วัฒนธรรมสัญจร : ศิลปกรรมในวัดระฆังโฆสิตาราม (จบ) ผู้นำชมหลักในหอไตรคือ อ. รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง จากนั้นเราก็ออกไปยังด้านหน้าเป็นการบรรยาย เกี่ยวกับเจดีย์ประธานโดย อ. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อย่างที่บอกไว้ ผมไม่มีความรู้มากพอที่จะเข้าใจนัก จากนั้นเป็นการนำชมสิ่งสุดท้าย มีคนมากมายคับคั่งในวันอาทิตย์ ผ่านวิหารซึ่งเดิมเป็นโบสถ์ในสมัยอยุธยา ก่อนที่รัชกาลที่1 จะมาสร้าง โบสถ์ใหม่ข้างอาคารเดิม พระประธานเป็นแบบรัตนโกสินทร์ ที่มีชื่อเสียงโด่งดังจากการที่พระองค์พระราชทานฉัตรไว้ถึง 9 ชั้น แต่พระอุโบสถหลังนั้นได้ถูกไฟไหม้เสียหาย เพลิงได้ลุกลามไปยังด้านหลัง เผาผลาญสิ่งที่มีคุณค่ามากที่สุดในประวัติศาสตร์แห่งสมัยธนบุรีไป นั่นก็คือตำหนักทองอันเคยเป็นที่ประดับของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่รัชกาลที่ 1 โปรดให้รื้อมาถวายเป็นพุทธบูชา เพลิงได้หยุดก่อนถึงหอไตร ซึ่งตำแหน่งเดิมนั้นอยู่ด้านหลังของพระอุโบสถ ไม่ใช่ตำแหน่งตอนนี้ รัชกาลที่ 3 จึงโปรดให้สร้างพระอุโบสถหลังใหม่อย่างที่เห็นในปัจจุบัน เมื่อรัชกาลที่ 5 เสด็จมาพระราชทานผ้าพระกฐินทรงชื่นชมพระประธาน รับสั่งพระพักตร์นั้นงามราวกับยิ้มได้ พ.ศ. 2465 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 6 ได้มีการบูรณะพระอุโบสถใหม่ จิตกรรมฝาผนังที่เห็นในปัจจุบัน จึงเป็นของจิตกรชื่อดัง พระวรรณวาดวิจิตร (ทอง จารุวิจิตร) ในคราวนั้นมีการเปลี่ยนฉัตรผ้าขาว 9 ชั้น (แต่ถ้ามีการซ่อมใหญ่ เพราะถูกไฟไหม้ ฉัตรนั้นคงเป็นของรัชกาลที่ 3) มาเป็นฉัตรขาวตาดทอง แต่ฉัตรหลังพระประธานที่เห็นในปัจจุบันเป็นของซ่อมเมื่อปี พ.ศ. 2504 นำชมโดยคุณยุทธนา แสงอร่าม บอกได้ว่าผมไม่ค่อยซาบซึ้งเท่าไหร่ เพราเป็นงานสมัยใหม่ ที่ผมคิดว่าไม่สวยเหมือนอยุธยาหรือรัชกาลที่ 3 แต่เมื่อกลับมาดูภาพที่ถ่ายพบว่ามีเรื่องที่น่าสนใจ เพราะดูเหมือนว่า แม้จะเป็นภาพเขียนใหม่ แต่เรื่องราวที่เขียนนั้นเหมือนราวจะคงไว้ เพราะด้านหลังพระประธานที่เป็นภาพไตรภูมิเป็นสิ่งที่นิยมมากสมัยอยุธยา จนต่อมาถึงรัชกาลที่ 1 เราพบร่องรอยเช่นนี้อยู่ที่วัดราชสิทธาราม วัดสุวรรณาราม วัดสระเกศและ วัดดุสิตาราม ที่มีรูปถ่ายยืนยันได้ และเชื่อว่ามีที่วัดราชบูรณะก่อนที่จะถูกทิ้งระเบิดในสงครามโลกอีกด้วย ส่วนงานที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่เห็นกลับเป็นภาพประดับกรอบกระจก