จารึกวัดพระงาม : ทวารวตีวิภูติ (3) ![]() ตอนนี้ในเดือนสิงหาคม 2566 เรื่องที่โด่งดังที่สุดคงไม่พ้นครูกายแก้ว ซึ่งเป็นเรื่องมหัศจรรย์ ที่เมื่อก่อนนั้นเราแทบจะเชื่อตำนานในทุกเรื่อง แต่นี่เป็นครั้งแรกเลยที่เรื่องของความศักดิ์สิทธิ์ที่อ้างไปถึงสมัยบายน ถูกล้มล้างโดยข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ จากนักวิชาการว่ามันไม่จริง ครูกายแก้วถูกอ้างถึงว่าเป็นครูของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งจารึกที่ปราสาทพระขรรค์ก็ไม่ได้กล่าวถึงชื่อนี้ไว้ อ้างว่าสลักไว้ที่ปราสาทบายน แต่เอารูปที่ปราสาทนครวัดมาใส่ ก็โดนตีว่าเป็นของใหม่ห่างจากพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เกือบ 500 ปี และนั่นก็อาจจะเป็นเรื่องราวที่คนทั่วไปได้รับรู้ว่า บางทีก็น่าจะเพลาๆ กันบ้างกับเรื่องการผูกโยงความเชื่อ ก่อนที่จะโดนปิดปากว่า ไม่เชื่ออย่าลบหลู่กันไปหมด แต่ผมสนใจภาพฤาษีที่อ้างอิงถึงมาก เป็นภาพที่ถือว่าคุ้นตา เราสามารถเห็นได้ในปราสาทหินทั่วไปทั้งในไทยและเขมร เมื่อเราเห็นฤาษีก็น่าจะคิดถึงไศวนิกาย แต่ทำไมเรากลับไม่เห็น เขมรโบราณสลักรูปพระศิวะเพื่อบูชา แต่ว่าประดิษฐานศิวลึงค์ ตอนท้ายของจารึกวัดพระงามก็กล่าวถึงการถวายสิ่งของแก่ปศุปติ เรื่องนี้เกี่ยวพันกันอย่างไร ![]() ปศุปตะเป็นลัทธิไศวนิกายแบบแรก ๆ ที่กำเนิดขึ้นในประเทศอินเดีย สันนิษฐานว่าเกิดขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 8 ปศุปติแปลว่าเจ้าแห่งสรรพสัตว์ นิกายนี้จึงแสดงพระศิวะในภาพของความเป็นเจ้าแห่งสรรพสัตว์ทั้งปวง นักวิชาการมักอ้างไปถึงตราประทับรูปเทพเจ้าสวมเขาสัตว์ ในวัฒนธรรมโมเหนโจดาโรที่เก่าแก่กว่า 3000-4000 ปีก่อน มหากาพย์มหาภารตะกล่าวถึงพวกปศุปตะว่า ไม่เคร่งเรื่องวรรณะ นิยมบูชาพระศิวะในรูปศิวลึงค์ ทาตัวด้วยเถ้าถ่านจากการเผาศพ มีลาคุลิสะหรือนาคุลิสะเป็นศาสดาและเป็นผู้นำของนิกายนี้ โดยเป็นผู้แต่งปศุปตะสูตรซึ่งเป็นคัมภีร์หลักว่าด้วยการปฏิบัติตน โดยมีสานุศิษย์ที่สำคัญ 4 คน คือ คุสิกะ การ์กะ มิหิระ และเการุสยะ ดังนั้นภาพฤๅษี 5 ตนที่ปราสาทพนมรุ้ง จึงอาจหมายถึงเรื่องนี้ นิกายนี้มีจุดมุ่งหมายสูงสุดคือ การเป็นหนึ่งเดียวกับพระเป็นเจ้า ด้วยการเริ่มฝึกปฏิบัติ ได้แก่ การทรมานกาย การปฏิบัติโยคะ ไปจนถึงการปฏิบัติภายใน ได้แก่ การฝึกบำเพ็ญสมาธิ ซึ่งกล่าวไว้ในจารึกภาษาสันสกฤต K.384 หรือจารึกปราสาทพนมรุ้ง 7 ภาษาสันสกฤต อักษรขอมโบราณ อายุพุทธศตวรรษที่ 18 จำนวน 4 ด้าน 76 บรรทัด ปัจจุบันเก็บที่ หอสมุดแห่งชาติ sthuladripasupata pada parayanena เป็นที่พึ่งของปศุปตะ แห่งสถูลาทริ (พนมรุ้ง) ![]() ข้อความดังกล่าวอ้างอิงมาจาก สื่อความรู้เรื่องไศวนิกาย ณ ปราสาทพนมรุ้ง ของอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง แต่เมื่อไปเปิดในฐานข้อมูลจารึกประเทศไทย ที่รวบรวมโดย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินทร กลับไม่พบข้อความดังกล่าว จารึกนี้เป็นจารึกขนาดใหญ่ที่มีผู้นำเนื้อความไปอ้างอิงมากที่สุด รวมถึงการทรมานตนของนเรนทราทิตย์ตามแบบของฤาษีนิกายปศุปติ เราจึงสนใจที่จะหาว่า ทำไมจึงไม่ปรากฏข้อความนี้ในฐานข้อมูลจารึก จารึกนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ของสมเด็จพระเทพฯ ซึ่งก็พบข้อความดังกล่าวจริงโดยปรากฏในบทที่ 65 