จารึกวัดพระงาม : ทวารวตีวิภูติ (4)




เหรียญเงินศรีทวารวดี ศรวรปุญย แม้จะเป็นเหรียญเดียวกัน
แต่ก็มีคนอ่านต่างกันเป็นสองความเห็น พระเจ้าศรีทวารวดี
ผู้มีบุญอันประเสริฐ และ บุญของผู้เป็นใหญ่ แห่งทวารวดี
ซึ่งทั้งสองคำนี้มีความหมายต่างกันโดยสิ้นเชิง

คำแรกทวารวดีใช้ในความหมายถึงชื่อกษัตริย์คือพระเจ้าศรีทวารวดี
ส่วนคำหลังทวารวดีใช้ในความหมายชื่อของรัฐที่ชื่อศรีทวารวดี  
เพราะคำว่าศรีที่แปลว่าดีนั้นสามารถใช้ได้ทั้งกับเมืองหรือกษัตริย์ก็ได้
เช่น พระเจ้าศรียโสวรมัน ผู้สถาปนาเมือง ศรียโสธรปุระ

ส่วนคำว่า ศรวร-ปุญย นั้นค่อนข้างชัดว่าคือ บุญอันยิ่งใหญ่ 
แล้วศรีทวารวดีจากเหรียญเงินนี้ จะคือชื่อกษัตริย์หรือชื่อแคว้น

20 ก.ค. 2566 นิตยสารศิลปะและวัฒนธรรมได้เผยแพร่บทความออนไลน์
ถึงการค้นพบเหรียญทองคำที่เมืองโบราณยะรัง เมื่อเดือน ธ.ค. 2565
ด้านหนึ่งเป็นรูปหม้อปูรณฆฎะอีกด้านมีอักษรปัลลวะจารึกว่า 
ศฺรีลงฺกาโศเกศฺวรปุณฺย  
 
นี่อาจเป็นหลักฐานของรัฐลังกาสุกะ 
แต่ผมสนใจคำว่า ศรี ซึ่งในกรณีนี้ควรจะใช้นำหน้าชื่อรัฐ 
ดังนั้นศรีในเหรียญเงินทวารวดีจึงควรจะเป็นชื่อเมืองหรือรัฐทวารวดี
และตอกย้ำว่าเหรียญเงินทวารวดีนั้น เป็นสิ่งที่ใช้ถวายแด่ศาสนสถาน

ไม่ใช่เหรียญที่ใช้สำหรับการซื้อขาย
เพราะที่เมืองโบราณยะรังนั้นใช้เป็นเหรียญทองคำเลยทีเดียว

สอดรับกับจดหมายเหตุทงเตี่ยนเขียนในพุทธศตวรรษที่ 14 
กล่าวว่าโถโลโปตีเป็นที่รู้จักของจีนตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12
วังของกษัตริย์นั้นเป็นอาคารที่มีหลายชั้น และมีการใช้กระเบื้องมุงหลังคา
 


แต่หากสนใจหลักฐานที่เป็นของบ้านเรา ก็จะพบว่ามีจารึกที่กล่าวถึง
ทวารวดีเพียงไม่กี่ชิ้น แต่นั่นก็ยิ่งทำให้มันสำคัญมาก จารึกวัดจันทิก
จังหวัดนครราชสีมา เป็นชิ้นส่วนจารึกฐานพระพุทธรูป อักษรปัลลวะ
ภาษาสันสกฤต อ่านได้ 2 บรรทัด ความว่า พระเทวี  ...ได้คิดสร้างรูปอันเป็นคตินี
 
ต่อมาในราว พ.ศ. 2532 พบจารึกอีกชิ้นที่เข้ากันได้จากพิพิธภัณฑสถานพิมาย
ทำให้ได้ข้อความยาว 4 บรรทัด แต่บรรทัดที่ 1 นั้นเลือนหายไป เหลือ 3 บรรทัด

สุตาทวารวตีประเต - มูรฺตฺติ มสฺถาปยทฺเทวี- นฺตาถาคตีมามุ
พระเทวีของเจ้าแห่งทวารวดีทรงให้พระธิดาสร้างรูปพระตถาคตนี้ไว้
 
