|
| 1 | 2 | 3 |
4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 |
11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 |
18 | 19 | 20 | 21 | 22 | 23 | 24 |
25 | 26 | 27 | 28 | 29 | 30 | 31 |
|
|
|
|
|
|
|
เชียงใหม่ อดีตราชธานีแห่งอาณาจักรล้านนา
ต่อจาก เอนทรี่ก่อน พาเที่ยวในเวียงเชียงใหม่ไปแล้ว หนนี้ออกมานอกกำแพงเมืองดูวัดโบราณอื่นๆในเชียงใหม่กันครับ บล็อกนี้ไม่รวมเมืองโบราณในเชียงใหม่อย่างเวียงกุมกาม หรือเวียงท่ากานที่เคยอัพไปแล้วนะ
โหลดแผนที่ท่องเที่ยวเมืองเชียงใหม่ได้ที่เว็บนี้เลยครับ //www.bigmapthailand.com/2013/wp-content/uploads/2013/02/map-chm3.jpg (สำหรับดอยสุเทพไปต่อทางด้านซ้ายจ้า)
วัดแรกอยู่ทางทิศตะวันตกของ อ.เมือง ย่าน ม.เชียงใหม่ วัดเวฬุกัฏฐาราม หรือที่เรียกกันว่า วัดอุโมงค์ นั่นเองครับ เป็นวัดป่าที่สร้างในสมัยพญามังรายตั้งแต่ปี พ.ศ. 1840 เพื่อเป็นที่พำนักของพระเถรจันทร์ พระสงฆ์ชาวลังกา ที่ชื่อเวฬุกัฏฐาราม (ป่าไผ่ 11 กอ) เพราะสร้างในพื้นที่ป่าไผ่ 11 กอ แล้วต่อมาพญากือนาได้สร้างอุโมงค์สำหรับเป็นที่นั่งวิปัสนา แล้วก็เป็นเอกลักษณ์ของวัดนี้ไป ในเชียงใหม่มีวัดอุโมงค์อีกแห่งอยู่ในเวียงครับ ระวัง GPS มันพาไปผิดวัดล่ะ ถ้าวัดที่ดังต้องวัดอุโมงค์มีวงเล็บ >> (สวนพุทธรรม) ด้วยนะ แต่วัดอุโมงค์ในเวียงก็เก่าแก่โบราณน่าชมเหมือนกัน
เข้าในอุโมงค์ต้องถอดรองเท้า ใครอยากไปออกทางอื่นก็คีบรองเท้าติดตัวไปด้วยครับ เดี๋ยวขึ้นไปบนหลังคาอุโมงค์แล้วต้องเดินเท้าเปล่าแบบผม
ฝาผนังมีภาพจิตรกรรมที่วาดราวพุทธศตวรรษที่ 21 หลังสร้างอุโมงค์แล้วระยะหนึ่ง แต่ลบเลือนจนปัจจุบันมองแทบไม่เห็นแล้วครับ
ด้านบนอุโมงค์มีเจดีย์ทรงระฆังคว่ำรุ่นแรกของล้านนา มีไก่เยอะด้วยครับ

หลังบูรณะวัดในปี พ.ศ. 2492 ท่านปัญญานันทภิกขุมาเป็นเจ้าอาวาสคนแรกของวัดนี้ครับ ในบริเวณวัดจะมีภาพและรูปปั้นท่านปัญญาเยอะเหมือนกัน ของที่สร้างเพิ่มมาที่น่าสนใจก็เช่นโรงภาพปริศนาธรรมกับเสาอโศก
ก่อนเลาะชมด้านบนเมืองก็ออกตะวันตก ไปดอยสุเทพกันครับ นี่คือวัดที่โด่งดังที่สุดของเชียงใหม่ และเป็นที่แรกๆที่คนจะพูดถึงเมื่อนึกถึงภาคเหนือ วัดพระธาตุดอยสุเทพ นั่นเอง
ดอยสุเทพเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวลัวะ ชนเผ่าดั้งเดิมของพื้นที่ภาคเหนือซึ่งนับถือธรรมชาติและบูชาดอยสุเทพเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ฤาษีวาสุเทพผู้นำชาวลัวะในตำนาน ซึ่งสร้างเมืองหริภุญชัยขึ้นก็เคยอยู่อาศัยบริเวณนี้มาก่อน แม้มอญและไทยวนซึ่งเข้ามาในพื้นที่จะนำศาสนาเข้ามา แต่ความเชื่อเรื่องการบูชาภูเขาก็ยังคงอยู่คู่สังคมล้านนา การที่พญากือนาสร้างพระธาตุดอยสุเทพขึ้นในปี พ.ศ. 1962 จึงเป็นการผสมผสานศาสนาของอาณาจักรกับความเชื่อดั้งเดิมอย่างกลมกลืน ทำให้พระธาตุดอยสุเทพ ได้รับการยกย่องเป็นศูนย์กลางจิตวิญญาณของชาวเชียงใหม่มาจนถึงปัจจุบัน ถึงขนาดมีคำกล่าวว่า "ถ้าไม่ได้ไปดอยสุเทพก็เหมือนกับมาไม่ถึงเชียงใหม่" (ไม่รู้ใครกล่าวไว้)

