Group Blog
 
All Blogs
 

เมื่อลูกเริ่มเล่นคอมฯ

บ่ายวันอาทิตย์ ขณะนั่งทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ ซึ่งวางเด่นอยู่ในห้องอเนกประสงค์ประจำบ้าน เจ้าลิงน้อยผู้พี่วัย 5 ขวบ ทำเนียนถามผมว่าทำอะไรอยู่ แล้วค่อยๆเดินตรงมาหา ก่อนหลุดปากบอกเจตนาของตนเองว่า

“ป๊าครับ..ขอเล่นเกมส์ในคอมพิวเตอร์หน่อยนะครับ”

“แล้วลูกเล่นเป็นหรือ” ผมอดแปลกใจไม่ได้ เพราะปกติผมไม่อนุญาตให้เขาหรือน้องชายยุ่งกับเครื่องคอมพิวเตอร์มาก่อน สอบถามดูได้ความว่า ตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นอนุบาล 2 เขาก็เริ่มสัมผัส เรียนรู้ทักษะการใช้คอมพิวเตอร์อย่างง่ายๆมาจากโรงเรียน

และแน่นอนครับว่า ส่วนหนึ่งของการเรียนรู้เกี่ยวกับการใช้คอมฯ คือการเล่นเกมส์ ?!?

ผมเปิดเกมส์ขับรถแข่งอย่างง่ายๆ ให้เขาเล่นชั่วครู่ ก่อนชวนให้ไปอ่านหนังสือนิทานเล่มโปรดกับแม่และน้อง เมื่อเจ้าหนูยอมผละจากเครื่องคอมฯ ผมนั่งครุ่นคิดเกี่ยวกับการใช้คอมพิวเตอร์ของลูก...

ยอมรับครับว่า ผมมีภาพหลอนเกี่ยวกับการใช้คอมพิวเตอร์ของเด็กและเยาวชนในยุคนี้

เพราะนักศึกษาที่ผมสอนอยู่จำนวนไม่น้อยมีพฤติกรรม “เสพติดเกมส์คอมพิวเตอร์” พวกเขามักเอาเวลาเรียนไปขลุกอยู่ในร้านเกมส์ ซึ่งเปิดบริการอยู่รอบรั้วมหาวิทยาลัย เล่นชนิดหามรุ่งหามค่ำก็หลายคน บางคนเรียนไม่จบ เพราะมัวอยู่ในร้านเกมส์มากกว่าห้องเรียน

แล้วไม่เพียงแต่พฤติกรรมติดเกมส์เท่านั้นนะครับ เด็กหลายคนถูกมิจฉาชีพล่อลวงผ่านเครือข่ายออนไลน์ในห้องแชท ห้องพูดคุยหลากหลายรูปแบบ เหยื่อโชคร้ายบางคนถูกล่วงละเมิดทางเพศ บางคนต้องสังเวยชีวิตกับการหลงเชื่อคนแปลกหน้าในโลกออนไลน์

เหตุการณ์เหล่านี้ล้วนปรากฏเป็นข่าวให้เราเห็นอยู่บ่อยครั้ง ทั้งข่าวในประเทศและข่าวต่างประเทศ ทำให้ผมค่อนข้างซีเรียจกับการใช้คอมพิวเตอร์ของลูก

จากการค้นหาข้อมูล ข้อแนะนำของเหล่ากูรูผู้รู้ดีเรื่องพัฒนาการด้านเด็ก นักจิตวิทยาทั้งไทยทั้งเทศล้วนให้ความเห็นสอดคล้องกันว่า ยุคสมัยนี้จะห้ามปรามเด็กไม่ให้ใช้คอมพิวเตอร์ ไม่ให้เล่นเกมส์ออนไลน์ คงเป็นไปได้ยาก เพราะคอมพิวเตอร์กลายเป็นส่วนหนึ่งของอุปกรณ์การเรียน การสอนยุคโลกาภิวัตน์ไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม พ่อแม่ ผู้ปกครองพึงดูแล ควบคุม และจำกัดขอบเขตการเล่นอินเตอร์เน็ท หรือการใช้คอมพิวเตอร์ของลูกหลานให้อยู่ในความเหมาะสม พอดี

โดยเริ่มจากผู้เป็นพ่อแม่ผู้ปกครองต้องพยายามรู้เท่าทันเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต หากคุณพ่อ คุณแม่คนไหนยังใช้อุปกรณ์เหล่านี้ไม่เป็น หรือไม่คล่องคงต้องหาเวลาร่ำเรียนฝึกฝนให้ชำนาญก่อนลูกตัวเล็กๆจะเติบใหญ่ มิเช่นนั้นคุณอาจถูกลูกสุดที่รักหลอกล่อเปิดเข้าไปในเวบต้องห้าม ซึ่งมีอยู่เกลื่อนโลกไซเบอร์

นอกจากนั้น หากพ่อแม่คนไหนมีพฤติกรรมเลี้ยงลูกด้วยการเปิดคอมพิวเตอร์ให้เล่นตามลำพัง หรือเปิดวีดีโอเกมส์ให้เล่น ด้วยหวังให้ลูกยอมนั่งสงบเสงี่ยมอยู่หน้าจอสี่เหลี่ยม คงต้องทบทวนวิธีการกันหน่อยละครับ

ใช่ครับถึงแม้ว่าเทคนิคนี้จะทำให้คุณมีเวลาว่างสำหรับปฏิบัติภารกิจส่วนตัว หรือทำงานบ้านได้มากขึ้น แต่นั่นหมายถึง คุณเปิดโอกาสให้ลูกติดเกมส์ หรือตกเป็นเหยื่อของอาชญากรออนไลน์มากขึ้นเช่นกัน ดังนั้นควรหากิจกรรมให้เด็กๆได้ทำระหว่างอยู่บ้าน เช่นการวาดรูป เล่นดนตรี อ่านหนังสือ ฯลฯ

ขณะเดียวกัน พ่อแม่ผู้ปกครองต้องกำหนดระยะเวลาการใช้คอมพิวเตอร์ร่วมกับลูกๆ ให้ชัดเจนไปเลยครับว่า สามารถเล่นคอมพิวเตอร์ได้วันละกี่นาที จากนั้นให้เขียนข้อตกลงร่วมติดเอาไว้ในสถานที่ที่ลูกๆสามารถเห็นได้อย่างชัดเจน แล้วยึดถือเป็นกฎเหล็กประจำบ้าน ไม่ใช่เดี๋ยวพอเจอลูกอ้อน หรือลูกตื้อขอต่อเวลาการเล่นคอมฯอีกครึ่งชั่วโมงก็ยอม ทำให้กฎกติกาไร้ความหมายไปในที่สุด

