Group Blog
 
All Blogs
 
สอนลูกเป็น...ผู้ให้

ระหว่างสอนเรื่อง Corporate Social Responsibility (CSR) หรือ “ความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจ” ให้กับนักศึกษาในสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่ง ผมโยนคำถามให้พวกเขาได้แสดงความคิดเห็นกันว่า

“...ถ้าไม่ต้องแคร์เรื่องภาพลักษณ์ หรือภาพพจน์ขององค์กรธุรกิจแล้ว จำเป็นไหมที่องค์กรธุรกิจต้องทำอะไรให้กับสังคม…

...หรืออีกนัยหนึ่ง พวกคุณจะช่วยเหลือสังคมไหม ถ้าไม่มีคนรับรู้ หรือเห็นสิ่งที่พวกคุณทำ...”

คำตอบนั้นหลากหลายมากครับ แต่มีเด็กนักศึกษาจำนวนไม่น้อย ตอบอย่างจริงใจประมาณว่า ถ้าให้ช่วยเหลือสังคมฟรีๆ พวกเขาไม่ทำแน่นอน

เรื่องนี้ สอดคล้องกับงานวิจัยหลายๆชิ้นที่ผมเคยอ่านผ่านตาว่า คนรุ่นใหม่ในสังคมไทยนับวันจะยิ่งขาดจิตสาธารณะ (Public Consciousness) มากขึ้น หมายถึง ขาดการตระหนักรู้ หรือคำนึงถึงส่วนรวม ไม่ค่อยคิดถึงคนอื่นซึ่งร่วมสัมพันธ์อยู่ในสังคมเดียวกัน

ในยุคสมัยแห่งการแก่งแย่ง แข่งขันเช่นปัจจุบัน ผมเชื่อว่า ไม่ใช่เฉพาะเด็ก หรือวัยรุ่นเท่านั้นที่เป็นแบบนี้ แม้แต่ผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคมก็มีทัศนคติคล้ายกับคนรุ่นใหม่ นั่นคือ...ถ้าจะทำบุญ ทำกุศล ช่วยเหลือสังคมต้องตีปี๊บ ป่าวประกาศผ่านสื่อ ผ่านคนรู้จักบอกชาวโลกให้รู้ว่า ตัวฉัน หรือองค์กรของฉันเป็นคนดี มีจิตเมตตา ช่วยเหลือสังคม

แต่ถ้าไม่มีใครเห็น ไม่มีใครรับรู้ คนประเภทนี้จะเมินเฉยต่อความเป็นไปของผู้คนในสังคม ทำนองว่า ใครเป็นอะไรก็ช่าง ขอให้ฉันสุขสบายเป็นพอ

มิหน่ำซ้ำบางทีคนกลุ่มนี้พร้อมซ้ำเติม ทำร้ายสังคมได้เสมอ ด้วยคิดว่า “ไม่เป็นไร ใครๆเขาก็ทำกัน” เราๆท่านๆจึงเห็นข้าวของ เครื่องใช้ตามสถานที่สาธารณะต่างๆไม่ว่าจะเป็นตู้โทรศัพท์ เสาไฟฟ้า ถูกทุบทำลายอยู่บ่อยๆ หรือเห็นการทิ้งขยะ ทิ้งน้ำเน่าเสีย ลงลำน้ำ แม่น้ำสาธารณะ ฯลฯ

ถึงตรงนี้ ผมอดคิดไม่ได้ว่า แล้วเราอยากให้ลูกหลานของเราเติบใหญ่ขึ้นมาเป็นคนเก่ง ฉลาด ร่ำรวย แต่ไร้น้ำใจกับเพื่อนมนุษย์ ไม่แคร์สังคม ทำทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์ของตนเองกระนั้นหรือ

ถ้าคำตอบของเราคือ ต้องการลูกหลานเป็นผู้มีหัวใจให้กับเพื่อนมนุษย์ รู้จักเป็น “ผู้ให้” กับคนอื่นและสังคม ไม่ใช่หวังแต่กอบโกย เราคงต้องเริ่มบ่มเพาะลูกหลานตั้งแต่เด็กเล็กๆให้เรียนรู้จัก “การให้”... “การเสียสละ”...”การบำเพ็ญประโยชน์เพื่อผู้อื่น”

ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กต่างมีความเห็นสอดคล้องกันว่า ถ้าต้องการสอนเด็กตัวน้อยๆให้มีพฤติกรรม มีทัศนคติอย่างไร หนทางดีที่สุดคือ สอนผ่านการกระทำของพ่อแม่ผู้ปกครอง

ดังนั้น เราอาจเริ่มจากชีวิตประจำวัน ตื่นเช้าขึ้นมาทำบุญตักบาตร โดยให้ลูกหลานมีส่วนร่วมในกิจกรรม เช่น ช่วยจัดเตรียมข้าวของเครื่องใช้ในการทำบุญ พร้อมทั้งอธิบายถึงความหมาย ความสำคัญของกิจกรรมนั้นๆให้เด็กได้เรียนรู้

หรืออาจจัดหากิจกรรมกระตุกจิตสำนึก ?!?

