เมืองโบราณศรีมโหสถ จ.ปราจีนบุรี
จำเทศกาล "เดือนเดียวเที่ยว 10 เมืองทวารวดี" ช่วง เม.ย. ได้ไหมครับ? ผมตั้งใจว่าจะพาทัวร์เมืองโบราณยุคทวารวดีที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยให้ครบ 10 เมืองหลักๆ ภายในเดือนเดียว แต่ล่วงเลยมาจนบัดนี้จะสิ้นปีแล้วก็ยังทำโครงการที่ว่าไม่จบ /me ละอาย...ซะเมื่อไหร่ เจ้าของบล็อกออกจะหน้าด้าน 
ติดค้างไว้อีกสองเมืองคือศรีมโหสถเมืองยุคทวารวดีที่ใหญ่โตที่สุดในภาคตะวันออก (ปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดปราจีนบุรี) และเมืองอู่ทอง (ปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดสุพรรณบุรี) อันเป็นเมืองเก่าแก่ที่สุดในกลุ่มทวารวดีด้วยกันและน่าจะเป็นศูนย์กลางทวารวดีแห่งแรกก่อนย้ายมาที่นครชัยศรีในเวลาต่อมา วันนี้มาเที่ยวศรีมโหสถกันครับ
ชื่อศรีมโหสถ (แปลว่าผู้ทรงไว้ซึ่งยารักษาโรคอันสำคัญยิ่ง) เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นมาภายหลัง โดยผูกตำนานของเมืองนี้กับนิทานชาดกเรื่องพระมโหสถ ในสมัยขอมช่วงศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมาเมืองนี้มีชื่อว่าอวัธยปุระ (แปลว่าเมืองที่ไม่พ่ายแพ้) เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรขอม แต่อันที่จริงเมืองนี้ก่อร่างสร้างตัวมาตั้งแต่ยุคทวารวดีก่อนหน้าขอมหลายร้อยปี แต่ไม่ทราบชื่อดั้งเดิมที่แท้จริงของเมืองนี้
เมืองโบราณศรีมโหสถตั้งอยู่ในอำเภอศรีมโหสถทางตอนใต้ของอำเภอเมืองปราจีนบุรีแค่ 20 กม. ถ้าขับรถจากกรุงเทพไปก็ราวๆ 2 ชม.ครึ่ง ครับ
อันนี้ร้านข้าวมันไก่แถวศาลหลักเมืองปราจีนบุรีครับ เปิดติดๆกันห้าร้านเลย มันต้องมีร้านนึงที่อร่อยจนโด่งดังให้ร้านอื่นๆมาเนียนเปิดตามแน่ๆ ใครมีความเชี่ยวชาญด้านข้าวมันไก่เมืองปราจีนช่วยแนะนำด้วยครับว่าร้านอร่อยคือร้านไหนเอ่ย? ก่อนอื่นผ่านตัวเมืองแวะชมพิพิธภัณฑ์กันก่อนครับ ที่นี่มีพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติปราจีนบุรีที่มีโบราณวัตถุมากมายจากเมืองศรีมโหสถจัดแสดงไว้ ผมมาที่นี่สามรอบ ไม่ใช่ติดใจจนต้องมาเที่ยวซ้ำสามรอบ แต่สองรอบแรกมันไม่เปิดต่างหาก!! จำได้ว่ามาคั้งแรกสุดไม่ได้ดูตาม้าตาเรือครับ 12 ส.ค. 56 ตรงกับวันหยุดนักขัตฤกษ์พอดี พิพิธภัณฑ์ไม่เปิด แต่ก็เที่ยวเมืองโบราณศรีมโหสถต่อและได้ภาพมาแชร์เป็นภาพส่วนใหญ่ของบล็อกนี้ หนที่สองเมื่อ ก.พ. ต้นปีนี้เองครับ ตั้งใจไปพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติโดยเฉพาะ แต่ออกจากบ้านช้าไปหน่อย รีบเหยียบเต็มฤทธิ์กะว่าไปทันเที่ยวชมสัก 10-15 นาที ที่ไหนได้ ไปถึงถนนเส้นที่จะเข้าศาลากลางมันปิดถนนจัดงานแสดงสินค้า กว่าจะหาถนนเส้นรองลอดมาถึงตัวพิพิธภัณฑ์ได้ก็ 16.00 น. พิพิธภัณฑ์ปิดแย้ว (วี๊ดดดดดด!!--เสียงชีริวหวีดร้องด้วยความสิ้นหวังที่ต้องเห็นพิพิธภัณฑ์ค่อยๆแง้มประตูปิดไปต่อหน้าต่อตา) อันนี้ดิ่งรถกลับสถานเดียวครับ เย็นแล้ว ไม่รู้จะเที่ยวที่ไหนแล้ว จนในที่สุดครั้งที่สาม!! ผมก็สามารถไปทันและเข้าชมพิพิธภัณฑ์นี้ได้สำเร็จ!!
