งานซ้อมใหญ่พยุหยาตราทางชลมารค 2567 (4) ![]() ต่อไปคือเรือที่สำคัญที่สุด คือเรือพระที่นั่งทรงสุวรรณหงส์ ภาพจำของคนรุ่นเรา คือเรือพระที่นั่งสุวรรณหงส์เป็นเรือพระที่นั่งหลัก ในพระราชพิธีเสด็จพยุหยาตราทางชลมารคเพื่อทอดผ้าพระกฐินมาโดยตลอด แต่ชื่อเรือพระที่นั่งที่ปรากฏในพงศาวดารแรกๆ สมัยพระชัยราชา คราวเสด็จไปสงครามเมืองเชียงไกรเชียงกรานว่า เพลายามหนึ่งเกิดลมพายุพัดหนักคอเรืออ้อมแก้วแสนเมืองมารนั้นหัก เรือไกรแก้วนั้นแตก แม้จะไม่ปรากฏการใช้คำว่าเรือพระที่นั่ง แต่ก็ตีความได้ว่า น่าจะเป็นเรือสำคัญถึงมีการบันทึกชื่อไว้ ชื่อเรือสุพรรณหงส์ปรากฏชื่อครั้งแรกในพงศาวดาร ตอนอัญเชิญสมเด็จพระมหาจักรพรรดิขึ้นครองราชสมบัติว่า ฝ่ายขุนพิเรนทรเทพจึงให้หาหลวงราชนิกูล พระรักษมณเฑียรแลเจ้าพนักงาน ทั้งปวงเอาเรือพระที่นั่งไชยสุพรรณหงส์ไปยังวัดราชประดิษฐาน อัญเชิญพระเฑียรราชาให้ปริวัติลาผนวช เมื่อพระองค์ได้ราชสมบัติจึงพระราชทานเรือไชยพื้นดำพื้นแดงคู่หนึ่ง พร้อมเครื่องราชกุกกุภัณฑ์ ให้พระมหาธรรมราชาเป็นความชอบ นอกจากนี้พงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐบันทึกว่า พ.ศ. 2095 โปรดให้แปลงเรือแซ เป็นเรือชัยและเรือรูปสัตว์ ไม่มีหนังสือเล่มใดที่กล่าวถึงวิวัฒนาการของชนิดเรือที่ใช้ในพระราชพิธี ดังนั้นเราจะตีความเรื่องนี้ด้วยตนเอง โดยในพงศาวดารเริ่มจาก ![]() เรือแซ เป็นเรือขุดจากไม้ทั้งต้นอย่างที่เรียกว่าเรือมาด มีขนาดใหญ่ ลำหนึ่ง ๆ พลกรรเชียง 20 คนใช้ลำเลียงทหารและอาวุธยุทธภัณฑ์ เรือแซที่เห็นอยู่ในปัจจุบันได้แก่ เรือเสือทะยานชล และเรือเสือคำรณสินธุ์ ซึ่งจัดว่าเป็นเรือพิฆาต ดังนั้นจึงไม่น่าจะเป็นเรือพระที่นั่งได้ ในขณะที่เรือกราบที่มีความเร็วสูงกว่าอย่างเรือดั้ง ในปัจจุบันเรือดั้งที่การแกะสลักหัวเรือปิดทองอย่างเรือทองขวานฟ้า หรือเรือทองบ้าบิ่นก็เป็นเรือสำคัญที่ใช้นำขบวนเรือ แต่ก็น่าจะเป็นเรือชั้นขุนนาง เพราะขาดความงดงามที่เพียงพอ แต่การนำเรือดั้งมาเสริมโขนเรือให้งอนสูงขึ้นเรียกว่าเรือเอกชัย ในประวัติศาสตร์ที่เรารู้จักกันดีในเรื่องพันท้ายนรสิงห์ ตอนที่พระเจ้าเสือใช้เสด็จพระราชดำเนินในคลองโคกขาม มีความยาวประมาณ 20 เมตร กว้าง 3 เมตรใช้ฝีพายประจำเรือ 60-70 คน เมื่อขึ้นทำเนียบเป็นเรือพระที่นั่ง เรียกว่าเรือพระที่นั่งเอกชัย กล่าวกันว่าเรือเอกชัย เป็นเรือเล็กที่เหมาะสมกับแม่น้ำลำคลอง แต่หากจะเสด็จขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในแม่น้ำใหญ่ เรือเอกชัยจะเป็นเรือสำหรับชั้นพระมเหสี หรือวังหน้าใช้โดยเสด็จ แต่นั่นคือคำอธิบาย ในสมัยอยุธยาตอนปลายแล้ว ![]() เมื่อกลับไปที่พงศาวดารในสมัยอยุธยาตอนต้น ที่กล่าวถึงคอเรืออ้อมแก้วแสนเมืองมารนั้นหัก แปลว่าเป็นเรือที่มีโขนเรือสูง ซึ่งก็น่าจะคือเรือชัย สัมพันธ์กับชื่อเรือพระที่นั่งในรัชกาลต่อมา ที่กล่าวถึงเรือไชยสุพรรณหงส์ ซึ่งเรือลำนี้ต้องมีมาแต่สมัยพระชัยราชา เพราะว่าได้ใช้ตั้งแต่ต้นรัชกาลของพระเฑียรราชาเลย แต่เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ อาจจะใช้สำหรับในพระราชพิธีเท่านั้น