารมณ์เสียว่าทำไมถึงต้องมาคิดเงินกันด้วย แค่น้ำเป็ดถ้วยเล็กๆเอง ฯลฯ

กระทู้แบบนี้แหละครับเรียกแขกดีนัก เผลอแป๊บเดียวมีคนเข้ามาช่วยเสริม ช่วยสร้างสีสัน บอกเล่าประสบการณ์ของตนบ้าง ทีนี้เรื่องแค่น้ำเป็ดย่างจึงกลายเป็นเรื่องด้านลบอื่นๆของร้านสุกี้แห่งนี้ไปเลย

ถ้าคุณเป็นเจ้าของกิจการ เจ้าของสินค้าหรือบริการ แล้วพบว่าลูกค้าของตนออกมาโวยวายผ่านทางสื่ออินเตอร์เนท คุณจะทำอย่างไรครับ

เจ้าของกิจการหรือผู้มีหน้าที่ดูแลเรื่องการประชาสัมพันธ์ การสื่อสารการตลาดของสินค้าและบริการจำนวนไม่น้อย เลือกใช้วิธีทางกฎหมายในการแก้ปัญหา

ไม่ว่าจะเป็นการเขียนจดหมาย หรือโทรศัพท์ไปหาผู้บริหารเวบไซด์ต้นตอในการนำเสนอเรื่องเสื่อมเสียของสินค้าและบริการของตน หรือบางรายถึงขั้นให้ฝ่ายกฎหมายของบริษัททำเรื่องฟ้องเรียกร้องให้เวบไซด์นั้นๆยุติหรือลบข้อมูลทิ้ง

วิธีการนี้อาจจะใช้ได้ผลกับบางเวบไซด์ ซึ่งเจ้าของเวบหรือผู้ดูแลเวบไม่อยากมีเรื่องขึ้นโรงขึ้นศาล เวบเหล่านี้มักจะเลือกวิธีลบข้อมูลอันอาจจะนำมาซึ่งการฟ้องร้องหมิ่นประมาททิ้ง แต่ปัญหาตามมาคือสมาชิกผู้เข้าไปเล่นในเวบนั้น ย่อมรู้สึกว่าชุมชนออนไลน์แห่งนี้ไม่มีเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ในที่สุดก็เปลี่ยนไปเล่นในเวบอื่นที่มีอิสรเสรีภาพมากกว่าแทน

ขณะเดียวกันเนื้อหาซึ่งเคยนำเสนอในเวบไซด์ดังกล่าวก็อาจจะถูกนำไปขยายต่อในเวบไซด์อื่น หรือในฟอร์เวิร์ดเมล์ หรือในบล็อกส่วนตัว ทำให้เรื่องด้านลบนั้นๆขยายวงการรับรู้มากขึ้น มิหน่ำซ้ำเจ้าของสินค้าและบริการยังต้องโดนข้อหาใจแคบ ข่มขู่ กดดันแทรกแซงสื่ออีกด้วย

นอกจากวิธีการด้านกฎหมายแล้ว ยังมีเจ้าของสินค้าและบริการจำนวนหนึ่งเลือกแก้ปัญหาด้วยการเข้าไปโพสในกระทู้โจมตีผู้ให้ข้อมูลด้านลบ หรือเข้าไปเขียนเชียร์ยกย่องสินค้าและบริการของตนว่าดีเลิศประเสริฐศรีไม่ได้เลวร้ายดังเช่นที่ถูกกล่าวหา

วิธีการนี้หากผู้เข้าไปโพสกระทู้แนบเนียนพอ ก็แล้วไปครับ แต่หากถูกจับได้ว่าเข้ามาเขียนเพื่อการประชาสัมพันธ์ หรือมาแก้ตัว ดีไม่ดีจะยิ่งทำให้กระทู้นั้นๆโด่งดังเป็นที่จับตามากเป็นพิเศษ

แล้วผู้เข้ามาโพสแก้ตัวจะถูกหาว่า “เกรียน” เสียอีก

อืม...แล้ววิธีไหนดีหรือครับ ลองมาดูในเคสกรณีตัวอย่างของโทรศัพท์มือถือดังค่ายหนึ่งของไทย เขาเจอกับปัญหาเดียวกันคือ มีลูกค้าโวยในเวบ ในกระทู้พันทิป หรือกระทู้อื่นๆมากมาย

ตอนแรกผู้บริหารโทรศัพท์มือถือค่ายนี้คิดจะใช้วิธีการทางกฎหมายเข้าดำเนินการยุติปัญหา แต่หลังจากได้เข้าไปพูดคุยกับผู้บริหารเวบไซด์ เข้าใจถึงธรรมชาติของสื่อออนไลน์ ผู้บริหารโทรศัพท์มือถือได้เปลี่ยนกลยุทธ์แก้ปัญหาในรูปแบบของการเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาสครับ

คือแทนที่จะห้ามไม่ให้ลูกค้าพูดถึงจุดด้อย หรือข้อเสียของสินค้าและบริการของตน เขากลับส่งเสริมให้พูด และให้แสดงออกอย่างเต็มที่

เริ่มด้วยการเชิญลูกค้าผู้วิพากษ์วิจารณ์สินค้าและบริการในกระทู้มาพูดคุยทำความเข้าใจก่อนจะสนับสนุนให้พวกเขาเปิดเป็นชุมชนออนไลน์ของค่ายโทรศัพท์มือถือนั้นๆอย่างอิสระ ไม่ขึ้นตรงต่อค่ายมือถือ

เนื่องเพราะผู้บริหารมือถือตระหนักดีว่า ลูกค้าผู้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์คือ แฟนพันธุ์แท้ ผู้จงรักภักดีในแบรนด์ ในสินค้าหรือบริการของตนอยู่แล้ว การออกมาตำหนิแสดงความไม่พึงพอใจคือการชี้จุดอ่อนในสินค้าและบริการของตน

เมื่อบริษัทรับทราบปัญหาแล้วเร่งแก้ปัญหา ลูกค้าเหล่านี้ย่อมพึงพอใจกับสินค้าและบริการ แต่หากเพิกเฉย ไม่ให้ความใส่ใจในการแก้ปัญหา ก็เท่ากับผลักลูกค้าของตนไปให้คู่แข่งนั่นเอง