เป็นวสันตดิลกฉันท์ ข้อความเต็มนั้นคือ Sthuladripasupata pada parayanena Yenanavadya hrdayena narendrasuryye Sa sthula salia girisena guror narendra Dityasya rupam akarodbhavamekabhutam ผู้นี้ (หิรันยกะ) ได้สร้างรูปของนเรนทราทิตย์ผู้เป็นครู ซึ่งเป็นศิวะที่เป็นรูปเหมือนอันเดียวกับพระศิวะแห่งสถูลไศละ ซึ่งเท้าของท่านเป็นที่พึ่งแห่งปศุปตะแห่งสถูลาหริ (พนมรุ้ง) ผู้มีใจอันบริสุทธิ์ต่อนเรนทรสูริยะ วิทยานิพนธ์นี้ยังให้หมายเหตุไว้อีกว่า พบจารึกคำว่าปศุปตะ ที่เขมรโบราณครั้งแรกในสมัยพระเจ้าอิศานวรมัน ราว พ.ศ. 1170 และหลังสมัยพระเจ้ายโสวรมันก็ไม่ปรากฏจารึกลัทธิปศุปตะอีกเลย ลัทธินี้กลับมาปรากฏในจารึกปราสาทพนมรุ้งที่ห่างมาเป็นเวลานาน ส่วนเหตุที่ไม่พบข้อความนี้ในคำแปลของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินทร ก็เนื่องจากจารึกนี้เดิมพบแยกกันเป็นสองชิ้น นักวิชาการเพิ่งจะทราบว่ามีจารึกอีกชิ้นที่มีเนื้อหาต่อกันกับชิ้นนี้ ฐานข้อมูลจารึก ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินทร ยังใช้คำแปลที่มีเพียงครึ่งเดียวจากการแปลครั้งแรก ![]() จารึกเทวะนิกะพบที่เมืองโบราณวัดหลวงเก่า ใกล้กับปราสาทวัดพู แขวงจำปาศักดิ์ ประเทศลาว อักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต เขียนด้วยฉันท์สลับกับร้อยกรอง อายุราวพุทธศตวรรษที่ 11 จึงเก่ากว่าจารึกวัดพระงาม และจารึกพระเจ้ามเหนทรวรมัน เนื้อหากล่าวถึง กษัตริย์ชื่อเทวะนิกะผู้มาจากแดนไกล ได้เดินทางมาถึงที่ภูก้าว อันมีลักษณะเป็นศิวลึงค์ตามธรรมชาติ ที่ปรากฏตามคัมภีร์จึงได้สถาปนาและกำหนดพื้นที่ท่าน้ำ ตรงริมแม่น้ำโขงให้เป็นท่าน้ำศักดิ์สิทธิ์ ผู้ใดที่อยู่อาศัย อาบน้ำหรือตายที่นี่จะได้ผลบุญมาก ส่วนใครที่ทำบาปหนัก ก็จะได้รับการชำระล้างไปจนหมด พระเจ้ามเหนทรวรมันสถาปนาศิวลึงค์ในสถานที่ที่พระองค์รบชนะ ในขณะที่จารึกวัดพระงามก็กล่าวอ้างถึงนิกายปศุปติ ทั้งสองสิ่งนี้ล้วนแล้วเป็นสิ่งเดียวกัน ดังนั้นกล่าวได้ว่า ในช่วงเวลานั้นต้องมีผู้มีวรรณะสูงจากอินเดียได้เดินทางเข้ามา และส่งต่อความเชื่อเรื่องศาสนาให้กับผู้ปกครองในพื้นที่ ปราสาทวัดพูได้รับการเคารพบูชาเป็นที่แสวงบุญของกษัตริย์ ในอาณาจักรพระนครในเวลาต่อมาในนามของ ลึงคบรรพต และแท่งหินศิวลึงค์ที่สถาปนาเป็นพระศิวะในชื่อ ภัทเรศวร ดูเหมือนจะมีปริศนาชิ้นใหญ่ที่ค้างคาใจผมมาโดยตลอดในเรื่องหนึ่ง เหตุใดนักวิชาการจึงกล่าวว่า ฐานของพระธาตุพนมนั้นเป็นศิลปะจาม ดูเหมือนศิลาจารึกแห่งวัดพูนี้จะให้คำตอบไว้ เมืองจำปาศักดิ์นั้นต้องเป็นชุมทางการค้าสำคัญมากในเวลานั้น ก่อนการสถาปนายอดภูเก้า เพราะหากมีศิวลึงค์ในธรรมชาติ แต่อยู่ในป่าเขาลึกผู้คนไม่สามารถเข้าถึงก็คงไม่มีใครจะมาสถาปนา ดังนั้นบริเวณนี้ต้องเป็นเส้นทางการค้าสำคัญที่เชื่อมไปถึงจามปาได้ จึงไม่แปลกที่จะพบศิลปกรรมปราสาทอิฐแบบจามปาที่นครพนม ซึ่งไม่ไกลจากปราสาทวัดพู แต่พวกเค้ามาที่นี่ทำไม ดูเหมือนเหมืองทองแดงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ภูโล้น จ. หนองคาย จะเป็นคำตอบ โลหะมีค่าที่คนทั่วโลกต้องการ นี่อาจจะเป็นดินแดนสุวรรณภูมิในตำนานของพ่อค้าชาวอินเดีย รวมถึงชื่อเมืองจำปาศักดิ์นั้นอาจจะหมายถึงศักดิ์แห่งจามปาก็ได้
ยิ่งอ่านตามยิ่งสนุกค่ะ
![]() โดย: tuk-tuk@korat
![]() ![]() |
บทความทั้งหมด
|