Group Blog
 
All Blogs
 

ขอคุยเรื่องสื่ออีกครั้ง

ขณะเขียนต้นฉบับ...ผู้คนในสังคมไทยกำลังถกเถียงเกี่ยวกับการจัดระดับความเหมาะสมของสื่อโทรทัศน์ หรือที่นิยมเรียกกันสั้นๆว่า “การจัดเรตติ้งทีวี”

กลุ่มพ่อแม่ ผู้ปกครอง นักวิชาการด้านสื่อ และคนทำงานด้านเครือข่ายครอบครัวต้องการให้กรมประชาสัมพันธ์เร่งจัดเรตติ้งทีวีให้มีประสิทธิภาพ และกำหนดช่วงเวลาที่เหมาะสมในการนำเสนอรายการโทรทัศน์ โดยให้เหตุผลว่าต้องการให้เด็กและเยาวชนไทยมีโอกาสดูรายการโทรทัศน์ที่เหมาะสมกับวัย ไม่ใช่ดูแต่รายการเกมส์โชว์ ละครน้ำเน่า

ส่วนนายทุนเจ้าของรายการ ตลอดจนดารานักแสดง คนทำรายการทีวีต่างเรียกร้องให้รัฐระงับการจัดเรตติ้งทีวี โดยเฉพาะการกำหนดช่วงเวลาในการนำเสนอรายการโทรทัศน์ ด้วยเหตุผลว่า ต้องการเสรีภาพในการนำเสนอรายการโทรทัศน์

ประเด็นข้อถกเถียงนี้ ทำให้ผมย้อนนึกถึงวันแรกที่สอนวิชา การจัดการธุรกิจในอุตสาหกรรมการสื่อสาร ให้กับนักศึกษาปริญญาโท คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย วันนั้น ผมโยนคำถามให้กับนักศึกษาร่วมห้าสิบคนช่วยกันขบคิดว่า อุตสาหกรรมการสื่อสารเหมือนหรือแตกต่างจากอุตสาหกรรมอื่นๆ

นักศึกษาสาวสวยคนหนึ่งยกมือตอบอย่างมั่นอกมั่นใจว่า “...เหมือนกันคะ เพราะเป็นธุรกิจที่หวังผลกำไรสูงสุดเหมือนกัน...”

นักศึกษาหลายคนในห้องพยักหน้าตาม หงึกๆ ผมจึงถามต่อว่า “อย่างงั้นพวกคุณคิดว่าการทำหนังสือพิมพ์ นิตยสาร ทำรายการวิทยุ รายการโทรทัศน์ให้กับผู้บริโภค มันเหมือนกับการทำอาหาร ทำสบู่ ยาสระผมขายให้กับผู้บริโภคละสิ...”

เอาสิครับ...คราวนี้นักศึกษานิ่งเงียบไปครู่ใหญ่ ก่อนจะมีเสียงจากท้ายห้องแว่วมาอย่างแผ่วเบาแบบไม่ค่อยไม่มั่นใจว่า “เออ...คิดว่าน่าจะต่างกันนะคะ เพราะสื่อมีอิทธิพลต่อผู้บริโภคมากกว่าสินค้าอื่น”

ครับ นั่นเป็นการเปิดโหมโรงของผมก่อนจะสอนอธิบายให้นักศึกษาเข้าใจธรรมชาติของอุตสาหกรรมการสื่อสารว่า...

“...แม้ว่าด้านหนึ่งของอุตสาหกรรมการสื่อสารจะเป็นการผลิตสินค้าที่มุ่งตอบสนองต่อความต้องการและความนิยมของตลาดเป็นหลักใหญ่ เหมือนกับสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆเพื่อให้ได้ตลาดที่กว้างและได้ผลกำไรมากๆ

...แต่อีกด้านหนึ่งนั้นอุตสาหกรรมการสื่อสารยังเกี่ยวข้องกับความคิด ความเชื่อ ค่านิยม อุดมคติที่แตกต่างหลากหลายของผู้คน อีกทั้งสินค้าหรือผลผลิตจากอุตสาหกรรมการสื่อสารยังเป็นสินค้าที่มีลักษณะพิเศษ นั่นคือมีมติทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมเป็นองค์ประกอบสำคัญอีกด้วย...

ด้วยเหตุนี้ ผู้อยู่ในแวดวงอุตสาหกรรมการสื่อสารควรตระหนักว่า ผลผลิตของตนมีพลังอย่างยิ่งในการปรับเปลี่ยนทัศนคติ ความคิด ความเชื่อ ของผู้คนจำนวนมาก ดังนั้นจึงไม่ถูกต้องนักหากจะคำนึงแต่เพียงตัวเลขผลกำไรเพียงอย่างเดียว โดยขาดมติของการรับผิดชอบต่อสังคม...”

อย่างเราๆท่านๆเป็นผู้ใหญ่ ผ่านร้อนผ่านหนาวจนเป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นผู้ปกครองของเด็กตัวน้อยๆ ใช่หรือไม่ว่าหลายครั้งที่หลงเคลิ้มไปกับคำโฆษณาผ่านสื่อหลากหลาย ใช่หรือไม่ว่าหลายครั้งที่หลงเชื่อคำลวงจากข่าวสารข้อมูลผ่านสื่อต่างๆ

แล้วเด็กน้อยผู้ไร้เดียงสาละครับ ได้รับชมละครประเภทนางร้ายร้องกรี๊ดดดๆๆๆ กระโดดตบนางเอกเพื่อแย่งพระเอก หรือได้ดูแต่โฆษณาขนม อาหารขยะหลากหลายชนิดที่ประเคนโหมล่อเด็กอยู่ทุกครั้งที่เปิดโทรทัศน์ อนาคตของชาติเหล่านี้จะเป็นอย่างไร

