นิทรรศการ : วังน่านิมิต ![]() https://www.bacc.or.th/event/1997.html คนกรุงเทพฯส่วนใหญ่น่าจะเคยมาเดินสยามเซนเตอร์ แต่เพียงฟากถนนกั้นน้อยคนนักที่คงเคยไปเยี่ยมชมหอศิลป์กรุงเทพ ผมเองก็เช่นกันที่ใกล้เคียงที่สุดก็คงเป็นการมาถ่ายภาพในงาน 1600 panda+ งานศิลปะกับผมคงเป็นสิ่งที่ไม่เข้ากัน จนกระทั่งโครงการวังน่านิมิตได้มาจัดแสดงนิทรรศการที่นี่ ระหว่างวันที่10 ถึง 27 มิถุนายน 2561 โดยมีการจัดการบรรยายประกอบนิทรรศการ ในวันเสาร์ที่16 มิถุนายน เวลา 14.00 น. จึงเป็นโอกาสที่เราจะได้ไปสถานที่แห่งนี้เสียที การเดินทางก็ไม่ยากนั่งรถไฟฟ้ามาลงสถานีสยามแล้วเดินย้อนกลับมา โครงการนิทรรศการวังน่านิมิตสื่อถึงกระบวนการการสืบค้น และรวบรวมหลักฐานทางประวัติศาสตร์ทั้งที่เป็นเอกสาร และภาพถ่าย ที่อยู่ในความดูแลของสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รวมถึงที่เก็บรวบรวมโดยนักสะสมทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนรูปสันนิษฐานของสถาปัตยกรรมที่ไม่ปรากฏอยู่แล้วในปัจจุบัน โดยคณะทำงานนิทรรศการนำข้อมูลหลักฐานดังกล่าวมาตีความอีกครั้ง ผ่านระบบการกรอง ที่แปลงค่าออกมาเป็นภาษาภาพโดยถ่ายทอดเรื่องราว ที่แฝงอยู่ในชุดข้อมูลผ่านนิทรรศการที่เน้นการปฏิสัมพันธ์กับผู้ชม เพื่อกระตุ้นความตระหนักรู้ในเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ และความทรงจำของเมืองที่เลือนรางไปตามกาลเวลา การบรรยายไม่ได้เน้นเนื้อหาทางวิชาการมากแต่เล่าที่มาที่ไปของโครงการนี้ ปรกติการจัดนิทรรศการพิเศษของพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ก็เป็นเพียงการนำโบราณวัตถุมาจัดแสดงให้เป็นหมวดหมู่ ซึ่งอาจจะเรียกว่ามี theme ร่วมกัน ที่เหลือให้ผู้เข้าชมไปจินตนาการเอง แต่นิทรรศการนี้ผ่านการบ่มย่อยเรื่องราวของวังหน้าที่ต้องการนำเสนอ ผ่านอาคาร 3 หลัง ทั้งที่เคยมี ทั้งที่หลงเหลือบางส่วนและที่ยังคงอยู่ นั่นคือพลับพลาสูง พระที่นั่งคชกรรมประเวศและพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย โดยการจัดแสดงในรูปแบบที่ใช้เทคนิคการนำเสนอด้วยเทคนิคสมัยใหม่ โดยรวมผมไม่ค่อยอินไปกับนิทรรศการนี้มากเท่าไหร่ เนื่องจากอาจจะมีข้อมูลในหัวมากพอ แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ที่เป็นเป้าหมาย ก็อาจจะร้องว้าว ในสิ่งที่ตนเองไม่เคยรู้มาก่อนซึ่งเป็นโจทย์ของผู้จัดนิทรรศการนี้ โดยพยายามที่จะไม่ยัดเยียดข้อมูลมากเกินไป แต่เน้นเรื่องเดียวที่สำคัญคือ ฐานานุศักดิ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ถือกันมากในสังคมไทย ไพร่จะไม่ปลูกเรือนเทียมเจ้า ในขณะเดียวกัน วังหน้าก็จะไม่ปลูกสิ่งก่อสร้างเทียมกับวังหลวง พระที่นั่งอิศราวินิจฉัยเป็นตัวแทนของสิ่งนี้ที่ยังหลงเหลืออยู่มาให้เห็น