|
| 1 | 2 |
3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 |
10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 |
17 | 18 | 19 | 20 | 21 | 22 | 23 |
24 | 25 | 26 | 27 | 28 | 29 | 30 |
|
|
|
|
|
|
|
เครื่องจักสานที่มีชีวิต

ผมเกิดในยุคที่เครื่องจักรสานยังเป็นเครื่องมือทำมาหากินของชาวบ้าน เป็นของใช้ที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน เห็นกันตั้งแต่ตะวันขึ้นจวบจนตะวันตกดิน ผู้คนในพื้นถิ่นภาคกลางย่านลุ่มน้ำแม่กลองและท่าจีน สืบทอดภูมิปัญญาเหล่านี้กันมาแต่โบราณนับพันปี เครื่องจักสานเป็นเครื่องใช้ที่หลงเหลือจากอารยธรรมไม้ไผ่ เครื่องมือทำมาหากินของชาวสวนมีเครื่องจักสารใช้งานในหลายชนิด ตามการออกแบบอันชาญฉลาดของคนสมัยก่อน ไล่เรียงกันตามที่นึกออกครับ

ตะกร้าและขนาดรดน้ำที่บันไดท่าน้ำ 1. ตะกร้า
ตะกร้าของชาวสวนไม่เหมือนกันตะกร้าของขวัญที่เห็นตามห้างสรรพสินค้า รูปทรงของมันป้อมๆ ไม่ใหญ่ไม่เล็ก ตะกร้าสานด้วยไม้ไผ่ล้วนๆ ใช้เปลือกไผ่เหลาบางๆ ลบคมซะหน่อย ขนาดของมันกำลังเหมะที่จะหยิบฉวยไปใส่อะไรก็ได้ จึงใส่ของได้สารพัดชนิด ชาวสวนมักใช้มันใส่วัชพืชหรือต้นหญ้าที่ไร้ประโยชน์ ผู้หญิงจะใช้ตะกร้าผูกติดข้างหลังราวบั้นเอว เมื่อดายหญ้าด้วยเสียมแล้ว จะเก็บเศษหญ้าใส่ตะกร้า นอกจากนี้ยังใช้ล้างปลา ล้างผัก ที่หั่นเป็นชิ้นๆแล้ว โดยเอาปลาใส่ตะกร้าแล้วจุ่มน้ำในคลอง ยกขึ้นยกลง อาการนี้เรียกว่า ใส่ตะกร้าล้างน้ำ
2. ขนาด สานเป็นกระเปาะแบนๆด้วยไม่ไผ่ พออุ้มน้ำได้สัก 2-3 ลิตร อยู่ปลายด้านหนึ่งของลำไม้ไผ่ที่ยาวสักเมตรเศษ ชาวสวนจะใช้ "ขนาด" จ้วงน้ำในร่องสวนแล้วสาดขึ้นมาบนร่องสวนที่ปลูกผัก การรดน้ำผักด้วยวิธีนี้ ต้องฝึกหัดกันพอสมควรกว่าจะรดน้ำได้จังหวะสวยงาม ผมเคยดูการรดน้ำของพวกมืออาชีพ ดูเพลินเชียวครับ มันพลิ้วไหวอย่างกับเล่นดนตรี ด้วยจังหวะ จ้วง ยก สาด น้ำแผ่เป็นแผ่นบางๆ กระจายไปทั่ว ต้นไม้ได้รับน้ำกันอย่างทั่วถึง
3. เข่ง
สานด้วยไม้ไผ่ คล้ายเข่งปลาทูแต่ใหญ่กว่าสัก 5 เท่า ทรงกลมเส้นผ่าศูนย์กลางเกือบหนึ่งเมตร สูงประมาณ 20 ซม. มีที่ร้อยเชือก 4 จุด เข่งจะใช้กับงานหนักๆ ในการแบกหาม เช่น เผือก, หอมแดง, มันแกว ที่ต้องแบกหามออกจากร่องสวน การเคลื่อนย้ายเข่งจะต้องหาบด้วยไม้คานคนเดียว ผู้หาบจะต้องเป็นมืออาชีพรับจ้างทำงานแบบนี้ มันทำให้เกิดจำนวนนับของหอมแดง (แห้ง) เรียกว่า หาบ การเปรียบเทียบว่าสวนบ้านใครได้ผลิตผลมากหรือน้อยกว่ากันจึงวัดกันที่จำนวนหาบ
