Group Blog
 
All Blogs
 
Made in Australia

ด้วยเพราะหญิงสาวคู่ชีวิตเกิดตั้งท้องในแผ่นดินจิงโจ้ อีกทั้งตัวผมเองยังมีภาระกับวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเล่มโต ทำให้เจ้าตัวเล็กจำเป็นต้อง “Made in Australia” ไปโดยปริยาย และนั่นแหละครับทำให้กระบวนการดูแลครรภ์ การคลอด รวมถึงการเลี้ยงดูเบบี๋ตัวน้อยๆของผมผิดแผกแตกต่างออกไปจากเด็กไทยทั่วไป

ถ้าอยู่เมืองไทย หากรู้ว่าตั้งท้องปุ๊บผมคงรีบพาคู่ชีวิตบึ่งไปโรงพยาบาลฝากครรภ์ได้ทันที เชื่อแน่ว่าขา กลับคงต้องหอบยาบำรุงสารพัดสีออกมาเป็นถุงๆ

แต่เมื่ออยู่ต่างถิ่น...ไกลถึงดินแดนออสเตรเลีย จะมาเดินดุ่มๆตรงไปฝากครรภ์ตามโรงพยาบาลเหมือนเมืองไทยนั้นหาได้ไม่

ที่นี่...เขาต้องให้หมอทั่วไปตามคลินิก หรือที่เรียกขานกันว่า “GP” (General Practitioner) ตรวจเช็คเบื้องต้นก่อน

จำได้ว่า คำถามแรกที่หมอถามพวกเรา หลังจากมั่นใจในผลของแผ่นทดสอบการตั้งครรภ์ว่าสาวข้างกายของผมท้องแน่

เธอถามด้วยน้ำเสียงปกติธรรมดาว่า “พวกคุณพร้อมไหมที่จะมีลูก ถ้าไม่ต้องการเด็กก็มีทางออกนะ”

พวกเรารีบตอบสวนกลับไปในทันทีว่า “พร้อมสิ เราต้องการมีลูก”

คงเพราะสีหน้าตื่นๆของเราทั้งคู่กระมัง ทำให้คุณหมอยิ้มกว้างแล้วบอกว่า เธอต้องถามเช่นนี้ตามขั้นตอน เพราะในออสเตรเลียหากผู้หญิงไม่พร้อมจะมีบุตรสามารถทำแท้งได้อย่างเสรี

หลังได้คำตอบแน่ชัด หมอคำนวณวันกำหนดคลอด พร้อมทั้งวัดความดัน และเจาะเลือดพวกเรา เพื่อตรวจสอบให้แน่ชัดว่าไม่มีโรคร้ายอันเป็นภัยต่อเจ้าตัวเล็กในท้อง

แต่เท่านั้นยังไม่พอครับ หมอเธอยังขอตรวจมะเร็งปากมดลูกของสาวข้างกายผมอีกด้วย

เป็นเรื่องสิครับ...เกิดมาจนอายุปูนนี้ หญิงสาวคู่ชีวิตของผมเธอไม่เคยตรวจอะไรแบบนี้เลย จำต้องสอบถามแบบเขินอายกับหมอว่า “จำเป็นไหมที่ต้องตรวจภายในเช่นนี้”

หมอยิ้มอย่างใจดี อธิบายว่า หญิงชาวเอเชียส่วนมากมักจะละเลยกับการตรวจมะเร็งปากมดลูก หรือที่เรียกกันว่า Pep Test

แต่ในออสเตรเลีย การตรวจประเภทนี้เป็นสิ่งจำเป็น รัฐบาลออสซี่แนะนำให้ผู้หญิงทุกคนตรวจ Pep Test ทุกๆ 2 ปี โดยเริ่มตรวจกันตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไป แต่หากสาวไหน กุ๊กกิ๊กกับชายหนุ่มก่อนอายุ 18 ปี เขาแนะให้ตรวจก่อนหน้านั้นด้วยซ้ำไป

การทำ Pep Test จะเป็นตัวช่วยลดความเสี่ยง และเป็นการเตือนภัยก่อนโรคมะเร็งปากมดลูกจะถามหา

เรื่องนี้ผมมาค้นข้อมูลทราบในภายหลังว่า หน่วยงานด้านสาธารณสุขของออสเตรเลียจะเก็บรวบรวมข้อมูลผลการตรวจเอาไว้ และจะส่งจดหมายเตือนให้มาทำ Pep Test ทุกๆ 2 ปีด้วย

“รัฐบาลออสซี่ช่างห่วงใย ดูแลประชากรของเขาดีจัง แล้วเมื่อไหร่รัฐบาลไทยเราจะคำนึงถึงสุขภาพ และคุณภาพชีวิตของประชาชนไทยเหมือนอย่างเขาบ้างนะนี่....” (อันนี้ผมแอบรำพึงในใจ)