ตั้งแต่การสร้างที่จะไม่ยกพื้น เครื่องลำยองจนถึงแบบกระเบื้องหลังคา ถ้าย้อนตามประวัติไปก็มีสิ่งก่อสร้างที่เป็นปัญหานับมาแต่รัชกาลที่ 1 ที่กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทโปรดจะให้สร้างพระที่นั่งพิมานดุสิตา ไว้เป็นที่พักผ่อนพระอัธยาศัยโดยหมายจะให้เป็นเรือนปราสาทยอด แต่มีเหตุการณ์ร้ายเป็นเหตุให้พระองค์หยุดการก่อสร้างไว้เสียก่อน ล่วงมาในสมัยรัชกาลที่ 3 สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ มีพระประสงค์จะสร้างวัดพระแก้ววังหน้าถวายแด่พระพุทธสิหิงค์ โดยแบบนั้นจะเป็นจัตุรมุขยอดปรางค์ ซึ่งรัชกาลที่ 3ก็ทรงทักท้วงว่า ไม่เคยมีธรรมเนียมวังหน้าที่จะสร้างอาคารยอดปรางค์จึงทรงเปลี่ยนแบบ จนกระทั่งลุเข้าสมัยรัชกาลที่ 4 ที่วังหน้ามีศักดิ์เป็นกษัตริย์ร่วมแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าจึงทรงสร้างพระที่นั่งเรือนยอด 1 หลัง เพื่อเป็นเกียรติยศในปี พ.ศ. 2394 เป็นอาคารเครื่องยอดซ้อน 5 ชั้น มีเทียบสำหรับเกยเทียบช้างด้านหน้า นามพระที่นั่งประเวศคชกรรม นอกจากนี้วังหน้าในอดีตนั้นมีพื้นที่กว้างใหญ่กว่าในปัจจุบันมาก โดยรวมพื้นที่มหาวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน และสนามหลวงฝั่งทิศเหนือ ซึ่งเทียบกับปัจจุบัน แม้รวมพิพิธภัณฑ์โรงละครและสถาบันบัณฑิต จะมีพื้นที่เพียง 1/3 ของเดิมเพียงเท่านั้น เมื่ออ่านพงศาวดารรัตนโกสินทร์ เราจะจินตนาการได้ว่าในสมัยรัชกาลที่ 1 ที่วังหน้าเอาปืนใหญ่ตั้งบนกำแพงวัง ที่ตั้งอยู่ในแนวกึ่งกลางสนามหลวงหันไปทางวังหลวงนั้นตึงเครียดเพียงใด ส่วนกำแพงด้านทิศเหนือที่หันไปทางคลองหลอดนั้นในสมัยสมเด็จพระปิ่นเกล้า ก็มีการสร้างอาคารบนยอดกำแพงสำหรับไว้ชมขบวนแห่เรียกว่าพลับพลาสูง ซึ่งนำรูปแบบสถาปัตยกรรมและลักษณะการใช้งานมาจากพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท ในพระบรมมหาราชวังออกมุข 2 มุข ลดชั้นหลังคา 4 ชั้น แต่หลังคาไม่ทำยอดมณฑป แต่สิ่งที่น่าสนใจคือมีการทำเครื่องลำยองเป็นนาคสะดุ้ง แต่ส่วนอื่นนั้นยังไม่เห็นชัด แต่อนุมานได้ว่าทั้งหมดเป็นการเฉลิมฐานานุศักดิ์อย่างที่ไม่มีแบบในวังหน้ามาก่อน เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าสวรรคตพระราชโอรสมีได้มีฐานันดรศักดิ์เท่า แต่อาคารทั้งสองหลังนี้ก็ยังคงอยู่จนกระทั่งวังหน้าถูกทิ้งร้างลง เมื่อกรมพระราชวังบวรวิเศษไชยชาญทิวงคตในปีพ.ศ. 2428 พระที่นั่งประเวชคชกรรมรื้อลงเมื่อ พ.ศ. 2443 ส่วนพลับพลาสูงรื้อลงเมื่อปี พ.