 4. กระบุง ไม้ไผ่ที่กรีดมาเป็นตอกเส้นเล็ก กับบางส่วนที่ใช้เส้นหวายผูกรัด สานด้วยเส้นตอกแบบทึบ รูปทรงกลม ก้นสี่เหลี่ยม ปากกว้างประมาณ 30-40 ซม. มีขนาดย่อมลดหลั่นกันไป ถ้าเอาชันยาจะใช้ตักน้ำได้ไม่รั่ว ใช้ใส่ของที่เป็นชิ้นเล็กๆได้ดี เช่น ข้าวสาร งา เมล็ดถั่วต่างๆ หรือใช้ตวงหรือโกย กระบุงน่าจะเป็นภาชนะที่มีประวัติอยู่คู่กับชาวบ้านมาช้านาน วิธีการทำกระบุงค่อนข้างจะประณีตมากกว่าภาชนะไม้ไผ่อื่นๆ สานกันอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย เมื่อวางรวมๆกัน กระบุงจะเด่นอวดตัวออกมา ด้วยสีที่เข้มกว่าและลวดลายที่เกิดจากการประสานกันของเส้นตอก คล้ายกับว่าเป็นภาชนะของผู้ลากมากดีมากกว่าชาวบ้านธรรมดา
 5. กระจาด
ปากกลมแผ่กว้าง ก้นสี่เหลี่ยมไม่ลึกนัก เป็นภาชนะสำหรับธุรกิจค้าปลีก มันเป็นพระเอกของแม่ค้าทั้งตลาดน้ำและหาบเร่ หรือจะรวมแผงลอยด้วยก็ได้ กระจาดถือว่าเป็นภาชนะสารพัดประโยชน์เช่นเดียวกับตะกร้า นอกจากจะใช้ใส่ผักปลาแล้ว ยังใช้ตากปลาเค็ม, ร่อนของ, กระเดียดที่บั้นเอวไปจับจ่ายซื้อของในตลาด, กระจาดมีหลายขนาด แล้วแต่การใช้งาน แม่ค้าขายก๋วยเตี๋ยวสมัยก่อน ใช้กระจาดทรงสูงขนาดใหญ่ใส่เส้นก๋วยเตี๋ยวไว้ท้ายเรือ เป็นภาชนะที่เทของออกได้ง่ายที่สุด คงเป็นที่มาของคำว่า เทกระจาด
 6. ตะกร้อสอยมะม่วง ตะกร้อสอยมะม่วง ใช้ก้านไม้ไผ่ยาวๆ ปลายเป็นกระเปาะทำด้วยหวาย มีใบมีดคมๆตรงส่วนหัวด้านใน สำหรับตัดขั้วมะม่วงเมื่อใช้กำลังแขนดึงลูกมะม่วงลงตะกร้อแล้ว ใครเคยสอยมะม่วงจะรู้ว่านี่เป็นงานยาก ลูกจ้างบางคนใช้ทำงานอะไรได้หมด แต่ถ้าใช้สอยมะม่วงมักส่ายหน้า ไม่เอางานนี้
 7. ไม้คาน ทำจากต้นไผ่ในส่วนของโคนต้น มีความยืดหยุ่นไม่หักได้ง่ายๆ ใช้หามผักออกจากร่องสวนเป็นหลัก มี 2 แบบ แบบแรกคือคานหาบเป็นเสี้ยวหนึ่งของลำไผ่ เช่น ใช้หาบหอมหัวแดงที่ใส่เข่งรั้งด้วยเชือกหัวท้าย 2 ใบ คนอยู่ตรงกลาง ขณะหาบจะเห็นคานหาบอ่อนยวบยาบคล้ายกับแม่ค้าหาบเร่สมัยก่อน อีกแบบหนึ่งให้คนแบกหัวท้าย หรือไม้คานหาม ใช้ทั้งลำไม้ไผ่ จะต้องแข็งแรง ข้อตัน รับน้ำหนักได้มาก เช่น หลัวบรรจุหัวเผือกหัวมันน้ำหนักร่วมร้อยกิโลกรัม