เรื่องอิทธิพลของสื่อ โดยเฉพาะพิษภัยของสื่อทีวีที่มีผลกระทบต่อพฤติกรรมและสภาพจิตใจของเด็กและเยาวชนนั้น ได้มีการพิสูจน์ชัดแล้วจากงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศ

ด้วยเหตุนี้ผมจึงเห็นด้วยอย่างยิ่งกับการจัดเรตติ้งทีวี โดยเฉพาะการกำหนดช่วงเวลาในการนำเสนอรายการโทรทัศน์ให้เหมาะสม

แต่การจัดเรตติ้งทีวีโดยโยนภาระการตัดสินใจให้กับหน่วยงานรัฐ อย่างกรมประชาสัมพันธ์เพียงอย่างเดียวคงไม่ถูกต้องนัก เพราะเดี๋ยวจะกลายเป็นการถอยหลังเข้าคลองเหมือนกรณีการเซ็นเซอร์ภาพยนต์อีก

ดังนั้นจำเป็นที่พ่อแม่ ผู้ปกครองในฐานะปัจเจกชน หรือในนามของกลุ่มองค์กรต่างๆ ต้องสร้างเครือข่าย เชื่อมโยง ประสานงานกันรณรงค์ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของสื่อ ขณะเดียวกันยังต้องบ่มเพาะลูกน้อยให้รู้เท่าทันสื่อ (Media literacy) ให้มากขึ้น รวมทั้งต้องจับตามองรายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์โฆษณา หรือผลผลิตจากอุตสาหกรรมการสื่อสารต่างๆว่าจะมีอะไรที่ส่งผลกระทบต่อลูกหลานหรือไม่

ครับ...พลังของเครือข่ายครอบครัวเป็นสิ่งจำเป็นยิ่งในการทัดทานอำนาจของทุนอุตสาหกรรมการสื่อสารที่มุ่งเน้นแต่เพียงผลกำไร

ปรากฏการณ์ของการทัดทานเช่นนี้ เกิดขึ้นทั่วโลกทั้งในยุโรป อเมริกา หรือแม้แต่ในออสเตรเลีย

ตอนนี้เทรนด์ในการณรงค์เรียกร้องให้ควบคุมการโฆษณาขนมขบเคี้ยวของเด็ก กลายเป็นเทรนด์ใหม่ที่ร้อนแรงเหมือนเทรนด์การควบคุมโฆษณาเหล้า และบุหรี่ในทศวรรษที่ผ่านมา

ถึงเวลาแล้วที่พวกเรา ผู้เป็นพ่อเป็นแม่จะต้องสวมบทบาทนักสืบ เฝ้าระวังสื่ออย่างใกล้ชิด ไม่กระพริบตา
........................................................................................................
บทความนี้ผมเขียนลง ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Mother & Care ฉบับที่ 33 เดือน กันยายน 2550




 

Create Date : 09 พฤษภาคม 2551    
Last Update : 9 พฤษภาคม 2551 13:22:04 น.
Counter : 623 Pageviews.  

สาวเอย...จะบอกให้

เมื่อวานผมอ่านข่าวเล็กๆข่าวหนึ่งในหน้าหนังสือพิมพ์ ซึ่งหลายคนอาจมองผ่านเลยไป แต่สำหรับผมข่าวนี้มีนัยยะสำคัญยิ่งสำหรับการพัฒนาความสุขในครอบครัว

ข่าวนั้นคือเรื่องสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่านร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว โดยสาระสำคัญคือการคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว และลงโทษผู้กระทำความรุนแรงด้วยการจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท

สาเหตุที่ผมคิดว่าข่าวนี้มีความสำคัญเพราะการคุกคามทางเพศ หรือการใช้ความรุนแรงต่ออิสตรี นับวันจะทวีความรุนแรงและแพร่ขยายมากขึ้น

เชื่อไหมครับว่า ความรุนแรง และการถูกกดขี่ คุกคามทางเพศนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากคนไกลตัวเลย

ส่วนใหญ่ความรุนแรงต่อเพศหญิงมักเกิดขึ้นในสถาบันครอบครัว เกิดขึ้นจากบุคคลใกล้ชิด…จากสามี...หรือจากคู่รัก...

พูดถึงตรงนี้ หลายคนอาจนึกเถียงว่า “ผัวเมียทะเลาะ ตบตีกัน ไม่เห็นเป็นไรเลย เดี๋ยวเดียวเขาก็คืนดีกันแล้ว”

บางคนทะเล้นหน่อยอาจเปรียบเปรยว่า “ผัวเมียเขาทะเลาะกันในแนวตั้ง แต่ตกดึกจะคืนดีในแนวนอน”

ครับ ด้วยทัศนคติเช่นนี้ ทำให้เราๆท่านๆมักวางเฉยเมื่อเห็นหรือรับทราบการใช้ความรุนแรงในครอบครัว

ดังนั้น การตบเมีย ซ้อมเมีย สำหรับคนไทยจำนวนไม่น้อยจึงกลายเป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องภายในครอบครัว ชนิดที่ว่าขึ้นโรงขึ้นศาลก็ถือเป็นเรื่องยอมความกันได้

แต่เมื่อพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวนี้มีผลบังคับใช้ การกระทำเช่นนี้ถือว่าเป็นอาชญากรรม !

