ปริศนาบนศิลาที่หลับใหล : การค้นพบใหม่แห่งเมืองพระนคร ![]() การส่งคืนเทวรูปกลับคืนสู่กัมพูชา จาก blog อันน่าตื่นเต้นนั้น ก็ไม่น่าเชื่อว่าจะมีการค้นพบอะไรใหม่ได้อีก จนกระทั่งได้ดูสารคดีที่มีชื่อตาม blog นี้นี่เลย เมื่อดูจบถึงกับต้อง wow ปราสาทในเมืองอันแสนจะห่างไกล ช่างมีอะไรให้ค้นหาอีกมากทีเดียว ซึ่งครั้งก่อนนั้นคือการค้นพบในปราสาทขนาดเล็ก เช่นปราสาทเจิน แล้วปราสาทขนาดใหญ่อย่างปราสาทกรอฮอมเล่า จะมีสิ่งใดที่ยังซ่อนเร้นเรื่องราวอยู่ภายใต้เท้าของนักท่องเที่ยวบ้าง ปราสาทกรอฮอมเป็นปราสาทสร้างจากอิฐ ขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่ เมื่อเทียบกับ กลุ่มปราสาทที่อยู่ใกล้ๆ กัน มีคูน้ำล้อมรอบ ตั้งอยู่เบื้องหน้าแห่งมหาปิรามิดธม นักโบราณคดี Eric Bourdonneau ได้มาสำรวจปราสาทกรอฮอมแห่งนี้ เพื่อที่จะค้นหาว่า เศษหินที่แตกหักกระจัดกระจาย เดิมทีนั้นเคยเป็นเทวรูปใด ![]() จุดที่น่าสนใจมีอยู่ 2 ที่ หนึ่งคือโคปุระทางเข้า สองคือภายในปราสาทหลัก โถงทางเข้าอยู่ตรงแนวกำแพงปราสาท จุดนี้พบชิ้นส่วนหน้าอก แขน ศรีษะบางส่วนของเจ้าแม่กาลี หรือพระแม่อุมาชายาของพระศิวะในปางดุร้าย ซึ่งปัจจุบันเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกรุงพนมเปญ ชุดที่สองคือกลุ่มของเศียรเทวรูปขนาดใหญ่จำนวน 2 เศียร 3 มือขวา 3 มือซ้าย 1 ขาซ้าย และ ชิ้นส่วนของมงกุฎ 2 ชิ้น ปัจจุบันเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกรุงพนมเปญเช่นกัน และมีชิ้นส่วน 48 ชิ้นของเทวรูปขนาดใหญ่และชิ้นส่วนขนาดเล็กอีกมาก ที่เก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์นโรดมสีหนุ นอกนั้นยังคงมีชิ้นส่วนหลงเหลือ จนถึงปัจจุบันอยู่ที่โคปุระของปราสาทกรอฮอม ซึ่ง Eric Bourdonneau ได้ร่วมมือกับนักโบราณคดีของกัมพูชา ในการนำกลับมาเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์นโรดมสีหนุ เพื่อทำการสแกนเศษหินทั้งหมดไว้เป็นข้อมูลดิจิตอล โครงการนี้ได้รับความช่วยเหลือจาก ภาควิชาคณิตศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย Hidelberg ประเทศเยอรมันนี ที่จะใช้ข้อมุลสามมิติของชิ้นส่วนหินต่างๆ เพื่อประกอบหาว่าชิ้นส่วนใดต่อกับชิ้นส่วนใด คล้ายกับการเล่น jigsaw