แม้ไม่มีความรู้ทางภาษา แต่สิ่งที่ผมคิดต่างในการแปลความจารึก
ทวารวดีประเต ไม่น่าจะแปลว่า เจ้าแห่งทวารวดี 
เราไม่เคยพบคำนี้มาก่อน แต่หากไปดูชื่อหลายรัฐในอินเดียปัจจุบัน
ก็จะพบคำลงท้ายว่า Pradesh
 
หากคำว่าปะเต คือประเทศ ทวารวดีย่อมมีฐานะเป็นรัฐหรือแคว้น
สุตาทวารวดีประเต ควรจะแปลว่า ธิดาแห่งแคว้นหรือรัฐทวารวดี
หากเป็นเช่นนั้นจริง ก็อาจจะให้ภาพทวารวดีแจ่มชัดขึ้นมามากว่า
 
เป็นรัฐที่มีกษัตริย์ปกครอง นับถือทั้งศาสนาพราหมณ์และพุทธ
ซึ่งอาจจะแยกกันระหว่างชนชั้นปกครองกับชาวบ้านก็ได้
มีขอบเขตของรัฐที่แน่ชัด ไกลสุดอย่างน้อยก็ถึงนครราชสีมา
แล้วถ้าในช่วงนั้นตรงกับที่พระเจ้าจิตรเสนรบเพื่อสร้างอาณาจักรเจนละ

นี่เป็นเหตุให้พระธิดาแห่งรัฐทวารวดีขึ้นมาสร้างพระพุทธรูปนี้ไว้หรือไม่

ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สวรรควรนายก สุโขทัย
พบพระพุทธรูปศิลปะแบบอู่ทอง กำหนดอายุราวต้นพุทธศตวรรษที่ 20 

มีจารึกที่ฐานว่า ตนนี้ก่อพระเจ้าแม่เอินไว้ในบุรพารามนี้
เมื่อเชื่อมโยงไปยังจารึกวัดบุพาราม เป็นไปได้ว่า

เป็นสิ่งของถวายของพระมหาเทวีศรีจุฬาลักษณ์
พระมเหสีในพระมหาธรรมราชาลิไท
ทำให้เห็นขนบโบราณที่ใช้การแต่งงานเชื่อมโยง
ความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างราชวงศ์


 
ในรายงานการวิจัย  เรื่อง จารึกพระเจ้ามเหนทรวรมัน
ซึ่งเป็นพระนามหลังการขึ้นครองราชย์ของเจ้าชายจิตรเสน
โดย อ. กังวล คัชชิมา กล่าวถึงจารึกที่พบใหม่ ในอำเภอวังน้ำเขียว
ซึ่งผู้พบอ้างว่า ขุดได้จากไร่ในที่ดินของตนเอง และนำมาเก็บไว้
 
หากเป็นเช่นนั้น นี่จะเป็นจารึกที่ระบุสถานที่ได้ไกลที่สุดของพระองค์
จากลุ่มแม่น้ำโขงตามลำน้ำมูล ลึกเข้ามาในภาคอีสานถึงนครราชสีมา
ซึ่งตรงนี้หากย้อนไปกลับที่จารึกจันทิก ที่คาดว่าได้จากเมืองเสมา
บ้านเมืองที่เจ้าชายจิตรเสนรบชนะนั้น อาจเข้ามาบรรจบกับรัฐทวารวดี
 
เพื่อที่จะหาภาพการปะทะระหว่างอาณาจักรเจนละกับรัฐทวารวดี
เราจะกลับไปที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติปราจีนบุรี
ที่นี่เก็บจารึกที่สำคัญชิ้นหนึ่งไว้ จารึกช่องสระแจง
พบที่บริเวณปราสาทเขาน้อยสีชมพู จ. สระแก้วในปัจจุบัน
 