รูปฤาษีวาสุเทพที่ฐานพระธาตุ ครูบาศรีวิชัยได้สร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ ทำให้ผู้คนสามารถขึ้นมาสักการะพระธาตุได้สะดวกขึ้นมาก มีอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัยที่เชิงดอยด้วยครับ ร้านขายพวงมาลัยเป็นสิบล้านกวักเรียกลูกค้าอย่างกับซอมบี้ นอกจากถนนแล้วครูบาศรีวิชัยยังสร้างวัด 3 แห่งตามทางขึ้น เพื่อแสดงเส้นทางบรรลุสู่นิพพาน คือวัดศรีโสดา (โสดาบัน) วัดสกิทาคามี และวัดอนาคามี ส่วนวัดพระธาตุดอยสุเทพ หมายถึงพระอรหันต์
ถ้าศรัทธาสามารถขึ้นบันไดไปที่พระธาตุได้ แต่ขึ้นรถรางเอาสบายกว่าครับ เสีย 20 บาท พระธาตุดอยสุเทพสร้างเพื่อบรรจุพระธาตุที่อัญเชิญมาจากศรีสัชนาลัย เป็นพระธาตุประจำปีมะแมครับ ส่วนที่เห็นในปัจจุบันเป็นรูปแบบที่ปฏิสังขรณ์โดยพระเมืองเกษเกล้าในปี พ.ศ. 2081 บริเวณลานเจดีย์ต้องถอดรองเท้านะครับ ห้ามนุ่งสั้นด้วย เขามีผ้าถุงแจกให้นะ วันที่ผมขึ้นไปฟ้าครึ้มฝนพรำเย็นสบายดี ลานด้านบนมองเห็นเมืองเชียงใหม่ได้ทั่วเลย
ตัวพระธาตุแทนเขาพระสุเมรุตามคติล้านนา แต่มีระเบียงคดแบบกรุงเทพ ภายในระเบียงคดมีพระพุทธรูปทั้งสี่มุมครับ

หนูน้อยคอสเพลย์เป็นแม้วดอยปุยอยู่ที่เชิงบันไดทางขึ้นให้ถ่ายรูปคู่ แต่แอบถ่ายฟรีค่ะ

กลับเข้ามาในเมืองอีกรอบ ด้านเหนือของเมืองเชียงใหม่ใครผ่านไปผ่านมาจะเห็นอนุสาวรีย์ช้างเผือก หน้าประตูช้างเผือก ไม่ได้สร้างเป็นที่ระลึกช้างทรงคู่บารมีใครนะครับ คติชาวล้านนามักเปรียบบุคคลสำคัญเป็นช้าง และช้างเผือกสองทั้งนี้สร้างขึ้นแทนตัวสองขุนพลของพญาแสนเมืองมา ในช่วงนั้นเชียงใหม่ไปช่วยสุโขทัยแข็งเมืองกับอยุธยา แต่สุโขทัยทรยศ โชคดีที่อ้ายออบและยี่ระ สองขุนพลได้ช่วยให้พญาแสนเมืองมาหนีออกจากเมืองสุโขทัยมาได้อย่างปลอดภัย จึงสร้างรูปช้างเผือกทั้งสองไว้ และเรียกประตูด้านเหนือเมืองเชียงใหม่ว่าประตูช้างเผือก ส่วนอนุสาวรีย์ช้างเผือกที่เห็นนี่พระเจ้ากาวิละบูรณะขึ้นในปี พ.ศ. 2343

ด้านทิศเหนือนอกกำแพงเมืองยังมีวัดเก่าแก่ที่น่าสนใจอีกหลายวัดครับ สุดยอดสำหรับคอโบราณสถานต้องที่นี่เลย วัดเจ็ดยอด ซึ่งพระเจ้าติโลกราชสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1999 วัดนี้มีอีกชื่อว่าวัดมหาโพธาราม เพราะตอนแรกสร้างได้นำกิ่งโพธิ์จากวัดป่าแดงหลวงซึ่งนำกิ่งมาจากลังกา มาปลูกที่นี่ด้วย

ที่นี่เป็นสัตตมหาสถานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยครับ มีการจำลอง 7 เจดีย์ที่เกี่ยวข้องกับพุทธประวัติยามตรัสรู้ไว้ โดยเจดีย์ประธานเป็นเจดีย์เจ็ดยอด จำลองมาจากเจดีย์พุทธคยา ซึ่งสร้างขึ้นบริเวณโพธิบังลังก์ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ใต้ต้นโพธิ์ ด้านข้างมีปูนปั้นเทวดาที่มาสักการะพระพุทธเจ้า ภายในเจดีย์เป็นคูหาสำหรับประกอบพิธีกรรม สัตตมหาสถานประกอบด้วย 7 เจดีย์ ตามนี้ครับ 1. โพธิบังลังก์ สถานที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ 2. อนิมิสเจดีย์ สถานที่ยืนเพ่งพิจารณาโพธิบังลังก์หลังตรัสรู้ 3. รัตนจงกรมเจดีย์ สถานทีเดินจงกรม เป็นเพียงฐานอิฐเลยไม่ได้ถ่ายมา 4. รัตนฆรเจดีย์ สถานที่ประทับพิจารณาพระอภิรรมปิฎก 5. สระมุจลินท์ สถานที่ประทับใต้ต้นจิก 6. ราชายตนะ สถานที่เสวยผลสมอใต้ต้นเกด ปัจจุบันเหลือแต่ฐานเลยไม่ได้ถ่ายมา ส่วนมหาสถานอีกแห่งคืออัชปาลนิโครธ ซึ่งพญามารมายั่วยวนให้เกิดกิเลส ปัจุบันยังไม่ค้นพบครับ

วัดนี้กว้างมากนะครับ แต่ถนนซูเปอร์ไฮเวย์ตัดทับบางส่วนของวัดนี้ไปด้วย พื้นที่ปัจจุบันจึงหดลงมา แต่ก็ยังถือเป็นวัดที่มีขนาดใหญ่อยู่
พระอุโบสถและกู่ทรงปราสาท เดิมมีพระแก่นจันทร์แดงที่เก่าแก่อยู่ แต่หายสาบสูญไปแล้ว

นอกจากความสามารถด้านการรบและการปกครอง จนทำให้ล้านนาในยุคของพระเจ้าติโลกราชรุ่งเรืองถึงขีดสุด และมีอาณาเขตแผ่ไพศาลจนถึงสุโขทัยแล้ว พระเจ้าติโลกราชยังให้ความสำคัญต่อการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอย่างยิ่งยวด ได้มีการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 8 ที่วัดแห่งนี้ในปี พ.ศ. 2020 และนับเป็นครั้งเดียวที่มีการสังคายนาพระไตรปิฎกในประเทศไทย
หลังสิ้นพระชนม์ มีพิธีถวายพระเพลิงพระเจ้าติโลกราชที่วัดนี้ นี่คือเจดีย์บรรจุอัฐิพระเจ้าติโลกราช สร้างโดยพญายอดเชียงรายในปี พ.ศ. 2030 ครับ

วัดโลกโมฬี อยู่ทางเหนือของกำแพงเมืองเชียงใหม่ ปรากฏชื่อตั้งแต่สมัยพญากือนา แต่เจดีย์ถูกสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2070 สมัยของพระเมืองเกษเกล้า

ที่นี่ใช้ปลงศพกษัตริย์ของล้านนามาหลายสมัย เจดีย์นี้บรรจุอัฐิพระเมืองเกษเกล้าและพระนางวิสุทธิเทวีด้วยครับ

ถึงจะเป็นไม่กี่วัดในเชียงใหม่ที่ไม่ถูกบูรณะจนใหม่ไม่เหลือสภาพเดิม แต่วัดโลกโมฬีช่วงหลังๆก็มีการสร้างอาคารเพิ่มเติมหลายอย่าง ทั้งคริสต์ ทั้งพราหมณ์ปนกันมั่วไปหมด
ออกจากตัวเมืองลงมาไกลสักหน่อย ที่อำเภอจอมทองเป็นที่ตั้งของ พระธาตุศรีจอมทอง วัดนี้สร้างในปี พ.ศ. 1995 แต่รูปแบบส่วนใหญ่เหมือนศิลปะในพุทธศตวรรษที่ 24 เพราะบูรณะเชียงใหม่ครั้งใหญ่กันตอนนั้น
ที่นี่เป็นพระธาตุประจำปีชวดครับ ลือกันว่ามาไหว้วัดนี้แล้วถูกหวยกันบ่อยด้วย

ภายในวิหารสวยงามมาก พระบรมสาริกธาตุของวัดนี้ไม่ได้ฝังไว้ใต้ดิน แต่สามารถมองเห็นผ่านผอบแก้วได้ครับ จะมีพิธีเชิญพระธาตุออกมาสรงน้ำช่วงเข้าพรรษาและออกพรรษา ด้านหลังเป็นพิพิธภัณฑ์เก็บของเก่าให้เข้าชมได้ด้วย ส่วนใหญ่เป็นเครื่องเงิน กลิ่นบลัซโซแรงหน่อยนะ