ด้านฐานความคิดเช่นนี้เองทำให้สินค้าใหญ่ๆหลายประเภท อาทิรถยนต์ยี่ห้อต่างๆ เริ่มมองเห็นแนวทางการทำลูกค้าสัมพันธ์ผ่านเครือข่ายออนไลน์

เจ้าของสินค้าและบริการบางรายสนับสนุนการเปิดชุมชนออนไลน์อย่างเปิดเผย โดยจัดให้เป็นส่วนหนึ่งของเวบไซด์ของตนเอง หรือเป็นส่วนหนึ่งของเวบประชาสัมพันธ์ของตน ข้อดีของการทำเช่นนี้คือ เจ้าของสินค้าสามารถควบคุม คอนโทรลทิศทางความเป็นไปของเวบไซด์ เวบบอร์ด หรือกระทู้แสดงความคิดเห็นได้ง่าย

แต่ปัญหาคือ ลูกค้าจำนวนไม่น้อยต้องการความเป็นอิสระ ไม่อยากตกเป็นเครื่องมือของสินค้าและบริการอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างชัดแจ้ง

ดังนั้นเจ้าของสินค้าและบริการบางแห่งจึงเลือกสนับสนุนให้เหล่าลูกค้าแฟนพันธุ์แท้เปิดและบริหารเวบไซด์ เวบบอร์ดอย่างเป็นอิสระ โดยเจ้าของสินค้าและบริการให้การสนับสนุนช่วยเหลือในบางด้านแล้วแต่จะร้องขอเป็นกรณี

ขณะเดียวกันเจ้าของสินค้าและบริการก็มีพนักงานคอยมอนิเตอร์ตรวจสอบความคิดเห็น และคอยนำเสนอแนวทางแก้ปัญหาอย่างง่ายๆแก่สมาชิกในเวบไซด์นั้นๆ และหากปัญหานั้นไม่สามารถแก้ไขได้โดยวิธีปกติก็จะประสานงานกับฝ่ายที่ดูแลรับผิดชอบโดยตรงให้

วิธีการเช่นนั้นถือว่าสมประสงค์กันทุกฝ่าย

ลูกค้าพอใจที่คำร้องเรียน ข้อตำหนิ ได้รับการดูแลเอาใจใส่ และแก้ไขให้ดีขึ้น

ฝ่ายเจ้าของสินค้าและบริการได้ข้อมูลอินไซด์ของลูกค้าว่ารู้สึกและคิดเห็นอย่างไรกับสินค้าและบริการ ทำให้สามารถนำมาปรับปรุงพัฒนาตัวสินค้า บริการหรือคิดแคมเปญโปรโมชั่นได้อย่างตรงเป้าหมาย

ส่วนเจ้าของเวบไซด์ได้รับการสนับสนุนจากเจ้าของสินค้าและบริการนั้นๆ

เมื่อเป็นเช่นนี้เสียงโวยก็มีคุณค่าขึ้นมาทันใด

..............................................................................................................................................................

บทความนี้ผมเขียนลง ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Thaicoon ฉบับที่เดือน กุมภาพันธ์ 2552




 

Create Date : 09 กุมภาพันธ์ 2552    
Last Update : 9 กุมภาพันธ์ 2552 18:33:43 น.
Counter : 326 Pageviews.  

หรือวารสารศาสตร์ตายแล้ว?

เมื่อเร็วๆนี้ MediaShift ซึ่งเป็น Blog คอยมอนิเตอร์ติดตามและรายงานความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับผลกระทบของเทคโนโลยีสื่อดิจิตอลประเภทต่างๆ ภายใต้การสนับสนุนของ Public Broadcasting Service (PBS) ในสหรัฐอเมริกา ได้นำเสนอรายงานชิ้นหนึ่งของนักศึกษาสาวสาขาวิชาวารสารศาสตร์แห่ง New York University (NYU) ชื่อ Alana Taylor ภายใต้ชื่อเรื่องว่า “Old Thinking Permeates Major Journalism School”

เธอได้เขียนวิพากษ์วิจารณ์การเรียนการสอนของโรงเรียนสอนนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ชั้นนำอย่าง NYU ว่าล้าหลัง ไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก

Alana Taylor เขียนอย่างดุเดือดว่า รู้สึกผิดหวังที่เข้าเรียนในสถาบันการศึกษาแห่งนี้ เนื่องจากมุ่งหวังว่าจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับสื่อใหม่ (New Media) ซึ่งเป็นสื่อยุคดิจิตอลที่เข้ามามีบทบาท มีอิทธิพลต่อคนรุ่นใหม่

เธออยากจะเรียนรู้ถึงความหมาย ความสำคัญของสื่อดิจิตอล รวมทั้งการประยุกต์ใช้เป็นแนวทางใหม่ๆในการรายงานข่าว แต่ปรากฏว่าคณาจารย์ในหลักสูตรวารสารศาสตร์ยังพร่ำสอนแต่เรื่องเกี่ยวกับสื่อเก่า อย่างสื่อหนังสือพิมพ์ นิตยสาร แม้ว่าจะมีการพูดถึงสื่อใหม่บ้างแต่ก็เพียงผิวเผิน ฉาบฉวย ไม่ลึกซึ้งถ่องแท้

ตอนหนึ่งของรายงานเธอเขียนเอาไว้ว่า “...สิ่งที่น่าหลงใหล และเป็นเสน่ห์ของการเปลี่ยนผ่านจากสื่อสิ่งพิมพ์ไปสู่สื่อดิจิตอลนั่นก็คือ การมีอิสระเสรีในการตีพิมพ์เรื่องราวต่างๆ อิสระในการเป็นบรรณาธิการของตนเอง เป็นนักการตลาด และสร้างแบรนด์ด้วยตนเอง...

...แต่น่าประหลาดใจว่า NYU กลับไม่มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้เลย ยังคงจมอยู่กับการสอนในแนวทางของนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แบบดั่งเดิม...”


แม้แต่ในห้องเรียนวิชาการรายงานข่าวสำหรับคนรุ่นใหม่ (Reporting Generation Y) แทนที่จะให้นักศึกษาเรียนการเขียนรายงานข่าวผ่านทาง Blog หรือเขียนผ่านทางมือถือ หรือผ่านทางบริการ Microblog สุดฮิตของคนรุ่นใหม่อย่าง Twitter ซึ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสื่อของคน Generation Y ทั้งสิ้น แต่อาจารย์กลับสอนการเขียนผ่านสื่อสิ่งพิมพ์แบบเก่าอย่างหนังสือ หรือนิตยสาร

งานเขียนชิ้นนี้สร้างความฮือฮา ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ขยายประเด็นต่อเนื่องตามมาทั้งในแวดวงการเรียนการสอนด้านวารสารศาสตร์ รวมทั้งในชุมชนชาว Blog

เพราะงานเขียนของ Alana Taylor เสมือนจุดพลุแสดงความคลางแคลงใจของคนรุ่นใหม่ต่อการเรียนการสอนด้านวารสารศาสตร์ตามสถานการศึกษาชั้นนำของโลก

แล้วอะไรถึงทำให้คนรุ่นใหม่เมินเฉยต่อสื่อสิ่งพิมพ์อย่างหนังสือพิมพ์ นิตยสารละครับ

ในบทความ “State of Blogosphere 2008” รวบรวมและรายงานโดย Technorati ระบุว่า ปัจจุบันผู้คนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ เริ่มใช้เวลาในการเสพสื่อดั่งเดิม (Traditional Media) อย่างสื่อหนังสือพิมพ์ นิตยสาร วิทยุ โทรทัศน์ลดน้อยลง แต่ใช้เวลาในการบริโภคสื่อใหม่มากขึ้น อาทิ อ่านข่าวสารความเคลื่อนไหวทางสังคมผ่านหนังสือพิมพ์ออนไลน์ โทรศัพท์มือถือ หรืออ่านผ่าน Blog เป็นต้น โดยขณะนี้คนทั่วโลกมี Blog ส่วนตัวกันมากถึง 184 ล้านคน และมีคนอ่าน Blogเหล่านี้ จำนวน 346 ล้านคน

พฤติกรรมผู้บริโภคสื่อแปรเปลี่ยนไปเช่นนี้ ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสื่ออย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น Vin Crosbie ผู้บริหารของบริษัท Digital Deliverance ที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ของสื่อ ได้เขียนบทความชิ้นสำคัญเรื่อง “Transforming American Newspapers” ระบุว่า กว่าครึ่งของสื่อหนังสือพิมพ์รายวันในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีอยู่มากมายถึง 1,439 ฉบับจะต้องถึงกาลอวสานไปภายในสิ้นทศวรรษหน้า ถึงตอนนั้นจะเหลือเพียงสื่อยักษ์ระดับชาติอย่างเช่น USA Today, The New York Times และ The Wall Street Journal เท่านั้นที่อยู่รอด แต่ไม่ใช่ในรูปแบบของสื่อสิ่งพิมพ์เช่นปัจจุบัน หากแต่เป็นในรูปแบบของ Web และ E-Paper เท่านั้น

วิกฤตเศรษฐกิจของสหรัฐฯในขณะนี้ย่อมเป็นตัวเร่งให้คำพยากรณ์ของ Vin Crosbie ปรากฏผลเร็วขึ้น

อุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์ในเมืองไทยไม่ได้มีอนาคตดีกว่าของสหรัฐอเมริกาสักเท่าไหร่หรอกนะครับ เนื่องด้วยต้นทุนค่ากระดาษพุ่งสูง กอปรกับรายรับจากโฆษณามีทิศทางลดน้อยถดถอยลงเรื่อยๆ หนังสือพิมพ์รายวันหลายแห่งในเมืองไทยกำลังใช้นโยบายรัดเข็มขัดกันจนหน้าเขียวกันถ้วนทั่ว หนังสือพิมพ์บางสำนักมีนโยบายให้พนักงานออกก่อนวัยเกษียณ บางแห่งจำต้องปลดหรือลดจำนวนพนักงาน ฯลฯ

แน่นอนครับ ในสภาวการณ์เช่นนี้อัตราการรับสมัครบัณฑิตจบใหม่จากสาขาวิชาวารสารศาสตร์ เข้าสู่ตลาดแรงงานของอุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์ยิ่งมีน้อยนิด

พูดได้ว่าบัณฑิตใหม่จากสายวารสารศาสตร์จะต้องเป็นคนเก่งจริง มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ หรือมีเส้นสายดีเท่านั้นถึงสามารถหางานในแวดวงนี้ได้

คำถามที่ชวนคิดต่อคือ แล้วหลักสูตรการเรียนการสอนด้านวารสารศาสตร์ของเมืองไทยเรา เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ หรือเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ โดย เฉพาะในอุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์ในภาวะถดถอยแล้วหรือยัง

คำตอบซื่อสัตย์ต่อตนเองมากที่สุดคือ ยังครับ ?!?

ย้อนหลังกลับไปมองหลักสูตรการเรียนการสอนด้านวารสารศาสตร์ในเมืองไทย จะพบว่าการสอนวิชาหนังสือพิมพ์จัดว่าเป็นหลักสูตรแรกของสายวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ โดยถือกำเนิดขึ้นในยุคของจอมพลป. พิบูลสงคราม มหาวิทยาลัยแรกที่เปิดสอนหลักสูตรหนังสือพิมพ์คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปีพ.ศ. 2482

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา แม้จะมีการปรับปรุงหลักสูตรให้เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลก แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องคือการผลิตบัณฑิตป้อนสู่อุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ทั้งหนังสือพิมพ์ นิตยสาร วารสาร ฯลฯ

แต่ปรากฏการณ์ของวันนี้คือ อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์กำลังมีปัญหา สื่อใหม่ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษแตกต่างออกไปจากสื่อดั่งเดิมกำลังครอบงำผู้คนในสังคม ด้วยเหตุนี้หลักสูตรด้านวารสารศาสตร์จำต้องปรับตัว

เพราะหากปล่อยให้หลักสูตรการเรียนการสอนด้านวารสารศาสตร์เป็นเช่นเดิม นอกจากจะไม่มีเด็กรุ่นใหม่สนใจเข้ามาเรียนรู้แล้ว มิหนำซ้ำบัณฑิตที่เรียนจบออกไปจากสาขาวิชานี้ยังไม่มีโอกาสได้นำวิชาความรู้ก้าวสู่วิชาชีพอย่างตรงสาขา