ไม่ได้เป็นเรือพระที่นั่ง ที่ใช้เสด็จไปในการสงคราม และการพระราชทานเรือไชยพื้นดำพื้นแดงคู่หนึ่งให้แก่พระมหาธรรมราชา ซึ่งเป็นเรือไชยธรรมดาที่โขนเรือไม่ได้แกะสลักลวดลาย บรรทัดต่อไปก็น่าสนใจ ที่ในรัชกาลของเฑียรราชาโปรดให้แปลงเรือแซ เป็นเรือชัยและเรือรูปสัตว์ แปลว่าเดิมมีเรือสองประเภทนี้ไม่มากนัก อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของพระราชพิธีพยุหยาตราทางชลมารคก็เป็นได้ โดยในสมัยสมเด็จพระนเรศวร บาทหลวงมาร์เซโล เด ริบาเดเนอิรา บันทึกไว้ว่า เรือ 4 ลำแล่นอยู่ก่อนหน้าเรือพระที่นั่ง เพื่อค้ำประกันความปลอดภัย เรือพระนั่งรูปร่างเหมือนนกกระยางตัวมหึมากำลังกางปีก เรือปิดทองทั้งองค์ มีฝีพายจำนวนมาก อริยาบถของฝีพายทำให้ดูเหมือนนกกำลังบิน หลังเรือพระที่นั่ง มีเรือของขุนนางที่นั่งลำละ 1 คน ติดตามมา นกกระยาง อาจจะเป็นเรือสุพรรณหงส์ที่พายด้วยท่านกบิน หลับตาแล้วจินตนาการ ดูเป็นภาพที่น่าสนใจเลยทีเดียว ว่าขบวนพยุหยาตราที่เราเห็นในปัจจุบัน มีจุดกำเนิดมานานแล้วร้อยปี และเรายังสามารถที่จะรักษาประเพณีอันงดงามนี้ไว้ได้ ![]() เรือพระที่นั่งกิ่ง เรือเอกชัย (แถวหลัง) จากจดหมายเหตุ ลาลูแบร์ พ.ศ. 2230 เมื่อถึงสมัยอยุธยาตอนปลาย เรือพระที่นั่งที่ศักดิ์สูงที่สุดคือ เรือกิ่ง ต้นกำเนิดนั้นกล่าวย้อนไปใน สมัยพระเจ้าทรงธรรม พ.ศ. 2149 คราวเสด็จไปทอดพระเนตรรอยพระพุทธบาท ครั้งนั้นฝีพายเอาดอกเลา ปักไว้ที่ปัถวี (ท้ายเรือ) เรือไชยก็โปรดว่างามดี เมื่อเสด็จกลับถึงอยุธยาก็โปรด ให้แปลงปัถวีเรือไชยเป็นเรือพระที่นั่งกิ่ง ถือเป็นเรือพระที่นั่งชั้นสูงสุด ตำนานนั้นอาจจะเชื่อได้เพียงเรื่องปี พ.ศ. เพราะเรารู้กันดีว่า ในขบวนพยุหยาตรานั้น มีกฎมณเฑียรบาลกำกับเพื่อความปลอดภัย ของพระมหากษัตริย์ เช่น การเทียบเรือพระที่นั่งผิดท่ามีโทษอาญากบฏศึก ดังบันทึกของวันวลิตว่า ในพระราชพิธีราชาภิเษกของสมเด็จพระนเรศวร ฝีพายเทียบเรือผิดท่า พระองค์ได้เสด็จประกอบพระราชพิธีแล้วเสร็จ จึงรับสั่งให้เอาฝีพายเรือพระที่นั่งและเรือหลวงอื่นๆ ไปเผาเสีย 1600 คน กฎมณเฑียรบาลนี้เรายังคงรู้จักดี ในเรื่องราวของสมเด็จพระนางเรือล่ม ที่เมื่อเกิดอุบัติเหตุกับเรือพระประเทียบ ให้ชาวเรือต้องว่ายน้ำหนีเท่านั้น ดังนั้นระหว่างพายเรือ ฝีพายจะเด็ดดอกไม้มาปักเรือพระที่นั่ง ไม่น่าจะเกิดขึ้นจริง เรื่องเดียวที่เชื่อได้ คือโขนเรือพระที่นั่งกิ่ง นั้นต้องมีการแกะสลักลวดลายอ่อนช้อยพลิ้วไหวราวกับกิ่งไม้ เรือพระที่นั่งกิ่งอาจใช้เป็นเรืออัญเชิญผ้าพระกฐินหรือพระพุทธรูปด้วย น่าเสียดายว่าปัจจุบันไม่ปรากฏโขนเรือกิ่ง หลงเหลือให้เราได้ศึกษาเลย เรือเอกชัยลดบทบาททำหน้าที่เป็นเรือพระที่นั่งของวังหน้าหรือเจ้าต่างกรม รวมถึงทำหน้าที่เรือประตูในสายขบวนเสด็จของเจ้ากรมตำรวจ และที่สำคัญคือทำหน้าที่เรือคู่ชัก ซึ่งปรากฏชื่อเรือเอกชัยเหินหาว และเรือเอกชัยหลาวทอง มาตั้งแต่ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์
สวัสดีปีใหม่ 2568 จ้า
![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() โดย: หอมกร
![]() ![]() |
บทความทั้งหมด
|