งานออกพระเมรุ : สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ (4)

ราชรถน้อย
ในขบวนพระราชพิธีนอกจากพระมหาพิชัยราชรถที่อัญเชิญพระโกศแล้ว
ยังมีราชรถน้อยสำหรับให้พระสงฆ์นั่งทำหน้าที่สวดนำ ลักษณะนั้นคล้ายราชรถองค์ใหญ่
ส่วนตัวรถแกะสลักลงรักปิดทองประดับกระจก คานที่ยื่นออกมาเป็นรูปนาคราช
มีบุษบกตั้งอยู่เช่นเดียวกันเพียงแต่มีขนาดเล็กกว่า น้ำหนักเพียง 3.85 ตัน
ถูกสร้างขึ้นมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีอยู่ด้วยกัน 3 องค์
องค์หนึ่งใช้เป็นราชรถที่สมเด็จพระสังฆราชประทับทรงสวดนำกระบวน
ราชรถองค์ที่สองเป็นราชรถโยงผ้าจากพระบรมโกศ
และองค์สุดท้ายท้ายขบวนสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่ประทับเพื่อทรงโปรยทาน
จนถึงงานพระบรมศพรัชกาลที่ 5 ที่มีการใช้ราชรถโยงและราชรถโปรยทานเป็นครั้งสุดท้าย

เกรินบันไดนาค
ที่ถูกคิดค้นโดยสมเด็จพระสัมธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี
สำหรับใช้อัญเชิญพระโกศพระบรมศพขึ้นหรือลงราชรถและพระเมรุมาศ
แทนการใช้นั่งร้านไม้ต่อยกสูงแบบสมัยโบราณ ซึ่งใช้กำลังคนยกขึ้นลง
เกรินมีลักษณะเป็นรางเลื่อนขึ้นลงด้วยกว้านหมุน ท้ายเกรินเป็นพื้นลดระดับคล้ายท้ายสำเภา
มีแท่นที่วางพระโกศสี่เหลี่ยมขอบฐานแกะสลักลายปิดทองประดับกระจก
เป็นที่สำหรับเจ้าพนักงานภูษามาลาขึ้นนั่งประคองพระโกศพระบรมศพ
ด้านข้างบุผ้าตาดทอง มีราวทั้ง ๒ ข้างตกแต่งเป็นรูปพญานาค
ใช้ครั้งแรกเพื่ออัญเชิญพระโกศจากพระยานมาศสามลำคานขึ้นพระมหาพิชัยราชรถที่หน้าวัดพระเชตุพนฯ
ครั้งที่สองใช้ตอนอันเชิญพระโกศลงจากพระมหาพิชัยราชรถขึ้นพระยานมาศสามลำคาน
เพื่อเวียนทักษิณารอบพระเมรุ และครั้งที่สามอันเชิญพระโกศขึ้นสู่พระเมรุ
เนื่องจากเกรินบันไดนาคนั้นมีน้ำหนักมาก เคลื่อนย้ายลำบากจึงตั้งไว้ทั้งสองแห่ง