แต่ที่สำคัญคือ ระหว่างลูกใช้คอมพิวเตอร์ควรมีผู้ใหญ่นั่งประกบเพื่อคอยสอน และคอยเตือนหากลูกเริ่มมีทีท่าอาการเล่นเกมส์ไม่ยอมเลิก หรือเริ่มแชทคุยกับคนแปลกหน้า ฯลฯ

เครื่องคอมพิวเตอร์ก็ไม่ควรวางอยู่ในห้องนอนลูกนะครับ ควรจัดวางอยู่ในพื้นที่ส่วนกลางของบ้าน ผู้ใหญ่สามารถมองเห็นได้ตลอดเวลา

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเราๆท่านๆ ผู้เป็นพ่อแม่จะคอยปกป้อง คอยเซ็นเซอร์เวบไซด์ไม่พึงประสงค์ไม่ให้ลูกเข้าไปดู แต่ด้วยการที่เด็กรุ่นใหม่เขาเรียนรู้คอมพิวเตอร์มาตั้งแต่วัยอนุบาล เขาย่อมสามารถหาทางซิกแซก หลบเลี่ยงเข้าเวบต้องห้าม หรือเข้าไปรู้จักเพื่อนแปลกหน้าในเครือข่ายออนไลน์ได้ไม่ยากนัก

อืม...ว่ากันตามตรง เรื่องทำนองนี้ ยิ่งห้ามก็เหมือนยิ่งยุครับ

ทางที่ดีคือให้เด็กได้เรียนรู้ถึงโทษภัยของอินเตอร์เนท คอมพิวเตอร์ด้วยตนเองน่าจะช่วยให้เขาระงับจิตใจ ไม่หลงเป็นเหยื่อในโลกไซเบอร์

การเรียนรู้ด้านมืดของสื่อออนไลน์ต้องเริ่มสอนตั้งแต่ลูกหลานของเรายังเป็นเด็กเล็กๆ ตั้งแต่เขาเพิ่งสัมผัส เรียนรู้การใช้คอมพิวเตอร์ ให้เขาค่อยๆซึมซึบว่า นอกจากประโยชน์ของคอมพิวเตอร์ในการเรียนรู้โลกกว้างแล้ว มันยังมีด้านอันตรายที่พึงระวังอีกด้วย

เมื่อใดที่มีข่าวเหยื่อถูกล่อลวงผ่านสื่อคอมพิวเตอร์ก็ต้องรีบหยิบยกมาเป็นกรณีตัวอย่าง ให้ลูกหลานได้ลองขบคิดว่า ถ้าเป็นเขาจะยินยอมออกจากบ้านเพื่อไปพบคนแปลกหน้าจากโลกออนไลน์หรือไม่ เพราะอะไร

การสอนให้ลูกหลานรู้เท่าทันสื่อเทคโนโลยีใหม่ๆเหล่านี้ ก็เสมือนการฉีดวัคซีนให้พ้นโรคภัยจากคอมพิวเตอร์นั่นเอง


.......................................................................................................................................................................
บทความนี้ผมเขียนลง ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Mother & Care ฉบับที่ 58 เดือน ตุลาคม 2552




 

Create Date : 15 ตุลาคม 2552    
Last Update : 11 พฤศจิกายน 2552 23:15:25 น.
Counter : 678 Pageviews.  

สอนลูกเป็น...ผู้ให้

ระหว่างสอนเรื่อง Corporate Social Responsibility (CSR) หรือ “ความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจ” ให้กับนักศึกษาในสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่ง ผมโยนคำถามให้พวกเขาได้แสดงความคิดเห็นกันว่า

“...ถ้าไม่ต้องแคร์เรื่องภาพลักษณ์ หรือภาพพจน์ขององค์กรธุรกิจแล้ว จำเป็นไหมที่องค์กรธุรกิจต้องทำอะไรให้กับสังคม…

...หรืออีกนัยหนึ่ง พวกคุณจะช่วยเหลือสังคมไหม ถ้าไม่มีคนรับรู้ หรือเห็นสิ่งที่พวกคุณทำ...”

คำตอบนั้นหลากหลายมากครับ แต่มีเด็กนักศึกษาจำนวนไม่น้อย ตอบอย่างจริงใจประมาณว่า ถ้าให้ช่วยเหลือสังคมฟรีๆ พวกเขาไม่ทำแน่นอน

เรื่องนี้ สอดคล้องกับงานวิจัยหลายๆชิ้นที่ผมเคยอ่านผ่านตาว่า คนรุ่นใหม่ในสังคมไทยนับวันจะยิ่งขาดจิตสาธารณะ (Public Consciousness) มากขึ้น หมายถึง ขาดการตระหนักรู้ หรือคำนึงถึงส่วนรวม ไม่ค่อยคิดถึงคนอื่นซึ่งร่วมสัมพันธ์อยู่ในสังคมเดียวกัน

ในยุคสมัยแห่งการแก่งแย่ง แข่งขันเช่นปัจจุบัน ผมเชื่อว่า ไม่ใช่เฉพาะเด็ก หรือวัยรุ่นเท่านั้นที่เป็นแบบนี้ แม้แต่ผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคมก็มีทัศนคติคล้ายกับคนรุ่นใหม่ นั่นคือ...ถ้าจะทำบุญ ทำกุศล ช่วยเหลือสังคมต้องตีปี๊บ ป่าวประกาศผ่านสื่อ ผ่านคนรู้จักบอกชาวโลกให้รู้ว่า ตัวฉัน หรือองค์กรของฉันเป็นคนดี มีจิตเมตตา ช่วยเหลือสังคม

แต่ถ้าไม่มีใครเห็น ไม่มีใครรับรู้ คนประเภทนี้จะเมินเฉยต่อความเป็นไปของผู้คนในสังคม ทำนองว่า ใครเป็นอะไรก็ช่าง ขอให้ฉันสุขสบายเป็นพอ