โดยส่วนตัวผมเชื่อว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงย่อมส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อลูก ต่อสมาชิกในครอบครัว และต่อสังคมในอนาคต

หญิงผู้เป็นแม่ เป็นแกนหลักของสถาบันครอบครัวย่อมไม่สามารถบ่มเพาะ เลี้ยงดูบุตรได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ หากเธอยังอยู่ในสภาวะของความหวาดวิตก เจ็บปวด ทรมานทั้งทางกายและจิตใจ


แล้วจะรู้ได้อย่างไรละครับว่า คู่รักของคุณผู้หญิงมีแนวโน้มจะเป็นพวกมือเท้าหนัก เป็นพวกเจ้าอารมณ์ ชอบใช้กำลังกับผู้หญิง

ในเอกสารรณรงค์ของโครงการ Violence Against Women – Australia Says No ของประเทศออสเตรเลีย ซึ่งแจกจ่ายให้ทุกบ้านพักอาศัย ระบุว่า สัญญาณอันตรายที่คุณผู้หญิงควรสังเกตคือ

1. การแสดงความเป็นเจ้าของ

คนประเภทนี้มักจะตรวจเช็คอยู่ตลอดเวลาว่า ฝ่ายหญิงทำอะไร กับใครที่ไหน พยายามบังคับคู่รักว่า ควรไปไหน ใครที่เธอควรคบ ควรพูดจา

อันนี้ เป็นคนละประเภทกับการห่วงหาอาทรนะครับ ประเภทนี้เกินขอบเขตของความห่วงใยไปแล้ว คนพวกนี้ มักจะหึงหวง แสดงความเป็นเจ้าของอย่างบ้าคลั่ง

2. อิจฉาริษยา

คนพวกนี้มักจะอิจฉาริษยาความสัมพันธ์ระหว่างคู่รักของเขากับบุคคลอื่น โดยมักจะกล่าวหาฝ่ายหญิงว่า ชอบให้ท่าชายอื่น หรือกล่าวหาว่าเป็นชู้โดยไม่มีเหตุผลที่เหมาะสมรองรับ และมักจะแยกคู่รักออกจากครอบครัวและกลุ่มเพื่อนๆของเธอโดยแสดงกริยาท่าทางหยาบคายกับพวกเขา

3. ดูถูกเหยียดหยาม

ชายกลุ่มนี้มักจะทำให้คู่รักของเขาอับอายทั้งต่อหน้าและลับหลัง หยามเหยียดในที่สาธารณะโดยไม่แคร์ความรู้สึกของฝ่ายหญิง ส่วนใหญ่มักจะด่าทอเย้ยหยัน เรื่องสติปัญญา ความสามารถ เรื่องหน้าตา รูปร่าง และมักจะกล่าวหาว่าฝ่ายหญิงคือตัวเจ้าปัญหา

4.การขู่เข็ญ คุกคาม

คนประเภทนี้มักจะชอบตะคอก ตวาด ขู่เข็ญ ด่าทอคู่รักของเขาอย่างรุนแรง บางครั้งก็ใช้กำลังคุกคามคู่รัก รวมไปถึงครอบครัว เพื่อนฝูง แม้กระทั่งกับสัตว์เลี้ยงของเธอ

ครับ ถ้าแฟนหรือคู่รักของคุณมีการแสดงออกเช่นที่กล่าวมา แม้จะไม่ทั้งหมดก็ตาม คุณเตรียมตัวชิ่งจากเขาได้แล้วละครับ ไม่เช่นนั้นคุณอาจจะกลายเป็นกระสอบทรายให้เขาซ้อมเช้าซ้อมเย็น

และถ้าคู่ของคุณเคยใช้ความรุนแรงกับคุณมาแล้ว อย่าปล่อยทิ้งเฉยไว้นะครับ แม้ว่าเขาจะกล่าวคำขอโทษคุณแล้ว หรือให้เหตุผลว่าเขากำลังเครียด หรืออ้างว่าคุณยั่วให้เขาโกรธก่อนก็ตาม

ทั้งนี้เพราะความรุนแรงเช่นนั้นสามารถเกิดซ้ำขึ้นอีก !

ทางออกคือ ปรึกษากับพ่อ แม่ พี่น้อง เพื่อนฝูงที่สนิทสนม ขอความช่วยเหลือโดยด่วน อย่าปล่อยให้เหตุการณ์เช่นนี้ผ่านเลยไป

ในเอกสารรณรงค์เล่มเล็กๆนี้ ยังมีประเด็นที่น่าสนใจคือ การระบุว่า บุคคลที่สามารถลดทอนปัญหาการใช้ความรุนแรงต่อเพศหญิงคือ

พ่อ...แม่...

นั่นคือ การเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูกได้เรียนรู้ และตระหนักถึงคุณค่าของความเป็นมนุษย์ของบุคคลอื่น รวมถึงการไม่ใช้ความรุนแรงแก้ไขปัญหา

ขณะเดียวกันพ่อแม่ควรจะพูดคุย สื่อสารกับลูกสาวให้ตระหนักถึงโทษภัยแห่งความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น พร้อมทั้งเปิดกว้าง รับฟังและร่วมหาทางออก เมื่อลูกสาวต้องเผชิญกับความโหดร้ายเช่นนี้

ขณะเดียวกันก็ต้องพูดคุย สื่อสารกับลูกชายให้เคารพ ตระหนักในศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์ของผู้หญิง

อย่าให้เขาคิดว่าแรงขับทางเพศ หรือความรุนแรงที่กระทำต่อเพศหญิงเป็นเรื่องธรรมดา สามัญ

หรือเห็นว่าเป็นแค่เรื่อง “สนุก”

มาร่วมหยุดความรุนแรงกันเถอะครับ !

........................................................................................................
บทความนี้ผมเขียนลง ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Mother & Care ฉบับที่ 32 เดือน สิงหาคม 2550




 

Create Date : 16 เมษายน 2551    
Last Update : 16 เมษายน 2551 18:27:26 น.
Counter : 612 Pageviews.  