ราชวงศ์มังรายที่ปกครองอาณาจักรล้านนา มีทั้งสิ้น 17 พระองค์ กษัตริย์เหล่านี้มีอำนาจยิ่งใหญ่ที่สุดในอาณาจักรที่เป็นไท ดังนั้นถือว่ามีพระยศไม่ด้อยไปกว่ากษัตริย์ของสุโขทัยหรือพระนครศรี่อยุธยาครับ เชียงใหม่ในฐานะเมืองหลวงของอาณาจักรล้านนานั้นสามารถรักษาเอกราชอยู่ได้ยืนยาวถึง 297 ปี ยาวนานกว่าสุโขทัยหรืออายุของกรุงเทพเสียอีก
1. พญามังราย (พ.ศ. 1804-1854) ย้ายเมืองหลวงจากเงินยางมาเชียงราย ก่อนสร้างเมืองเชียงใหม่ พ.ศ. 1839 สร้างวัดเชียงมั่นและวัดอุโมงค์ 2. พญาไชยสงคราม (พ.ศ. 1854-1868) 3. พญาแสนพู (พ.ศ. 1868-1877) สร้างเมืองเชียงแสนในพื้นที่เมืองเงินยางเดิม 4. พญาคำฟู (พ.ศ. 1877-1879) 5. พญาผายู (พ.ศ. 1879-1898) ราชวงศ์มังรายเริ่มปักหลักที่เชียงใหม่ สร้างวัดพระสิงห์ 6. พญากือนา (พ.ศ. 1898-1928) เริ่มเผยแพร่ศาสนาพุทธ สร้างวัดสวนดอกและวัดพระธาตุดอยสุเทพ 7. พญาแสนเมืองมา (พ.ศ. 1928-1944) สร้างวัดเจดีย์หลวง 8. พญาสามฝั่งแกน (พ.ศ. 1945-1984) 9. พระเจ้าติโลกราช (พ.ศ. 1984-2030) อาณาจักรล้านนากว้างใหญ่ไพศาลที่สุด สร้างวัดเจ็ดยอด 10. พญายอดเชียงราย (พ.ศ. 2031-2038) 11. พระเมืองแก้ว (พ.ศ. 2038-2068) 12. พระเมืองเกษเกล้า (พ.ศ. 2069-2081 และ 2086-2088) ครองราชย์สองครั้ง สร้างวัดโลกโมฬี 13. ท้าวชาย (พ.ศ. 2081-2086) 14. มหาเทวีจิรประภา (พ.ศ. 2088-2089) กษัตริย์หญิงองค์แรก ในเรื่องสุริโยไทใส่ชุดเห็นนม 15. พระไชยเชษฐา (พ.ศ. 2089-2090) มาจากล้านช้าง ครองเชียงใหม่ได้แป๊บเดียวก็กลับไปครองเวียงจันทน์ 16. พญาเมกุ (พ.ศ. 2094-2107) เชียงใหม่เสียเอกราชแก่พม่าในปี พ.ศ. 2101 17. พระนางวิสุทธิเทวี (พ.ศ. 2107-2121) พญามังราย เป็นกษัตริย์ที่ประสบความสำเร็จในการปกครอง สร้างเมืองน้อยใหญ่จำนวนมาก ประสบความสำเร็จในการพิชิตอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่อย่างหริภุญชัยลงได้จากการเตรียมการมาเกือบ 40 ปี และรวบรวมผู้คนสร้างอาณาจักรล้านนาได้สำเร็จ ถึงจะพัวพันกับสงครามมาตลอด แต่พญามังรายก็ครองราชย์นานถึง 50 ปี ชีวิตของพญามังรายมีเหตุอัศจรรย์มากมาย ไม่เว้นแม้แต่วาระสุดท้ายที่พระองค์สิ้นพระชนม์นั้น ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า "ต้องอสนียบาตขณะเดินชมตลาด"
พญาแสนพู กล่าวถึงในบล็อกเชียงแสนไปเยอะแล้ว
พญากือนา เป็นกษัตริย์อีกพระองค์ที่คนล้านนารุ่นหลังกล่าวถึงกันมาก ในด้านของการอุปถัมป์พระพุทธศาสนา เราจึงได้ยินคำเรียกต่อท้ายพระนามบ่อยครั้งว่าพญากือนาธรรมิกราช ท่านเป็นผู้นิมนต์พระสุมนเถระจากสุโขทัยมาเผยแพร่พระพุทธศาสาในล้านนา สร้างวัดสวนดอก และวัดพระธาตุดอยสุเทพ
หลังจากนั้นล้านนาได้รุ่งเรืองถึงขีดสุดในสมัยของพระเจ้าติโลกราช ท่านถูกยกย่องเป็นอย่างมากจนได้รับการเรียกคำนำหน้าชื่อว่า "พระเจ้า" แม้จะให้การสนับสนุนด้านศาสนาอย่างจริงจังถึงขนาดมีการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งแรกและครั้งเดียวในเขตประเทศไทยในสมัยของพระองค์ แต่พระเจ้าติโลกราชก็คร่ำหวอดกับการสู้รบมาตั้งแต่การชิงอำนาจขึ้นเป็นกษัตริย์และยังต่อสู้ขยายอำนาจตลอดรัชสมัย ในสมัยของพระเจ้าติโลกราช ล้านนาสามารถควบรวมเมืองแพร่และน่านเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรได้สำเร็จ ขยายอาณาเขตทางเหนือถึงเชียงรุ้งและเมืองยอง ขยายอาณาเขตทางตะวันตกไปถึงรัฐฉาน จากนั้นได้พยายามขยายอำนาจลงใต้ ยึดเมืองศรีสัชนาลัยได้ และเข้าต่อสู้กับอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภาคกลางอย่างอยุธยา นับว่าเป็นมวยถูกคู่อย่างยิ่งที่กษัตริย์อยุธยาในยุคนั้นคือพระบรมไตรโลกนาถ พระมหากษัตริย์ผู้สร้างพระราชวังของอยุธยา ตรากฎมณเฑียรบาล ตราพระราชกำหนดศักดินา ปฏิรูปการปกครองหัวเมือง แบ่งการปกครองทหารและพลเรือน และยังมีความสามารถด้านการต่อสู้และกลยุทธ์ที่แกร่งฉกาจยิ่ง สงครามระหว่างล้านนาและอยุธยายาวนานถึง 24 ปี ก่อนจะจบลงด้วยการกินกันไม่ลง ผู้คนเรียกสงครามนี้ว่า "สงครามแห่งมหาราชทั้งสอง" ถึงทั้งสองพระองค์จะไม่ได้อยู่ในลิสต์มหาราชของไทยที่ใครก็ไม่รู้เป็นคนแต่งตั้งก็เถอะ
แต่หลังจากสิ้นยุคของพระเมืองแก้ว ล้านนาเสื่อมโทรมลงเรื่อยๆ เนื่องจากขาดการรวมศูนย์อำนาจ ขุนนางมีอำนาจเหนือกษัตริย์ เกิดการล้มกระดานแต่งตั้งเจ้า-เอาเจ้าไปประหารกันเป็นว่าเล่น หลังท้าวชายและพระเมืองเกษเกล้าถูกขุนนางประหารไปก็เกิดสงครามกลางเมืองระหว่างสามกลุ่มขุนนาง สุดท้ายกลุ่มเชียงแสนซึ่งสนับสนุนมหาเทวีจิรประภาชนะ ท่านตั้งใจจะเชิญพระไชยเชษฐาจากล้านช้างซึ่งมีมารดาเป็นเจ้าหญิงของเชียงใหม่มาครองเชียงใหม่ แต่ระหว่างรอเสด็จมหาเทวีจิรประภาก็ได้รับแต่งตั้งขึ้นครองราชย์ชั่วคราว นับเป็นกษัตริย์หญิงองค์แรกของล้านนา

