Group Blog
 
All Blogs
 
ฝากเลี้ยงลูกหน่อย

สังคมครอบครัวขยายอย่างในอดีตหรือในชนบท การฝากลูกไว้ให้ปู่ย่า ตายาย หรือเครือญาติช่วยกันดูแลเลี้ยงดูถือเป็นเรื่องธรรมดายิ่ง

แต่ในปัจจุบัน สภาพสังคมเมือง สังคมครอบครัวเดี่ยว ส่งผลให้พ่อแม่จำนวนมากจำต้องพาลูกไปฝากเลี้ยงตามศูนย์เลี้ยงเด็กเนอสเซอรี่ต่างๆ หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องจ้างพี่เลี้ยงเด็กอยู่บ้านคอยดูแลป้อนข้าว ป้อนน้ำ

แล้วการหาเนอสเซอรี่ หรือพี่เลี้ยงเด็กที่รัก-เข้าใจ ดูแลเอาใจใส่พัฒนาการของเจ้าตัวเล็ก ช่างยากเย็นยิ่งนัก...คนมีประสบการณ์ย่อมรู้ซึ้งดี

ปรากฏการณ์เช่นนี้ มิได้เกิดขึ้นเฉพาะแต่เพียงเมืองไทยเท่านั้น แม้แต่ในดินแดนดาวน์อันเดอร์-ออสเตรเลียปัญหานี้ ถือเป็นเรื่องหนักอกของพ่อแม่ชาวออสซี่เหมือนกัน

จำได้ว่า ตอนผมกับสาวข้างกายไปเข้าคอร์สอบรมพ่อแม่มือใหม่ มีครอบครัวชาวออสซี่คู่หนึ่งเล่าให้เพื่อนร่วมห้องฟังว่า...พวกเขาต้องลงชื่อจองเนอสเซอรี่แถวบ้านล่วงหน้าก่อนจะเตรียมตัวตั้งครรภ์ถึงเกือบปี !

“ถ้ารอให้ท้องก่อน หรือรอให้ลูกคลอดออกมาก่อนถึงมองหาเนอสเซอรี่ รับรองว่าจะไม่ได้เนอสเซอรี่ดีๆ ใกล้บ้าน” สามีภรรยาชาวออสซี่คู่นั้นบอกอย่างมั่นใจ

แรกได้ยิน ผมอดกระซิบคุยกับสาวข้างกายไม่ได้ว่า “ฝรั่งคู่นี้โอเวอร์ไปหรือเปล่า อะไรกันจองเนอสเซอรี่ให้ลูกตั้งแต่ก่อนตั้งท้อง” แต่ข้อกังขาของผมหมดไป เมื่อชาวออสซี่ซึ่งร่วมการอบรมในครั้งนั้นอีกหลายคู่สนับสนุนข้อเท็จจริงดังกล่าว

ต่อมาผมอ่านหนังสือพิมพ์ และนิตยสารเกี่ยวกับแม่และเด็กของออสเตรเลียถึงทราบว่า ปัญหาขาดแคลน ครู พี่เลี้ยงเด็กในเนอสเซอรี่ต่างๆของออสเตรเลีย ทำให้ศูนย์รับเลี้ยงเด็กในชุมชนไม่สามารถรองรับจำนวนเด็กที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องเพราะศูนย์รับเลี้ยงเด็กแต่ละแห่งต่างมีข้อกำหนดแน่นอนตายตัวไปเลยว่า พี่เลี้ยงเด็กคนหนึ่งจะสามารถดูแลเด็กได้ไม่เกินกี่คน

อันเป็นเหตุให้พ่อแม่หลายคนจำต้องจองคิวของเนอสเซอรี่เอาไว้ล่วงหน้า

บางครอบครัวแก้ปัญหาด้วยการให้ฝ่ายแม่ หรือฝ่ายพ่อคนใดคนหนึ่งลาออกจากงานมาเลี้ยงลูกเต็มเวลา บางครอบครัวใช้วิธีสลับกันหยุดงานมาเลี้ยงลูก