ดังนั้นแม้จะเป็นจิตกรรมที่วัดระฆังจะเป็นงานสมัยใหม่ที่ได้อิทธิพลตะวันตก แต่ยังคงมีการรักษาขนบไว้ โดยยังคงภาพเทพชุมนุมและไตรภูมิไว้นั่นเอง ![]() หลังคาลด ๓ ชั้น มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ และคันทวย ![]() หน้าบัน ที่จำหลักลายพระนารายณ์ทรงครุฑ ![]() ภาพสถานที่สำคัญทางศาสนาประดับกรอบกระจก ![]() ธรรมาสน์ จปร ชั้นหนึ่ง ลงรักปิดทองประดับกระจก ![]() ด้านหลังพระประธานเขียนภาพไตรภูมิ และพระมาลัยขณะขึ้นไปนมัสการพระมหาจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ![]() เบื้องล่างเขียนภาพนรกภูมิ ![]() ผนังด้านข้าง ด้านบนเขียนภาพเทพชุมนุม ![]() ตอนล่างเขียนภาพทศชาติ ภาพเวียนตามเข็มนาฬิกา เริ่มจากซ้ายมือพระประธาน ภาพที่ 1 เตมีย์ชาดก ![]() ภาพที่ 2 มหาชนกชาดก ![]() ภาพที่ 3 เนมิราช ![]() ภาพที่ 4 ล่าง สุวรรณสามชาดก บน มโหสถชาดก ![]() ภาพที่ 5 ไม่ทราบ แต่ให้เดาผมนึกถึงจันทกุมาร ดบสถ์นี้มีผนังมีห้าห้อง ถ้าช่างจะเขียนทศชาติชาดกก็จะพอดี แต่เหตุใดห้องที่ 4 ช่างจึงเขียสองเรื่องไว้ด้วยกัน เป็นปริศนาที่คิดไม่ออก ![]() ผนังด้านหน้าพระประธานเขียนเป็นภาพพระพุทธเจ้าแสดงยมกปาฏิหาริย์ และตอนเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ![]() ภาพที่ 6 ภูริทัตชาดก ![]() ภาพที่ 7 จันทกุมารชาดก ![]() ภาพที่ 8 ควรจะเป็นนารถชาดก แต่ผมว่าก็ยังเป็นจันทกุมารอีกนั่นล่ะ ที่สำคัญภาพต่อไปกลายเป็นเวสสันดร ทำให้วิฑูรชาดกหายไปด้วย ถ้าเป็นดังที่ผมว่าเช่นนี้ จะกลายเป็นจันทกุมารมีถึง 3 ห้อง ทำไม?? ![]() ภาพที่ 9 เวสสันดร ![]() ภาพที่ 10 เวสสันดร จบผนังผั่งขวามือพระประธาน เป็นบล็อกชุดสุดท้ายในซีรีย์การตามหาศิลปกรรมในสมัยรัชกาลที่ 1 ที่เริ่มต้นจากการแนะนำหนังสือ ผ่านไปยังการจัดเสวนาจากผู้เขียน พร้อมการนำชมวัดโพธิ์อันเป็นวัดประจำรัชกาล เสริมเรื่องราว จากความรู้ทางวิชาการในหัวข้อ วัฒนธรรมสัญจร วัดระฆังโฆสิตาราม คำถามคือ เราได้อะไรจากเรื่องนี้ กล่าวสั้นๆ ในมุมมองของผมก็คือ นับจากสุโขทัยผู้ปกครองนั้นถือตนเป็นเพียงพ่อเป็นขุนของผู้ใต้ปกครอง ต่อเมื่อภายหลังได้รับอิทธิพลจากแคว้นสุพรรณภูมิจึงนับตนเป็นพระยา เมื่อแรกตั้งอยุธยาสายลพบุรีได้รับอิทธิพลจากเขมรถือตนเป็นรามาวตาร สายสุพรรณภูมิเขยิบตนมาเป็นผู้ปกครองแห่งธรรมในนามพระพุทธเจ้า เมื่อการปกครองลงตัวอยุธยาก็ผสมผสานความเชื่อทั้งสองเข้าด้วยกัน