เมืองโบราณอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี
บล็อกนี้ว่าด้วยเมืองสุดท้ายของซีรี่ยส์ทวารวดี... "เมืองโบราณอู่ทอง" ครับ เราย้อนอดีตกันมาหลายบล็อก ได้ชมเมืองโบราณไปก็มากมาย หลายๆที่ในประเทศไทยมีมนุษย์ปักหลักอยู่ตั้งแต่ยุคหิน ซึ่งเราก็พอจะทราบกันว่าดินแดนแรกๆที่มนุษย์มาปักหลักอยู่คือพื้นที่แถบภาคเหนือและตะวันตก แต่ถ้าพูดถึงดินแดนที่มีอารยธรรม ไม่ได้ทิ้งร่องรอยไว้แค่หลุมฝังศพกับหม้อรามชามไหแบบมนุษย์หิน กลุ่มเมืองทวารวดีนี่แหละครับที่เก่าแก่กว่าอารยธรรมอื่นๆ และเมืองอู่ทองที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีที่เราจะไปชมกันในครั้งนี้เองก็เป็นเมืองที่มีหลักฐานเก่าแก่ที่สุดในบรรดาเมืองทวารวดีด้วยกัน หากจะบอกว่าที่นี่เป็นเมืองแรกที่มีอารยธรรมก่อกำเนิดขึ้นบนแผ่นดินสุวรรณภูมิก็คงไม่ผิดนัก (บางที่กล่าวถึงอาณาจักรฟูนัน แต่ที่ทิ้งร่องรอยโบราณสถานในไทยแถวอีสานใต้ก็ล่อไปยุคเจนละพุทธศตวรรษที่ 12 แล้วละครับ)
แรกเริ่มที่ดินแดนนี้หลุดพ้นจากยุคหิน สังคมแถบนี้เติบโตขึ้นด้วยการค้าขายทางทะเลกับประเทศอินเดีย ซึ่งจากบันทึกของอินเดียได้เรียกบริเวณนี้ว่า "สุวรรณภูมิ" (แผ่นดินทอง) อันหมายรวมถึงบริเวณนี้แบบรวมๆไม่ได้เจาะจงแคว้นหรืออาณาจักรใดๆนะครับ จากนั้นราวพุทธศตวรรษที่ 12 ได้เริ่มมีการก่อตัวของวัฒนธรรมที่เป็นลักษณะจำเพาะของตนเองเรียกว่าทวารวดีขึ้นในพื้นที่ภาคกลางของประเทศไทย (บริเวณที่มีจุดสีแดงๆในภาพนี้)  และเมืองอู่ทองก็เป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมทวารวดีแห่งแรก โดยมีลำน้ำจระเข้สามพันที่ไหลลงทะเลเป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญ ก่อนแผ่นดินจะทับถมจนเมืองอู่ทองห่างไกลจากทะเล และลำน้ำจระเข้สามพันตื้นเขินลง ศูนย์กลางความเจริญของทวารวดีก็ย้ายไปอยู่ที่นครชัยศรีในเวลาต่อมา เมืองอู่ทองลดความสำคัญลงและถูกทิ้งเป็นเมืองร้าง ก่อนจะกลับมามีผู้คนอีกครั้งราวพุทธศตวรรษที่ 19 ในยุคกรุงศรีอยุธยา
เวลาผ่านไปนับพันปี ปัจจุบันอู่ทองเป็นเมืองที่คึกคักพอสมควรครับ ความเจริญไปทั่วถึงจังหวัดสุพรรณบุรีจริงๆ ใจกลางเมืองคือหอนาฬิกาบรรหารแจ่มใส ขับรถหาโบราณสถานหลงทางเมื่อไหร่ก็มาวนรอบวงเวียนนี้ติ้วๆ~  อู่ทองยังคงมีสภาพคูเมืองชัดเจนเหมือนในยุคทวารวดี โบราณสถานสำคัญของอู่ทองจะอยู่รอบๆเมือง ส่วนในคูเมืองจะมีซากเจดีย์ขนาดใหญ่กระจัดกระจายอยู่ แต่ที่แรกที่สมควรแวะชมด้วยประการทั้งปวงคือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทองครับ สุพรรณบุรีมีพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสองแห่งคืออู่ทองและสุพรรณบุรี ซึ่งจัดแสดงพื้นเพชุมชนและประวัติศาสตร์ความเป็นมาของสุพรรณบุรีได้อย่างน่าสนใจทั้งสองที่ สำหรับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทองที่เราจะมาชมกันในบล็อกนี้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมสิ่งของที่เรียกว่า "เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย" ไว้มากมาย ค่าเข้าชม 30 บาท ถ่ายรูปได้ไม่อั้นครับ ห้องจัดแสดงจะแบ่งเป็นห้องบรรพชนคนอู่ทอง ซึ่งแสดงโบราณวัตถุตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ จนถึงยุครับวัฒนธรรมจากต่างชาติ ด้วยความที่อู่ทองมีร่องรอยความต่อเนื่องทางวัฒนธรรมของยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย และเป็นเมืองท่าที่สำคัญในสมัยอินโด-โรมัน (พุทธศตวรรษที่ 5-9) นี่แหละครับที่ทำให้เชื่อได้ว่าอู่ทองเป็นเมืองหลวงแรกของทวารวดี เราพบศิลปะของชาติอื่นที่ติดต่อกับชุมชนโบราณของไทย เช่นรูปปั้นพ่อค้าเปอร์เซีย ตะเกียงสำริดแบบโรมัน หรือเครื่องถ้วยแบบจีน แต่วัฒนธรรมแรกที่เขามาในพื้นที่นี้คือประเทศที่ยิ่งใหญ่มาช้านานอย่างอินเดียครับ ในช่วงแรกอู่ทองรับอิทธิพลวัฒนธรรมจากอินเดียเข้ามาเป็นชาติแรก ก่อนจะพัฒนาเป็นศิลปะของตนเองในเวลาต่อมา ทำให้โบราณวัตถุชิ้นที่เก่าแก่มากๆมีร่องรอยศิลปะแบบอินเดีย ซึ่งพบเห็นได้มากในเมืองทวารวดียุคต้นอย่างเมืองอู่ทองนี้เอง และโบราณวัตถุศิลปะอินเดียที่เก่าแก่ที่สุดที่พบในประเทศไทยก็คือชิ้นนี้ครับ แผ่นดินเผาภาพพระภิกษุอุ้มบาตร เป็นศิลปะอินเดียแบบอมราวดี อายุราวพุทธศตวรรษที่ 9-10 |  | ห้องนี้ชื่อห้องอู่ทองศรีทวารวดี จัดแสดงวัฒนธรรมแบบทวารวดีที่พบในเมืองอู่ทอง ที่สำคัญก็คือแผ่นหินสลักพระพุทธรูปที่พบที่วัดเขาพระ และธรรมจักรพร้อมเสาตั้งที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย ขุดพบที่เจดีย์หมายเลข 11 ในพิพิธภัณฑ์ยังมีการจัดแสดงที่น่าสนใจมากมายทั้งจำลองวิถีชีวิตคนยุคก่อน อนิเมชัน วีดิทัศน์ ภาพถ่าย แผนที่เมืองอู่ทอง เรือนลาวโซ่งกลางแจ้ง ฯลฯ ดูกันได้เพลิดเพลินเต็มที่ วิดีทัศน์แสดงตอนปั้นรูปพระอุ้มบาตร หุ่นขี้ผึ้งแสดงวิถีชีวิตที่ผูกพันกับพุทธศาสนา อู่ทองนับเป็นเมืองแรกที่รับพระพุทธศาสนาเข้ามาในดินแดนนี้ แผนที่เมืองอู่ทองสเกลใหญ่ มีคุณเจ้าหน้าที่คนสวยคอยให้ความรู้ด้วยความมุ่งมั่นยิ่ง อยากตามหาเจดีย์ไหนถามโลด เดี๋ยวชี้ให้ จบจากพิพิธภัณฑ์แล้วเรามาชมเมืองอู่ทองกันจริงๆครับ เมืองอู่ทองเป็นเมืองรูปร่างรี ล้อมด้วยคูน้ำเช่นเดียวกับเมืองยุคทวารวดีอื่นๆ มีขนาด 1,000 เมตร x 2,000 เมตร ด้านตะวันออกติดแม่น้ำจระเข้สามพันอันเป็นเส้นทางการค้าขายที่สำคัญเชื่อมต่อกับอ่าวไทย ตามแผนที่เมืองอู่ทอง บริเวณนี้มีเจดีย์ขนาดใหญ่ที่สร้างในสมัยทวารวดีอยู่ 14 แห่ง ตามภาพเลยครับ แต่จะหาให้ครบคงไม่ไหวเพราะบางอันก็อยู่ในหลืบต้องเข้าตรอกบ้าง ปีนเขาบ้าง ผมหาเจอแค่ห้าอันครับ ไว้มีโอกาสจะไปหามาเพิ่มอีก เจดีย์พวกนี้อันใดอันหนึ่งน่าจะเป็นเจดีย์ที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย และเก่าแก่กว่าพระปฐมเจดีย์ แต่เจดีย์รุ่นนี้นอกจากพระประโทณเจดีย์ (นครปฐม) ที่รู้ว่าสร้างในปี พ.ศ. 1199 แล้ว เจดีย์อื่นๆไม่มีหลักฐานระบุปีที่สร้าง จะให้ชี้ชัดว่าอันไหนคือ "พระปฐมเจดีย์ที่แท้จริง" ก็คงยาก มื้อเที่ยงก็กินในอู่ทองนี่ละครับ ใกล้หอนาฬิกามีร้านตามสั่งชื่อจิตรโภชนา ชื่อเหมือนภัตตาคารดังเลย ที่นี่รับจัดโต๊ะจีนด้วยนะ ดูไม่ค่อยมีของแต่พอลองสั่งกับข้าวก็ปรากฏว่าอร่อยเหลือเชื่อหมดทุกจาน พออิ่มแล้วก็ตามล่าหาเจดีย์กันครับ อันนี้เจดีย์หมายเลข 2 อยู่ตรงข้ามร้านที่กินข้าว มุดเข้าตรอกไปจะพบเจดีย์อยู่ริมคูเมืองทิศเหนือครับ กว้างด้านละ 28.5 เมตร ใหญ่โตสมเป็นเจดีย์ยุคทวารวดีจริงๆ นอกจากความใหญ่โตอันเป็นอัตลักษณ์ของเจดีย์ทวารวดีแล้ว สังเกตลักษณะของเจดีย์ยุคแรกไว้นะครับ เจดีย์ยุคต้นจะมีรูปร่างฐานสี่เหลี่ยม ด้านบนเป็นโดมโค้งมน คล้ายเนินดินฝังศพ เพราะเดิมเจดีย์สร้างเพื่อเป็นที่เก็บพระบรมสารีริกธาตุก่อนจะพัฒนารูปแบบป็นเจดีย์ทรงต่างๆดังที่เห็นในยุคหลังๆ รูปร่างเดิมของพระปฐมเจดีย์ก็ต้องคล้ายๆแบบนี้แหละ แต่ถูกต่อเติมมาหลายยุคหลายสมัย จนมาเป็นรูปร่างล่าสุดในสมัย ร.4 และอันนี้ก็คือเจดีย์หมายเลข 3 อยู่ใกล้คูเมืองด้านตะวันตกครับ เขาพยายามบูรณะให้เป็นรูปร่างเดิมน่ะ ถึงจะบูรณะได้น่าอนาถไปหน่อยก็เถอะ ใกล้ๆหอนาฬิกา เข้าซอยมาอีกนิดหน่อยจะมีศาลเจ้าพ่อพระยาจักร ที่ชาวอู่ทองเคารพกราบไหว้ เจ้าพ่อพระยาจักรเป็นเทวรูปพระวิษณุสมัยทวารวดี ชาวบ้านพบที่ริมแม่น้ำจระเข้สามพันจึงอัญเชิญมาบูชา ตอนนี้ถูกปิดทองจนกลายเป็นก้อนกลมไปแล้วครับ ออกนอกเมืองอู่ทองมาดูโบราณสถานสำคัญรอบนอกกันบ้าง จะเที่ยวไล่จากบนลงล่างนะครับ สถานที่แรกที่จะพาไปชมกันก็คือพระพุทธบาทวัดเขาดีสลัก อยู่เหนือจากตัวเมืองโบราณอู่ทองขึ้นไปประมาณ 10 กม. ถึงตัวมณฑปที่มีพระพุทธบาทจะอยู่บนเขา แต่เอารถขึ้นไปถึงพระพุทธบาทได้สบายๆเลยครับ พระพุทธบาทอยู่ในมณฑปด้านในครับ เป็นรอยพระพุทธบาทสมัยทวารวดี อายุราวพุทธศตวรรษที่ 14-16 ถึงจะไม่เก่าแก่เท่าที่สระมรกตของเมืองศรีมโหสถ แต่มีเอกลักษณ์คือเป็นรอยพระบาทนูนสูง ผิดกับรอยพระบาทอื่นๆที่จมลงไปในแผ่นหิน ถัดมาคือวัดเขาพระ (ภายหลังเปลี่ยนให้เรียกยากเป็นวัดเขาพระศรีสรรเพชญาราม เพราะชื่อวัดเขาพระซ้ำกับวัดเขาพระที่ อ.