มิหน่ำซ้ำบางทีคนกลุ่มนี้พร้อมซ้ำเติม ทำร้ายสังคมได้เสมอ ด้วยคิดว่า “ไม่เป็นไร ใครๆเขาก็ทำกัน” เราๆท่านๆจึงเห็นข้าวของ เครื่องใช้ตามสถานที่สาธารณะต่างๆไม่ว่าจะเป็นตู้โทรศัพท์ เสาไฟฟ้า ถูกทุบทำลายอยู่บ่อยๆ หรือเห็นการทิ้งขยะ ทิ้งน้ำเน่าเสีย ลงลำน้ำ แม่น้ำสาธารณะ ฯลฯ

ถึงตรงนี้ ผมอดคิดไม่ได้ว่า แล้วเราอยากให้ลูกหลานของเราเติบใหญ่ขึ้นมาเป็นคนเก่ง ฉลาด ร่ำรวย แต่ไร้น้ำใจกับเพื่อนมนุษย์ ไม่แคร์สังคม ทำทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์ของตนเองกระนั้นหรือ

ถ้าคำตอบของเราคือ ต้องการลูกหลานเป็นผู้มีหัวใจให้กับเพื่อนมนุษย์ รู้จักเป็น “ผู้ให้” กับคนอื่นและสังคม ไม่ใช่หวังแต่กอบโกย เราคงต้องเริ่มบ่มเพาะลูกหลานตั้งแต่เด็กเล็กๆให้เรียนรู้จัก “การให้”... “การเสียสละ”...”การบำเพ็ญประโยชน์เพื่อผู้อื่น”

ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กต่างมีความเห็นสอดคล้องกันว่า ถ้าต้องการสอนเด็กตัวน้อยๆให้มีพฤติกรรม มีทัศนคติอย่างไร หนทางดีที่สุดคือ สอนผ่านการกระทำของพ่อแม่ผู้ปกครอง

ดังนั้น เราอาจเริ่มจากชีวิตประจำวัน ตื่นเช้าขึ้นมาทำบุญตักบาตร โดยให้ลูกหลานมีส่วนร่วมในกิจกรรม เช่น ช่วยจัดเตรียมข้าวของเครื่องใช้ในการทำบุญ พร้อมทั้งอธิบายถึงความหมาย ความสำคัญของกิจกรรมนั้นๆให้เด็กได้เรียนรู้

หรืออาจจัดหากิจกรรมกระตุกจิตสำนึก ?!?

อย่างเจ้าอั๋นเพื่อนสุดเลิฟคนหนึ่งของผม เขาติดต่อไปโรงเรียนสอนคนตาบอดว่าจะเข้าไปทำบุญเลี้ยงอาหารกลางวันแก่เด็กพิการผู้เคราะห์ร้าย แต่แทนที่จะไปเองคนเดียว เขากลับชักชวนเพื่อนฝูงและหลานๆในบ้านให้ไปร่วมกิจกรรมทำบุญด้วยกัน

ในตอนแรก ผู้ไปเยือนต่างรู้สึกขัดขืน แปลกที่ โดยเฉพาะเหล่าหลานวัยประถมดูจะออกอาการเกร็งเป็นพิเศษ ยิ่งเห็นเด็กพิการซึ่งผิดปกติไปจากพวกเขา ยิ่งทำให้พวกเขารู้สึกหวาดกลัวกึ่งระแวง แต่หลังจากใช้เวลาสัมผัสเรียนรู้ พูดคุยกันสักพัก พวกเขากลับสนุกสนานที่ได้พูดคุย เล่นเกมส์เฮฮากับเพื่อนใหม่วัยไล่เลี่ยกัน

นับจากนั้นเป็นต้นไป หลานของเจ้าอั๋นมักรบเร้าให้พาไปโรงเรียนแห่งนี้ เพื่อช่วยอ่านหนังสือให้กับเพื่อนผู้ขาดโอกาสในการมองเห็น

นอกจากโรงเรียนแห่งนี้แล้ว เราอาจหาลูกหลานไปทำบุญ ทำกุศล เป็นอาสาสมัครช่วยเหลือคนเฒ่าคนแก่ในบ้านพักคนชรา หรือสอบถามไปตามสถานสงเคราะห์เด็กอ่อนต่างๆว่าต้องการความช่วยเหลืออะไรบ้าง

หรืออาจจะชักชวนกันไปบริจาคข้าวของเครื่องใช้ เสื้อผ้า ของเล่น หรือหนังสือนิทาน การ์ตูนให้กับผู้ขาดแคลน

อย่างไรก็ตาม บางครั้งเด็กตัวน้อยๆอาจไม่ให้ความร่วมมือก็ต้องทำใจหน่อยนะครับ

อย่างเช่นกรณีของเจ้าแสบประจำบ้านผม เมื่อคุณแม่ของเขาตัดสินใจจะนำหนังสือนิทาน ซึ่งมีอยู่มากมายล้นตู้หนังสือไปบริจาคให้กับโรงเรียนในชนบท ด้วยหวังให้เด็กยากจนในต่างจังหวัดได้อ่านหนังสือนิทาน เปี่ยมคุณค่าเหมือนกับเด็กในเมือง

แต่พลันที่เจ้าเสือน้อยคนพี่รู้ว่าจะเอาหนังสือไปให้คนอื่น เจ้าหนูร้องไห้ลั่นบ้าน ไม่ยอมท่าเดียวครับ ขนาดบอกว่า “หนังสือนิทานพวกนี้ เก่าแล้ว อ่านจนเบื่อ...จนไม่อ่านแล้วไม่ใช่หรือ” เขาก็ไม่สนใจ

ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กเล็กแนะนำผมว่า กรณีเช่นนี้เป็นเพราะเด็กยังหวงข้าวของ รู้สึกทุกอย่างเป็นของตนเอง แม้แต่ของที่ตนไม่ใช้ ไม่ต้องการแล้วก็ไม่อยากจะเอาไปให้คนอื่น

ทางออกที่ดีคือ ให้เด็กเลือกเองว่าจะบริจาคของเล่น เครื่องใช้ หรือหนังสือเก่าชิ้นไหน เล่มใดไปให้คนอื่น เพื่อว่าบ้านจะได้มีพื้นที่ว่างสำหรับของเล่นใหม่ หนังสือใหม่

เหล่านี้คงเป็นตัวอย่างกิจกรรมซึ่งคนเป็นพ่อแม่สามารถคัดสรรมาให้ลูกหลานได้มีส่วนร่วมคิด ร่วมกระทำ ในการแสดงบทบาทของ “ผู้ให้” โดยระหว่างทำกิจกรรมเราก็สามารถพูดคุยให้เด็กตระรู้ถึงคุณค่าของการเป็น “ผู้ให้”

ครับ มาร่วมกันสอนลูกหลานเป็น “ผู้ให้” กันเถอะ ก่อนจะไม่มี “ผู้ให้”ในสังคมไทยเลย

.......................................................................................................................................................................
บทความนี้ผมเขียนลง ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Mother & Care ฉบับที่ 57 เดือน กันยายน 2552




 

Create Date : 13 กันยายน 2552    
Last Update : 13 กันยายน 2552 21:41:11 น.
Counter : 595 Pageviews.  