 8. สะพานข้ามร่อง ใช้ลำไม้ไผ่ลำใหญ่ยาว 3-4 เมตร มันแห้งจนรู้สึกเบา ยกได้ไม่ลำบากนัก พาดข้ามคูน้ำเพื่อเดินเข้าร่องสวน ถ้าใช้ 2 ลำผูกติดกันจะเดินสบายหน่อย ถ้าใช้ไม้กระบอกลำเดียว การเดินบนไม้กระบอกนั้นจะต้องเลี้ยงตัวเองให้ดีเหมือนเล่นกายกรรม ถ้าไม่ใช่งานใหญ่ๆ อย่างเช่น ระดมกำลังถอนต้นหอมห้าไร่ สิบไร่ภายในวันเดียว ชาวสวนมักใช้ไม้กระบอกลำเดียว มีไม้ค้ำยันเพื่อกันพลาดตกน้ำ ที่น่าหวาดเสียวคือการหามหลัวหนักๆ 2 คนหัวท้าย เดินบนไม้กระบอกลำเดียว มีไม้ค้ำยันคนละอัน มีอยู่ครั้งหนึ่งเกิดโศกนาฏกรรมกับญาติผมคนหนึ่ง วันนั้นเขาหามผักออกจากร่อง ไม่แน่ใจว่าอยู่หน้าหรือหลัง ซึ่งทั้งสองคนจะต้องเดินกันแบบเข้าจังหวะ ไปด้วยกัน มาด้วยกัน วันนั้นกระบอกข้ามร่องน้ำคงลื่น หรือก้าวพลาด ญาติของผมก้นกระแทกผ่าหมาก ลำไม้ไผ่กระแทกเข้ากับจุดยุทธศาสตร์ ต้องหามส่งโรงพยาบาล ดีว่าลูกๆโตกันหมดแล้ว ไม่ต้องกลัวเป็นหมัน
 9. หลัว
ภาชนะสำหรับขายส่ง บรรจุได้มากแต่ละใบไม่ต่ำกว่า 50 กก. ผมไม่รู้ว่าการทำหลัวสักใบ มันจะอยากเย็นขนาดไหน คนทำคงทอนไม้ไผ่ออกมาขนาดเท่าก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่ แล้วจัดการขึ้นรูป มันทั้งคมทั้งเปียกชื้น คงต้องใช้กำลังในการจัดการกับมันอย่างตั้งใจ หลัวที่ซื้อมาใหม่ๆยังมีสีเขียวของเปลือกไผ่สดๆ ราวกับว่ามันเพิ่งทำเสร็จสดๆร้อนๆ ชาวสวนมีหน้าที่อุดหนุน ซื้อมาใส่ผัก ถ้าจะส่งต่อขึ้นรถบรรทุกจะต้องมีปิดผา ฝาที่ปิดก็ใช้ไม้ไผ่สานแบบหยาบๆ ผูกติดกับหลัวด้วยเปลือกต้นลาน ไม่เคยเห็นจริงจังว่าต้นลานมันหน้าตาอย่างไร รู้แต่ว่าเส้นของต้นลานเมื่อแช่น้ำจะเหนียวมาก ขั้นตอนการปิดผาต้องใช้ศิลปะเช่นกัน เช่น มะเขือยาว นอกจากกรุใบตองรอบเข่งแล้ว ก่อนปิดฝาต้องเอาใบตองรองอีกที หลัวผักพวกนี้ส่วนใหญ่จะส่งตรงไปปากคลองตลาด เชิงสะพานพุทธ
 10. ข้อง
สานด้วยไม้ไผ่เหลากลมเส้นเล็ก มีปากแคบอย่างคอหม้อดิน ก้นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ปากข้องมีชั้นของไม่ไผ่สอบเข้าหากัน ป้องกันการกระโดดออกของกุ้ง, ปลา หากต้องการเอาปลาออกจากข้องต้องดึงฝานี้ออกก่อน มักใช้ข้องผูกติดตัวเมื่อไปทอดแห ตกปลา หรือสุ่ม ข้องจึงเหมาะสำหรับใช้ขังสัตว์ตัวเล็กตัวน้อย เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา จะเอาข้องแช่ในน้ำเป็นพักๆเพื่อให้ชีวิตในนั้นอยู่รอดก่อนลงหม้อแกง