แล้วควรจะปรับหลักสูตรอย่างไรดีละครับ

แค่เพิ่มการเรียนการสอนเกี่ยวกับสื่อใหม่ อย่างสื่ออินเทอร์เนต การทำเวบไซด์ หรือเพิ่มวิชารายงานข่าวออนไลน์เข้าไปในหลักสูตร แล้วยังใช้รูปแบบการเรียนการสอนเกี่ยวกับนำเสนอ การเขียน การรายงานข่าวแบบดั่งเดิมเพื่อหวังป้อนบัณฑิตเข้าสู่อุตสาหกรรมสื่อ ซึ่งปรับตัวจากสื่อกระดาษเป็นสื่อดิจิตอลเท่านั้นคงไม่เพียงพอ

หลักสูตรวิชาวารสารศาสตร์ยุค 2.0 จำต้องสอนให้นักศึกษาสามารถใช้สื่อใหม่ในการแสดงความคิดเห็น รายงานข่าว บอกเล่าปรากฏการณ์ที่นักศึกษาพบเจอได้อย่างเป็นอิสระ สอดคล้องต่อธรรมชาติของสื่อดิจิตอล

นักวารสารศาสตร์ยุคใหม่จำต้องสามารถเขียนเรื่องราวต่างๆได้อย่างสั้น กระชับ ได้ใจความ สามารถถ่ายรูป ถ่ายคลิป อัพไฟล์รูป ไฟล์เสียงได้อย่างรวดเร็ว เพราะในโลกของสื่อใหม่นั้นได้ผนวก หลอมรวม (Convergence) จุดเด่นของสื่ออันหลากหลายเข้าด้วยกันแล้ว

และที่สำคัญเหนือกว่าการเรียนการสอนด้านเทคนิค คือการสอนเรื่องของหลักคิด มุมมอง ต่อตนเอง ต่อสังคมและโลก เพื่อให้นักวารสารศาสตร์รุ่นใหม่สามารถวิเคราะห์ และนำเสนอเรื่องราวต่างๆได้อย่างมีเอกลักษณ์

ถึงตรงนี้ แม้ว่าบัณฑิตสาขาวารสารศาสตร์จะไม่สามารถเข้าสู่อุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์เนื่องจากภาวะทางเศรษฐกิจ แต่พวกเขาก็สามารถผลิตสื่อ บอกเล่าเรื่องราวต่างๆได้ด้วยตนเอง

ใช่แล้วครับ หลักสูตรวิชาวารสารศาสตร์ไม่จำเป็นต้องผลิตแต่นักข่าว/นักวารสารศาสตร์มืออาชีพ (Professional Journalist) อย่างเดิมเท่านั้น

หากแต่ควรหันมาผลิตและสร้างคุณภาพของนักข่าวพลเมือง (Citizen Journalist) อีกประการหนึ่งด้วย

ไม่เช่นนั้น การเรียนการสอนด้านวารสารศาสตร์ของไทยก็ไม่ต่างกับคนป่วยโคม่ารอวันตายเท่านั้น

..............................................................................................................................................................

บทความนี้ผมเขียนลง ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Thaicoon ฉบับที่เดือน พฤศจิกายน 2551




 

Create Date : 09 พฤศจิกายน 2551    
Last Update : 9 พฤศจิกายน 2551 21:29:35 น.
Counter : 365 Pageviews.  

Citizen Journalism...วารสารศาสตร์พลเมือง (3)

ผมเขียนทิ้งท้ายเอาไว้ในฉบับที่แล้วว่า สื่อกระแสหลัก (Mainstream media) ในสังคม ทั้งสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และอินเตอร์เนท แม้จะตระหนักถึงบทบาทและความสำคัญของวารศาสตร์ยุค 2.0 ด้วยการเปิดเวทีบางส่วนต้อนรับผลงานของนักข่าวพลเมือง (Citizen Journalist) แต่นักข่าวมืออาชีพในสื่อกระแสหลักเหล่านั้นไม่ค่อยแฮปปี้กับการทำหน้าที่เป็นผู้สื่อข่าวของชาวบ้านสักเท่าไหร่

ด้วยมองว่าผลงานของนักข่าวพลเมืองยังอ่อนด้อยด้านทักษะการทำข่าวแบบมือโปรฯ

ขณะเดียวกัน เหล่านักข่าวพลเมืองผู้กระตือรือร้นอยากจะเป็นส่วนหนึ่งในการบอกเล่า...สื่อสารข้อมูล ข่าวสาร ให้กับสังคมก็รู้สึกอึดอัดกับขั้นตอนการกลั่นกรอง และเกณฑ์การทำข่าวแบบมืออาชีพ

นักข่าวพลเมืองจำนวนไม่น้อยมองว่า การทำข่าวภายใต้สังกัดของสื่อกระแสหลักจะทำให้ขาดอิสระและขาดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เพราะถึงที่สุดแล้วสื่อกระแสหลักยังต้องพึ่งพิงอยู่กับรัฐหรือกลุ่มทุนใหญ่ผู้เป็นสปอนเซอร์ให้กับสื่อนั่นเอง

พวกเขาจึงมองหาเวทีให้กับตัวเอง บางคนเลือกสร้าง Blog ส่วนตัวเป็นเหมือนกระบอกเสียงถ่ายทอดแนวคิดและข่าวสารสู่สาธารณชน

แต่บางคนเลือกส่งข่าว และข้อคิดแสดงความคิดให้ไปให้กับสื่อทางเลือก(Alternative Media) ต่างๆที่มีอยู่ในสังคม

อย่างเช่นเวบอินดี้มีเดีย //www.indymedia.org ซึ่งเป็นสื่อทางเลือกที่เติบโตและขยายเครือข่ายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว นับตั้งแต่การนำเสนอข่าวสารการประท้วงต่อต้านการประชุมขององค์การการค้าโลก (WTO) ที่เมืองซีแอตเติล สหรัฐอเมริกา เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2542

อย่างไรก็ตาม สื่อทางเลือกที่โดดเด่นและได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้นำของวารสารศาสตร์พลเมือง (Citizen Journalism) กลับไม่ใช่สื่อทางเลือกจากโลกซีกตะวันตกอย่างเวบอินดี้มีเดีย หากแต่เป็นสื่อทางเลือกจากโลกซีกตะวันออก...ประเทศเกาหลีใต้

นั่นคือเวบโอมายนิวส์ //www.ohmynews.com เวบข่าวออนไลน์ซึ่งเน้นการมีส่วนร่วมของคนอ่าน

