ตุลาคม 2552

 
 
 
 
13
15
17
27
28
29
30
 
All Blog
ตรวจสุขภาพถึงเวลาต้องคิดกันใหม่ ไม่เจ็บตัว ไม่เสียใจ โดยไม่จำเป็น



ตรวจสุขภาพถึงเวลาต้องคิดกันใหม่ ไม่เจ็บตัว ไม่เสียใจ โดยไม่จำเป็น

เมื่อพูดถึงการตรวจสุขภาพเราๆ ท่านๆ มักคิดว่าไปเพื่อตรวจดูว่าเราเป็นโรคอะไรหรือเปล่า หรือไม่ก็ดูตามโฆษณาที่เขาแนะให้ตรวจสุขภาพตามรายการว่า หาโรคอะไรได้บ้าง พอตรวจไปตรวจมาจากที่เคยมีสุขภาพจิตดี ก็เลยกลายเป็นสุขภาพจิตเสีย เพราะพบว่าเป็นโรคนั้นโรคนี้ไม่เป็นอันกินอันนอน จากข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ บางกอกโพสต์ ฉบับวันจันทร์ที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๒ มีนักศึกษาสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย คณะพยาบาลศาสตร์ได้ ซึ่งทางทบวงมหาวิทยาลัยได้กำหนดให้ มีการตรวจเอกซเรย์ทรวงอกใน การตรวจสุขภาพก่อน จึงจะเข้าศึกษาได้ แต่ผลการตรวจเอกซเรย์ร่างกาย พบว่า มีจุดในปอดต้องได้ใบรับรองแพทย์ มายืนยันกับทบวงมหาวิทยาลัยว่าไม่ได้ป่วยเป็นโรคจึงจะสามารถเข้าศึกษาได้ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะได้รับการส่องกล้องเข้าไปในหลอดลม เพื่อตัดชิ้นเนื้อออกมาตรวจยืนยันว่าไม่ไช่โรคมะเร็ง แต่ผลการส่องกล้องก็ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าไม่ใช่โรคมะเร็ง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการผ่าตัด เพื่อตัดชิ้นเนื้อไปตรวจวินิจฉัยทางพยาธิวิทยา ซึ่งผลการตรวจวินิจฉัยครั้งสุดท้าย พบว่า เป็นก้อนเนื้อหลอดเลือด ซึ่งไม่ใช่เนื้อร้าย แสดงให้เห็นว่าผลการตรวจวินิจฉัยดังกล่าวได้ผลซึ่งเป็น "ผลบวกลวง" (ไม่เป็น แต่เครื่องมือตรวจพบว่าเป็น) ส่งผลให้ผู้รับบริการต้องเจ็บตัว เสียคุณภาพชีวิต และที่สำคัญเสียโอกาสทางการศึกษา

ปัจจุบันมีการกำหนดไว้ว่า จะต้องมีการตรวจสุขภาพก่อนเข้าปฏิบัติงาน แต่กฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ว่าจะต้องตรวจอะไรบ้าง แต่จะเลือกมาตรการอะไรในการตรวจสุขภาพ จะต้องพิจารณาถึงประสิทธิผลของมาตรการดังกล่าว โดยเฉพาะในเรื่องของความแม่นยำ การทำให้เกิดการลดการเจ็บป่วย การทำให้มีชีวิตยืนยาว และการสร้างเสริมคุณภาพชีวิต ดังนั้นการเลือกมาตรการในการตรวจสุขภาพจึงต้องคำนึงถึงประสิทธิผลตามที่กำหนดไว้ มาตรการใดที่ไม่มีหลักฐานมาพิสูจน์ว่าทำให้เกิดประสิทธิผลดังกล่าว จึงไม่แนะนำให้ทำ "การตรวจสุขภาพ" มาจากพื้นฐานอะไร ใช้หลักเกณฑ์อะไร ในการตรวจจำเป็นต้องใช้เครื่องมือแพทย์หรือเจาะเลือดส่งห้องปฏิบัติการ รวมถึงการเอกซเรย์ปอด หัวใจ ซึ่งมีการปฏิบัติกันอย่างแพร่หลายกันโดยทั่วไปๆ หรือไม่ "หมอชาวบ้าน" ฉบับนี้จึงขอพาท่านมาพูดคุยกับ พ.ท.นพ.สุรจิต สุนทรธรรม จากโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ซึ่งเป็นผู้หนึ่งในการทำวิจัยเพื่อเสนอแนวทางในการตรวจสุขภาพ