แต่พระอินทร์ยังเป็นเพียงเทพสำคัญองค์หนึ่งที่คอยสนับสนุนเพระพุทธเจ้า จนกระทั่งถึงพระเจ้าปราสาททองผู้มาจากสามัญชนขึ้นมาครองอำนาจ สิ่งที่พระองค์ทำก็คือการทำพิธีอินทราภิเษกให้กลายเป็นพิธีที่ยิ่งใหญ่ ทำพิธีลบศักราชที่มีเรื่องเล่าว่าส่งทูตไปชวนพม่า แต่เค้าไม่เอาด้วย และสร้างพระที่นั่งใหม่แรกนั้นชื่อ พระที่นั่งศิริยโสธรมหาพิมานบรรยงก์ เรื่องเล่าต่อมาว่าทรงพระสุบิน มีพระอินทร์เสด็จลงมานั่งแทบพระองค์ และตรัสให้ตั้งจักรพยุหแล้วจึงหายไป เมื่อพระองค์เสด็จออกขุนนาง ทรงเล่าให้โหราพฤฒาจารย์ทั้งหลายฟัง ต่างก็ทูลว่า พระนามพระที่นั่งนั้น เห็นไม่ต้องนาม สมเด็จพระอมรินทราธิราชจึงขอให้นำนามจักรนี้ ให้เป็นนามใหม่ชื่อว่าพระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์มหาปราสาท เพราะประวัติศาสตร์นั้นเป็นเพียงล้อเกวียนแห่งกาลเวลาก็เท่านั้นเอง เรื่องพระอินทร์กลับมาเป็นเรื่องสำคัญอีกครั้งในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ความเชื่อนี้ยังคงอยู่ต่อมาถึงรัชกาลที่ 3 เมื่อพระองค์ได้พระราชทาน มงกุฎให้ประดิษฐานไว้ที่ยอดนพศูนย์มาหาธาตุแห่งพระปรางก์วัดอรุณ สื่อถึงการเป็นวิมานไพชยนต์ขององค์อัมรินทร์หนือขุนเขาพระสุเมรุ และนี่ก็คงเป็นบล็อกสุดท้ายในปีนี้ที่เราจะก้าวผ่านปีใหม่ไปด้วยกัน ขอบคุณอาจารย์ทุกท่านจากการสัมมนาและการนำชมที่ได้มอบความรู้ ให้ผมมาเขียนบล็อกเช่นนี้ ขอบคุณคนอ่านทุกคนแม้คุณจะไม่แสดงตัว และที่สำคัญที่สุดเพื่อนบล็อกที่เป็นกำลังใจโดยการให้คอมเมนท์ตลอดมา Happy New Year 2016 ครับ โหวตหมวดความรู้ค่ะ
![]() ![]() ![]() โดย: สายหมอกและก้อนเมฆ
![]() ![]() วัดในกรุงเทพหลายแห่งก่อตั้งมาตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่น่าเสียดายที่ของสำคัญหลายๆอย่างถูกทำลายไปด้วยไฟไหม้บ้าง สงครามบ้าง หรือรื้อถอนไปเองบ้างก็มี
แม้แต่ยุครัตโกสินทร์เองแต่ละรัชกาลศิลปะก็จะต่างแนวกันไปนะครับ อย่างสมัย ร.3 จะมีอิทธิพลศิลปะแบบจีนเยอะ สวัสดีปีใหม่ 2559 ครับ เป็นอีกบล็อกที่มีเนื้อหาสาระมีคุณค่า และเรียบเรียงด้วยน้ำพักน้ำแรงตนเอง ซึ่งหาได้ยากท่ามกลางบล็อกก้อปแปะทั้งหลาย ปีหน้าน่าจะมีโหวต best สาระ blog อีกหมวดนะครับ ![]() โดย: ชีริว
![]() ![]() ![]() เมื่อวานก็ไปถ่ายรูปพระประธานมาค่ะ กะว่าวันสำคัญวัดน่าจะเปิด ได้ภาพสมุดข่อยมาค่ะ โดย: tuk-tuk@korat
![]() ![]() |
บทความทั้งหมด
|