บางครอบครัวใช้วิธีจ้างพี่เลี้ยงเด็กให้มาดูแลลูกของตนเอง

แต่พี่เลี้ยงเด็กผู้มีประสบการณ์ เปี่ยมความสามารถ ส่วนใหญ่จะมีอัตราค่าจ้างสูง คิดกันเป็นรายชั่วโมง

ดังนั้น ส่วนใหญ่ชาวออสซี่ผู้มีรายได้ปานกลางจะเลือกใช้บริการพี่เลี้ยงเด็กชาวต่างชาติ จะว่าไปก็คงคล้ายๆกับคนไทยจ้างชาวพม่า กระเหรี่ยง ให้มาเลี้ยงลูก เลี้ยงหลานกันเต็มบ้าน เต็มเมืองในตอนนี้ละครับ แต่ด้วยวัฒนธรรมการเลี้ยงดูเด็กที่ผิดแผกแตกต่างกันนี่เอง ทำให้หลายครั้งเกิดเรื่องราวใหญ่โต

เช่นครั้งหนึ่ง เป็นข่าวคึกโครมทางจอทีวี เมื่อพ่อแม่ชาวออสซี่คู่หนึ่งจ้างหญิงชาวยุโรปตะวันออกให้มาเลี้ยงลูกที่บ้าน ตอนแรกครอบครัวนี้ไม่ได้เอะใจอะไรกับการเลี้ยงดูของพี่เลี้ยงเด็กคนนี้ จนกระทั่งวันหนึ่งติดตั้งโทรทัศน์วงจรปิดเอาไว้โดยไม่ได้บอกกล่าวกับพี่เลี้ยงเด็ก ทำให้เห็นว่า ช่วงไม่อยู่บ้าน สาวชาวยุโรปตะวันออกผู้นี้ใช้ความรุนแรงกับเด็ก ทั้งจับเด็กเขย่าอย่างแรง ทั้งทุบตี ทั้งตะคอกด้วยวาจาหยาบคาย เมื่อเรื่องถึงตำรวจ พี่เลี้ยงคนนี้บอกว่า เธอเลี้ยงลูก เลี้ยงหลานของเธอมาด้วยวิธีนี้ ไม่เห็นจะเป็นอะไรเลย

ครับ...นี่คงเป็นตัวอย่างของพี่เลี้ยงเด็กที่พ่อแม่หลายคนขยาด

แล้วพี่เลี้ยงเด็กแบบไหนที่พ่อแม่ชาวออสซี่ต้องการละ

คำตอบคือ... พี่เลี้ยงเด็กอย่าง Jo Frost แห่งรายการเรียวรีตี้โชว์เรื่อง Supper Nanny

รายการทีวีชุดนี้เป็นของอังกฤษ เริ่มนำมาเผยแพร่อุ่นเครื่องให้คนออสซี่ได้ดูในช่วงปลายปี 2547 ก่อนจะฉายจริงในเดือนเมษายนปีที่ผ่านมา เป็นรายการฮิตขวัญใจแม่บ้านรายการหนึ่งทีเดียว

Jo Frost เป็นอดีตพี่เลี้ยงเด็กที่มีเทคนิคแพรวพราว รายการในแต่ละตอนจะเปิดเรื่องด้วยครอบครัวชาวอังกฤษที่มีปัญหาเกี่ยวกับการเลี้ยงดูเด็ก ช่วงตอนต้นรายการจะนำเสนอเด็กเสมือนปีศาจตัวน้อยๆของบ้าน เจ้าตัวแสบบางคนชอบร้องตะโกน ขว้างปาข้าวของ ไม่ยอมกินข้าว ไม่ยอมนอน ไม่ยอมอาบน้ำ ฯลฯ

พี่เลี้ยงเด็กมหัศจรรย์คนนี้จะมาที่บ้านเพื่อสำรวจดูสภาพการเลี้ยงดู การจัดการปัญหาของพ่อแม่ ก่อนจะสอนว่าควรจะแก้ปัญหาในแต่ละเรื่องอย่างไร