คุณไปตรวจสุขภาพหรือตรวจโรค
ปัญหาสำคัญในปัจจุบัน คือ ประชาชนขาดความเข้าใจระหว่างการตรวจสุขภาพกับการตรวจโรค เพราะที่เป็นอยู่ เรามักตรวจหาโรค (disease) ไม่ใช่การตรวจสุขภาพ (health) แม้แต่หมอเองก็ขาดข้อมูล เนื่องจากยังไม่มีผู้ใดทำการศึกษาไว้ในประเทศไทย ดังนั้นมาตรการที่กำหนดก็จะกำหนดมาจากการปฏิบัติที่ทำสืบๆ ต่อกันมา และมีความหลากหลายเป็นอย่างมาก และแพทย์ส่วนใหญ่ก็มีความเห็นและการปฏิบัติที่แตกต่างกัน การกำหนดมาตรการตรวจสุขภาพที่ผ่านๆ มา มักอาศัยความรู้ในการวินิจฉัยโรคในสาขาที่แพทย์แต่ละคนถนัดเป็นพื้นฐาน โดยขาดการศึกษาทบทวนถึงคุณค่าและประสิทธิผลอย่างเป็นระบบ เป็นผลให้บางโปรแกรมที่จัดทำขึ้นขาดการตรวจที่มีคุณค่า และในบางโปรแกรมเป็นการตรวจที่มีคุณค่าน้อย หรือมีผลเสียรวมอยู่ด้วย ดังนั้นในการตรวจสุขภาพจึงมักเป็นการตรวจหาโรค ซึ่งมีส่วนส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจผิดว่า การตรวจหาโรค คือ การตรวจสุขภาพ เพราะฉะนั้นจึงต้องเปลี่ยนทัศนคติของประชาชนทั่วไปและหมอ ให้เข้าใจว่าการตรวจสุขภาพไม่ใช่การตรวจหาโรค ซึ่งไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้

"สุขภาพ" คือ ภาวะอันเป็นสุข ดังนั้น การตรวจสุขภาพจึงเป็นการตรวจหาภาวะอันเป็นสุข และตรวจหาอะไรก็แล้วแต่ที่จะมีผลทำให้ภาวะอันเป็นสุขนั้นเสียไป ซึ่งสิ่งสำคัญที่ สุดในการตรวจสุขภาพ คือ การตรวจพฤติกรรม เพราะเป็นสิ่งที่มีผลกระ-ทบโดยตรงต่อสุขภาวะ จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนความเสี่ยง ลดความเจ็บ ป่วย และเพิ่มคุณภาพชีวิต ป้องกันไม่ให้เป็นโรค หรือถ้าเป็นแล้วยังไม่มีอาการก็ต้องอย่าปล่อยให้มีอาการ หรือถ้ามีอาการแล้วพยายามหาให้เจอโดยเร็วที่สุด การตรวจหาความเจ็บ ป่วยหรือโรคจึงเป็นเรื่องสุดท้ายในการตรวจสุขภาพ

หัวใจหลักของการตรวจสุขภาพ
เมื่อพูดถึงการตรวจสุขภาพ ประชาชนมักนึกถึงการเจาะเลือด ตรวจไขมัน ตรวจน้ำตาลในเลือด เอกซเรย์ ตรวจอัลตราซาวนด์ ตรวจคลื่นหัวใจ และอื่นๆ อันที่จริงหัวใจ หลักของการตรวจสุขภาพ คือ การตรวจปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค เพื่อจะได้ป้องกันก่อนการเกิดโรค ปัจจัยเสี่ยงอาจเป็นพฤติกรรม ซึ่งส่วนใหญ่สามารถแก้ไขหรือปรับปรุงได้ โดยการพูดคุยระหว่างผู้มารับบริการกับแพทย์ผู้ให้บริการ เพื่อจะได้ทราบถึงประวัติและพฤติกรรมของผู้ป่วย เพื่อหาความผิดปกติหรือความเสี่ยง การพูดคุยทำให้ทราบประ-วัติของผู้มารับการตรวจ เพื่อหามาตรการในการปรับปัจจัยเสี่ยง เช่น มีญาติสายตรงที่เป็นโรคทางกรรมพันธุ์เป็นโรคหัวใจ มะเร็งบางชนิด แพทย์ก็สามารถให้คำแนะนำในการประพฤติตัวตั้งแต่ ยังไม่เป็นโรค หรือหากผู้มารับบริการ มีพฤติกรรมไม่ถูกต้อง กินของสุกๆ ดิบๆ สูบบุหรี่ ดื่มสุรา ขาดการออกกำลังกาย แพทย์ก็มีวิธีการ ให้คำแนะนำปรึกษาให้สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันโรคต่างๆ เพื่อให้มีสุขภาพดี มีชีวิตยืนยาว ลดการเป็นโรค และสร้างเสริมคุณภาพชีวิต นี่คือหัวใจหลักของการตรวจสุขภาพ เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และส่งเสริมสุขภาพ ไม่ใช่การตรวจหาโรค