คำขวัญของเวบคือ ประชาชนพลเมืองทุกคนคือนักข่าว “Every Citizen is a Reporter”

เพราะฉะนั้นข่าวเกือบทั้งหมดของเวบผลิตโดยนักข่าวพลเมือง ไม่ใช่นักข่าวมืออาชีพเหมือนสื่อกระแสหลักอื่นๆ

ต้นตำหรับของเวบโอมายนิวส์เป็นภาษาเกาหลีนะครับ แต่ต่อมาพัฒนาเป็นเวอร์ชั่นอินเตอร์โดยใช้ภาษาอังกฤษ //english.ohmynews.com และภาษาญี่ปุ่น //www.ohmynews.co.jp

ผู้ก่อตั้งเวบโอมายนิวส์คือ โอ ยอน โฮ (Oh Yeon Ho) นักข่าวมืออาชีพจากเป็นนิตยสารข่าวรายเดือน ประเภทสื่อทางเลือก เขาให้สัมภาษณ์กับ Japan Media Review ถึงมูลเหตุจูงใจในการก่อตั้งเวบว่า...

“...ในเกาหลี ชาวบ้านไม่พึงพอใจและไม่เชื่อถือสื่อหลักๆในสังคม ทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ ทีวี ขณะเดียวกันชาวบ้านก็อยากจะบอกเล่าความคิด ความเชื่อของตัวเอง อยากจะเล่าประสบการณ์ ข่าวสารที่ตัวเองพบเจอ ตรงนี้แหละ เป็นรากฐานของการทำเวบโอมายนิวส์...

...ผมอยากทำสื่อทางเลือก ที่ให้ชาวบ้านมาเป็นนักข่าวมานานกว่า 10 ปี แต่ไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะตอนนั้นสื่ออินเตอร์เนทยังไม่แพร่หลาย หากผมเลือกใช้สื่อสิ่งพิมพ์ในการทำสื่อทางเลือกแบบนี้ต้องลงทุนสูงมากๆ ดังนั้นเมื่ออินเตอร์เนทมีการพัฒนาและแพร่หลาย ผมไม่รอช้าที่จะทำเวบข่าวทางเลือกแบบนี้...”

นั่นคือจุดเริ่มต้นของเวบโอมายนิวส์ เมื่อวันทื่ 22 กุมภาพันธ์ 2543

ในตอนแรกเวบนี้มีสตาฟที่เป็นนักข่าวมืออาชีพคอยกลั่นกรอง ขัดเกลาสำนวนภาษา พาดหัวข่าว และจัดความสำคัญของข่าวเพียงไม่กี่คนเท่านั้น นักข่าวพลเมืองที่อาสาเขียนข่าว เขียนบทความส่งเข้ามายังเวบก็ยังมีไม่มาก แต่ต่อมาด้วยกระแสปากต่อปาก ถึงความเป็นเวทีอิสระในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของคนธรรมดาๆ ผู้สวมบทบาทเป็นนักข่าวมือสมัครเล่น รวมทั้งเป็นช่องทางหนึ่งในการเสพข่าวสาร ข้อมูลที่ไม่สามารถหาอ่าน หาชมได้จากสื่อกระแสหลักในสังคม

เหล่านี้ทำให้โอมายนิวส์เป็นเวบข่าวยอดฮิตของชาวเกาหลีซึ่งอาศัยอยู่ทั่วโลก ที่ทั้งอ่าน ทั้งมีส่วนร่วมในการเขียนส่งข้อมูล ข่าวสาร ความคิดเห็นต่างๆ กลายเป็นเครือข่ายทางสังคมรูปแบบใหม่ขึ้นในโลกอินเตอร์เนท

อิทธิพลอันทรงพลังของเวบนักข่าวพลเมืองนี้มีมากถึงขนาดทำให้เมื่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ในปลายปี 2545 โรห์ มู ฮุน (Roh Moo Hyun) ซึ่งได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดียินยอมให้เวบโอมายนิวส์สัมภาษณ์พิเศษเป็นรายแรก

ต่อมาเมื่อเวบโอมายนิวส์เปิดเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษก็ยิ่งดึงดูดผู้คนจากทั่วโลก ให้เป็นนักข่าวพลเมืองส่งข่าวสาร ความคิดเห็นต่างๆมายังเวบไซด์

ปัจจุบันเวบโอมายนิวส์มีนักข่าวพลเมืองกว่า 6 หมื่นคน เฉพาะเวอร์ชั่นโอมายนิวส์อินเตอร์ฯ ที่ผลิตเป็นภาษาอังกฤษมีนักข่าวพลเมืองลงทะเบียนอยู่กว่า 3 พันคน อาศัยอยู่นับ 100 ประเทศทั่วโลกนักข่าวเหล่านี้จะส่งข่าวสาร และบทความเข้าสู่กองบรรณาธิการเป็นประจำ วันละหลายร้อยชิ้น

ส่วนกองบรรณาธิการมีทีมงานประจำร่วม 100 คน ทำหน้าที่เป็นฝ่ายตรวจสอบ ขัดเกลาภาษาข่าว และเป็นฝ่ายเทคนิคสนับสนุน

มาถึงตรงนี้ คุณผู้อ่านบางคนอาจจะคิดว่า ถ้าเป็นเช่นนี้นักข่าวพลเมืองจะนึกเขียนข่าวด่า หรือใส่ร้ายป้ายสีใครก็ทำได้ง่ายๆละสิ

ความจริงแล้ว โอมายนิวส์ เขากำหนดกฎกติกา จรรยาบรรณร่วมของนักข่าวพลเมืองไว้อย่างชัดเจน เข้มข้น โดยให้ทุกคนที่จะสมัครเป็นนักข่าวพลเมืองต้องละทะเบียนด้วยการใช้เลขประจำตัวประชาชนซึ่งสามารถยืนยันถึงตัวตนที่แท้จริงของนักข่าวคนนั้นๆได้

หากนักข่าวพลเมืองไปคัดลอกเนื้อความ ถ้อยความของคนอื่นมาโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือละเมิดลิขสิทธิ์ หรือไปใส่ร้ายป้ายสีคนอื่นย่อมมีผลทางกฎหมาย ถูกฟ้องร้องหรือถูกลงโทษได้