มหาเทวีจิรประภา (จากเรื่องสุริโยไท) ช่วงนั้นอยุธยานำโดยพระไชยราชาเห็นเชียงใหม่กำลังอ่อนแอก็สบโอกาสยกขึ้นมาตีครับ รอบแรกมหาเทวียอมสวามิภักดิ์อยุธยา แต่สงครามรอบด้านกับเมืองต่างๆในรัฐฉานก็ยังมีมาไม่หยุดหย่อนจนเชียงใหม่ต้องขอกำลังล้านช้าง อาณาจักรดาวรุ่งดวงใหม่ของพื้นที่แถบนี้มาช่วยเหลือ อยุธยากลัวพันธมิตรกองนี้จะเก่งเกินกำราบเลยยกมาตีเชียงใหม่อีกรอบ แต่แพ้ครับ (แถมกลับบ้านไปเมียมีชู้อีกต่างหาก กรรมมาก) ล้านช้างที่ช่วยปกป้องล้านนาจากการรุกรานของอยุธยา ก็ได้รับความดีความชอบมากขึ้นไปอีก พระไชยเชษฐาจึงเสด็จมาครองเชียงใหม่ได้อย่างไร้ปัญหาครับ แต่ครองราชย์ได้สองปีตำแหน่งกษัตริย์ล้านช้างก็ว่างลง พระไชยเชษฐาจึงเสด็จกลับไปครองล้านช้าง แถมเอามหาเทวีจิรประภากับพระแก้วมรกตไปด้วย
คราวนี้ล้านนากรอบสนิทเลยครับ หากษัตริย์ไม่ได้จนตำแหน่งว่างไป 4 ปี ก่อนขุนนางจะแต่งตั้งพญาเมกุจากเมืองนายขึ้นครองราชย์ แต่พญาเมกุก็นำขุนนางชาวไทยใหญ่จากเมืองนายมาด้วย จนเกิดความขัดแย้งกับขุนนางเดิม ผนวกกับที่มีผู้ชนะสิบทิศกำเนิดขึ้น ล้านนาก็ถูกหงสาวดีตีราบคาบเรียบร้อยโรงเรียนบุเรงนอง เสียเอกราชในปี พ.ศ. 2101 ครับ แต่ก็ยังให้พญาเมกุครองล้านนาภายใต้การปกครองของพม่าต่อไป พอไม่ได้ดั่งใจก็ปลดจากตำแหน่งเหมือนรัฐมนตรีบ้านเรา อิอิ พระเจ้าบุเรงนองแต่งตั้งพระนางวิสุทธิเทวีให้ครองเชียงใหม่เป็นองค์สุดท้าย ก่อนสิ้นราชวงศ์มังรายในที่สุดครับ
พม่าปกครองเชียงใหม่ยาวนานถึง 217 ปี วัดต่างๆที่สร้างขึ้นในช่วงนี้จึงมีศิลปะของพม่าผสมอยู่เยอะ
วัดกู่เต้า อยู่ทางเหนือของกำแพงเมืองเชียงใหม่ เดิมชื่อวัดเวฬุวนาราม ที่เรียกกู่เต้า เพราะลักษณะเจดีย์เหมือนแตงโม (ภาษาเหนือเรียกเต้า) ซ้อนกัน เจดีย์วัดนี้ถูกสร้างเพื่อบรรจุอัฐิเจ้าฟ้าสารวดี บุตรชายของพระเจ้าบุเรงนอง สมัยที่พม่าครองเชียงใหม่ครับ ภายในวัดเป็นศิละแบบพม่าเสียเกือบหมด

นอกจากเชียงใหม่แล้ว เมืองต่างๆของล้านนาก็ตกอยู่ภายใต้การกำกับดูแลกิจการโดยพม่าครับ ตามที่เคยเล่าในบล็อกเชียงแสน เชียงราย ลำปาง และลำพูนไปแล้วว่าต่างเมืองต่างก็มีการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยเอกราชให้ตนเอง เชียงใหม่ไม่ได้เป็นพี่ใหญ่ของพวกเขาอีกต่อไป และเมืองแรกที่ปลดปล่อยให้ตัวเองได้สำเร็จก็คือลำปางครับ (ส่วนหลังสุดคือเชียงแสน ซึ่งถูกพม่ายึดเป็นศูนย์กลางอำนาจของพม่าทางตอนบน)
เรารู้กันว่าเจ้าเชียงใหม่คนแรกคือพระเจ้ากาวิละ แต่ในบล็อกนี้ผมขอเล่าถึงวีรกรรมของพระยาจ่าบ้าน(บุญมา) ผู้จุดประกายความหวังให้เชียงใหม่อย่างแท้จริง และเป็นผู้ปกครองเชียงใหม่ที่หลุดพ้นจากการปกครองของพม่าเป็นคนแรก แต่กลับไม่ถูกกล่าวถึงมากนัก และไม่มีแม้แต่อนุสาวรีย์ในเมืองเชียงใหม่
เดิมทีนั้นเมืองต่างๆในล้านนาที่ถูกพม่ากดขี่ข่มเหง ได้มีความพยายามต่อต้านหลายครั้ง แต่ก็ล้วนเป็นการต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว ไม่มีการผนึกกำลังของรัฐที่มีความเข้มแข็งเข้าช่วยเหลือ หรือบ้างก็ยังคงอิงอำนาจของพม่าอย่างเช่นหนานทิพย์ช้าง ซึ่งกำจัดท้าวมหายศจากลำพูนที่เข้ามารีดส่วยชาวลำปางได้สำเร็จ และได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองลำปาง แต่ก็ยังคงส่งบรรณาการให้พม่า เพื่อใช้อำนาจพม่าในการช่วยเหลือกำจัดกลุ่มอำนาจเก่าให้หมดไปจากลำปาง
ช่วงนั้นอยุธยาและพม่าเป็นสองอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่และขับเคี่ยวกันมาตลอด จนกระทั่งกรุงศรีอยุธยาถูกพม่าตีแตกในปี พ.ศ. 2310 แต่พระเจ้าตากสินก็รวบรวมผู้คน ตีชุมนุมต่างๆ รวมอำนาจเป็นหนึ่งเดียวและสร้างกรุงธนบุรีขึ้นมาได้ในเวลาอันสั้นเหมือนอยุธยาได้กำเนิดใหม่อีกครั้ง เพียงแต่ไม่มีวังสวยๆให้พวกเจ้านั่งเล่นเท่านั้นเอง
ในยุคที่พม่าส่งโป่มะยุหงวนมาปกครองเชียงใหม่ ชาวเชียงใหม่ถูกกดขี่เป็นอย่างมาก พระยาจ่าบ้านพยายามนำกำลังที่มีอยู่น้อยนิด อาวุธก็มีเพียงค้อนและเคียว เข้าสู้รบกับโป่มะยุหงวนที่กลางเมืองเชียงใหม่ แต่ก็พ่ายแพ้แถมน้องชายถูกฆ่าตายในที่รบ พระยาจ่าบ้านบุญมาเชื่อว่าการอยู่ใต้ปกครองของธนบุรีคงเป็นสุขมากกว่าปล่อยให้พม่ากดขี่อยู่เรื่อยไป ท่านจึงร่วมมือกับพระยากาวิละผู้เป็นหลานน้า ขอกำลังสนับสนุนจากพระเจ้าตากสินเพื่อต่อสู้กับพม่า การตัดสินใจยุติการต่อสู้อย่างโดดเดี่ยวเป็นความหวังให้เชียงใหม่หลุดพ้นจากการปกครองของพม่าอย่างแท้จริง แล้วกองทัพล้านนาร่วมกับไทยสยามก็ได้ตีเชียงใหม่สำเร็จในปี พ.ศ. 2317 พระยาจ่าบ้านได้รับแต่งตั้งให้ครองเชียงใหม่ในฐานะประเทศราชของสยาม ส่วนพระยากาวิละครองเมืองลำปางครับ