เท่าที่ผมติดตามดูรายการนี้ ส่วนใหญ่ Jo Frost จะแนะนำให้พ่อแม่จัดตารางชีวิตของครอบครัวให้แน่ชัดว่า เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ว่าแต่ละช่วงเวลาควรจะเป็นช่วงทำกิจกรรมใด นัยว่าเป็นการฝึกวินัยให้เด็กทางอ้อม

และวิธีที่เธอชอบใช้แก้ไขพฤติกรรมของเด็ก คือสิ่งที่นักวิชาการด้านจิตวิทยาเด็กเรียกกันว่า เทคนิค “Time Out”

นั่นคือ เวลาเด็กทำพฤติกรรมไม่ดีอะไร แล้วพ่อแม่ต้องการให้เจ้าตัวเล็กปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้พ่อแม่ก้มลงพูดกับลูกในระดับสายตาของเขา บอกให้ชัดเจนลงไปว่า ไม่ต้องการให้เขาทำพฤติกรรมอะไร หากเจ้าตัวเล็กยังเจตนาทำผิดซ้ำอีก ให้แยกเขาไปอยู่ในมุมสงบ หรือในจุดใดจุดหนึ่ง

Jo Frost จะเรียกชื่อตามจุดที่จะลงโทษ เช่น “Naughty Room”, “Naughty Step”, “Naughty Chair”

ระยะเวลาลงโทษให้นั่งนิ่งๆสำนึกผิด ไม่ให้ทำกิจกรรมใดๆนั้น ขึ้นอยู่กับอายุของเด็ก เช่น อายุ 2 ขวบให้นั่งนานสัก 2 นาที อายุ 3 ขวบ นั่ง 3 นาที และเพิ่มขึ้นอายุปีละ 1 นาที ถ้าเจ้าตัวแสบน้อยดิ้นไม่ยอมอยู่กับที่ให้พามานั่ง แล้วไม่ต้องสนใจ ไม่ว่าจะอาละวาด ร้องไห้อย่างไรให้ปล่อยไปจนครบเวลาที่กำหนด

จากนั้นให้เดินมาหาลูก ก้มลงถามว่าทำผิดอะไรถึงถูกทำโทษ แล้วให้เจ้าตัวเล็กขอโทษก่อนจะปล่อยให้ไปเล่น หรือทำกิจกรรมตามปกติ

ช่วงท้ายรายการโชว์ชุดนี้ Jo Frost สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กให้กลายเป็นเทวดา นางฟ้าตัวน้อยๆของบ้านได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจยิ่ง

ดังนั้น ไม่แปลกเลยที่พ่อแม่ชาวออสซี่จะอยากมีพี่เลี้ยงมหัศจรรย์เช่นนี้อยู่กับบ้าน แต่เมื่อไม่มี พวกเราในฐานะพ่อแม่คงต้องแปลงตัวเป็นพี่เลี้ยงมหัศจรรย์เสียเอง

ว่าแล้วผมต้องขอตัวไปปราบเจ้าจอมซนที่ร้องกริ๊ดๆๆอยู่ในขณะนี้

........................................................................................................
บทความนี้ผมเขียนลง ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Mother & Care ฉบับที่ 15 เดือน มีนาคม 2549




Create Date : 01 มกราคม 2551
Last Update : 1 มกราคม 2551 9:50:11 น. 3 comments
Counter : 1089 Pageviews.

 


โดย: สาวอิตาลี วันที่: 1 มกราคม 2551 เวลา:16:59:35 น.  

 
ฝากเลี้ยงลูกผมด้วยซี่...

Happyๆ นิว year นะครับ..^o^

เมี๊ยวๆๆ


โดย: แมวกนล วันที่: 1 มกราคม 2551 เวลา:17:17:39 น.  

 


โดย: สายน้ำกับสายเมฆ วันที่: 1 มกราคม 2551 เวลา:20:13:55 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สายน้ำกับสายเมฆ
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




Locations of visitors to this page

Tracked by Histats.com
Friends' blogs
[Add สายน้ำกับสายเมฆ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.