เมื่อลูกเรียนภาษาที่สอง

ปีนี้ เจ้าลูกชายคนโตของผมเรียนชั้นอนุบาล 3 แล้วครับ หลังจากเริ่มเรียนไปได้ร่วมสัปดาห์ เย็นวันหนึ่ง ขณะจอดรถเข้าบ้าน ผมเห็นไอ้หนูยิ้มหน้าบานเหมือนรออวดอะไรสักอย่าง รถยังไม่ทันจอดสนิทดี เขารีบวิ่งรี่ตรงมาหาผม

“สวัสดีครับป๊ะป๊า...วันนี้เรียนกับคุณครูฝรั่งด้วยครับ ครูชื่อเรลล์ ครูพูดไทยไม่ได้ พูดแต่ภาษา อังกฤษ...” เจ้าแสบประจำบ้านพูดจ้อ พลางดึงแขนผมลงจากรถ

“แล้วลูกคุยกับครูฝรั่งเขารู้เรื่องหรือครับ” ผมอดสงสัยไม่ได้

“เออ...เออ...รู้เรื่องสิครับ...สายน้ำเกิดเมืองนอกนี่ครับ ต้องรู้อยู่แล้วแหละ เพื่อนๆคุยกับคุณครูเรลล์ไม่ได้ เพราะไม่ได้เกิดเมืองนอก...” เจ้าลิงประจำบ้านคุยอวดโอ่ ทั้งที่ความจริงแล้วเขาเกิดที่ซิดนีย์ ออสเตรเลียได้แค่ปีเศษ ผมก็กระเตงกลับเมืองไทย ตอนนั้นยังพูดอ้อๆแอ้ๆไม่เป็นภาษาอยู่เลย

หลังจากนั้น ผมต้องนั่งฟังลูกชายวัย 5 ขวบเศษเล่าโม้เรื่องครูฝรั่งอยู่อีกนาน สรุปความได้ว่าปีนี้เขาได้เรียนภาษาอังกฤษกับคุณครูฝรั่งอาทิตย์ละ 2 วัน โดยมีคุณครูคนไทยนั่งอยู่ด้วย แต่ไม่ได้ช่วยแปล หรือช่วยสอนอะไร ดังนั้นเด็กๆต้องพยายามสื่อสารกับคุณครูฝรั่ง ซึ่งพูดไทยไม่ได้

แน่นอนครับว่า เด็กๆสนุกสนานที่ได้พูดคุย สื่อสาร ยกมือ ยกไม้ ทำท่าทางประกอบคำพูดกับคุณครูชาวต่างชาติ แม้ว่าจะรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้างก็ตามเถอะ

เท่าที่ฟังจากลูก ผมคิดว่า เจ้าทโมนน้อยของผมโชคดีได้รับการปูพื้นฐานเรื่องภาษาอังกฤษจากเจ้าของภาษา

ถือว่าเป็นการเปิดฉากภาษาที่สองของเขาอย่างสนุกสนาน ไม่ต้องมานั่งทุกข์ระทมกับภาษาอังกฤษเหมือนสมัยพ่อแม่

จำได้ว่า ผมเริ่มต้นเรียนภาษาอังกฤษค่อนข้างช้า นั่นคือเริ่มเรียนตอนเข้าประถมปีที่ 5 วิธีการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในยุคนั้น เด็กนักเรียนทุกคนต้องถูกบังคับให้ท่อง ให้เขียน ให้คัดพยัญชนะ A ถึง Z ต้องท่องคำศัพท์วันละ 5 คำ 10 คำ 20 คำ แถมต้องทำแบบฝึกหัดเพื่อจดจำ กฎไวยกรณ์ต่างๆของภาษาอังกฤษ

เรียนไป เครียดไปครับ

ทุกครั้งที่เรียนในห้องเรียนสี่เหลี่ยม ไม่เคยทำให้ผมนึกรักภาษาอังกฤษเลย เพราะนอกจากตอนสอบแล้ว ผมไม่เคยใช้ภาษาอังกฤษนอกห้องเรียนเลยสักครั้ง

ภาษาอังกฤษกับผมดูจะเป็นไม้เบื่อ ไม้เมากันขนาดหนัก จนกระทั่งชะตาชีวิตผลักดันให้ต้องเดินทางไปเรียนต่อที่ออสเตรเลีย

ในห้องเรียนของศูนย์สอนภาษาอังกฤษ ดินแดนดาว์นอันเดอร์ ผมถึงรู้ว่า การเรียนภาษาอังกฤษไม่ใช่มีแต่การท่องจำเหมือนในชั้นเรียนของเมืองไทย แต่ยังมีการเรียนรู้อีกรูปแบบหนึ่ง

นั่นคือการเรียนรู้แบบธรรมชาติ เน้นการลอกเลียนแบบ การสื่อสาร โต้ตอบในชีวิตประจำวัน

คุณครูสอนภาษาอังกฤษของผมบอกว่า “...เด็กทารกยังเรียนรู้เรื่องภาษาได้ โดยไม่จำเป็นต้องท่องศัพท์ได้ หรือเขียนหนังสือเป็น หรือจำไวยกรณ์แม่น แต่เด็กเล็กๆเรียนรู้จากการลอกเลียนแบบคำพูดของพ่อแม่ เรียนรู้จากการลองผิด ลองถูก...

...พวกคุณแม้ว่าจะไม่ได้เรียนภาษาอังกฤษเป็นภาษาแรก แต่สามารถเรียนรู้ได้ด้วยการทำแบบเด็กทารก นั่นคือการลอกเลียนแบบคำพูด เลียนแบบประโยคคำพูด พวกคุณฝึกเองได้จากการฟังวิทยุ ดูโทรทัศน์ อ่านนิตยสารเล่มโปรด อีกอย่างคือการกล้าพูด กล้าลองผิด ลองถูกในการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ...”