แต่สงครามก็ยังไม่หมดสิ้นไปจากเชียงใหม่ ตอนนั้นเชียงใหม่มีกำลังพลเพียง 1,900 คน หลังถูกพม่าเข้าล้อมอยู่ 8 เดือนจนคนแทบจะอดตายเกือบหมด ต้องจับจิ้งจก ตุ๊กแก หรือแม้แต่เนื้อของทหารที่เสียชีวิตในสนามรบมากินประทังชีวิต ทางฝ่ายอุปราชก้อนแก้วหลานชายของพระยาจ่าบ้านที่ควบคุมกองทหารโพกผ้าแดงอยู่ก็อดอยากไม่แพ้กัน จนทั้งสองเกิดความขัดแย้งเรื่องเสบียงและพระยาจ่าบ้านถึงแก่โทสะ สังหารหลานชายของตนเองตาย แล้วกองทหารโพกผ้าแดงที่จงรักภักดีต่ออุปราชก้อนแก้วก็ไม่ให้ความร่วมมือกับพระยาจ่าบ้านอีกต่อไป นับเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่หลวง ท่านจึงถูกส่งตัวมาลงโทษในกรุงธนบุรี พระเจ้าตากสินได้ลงอาญาโบยและจองจำพระยาจ่าบ้าน จนกระทั่งเสียชีวิตในคุกที่กรุงธนบุรีในปี พ.ศ. 2322
นับว่าเป็นการต่อสู้ที่น่าสงสารนะครับ พระยาจ่าบ้านเองก็เป็นอีกหนึ่งวีรบุรุษที่ไม่ทันได้เห็นผลสำเร็จของสิ่งที่ตนเองได้ริเริ่มและต่อสู้มายาวนาน เช่นเดียวกับพระเจ้าตากสินที่ต่อสู้รวบรวมผู้คนหลังกรุงแตก แต่ก็ถูกชิงบัลลังก์และถูกประหารชีวิตที่ป้อมวิไชยประสิทธิ์พร้อมลูกน้องที่จงรักภักดีนับร้อยในเวลาใกล้เคียงกัน ผิดกันก็แต่เพียงพระเจ้าตากสินได้รับความเคารพในฐานะสิ่งสักดิ์สิทธิ์ที่ช่วยปกปักษ์รักษาบ้านเมืองมาจนถึงปัจจุบัน แต่พระยาจ่าบ้านนั้นแทบไม่ถูกผู้ใดกล่าวถึงอีกเลย...
หลังจากนั้นพระยากาวิละได้เข้าสวามิภักดิ์พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์จักรี เส้นสายของพระยากาวิละมีความดีความชอบกับพลพรรคของพระพุทธยอดฟ้ามากอยู่แล้ว เนื่องจากเจ้าศรีอโนชาที่พระเจ้ากาวิละยกให้เป็นภรรยาของพระยาสุรสีห์ ได้ช่วยพระยาสุริยอภัยเกณฑ์ชาวลาวกำจัดพระยาสรรค์ได้สำเร็จ ร.1 ได้แต่งตั้งพระยากาวิละเป็นเจ้าหลวงครองเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2325 พี่น้องจากราชวงศ์เจ้าเจ็ดตนได้ถูกส่งไปครองเมืองต่างๆในภาคเหนือ และก็เริ่มยุค "เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง" ซึ่งเป็นการรวบรวมผู้คนจากเมืองต่างๆที่ไปตีมาไว้ที่เชียงใหม่และเมืองต่างๆทางภาคเหนือนั่นเอง
คำว่าราชวงศ์เจ้าเจ็ดตนนั้นมาจากพี่น้องเจ็ดคนซึ่งสืบสายเลือดหนานทิพย์ช้าง และร่วมกันต่อสู้ปลดปล่อยเมืองต่างๆในภาคเหนือ หลังขึ้นยุครัตนโกสินทร์ ทั้งเจ็ดคนก็ได้ขึ้นครองเมืองต่างๆ ดังนี้ครับ 1. พระเจ้ากาวิละ (ครองลำปางก่อนมาครองเชียงใหม่) 2. พระยาคำสม (ครองลำปาง) 3. พระยาธรรมลังกา (ครองเชียงใหม่) 4. พระเจ้าดวงทิพย์ (ครองลำปาง) 5. พระยาอุปราชหมูหล้า (เสียชีวิตก่อนได้ครองเมือง) 6. พระยาคำฝั้น (ครองลำพูนก่อนมาครองเชียงใหม่) 7. พระเจ้าบุญมา (ครองลำพูน)
สำหรับเชียงใหม่มีเจ้าเชียงใหม่ในยุครัตนโกสินทร์ 9 คน แต่เป็นเพียงเจ้าเมืองประเทศราชของสยาม ไม่ได้ยิ่งใหญ่แบบกษัตริย์ล้านนาในอดีตครับ ราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน ครองเมืองเชียงใหม่ ลำปาง และลำพูน มาจนถึง พ.ศ. 2417 ยกเลิกประเทศราช กรุงเทพส่งข้าหลวงขึ้นมาประจำเชียงใหม่ ก็ยกเลิกตำแหน่งเจ้าเมืองไปในยุคของเจ้าอินทวิชยานนท์ (เจ้าเชียงใหม่คนที่ 7) แต่ในยุคต่อๆมารัฐบาลกลางยังให้เกียรติเจ้าอินทวโรรสและเจ้าแก้วนวรัฐ (เจ้าเชียงใหม่คนที่ 8-9) ให้เป็นประมุขของเชียงใหม่ แต่ไม่มีอำนาจในการปกครอง
กษัตริย์กรุงเทพฝังอัฐิที่พระบรมมหาราชวัง ส่วนเจ้าเมืองเชียงใหม่ในยุคเมืองประเทศราชของรัตนโกสินทร์ตั้งแต่สมัยพระเจ้ากาวิละเป็นต้นมานั้น จะนำอัฐิมารวบรวมฝังที่วัดสวนดอกครับ นอกจากเจ้าเมืองเชียงใหม่ทั้ง 9 พระองค์แล้ว ที่นี่ยังเป็นที่เก็บอัฐิเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงของราชวงศ์เจ้าเจ็ดตนเรื่อยมาจนกระทั่งตำแหน่งเจ้าเมืองถูกยกเลิกไป
วัดสวนดอกถูกสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยพญากือนาในปี พ.ศ. 1914 เพื่อเป็นที่พำนักของพระสุมนเถระ ซึ่งพญากือนาอัญเชิญมาจากศรีสัชนาลัยเผยแพร่ศาสนาพุทธที่ล้านนา พระบรมมธาตุที่ท่านนำมาด้วย ถูกแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งบรรจุไว้ที่พระธาตุดอยสุเทพ และอีกส่วนหนึ่งเก็บไว้ที่เจดีย์ของวัดสวนดอกนี้เอง บริเวณนี้ถูกสร้างเป็นเวียงสวนดอกหรือเวียงพระธาตุ และเป็นศูนย์กลางของศาสนาพุทธนิกายสวนดอก ก่อนจะมีสงฆ์นิกายวัดป่าแดงซึ่งเดินทางไปศึกษาพุทธบริสุทธิ์จากลังกามาเป็นคู่แข่งในเวลาต่อมา นับว่าวัดแห่งนี้มีความสำคัญต่อการหยั่งรากของศาสนาพุทธในดินแดนล้านนาเป็นอย่างยิ่ง
ตัวเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุเดิมมีช้างล้อม และมีเจดีย์ดอกบัวตูมราย ซึ่งเป็นอิทธิพลที่มาจากศรีสัชนาลัยด้วย แต่หลังครูบาศรีวิชัยบูรณะได้รื้อฐานเจดีย์และเจดีย์ดอกบัวตูมทิ้งไป เจดีย์ประธานมีสภาพดังที่เห็นในปัจจุบัน