การตรวจหาโรคโดยไม่จำเป็นมีผลเสียมากกว่าผลดี
การตรวจหาโรคมีผลเสียเพราะถ้าการตรวจไม่พบโรคจะส่งผลให้พฤติกรรมประจำวันของผู้ถูกตรวจเหมือนเดิม เท่ากับเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรค แทนที่จะลดความเสี่ยง อย่างเช่น คนสูบบุหรี่ ถ้าไปตรวจปอดและพบว่าไม่เป็นอะไรก็สูบบุหรี่ต่อไป ทำให้เกิดความประมาท แต่สิ่งที่ดีที่สุด คือ การหยุดสูบบุหรี่ ถ้าจะตรวจหาโรคก็ต่อเมื่อมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ว่าควรตรวจหรือไม่ ต้องเข้าใจด้วยว่า เครื่องมือ การตรวจโรคไม่ใช่เครื่องมือที่มีความแม่นยำร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้นอาจได้ผลการตรวจลวง ผลตรวจที่ไม่ตรงความเป็นจริง ทำให้เจ็บตัว เสียคุณภาพชีวิต อย่างที่เกิดขึ้นกับผู้รับการตรวจบางกรณี อย่างการเอกซเรย์ทรวงอก เป็นการตรวจที่ไม่มีความไวและความจำเพาะเพียงพอในการตรวจหาโรค ทั้งโรคมะเร็งปอดและวัณโรค ทำให้มีผลบวกลวงได้มาก จำเป็นต้องมีการทดสอบตามหลัก การแพทย์ต่อไปดังเช่นกรณีที่เป็นข่าว

ในปัจจุบันทั้งสหรัฐอเมริกาและประเทศที่พัฒนาแล้วอื่นๆ จึงไม่แนะนำให้ตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอดด้วยการถ่ายภาพรังสีทรวงอกเป็นประจำ* ยังมีปัญหาอื่นตามมาอีก การตรวจยืนยันบางอย่างต้องสอดเครื่องมือเข้าไปในร่างกายหรือมีการผ่าตัด เช่น การตรวจหาเซลล์มะเร็งที่ตับอ่อน ซึ่งก่อให้เกิดผลบวกลวงถึงกว่าร้อยละ ๙๐ แต่ต้องมีการตรวจยืนยันว่าไม่ได้เป็นโรคด้วยการผ่าตัดเข้าไปดู เพราะการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ก้อนมะเร็งต้องมีขนาดใหญ่กว่า ๑ เซนติเมตร จึงจะมองเห็น มิฉะนั้นไม่สามารถยืนยันได้ว่าไม่เป็นโรคมะเร็งตับอ่อน ดังนั้นการลงทุนอะไรต้องให้คุ้มค่าและคุ้มกับคุณภาพชีวิตของผู้รับบริการด้วย