เป็นจารึกของพระเจ้ามเหนทรวรมัน ความยาว 4 บรรทัด
แต่จารึกนี้ไม่ได้เป็นรูปสี่เหลี่ยมกลับสลักบนหินทรงโค้งคล้ายใบเสมา
รวมถึงเนื้อความนั้นไม่ได้กล่าวถึงชัยชนะ
หรือการสถาปนาศิวลึงค์เหมือนกับจารึกหลักอื่นๆ


พระเจ้าแผ่นดินองค์ใดปรากฏพระนามว่าศรีมเหนทรวรมัน
ทรงเป็นเหมือนพระอินทร์ผู้ยิ่งใหญ่
พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นได้ทรงขุดบ่อนํ้านี้
อันมีชื่อว่าบ่อนํ้าศังกร


จารึกแบบใบเสมาอาจเป็นการผสมผสานความเชื่อกับพุทธทวารวดี

 

หลังพระเจ้ามเหนทรวรมันสร้างเจนละขึ้นมา
ในปีราว พ.ศ. 1159 ก็มีบันทึกของจีนกล่าวว่า
อีศานวรมันที่เป็นโอรสของมเหนทรวรมันส่งทูตไปเมืองจีน
และจีนได้บันทึกว่า อาณาจักรเจนละรบชนะอาณาจักรฟูนัน
และสร้างเมืองหลวงชื่ออีศานปุระ ปัจจุบันเชื่อว่าอยู่ที่ สมโบไพรกุก
 
ในปีที่บันทึกไว้ พ.ศ. 1159 อาจอนุมานได้ว่า
พระเจ้ามเหนทรวรมันสิ้นพระชนม์
หลังจากนั้นพระเจ้าอีศานปุระได้สานต่องานจากพระราชบิดา
ในการรวบรวมอาณาจักรและสถาปนาเมืองหลวงตามชื่อของพระองค์


จากนั้นก็มาถึงรัชกาลของพระเจ้าภววรมันที่ 2 จารึกอักษรปัลลวะ
ที่สามารถกำหนดอายุได้เก่าที่สุดของประเทศไทย พบที่สระแก้ว
คือจารึกเขารัง ระบุศักราช พ.ศ. 1180
และจารึกเขาน้อย ระบุศักราช พ.ศ. 1182

ในจารึกเขารังของพระเจ้าภววรมันที่ 2 กล่าวถึง
การถวายสิ่งของให้วิหารซึ่งเป็นคำเฉพาะที่ใช้กับวัด
ซึ่งอาจจะสัมพันธ์กับจารึกช่องสระแจงที่เป็นใบเสมา
ที่กล่าวไว้ก่อนหน้าว่าที่นี่อาจจะเป็นเมืองพุทธหรือไม่
 
ในขณะที่จารึกเขาน้อยกล่าวขึ้นต้นการบูชาพระวิษณุ
ซึ่งเป็นขนบการเขียนจารึก สงครามที่อาจจะเป็นการชิงราชบัลลังค์
ลำดับญาติวงศ์ และจบลงด้วยการถวาย ทาสและสิ่งของ
แต่เนื้อหาที่น่าสนใจ อยู่ในบรรทัดที่ 4 และ 5
 

 จารึกเขารัง ภาพจาก https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/52 

4 การต่อสู้ของพระศรี - - วรมัน - - - - -  ราชสมบัติของเจ้าชาย -
5 ต่อมาเชยษฐปุรสวามี  ในกรรมสิทธิ์ที่รักษาของเชยษฐปุระอีก
 
ปรกติชื่อกษัตริย์ต้องเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
เมื่อเข้าไปดูตัวสำเนาจารึก ดูเหมือนว่าตรงที่ควรจะเป็น ศรีภววรมัน
ถูกขีดฆ่าอย่างตั้งใจ รวมถึงอีกหลายแห่งตรงด้านใต้ด้วย

เป็นไปได้ว่า จารึกนั้นเป็นการกัลปนาที่ดินถวายเทวสถาน
ซึ่งเมื่ออำนาจรัฐเดิมนั้นเสื่อมลง ก็มีใครสักคนต้องการพื้นที่นั้น
จึงขีดฆ่าชื่อผู้ออกโองการ แนวเขต หรือคำสาปแช่งออกไป