ศูนย์เลี้ยงเด็กในออฟฟิต

น้องอ้อย หวานเจี๊ยบ เป็นเพื่อนรุ่นน้องสมัยผมเรียนปริญญาโทที่ซิดนีย์ เธอเป็นสาวมั่น แกร่งและเก่งไม่แพ้ใคร พอเรียนจบอ้อยบินกลับมาเมืองไทยทำงานในองค์กรธุรกิจการสื่อสารระดับยักษ์ เธอตกหลุมรักและแต่งงานกับหนุ่มวิศวกรร่วมบริษัท

ล่าสุด...น้องอ้อยโทรศัพท์มาแจ้งข่าวดีว่า ตอนนี้เธอกลายเป็นคุณแม่ป้ายแดงเพราะเพิ่งคลอดลูกสาวตัวน้อยๆได้เดือนเศษ หลังจากพูดคุยแสดงความยินดีและซักถามเกี่ยวกับแม่เทพธิดาตัวเล็ก อ้อยได้ปรึกษากึ่งบ่นให้ผมฟังว่า

“...พี่ ช่วงนี้อ้อยเครียดมากเลย ไม่ได้เครียดเรื่องของยายหนูนะคะ แกกินง่าย นอนง่ายกว่าที่คิดไว้เยอะ หนูเครียดเพราะวันหยุดลาคลอดกำลังจะหมด ยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะเอายายหนูไปฝากเลี้ยงที่ไหนดี แฟนอ้อยเขาอยากให้อ้อยลาออกจากงานมาเลี้ยงลูกอย่างเดียว แต่อ้อยยังสนุกกับงาน ยังอยากทำงาน อีกอย่างลำพังอาศัยแค่เงินเดือนแฟนอ้อยคนเดียวไม่พอเลี้ยงยายหนูแน่...”

“อ้าว...ทำไมไม่เอาลูกไปฝากให้คุณปู่คุณย่า คุณตาคุณยายเขาช่วยเลี้ยงละ หรือไม่ก็ให้ญาติพี่น้องช่วยเลี้ยงดีกว่าฝากให้คนอื่นเขาดูแลลูกเรานะ” ผมเอ่ยถามขึ้นพร้อมแสดงความเห็นไปในตัว

“พ่อแม่ของแฟนหนูเขาอยู่ต่างจังหวัดคะ หนูไม่อยากทิ้งลูกไปไกลหรอกคะ ส่วนพ่อแม่ของหนูท่านแก่มากแล้ว ท่านบอกว่าช่วยเลี้ยงหลานให้แป๊บๆไม่เป็นไร แต่จะให้เลี้ยงยาวๆนานๆคงไม่ไหว หนูเข้าใจนะคะ เพราะสุขภาพของท่านไม่แข็งแรงเหมือนแต่ก่อน ญาติคนอื่นๆไม่มีใครว่างพอจะมาช่วยเลี้ยงหรอกคะ แต่ละคนก็มีภาระของตัวเอง...

...ตอนแรกอ้อยคิดจ้างพี่เลี้ยงมาช่วยเลี้ยงลูกที่บ้าน แต่คิดไปคิดมา รู้สึกไม่ไว้ใจที่จะปล่อยลูกไว้กับใครที่ไม่รู้จัก ยิ่งปล่อยให้อยู่บ้านคนเดียวด้วยยิ่งกังวลใหญ่ ตอนนี้เลยมองหาเนิร์สเซอรี่ เลี้ยงเด็กอ่อนอยู่ แต่เท่าที่เจอมันไกลจากที่ทำงานหนูมาก”

“เออ...ทำไมไม่หาใกล้บ้านละ ไปหาใกล้ที่ทำงานทำไม” ผมสงสัย

อ้อยอธิบายว่า “ปกติหนูกับแฟนทำงานเสร็จประมาณห้าหกโมงเย็น ถ้าให้ลูกอยู่เนิร์สเซอรี่ใกล้บ้าน กว่าจะฝ่าการจราจรไปรับลูกได้คงทุ่มสองทุ่มพอดี”

ครับ...ปัญหาหนักอกของอ้อย คงเป็นประสบการณ์ร่วมของ Working Mom จำนวนไม่น้อยในสังคมไทย ประเภทพอคลอดลูกไม่ทันไรก็ต้องวิ่งวุ่นหาศูนย์เลี้ยงเด็กอ่อนทันที

เรื่องนี้ทำให้ผมนึกย้อนกลับไปถึงสมัยเรียนปริญญาตรีที่ธรรมศาสตร์ ตอนนั้นเรามีกิจกรรมลงพื้นที่สัมผัสพบปะพูดคุยกับกรรมกรในย่านอุตสาหกรรมหลักๆในกรุงเทพและปริมณฑล ปัญหาร่วมอย่างหนึ่งของคนงานหญิงคือ ไม่รู้ว่าจะเลี้ยงลูกอ่อนของเธอที่ไหนดี

คนงานหลายคนจำใจเอาลูกกลับไปฝากให้พ่อแม่เลี้ยงที่ต่างจังหวัด เรียกว่าลูกห่างอกพ่อแม่ตั้งแต่เป็นเบบี๊เลย ส่วนคนงานก่อสร้างตามไซด์งานต่างๆ มักจะปล่อยให้ลูกเล็กเด็กแดง คืบคลาน วิ่งเล่นอยู่บริเวณก่อสร้าง ทำให้หลายครั้งเกิดอุบัติเหตุอันน่าสลดใจยิ่ง

ดังนั้นหนึ่งในข้อเรียกร้องของกรรมกรหญิงคือ อยากให้สถานประกอบการมีศูนย์เลี้ยงเด็กอ่อนในสถานประกอบการหรือในชุมชนของตนเอง

ข้อเรียกร้องนี้ในที่สุดได้รับการขานรับจากกระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้ดำเนินโครงการจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กเพื่อผู้ใช้แรงงานในสถานประกอบกิจการและชุมชนขึ้น นัยว่าโครงการนี้จะมุ่งรณรงค์ให้สถานประกอบการทั่วประเทศกว่า 300,000 แห่ง จัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กด้วยความสมัครใจ

แน่นอนครับว่า สถานประกอบการที่จะจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กย่อมต้องมีความพร้อมด้านสถานที่ บุลากร และอุปกรณ์ต่างๆก่อน ไม่ใช่ว่าคิดอยากจะจัดตั้งก็ทำได้เลย