เดิมบางนางบวช) เป็นอีกวัดหนึ่งที่สร้างขึ้นในสมัยทวารวดี มีโบราณวัตถุสำคัญเก็บไว้ในวัดเพียบเลยครับ ทั้งพระพุทธรูปเก่าที่วางกองกันเต็มทางเข้าวัด เทวรูปจักรนารายณ์สมัยทวารวดีพุทธศตวรรษที่ 13-14 พระพุทธบาทสมัยขอมพุทธศตวรรษที่ 16-17 และพระพุทธไสยาสน์หลวงพ่อสังฆ์ศรีสรรเพชญ์ พระนอนสมัยทวารวดีซึ่งเป็นที่มาของชื่อเขาพระ ด้านบนสุดของเขาพระมีเจดีย์สมัยทวารวดี แต่ถูกซ่อมแซมในสมัยอยุธยาครับ เรียกว่าเจดีย์หมายเลข 9 เพิ่งจะบูรณะครั้งล่าสุดไปเมื่อไม่นานมานี้เอง เห็นภาพเก่าๆในเว็บอื่นที่ผุพังหญ้าขึ้นแล้่วคลาสสิคมาก เสียดายผมน่าจะมาก่อนหน้านี้สักสองปี ด้านหน้าวัดมีอนุสาวรีย์พระเจ้าอู่ทองด้วยครับ พระเจ้าอู่ทองไม่ได้มาจากอู่ทองนะครับ ท่านเกิดหลังเมืองอู่ทองร้างไปแล้ว 300 ปี
ลงมาด้านล่างอีกนิดหน่อยจะมีวัดเขาทำเทียม วัดนี้ชื่อฟังดูเหมือนของทำเก๊ เพราะมีการขอก่อสร้างวัดจากซากโบราณสถานพร้อมกับวัดเขาพระในปี พ.ศ. 2460 แต่ชุมชนแถบนี้เล็ก ทำให้การก่อสร้างล่าช้า และวัดไม่ได้รับความสนใจเท่าวัดเขาพระ บางทีชาวบ้านเรียกว่าวัดเมียน้อย (น่าสงสาร) แต่อันที่จริงชื่อเดิมของวัดนี้ที่ถูกจารึกไว้มีหลากหลายทั้งวัดเขาธรรมเธียร วัดเขาคำเทียม หรือวัดเขาถ้ำเทียมสวรรค์ จะขึ้นไปบนยอดเขานี้ต้องเดินนะครับ รถขึ้นไม่ได้จ้า ขึ้นไปจนสุดจะพบอุโบสถและเจดีย์หมายเลข 12 สร้างสมัยอยุธยา ถึงจะเป็นวัดเมียน้อยแต่วัดนี้ละครับน่าจับตามองมากๆ เพราะมีโครงการสร้างสมเด็จพระพุทธปุษยคีรีศรีสุวรรณภูมิ หรือหลวงพ่ออู่ทองที่เพิงผาในบริเวณวัดด้วย ขนาด 29 เมตร x 24.9 เมตร กำหนดแล้วเสร็จในปี 2560 ใครสนใจสมทบทุนบริจาคได้ที่วัดป่าเลไลก์ตัวเมืองสุพรรณบุรีนะครับ วันที่ผมไป (3 พ.ค.) คุณบรรหารมาเปิดพิธีแกะสลักพอดี เดิมบริเวณนี้ค่อนข้างห่างไกลความเจริญนะครับ (ก็บอกแล้วว่าวัดเมียน้อย) แต่คุณบรรหารขยายเสาไฟฟ้ามาแถวนี้เพื่องานแกะสลักนี้โดยเฉพาะเลย จับตามองเถอะครับ ที่นี่กำลังจะเป็นที่เที่ยวที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของอู่ทองครับ! อันนี้ไปอู่ทองอีกรอบวันที่ 21 ก.