เที่ยวทิพย์ : การกลับบ้านของทับหลังปราสาทเขาโล้น (1) ![]() ช่วงนี้เห็นหลายคนใน facebook ลงภาพท่องเที่ยวเก่าๆ เพราะว่าช่วงนี้จะเดินทางไปไหนก็ไม่สะดวกด้วยสถานการณ์โควิด19 เป็นคำที่ไม่รู้ใครคิด แต่ผมได้ยินแล้วรู้สึกแปลกๆ ไม่ได้ไปก็ไม่ต้องลง จะเที่ยวทิพย์ให้ดูมโนไปทำไม แต่วันนี้ผมขอใช้เนื่องด้วยความจำเป็น เพราะไม่นานมานี้ผมเพิ่งไปพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครมา ด้วยความดีใจที่พิพิธภัณฑ์นั้นแทบไม่มีกิจกรรมมาอย่างยาวนาน ในงานนิทรรศการพิเศษ อารยธรรมวิวัฒน์ ลพบุรี – ศรีรามเทพนคร ที่เปิดให้เข้าชมในวันที่ 12 เมษายน 2564 ถึง 30 มิถุนายน 2564 คิดในใจว่าโชคดีที่ได้ไป เพราะหลังจากนั้นไม่นานรัฐบาลก็สั่งปิดอีกแล้ว แต่กลับกลายเป็นโชคร้ายเมื่อเดือนต่อมา ได้มีพิธีส่งมอบทับหลัง ของปราสาทเขาโล้นและปราสาทหนองหงส์จากประเทศสหรัฐอเมริกา และจัดแสดงให้ชมที่พระที่นั่งอิศราวินิจฉัยจนถึงปลายเดือนกันยายน อือ ผมเสียเงินไปชมนิทรรศการพิเศษมาแล้วจะให้เสียเงินอีก 30 บาท ไปชมทับหลังแค่ 2 ชิ้นเท่านั้นเองหรือ ไม่ใช่สำหรับคนแบบผมเป็นแน่ ดังนั้นนั่นจึงเป็นที่มาของการพาไปเที่ยวทิพย์ด้วยกันในวันนี้ ![]() ปราสาทเขาโล้น ตั้งอยู่บนเชิงเขาสะแกกรอง บ้านเจริญสุข ต.ทัพราช อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว ปราสาทหนองหงส์ตั้งอยู่บนพื้นราบที่บ้านโนนดินแดง ต.โนนดินแดง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ ฟังดูไม่น่ามีความเกี่ยวพันกันในทางใด แต่เมื่อเราดูแผนที่ของกูเกิ้ลจะพบว่า ปราสาททั้งสองหลังนี้ ตั้งอยู่ในเส้นทางการค้าโบราณระหว่างภาคอีสานกับเมืองพระนคร โดยตัดผ่านเทือกเขาบรรทัดทางช่องตะโก ทับหลังปราสาทเขาโล้นเป็นรูปรูปเทวดานั่งชันเข่าถืออาวุธเหนือเกียรติมุข คลายท่อนพวงมาลัยเป็นวงโค้ง 2 วง ทับหลังปราสาทหนองหงส์เป็นรูปเทพประทับเหนือเกียรติมุขเช่นเดียวกัน แต่รูปสัตว์พาหนะเห็นได้ชัดว่ามีเขาตรง หมายถึงพระยมทรงกระบือ นักวิชาการกำหนดอายุทับหลังทั้สองชิ้นไว้ในสมัยบาปวนตอนต้น ศิลปะแบบบาปวนเป็นคำสั้นๆ ที่มีมีความหมายเพราะเป็นศิลปะของปราสาท ที่พบมากที่สุดในภาคอีสานของไทย แล้วเราจะกำหนดอายุให้ละเอียดลงไป ได้มากกว่านี้หรือไม่ หรืออะไรที่ทำให้การสร้างปราสาทในช่วงสมัยนี้ ถึงได้รุ่งเรืองเฟื่องฟูอย่างถึงขีดสุด มันน่าจะต้องสัมพันธ์กับการเมืองเป็นแน่ ![]() https://www.facebook.com/prfinearts/posts/4031915763542504/ ทับหลังปราสาทเขาโล้นปรากฎเป็นภาพถ่ายครั้งแรกจากการสำรวจโดยหน่วยศิลปากรที่ 5 ปี พ.