ดังนั้นตลอดเวลาร่วมครึ่งปี สำหรับการเรียนภาษาในต่างแดน ครูมีหน้าที่กระตุ้นให้เด็กนักเรียนโข่งจากเชื้อชาติต่างๆ พยายามพูดคุยสื่อสาร แสดงความคิดเห็นผ่านการละเล่น ผ่านเกมส์ ผ่านสันทนาการ หลากหลายรูปแบบ โดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางในการสื่อสาร

แรกๆพวกเรายังขัดเขินในการพูดจา เนื่องเพราะเกร็งกับการใช้ภาษา กว่าจะพูดแต่ละประโยคต้องผ่านการคิดว่า ถูกไวยกรณ์ไหม ใช้ศัพท์ถูกต้องไหม ต้องคอยแปลจากภาษาแม่เป็นภาษาอังกฤษ แต่หลังจากเพื่อนๆในห้องเรียนเริ่มคุ้นชินกันผ่านกิจกรรมต่างๆ ทีนี้ละครับ แย่งพูดกันจนแทบไม่มีคนฟัง

นอกจากการเรียนในห้องเรียนแล้ว การอยู่ต่างแดนในเมืองที่ใช้แต่ภาษาอังกฤษเป็นอีกเงื่อนไขหนึ่งที่ผลักดันให้จำต้องสื่อสารพูดคุยกับคนอื่นให้ได้ อย่างน้อยต้องซื้อข้าว ซื้อน้ำ ขึ้นรถ ลงเรือเดินทางไปมาได้

นั่นทำให้ผมเริ่มรักภาษาอังกฤษอย่างไม่รู้ตัว

หลังจากพวกเรา เหล่านักเรียนต่างชาติเริ่มฟัง เริ่มสื่อสารภาษาอังกฤษพอเอาตัวรอดได้ คุณครูสอนภาษาพาพวกเราไปโรงเรียนของลูกเธอ ที่นั่น เด็กออสซี่เรียนรู้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่อยู่แล้วครับ แต่ภาษาที่สองของโรงเรียนคือ ภาษาจีน

ที่นั่น ผมเห็นเด็กออสซี่วัยอนุบาล วัยประถมทั้งผิวขาว ผิวสี พูดจีนกับคุณครูชาวจีนอย่างสนุกสนาน จนผมคิดว่าอยู่เมืองจีนมากกว่าอยู่ออสเตรเลีย กระซิบถามครูจีนผู้สอนว่าสอนอย่างไรให้เด็กฝรั่งพูดภาษาจีนเก่งอย่างนี้ คุณครูชาวจีนบอกว่า

“...ไม่เห็นต้องทำอะไรเลย แค่พูดภาษาจีนกับเด็ก เล่านิทาน เล่นเกมส์ เป็นภาษาจีน เด็กๆจะค่อยๆเรียนรู้จดจำว่า สิ่งที่เราพูดหมายถึงอะไร โดยธรรมชาติเด็กๆจะสามารถเชื่อมโยงเรื่องคำศัพท์กับภาษาแม่ของตนเอง...”

ในโรงเรียนแห่งนั้น ป้ายทุกป้าย...ไม่ว่าจะเป็นป้ายห้องเรียน ป้ายห้องน้ำ ล้วนมีสองภาษา นั่นคือ ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน เด็กๆจะซึมซับเรียนรู้ทั้งภาษาและวัฒนธรรมของชาวจีนไปโดยธรรมชาติ

ครับ ย้อนกลับมาที่เมืองไทย ผมดีใจที่ลูกได้เริ่มต้นเรียนรู้ภาษาที่สองอย่างธรรมชาติ ในฐานะพ่อแม่ สิ่งที่ช่วยได้คือการสร้างบรรยากาศ สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้หลายภาษา ไม่ว่าจะเป็นการหานิทานสองภาษามาอ่านให้ลูกฟัง หรือหาเพลง หาหนังการ์ตูน เกมส์ภาษาอังกฤษให้เขาได้คุ้นชินเสียง สำเนียงภาษาอื่นๆนอกจากภาษาไทย รวมทั้งพูดคุยสอนประโยคภาษาอังกฤษอย่างง่ายๆให้เขาจดจำแล้วนำไปใช้ ฯลฯ

อืม...ว่าแล้ว ต้องขอตัวไปอ่านนิทาน สองภาษาให้ลูกฟังก่อนนอนเสียหน่อยนะครับ เดี๋ยวลูกคุยกับคุณครูเรลล์ไม่ได้เสียฟอร์มเด็กเกิดที่ซิดนีย์หมด...ฮา !

.......................................................................................................................................................................
บทความนี้ผมเขียนลง ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Mother & Care ฉบับที่ 56 เดือน สิงหาคม 2552




 

Create Date : 22 สิงหาคม 2552    
Last Update : 22 สิงหาคม 2552 22:02:05 น.
Counter : 720 Pageviews.  

ลูก...อย่ามักง่ายนะครับ

หลายวันก่อน ผมเข้าประชุมร่วมกับผู้หลักผู้ใหญ่หลายคนในแวดวงวิชาการ ปรากฏว่าวันนั้นประธานในการประชุมมาสายร่วมชั่วโมง

ท่านประธานเดินเข้าห้องประชุมด้วยชุดยับยู่ยี่ ผมเผ้ากระเซอะกระเซิง เดาได้ไม่ยากว่านั่งรถจักยานยนต์มาประชุม ตอนแรกผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่คิดไปเองว่า คงมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นกับรถยนต์ของท่านประธาน เลยต้องพึ่งรถมอเตอร์ไซด์รับจ้างบึ่งมาประชุม

แต่พวกเราคิดผิดครับ...เพราะหลังจากท่านประธานขอโทษ ขอโพยผู้เข้าร่วมประชุมที่มาสายแล้ว ท่านได้เล่าให้ฟังว่า...

“...ผมออกจากบ้านไม่ได้ครับ มีรถจอดขวางประตูหน้าบ้าน ไม่ได้เข้าเกียร์ว่างไว้ด้วย เข็นเท่าไหร่ก็ไม่ขยับ รอตั้งนานเจ้าของรถก็ไม่มาเลื่อนรถออกไป เลยต้องนั่งมอเตอร์ไซด์รับจ้างแถวบ้านมาประชุมแทน ต้องขอโทษด้วยนะครับ...”