เรื่องการจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กในที่ทำงาน โดยส่วนตัวผมคิดว่าเป็นเรื่องควรสนับสนุนและควรรณรงค์ให้กว้างขวางมากขึ้น เนื่องจากการจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กในที่ทำงานทำให้พ่อหรือแม่สามารถใกล้ชิดลูกได้มากขึ้น

ช่วงว่างจากการทำงาน หรือช่วงพักกลางวัน แม่อาจจะแวะมาให้นมแม่กับลูกน้อยด้วยตนเอง หรืออาจจะแวะเข้ามากอด มาหอม มาพูดคุย ฟัดลูกน้อยเล่นก่อนกลับไปทำงาน เป็นการชาร์ทแบต เติมพลังในการทำงานที่ดีเยี่ยม

ทารกที่ใกล้ชิดพ่อแม่ ได้รับการส่งเสริมการพัฒนาด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสติปัญญาอย่างถูกต้องจากพี่เลี้ยงเด็กที่มีมาตรฐาน ย่อมมีโอกาสพัฒนาเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพได้ในอนาคต

หากมองในแง่ของสถานประกอบการเอง การสร้างศูนย์เลี้ยงเด็กขึ้นในสถานประกอบการนอกจากจะเป็นการสร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานให้กับพนักงาน เพื่อนำไปสู่การทำงานที่มีประสิทธิภาพแล้ว ยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กรเองอีกด้วย

ปัจจุบันองค์กรธุรกิจหลายแห่งพยายามจะสร้างภาพลักษณ์ของตนเองโดยอิงกับหลักการตลาดแนวเพื่อสังคม หรือที่รู้จักกันดีในนามของ “Corporate Social Responsibility (CSR)” ผมคิดว่า การทำ CSR ที่ใกล้ตัวที่สุดน่าจะเริ่มได้จากการทำประโยชน์ให้กับพนักงานในองค์กรตนเอง เช่นโครงการนี้

แต่แน่นอนครับ ลำพังถ้าจะให้สถานประกอบการเอกชน ดำเนินการจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กเองคงมีเถ้าแก่ใหญ่ เจ้าของกิจการ หรือ ซีอีโอ หลายคนคิดว่าเป็นการกระทำที่สิ้นเปลือง ไม่ได้ผลตอบแทนอย่างเห็นรูปธรรม

ดังนั้น หากฝ่ายรัฐคิดจะรณรงค์โครงการนี้อย่างจริงจัง ควรจะจับมือร่วมกับหลายภาคส่วน ทั้งในองค์กรของรัฐเอง รวมถึงองค์กรธุรกิจเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน และในส่วนของกรรมกร พนักงาน ลูกจ้าง ร่วมกันสนับสนุน ผลักดัน สร้างความเข้าใจและความตระหนักร่วมกันในการก่อตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กให้เกิดขึ้นในสถานประกอบกิจการและชุมชน

ในส่วนของภาคการเมืองไหนๆก็ใกล้เลือกตั้งเข้ามาแล้ว พรรคการเมืองควรจะตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้ ควรมีนโยบายสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรม เช่นอาจจะใช้เงื่อนไขการลดหย่อนทางภาษี หรืออื่นๆ มาช่วยกระตุ้นให้โครงการนี้ขยายผลจากการจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็ก 67 แห่งเช่นในปัจจุบัน เป็น 300,000 แห่ง ตามเป้าหมาย

แต่ถ้านักการเมืองไทยไม่อยากให้ประชากรในอนาคตเป็นคนมีคุณภาพ ก็ลืมเรื่องนี้ไปเถอะครับ !

........................................................................................................
บทความนี้ผมเขียนลง ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Mother & Care ฉบับที่ 31 เดือน กรกฏาคม 2550







 

Create Date : 07 เมษายน 2551    
Last Update : 7 เมษายน 2551 12:51:37 น.
Counter : 856 Pageviews.  

เมื่อเจ้าตัวเล็กไปโรงเรียน

คุณยังจำวันแรกที่ไปโรงเรียนได้ไหมครับ สำหรับผม...ภาพวันแรกของการเป็นเด็กนักเรียนยังแจ่มชัดในห้วงความทรงจำ ประมาณว่าเหมือนเซพไฟล์เม็มไว้ในสมองยังไง ยังงั้น

ตอนนั้นผมอายุ 4 ขวบ พ่อแม่คงเหนื่อยระอากับความซนของผมแล้วกระมังจึงยื่นคำขาดว่าจะพาผมไปโรงเรียนอนุบาล แถวสี่แยกบ้านแขก ฝั่งธนบุรี ไม่ไกลจากบ้านในวัยเด็กมากนัก

แรกๆผมยังเห่อกับอุปกรณ์การเรียน จำพวก กระเป๋านักเรียน กระติกน้ำ กล่องดินสอ จำได้ว่าผมหยิบมาเล่นอย่างสนุกสนาน เลยไม่รู้สึกอะไรมากนักเรื่องไปโรงเรียน

แล้ววันสำคัญก็มาถึง...วันนั้นพ่อแม่พาผมไปโรงเรียนแต่เช้า พอไปถึงทั้งคู่หลอกล่อให้ผมไปดูกระต่ายในกรงริมรั้วโรงเรียนพร้อมกับคุณครูสาวสวยคนหนึ่ง “ดูสิลูก...กระต่ายสีขาวกินผัก ลูกกระต่ายตัวสีเทากระโดดไปมา ฯลฯ” ผมมองดูอย่างเพลิดเพลิน เผลอแป๊บเดียวพ่อแม่วิ่งหนีหายไปไหนไม่รู้ เหลือแต่คุณครูคนเดียวอยู่ข้างกาย

เท่านั้นแหละครับ...ต่อมน้ำตามันแตก ผมรู้สึกเหมือนโดนพ่อแม่เอามาทิ้งในสถานที่แปลกตา เลยฉลองศรัทธาด้วยการร้องโฮลั่นโรงเรียนเลยครับ