ตรวจสุขภาพ ต้องก่อให้เกิดอรรถประโยชน์
การตรวจสุขภาพ ต้องคำนึงถึงคุณภาพชีวิตตนเองเป็นสำคัญ เช่น ผลการตรวจสุขภาพแล้ว พบว่า เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากที่รักษาไม่ได้ หรือรักษาได้แต่สมรรถภาพทางเพศเสื่อม คุณภาพชีวิตหลังการตรวจย่อมแย่ลง และไม่มีหลักฐานใดที่พิสูจน์ให้เห็นได้ว่าทำให้มีชีวิตยืนยาวขึ้น เพราะฉะนั้นต้องมีการศึกษามายืนยันว่า การตรวจสุขภาพแล้วพบโรคร้ายตั้งแต่ต้น ทำให้ชีวิตยืนยาวได้จริงอย่างมีคุณภาพตามที่ต้องการ เพราะบางครั้งผลการตรวจสุขภาพอาจประสบปัญหาตัวเลขหลอก เช่น ตรวจพบว่าเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย มีชีวิตอยู่ได้อีก ๕ ปี มีเพียงร้อยละ ๑๐ แต่ต้องพิจารณาว่าจากระยะที่ ๑ ไปสู่ระยะที่ ๔ ใช้เวลานานเท่าใด ซึ่งอาจจะใช้เวลานานถึง ๒๐ ปี แต่เมื่อทราบว่าเป็นนมะเร็งอาจจะเสียชีวิตเร็วขึ้น เนื่องจากสุขภาพจิตเสีย

การตรวจสุขภาพต้องคำนึงถึงคุณภาพชีวิตที่จะตามมาภายหลังการตรวจ เพราะชีวิตและสุขภาพไม่สามารถประเมินค่าเป็นเงินได้ แต่ก่อนการเสียเงินเพื่อการตรวจสุขภาพ ต้องพิจารณาถึงอรรถประโยชน์ (Utility) โดยเฉพาะคุณภาพชีวิตหลังการตรวจ ตัวอย่างเช่น สมมติว่าคุณกำลังหิวข้าวมาก แล้วมีคนเอาอาหารมาให้คุณกิน คุณคงไม่สนใจว่าอาหารที่ได้มาราคาเท่าใด สมมติว่า ราคาจานละ ๒๕ บาท คุณได้กินอาหารบรรเทาอาการหิวได้ เกิดความพึงพอใจ ส่งผลให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น สมมติว่าคิดคุณภาพ ชีวิตเป็น ๑๐๐ หน่วย ถ้าให้คุณกินอาหารจานที่ ๒ ราคาก็เท่าเดิม แต่ความพึงพอใจ และคุณภาพชีวิตถ้าคิดเป็นหน่วยคงไม่เท่าเดิม ไม่เป็น ๑๐๐ หน่วย เหมือนครั้งแรกใช่ไหม ถ้าให้คุณกินจานที่ ๓ จานที่ ๔ จานที่ ๕ ถึงแม้อาหารราคาเท่าเดิม คุณอาจรู้สึกโดนบังคับให้กินแล้วก็ได้ คุณภาพชีวิตอาจติดลบก็ได้ หรือสุขภาพอาจจะแย่ลงจากเดิมเกินไปแล้ว ถึงแม้ราคาอาหารเท่าจานแรก ที่ยกตัวอย่างนี้ต้องการให้เห็นว่า ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ได้ตีค่าเพียงแค่เงิน คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่างหากที่สำคัญ แนวทางการตรวจสุขภาพจึงไม่ได้ผูกกับเรื่องเสียเงินมาก เสียเงินน้อย นั่นไม่ใช่เป้าหมาย ต้องคำนึงถึงว่าบรรลุวัตถุประสงค์อย่างน้อย ๓ อย่างหรือไม่

๑. ชีวิตยืนยาวขึ้น

๒. ลดความเจ็บป่วย

๓. คุณภาพชีวิตดีขึ้น

ถ้าเราตรวจสุขภาพแล้วต้องนั่งทุกข์ทรมาน ไม่มีจิตใจประกอบอาชีพ ไม่เจอจะดีกว่าไหม ถ้าโรคที่เจอแล้วไม่ได้ทำให้ชีวิตยืนยาวขึ้น ลดความเจ็บป่วยได้ หรือคุณภาพชีวิตไม่ดีขึ้น

จุดประสงค์ของการทำแนวทาง (Guide line) การตรวจสุขภาพ
จุดประสงค์ของการทำแนวทางการตรวจสุขภาพนั้น เป็นแนวทางหรือคล้ายแผนที่นำร่องของคนไทยเอง ไม่ได้ตามแบบต่างประเทศ และไม่ใช่กฎระเบียบ ข้อบังคับ เป็นเพียงหนึ่งในตัวเลือกให้คนไทยทุกคนที่ไม่เคยตรวจสุขภาพ และที่ตรวจแล้วจะได้นำข้อมูลแนวทางเกี่ยวกับการตรวจสุขภาพไปใช้ให้เหมาะสมในแต่ละคน ทำไมแนวทางการตรวจสุขภาพที่เสนอ จึงมีความแตกต่างกับความเชื่อหรือถือปฏิบัติอยู่ คณะทำงาน พบว่า การตรวจบางอย่างไม่มีประโยชน์ ไม่เป็นผลดีต่อผู้รับบริการ เสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลา เสียทั้งคุณภาพชีวิต เพราะตามปกติ โรคมีอยู่ ๓ ประเภท