ไหนๆก็ไปมาตั้งสามรอบ ไม่เสียเที่ยวเปล่าหรอกครับ ได้ถ่ายภาพตึกพิพิธภัณฑ์ในฤดูกาลต่างๆเอาไว้ดูเล่นด้วย พิพิธภัณฑ์นี้เป็นอาคารสองชั้น ชั้นล่างจัดแสดงโบราณวัตถุชิ้นสำคัญจากเมืองศรีมโหสถ ส่วนชั้นบนแสดงวิวัฒนาการของภาคตะวันออกตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ไล่มาจนถึงปัจจุบัน มีโบราณวัตถุของแต่ละยุคให้ชมกันอย่างครบครันครับ
ชั้นล่างมีโบราณวัตถุชิ้นเจ๋งๆจากเมืองศรีมโหสถมากมาย ที่เด่นอยู่กลางห้องคือรูปสลักพระนารายณ์ สลักจากหินทรายอายุราว พ.ศ. 1150-1300 ขุดพบจากโบราณสถานหมายเลข 25 ในเมืองมโหสถ โบราณวัตถุจากจังหวัดใกล้เคียงอย่างสระแก้วก็มีหลายชิ้น ที่เห็นที่คือทับหลังจากปราสาทเขาน้อย สระแก้วครับ ข้าวของเครื่องใช้มนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์อายุ 3,000-4,000 ปี โซนนี้จัดแสดงพระพุทธรูปยุคต่างๆ ด้วยความเป็นพิพิธภัณฑ์ทางประวัติศาสตร์ที่ใหญ่โตที่สุดในภาคตะวันออกทำให้โบราณวัตถุจากจังหวัดอื่นๆ ในภาคตะวันออกถูกนำมาเก็บไว้ที่นี่ด้วย รอบๆอาคารยังมีโบราณวัตถุอย่างแท่นศิวลึงค์หรือทับหลังจัดแสดงอยู่หลายชิ้น ที่นี่ถ่ายรูปได้ทั้งหมดครับ ช่วงคืนความสุขเข้าฟรีด้วย
ชมพิพิธภัณฑ์จนหนำใจแล้วลงใต้เข้าเขตเมืองโบราณกันเลยครับพวกเรา... 
เมืองศรีมโหสถเป็นเมืองรูปร่างสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีขนาด 770 เมตร x 1,550 เมตร ล้อมด้วยคูน้ำ คันดิน เช่นเดียวกับเมืองยุคทวารวดีส่วนใหญ่ มีโบราณสถานหลงเหลือจำนวนมากกระจายอยู่หลายกลุ่ม ในเมืองส่วนใหญ่เป็นโบราณสถานเล็กๆ เป็นกองดินกองอิฐ ที่เด่นๆจะเป็นกลุ่มโบราณสถานนอกเมืองอย่างสระแก้ว สระมรกต หรือโบราณสถานพานหินมากกว่า ศรีมโหสถก็เป็นเช่นเดียวกับเมืองยุคทวารวดีอื่นๆ ที่รับอิทธิพลของศาสนาพุทธเข้ามา จะมีการสลักเสมาและพระพุทธรูป แต่ที่โดดเด่นกว่าเมืองอื่นคือที่นี่มีต้นศรีมหาโพธิ์ที่ได้พันธุ์จากลังกามาตั้งแต่ก่อน พ.ศ. 2000 นับว่าเป็นต้นโพธิ์ที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังมีชีวิตอยู่ในประเทศไทย ตอนที่อัพบล็อกนี้ครั้งแรกยังไม่ได้ไปนะครับ เที่ยวจนเย็นมาก เลยข้ามไป เพราะไม่มีโบราณสถาน แต่ไปเก็บสแปร์มาแล้วรอบหลังสุด