หลังจากตรวจทุกอย่างเสร็จสรรพ หมอแนะนำให้พวกเราไปซื้อวิตามินเสริม จำพวก แคลเซี่ยม, ธาตุเหล็ก, ยาบำรุงเลือด ทานเอาเอง

ท้ายสุด เธอถามถึงที่อยู่ของพวกเรา เพื่อตรวจสอบว่ามีโรงพยาบาลใดใกล้บ้านที่สุด

ระหว่างที่หมอเขียนจดหมายปิดผนึกผลการตรวจสอบร่างกายเพื่อให้พวกเรานำไปให้โรงพยาบาลนั้น ผมหันกลับเย้าสาวข้างกายว่า

“ดีเหมือนกันนะ ได้คลอดในโรงพยาบาลใกล้บ้านอย่างน้อยรับประกันได้หน่อยว่า ไม่คลอดกลางถนนแน่”

แม้ว่าจะได้จดหมายส่งตัวจากหมอแล้ว แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าวันรุ่งขึ้นพวกเราจะสามารถเดินตรงไปโรงพยาบาลฝากครรภ์ได้ทันทีนะครับ เพราะหลังจากโทรศัพท์ไปติดต่อโรงพยาบาลเพื่อขอคิวนัดหมายการตรวจ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเขาซักถามข้อมูลรายละเอียดการตั้งครรภ์แล้วบอกว่าจะส่งจดหมายนัดหมายวันที่จะมาโรงพยาบาลไปให้ถึงบ้าน

พวกเรารอจดหมายด้วยความกังวลใจว่า เอ...เมื่อไหร่ถึงจะฝากครรภ์ได้หนอนี่

ในที่สุดจดหมายก็มาถึง พร้อมแจ้งว่าให้ไปฝากครรภ์ครั้งแรก เมื่อมีอายุครรภ์ประมาณ 12 สัปดาห์

โหย...หมายความว่า ต้องท้องได้ 3 เดือนก่อนถึงจะมีสิทธิ์ไปโรงพยาบาลตรวจครรภ์หรือนี่

สอบถามดูถึงรู้ว่า หากมีปัญหาฉุกเฉินก่อนจะไปฝากครรภ์ พวกเราจะต้องไปหาหมอก่อน เพื่อให้หมอทำเรื่องส่งตัวไปตรวจฉุกเฉินที่โรงพยาบาล

เอ้า...รอก็รอครับ

โชคดียิ่งนัก ระหว่าง 3 เดือนแห่งการรอคอย หญิงสาวคู่ชีวิตของผมเธออึด และเจ้าตัวน้อยในครรภ์ไม่เกเรก่อปัญหาใดๆ

สาวข้างกายผมไม่มีแม้แต่อาการแพ้ท้อง คลื่นไส้ อาเจียนโอ้กอ๊ากแต่ประการใด

แต่ปัญหาหนึ่งคือ เธออายุมาก...แหะ...แหะ...ผมหมายถึงหากนับถึงวันคลอดเธอจะอายุเกิน 35 ปี

ตามสถิติแล้ว หญิงสาวอายุเกิน 35 ปีจะมีโอกาสให้กำเนิดบุตรเป็นโรคดาว์นซินโดรมมากขึ้น

พูดง่ายๆคือ มีโอกาสคลอดลูกปัญญาอ่อนมากกว่าหญิงสาวที่ตั้งครรภ์อายุน้อยๆนั่นเอง

อ้าว...แล้วอย่างนี้จะทำอย่างไรดีละครับ
........................................................................................................
บทความนี้ผมเขียนลง ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Mother & Care ฉบับที่ 2 เดือน กุมภาพันธ์ 2548



Create Date : 13 ธันวาคม 2550
Last Update : 13 ธันวาคม 2550 16:18:27 น. 2 comments
Counter : 830 Pageviews.

 


โดย: 1girlshow วันที่: 13 ธันวาคม 2550 เวลา:19:39:31 น.  

 
สวัสดีค่ะ คุณสายน้ำกับสายเมฆ ชอบบทความของคุณและครอบครัวของคุณมาก (จากการอ่าน) อยากเป็นมิตรกับครอบครัวคุณค่ะ แต่ไม่มีเว็บบล็อกเป็นของตัวเอง ทำไงดี
ขออีเมล จะเป็นไปได้ไหมคะเนี่ย...ถ้าข้อมูลเฉพาะก็ไม่เป็นไรค่ะ...จะเข้ามาอ่านบทความบ่อยๆ ฝากเซย์ไฮกับเจ้าตัวเล็กและหญิงสาวข้างกายของคุณด้วยค่ะ...ชื่นชมจริงใจ


โดย: จันทร์กระจ่างฟ้า IP: 202.21.144.143 วันที่: 19 พฤศจิกายน 2551 เวลา:15:59:33 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สายน้ำกับสายเมฆ
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




Locations of visitors to this page

Tracked by Histats.com
Friends' blogs
[Add สายน้ำกับสายเมฆ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.