ของสิ่งที่เป็นเทวรูปขนาดใหญ่ที่คาดว่าจะสูงกว่า 5 เมตร ![]() จากชิ้นส่วนทั้งหมดกว่าหนึ่งหมื่นชิ้น มีเพียง 1000 ชิ้นเท่านั้น ที่พอจะระบุอัตลักษณ์ได้ และในจำนวนนั้นมีเพียง 100 ชื้นเท่านั้นที่มีขนาดใหญ่พอที่จะใช้เป็นแกนในการประกอบ เทวรูปของพระศิวะที่มี 5 เศียร อยู่ในท่าร่ายรำ ดังนั้นจึงสามารถเป็นไปได้ 2 อย่าง พระศิวะร่ายรำ (ศิวนาฏราช) หรือพระศิวะ 5 เศียรอันเป็นปางที่ยิ่งใหญ่ที่สุด (สดาศวะ) Eric Bourdonneau ตีความว่าเป็นศิวนาฏราช โดยการที่พระศิวะร่ายรำ นั่นเป็นสัญลักษ์ว่า จักรวาลจะดำเนินไปอย่างสงบสุขตามการย่างพระบาท แต่การร่ายรำนั้นจำเป็นต้องมีผู้ชมและผู้ช่วย เนื่องจากพบว่ามีฐานหินหลงเหลืออยู่ 4 ชิ้นนั่นหมายถึงต้องเคยมี 4 รูปสลัก ผู้ชมนั้นแน่นอนในตอนนี้แล้วว่า หนึ่งคือ พระอุมา ที่เหลือยู่อย่างค่อนข้างสมบูรณ์ที่พิพิธภัณฑ์ Guimet ประเทศฝรั่งเศส สองคือพระแม่กาลีที่พิพิธภัณฑ์กรุงพนมเปญ รูปสลักที่เหลือยังเป็นปริศนา เนื่องจากยังหาไม่พบ ในสารคดีกล่าว น่าจะเป็นคนตีกลอง 2 คน แต่โครงการประกอบพระศิวะของ Hidelberg ตีความว่าเป็นสดาศิวะ ดังนั้นรูปสลักที่หายไป น่าจะเป็นองครักษ์ของพระศิวะ ที่มักมาในรูปของทวารบาลตรงหน้าทางเข้าปราสาทเสมอ ได้แก่ มหากาลาและนันทิเศวร และนี่คือสิ่งที่เราพบในโคปุระทางเข้าของปราสาทกรอฮอม ![]() ในปราสาทหลัก หลงเหลือฐานของรูปสลักจำนวน 8 ชิ้น ซึ่งต้องหาให้ว่า เป็นรูปสลักของเทพองค์ใดเพื่อให้เข้าใจว่า เรื่องราวในสถานที่นี้บ่งชี้สิ่งใด เบาะแสแรกมาจาก รูปสลักตรงกลางที่ไม่ได้ถูกขโมยไป เพราะมองเห็นชัดว่า เป็นพาหนะของเทพเจ้า ซึ่งในตอนแรกทุกคนเข้าใจ น่าจะเป็นโคนนทิ ถึงตรงนี้ก็ยังไม่มีสิ่งใดที่จะอธิบายเพิ่มเติมไปได้มากกว่านี้ แต่โชคยังดีที่สมัยที่ Loius Delaporte ได้เข้ามาสำรวจเกาะแกร์ในช่วงปี 1880 ได้ร่างภาพไว้ ซึ่งในสมัยนั้น ยังมีความเสียหายเพียงบางส่วน แต่นั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของการนำนักผจญภัยเข้ามา และได้นำศิลปวัตถุจากโบราณสถานกลับไปยังกรุงปารีส เพิ่อไปจัดแสดงในงาน Paris Expo มีเทวรูปสลัก 2 ชิ้นที่ถูกนำไป หนึ่งคือรูปสลักพระแม่อุมาที่เคยอยู่ตรงโคปุระ และสองคือรูปเทพบุรุษปริศนา ต่อมาได้ถูกนำไปจัดแสดงไว้ที่ Guiemt รวมกับรูปภาพในสมัยหลังจากนั้นไม่นานที่ถ่ายโดย