 11. สุ่ม
ภาพวาดชาวนากลางทุ่ง หรือคนหาปลาสมัยก่อน ต้องมีสุ่มปรากฎอยู่ในภาพ คงไม่ง่ายนักที่จะวาดสุ่มให้เข้าถึงจิตวิญญาณของมัน สุ่มเป็นไม้ไผ่สานที่ส่วนบนแคบพอที่จะเอามือล้วงได้ ส่วนปลายจะบานออก ใช้ครอบปลา เช่น การหาปลาตามห้วยหนองคลองบึงที่ไม่ลึกนัก หากน้ำลึกเกินหัวเข่าสุ่มก็หมดความหมาย การใช้สุ่มต้องระวัง เพราะปลายสุ่มจะเป็นซี่แหลมๆ จึงเห็นอาการของคนกำลังสุ่ม หลังจะโค้งงอตามจังหวะเยื้องก้าว บางทีสุ่มเรียงกันเป็นหน้ากระดานหลายๆคน คนที่หาปลาชำนาญจะรู้ทันทีว่าสุ่มครั้งไหนได้ปลา ต้องจับปลาลื่นๆด้วยมือข้างเดียว ผมมักใช้สุ่มไล่ปลาให้ไปติดสวิงที่ดักรอไว้ตามร่องน้ำในสวน
12. คันเบ็ด
หน้าน้ำหลาก คันเบ็ดขายดี ที่จริงมันใช้ได้ทุกฤดูกาล แต่ช่วงหน้าน้ำหลากปลาจะชุกชุม คนที่ถูกน้ำท่วมสวนจึงเปลี่ยนอาชีพมาตกปลาไปวันๆ คันเบ็ดน่าจะเอามาจากปลายไม้รวก ที่มีความยืดหยุ่นสูง เด็กๆในย่านนั้นมักจะมีคันเบ็ดประจำตัวคนละคัน ทำลูกทุ่นจากกาบมะพร้าว บางที่ไม่มีเงินซื้อตัวเบ็ด ก็ใช้เข็มเย็บผ้าล้นไฟดัดเข็มเป็นเบ็ด ใช้ได้กับปลาเล็กๆ เมื่อปลากินเบ็ดแล้ว มักจะหลุด เพราะเบ็ดทำเองจะไม่มีเงี่ยงยึด คันเป็ดมีหลายขนาด ใหญ่เล็กตามขนาดของปลา คันใหญ่และแข็งแรงที่สุดจะใช้ตกปลาช่อน ส่วนคันย่อยๆลงมาใช้ตกปลาตะเพียน ปลาหมอ ปลาฉลาด คนที่ตกปลาช่อนเก่ง เขาจะมีเคล็ดลับการใช้สายเอ็นตกปลา การทำทุ่น การใช้เหยื่อ คันเป็ดจึงเป็นของหวงที่ไม่ให้ใครยืมได้ง่ายๆ


กระชังข้างเรือ
13. กระชัง
ใช้ไม้ไผ่เหลาเป็นซี่เล็กๆ มัดตรึงด้วยเส้นหวายหรือลวดเล็กๆกับโครง คล้ายลูกโลกแต่ตัดขั้วโลกเหนือขั้วโลกใต้ออกบางส่วน ใช้ขังปลาที่หามาได้ มักผูกติดขั้นบันไดในคลอง กระชังจึงเป็นตู้กับข้าวที่เก็บอาหารสดของชาวบ้านริมน้ำ น้ำในคลองจะไม่นิ่ง ไหลเรื่อยๆ จึงทำให้ปลาสดชื่น ไม่ตายง่ายๆ
 14. ลอบ
ใช้สำหรับดักปลา, กุ้ง มีหลายชนิด เช่น ลอบนอน ลอบประทุน มันทำด้วยไม้ไผ่ที่เหล่าเป็นเส้นกลมขนาดเล็ก แต่แข็งแรง รัดด้วยเส้นหวายเล็กๆ ดูเผินๆไม่น่าจะจับอะไรได้ มีช่องสำหรับปลาว่ายเข้าไปแต่หาทางออกไม่เจอ ที่บ้านผมมักจะเห็นลอบนอนใช้วางในที่มีน้ำไหลแรง ปลาว่ายเพลินๆหลุดเข้ามาไม่รู้ตัว ปลาที่เข้าไปมักเป็นปลาดุก ปลาช่อน ปลาตะเพียน ปลากด เป็นต้น เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยเห็นใครใช้ลอบดักปลา อาจเป็นเพราะกุ้งปลาไม่มีให้จับแล้ว หรือมันฉลาดขึ้น ไม่หลงให้จับได้ง่ายๆ