ครูคนสวยต้องปลอบโอ๋ผมใหญ่ว่า เดี๋ยวพ่อแม่มารับ แต่ผมไม่เชื่อหรอก...จะหาแม่ จะหาพ่ออย่างเดียวเท่านั้น มีแรงเท่าไหร่ก็แหกปากร้อง จนครูสาวเริ่มใจเสีย รีบจูงมือผมไปหาเพื่อน

เพื่อนคนแรกในโรงเรียนเป็นเด็กผู้หญิงหน้ายิ้มระรื่นคนหนึ่ง เธอเป็นเด็กหน้าตาน่ารัก จำได้ดีว่าเป็นเด็กหน้าหมวยๆไว้ผมเปียสองข้าง

เด็กหญิงคนนั้นจับมือผมบอกว่า “เธอ...อย่าร้องไห้นะ..อย่าร้องไห้นะ” แต่ตอนนั้นผมไม่ฟังใครแล้วละครับ ร้องไห้เสียงดังลั่น จนเด็กหญิงน่ารักเริ่มเปลี่ยนสีหน้า จากยิ้มแป้นเป็นหน้าแบะ แล้วในที่สุดเธอก็ร้องไห้โฮประสานเสียงกับผม ทีนี้เด็กคนอื่นๆในห้องต่างพร้อมใจกันร้องไห้ลั่นห้อง

แหม๋....ช่างโกลาหลดีแท้ หึ...หึ...

ครับ...ด้วยเหตุความทรงจำวันแรกที่ไปโรงเรียนของผมชุ่มด้วยน้ำตานี่แหละ ทำให้เมื่อถึงคิวตัวเองสวมบทบาทเป็นคุณพ่อ ซ้ำยังต้องพาเจ้าตัวเล็ก..."สายน้ำ" วัยสามขวบไปโรงเรียนอนุบาลในวันแรกด้วยตัวเอง ผมถึงเครียดหนัก

เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมทำได้คือการเตรียมพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจของลูก ให้สามารถรับมือกับสภาพแวดล้อมใหม่ๆในโรงเรียน

ด้านร่างกาย สิ่งที่เตรียมคือการฝึกเรื่องของการขับถ่าย โชคดีครับว่า เจ้าลิงน้อยของผมเขาสามารถบอกอึบอกฉี่ได้ตั้งแต่สองขวบ ดังนั้นเรื่องนี้จึงไม่ต้องกังวลใจมากนัก เพียงแต่ย้ำกับเขาว่าถ้าปวดให้บอกคุณครูหรือพี่เลี้ยงทันที

ส่วนการนอนกลางวัน อันนี้มีปัญหานิดหน่อย เพราะเดิมเจ้าตัวเล็กกว่าจะยอมงีบตอนบ่ายก็ต้องหม่ำให้อิ่ม ต้องวิ่งเล่นจนเหนื่อย กว่าจะกล่อมนอนได้ปาเข้าไปบ่ายสองบ่ายสาม แต่ถ้าไปโรงเรียนคุณครูจะให้นอนช่วงเที่ยงเศษๆ ดังนั้นต้องปรับเวลานอนกลางวันของเขาให้ร่นเร็วขึ้น เช่นเดียวกับการนอนตอนกลางคืนต้องร่นให้นอนเร็วขึ้น ตื่นเช้าขึ้น

การทานอาหาร จากการวิ่งป้อนไปรอบบ้าน ต้องหัดให้เจ้าตัวเล็กหัดทานอาหารเอง
พฤติกรรมการละเล่นจากเคยหวงข้าวของ ก็ต้องพยายามสอนให้รู้จักแบ่งปัน (อืม...อันนี้ยังทำไม่ค่อยสำเร็จ)

สำหรับด้านจิตใจของเด็ก สิ่งที่ลูกจำเป็นต้องได้รับคือกำลังใจในการไปโรงเรียน ดังนั้นผมจึงพยายามสร้างทัศนคติด้านบวกเกี่ยวกับโรงเรียนให้กับเขา ด้วยการเล่าเรื่องสนุกสนานของโรงเรียน พร้อมทั้งหาหนังสือเด็กเกี่ยวกับความสนุกในโรงเรียนมาอ่าน มาเล่าให้ฟังอยู่เสมอ นอกจากนั้นยังพาลูกไปวิ่งเล่นในโรงเรียน เพื่อสร้างความคุ้นเคย

และแล้ววันสำคัญก็เวียนมาถึงอีกครั้ง...คราวนี้โชคดีครับว่า โรงเรียนอนุบาลที่ลูกชายผมเรียนคือ “โรงเรียนสาธิตอนุบาลละอออุทิศ” ที่นี่เขาตระหนักดีถึงความโกลาหลในวันเปิดเทอมวันแรก จึงจัดให้เด็กได้คุ้นเคยกับโรงเรียนในช่วงซัมเมอร์ก่อนโรงเรียนเปิดเทอมจริง

วันแรกของการเรียนซัมเมอร์...ผมตัดสินใจลางานเพื่อพาลูกไปโรงเรียนด้วยตนเอง โรงเรียนอนุบาลในวันแรกมีพ่อแม่ผู้ปกครองกระเตงลูกตัวน้อยมาโรงเรียนกันอย่างคึกคัก เด็กบางคนร้องไห้โฮ บ้างคนแค่ฮึดฮัด กระฟัดกระเฟียด

ครูเจี๊ยบ...ทิพย์สุคนธ์ วิชัยดิษฐ กับครูกุ๊ก...พณารัตน์ แสงคำ ครูประจำชั้นของลูกชายผมแนะวิธีช่วยไม่ให้เจ้าตัวเล็กรู้สึกว่าถูกพ่อแม่ทอดทิ้งไว้ที่โรงเรียนว่า...