ที่แรกที่จะพามาชมกันก็คือสระแก้วครับ (ไม่ใช่ชื่อจังหวัดนะ) ที่นี่เป็นสระศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ทำพิธีกรรมในสมัยโบราณ อิฐขอบสระมีการสลักเป้นลวดลายสัตว์ต่างๆ แต่ตอนนี้ดูแทบไม่ออกแล้ว วันที่ไปดันตั้งโหมดถ่ายภาพผิด ไปถ่ายโหมดย้อนอดีต ภาพออกมาเหลืองอ๋อยต้องมาปรับสีจนดูไม่สมจริงตามที่เห็นครับ นอกจากสระแก้วแล้วยังมีสระน้ำศักดิ์สิทธิ์อื่นๆรอบเมืองเลย แต่เป็นบ่อขุดธรรมดาไม่มีอิฐประดับเลยไม่ได้ไปดู เข้ามาในเขตเมืองแล้วครับ อันนี้เป็นคูน้ำคันดินเดิม โบราณสถานในเขตเมืองส่วนใหญ่เหลือแต่ฐานครับ อันนี้คือโบราณสถานหมายเลข 223 เลขเยอะขนาดนี้แสดงว่าในพื้นที่นี้โบราณสถานเยอะแบบสุดๆจริงๆ แต่ที่เจอเยอะสุดๆจริงๆก็คือป้ายครับ มีแต่ป้ายแต่หาโบราณสถานไม่เจอ คงโดนต้นไม้คลุมเป็นพื้นดินไปหมดแล้ว โบราณสถานสระมรกต ตัวสระไม่ได้น่าสนใจหรอกครับ ไฮไลท์คืออโรคยาศาลแบบขอม และรอยพระพุทธบาทคู่ เป็นรอยพระพุทธบาทที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยด้วย
ตัวอโรคยาศาลสร้างทับโบราณสถานเดิมในพุทธศตวรรษที่ 17-18 ช่วงขอมครองเมือง ตัวพระพุทธบาทเป็นของเก่าตั้งแต่สมัยทวารวดี อายุราวพุทธศตวรรษที่ 11-13 ครับ ยาวประมาณ 3.5 เมตร มีลักษณะผิดกับพระพุทธบาทแบบกระแสหลักที่นิ้วเท้ายาวไม่เท่ากันเหมือนเท้าคนจริงๆ มีสองรอยเท้าประทับ มีร่องที่คาดว่าเป็นหลุมปักฉัตร กลางรอยเท้าสลักเป็นรูปธรรมจักร บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ด้านหน้าอาคาร ชาวบ้านนิยมตักราดรักษาโรคภัย บริเวณใกล้ๆกันมีวัดสระมรกต สร้างด้วยหินอ่อนตกแต่งด้วยสเตนเลสทั้งหลัง อายุไม่เก่าแก่แต่สวยงามครับ มีพระพุทธชินราชโลกนาถบดีศรีมโหสถวรทศพลญาณเป็นพระประธาน [updated 4 Sep 21] ได้ไปเที่ยวปราจีนบุรีเพื่อไปวัดล้านหอย ก็แวะมาวัดต้นโพธิ์ศรีมหาโพธิ์ที่ยังไม่เคยมา วัดนี้ เดิมเชื่อว่าได้อัญเชิญต้นนี้มาจากพุทธคยาตั้งแต่สมัยทวารวดีเมื่อราว 2000 ปีที่แล้วโดยพระเจ้าทวานัมปะยะดิษฐ์ เจ้าเมืองศรีมโหสถ แต่เนื่องจากก่อนอังกฤษยึดครองอินเดียไม่มีการส่งหน่อศรีมหาโพธิ์ออกไปต่างแดน นักวิชาการจึงให้ความเห็นว่าน่าจะนำหน่อมาจากอนุราธปุระ ประเทศศรีลังกา ต้นที่พระเจ้าอโศกมหาราชปลูกไว้ อายุประมาณ 1,300 ปี ตามอายุโบราณวัตถุที่ขุดพบในบริเวณนี้ จึงนับเป็นต้นศรีมหาโพธิ์ที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย เป็นต้นไม้เพียงต้นเดียวที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน และต้นศรีมหาโพธินี้ยังถูกใช้เป็นตราสัญลักษณ์ของจังหวัดปราจีนบุรีด้วย ฝั่งตรงข้ามมีตัววัดที่สร้างขึ้นใหม่ แต่ได้ขุดพบโบราณวัตถุสมัยทวารวดีและขอมจำนวนมาก น่าจะเป็นวัดเก่ายุคนั้น ตอนนี้โบราณวัตถุจำนวนมากถูกเก็บไว้ในอาคารชั่วคราวหลังพระสังกัจจายน์ [จบส่วนที่อัพเดทเพิ่มเติม]