เหตุการณ์เช่นนี้ผมเข้าใจอารมณ์และความรู้สึกของท่านประธานดี เพราะผมเจอเองเป็นประจำ เนื่องจากบ้านอยู่ติดถนนใหญ่ แล้วดันเคราะห์ร้ายไปอยู่ใกล้โรงเรียนกวดวิชาภาษาอังกฤษชื่อดัง ด้วยเหตุนี้ทุกวันทำงานในช่วงเย็นถึงค่ำจะมีรถยนต์ของผู้ปกครองมาจอดรอรับส่งลูกหลานเป็นแถวยาวเหยียดเต็มถนนหน้าบ้านไปหมด อ้อ...วันเสาร์-อาทิตย์ก็ไม่เว้นนะครับ เพราะโรงเรียนกวดวิชาเขาเปิดตลอดทั้ง 7 วัน

เวลาขับรถเข้า-ออกจากบ้าน ผมต้องคอยลุ้นครับว่ามีรถจอดขวางหน้าประตูบ้านหรือไม่

บางวันโชคร้าย ทำงานเสร็จในตอนเย็น ขับรถฝ่าการจราจรติดขัดมาถึงบ้าน ตั้งใจจะได้พักให้หายเหนื่อย แต่ปรากฏว่าเลี้ยวรถเข้าบ้านไม่ได้ เพราะมีรถจอดขวางหน้าประตูบ้านเอาไว้

มันน่าเจ็บใจนะครับ เห็นบ้านอยู่ตรงหน้าแต่เลี้ยวรถเข้าบ้านไม่ได้ เจอแบบนี้ เซ็งเลยครับ ยิ่งเจอแทบทุกวัน ยิ่งเครียด เพราะไม่ว่าจะใช้วิธีเขียนป้าย “กรุณาอย่าจอดรถขวางหน้าประตู” อย่างไรก็ไร้ผล

เพราะคนมักง่าย ยึดเอาแต่ความสะดวกของตนเอง โดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของคนอื่นเขาไม่สนใจอ่านป้ายอะไรหรอกครับ

ที่น่าเศร้าใจคือ คนมักง่ายนับวันจะยิ่งมีมากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะเรื่องจอดรถขวางทางเข้าออกคนอื่นเพียงอย่างเดียวนะครับ อย่างที่เห็นกันเป็นประจำคือการจอดรถรับส่งลูกหลานตามโรงเรียนต่างๆ

ถ้าแค่จอดชะลอให้ลูกหลานรีบเดินลงไปเข้าโรงเรียนเองยังพอว่านะครับ แต่บางคนจอดแช่ร่วมครึ่งชั่วโมง ไม่สนใจว่าการจราจรแถวนั้นจะติดขัดอย่างไร ขอให้ฉันได้จอดเป็นพอ บางโรงเรียนถึงกับจอดซ้อนกันสองแถวสามแถวเลยครับ

หรือบางรายเป็นพวกรักสัตว์ เลี้ยงหมาเอาไว้เป็นเพื่อน หรือไว้เฝ้าบ้าน ทุกเช้าเย็นจะพาหมาเดินเล่นแล้วปล่อยให้ขับถ่ายหน้าบ้านคนอื่น พอหมาเสร็จกิจธุระ เจ้าของรีบลากจูงหมากลับบ้าน ปล่อยภาระก้อนโตไว้หน้าบ้านคนอื่น เป็นเช่นนี้ทุกวี่วัน โดยเจ้าของหมาไม่รู้สึกรู้สมอะไร

หรือประเภททิ้งขยะไม่เลือกที่ นึกอยากโยนลงถนน ลงแม่น้ำลำคลอง หรือแม้แต่ในทะเลก็โยนลงไปหน้าตาเฉย

หรือพวกส่งเสียงดังเอะอะโวยวายรบกวนเพื่อนบ้านข้างเคียง ดึกดื่นเที่ยงคืนยังตะเบ็งเสียงร้องเพลง ฯลฯ

ความมักง่ายเหล่านี้ คนทำเขาไม่ได้เดือดร้อนอะไรจากผลของการกระทำของตนเอง ผู้เดือดร้อนคือสังคม คนใกล้ชิด รอบข้าง

แต่ความมักง่ายบางอย่างผู้กระทำอาจได้รับผลของความมักง่ายของตนเอง เช่น ข้ามถนนโดยไม่สนใจสัญญาณไฟจราจร ไม่ใช้สะพานลอยข้ามถนน ขับรถย้อนศร โทรศัพท์ขณะขับขี่รถ ฯลฯ เมื่อประมาท มักง่าย อุบัติเหตุย่อมเกิดขึ้นได้ชั่วพริบตา

ถึงตรงนี้...ผมคิดว่า พ่อแม่ผู้ปกครองทุกคนคงไม่อยากให้ลูกหลานของเราเติบโตขึ้นมาเป็นคนมักง่าย

แต่ปัญหาคือ จะสอนได้อย่างไรหากเรายังมีพฤติกรรมมักง่าย เห็นแก่ความสะดวกสบายส่วนตัวเป็นหลัก

ครับ...หากเราไม่อยากให้ลูกมักง่าย ต้องเริ่มจากตัวเราไม่มักง่ายก่อน !

แน่นอนว่า การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเช่นนี้เป็นเรื่องยาก เพราะคนเรามักมีข้ออ้างให้กับความมักง่ายของตนเอง เช่นจอดรถขวางทางเข้าออกคนอื่น ก็คิดว่า “ไม่เป็นไร แค่เดี๋ยวเดียวเอง คงไม่มีรถเข้าออก” หรือ “ไม่เป็นไร ใครๆเขาก็ทำกัน”

แต่ถ้าเราเอาใจเขามาใส่ใจเรา คิดว่าหากโดนคนอื่นกระทำเช่นนี้บ้าง เราจะรู้สึกอย่างไร ผมเชื่อว่าทุกคนย่อมรู้สึกไม่พอใจ คล้ายคลึงกัน

ทีนี้หากเราเผลอ ลืมคิดถึงสิทธิของผู้อื่น คนรอบข้างอาจต้องช่วยกันตักเตือน

อย่างครอบครัวเพื่อนผมรายหนึ่ง เขาเปิดกว้างให้ทุกคนในครอบครัวสามารถตักเตือนซึ่งกันและกันได้ แม้แต่ลูกก็สามารถตักเตือนพ่อแม่ได้ด้วยท่วงทำนองอ่อนโยน สามีภรรยาสามารถตักเตือนกันได้ด้วยความรัก ความเมตตา