“วันแรกอยากจะให้พ่อแม่อยู่กับลูกทั้งวัน ให้เล่นสนุกกับลูกในห้องเรียนด้วยกัน บ่ายๆค่อยพากลับบ้าน

...วันที่สองถึงจะปล่อยให้เด็กอยู่โรงเรียนคนเดียว แต่พ่อแม่ต้องบอกลูกก่อนนะคะว่าไปทำงาน ตอนบ่ายๆจะมารับกลับบ้าน แล้วอยากให้คุณพ่อคุณแม่รักษาสัญญากับลูก รักษาเวลาให้ดี รีบมารับกลับบ้านเร็วๆหน่อย วันต่อๆไปค่อยขยับเวลามารับให้ห่างออกไปจนมารับในเวลาเลิกเรียนปกติ...”

อืม...ไม่น่าเชื่อครับว่า วิธีนี้จะได้ผล เพราะเจ้าลิงทโมนตัวน้อยๆของผม ไม่ร้องไห้เลย (แหะ...แหะ...เก่งกว่าพ่อตอนเด็กๆเสียอีก) แต่ต้องยอมรับครับว่า...เครียดมาก โดยเฉพาะวันที่สองที่ต้องเริ่มปล่อยให้ลูกอยู่โรงเรียนเองคนเดียว

วันนั้น...ผมต้องตัดใจบอกลาลูกแล้วเดินออกจากห้องเรียนทันที ก่อนจะวนกลับมาแอบมองลูกผ่านหน้าต่างห้องเรียน เห็นลูกสนุกกับของเล่นในห้อง ไม่ร้องไห้ก็โล่งใจแล้วละครับ

เฮ้อ...หนทางการศึกษาของลูกยังอีกยาวไกล...นี่แค่การเริ่มต้นเท่านั้น...ผมได้แต่รำพึงกับตัวเอง
........................................................................................................
บทความนี้ผมเขียนลง ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Mother & Care ฉบับที่ 30 เดือน มิถุนายน 2550




 

Create Date : 30 มีนาคม 2551    
Last Update : 30 มีนาคม 2551 11:41:52 น.
Counter : 875 Pageviews.  

The ugly parent syndrome

ขณะเขียนต้นฉบับอยู่นี้ เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลียกำลังมีการแข่งขันว่ายน้ำชิงแชมป์โลก บรรดานักกีฬาว่ายน้ำชั้นนำจากทั่วโลกต่างมารวมตัวกันเพื่อพิสูจน์ความเป็นหนึ่ง

แต่เชื่อไหมครับว่า ปีนี้แทนที่ชาวออสซี่จะสนใจเรื่องผลการแข่งขันว่าใครจะเป็นเจ้าสระ พวกเขากลับเม้าท์แตกกันเรื่องโค้ชนักว่ายน้ำทีมชาติยูเครนทำร้ายร่างกายนักว่ายน้ำสาววัย 18 ปี ซึ่งเป็นลูกสาวของเขาเอง นัยว่าโค้ชผู้เป็นพ่อคงโกรธฉุนเฉียวที่ลูกสาวทำได้ไม่ดีอย่างที่ตนเองต้องการ ทั้งที่เธอเองเพิ่งทำสถิติโลกขึ้นใหม่หลายรายการด้วยกัน

ภาพพ่อกำลังทำร้ายลูกสาว...นักว่ายน้ำ...ถูกจับภาพได้โดยกล้องของสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่ง เมื่อถ่ายทอดออกมาเป็นข่าว ทางสหพันธ์ว่ายน้ำนานาชาติได้ขอให้ฝ่ายจัดการแข่งขันถอดชื่อของคุณพ่อเจ้าอารมณ์ออกจากการแข่งขันทันที

สำหรับผู้คนที่เติบโตในสังคมพ่อแม่เป็นใหญ่เมื่อเห็นข่าวนี้อาจสงสัยว่า ทำไมการที่พ่อแม่สั่งสอน ดุด่า เฆี่ยนตีลูก เพื่อให้ลูกแข่งขันกีฬาให้ได้ชัยชนะถึงเป็นความผิดบาปขนาดนี้

ในสังคมตะวันตกหลายๆประเทศรวมทั้งประเทศออสเตรเลียถือว่า เรื่องนี้เป็นประเด็นใหญ่ถึงขนาดมีการออกวาระแห่งชาติ เพื่อคุ้มครองสิทธิของนักกีฬาเด็กและเยาวชนไว้เลยทีเดียว

เนื่องจากที่ผ่านมามีพ่อแม่ผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยที่ทั้งกดดัน ขู่เข็ญ ตะคอก ดุด่า ตลอดจนใช้กำลังกับลูกหลานของตนเอง เพื่อหวังเห็นลูกหลานของตนเล่นกีฬาจนได้ชัยชนะ

คนออสซี่เรียกบรรดาพ่อแม่ผู้ปกครอง ผู้ซึ่งไม่สามารถควบคุมอารมณ์รุนแรงของตนเองในขณะเชียร์ลูกหลานแข่งขันกีฬาว่า เป็นคนป่วยด้วยโรค

“The ugly parent syndrome”

แล้วการแสดงอารมณ์รุนแรง เกรี้ยวกราด น่ารังเกียจเช่นนี้ส่งผลอะไรต่อเด็กหรือครับ

งานวิจัยของ The Olympic Sports Medicine Centre ชี้ชัดว่า พฤติกรรมของพ่อแม่ผู้ปกครองที่มักระเบิดอารมณ์รุนแรงใส่ลูกหลานขณะเล่นกีฬาส่งผลให้เด็กตัวน้อยขาดความมั่นใจในตนเอง เด็กเหล่านี้จะไม่สามารถพัฒนาศักยภาพด้านกีฬาได้อย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันเหยื่อตัวน้อยจำนวนมากยังเข็ดขยาดและไม่สนุกสนานกับกีฬาที่ตนชื่นชอบอีกเลย