ออกจากแนวคันดินมานอกเมือง ที่ว่าการอำเภอศรีมโหสถมีวิหารประดิษฐานพระสมัยทวารวดีที่ผู้ป่วยโรคเรื้อนขุดพบจากนิคมโรคเรื้อน เรียกกันว่า "หลวงพ่อทวารวดี" เป็นพระศิลปะทวารวดียุคแรก ราวพุทธศตวรรษที่ 11-13 ขับรถฉีกออกไปแถว อ.ศรีมหาโพธิ์จะมีโบราณสถานพานหินอยู่ครับ ที่นี่สร้างขึ้นเป็นเทวสถานในพุทธศตวรรษที่ 12-14 ใกล้ๆกันมีโบราณสถานหลุมเมือง เป็นหลุมเจาะลงไปในพื้นศิลาแลง คาดว่ามีไว้เล่นกีฬาพื้นบ้านที่เรียกว่า "การเล่นหลุมเมือง" (ไม่รู้ว่าเล่นยังไง) หลังยุคขอมแล้วเมืองนี้ก็ล่มสลายลง แทบไม่มีบทบาทในยุคต่อๆมาครับ ผู้คนส่วนใหญ่จะย้ายจากโคกปีบไปปักหลักอยู่ที่บ้านบางคางมากกว่า การไม่ถูกสร้างเมืองใหม่ทับทำให้ศรีมโหสถก็ยังทิ้งร่องรอยอารยธรรมยุคทวารวดีและขอมไว้ให้ชนรุ่นหลังถ่ายรูปมาทำบล็อกเช่นนี้เอง...
พูดถึงเส้นทางสายนครนายก-ปราจีนบุรีก็มีร้านอาหารอร่อยรายทางเยอะเหมือนกันครับ รอบที่ไปล่าสุดผมแวะกินขาหมูหมั่นโถวร้านประนอม นครนายก ขับตามถนนเส้นขึ้นเขาใหญ่ร้านอยู่ข้างทางสังเกตไม่ยากเลย ร้านนี้เป็นต้นตำรับขาหมูไร้มันที่นำขาหน้าซึ่งมีมันน้อยมาเผารีดมันออก ก่อนเอาไปทอด แล้วเคี่ยวในน้ำพะโล้ครึ่งวัน ได้ขาหมูโลว์แฟตที่ใครกินก็ต่างติดใจและบอกต่อแบบนี้ครับ กินกับหมั่นโถวอร่อยพอดีๆ นอกจากนั้นยังมีอาหารตามสั่งอีกหลายเมนู แต่ขาหมูขาเดียวก็อิ่มแทบเดินไม่ไหวแล้วครับ อีกร้านที่แวะเป็นประจำคือร้านอาหารอิสลาม รังสิตคลอง 12 จะมีสองร้านใกล้กันคือฮาซัน และฮีล้าล ซึ่งร้านฮีล้าลจะใหญ่โตหรูหรากว่า และข้าวหมกร้านนี้อร่อยครับ แต่ผมกินร้านฮาซันบ่อยกว่า เพราะให้เยอะกว่าราคาถูกกว่า และแกงเขาอร่อยกว่า โดยเฉพาะกุรุม่า แกงทุกประเภทมีให้เลือกทั้งไก่ เนื้อ แพะ ถึงจะถูกกว่าฮีล้าลแต่ถ้าเทียบกับข้าวแกงมันก็แพงตามปกติอาหารอิสลามละครับเพราะใช้เครื่องเยอะจริงๆ ข้าวหมกไก่ 35 ข้าวหมกเนื้อ 50 ซุปหางวัว 80 แกงถุงละ 80 บาท ถ้ามีโอกาสก็แวะไปสั่งกุรุม่าใส่ถุงกลับบ้านสัก 1-2 ถุงเถอะครับ อร่อยจริงนะเออ จบแล้วครับ หลังจากดองบล็อกมานานหวังว่าบล็อกนี้คงชดใช้ความผิดได้ (หืม? ไม่ได้เหรอ?) 
Create Date : 02 พฤศจิกายน 2557 |
|
49 comments |
Last Update : 25 พฤษภาคม 2568 13:53:55 น. |
Counter : 10941 Pageviews. |
|
 |
|
เด๋วมาใหม่น้า