ซึ่งนั่นหมายความว่า คนเป็นพ่อแม่ต้องลดอัตตาของตนเองลงด้วยนะครับ

ไม่ใช่มัวแต่คิดว่าฉันเป็นพ่อแม่ เธอเป็นลูกมาเตือน มาสอนอะไรฉัน

การเปิดโอกาสให้ลูกตักเตือนพ่อแม่ นั่นหมายถึงเปิดโอกาสให้ลูกสอนตัวเองไปด้วยในตัว

แล้วคำสั่งสอนใดจะดีเท่ากับ การสั่งสอน เตือนตนเองละครับ

.......................................................................................................................................................................
บทความนี้ผมเขียนลง ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Mother & Care ฉบับที่ 55 เดือน กรกฎาคม 2552




 

Create Date : 11 กรกฎาคม 2552    
Last Update : 22 สิงหาคม 2552 22:03:41 น.
Counter : 598 Pageviews.  

พาลูกตะลุยสวนสนุก

ผมเป็นคนชอบเที่ยวสวนสนุกมากครับ ตั้งแต่ยังเป็นวัยเยาว์จนตอนนี้กลายเป็นยาววัย ถ้ามีใครชวนไปเที่ยวสวนสนุก ผมมักไม่ปฏิเสธ

ยิ่งถ้าไปเมืองนอกเมืองนาแล้วมีโอกาสเหมาะ ผมจะรีบตรงดิ่งไปตามแหล่งสวนสนุกของเมือง เพื่อเสพรับความเสียวระทึกจากเครื่องเล่นหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเล่นประเภทรถไฟเหาะตีลังกาหลายๆรอบ กระสุนอวกาศ เรือไวกิ้ง ตกตึก ฯลฯ

แต่ถึงกระนั้น ตั้งแต่มีลูกจนถึงตอนนี้เป็นเวลา 5 ปีเศษ ผมไม่เคยมีโอกาสเหยียบเข้าสู่สวนสนุกอีกเลย เพราะลูกยังเล็กเกินกว่าจะพาไปสนุกสนานในดินแดนแห่งโลกจินตนาการ ลำพังจะหนีเที่ยวคนเดียวกับผองเพื่อนก็กระไรอยู่ จึงเก็บงำความอยากเที่ยวสวนสนุกเอาไว้อย่างมิดชิด

จนเมื่อเร็วๆมานี้ บก.สาวสวยแห่ง Mother & Care ส่งบัตรเที่ยวสวนสนุกมาให้ ผมเลยถือโอกาสปัดฝุ่นความฝัน รีบกระเตงลูกเมียไปตะลุยสวนสนุกทันที

แต่เนื่องด้วยลูก 2 คนยังเล็ก เจ้าแสบผู้พี่เพิ่งย่างเข้าสู่วัย 5 ขวบ ส่วนแสบน้องวัย 2 ขวบครึ่ง ผมจึงต้องเตรียมตัวกับการพาทโมนทั้งสองไปเที่ยวสวนสนุกกันหน่อย

เริ่มตั้งแต่การเตรียมความพร้อมให้ลูกเรียนรู้ถึงสวนสนุกว่าเป็นอย่างไร ถือเป็นการสร้างอารมณ์ลูกก่อนเจอสถานการณ์จริงครับ เพราะคงไม่สนุกนักหากพาเจ้าตัวน้อยไปเที่ยวสวนสนุกแล้วพวกเขาเกิดกลัวเครื่องเล่นแปลกประหลาด หรือกลัวเหล่าตุ๊กตาแมสคอต จนกระทั่งร้องไห้แงๆขอกลับบ้านอย่างเดียว

ด้วยเหตุนี้ผมจึงหาหนังสือนิทาน การ์ตูน เกี่ยวกับสวนสนุกหลายหลายรูปแบบมาเล่าให้ลูกฟังก่อนนอน หลังจากผ่านไปสองสามคืนกับนิทานเรื่องสวนสนุก เด็กๆต่างตั้งตารอวันไปเที่ยวอย่างใจจดใจจ่อ

นอกจากนี้ผมยังดาว์นโหลดแผนที่มาจากเวบไซต์ของสวนสนุกเพื่อวางแผนการเที่ยว อ๊ะอ้า...อย่าเพิ่งขำไปครับ เพราะสวนสนุกส่วนใหญ่มักกินอาณาบริเวณกว้างขวาง นอกจากเครื่องเล่นหลากหลายที่จำกัดว่า เครื่องเล่นชนิดนี้ห้ามเด็กเล็กเล่น เครื่องเล่นประเภทนี้ห้ามผู้ใหญ่เล่นแล้ว ยังมีการแสดงมากมายให้เลือกดูตามรอบการแสดงอีกด้วย หากเราจัดเวลาและเส้นทางการเดินให้เหมาะสม จะทำให้ประหยัดเวลาและใช้การนั่งชมการแสดงเป็นช่วงพักเหนื่อยของเด็กๆไปในตัว

ทีนี้มาถึงวันดีเดย์ ก่อนออกเดินทางไปสวนสนุก ผมเลือกชุดสีสันจัดจ้านให้กับลูกๆ เพื่อจะได้มองเห็นได้อย่างเด่นชัดในฝูงชน ให้พวกเขาใส่รองเท้าผ้าใบคู่ถนัด เพราะต้องเดินไกลกว่าปกติ แถมยังมีหมวกกันแดด ร่ม ยาทากันแดด กระติกน้ำ อาหารว่าง เตรียมเอาไว้เพียบครับ

หลังจากเตรียมอุปกรณ์ทุกอย่างเรียบร้อย ผมไม่ลืมถ่ายรูปของแสบน้อยทั้งสองเผื่อเอาไว้ว่าหากพลัดหลงจะได้บอกกับเจ้าหน้าที่ได้อย่างถูกต้องว่าเด็กๆใส่ชุดไหนอยู่ การตามหาเด็กหลงจะทำได้ง่ายขึ้น