อย่างเจ้าอั๋นเพื่อนสุดเลิฟคนหนึ่งของผม เขาติดต่อไปโรงเรียนสอนคนตาบอดว่าจะเข้าไปทำบุญเลี้ยงอาหารกลางวันแก่เด็กพิการผู้เคราะห์ร้าย แต่แทนที่จะไปเองคนเดียว เขากลับชักชวนเพื่อนฝูงและหลานๆในบ้านให้ไปร่วมกิจกรรมทำบุญด้วยกัน

ในตอนแรก ผู้ไปเยือนต่างรู้สึกขัดขืน แปลกที่ โดยเฉพาะเหล่าหลานวัยประถมดูจะออกอาการเกร็งเป็นพิเศษ ยิ่งเห็นเด็กพิการซึ่งผิดปกติไปจากพวกเขา ยิ่งทำให้พวกเขารู้สึกหวาดกลัวกึ่งระแวง แต่หลังจากใช้เวลาสัมผัสเรียนรู้ พูดคุยกันสักพัก พวกเขากลับสนุกสนานที่ได้พูดคุย เล่นเกมส์เฮฮากับเพื่อนใหม่วัยไล่เลี่ยกัน

นับจากนั้นเป็นต้นไป หลานของเจ้าอั๋นมักรบเร้าให้พาไปโรงเรียนแห่งนี้ เพื่อช่วยอ่านหนังสือให้กับเพื่อนผู้ขาดโอกาสในการมองเห็น

นอกจากโรงเรียนแห่งนี้แล้ว เราอาจหาลูกหลานไปทำบุญ ทำกุศล เป็นอาสาสมัครช่วยเหลือคนเฒ่าคนแก่ในบ้านพักคนชรา หรือสอบถามไปตามสถานสงเคราะห์เด็กอ่อนต่างๆว่าต้องการความช่วยเหลืออะไรบ้าง

หรืออาจจะชักชวนกันไปบริจาคข้าวของเครื่องใช้ เสื้อผ้า ของเล่น หรือหนังสือนิทาน การ์ตูนให้กับผู้ขาดแคลน

อย่างไรก็ตาม บางครั้งเด็กตัวน้อยๆอาจไม่ให้ความร่วมมือก็ต้องทำใจหน่อยนะครับ

อย่างเช่นกรณีของเจ้าแสบประจำบ้านผม เมื่อคุณแม่ของเขาตัดสินใจจะนำหนังสือนิทาน ซึ่งมีอยู่มากมายล้นตู้หนังสือไปบริจาคให้กับโรงเรียนในชนบท ด้วยหวังให้เด็กยากจนในต่างจังหวัดได้อ่านหนังสือนิทาน เปี่ยมคุณค่าเหมือนกับเด็กในเมือง

แต่พลันที่เจ้าเสือน้อยคนพี่รู้ว่าจะเอาหนังสือไปให้คนอื่น เจ้าหนูร้องไห้ลั่นบ้าน ไม่ยอมท่าเดียวครับ ขนาดบอกว่า “หนังสือนิทานพวกนี้ เก่าแล้ว อ่านจนเบื่อ...จนไม่อ่านแล้วไม่ใช่หรือ” เขาก็ไม่สนใจ

ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กเล็กแนะนำผมว่า กรณีเช่นนี้เป็นเพราะเด็กยังหวงข้าวของ รู้สึกทุกอย่างเป็นของตนเอง แม้แต่ของที่ตนไม่ใช้ ไม่ต้องการแล้วก็ไม่อยากจะเอาไปให้คนอื่น

ทางออกที่ดีคือ ให้เด็กเลือกเองว่าจะบริจาคของเล่น เครื่องใช้ หรือหนังสือเก่าชิ้นไหน เล่มใดไปให้คนอื่น เพื่อว่าบ้านจะได้มีพื้นที่ว่างสำหรับของเล่นใหม่ หนังสือใหม่

เหล่านี้คงเป็นตัวอย่างกิจกรรมซึ่งคนเป็นพ่อแม่สามารถคัดสรรมาให้ลูกหลานได้มีส่วนร่วมคิด ร่วมกระทำ ในการแสดงบทบาทของ “ผู้ให้” โดยระหว่างทำกิจกรรมเราก็สามารถพูดคุยให้เด็กตระรู้ถึงคุณค่าของการเป็น “ผู้ให้”

ครับ มาร่วมกันสอนลูกหลานเป็น “ผู้ให้” กันเถอะ ก่อนจะไม่มี “ผู้ให้”ในสังคมไทยเลย

.......................................................................................................................................................................
บทความนี้ผมเขียนลง ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Mother & Care ฉบับที่ 57 เดือน กันยายน 2552


Create Date : 13 กันยายน 2552
Last Update : 13 กันยายน 2552 21:41:11 น. 3 comments
Counter : 595 Pageviews.

 
สวัสดีครับอาจารย์


ด้วยความยินดีที่เข้าไปทักทายที่บล็อก

บอกตรงๆว่าผมยังไม่ได้อ่านเรื่องที่อาจารย์เขียนเลย

(เพราะมีบางอย่างรออยู่ ว่างแล้วค่อยแวะมาอ่าน)

เพิ่งรู้ว่าอาจารย์เป็นนักเขียนด้วย


แล้วค่อยคุยกันใหม่นะครับ

ด้วยมิตรภาพ



โดย: พ่อพเยีย วันที่: 18 กันยายน 2552 เวลา:11:17:52 น.  

 
อย่าว่าแต่ใครๆ ครับ
เรื่องนี้ ผมเองคงต้องฝึกใจให้หนักพอกับ ตัวน้อยบ้าน อาจารย์เลยครับ


โดย: ลูกศิษย์ตัวเขื่อง (krich_krub_pom ) วันที่: 20 กันยายน 2552 เวลา:7:07:25 น.  

 
ขอบคุณคับคุณครู กับตัวฮือฮือ
มันชัดเจนในความรู้สึกเลยครับ


โดย: ลูกศิษย์ตัวเขื่อง (krich_krub_pom ) วันที่: 23 กันยายน 2552 เวลา:23:11:57 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สายน้ำกับสายเมฆ
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




Locations of visitors to this page

Tracked by Histats.com
Friends' blogs
[Add สายน้ำกับสายเมฆ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.