พระเจ้าเก้าตื้อเป็นพระประธานของวัดนี้ สร้างขึ้นสมัยพระเมืองแก้ว มีลักษณะสวยงามนั่งอยู่ในวิหารพระเจ้าเก้าตื้อ ห่างจากหน้าวัดพอสมควรผมเลยไม่ได้เข้าไปครับ (แป่ว) ส่วนวิหารโถงหน้าพระธาตุมีพระพุทธปฏิมาค่าคิงนั่งอยู่

เดิมทีนิยมถวายพระเพลิงเจ้านายของเชียงใหม่ที่ข่วงเมรุทางตะวันตกของฝั่งแม่น้ำปิง เช่นเดียวกับพระนครศรีอยุธยาและกรุงเทพ ซึ่งเฉพาะศพของเจ้านายที่จะถูกเผาในเมือง แต่หลังจาก พ.ศ. 2427 ข่วงเมรุก็ไม่ถูกใช้งานและถูกทิ้งร้างจนคนเข้ามาตั้งบ้านเรือน ตอนทำศพเจ้าอินทวิชยานนท์ก็ต้องไปเสียเงินเวนคืนที่กับชาวบ้าน พอทำพิธีเสร็จเจ้าอินทวโรรสก็ขอซื้อที่เปิดเป็นตลาด จึงเรียกว่ากาดวโรรส รอบกาดจะมีกู่เจ้านายที่สร้างขึ้นเพื่อบรรจุอัฐิหลังปลงศพแล้วเรียงรายอยู่เต็มไปหมด เจ้าดารารัศมีจึงขอย้ายไปรวมที่วัดสวนดอก ในสมัย ร.5 ปี พ.ศ. 2452 ครับ กู่ใหญ่ที่สุดตรงกลางคือของพระเจ้ากาวิละ ล้อมรอบด้วยกู่ของเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์อื่นๆ ส่วนรอบนอกเป็นเจ้านายชั้นรองลงมา อัฐิของเจ้าดารารัศมีก็เก็บไว้ที่นี่ด้วยครับ

สำหรับพระเจ้าอินทวิชยานนท์นั้นนอกจากบรรจุอัฐิที่วัดสวนดอกแล้ว อัฐิส่วนหนึ่งยังบรรจุในกู่บนดอยอินทนนท์ ซึ่งเดิมเรียกว่าดอยอ่างกาหลวง แต่เปลี่ยนชื่อเป็นดอยอินทนนท์ตามชื่อพระองค์ด้วย

กู่เจ้าอินทวิชยานนท์บนดอยอินทนนท์
สุดท้ายนี้สำหรับคนชอบประวัติศาสตร์ภาคเหนือ ต้องไม่พลาดที่นี่ครับ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่ ที่นี่อยู่ทางเหนือนอกกำแพงเมืองเชียงใหม่ บนถนนซูเปอร์ไฮเวย์ใกล้วัดเจ็ดยอด รวบรวมเรื่องราวความเป็นมาของภาคเหนือตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ยุคหริภุญชัย ยุคล้านนา ยุคใต้การปกครองพม่า จนถึงยุครัตนโกสินทร์เลยทีเดียว ค่าเข้าคนละ 20 บาท ตามมาตรฐานพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติครับ ที่นี่ถ่ายรูปได้ไม่อั้นจ้า

โครงกระดูกมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่พบที่ออบหลวง คราวที่ผมไปออบหลวงไม่เจอเพราะเขาย้ายมาที่นี่เองครับ

โบราณวัตถุที่โดดเด่นที่สุดตั้งแต่แรกเห็นคงไม่พ้นเศียรพระพุทธรูปแสนแซว่ เป็นศิลปะล้านนาราวพุทธศตวรรษที่ 19-20 ทำจากสำริด สูง 178 ซม.