เพราะจากประสบการณ์...ผมเคยเจอพ่อแม่บางคนพลัดหลงกับลูกเล็กในสวนสนุก พอไปบอกให้เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ช่วยประกาศตามหาตัวลูก เจ้าตัวเกิดจำไม่ได้แน่ชัดว่าลูกใส่ชุดสีอะไรอยู่

ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหานี้ผมคิดว่าถ่ายรูปเอาไว้ชัวย์สุด หากใครไม่อยากพกกล้องไปสวนสนุก เพราะกลัวหล่นหายอาจใช้กล้องจากโทรศัพท์มือถือถ่ายเก็บเอาไว้ก่อน ไม่เสียหายนี่ครับ

พูดถึงการพลัดหลง ผมพยายามสอนเจ้าตัวเล็กให้รู้ด้วยว่า หากหลงกับพ่อแม่จะต้องรออยู่ตรงจุดไหน ผมเลือกจุดใหญ่ๆ อย่างร้านขายของเป็นหลักว่า หากหาพ่อแม่ไม่เจอให้มาบอกพวกพี่ๆที่ขายของช่วยโทรศัพท์ให้หน่อย แล้วให้พวกเขาท่องเบอร์โทรศัพท์มือถือของพ่อแม่ ซึ่งผมสอนให้ท่องจนขึ้นใจอยู่ก่อนแล้ว

ทีนี้เมื่อมาถึงสวนสนุก ผมกางแผนที่ซึ่งหยิบจากหน้าประตูทางเข้าให้เจ้าตัวน้อยทั้งสองเรียนรู้ช่วยกันดูแผนที่และสัญลักษณ์ต่างๆในนั้น จำได้บ้างไม่ได้บ้างไม่เป็นไรครับ เพียงแค่อยากให้พวกเขาได้คุ้นเคยกับการอ่านแผนที่

จากนั้นเริ่มลากจูงกันตรงดิ่งไปตามเครื่องเล่นต่างๆ ในเส้นทางซึ่งกำหนดเอาไว้คร่าวๆล่วงหน้า แน่นอนครับว่า ไปเที่ยวสวนสนุกกับลูกตัวเล็กๆเช่นนี้ พวกเครื่องเล่นน่าหวาดเสียวของผู้ใหญ่คงต้องงด ผมได้แต่ลุ้นในใจให้ลูกรีบๆโตจนสามารถเล่นเครื่องเล่นเหล่านั้นกับผม ก่อนตัวผมจะแก่เกินไป

มาเที่ยวสวนสนุก หลักสำคัญที่ผมถือโอกาสสอนลูกคือ “การเข้าคิว” ครับ

เนื่องจากเครื่องเล่นแต่ละชนิดมักมีคนอื่นร่วมเล่นด้วย เครื่องเล่นบางประเภทอาจรอนานหน่อย เด็กๆซึ่งไม่คุ้นชินกับการรออะไรนานๆ อาจจะมีงอแงบ้าง คนเป็นพ่อแม่ต้องงัดสารพัดกลยุทธ์ หลอกล่อสารพัดวิธี ทั้งการชี้ชวนให้ดูโน้น ดูนี่ เล่าเรื่องนั้นเรื่องนี้มาให้เด็กยอมอยู่ในแถว รอเล่นตามลำดับคิว

หลักสำคัญอีกอย่างของการเที่ยวสวนสนุกคือ “หลักความปลอดภัย”

อย่างที่บอกเล่าในตอนต้นว่า เครื่องเล่นในสวนสนุกบางอย่างยอมให้เล่นได้ทุกคน ไม่ว่าวัยไหนก็สามารถสนุกสนานได้ร่วมกัน อันนี้ไม่ค่อยมีปัญหาครับ อย่างมากแค่ระวังอย่าให้ลูกหลานเล่นโลดโผนจนเกินไป อย่างนั่งรถไฟ หรือกระเช้าเคเบิลชมวิวก็ไม่ต้องห้อยโหนโจนทะยานจนเกินเหตุ

แต่เครื่องเล่นบางประเภทที่เขาจำกัดเรื่องอายุหรือจำกัดเรื่องส่วนสูงของเด็กในการเล่นอันนี้ต้องซีเรียจหน่อย อย่าไปหลบเลี่ยงหรือโกงเพื่อให้ลูกได้เล่นเลยนะครับ

อย่างการไปสวนสนุกคราวล่าสุดนี้ ผมเจอพ่อแม่บางคนพยายามให้ลูกวัยรุ่นตัวโตเล่นเครื่องเล่นของเด็กวัยเล็ก เนื่องด้วยความเสียดายเครื่องเล่นในคูปองชุดที่ไม่สามารถเล่นได้ครบทุกอย่าง

โชคดีนะครับ...เจ้าหน้าที่คนดูแลเครื่องเล่นไม่อนุญาตให้เด็กโตคนนั้นเล่น ไม่เช่นนั้นเครื่องเล่นมีโอกาสพัง หรือเสียหายจนทำให้เด็กเล็กๆซึ่งมานั่งเล่นทีหลังเกิดอุบัติเหตุได้

ครับ...เรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินในสวนสนุกคงต้องเกิดจากความร่วมมือกันจากหลายฝ่าย เจ้าของกิจการ หรือเจ้าหน้าที่พนักงานของสวนสนุกต้องมีมาตรการควบคุม ตรวจสอบ ดูแลความปลอดภัยจากเครื่องเล่นที่ได้มาตรฐานอย่างเคร่งครัด

เจ้าหน้าที่รัฐเองต้องหมั่นตรวจตรา ตรวจเช็ค ย้ำเรื่องความปลอดภัยกับเจ้าของกิจการ หากพบเห็นจุดใดบกพร่องอย่าปล่อยปละละเลย

ส่วนเราๆท่านๆในฐานะผู้ใช้บริการก็ต้องทำตามกฎกติกาเรื่องความปลอดภัย อย่าประมาท

เพราะไม่เช่นนั้น “สวนสนุก”อาจกลายเป็น”สวนโศกสลด”ได้เพียงชั่วพริบตา

.......................................................................................................................................................................
บทความนี้ผมเขียนลง ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Mother & Care ฉบับที่ 54 เดือน มิถุนายน 2552




 

Create Date : 13 มิถุนายน 2552    
Last Update : 22 สิงหาคม 2552 22:03:18 น.
Counter : 673 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  

สายน้ำกับสายเมฆ
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




Locations of visitors to this page

Tracked by Histats.com
Friends' blogs
[Add สายน้ำกับสายเมฆ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.