Group Blog
 
All Blogs
 
ตะลุยโลกการเรียนรู้

ผมติดตามข่าวการเปิดมิวเซียมสยาม...พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งแรกของเมืองไทยด้วยใจลุ้นระทึก เพราะเป็นเวลานานกว่า 3 ปีแล้วที่เรามีสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ สังกัดสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ ซึ่งเป็นองค์การมหาชน จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2547

เมื่อเขาประกาศว่า มิวเซียมสยาม ซึ่งตั้งอยู่ในกระทรวงพาณิชย์เก่า ใกล้วัดโพธิ์ ท่าเตียนเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา ผมจึงตั้งใจว่าจะพาตัวตัวเล็กทั้งสองไปสนุกสนานกับโลกแห่งความรู้

อืม...แต่ผมไม่แน่ใจนะครับว่า พิพิธภัณฑ์ดีๆแบบนี้จะมีเด็กและเยาวชนเข้าเที่ยวชมมากน้อยแค่ไหน เพราะสมัยผมเรียนอยู่ที่ออสเตรเลีย ผมพบว่า นักเรียนไทยในออสเตรเลียจำนวนไม่น้อยไม่เคยไปเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ หรือศูนย์แสดงศิลปะใดๆ ในดินแดนจิงโจ้

เอ...จะพูดว่าไม่เคยไปอย่างเดียวอาจไม่ถูกต้องนัก คงต้องพูดว่า สถานที่เหล่านี้ไม่เคยอยู่ในหัวของเด็กไทยด้วยซ้ำไป

ยิ่งไม่ต้องพูดถึงนักท่องเที่ยวจากแดนสยาม ประเภทมาทัวร์ชั่วครู่ ชั่วยาม ถ้าบอกว่าจะพาไปเที่ยวชม Museum หรือ Art Gallery มีหวังร้องยี้ หน้าตาบูดเบี้ยว.... แต่ถ้าบอกจะพาไปชอปปิ้ง เชื่อเถอะครับ หน้างี้บานระรื่น ร้องเฮรับคำทันทีทันใด

นั่นใช่หรือไม่ว่า เป็นเพราะคนไทยเราแปลกแยก ไม่คุ้นชินกับสถานที่เหล่านี้

มโนทัศน์เกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ของคนไทยคือ "ความเก่าเก็บ" ประเภทมีแต่พวกซากปรักหักพัง ก้อนอิฐ ก้อนกรวด

เป็นอดีตที่ไม่มีชีวิต จับต้องไม่ได้ !

ส่วนศูนย์แสดงศิลปะคือ "ความมึนงง" ประเภทรูปวาด รูปปั้น หุ่นแสดง สวย แปลกตา

แต่ดูไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ

เป็นจินตนาการที่ยากแก่การเข้าถึง !

ครับ นั่นอาจจะเป็นจริงสำหรับพิพิธภัณฑ์ และศูนย์แสดงศิลปะบางแห่งในเมืองไทย แต่ในสังคมพัฒนาในโลกตะวันตก พิพิธภัณฑ์ และศูนย์แสดงศิลปะคือ แหล่งบ่มเพาะเยาวชนให้รู้จักอดีต เรียนรู้อนาคต และเพลิดเพลินกับโลกแห่งจินตนาการ

อย่างในดินแดนดาวน์อันเดอร์...ออสเตรเลีย แทบทุกเมืองจะมีพิพิธภัณฑ์ อย่างน้อยหนึ่งแห่ง

ยิ่งในเมืองใหญ่อย่าง Sydney, Melbourne, Brisbane, Canberra, Perth, Adelaide ฯลฯ จะมีพิพิธภัณฑ์ให้เที่ยวชมได้หลากหลากยิ่ง

มีทั้งประเภทพิพิธภัณฑ์บอกเล่าประวัติความเป็นมาของเมือง บอกเล่าถึงรากเหง้าคนท้องถิ่น เรื่อยไปจนถึงบอกเล่าโศกนาฏกรรม ภัยพิบัติของมนุษย์จากภัยสงคราม หรือแม้กระทั่งโศกนาฏกกรรมจากจากคุกตะราง