 14. ปุ้งกี๋ รูปทรงของมันเห็นกันอยู่ทั่วไป คนงานก่อสร้างกำลังขนทรายเป็นภาพที่ชัดที่สุด ทุกวันนี้ปุ้งกี๋ทำด้วยพลาสติกไปซะแล้ว ปุ้งกี๋ใช้ได้สารพัดประโยชน์ หนักไปทางสมบุกสมบัน อยู่กับน้ำกับท่า ใช้โกดินขึ้นฝั่ง โกยเผือกลูกเล็กๆ หรือเคลื่อนย้ายสิ่งของที่ใช้สองมือยก ผมใช้ปุ้งกี๋เป็นเครื่องร่อนหาของตกในลำคลอง โกยดินในคลองใกล้หัวกระไดบ้านลงในปุ้งกี๋แล้วกวนให้ดินละลายหายไปกับน้ำ จะเหลือของหนักๆในปุ้งกี๋ เหรียญบาทบ้าง พระเครื่องบ้าง บางที่ได้พระเลี่ยมทอง แล้วแต่ใครทำตกไว้

15. กระด้ง
สานด้วยเส้นตอกไม้ไผ่เป็นแผ่นแบนกลม มีขอบสูงเล็กน้อย กระด้งนอกจากจะใช้แยกเปลือกกับเมล็ดข้าวสารแล้วยังสามารถใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้อีก เช่น ใช้ ตากมะม่วงกวน ตากปลา กันแดดฝนแบบฉุกเฉิน เด็กเกิดใหม่ การละเล่นผีกระด้งของชาวมอญ หรือใช้ตามสะดวกที่นึกออก แต่ถ้าเอามาผูกติดกับแขน 2 ข้างกระพือไปมาควรนุ่งผ้าเตี่ยวด้วย
 16. งอบ
งอบสีเหลืองอ่อนจะลอยเด่นเป็นสง่าทุกครั้งที่ดูภาพตลาดน้ำ หรือคนเกี่ยวข้าวตามท้องนา งอบจึงเป็นเอกลักษณ์ของคนทำเกษตรกรรม มันน่าจะเป็นตัวแทนหรือสัญญาลักษณ์ของกระดูกสันหลังของชาติ หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน สำหรับชาวสวนแล้ว งอบจะได้รับการดูแลรักษาอย่างทะนุถนอม มีหลายเกรด หลายราคา งอบที่ละเอียดและฝีมือดีจะถูกเก็บรักษาไว้ในตู้ที่มองเห็นผ่านกระจก จะหยิบมาใช้เฉพาะโอกาสสำคัญ หรือโชว์อยู่ชั่วนาตาปีไม่เคยเอาออกใช้งาน มีหรือจนไม่เป็นไรขอให้มีงอบสวยๆไว้ครอบครอง ในความรู้สึกของผม งอบเป็นตัวแทนของแม่ที่แจ่มชัดกว่าสิ่งใดใด เมื่อชนบทกลายสภาพเป็นสังคมเมืองมากขึ้น พาสติกเข้ามาแทนที่ เครื่องจักสานเหล่านี้นับวันจะสูญหายไป หรือเป็นแค่เครื่องประดับตกแต่งบ้านมากกว่าที่จะใช้งานจริงๆจังๆ
(ใช้ภาพประกอบบทความจากอินเตอร์เน็ท)
Create Date : 09 เมษายน 2554 |
Last Update : 4 กุมภาพันธ์ 2555 6:01:16 น. |
|
34 comments
|
Counter : 22131 Pageviews. |