Henry Parmentier ก็แสดงให้เห็นว่า สัตว์พาหนะนั้นน่าจะเป็นสัตว์อื่น Eric Bourdonneau หยิบชิ้นส่วนขึ้นมา ซึ่งยังคงอยู่ที่นั่นในวันที่ผมไปในปี 2012 และเค้าคิดว่าน่าจะเป็นเขาของกระบือ ถ้าเป็นเช่นนั้น เทพที่เป็นประธานของปราสาทก็จะไม่ใช่พระศิวะ แต่เป็นพระยม ![]() แล้วรูปสลักที่เหลืออีก 7 รูป ควรเป็นฉากในเรื่องราวของเทพนิยายในตอนใด รูปภาพของ Hery Parmetier นำ Eric Bourdonneau กลับไปที่พิพิธภัณฑ์ Guimet หนึ่งในรูปสลักนั้นยังคงอยู่ที่นั่น โดยป้ายนั้นเขียนว่า เทพบุรุษ จากเกาะแกร์ แต่เมื่อพิจารณาทรงผม Eric Bourdonneau คิดว่าน่าจะเป็นรูปของ พระเจ้าชัยวรมันที่ 4 ผู้สถาปนามหานครเกาะแกร์ และปราสาทหลังนี้ขึ้นมานั่นเอง และรูปสลักอีก 2 ใน 7 จากภาพถ่ายนั้น ยังเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์พนมเปญ ซึ่งเชื่อว่าเป็นรูปสลักของของผู้ช่วยเจตคุปต์ที่อยู่สองข้างของพระเจ้าชัยวรมันที่ 4 ถึงตรงนี้ก็ได้เบาะแสไปมากกว่าครึ่งแล้ว เหลือเพียงแค่ประติดประต่อรูปสลักเข้าด้วยกัน และนั่นก็ทำให้ Eric Bourdonneau นึกถึงหน้าบันชิ้นหนึ่งของปราสาทวัดภู ที่อยู่ในลาวตอนใต้ เป็นฉากพิพากษาคนตาย ที่กระทำโดยพระยมพร้อมผู้รับใช้ ถึงตรงนี้ดูเหมือนปริศนาของปราสาทที่ไร้นามนี้จะคลี่คลาย ![]() ชีวิตหลังความตายของพระเจ้าชัยวรมันที่ 4 พระองค์จะมายังวิหารใจกลางเมืองโฉกครรกยาร์ ผ่านโคปุระแห่งปราสาทกรอฮอม เพื่อจะพบกับสดาศิวะอันยิ่งใหญ่ ที่กำลังร่ายรำ พร้อมกับพระอุมาและเจ้าแม่กาลีที่เป็นผู้ชม เพื่อให้พระนครของพระองค์หรือจักรวาลแห่งนี้ ดำเนินวิถีไปอย่างราบรื่น ตามการก้าวย่างขององค์มหาเทพ เมื่อผ่านอาคารหลักของปราสาทกรอฮอม พระองค์ก็กำลังผ่านประตูแห่งกาลมรณะ ในวิหารนั้นมีรูปสลักของพระองค์เผชิญหน้าพระยมเจ้าแห่งโลกหลังความตายพร้อมบริวาร เบื้องซ้ายของพระยมคือเจตคุปต์ผู้จดบันทึกความดีความชั่ว ตรงหน้าเจตคุปต์คือ พระอาทิตย์และพระจันทร์ ที่จะเป็นพยานให้คำพิพากษานี้ยาวนาน ตราบเท่าที่พระอาทิตย์และพระจันทร์ยังคงอยู่ ด้านข้างของพระเจ้าชัยวรมันที่ 4 คือผู้ช่วยของเจตคุปต์ ที่จะเอาตัวพระองค์ไปลงโทษ หากว่า สิ่งที่พระองค์ได้กระทำมาตลอดพระชนม์ชีพนั้น ไม่ผ่านตราชั่งแห่งความดี แต่แน่นอนว่าในฐานะแห่งกษัตริย์ พระองค์ย่อมผ่านขั้นตอนนี้ไปได้อย่างแน่นอน ![]() เมื่อออกจากปราสาทหลังนี้ วิญญาณของพระองค์จะตรงไปยังที่ประดิษฐานศิวลึงค์ บนยอดของปราสาทธม ณ ที่แห่งนี้ พระองค์จะได้หลอมรวมกับพระเจ้า และกลับขึ้นไปประทับอยู่บนสรวงสวรรค์ ที่ซึ่งพระองค์ได้เคยเสด็จลงมา เพื่อทำหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ และบัดนี้ได้หมดภารกิจนั้นแล้ว และนั่นก็คือในปริศนาที่ถูกไขโดยนักโบราณคดีในศตวรรษที่ 21 เพื่อจะย้อนกลับไปในสมัยที่อาณาจักรพระนครได้ย้ายศูนย์กลางแห่งจักรวาล ไปยังเมืองในใจกลางป่าลึก ด้วยเหตุผลใดเหตุผลหนึ่ง น่าเสียดายที่เมืองหลวงแห่งนี้มีอายุเพียงชั่ว 2 รัชกาล เท่านั้น แต่กลับมีเรื่องราวในรูปสลักมากมาย ที่เปิดเผยออกมาแล้ว 2 แห่ง และได้สร้างความตื่นตะลึงให้นักวิชากรไปทั่วโลก ที่นั่น ยังคงมีปราสาทอีกมากมาย ที่ยังคงรอให้เราเข้าไปค้นหาเรื่องราว เพื่อจะได้เข้าใจอาณาจักร ที่ครั้งหนึ่งมีความสามารถในการสร้างสิ่งก่อสร้างอันแสนมหัศจรรย์ และอยู่ยั้งมาจนกระทั่งให้เราเห็นในยุคนี้ ตามหานคราที่สาบสูญ : ปราสาทกรอฮอม, ปราสาทธม Edit 25/12/2563 ในสารคดี กล่าวถึงการค้นพบหลุมหน้ารูปสลักพระยมซึ่ง Eric Bourdonneau คิดว่า น่าจะเป็นแท่นสำหรับการตัดศรีษะมนุษย์เพื่อบูชายัญ ตอนแรกนั้น ผมไม่เชื่อ เนื่องจากถ้าเอาตามศาสนาพราหมณ์ดั้งเดิมของอินเดียที่เขมรรับมาก็ไม่น่ามีเรื่องนี้ มันควรจะเป็นวิหารเพื่อบูชาธรรมดา จนกระทั่งไปอ่านบทความหนึ่งซึ่งอ้างถึง จดหมายเหตุจีนสมัยราชวงศ์สุยซึ่งได้กล่าวถึงเจนละก่อน ค.ศ. 589 ว่า ใกล้กับราชธานีภูเขาชื่อหลิงเจียโปโพ บนยอดเขามีศาสนสถาน ซึ่งมีทหารจำนวน 1,000 คน เฝ้ารักษาเป็นประจำ ศาสนสถานนี้ถวายแด่เทพเจ้าทรงนามว่าโพโตลิและมีการบูชายัญมนุษย์ ทุกปี พระราชาต้องเสด็จเข้าไปในศาสนสถานแห่งนี้เพื่อทรงกระทำการบูชายัญในเวลากลางคืน” ซึ่งสันนิษฐานว่าคือปราสาทวัดภูที่พบภาพสลักพระยมในสารคดีนี้นี่เอง ทำให้เป็นไปได้ว่า ข้อสันนิษฐานของ Eric Bourdonneau อาจจะเป็นเรื่องจริง
เคยดูสารคดีคล้ายๆกันครับ เป็นการต่อรูปเทวรูปองค์เดียวกันที่ฝรั่งเศสขนไปจากกัมพูชาครับ
โดย: ทนายอ้วน
![]() ![]() |
บทความทั้งหมด
|
ตอนนี้ทางอิสานก็มีการขุดแต่งปรางค์หลาย ๆ หลัง น่าจะไปเที่ยวได้ในเร็ววันนี้ค่ะ