๑. โรคที่รักษาก็หาย ไม่รักษาก็หาย

๒. โรคที่รักษาก็ตาย ไม่รักษาก็ตาย

๓. โรคที่รักษาก็หาย ไม่รักษาก็ตาย

โรคประเภทที่ ๑ และ ๒ นั้น มีประมาณ ๙๐ เปอร์เซ็นต์ สำหรับโรคประเภทที่ ๓ มีประมาณ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นการตัดสินใจรักษาโรคด้วยวิธีการต่างๆ ผู้ใช้บริการต้องหาข้อมูล และเข้าใจในเรื่องโรค ไม่ใช่คิดเพียงแต่ค่าบริการ แต่ต้องคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของตนเองเป็นสำคัญ อย่างเช่น ผลการตรวจสุขภาพแล้วพบว่าเป็นมะเร็งบางชนิดที่ยังไม่มีข้อพิสูจน์ใดที่ยืนยันได้อย่างชัดเจนว่า เมื่อตรวจพบตั้งแต่ระยะแรกแล้ว จะทำให้ชีวิตยืนยาวขึ้น ลดการเจ็บป่วยแทรกซ้อน หรือทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น เช่น มะเร็งปอด มะเร็งต่อมลูกหมาก และอีกหลายมะเร็ง มีงานศึกษาหลายชิ้นระบุว่า ตรวจสุขภาพแล้วเจอมะเร็ง ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของผู้รับบริการเลวลง เพราะเป็นโรคร้ายแรงที่ยังไม่มีวิธีการรักษา ที่ดีขึ้น การรักษาไม่ทำให้ชีวิตยืนยาวขึ้น

การให้คำแนะนำบริการของแพทย์เพื่อหลีกเลี่ยงโรคร้ายเหล่านี้ เช่น งดสูบบุหรี่ เพื่อเลี่ยงมะเร็งปอด, มะเร็งปัสสาวะ งดดื่มสุราเพื่อเลี่ยงมะเร็งตับ, ไม่กินปลาหรือเนื้อสัตว์ที่ปรุงไม่สุก ก็เลี่ยงมะเร็งท่อน้ำดีตับ ซึ่งคำแนะนำปรึกษาที่ได้รับจากแพทย์มีความสำคัญมากที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรมมากกว่าการคอยตรวจว่าเป็นโรคร้ายแรงที่แก้ไขไม่ได้

โรคมะเร็งบางอย่าง เมื่อตรวจพบในระยะแรกสามารถรักษาได้ เช่น มะเร็งปากมดลูก เป็นมาตรการที่ "ควรทำ" กับหญิงทุกวัยที่เคยมีเพศสัมพันธ์ จะเห็นว่าคำแนะนำจะเน้นความแม่นยำและคุณภาพชีวิต ไม่ใช่ตรวจเพื่อเพียงหาโรคอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงคุณภาพชีวิต ปัจจุบันจะพบว่าประชาชนทั่วไปตรวจน้ำตาลในเลือดโดยไม่มีข้อบ่งชี้อะไรเลย ซึ่งไม่ได้ประโยชน์อย่างใด นอกจากนั้นเมื่อตรวจไม่พบว่าน้ำตาลในเลือดสูง เป็นผลให้ไม่เปลี่ยนพฤติกรรม หรืออาจส่งเสริมพฤติกรรมที่เป็นผลเสียต่อสุขภาพมากขึ้น อันที่จริงการซักประวัติหาปัจจัยเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน เช่น อ้วน ประวัติครอบครัวสายตรงเป็นเบาหวาน ความดันเลือดสูง เมื่อมีปัจจัยเสี่ยง ก็ให้คำแนะนำปรึกษาปรับเปลี่ยนพฤติกรรม มีความสำคัญมากกว่า และให้กินอาหารให้ถูกต้องตามหลักโภชนาการ และออกกำลังกาย ถ้ามีหลักฐานเชื่อถือได้โดยเฉพาะอายุเกิน ๔๕ ปี จึงตรวจระดับน้ำตาลในเลือด แต่ก็ควรตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ทุก ๓ ปีหรือ ๓ ปีครั้ง ในการตรวจเชื้อไวรัสตับอักเสบบี โรคนี้สามารถตรวจคัดกรองได้โดยการซักประวัติ การเคยได้รับวัคซีน การเคยเป็นโรค และหากมีประวัติ ควรตรวจหาหลักฐานของการติดเชื้อ หากไม่พบก็ป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน ข้างต้นเป็นการให้คำอธิบายย่อ เพื่อให้เข้าใจในเรื่องการตรวจสุขภาพ