 |
|
|
โดย: อุ้มสี วันที่: 9 เมษายน 2554 เวลา:0:18:39 น. |
|
|
|
โดย: กะว่าก๋า วันที่: 9 เมษายน 2554 เวลา:5:25:41 น. |
|
|
|
โดย: กะว่าก๋า วันที่: 9 เมษายน 2554 เวลา:8:24:36 น. |
|
|
|
โดย: มินทิวา วันที่: 10 เมษายน 2554 เวลา:6:29:21 น. |
|
|
|
โดย: เจียวต้าย วันที่: 10 เมษายน 2554 เวลา:13:03:40 น. |
|
|
|
โดย: อนันต์ครับ วันที่: 10 เมษายน 2554 เวลา:21:33:18 น. |
|
|
|
โดย: pantamuang วันที่: 10 เมษายน 2554 เวลา:23:16:23 น. |
|
|
|
โดย: dj booboo วันที่: 11 เมษายน 2554 เวลา:2:31:02 น. |
|
|
|
โดย: jamaica วันที่: 11 เมษายน 2554 เวลา:6:58:54 น. |
|
|
|
โดย: แม่น้องกะบูน IP: 182.53.84.181 วันที่: 12 เมษายน 2554 เวลา:21:45:29 น. |
|
|
|
โดย: Dingtech วันที่: 12 เมษายน 2554 เวลา:23:45:18 น. |
|
|
|
โดย: haiku วันที่: 13 เมษายน 2554 เวลา:11:02:40 น. |
|
|
|
โดย: yyswim วันที่: 13 เมษายน 2554 เวลา:15:13:12 น. |
|
|
|
โดย: ดาวริมทะเล วันที่: 13 เมษายน 2554 เวลา:20:30:36 น. |
|
|
|
โดย: kimmy (kimmybangkok ) วันที่: 14 เมษายน 2554 เวลา:13:40:05 น. |
|
|
|
โดย: รัชชี่ (รัชชี่ ) วันที่: 14 เมษายน 2554 เวลา:13:42:10 น. |
|
|
|
โดย: เริงฤดีนะ วันที่: 14 เมษายน 2554 เวลา:15:23:41 น. |
|
|
|
โดย: เกศสุริยง วันที่: 14 เมษายน 2554 เวลา:18:45:11 น. |
|
|
|
โดย: ครูอั๋น IP: 110.169.206.195 วันที่: 8 ธันวาคม 2554 เวลา:10:50:50 น. |
|
|
|
โดย: แดง ทอง IP: 10.106.30.7, 58.97.114.40 วันที่: 4 มิถุนายน 2555 เวลา:12:56:53 น. |
|
|
|
โดย: คันคลอง IP: 223.205.177.37 วันที่: 26 เมษายน 2556 เวลา:8:47:43 น. |
|
|
|
โดย: Hnong IP: 27.145.161.170 วันที่: 23 มีนาคม 2557 เวลา:6:02:58 น. |
|
|
|
|
|
|
|
Location :
กรุงเทพฯ Thailand
[ดู Profile ทั้งหมด]
|
ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 66 คน [?]

|
ความตั้งใจในการทำบล็อกเปลี่ยนไปตามกาลเวลา เริ่มต้นด้วยการเขียนถึงถิ่นที่อยู่ในวัยเด็ก ต่อมาเป็นเรื่องเครื่องหมายต่างๆ เรื่องศิลปะ ภาพถ่ายในยุคก่อนๆ อาหารการกิน และอะไรต่อมิอะไรที่ประสบพบเห็น สนใจอะไรขึ้นมาก็อยากรู้ให้มากขึ้น กลุ่มเนื้อหาจึงแตกแขนงไปเรื่อยๆ
|
|
|
|
|
|
|
|