ศ. 2503 ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญที่สามารถยืนยันได้ว่าทับหลังนี้มีที่มาจากประเทศไทย โดยบันทึกไว้ว่า สิ่งสำคัญที่สุดของปราสาทหลังนี้คือวงกบประตูหินทรายสูงประมาณ 1 เมตร หนาเกือบ 1 ฟุต มีจารึกอักษรโบราณที่วงกบประตูทั้ง 2 บาน แต่ส่วนหนึ่งของจารึกได้กะเทาะบุบสลายไป…. ทับหลังประตูหินทรายมีลวดลายใบไม้ล้อมรอบ ตรงกลางมีเกียรติมุขมองเห็นได้ชัดเจน เหนือทับหลังขึ้นไปเป็นหน้าบันอิฐเผาซึ่งมีลวดลายบ้างเล็กน้อย…” ในบทความเรื่องศิลปะสมัยลพบุรีของ ศ.มจ.สุภัทรดิศ ดิศกุล ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2510 ได้กล่าวถึงปราสาทเขาโล้นว่า เป็นปราสาทหลังเดียวก่ออิฐ มีทับหลังสลักรูปเทวดา นั่งชันเข่าบนเกียรติมุข ท่อนพวงมาลัยนั้นมิได้ออกมาจากปากแต่อยู่ใต้ลิ้น และท่อนปลายของพวงมาลัยก็ขมวดเป็นวงโค้งสลับกันข้างละ 2 วงเท่านั้น จึงอาจจะอยู่ในช่วงปี พ.ศ. 1700-1750 แทนที่จะอยู่ระหว่าง พ.ศ. 1600-1650 อย่างไรก็ดีเสาอิงกรอบประตูและกรอบประตูหินทรายก็ดูอาจจะเก่าแก่กว่าระยะนี้ อายุของปราสาทอิฐแห่งนี้ยังไม่สู้แน่นอนนัก มีจารึกอยู่บนกรอบประตูด้านใต้และด้านเหนือบ่งถึง พ.ศ. 1500 และ 1559 แต่เสาอิงประดูและกรอบประตูหินทรายนี้อาจมาจากปราสาทหลังอื่นที่เก่าแก่กว่านี้ก็ได้ ![]() ทับหลังแบบบาปวน ปราสาทตาแก้ว เพื่อให้เข้าใจถึงช่วงเวลา เราคงต้องมาเข้าใจยุคสมัยของศิลปะเมืองพระนคร ศิลปะบันทายศรี ราว พ.ศ.1510 - ราว พ.ศ.1540 ศิลปะคลัง ราว พ.ศ.1505-1550 ศิลปะบาปวน ราว พ.ศ.1550-1620 ศิลปะนครวัด ราว พ.ศ.1640-1715 ดูเหมือนมียุคสมัยของศิลปะที่ทับซ้อน และมีช่วงเวลาที่หายไป เพื่อให้ง่าย เราจะดูเฉพาะทับหลัง ศิลปะแบบบันทายศรีกำหนดอายุตามศิลปะ ที่พบที่ปราสาทบันทายศรี ซึ่งไม่มีรูปแบบที่แน่ชัด แต่ฝีมือการแกะสลักนั้น เพียงมองด้วยตาเปล่าคนทั่วไปก็แยกออก ด้วยความละเอียดประณีตของการแกะสลัก ปราสาทบันทายศรีสร้างโดยพราหมณ์ ยัชญวราหะอาจารย์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 5 (พ.ศ. 1511-1544) ซึ่งพระองค์เองมีปราสาทประจำรัชกาลคือ ปราสาทตาแก้ว ซึ่งแทบไม่มีลวดลายแกะสลัก เนื่องจากสร้างไม่แล้วเสร็จ มีพราหมณ์ในราชสำนักของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ได้ขอเข้ามาต่อเติม พร้อมจารึกข้อมูลว่า ปราสาทนี้สร้างไม่แล้วเสร็จเนื่องจากถูกฟ้าผ่า ทับหลังที่สลักอยู่ที่นี่ถูกกำหนดจัดเป็นศิลปะแบบคลัง ที่ตั้งชื่อตามทับหลังที่ตกอยู่หน้าปราสาทสองหลังที่นักวิชาการฝรั่งเศสในสมัยนั้น คิดว่าเป็นปราสาทที่ใช้เก็บของมีค่าตั้งอยู่หน้าพระราชวังหลวง