สำหรับรายได้ของโอมายนิวส์ ร้อยละ 60-70 มาจากการลงโฆษณาในเวบไซด์ ประมาณร้อยละ 20 ได้มาจากการขายข่าวให้กับสำนักข่าวต่างๆทั่วโลก อีกร้อยละ 10 มาจากรายได้อื่นๆเช่นการบริจาค

ในช่วง 3 ปีแรกโอมายนิวส์อยู่ในสภาวะขาดทุน แต่เมื่อขึ้นปี 4 หลังจากเวบได้รับการยอมรับมากขึ้น รายได้ที่เข้ามาทำให้โอมายนิวส์มีผลกำไร

สามารถนำเงินรายได้มาขยายงานต่ออีกหลายๆอย่าง อาทิ การออกเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ ภาษาญี่ปุ่น การทำนิตยสารฉบับสื่อสิ่งพิมพ์ ฯลฯ

และด้วยตระหนักถึงจุดอ่อนของนักข่าวพลเมืองที่มักถูกนักข่าวมืออาชีพดูหมิ่น ดูแคลนเรื่องทักษะแบบมืออาชีพ ทำให้เมื่อปลายปี 2550 โอมายนิวส์เปิดโรงเรียนสอนนักข่าวพลเมืองขึ้นมาเป็นการเฉพาะ ชื่อ The OhmyNews Journalism School ตั้งอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆทางตอนใต้ของโซล เมืองหลวงของเกาหลีใต้ โดยสามารถเดินทางจากโซลด้วยรถยนต์ประมาณ 90 นาที

โรงเรียนนักข่าวพลเมืองแห่งนี้ มีห้องพักรองรับผู้สนใจร่วมร้อยคน เน้นการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการทำข่าวแบบมืออาชีพให้กับผู้คนทั่วไป สอนทั้งเรื่องการหาข่าว การสัมภาษณ์ การเขียนข่าว การใช้กล้องถ่ายรูป กล้องดิจิตอล ฯลฯ

แบบอย่างของโอมายนิวส์ ถือว่าเป็นโมเดลในฝันของคนทำสื่อทางเลือกทั่วโลก

ในเมืองไทยมีสื่อทางเลือกมากมายพยายามประยุกต์แนวคิดของนักข่าวพลเมืองมาปรับใช้ แต่ที่โดดเด่นที่สุดในขณะนี้คงเป็นเวบประชาไท //www.prachatai.com

ประชาไทเป็นเวบข่าวทางเลือกที่นำเสนอข่าวสาร บทความ ความคิดเห็น คอลัมน์ที่แตกต่างออกไปจากสื่อกระแสหลัก พูดง่ายๆว่าสิ่งที่หาอ่านได้จากประชาไท ไม่สามารถหาได้จากสื่ออื่น

แม้ว่าข่าวสาร หรือบทความโดยส่วนใหญ่ของประชาไทจะเป็นการผลิตโดยกองบรรณาธิการ หรือคอลัมนิสต์ แต่ประชาไทได้เปิดโอกาสให้คนอ่าน ชาวบ้าน นิสิต นักศึกษา ส่งข่าวสาร ข้อมูล ประสบการณ์เข้ามาให้ โดยเปิดพื้นที่ในส่วนของ iReport นักข่าวพเนจร ให้เป็นการเฉพาะ

แต่ที่น่าสนใจคือตรงเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษครับ

ประชาไทเปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้ามาช่วยแปลข่าว แปลบทความจากเวอร์ชั่นภาษาไทยเป็นเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ ทำให้นิสิต นักศึกษา นักเลงภาษาผู้สนใจการเขียน การแปล สามารถใช้เป็นเวทีฝึกฝนฝีมือ

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าการมีส่วนร่วมของพลเมืองไทยในการทำหน้าที่เป็นนักข่าว บอกเล่าเรื่องราว ถ่ายทอดประสบการณ์ แสดงทัศนะความคิดเห็นต่างๆยังไม่มากมายนัก

ไม่เช่นนั้น เราคงได้เห็นสิ่งเปลี่ยนแปลงใหม่ๆในแวดวงวารสารศาสตร์ของไทยเรา

.................................................................................................................
บทความนี้ผมเขียนลง ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Thaicoon ฉบับที่เดือน มิถุนายน 2551




 

Create Date : 29 กรกฎาคม 2551    
Last Update : 29 กรกฎาคม 2551 2:23:56 น.
Counter : 416 Pageviews.  

Citizen Journalism...วารสารศาสตร์พลเมือง (2)

ตอนที่แล้วผมได้เล่าถึง ความหมายและความสำคัญของวารสารศาสตร์ยุคใหม่...วารสารศาสตร์พลเมือง (Citizen Journalism) ซึ่งพลิกโฉมของคนรับสื่อ ทั้งคนอ่านข่าวสารจากหนังสือพิมพ์ รับฟังทางวิทยุ หรือดูทางโทรทัศน์

จากเดิมเป็นผู้นั่งอยู่เฉยๆ รอรับข้อมูลข่าวสารที่ผ่านการกลั่นกรอง คัดเลือกจากนักข่าวหรือกองบรรณาธิการข่าว กลายสภาพเป็นผู้ที่สามารถเขียนหรือนำเสนอข้อมูลข่าวสาร เปิดประเด็นข่าว รวมทั้งแสดงความคิดเห็นกลับไปยังสื่อหรือส่งสารไปถึงนักข่าว ขณะเดียวกันยังสามารถส่งข้อมูลข่าวสารไปยังสาธารณชน (Public) หรือชุมชน (Community) ได้ร่วมรับรู้ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันอีกด้วย

หรืออีกนัยหนึ่งคือ เปลี่ยนสภาพจากคนอ่านข่าว ฟังข่าว ดูข่าว เป็นนักข่าว นักวิเคราะห์ วิจารณ์เสียเอง

ปรากฏการณ์เช่นนี้กำลังกลายเป็นเทรนด์ใหม่ของแวดวงสื่อสารมวลชนทั่วโลก

ไม่ว่าจะเป็นสื่อกระแสหลัก (Mainstream media) หรือ สื่อทางเลือก (Alternative Media) ล้วนเต็มใจกระโจนเข้าสู่กระแสวารสารศาสตร์ยุค 2.0 นี้กันทั้งสิ้น