ศ. 2447 เมื่อมีการปรับพื้นที่สนามหลวง มีการแชร์เรื่องราวน่ารู้เกี่ยวกับละครหนึ่งด้าวฟ้าเดียว หนึ่งในนั้นคือเจดีย์ที่เก็บอัฐิของที่พระยาพิชัยดาบหักที่วัดราชคฤห์ ไม่ต้องมีความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ศิลป์ว่าเจดีย์นี้กำหนดอายุได้เมื่อใด แต่ตามฐานานุศักดิ์เจดีย์ทรงปรางค์ที่มีพระพุทธรูปยืนบรรจุอยู่ในซุ้มจรนำ เราก็วิเคราะห์ได้ว่าควรเป็นเจดีย์ที่บรรจุอัฐิของสามัญชนหรือไม่ ถ้าย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์เชื่อกันว่า อยุธยาสืบขนบมาจากขอม เจดีย์ทรงปรางค์คือวิวัฒนาการมาจากปราสาทขอมถูกใช้เป็นเจดีย์ ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุเป็นมหาธาตุกลางเมืองจนกระทั่ง ราชวงศ์อู่ทองเสื่อมอำนาจสุพรรณภูมิและสุโขทัยเลือกใช้ทรงระฆัง แต่เมื่อราชวงศ์ปราสาททองก้าวขึ้นสู่อำนาจปรางค์กลับถูกมาให้ความสำคัญ เห็นได้จากเจดีย์ประธานวัดไชยวัฒนารามที่เป็นทรงปรางค์เช่นกัน ภาพวาดร่วมสมัยก็มีเหตุผลให้เชื่อว่างานพระเมรุของของพระเจ้าปราสาททอง ตัวพระเมรุมาศนั้นใช้ทรงปรางค์เป็นขนบเรื่อยมาจนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ที่ธรรมเนียมกำหนดให้พระเมรุงานพระบรมศพต้องเป็นทรงปรางค์เท่านั้น จนกระทั่งสมัยรัชกาลที่ 4 ที่มีพระราชวินิจฉัยว่า เจดีย์ที่เป็นแบบพุทธกาลนั้น เป็นทรงระฆังหรือทรงโอคว่ำเท่านั้นดังนั้นเจดีย์ประธานที่สร้างในวัดช่วงนี้ จึงเป็นแบบทรงระฆังเช่นการครอบเจดีย์ทรงปรางค์ที่พระปฐมเจดีย์ แต่พระเมรุในงานพระบรมศพของพระองค์ก็ยังคงเป็นยอดปรางค์เช่นเดิม การเปลี่ยนแปลงตามพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 5 ที่ทรงให้มีการลดทอนลง นับจากงานพระเมรุพระราชโอรสพระราชธิดาที่เหลือเพียงพระเมรุทองทรงบุษบก ที่เคยอยู่ตรงกลางเพียงหลังเดียว ทำให้เรื่องฐานานุศักด์ของเจดีย์ทรงปรางค์ ที่มีมานับแต่อยุธยาตอนปลาย ถูกใช้เป็นเรือนยอดที่มีฐานานุศักดิ์สูงสุดนั้นเลือนลางไป สถาปัตยกรรมที่จะใช้เป็นเพียงเป็นเจดีย์ประธานอาคารในวังหลวง หรือพระเมรุเท่านั้น
ฟอนต์ตัวเล็กมากค่ะ
![]() โดย: สายหมอกและก้อนเมฆ
![]() ![]() มีพาดพิงถึงหนึ่งด้าวฟ้าเดียวด้วย
น่าจะเป็นอีกสถานที่ที่คนอยากไปเยือนนะคะ โดย: เรียวรุ้ง
![]() ![]() อื้อหือออออออออ ได้ความรู้เยอะเชียวค่ะ
กลับมาเขียนอีกบ่อยๆ น้าาา รออ่านค่ะ บันทึกการโหวตเรียบร้อยแล้วค่ะ บันทึกการโหวต Blog ในวันนี้ ผู้เขียน Blog หมวดเนื้อหา Blog ได้รับโหวต ซองขาวเบอร์ 9 Home & Garden Blog ดู Blog กะว่าก๋า Parenting Blog ดู Blog toor36 Education Blog ดู Blog kae+aoe Parenting Blog ดู Blog mambymam Home & Garden Blog ดู Blog The Kop Civil Sports Blog ดู Blog เริงฤดีนะ Sports Blog ดู Blog ข้ามขอบฟ้า Music Blog ดู Blog อุ้มสี Diarist ดู Blog ผู้ชายในสายลมหนาว Education Blog ดู Blog ระบบจะบันทึกคะแนนโหวต เฉพาะการโหวต 10 ครั้งล่าสุดในแต่ละวันเท่านั้น โดย: สาวไกด์ใจซื่อ
![]() ![]() |
บทความทั้งหมด
|