พูดง่ายๆว่า แทนที่การเคี่ยวเข็ญของพ่อแม่จะส่งผลดีต่อลูก กลับกลายเป็นการทำร้ายลูกโดยไม่รู้ตัว

ลองนึกภาพดูสิครับว่า ทุกครั้งที่เจ้าตัวน้อยกำลังสนุกสนานในสนามกีฬา กำลังวิ่งไล่เตะลูกบอล หรือกำลังหวดลูกเทนนิส หรือกำลังว่ายน้ำอย่างมีความสุข แต่กลับมีพ่อแม่ผู้ปกครองหน้ายักษ์โผล่ออกมาพร้อมเสียงตะคอก ดุด่าลอยเข้าหู คอยสั่งให้วิ่งไปทางนั้นทางนี้ ทำอย่างโน้นอย่างนี้ แล้วถ้าเด็กแข่งแพ้ ยิ่งต้องเจอกับพายุอารมณ์ของพ่อแม่

เด็กที่ไหนละครับจะยังสนุกกับกีฬา

โรคร้าย...The ugly parent syndrome...นับวันยิ่งแพร่ระบาดมากขึ้น ส่วนหนึ่งเนื่องจากการแข่งขันกีฬาในทุกวันนี้กลายเป็นธุรกิจที่มีเม็ดเงินมหาศาล

นักกีฬาแชมป์ระดับโลกมักได้รับผลตอบแทนจากความเหน็ดเหนื่อยด้วยชื่อเสียงและเงินทองมากมาย กีฬาหลายๆประเภทจึงกลายเป็นแหล่งสร้างเศรษฐีและดาราคนใหม่

ด้วยเหตุนี้จึงมีพ่อแม่ผู้ปกครองจำนวนหนึ่งฝันจะสร้างลูกให้เป็นเศรษฐีและเป็นคนมีชื่อเสียง โด่งดังผ่านการกีฬา พ่อแม่เหล่านี้มักใช้การเคี่ยวเข็ญ ดุด่า เกรี้ยวกราด เฆี่ยนตีนักกีฬาตัวน้อยๆของเขาอยู่เสมอ

พฤติกรรมของพ่อแม่ที่มีอาการของโรค The ugly parent syndrome ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศตะวันอย่างออสเตรเลียนะครับ เมืองไทยเราก็สามารถพบเห็นได้มากมายตามสนามการแข่งขันของเด็กและเยาวชน

พ่อแม่คนไทยเหล่านี้อยากให้ลูกของตนเองรวยและโด่งดังอย่าง “ภารดร” “ลีซอ” ฯลฯ จนลืมคิดว่า แก่นแท้ของการกีฬานั้นหาใช่เพียงชัยชนะในเกมการแข่งขัน หากแต่คือการทำให้ลูกหลานมีสุขภาพ ร่างกายที่แข็งแรง เรียนรู้จักน้ำใจนักกีฬา รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย

แล้วเราจะมีหลักอย่างไรให้ตนเองรอดพ้นจากโรค The ugly parent syndrome ในคู่มือ Kids’ Sport: A very real guide for grown ups ของ The NSW Department of Sport and Recreation แห่งรัฐนิวเซ้าท์เวล ประเทศออสเตรเลีย ให้ข้อแนะนำที่น่าสนใจว่า...

พ่อแม่ต้องเป็นกำลังใจและเป็นกองหนุนให้กับลูกหลานในการเล่นกีฬา ขอให้คำนึงเสมอว่า การที่ลูกมีความพยายาม มานะบากมั่นในการฝึกซ้อมและเล่นอย่างเต็มที่ หรือเล่นอย่างสุดความสามารถคือความสำเร็จมากกว่าชัยชนะที่ได้จากการแข่งขันเสียอีก

ขณะเดียวกันต้องสอนให้ลูกเคารพต่อกฎกติกาการแข่งขัน ต้องสอนให้เรียนรู้ว่าเวลาแข่งขันอะไรพึงกระทำ และอะไรไม่พึงกระทำ อย่าสนับสนุนให้ลูกใช้เทคนิคทำผิดกติกาเพื่อหวังผลด้านชัยชนะ

เมื่อการแข่งขันเริ่มต้นขึ้น ไม่ว่าผลที่ปรากฏจะเป็นอย่างไร อย่าโทษลูก

อันนี้สำคัญ เพราะพ่อแม่ส่วนใหญ่มักพูดสอนแบบเย้ยหยัน ประเภทที่ว่า “เห็นไหม พ่อ/แม่ บอกแล้วให้ขยันซ้อม มัวแต่ห่วงเล่น ถ้าซ้อมหนักกว่านี้ก็ชนะไปแล้ว”

และไม่ใช่เป็นประเภทว่า...ลูกแพ้แล้ว แต่พ่อแม่ไม่ยอมแพ้ เที่ยวโวยวายโทษกรรมการหาว่าลำเอียง หรือโทษเพื่อนร่วมทีมของลูก กล่าวหาว่าพวกเขาเล่นแย่ เลยทำให้ลูกแพ้ละครับ

การกระทำเช่นนี้นอกจากจะทำให้ลูกขายหน้าเพื่อนฝูงแล้ว ยังเท่ากับสอนให้ลูกไม่ยอมรับกับความพ่ายแพ้อีกด้วย

อืม... ลูกโตขึ้นมาคล้ายนักการเมืองบางคน ไม่รู้ด้วยนะ !

........................................................................................................
บทความนี้ผมเขียนลง ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Mother & Care ฉบับที่ 29 เดือน พฤษภาคม 2550




 

Create Date : 22 มีนาคม 2551    
Last Update : 30 มีนาคม 2551 11:41:18 น.
Counter : 658 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  

สายน้ำกับสายเมฆ
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




Locations of visitors to this page

Tracked by Histats.com
Friends' blogs
[Add สายน้ำกับสายเมฆ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.