สื่อกระแสหลักระดับพี่เบิ้ม อย่าง Yahoo, Reuters, CNN, BBC ฯลฯ ต่างพร้อมใจกันเปิดพื้นที่ใหม่ๆให้กับประชาชน-พลเมืองผู้กระตือรือร้นได้ส่งข่าวสาร ข้อมูล ความคิดเห็นของตน

อย่างเวบข่าวของ Yahoo ได้จับมือเป็นพันธมิตรกับเวบสำนักข่าว Reuters เปิดเวทีให้กับ นักข่าวพลเรือนได้แสดงฝีมือในส่วนของ You Witness News

ผู้สนใจลองคลิ๊กเข้าไปได้ที่ //news.yahoo.com/you-witness-news

ตรงส่วนนี้ คู่หูดูโอ Yahoo และ Reuters ทำหน้าที่เหมือนโต๊ะข่าว หรือกองบรรณาธิการข่าวแล้วให้นักข่าวอิสระจากทั่วโลกส่งเรื่องราว ภาพข่าว คลิปวีดีโอข่าวมาให้ หลังจากนั้นโต๊ะข่าวจะทำหน้าที่กลั่นกรอง ตรวจสอบก่อนนำเผยแพร่ในเวบ

สำหรับ CNN ได้เปิดโอกาสให้ชาวบ้านส่งข่าว ส่งรูปถ่าย วีดีโอ เข้ามาให้เช่นกัน โดยเรียกพื้นที่ตรงนี้ว่า iReport

สนใจเปิดเข้าไปดูได้ที่ //edition.cnn.com/ireport/

CNN ได้ประเดิมโครงการวารสารศาสตร์พลเมือง เฟสแรกเมื่อสิงหาคม 2549 วันแรกมีคนส่งข่าวให้เพียง 13 เรื่องเท่านั้น แต่ต่อมาความแรงของ iReport ทำให้ผู้คนโดยเฉพาะชาวอเมริกันเมื่อพบกับเหตุภัยพิบัติใดๆ หรือเกิดเหตุร้าย เหตุด่วน อาชญากรรมตรงหน้า พวกเขาจะไม่รีรอที่จะหยิบโทรศัพท์มือถือ หรือกล้องวีดีโอขึ้นมาเก็บภาพดังกล่าวแล้วรีบวิ่งหาคอมพิวเตอร์ อัพโหลดภาพเหตุการณ์ข่าวนั้นๆ พร้อมเขียนข่าวส่งให้ CNN

อย่างเช่นเหตุการณ์เด็กวัยรุ่นชาวเกาหลีใต้สังหารหมู่เพื่อนนักศึกษาใน Virginia Tech เมื่อเดือนเมษายน 2550

ในขณะที่นักข่าวมืออาชีพยังไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่เกิดเหตุ แต่มีนักศึกษาคนหนึ่งชื่อ Jamal Albarghouti ซึ่งอยู่ใกล้ที่เกิดเหตุ ถ่ายภาพข่าวด้วยกล้องในโทรศัพท์มือถือแล้วส่งมาให้ iReport

แม้ว่าในคลิปวีดีโอนี้จะไม่เห็นเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น เพราะถ่ายจากนอกอาคารเกิดเหตุ แต่เสียงปืนที่ดังลั่นยี่สิบกว่านัดทำให้คนดูจิตนาการความโหดร้ายในนั้นได้อย่างชัดเจน

แน่นอนครับว่า หลังจากส่งไปยังเวบ iReport เครือข่ายของเคเบิลทีวีข่าว CNN ต้องรีบนำคลิปวีดีโอข่าวของนักศึกษาคนนี้ยิงขึ้นจอทีวีถ่ายทอดสดออกทั่วโลกซ้ำแล้วซ้ำเล่า

หลังจากนั้นปรากฏการณ์สะพาน Minneapolis พัง เหตุการณ์ไฟป่า หรือพายุทอนาโดถล่มในสหรัฐอเมริกา ฯลฯ CNN ล้วนได้คลิปวีดีโอเด็ดๆใหม่สดจากสถานที่จริง ด้วยฝีมือของนักข่าวพลเมือง

ล่าสุดเมื่อพฤศจิกายน 2550 CNN ได้ตัดสินใจทำ iReport ใน Second Life ซึ่งเป็นโปรแกรมโลกเสมือนจริง (the virtual world) สุดฮิตในขณะนี้ โดยเปิดโอกาสให้พลเมืองใน Second Life นำเสนอข่าวสารความเป็นไปในโลกเสมือนแห่งนี้

พูดง่ายๆคือ ให้คนเล่น Second Life เป็นนักข่าวพลเมือง คอยรายงานข่าวเกี่ยวกับ Second Life นั่นเอง

ส่วน BBC ก็ไม่ยอมน้อยหน้าครับ เปิดโอกาสให้คนเสพข่าวสารของเขาเป็นผู้ส่งข่าวสารให้กับ BBC ด้วยเช่นกัน ที่ฮือฮามากที่สุดน่าจะเป็นภาพการลอบวางระเบิดในสถานีรถไฟใต้ดิน กรุงลอนดอน เมื่อเดือนกรกฎาคม 2548

ตอนนั้นนักข่าวมืออาชีพทุกสำนักข่าวเข้าไม่ถึงจุดเกิดเหตุ แต่ผู้ประสบเหตุในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินใช้โทรศัพท์มือถือของตนถ่ายภาพเก็บเหตุการณ์เอาไว้ ทั้งภาพนิ่งและคลิปวีดีโอถูกทยอยนำออกมาเผยแพร่ผ่าน BBC

ภาพเหล่านั้นแสดงให้เห็นถึงพลังของนักข่าวแบบบ้านๆ ผู้ซึ่งไม่ได้ผ่านการอบรมทักษะวิชาชีพด้านนักข่าวจากสถาบันการศึกษาด้านนิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ รวมทั้งไม่ได้ผ่านการเคี่ยวบ่มจากโต๊ะข่าว หรือกองบรรณาธิการข่าวของสำนักข่าวใดสำนักข่าวหนึ่ง

นั่นเป็นปรากฏการณ์ของสำนักข่าวและเครือข่ายสื่อสารมวลชนระดับโลก แล้วเมืองไทยละครับ

ในเมืองไทย สื่อหลายๆแห่งเริ่มขยับตัวต้อนรับกระแสวารสารศาสตร์พลเมืองเหมือนกัน แต่ที่ออกตัวแรงสุด น่าจะเป็นค่ายเนชั่น