ย. เริ่มเห็นความก้าวหน้าพอสมควร ใกล้ๆ กับบริเวณที่แกะสลักพระ มีโบราณสถานซ่อนอยู่ข้างๆถนน นี่คือเจดีย์หมายเลข 11 ครับ! ที่นี่คือที่ๆขุดพบธรรมจักรชิ้นที่งดงามและสมบูรณ์ที่สุด ที่เห็นในพิพิธภัณฑ์อู่ทองนั่นละ โชคดีที่มาถ่ายเก็บไว้ก่อน เพราะตอนไปอู่ทองรอบต่อมามันก็กำลังโดนบูรณะ โน่วววว อีกไม่นานเจดีย์นี้ก็จะมีสภาพเหมือนเจดีย์อันบนๆแล้วสินะ ต่อมาคือวัดถ้ำเสือครับ อยู่ทางตอนใต้ห่างจากเมืองอู่ทองประมาณ 5 กม. วัดนี้เป็นสถานที่ๆค้นพบกรุพระถ้ำเสือ ซึ่งเป็นพระเครื่องที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย (ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุพรรณบุรี ในตัวเมืองสุพรรณ ...เดี๋ยวบล็อกหน้าจะพาไปดูครับ) แต่ตัววัดเองไม่ค่อยเหลืออะไรให้ชมแล้ว ขึ้นเขาถ้ำเสือไปนิดหน่อยจะมีโกลนพระที่ยังแกะสลักไม่เสร็จเห็นอยู่ลางๆ นอกนั้นไม่มีร่องรอยโบราณคดีแต่อย่างใดครับ ใกล้ๆกับวัดถ้ำเสือในเขตวนอุทยานพุม่วง มีโบราณสถานเก่าแก่ที่เรียกว่า "คอกช้างดิน" กระจายตัวอยู่ สาเหตุที่ได้ชื่อคอกช้างดินเพราะเดิมเชื่อกันว่าเป็นคอกช้างสมัยโบราณมีทั้งที่ทำจากดินและทำจากหิน แต่จากการพิสูจน์ทราบโดยกรมศิลป์สรุปได้ว่าคอกช้างดินน่าจะเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมแบบพราหมณ์สมัยทวารวดีมากกว่า
วนอุทยานพุม่วงเป็นป่าเบญจพรรณที่ไม่ค่อยสมบูรณ์นักหรอกครับ ส่วนใหญ่เข้ามาขี่จักรยานมากกว่าชมธรรมชาติ แต่ถ้าต้องการตามหาคอกช้างดินก็เอารถเข้าเขตอุทยานไปเลยครับ เส้นทางขรุขระสมบุกสมบันพอสมควร บางช่วงรถเข้าไม่ได้ก็ต้องเดินเท้าเข้าไปต่อเอง ในนี้มีกลุ่มโบราณสถานคอกช้างดินที่ทำจากดินพูนเป็นคันล้อม 4 แห่ง ทำจากหินก่อเป็นฐานอาคารอีก 16 แห่ง ระบุด้วยหมายเลขเช่นเดิม เป็นไงครับบรรยากาศของความเก่าแก่ที่เหนือกว่าเมืองโบราณใดๆบนแผ่นดินไทย (ผมนี้เขียนเสร็จแก่ตามเลย) สุพรรณบุรีเป็นเมืองที่ความเจริญที่เข้าถึงพื้นที่สำคัญๆ และการคมนาคมสะดวก อีกทั้งผู้คนยังอัธยาศัยดีและมีความภาคภูมิใจในเมืองอันเป็นถิ่นเกิดครับ ไม่ว่าจะสอบถามอะไรชาวบ้านก็ภูมิใจนำเสนอไปเสียหมด นอกจากเมืองอู่ทองแล้วอีกหลายๆแห่งก็ถูกปลุกศักยภาพในการท่องเที่ยวขึ้นมาขับเคี่ยวกัน ทั้งเมืองโบราณ ตลาดโบราณ วัดวาอาราม แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ และอื่นๆอีกมากมาย สองปีนี้ผมไปสุพรรณมา 4 รอบแล้ว แต่คิดว่าคงต้องไปอีกหลายรอบถึงจะจุใจครับ
Create Date : 10 พฤศจิกายน 2557 |
|
44 comments |
Last Update : 22 พฤษภาคม 2568 22:19:35 น. |
Counter : 23456 Pageviews. |
|
 |
|
เป็นบรรยากาศของความเก่าแก่
ที่ควรค่าแก่การไปเยี่ยมเยือนเที่ยวชมมาก
พี่อุ้มเคยไปมาแล้ว