จึงเรียกว่าปราสาทคลัง พระราชวังหลวงสร้างในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ดังนั้นศิลปะแบบคลังจึงมีความไม่แน่ชัด แต่อย่างน้อยก็มีติดอยู่ที่ประตูพระราชวังหลวง ทำให้นักวิชาการรุ่นหลัง บางครั้งใช้คำว่า ศิลปะแบบประตูพระราชวังหลวง แทนคำว่า ศิลปะคลัง ![]() ทับหลังแบบคลังผสมบาปวน ปราสาทบาปวน เมื่อเอาอายุของแบบศิลปะมาซ้อนทับกับรัชกาล จะเห็นได้ว่าศิลปะแบบคลัง จัดอยู่ในรัชกาลก่อนหน้าพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 แต่เมื่อไปดูทับหลังที่สร้างในรัชกาลนี้ ปราสาทพระวิหาร ค่อนข้างไม่มีเอกลักษณ์ เป็นภาพเล่าเรื่องเหมือนปราสาทพิมาย ปราสาทพนมจิซอว์เป็นแบบคลัง ปราสาทวัดเอกพนมเป็นแบบบาปวน แม้แต่ที่ปราสาทบาปวน ที่นักวิชาการใช้กำหนดยุคของศิลปะว่า สร้างในรัชกาลพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 (พ.ศ. 1593-1609) ก็มีแบบศิลปะคลังปน ดังนั้น เมื่อพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 สร้างพระราชวังหลวง จึงควรมีการสร้างปราสาทบาปวนด้วย ทำให้ปราสาทนี้ปรากฏศิลปะแบบคลังร่วมอยู่ และเมื่อมีศิลปะคลังในสมัยรัชกาลนี้ ศิลปะคลังจึงถือว่าใช้ต่อมาถึงในรัชกาลของพระองค์ อย่างน้อยก็ในช่วงครึ่งรัชกาลแรก ถึงตรงนี้ยังไม่ได้เล่าเลยว่า ทับหลังแบบคลังและทับหลังแบบบาปวนต่างกันอย่างไร ทับหลังแบบคลังนั้นจะมีเกียรติมุขอยู่ตรงกลาง เหนือเกียรติมุขเป็นลายสามเหลี่ยม เกียรติมุขคลายท่อนพวงมาลัยแบบตรงออกทั้งสองข้าง มีการตัดตรงกลางด้วยเฟื่องอุบะ ส่วนทับหลังแบบบาปวนจะมีเทพประทับเหนือเกียรติมุข ท่อนพวงมาลัยไม่มีการตัดกลาง ด้วยเฟื่องอุบะ ส่วนข้างบนและข้างล่างท่อนพวงมาลัยเป็นลายใบไม้ม้วนเหมือนกัน เมื่อดูในภาพรวมแล้ว ทับหลังแบบคลังน่าจะเริ่มในช่วงต้นของรัชกาลพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ก่อนที่จะคลี่คลายไปเป็นแบบบาปวนในช่วงปลายรัชกาล และมีทับหลังบางชิ้น ที่มีลักษณะผสมกันทั้งสองแบบ จนบอกไม่ได้ว่าเป็นทับหลังแบบคลังหรือว่าบาปวน ถึงตรงนี้เราสามารถอธิบายได้ว่า เหตุใดที่ปราสาทพนมรุ้ง และปราสาทเมืองต่ำ จึงพบทับหลังได้ทั้งแบบคลังและบาปวน เพราะว่าเป็นศิลปะที่นิยมผสมกันในสมัยรัชกาลนี้ แค่ทับหลังเราสามารถกำหนดอายุของปราสาทและผู้สร้างปราสาทเขาโล้นได้หรือยัง คงต้องไปดูการขุดค้นล่าสุด โดยสำนักศิลปากรที่ 5 ซึ่งพบหลักฐานอื่นๆ อีก
สด๊กก๊อกธม เดินทะลุบารายหน้าปราสาทไปไม่ถึงกิโลนึงถึงชายแดนเลยค่ะ
โดย: tuk-tuk@korat
![]() ![]() |
บทความทั้งหมด
|
เคยไปแต่สด๊กก๊อกธมค่ะ