ทั้งนี้เพราะหัวเรือใหญ่อย่างคุณสุทธิชัย หยุ่น ออกมาชักธง”นักข่าวพลเมือง” เดินลุยสั่งนักข่าว คอลัมนิสต์ในสังกัดเขียน Blog ใน //www.oknation.net/

พร้อมทั้งนั้นยังเชื้อเชิญคนอ่านมาร่วมเป็นนักข่าวพลเมือง ซึ่งทางค่ายเนชั่นเรียกขานว่า “นักข่าวอาสา” นำเสนอเรื่องราวข่าวสารใน Blog ของค่ายเนชั่น

โดยยึดสโลแกน “ทุกคนเป็นนักข่าวได้”

เชื่อไหมครับว่า ข่าวหลายชิ้นของผู้สื่อข่าวพลเมืองในสังกัดของค่ายเนชั่นถูกหยิบยกมาขยายผลต่อเนื่องในสื่อกระแสหลักอื่นๆ อาทิเรื่องหมอกควันพิษที่จังหวัดเชียงใหม่ เรื่องปัญหาวุฒิการศึกษาของรัฐมนตรีผู้อ้างว่าเรียนจบจากมหาวิทยาลัยในประเทศฟิลิปินส์ ฯลฯ

กระแสนักข่าวพลเมืองปลุกให้ Blog ของค่ายเนชั่นมีชีวิตชีวา และมีลูกค้าติดตามมาไม่น้อย

ส่วนค่ายพี่ใหญ่แห่งวงการสื่อสิ่งพิมพ์อย่างไทยรัฐ ก็ขยับตัวตามกระแสวารสารศาสตร์พลเมือง เช่นกัน เพียงแต่ไทยรัฐไปจับกลุ่มเป้าหมายที่นิสิต นักศึกษา ด้วยการทำโครงการไทยรัฐ-กระปุก รีพอร์เตอร์ อันเป็นการร่วมมือกันระหว่างเวบไทยรัฐออนไลน์กับเวบไซด์กระปุกดอทคอท เวบไซด์วัยรุ่นยอดฮิตของเมืองไทย

โครงการนี้ไปรับสมัครนิสิตนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาหลายแห่งทั่วประเทศ หลังจากนั้นคัดเลือกเหลือเด็กนักศึกษาจำนวนหนึ่งไปฝึกอบรมการทำข่าวส่งเวบไทยรัฐ แล้วปล่อยให้เยาวชนเหล่านี้กลับไปสถาบันการศึกษา เพื่อเป็นนักข่าวส่งข่าวเกี่ยวกับรอบรั้วมหาวิทยาลัยมาให้เวบไทยรัฐ โดยมีหัวหน้าข่าวของโต๊ะข่าวไทยรัฐออนไลน์เป็นผู้กลั่นกรอง ขัดเกลาภาษาอีกครั้งหนึ่ง

นอกจากนั้นสถานีโทรทัศน์ของไทยหลายแห่ง โดยเฉพาะทีวีสาธารณะช่องใหม่ของไทย ต่างหันมาสนใจเกี่ยวกับนักข่าวพลเมือง ด้วยการเริ่มเปิดโอกาสให้ชาวบ้านสามารถส่งข่าวเข้ามายังสถานีโทรทัศน์ได้ง่ายขึ้น จากเดิมที่เปิดรับข่าวเฉพาะจากนักข่าวสติ๊งเกอร์ หรือนักข่าวท้องถิ่นเฉพาะกิจของตนเองเท่านั้น

รู้ไหมครับว่า ตอนนี้สถานีข่าวบางแห่งเตรียมโครงการฝึกอบรมนักข่าวพลเมืองขึ้นตามจังหวัดต่างๆทั่วประเทศไทย ด้วยหวังจะมีข่าวสดจากท้องถิ่น อันเป็นเรื่องราวและเสียงจากชาวบ้านตัวจริง

ครับ...นี่คือเรื่องราวของ สื่อกระแสหลักที่ให้ความสำคัญกับเทรนด์”วารสารศาสตร์พลเมือง” แต่ปัญหาคือ สื่อกระแสหลักเหล่านี้ถึงที่สุดก็ยังไม่ไว้ใจชาวบ้าน ซึ่งแปลงบทบาทมาเป็นนักข่าวอยู่ดี

ด้วยสื่อกระแสหลักมองว่า คนเหล่านี้ขาดทักษะการทำข่าวอย่างมืออาชีพ
นั่นคือ ขาดความเป็นกลางในการนำเสนอเรื่องราว ข่าวสาร ขาดความสมดุลของข่าว ขาดเทคนิคในการนำเสนอเรื่องราวข่าวให้น่าสนใจ


ดังนั้น สิ่งที่สื่อกระแสหลักทำจึงเป็นการมุ่งเน้นเรื่องฝึกอบรมให้ชาวบ้านหรือผู้สวมบทบาทนักข่าวพลเมืองมีทักษะในการทำข่าวแบบมืออาชีพ หรือไม่ก็ใช้วิธีให้นักข่าวพลเมืองส่งเรื่องราวข่าวสาร ภาพ คลิปวีดีโอมายังโต๊ะข่าว หรือกองบรรณาธิการข่าว เพื่อให้นักข่าวมืออาชีพกลั่นกรอง เซ็นเซอร์ ตรวจสอบ ดัดแปลงให้ข่าวชิ้นนั้นมีคุณค่าข่าวก่อนนำเสนอออกไปผ่านสื่อกระแสหลัก

นั่นแหละครับ ทำให้นักข่าวพลเมืองจำนวนหนึ่งรู้สึกอึดอัด และมองหาแหล่งระบายข่าวสารของข้อมูลตน โดยมีอิสระไม่ขึ้นตรงกับสำนักข่าว หรือเครือข่ายของสื่อกระแสหลัก

.....................................................................................................
บทความนี้ผมเขียนลง ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Thaicoon ฉบับที่เดือน พฤษภาคม 2551




 

Create Date : 25 มิถุนายน 2551    
Last Update : 25 มิถุนายน 2551 1:17:39 น.
Counter : 624 Pageviews.  

1  2  3  

สายน้ำกับสายเมฆ
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




Locations of visitors to this page

Tracked by Histats.com
Friends' blogs
[Add สายน้ำกับสายเมฆ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.