เสื้อคลุมดิ้นเงินและดิ้นทองของเจ้าแก้วนวรัฐ ผู้ครองเชียงใหม่องค์สุดท้าย

ด้านหน้าอาคารมีการจัดแสดงเตาเผาเครื่องถ้วยโบราณ ย้ายมาจากลำปางอันหนึ่ง จากเชียงรายอีกอันหนึ่ง

เป็นอันจบประวัติศาสตร์ภาคเหนือตอนบนไปแล้วนะครับ ทั้งเชียงแสน เชียงราย เวียงกุมกาม ลำพูน ลำปาง พะเยา เชียงใหม่ รวมทั้งเวียงบริวารอย่างเวียงท่ากาน คิดว่าต่อไปจะลงมาเที่ยวแหล่งประวัติศาสตร์ในภาคกลางและอีสานใต้ครับ ส่วนเมืองเก่าอื่นๆในภาคเหนืออย่างแพร่หรือน่าน ไว้มีโอกาสได้เที่ยวอาจนำมาเล่าสู่กันฟังอีกที
Create Date : 13 สิงหาคม 2556 |
Last Update : 22 กรกฎาคม 2560 11:48:35 น. |
|
51 comments
|
Counter : 15903 Pageviews. |
 |
|
|
โดย: อุ้มสี วันที่: 13 สิงหาคม 2556 เวลา:22:38:20 น. |
|
|
|
โดย: คุณต่อ (toor36 ) วันที่: 13 สิงหาคม 2556 เวลา:22:52:36 น. |
|
|
|
โดย: NET-MANIA วันที่: 13 สิงหาคม 2556 เวลา:23:15:42 น. |
|
|
|
โดย: กิ่งฟ้า วันที่: 13 สิงหาคม 2556 เวลา:23:21:29 น. |
|
|
|
โดย: คุณต่อ (toor36 ) วันที่: 13 สิงหาคม 2556 เวลา:23:59:47 น. |
|
|
|
โดย: Kavanich96 วันที่: 14 สิงหาคม 2556 เวลา:3:50:18 น. |
|
|
|
โดย: กะว่าก๋า วันที่: 14 สิงหาคม 2556 เวลา:6:53:50 น. |
|
|
|
โดย: lovereason วันที่: 14 สิงหาคม 2556 เวลา:10:35:41 น. |
|
|
|
โดย: ประกายพรึก วันที่: 14 สิงหาคม 2556 เวลา:17:03:01 น. |
|
|
|
โดย: mambymam วันที่: 14 สิงหาคม 2556 เวลา:19:48:21 น. |
|
|
|
โดย: กิ่งฟ้า วันที่: 14 สิงหาคม 2556 เวลา:22:56:23 น. |
|
|
|
โดย: กะว่าก๋า วันที่: 15 สิงหาคม 2556 เวลา:6:10:05 น. |
|
|
|
โดย: JewNid วันที่: 15 สิงหาคม 2556 เวลา:9:18:15 น. |
|
|
|
โดย: คุณต่อ (toor36 ) วันที่: 16 สิงหาคม 2556 เวลา:23:55:48 น. |
|
|
|
โดย: mastana วันที่: 17 สิงหาคม 2556 เวลา:15:19:30 น. |
|
|
|
โดย: เป็ดสวรรค์ วันที่: 19 สิงหาคม 2556 เวลา:1:51:43 น. |
|
|
|
โดย: อุ้มสี วันที่: 19 สิงหาคม 2556 เวลา:7:26:54 น. |
|
|
|
โดย: กะว่าก๋า วันที่: 19 สิงหาคม 2556 เวลา:21:13:27 น. |
|
|
|
โดย: กะว่าก๋า วันที่: 19 สิงหาคม 2556 เวลา:23:31:12 น. |
|
|
|
โดย: คุณต่อ (toor36 ) วันที่: 20 สิงหาคม 2556 เวลา:0:02:29 น. |
|
|
|
โดย: กะว่าก๋า วันที่: 20 สิงหาคม 2556 เวลา:7:04:11 น. |
|
|
|
โดย: schnuggy วันที่: 20 สิงหาคม 2556 เวลา:14:33:52 น. |
|
|
|
โดย: คุณต่อ (toor36 ) วันที่: 21 สิงหาคม 2556 เวลา:0:35:41 น. |
|
|
|
โดย: กะว่าก๋า วันที่: 22 สิงหาคม 2556 เวลา:8:37:16 น. |
|
|
|
โดย: ตาลเหลือง วันที่: 22 สิงหาคม 2556 เวลา:10:33:19 น. |
|
|
|
โดย: วนารักษ์ วันที่: 22 สิงหาคม 2556 เวลา:15:53:18 น. |
|
|
|
โดย: tifun วันที่: 22 สิงหาคม 2556 เวลา:18:17:22 น. |
|
|
|
โดย: กล้วย IP: 171.101.146.64 วันที่: 28 สิงหาคม 2556 เวลา:22:19:29 น. |
|
|
|
โดย: กล้วย IP: 171.101.146.64 วันที่: 28 สิงหาคม 2556 เวลา:22:19:34 น. |
|
|
|
โดย: กล้วย IP: 171.101.146.64 วันที่: 28 สิงหาคม 2556 เวลา:22:19:42 น. |
|
|
|
|
|
|
|
พี่เพิ่งทำดราฟท์เสร็จเหมือนกัน กำลังจะปิดเครื่อง
พรุ่งนี้มาใหม่ค่ะ ไม่ไหวตาจะปิด