นอกจากนั้นยังมีพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์อันทันสมัย บอกเล่า อธิบายถึงนวัตกรรม การออกแบบแปลกใหม่ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต

พิพิธภัณฑ์แต่ละแห่งมีชีวิต...จับต้องได้ โดยเฉพาะเด็กๆ

เนื่องเพราะเด็กคือกลุ่มเป้าหมายสำคัญของพิพิธภัณฑ์ ทำให้นักออกแบบพิพิธภัณฑ์พยายามจัดสร้าง รังสรรค์ให้ผู้เยี่ยมชมสนุกสนาน เพลิดเพลิน กับการเรียนรู้ภายในพิพิธภัณฑ์

พยายามให้คนมาพิพิธภัณฑ์สามารถหยิบจับ สัมผัส หรือมีส่วนร่วมกับการเรียนรู้ให้มากที่สุด

ยกตัวอย่างเช่น Melbourne Museum, Melbourne นอกจากจะมีโครงกระดูกไดโนเสาร์, มนุษย์ถ้ำ, ประวัติความเป็นมาของโลกทั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ไล่มาจนถึงประวัติคนท้องถิ่น Aboriginal ความเป็นมาของคนออสซี่แล้ว ยังมีส่วนของพิพิธภัณฑ์เด็ก ให้เจ้าตัวเล็กได้เรียนรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของโลก เรียนรู้ถึงธรรมชาติสิ่งรอบตัว รวมถึงชิ้นส่วนอวัยวะต่างๆภายในร่างกายของเขาอย่างเป็นรูปธรรม เข้าใจง่าย

หรือที่ Powerhouse Museum, Sydney พิพิธภัณฑ์แห่งนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ของมนุษยชาติ

นอกจากผู้มาเที่ยวชมจะสามารถชมและสัมผัสเครื่องจักรไอน้ำ รถไฟโบราณ เครื่องบินรบ ยานอวกาศนาซา อย่างเป็นรูปธรรมแล้ว แทบทุกภาคส่วนของพิพิธภัณฑ์ จะจัดกิจกรรมให้คนมาเที่ยวชมได้เล่น ได้ลองทำอย่างสนุกสนานไม่น่าเบื่อ

ส่วน “Questacon” The National Science and Technology Centre, Canberra ศูนย์ความรู้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่เมืองหลวงออสเตรเลีย เมือง Canberra ที่นี่เน้นสโลแกนชัดเจนมากว่า "Science behind the fun"

เกมทางวิทยาศาสตร์มากมาย ยั่วให้ผู้มาเที่ยวชมได้เรียนรู้ท่ามกลางความสนุกสนาน จัดว่าเป็นการผนวก "Entertainment" กับ "Education" ได้อย่างยอดเยี่ยมยิ่ง

สำหรับผู้ปกครอง หรือครูบาอาจารย์ถ้าพาเด็กๆ เยาวชนวัยเรียนรู้ไปเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ แล้วไม่รู้ว่าควรเริ่มต้นอย่างไรดี เขามักเริ่มจากโต๊ะประชาสัมพันธ์ของพิพิธภัณฑ์แต่ละแห่ง เพราะที่นี่จะมีเอกสาร แผ่นพับ อธิบายอย่างละเอียดลออ

และที่สำคัญมีแผ่นเกมแบบฝึกหัดแบบง่ายๆ ให้เด็กๆได้ศึกษา ค้นคว้าตามรายทาง ระหว่างเดินเที่ยวชมในพิพิธภัณฑ์

หรือหากต้องการไกด์ อธิบายรายละเอียดในแต่ละจุด พิพิธภัณฑ์แทบทุกแห่งจัดเตรียมเจ้าหน้าที่ไว้คอยบริการอธิบาย ตอบข้อซักถามอยู่อย่างเต็มใจ