การที่เราคิดจะทำอะไรสักอย่างเพื่อชีวิตและสุขภาพของเรา เราก็ต้องคำนึงถึงเป้าหมายหลักว่า เราต้องการอะไร พยายามศึกษาค้นคว้าให้ทราบโดยถ่องแท้ว่า การกระทำดังกล่าวจะช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายตามที่ต้องการหรือไม่ เมื่อได้ข้อมูลมาแล้วก็ต้องนำ มาพิจารณาโดยแยบคาย อย่าเพิ่งด่วนปลงใจเชื่อหรือไม่เชื่อในทันที ทั้งนี้ต้องใช้วิจารณญาณตามหลัก ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้วางไว้ในกาลามสูตร คือ อย่าปลงใจเชื่อโดยการฟัง(เรียน)ตามกันมา, โดยการถือสืบๆกันมา, โดยการเล่าลือ, โดยการอ้างตำรา, โดยตรรก, โดยการอนุมาน, โดยการคิดตรองตามแนวเหตุผล, โดยเพราะเข้าได้กับทฤษฎีของตน, โดยเพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าเชื่อ หรือโดยเพราะนับถือว่าท่านนี้เป็นครูของเรา แต่ต้องศึกษาให้ถ่องแท้ โดยมีแพทย์ชี้แนะแนวทาง คือ เป็นกัลยาณมิตร เมื่อเห็นว่าสิ่งที่จะกระทำลงไปจะมีประโยชน์จริง ก็นำไปปฏิบัติด้วยความวิริยะอุตสาหะ มีจิตใจจดจ่อกระทำอย่างต่อเนื่อง ละสิ่งที่เป็นความสนุกชั่วครู่ชั่วยามในปัจจุบัน เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขในระยะยาวสืบไป

ข้อมูลจาก หมอชาวบ้าน



Create Date : 01 ตุลาคม 2552
Last Update : 1 ตุลาคม 2552 5:34:08 น.
Counter : 1348 Pageviews.

1 comments
  
เห็นด้วยกับข้อมูลที่นำเสนอ ที่อยาก
เพิ่มเติมคืออาชีพของเจ้าตัวคือถ้าทำงาน
ก็จะมีความสนใจกับสุขภาพตัวเองมากขึ้น
รวมทั้งที่ทำงานมีบริการให้ตรวจด้วย
อีกข้อคืออายุถ้ามากกว่า50ปีก็น่าจะต้อง
ตรวจสุขภาพประจำทุกปี ถ้าพบสิ่งผิดปกติก็จะเปลี่ยนพฤติกรรมได้ทัน ไม่เช่นนั้นอาจจะตรวจพบระยะสุดท้ายของโรคก็แก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว ตัวผมเองก็ตรวจทุกปี 5ปีที่แล้วตรวจพบว่าการทำงานของตับผิดปกติ ก็ไปตรวจละเอียดอีกทีหมอว่าให้งดดื่มแอลกอฮอลและให้ยาบำรุงตับมากินแล้วไปพบหมอทุก3เดือน
เป็นเวลาเกือบ3ปีการทำงานก็ปกติ ปีต่อมาก็ไปตรวจมีแต่ความดันสูงกินยามาตลอดและจะไปตรวจคลี่นหัวใจเดือนหน้า(เพราะพ่อผมหัวใจโตเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ จนล้มแล้วก็ไม่รู้สึกตัว)
โดย: ข้าราชการบำนาญ (Ni.Somsak ) วันที่: 2 ตุลาคม 2552 เวลา:6:09:16 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

pimpagee
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]



Smile...Small...Smooth...Smart...

counter
สร้าง Playlist ของคุณได้ที่นี่
New Comments