แต่เนื้อหาจารึกที่เหลือไว้ ก็มีสิ่งที่น่าสนใจอยู่หลายอย่าง 
 
หนึ่ง ดูเหมือนพระเจ้าภววรมันที่ 2 จะชิงราชสมบัติมา
สอง สระแก้วน่าจะเริ่มเป็นที่มั่นสำคัญของอาณาจักรเจนละ
สาม เชษยฐปุระอาจเป็นชื่อเดิมของเมืองสระแก้ว
สี่ คำขึ้นต้นเป็นการบูชาเทพเจ้า ในกรณีนี้เป็นพระวิษณุ

ซึ่งไม่เหมือนกับจารึกสมัยพระเจ้ามหเหนทรวรมันซึ่งบูชาพระศิวะ 
ห้า เนื้อหาส่วนถัดไปที่เขียนด้วยภาษาเขมรไม่ใช่สันสกฤต
หก คำศัพท์และรายชื่อทาสบางแห่งที่ดูจะเป็นภาษามอญ
 
จารึกทั้งสามชิ้นจึงอาจจะเป็นหลักฐานว่า
สถานที่นี้เดิมตรงนี้อาจจะเป็นพื้นที่ของชาวมอญที่นับถือพุทธศาสนา
ก่อนที่จะถูกพระเจ้าจิตรเสนแห่งเจนละเข้ามารุกราน

แต่มีการประนีประนอมกับวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีความเข้มแข็ง
กว่าบ้านเมืองตามลำน้ำมูลที่พระเจ้าจิตรเสนเคยรุกเข้าไป
จนยอมที่จะสร้างจารึกแบบใบเสมา ไม่ใช่แบบเสาสี่เหลี่ยม
 และไม่มีกล่าวถึงการสถาปนาศิวลึงค์ ซึ่งเป็นสัญลักษ์ของไศวนิกาย

ก่อนที่พื้นที่นี้จะถูกปกครองอย่างชัดเจนในสมัยพระเจ้าภววรมันที่ 2
ตามที่ปรากฏเนื้อหาในจารึกเขารังและจารึกเขาน้อย



Create Date : 18 กันยายน 2566
Last Update : 27 กันยายน 2566 8:52:11 น.
Counter : 576 Pageviews.

2 comments
อย่ามาบ้ง!นะ peaceplay
(5 เม.ย. 2567 15:53:18 น.)
วิธีถามราคาสินค้าเป็นภาษาอังกฤษ khatha0808
(2 เม.ย. 2567 00:05:26 น.)
9 แนวคิดที่ทำให้เรามีชีวิตประจำวันที่ดีกว่าเดิม peaceplay
(31 มี.ค. 2567 09:18:27 น.)
เรื่อง ที่เตือนมาจากทนายความ ควรหลีกหนี 20 เรื่องเหล่านี้เพราะ..... newyorknurse
(28 มี.ค. 2567 02:09:48 น.)

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณtuk-tuk@korat, คุณสายหมอกและก้อนเมฆ, คุณหอมกร, คุณนายแว่นขยันเที่ยว, คุณhaiku, คุณnewyorknurse

  
จันทึกอยู่ฝั่งตะวันตกของเขื่อนลำตะคอง
ถ้าคิดว่าตอนนั้นไม่มีเขื่อน ก็อยู่ฝั่งตะวันตกของลำตะคองเหนือปากช่อง
ไม่ไกลจากเมืองเสมาเท่าไร
แถวหลังวัดสรพงษ์(สีคิ้ว) ก็เคยพบฐานแบบขอม น่าจะมีจารึก หรือเทวรูป จำไม่ได้แน่ ด้วยค่ะ
โดย: tuk-tuk@korat วันที่: 18 กันยายน 2566 เวลา:14:20:10 น.
  
โบราณคดีหนีไม่พ้นคำว่าข้อสันนิษฐานจ้า

โดย: หอมกร วันที่: 18 กันยายน 2566 เวลา:18:28:13 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Nontree.BlogGang.com

ผู้ชายในสายลมหนาว
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 21 คน [?]

บทความทั้งหมด