ทีนี้มาว่ากันถึงเรื่องศูนย์แสดงศิลปวัฒนธรรมกันบ้าง ตามเมืองใหญ่ๆ นอกจากจะมีศูนย์แสดงศิลปวัฒนธรรมประจำเมืองแล้ว ยังมีศูนย์แสดงศิลปวัฒนธรรมแบบทันสมัย Contemporary Art หรือแนวชนเผ่าพื้นเมืองแบบ Aboriginal Art อีกด้วย

ถ้าเข้าไปเที่ยวชม ไม่ต้องกลัวจะดูไม่รู้เรื่องนะครับ ถ้าสนใจจริง เขามีไกด์คอยอธิบายบอกเล่าเรื่องราวศิลปะต่างๆอย่างชัดเจน

นอกจากนั้น ศูนย์แสดงศิลปวัฒนธรรมบางแห่งยังมีหูฟังให้เช่า เมื่อสวมใส่หูฟังแล้วต้องการคำอธิบายในงานศิลปะชิ้นใดๆ คุณสามารถกดหมายเลขของงานศิลปะชิ้นนั้นๆซึ่งปรากฏอยู่แถวชิ้นงานลงไปบนเครื่อง เทปเสียงอัตโนมัติจะเดินเครื่องอธิบายความเป็นมา ความหมายของชิ้นงานนั้นๆทันที

ครั้งหนึ่งใน Art Gallery นี่ละครับ ผมเห็นคุณครูพาเด็กนักเรียนอนุบาลตัวกระเปี๊ยกมาเป็นกลุ่มๆ เรียนรู้ ชื่นชมงานศิลปะ โดยมีเจ้าหน้าที่ของศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเป็นผู้นำพาเจ้าตัวเล็กๆ เดินไปตามชิ้นงานศิลปะ พร้อมพูดคุยซักถามเด็กอย่างมีศิลปะและชั้นเชิง

อาทิ “เป็ดในรูปนี้มีกี่ตัวจ๊ะเด็กๆ...”

“คนในรูปวาดนี้เขากำลังทำอะไรอยู่...”

“หนูคิดว่าผู้หญิงในภาพวาดนี้ จะพูดอะไรกับเทวดาบนฟ้าจ๊ะ...”

“รูปนี้ หนูคิดว่าเหมือนรูปอะไรเอ่ย”

จินตนาการของเด็กถูกกระตุ้นให้บรรเจิด เสียงเจ้าตัวน้อยตะโกนให้คำตอบกันวุ่นวาย

ช่างเป็นการบ่มเพาะหน่ออ่อนแห่งศิลปะ การเรียนรู้ที่ดียิ่ง

.......................................................................................................................................................................
บทความนี้ผมเขียนลง ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Mother & Care ฉบับที่ 42 เดือน มิถุนายน 2551ซึ่งเรียบเรียงใหม่จากงานที่เคยเขียนอยู่ในคอลัมน์สะดุดจิงโจ้ในเวบ //www.manager.co.th เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2547


Create Date : 17 สิงหาคม 2551
Last Update : 17 สิงหาคม 2551 0:44:41 น. 3 comments
Counter : 668 Pageviews.

 
ขอบคุณที่ข่าวมาฝาก

มีรูปธรรมแล้ว เดี๋ยวนามธรรมก็หลั่งไหลมา

เสียงเค้าว่ากันพรรณนั้น จ๊ะ



โดย: บ้าได้ถ้วย วันที่: 17 สิงหาคม 2551 เวลา:8:03:34 น.  

 
เดี๋ยวนี้ พิพิธภัณฑ์ของไทย แต่ละแห่ง ทำได้น่าสนใจมากกว่าเดิมเยอะค่ะ


โดย: ปลายดินสอ วันที่: 17 สิงหาคม 2551 เวลา:13:36:50 น.  

 
แจ่มไปเลยค่ะ จะนำไปใช้บ้างนะคะ ...คำถามกระตุ้นจินตนาการ


โดย: viji (viji ) วันที่: 28 สิงหาคม 2551 เวลา:15:22:21 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สายน้ำกับสายเมฆ
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




Locations of visitors to this page

Tracked by Histats.com
Friends' blogs
[Add สายน้ำกับสายเมฆ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.