กุมภาพันธ์ 2552

 
All Blog
การป้องกันโรคหัดเยอรมัน





ถ้าท่านผู้อ่านจำได้ ในตอนต้นปี พ.ศ.2527 มีข่าวใหญ่ครึกโครมในหน้าหนังสือพิมพ์และวิทยุกระจายเสียง คือการระบาดใหญ่ของโรคหัดเยอรมันในประเทศไทย ทำให้เกิดความตื่นตระหนกตกใจแก่ประชาชนเป็นอันมาก ซึ่งในทางการแพทย์ไม่ถือว่าเป็นการแสดงออกที่เกินกว่าเหตุแต่อย่างใด เพื่อให้เกิดความเข้าใจแก่ประชาชนทั่วไป ชมรมเวชศาสตร์ป้องกันจึงขอนำเรื่องโรคหัดเยอรมันมาเป็นหัวข้อโรคในการเผยแพร่ครั้งนี้

โรคหัดเยอรมัน มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Rubella หรือ German measles เหตุที่โรคนี้ชื่อว่า หัดเยอรมัน จะหมายความว่าโรคนี้เกิดแต่ในประเทศเยอรมันก็หาไม่ แต่ที่แท้แล้วเป็นเพราะว่า แพทย์ที่รายงานโรคนี้ไว้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว ชื่อนายแพทย์โรเทลเป็นชาวเยอรมันนั่นเอง ซึ่งค้นพบไว้ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18 โน่น

ในครั้งแรกๆ แพทย์สมัยนั้นคิดว่าโรคนี้เป็นเพียงอาการเพี้ยนออกไปจากโรคหัด (ธรรมดาๆ) ที่ทางชมรมฯ ได้นำเสนอไปในฉบับก่อนนั่นเอง ดังนั้น โรคนี้จึงมีชื่อเรียกได้อีกชื่อหนึ่งว่า โรคหัด 3 วันก็ได้ แต่เมื่อความรู้ทางด้านไวรัสวิทยาเจริญมากขึ้น ตลอดจนการสังเกตอาการและอาการแสดงของผู้ป่วยจำนวนมากรายเข้า เราจึงมีความแน่ใจว่าโรคหัด และโรคหัดเยอรมัน เป็นคนละโรค แยกจากกันอย่างแน่นอน

โรคนี้มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า ไวรัสรูเบลล่า อาการที่พบส่วนใหญ่มักจะเริ่มด้วยอาการคล้ายหวัดนำมาก่อน ในบางรายอาจจะเล็กน้อยมากจนแทบสังเกตไม่พบว่าตัวเองไม่สบาย

อาการแสดงที่สำคัญมากในโรคหัดเยอรมันคือ การที่มีต่อมน้ำเหลืองที่อยู่หลังใบหู และบริเวณคอด้านหลังโตขึ้น และเจ็บมากกว่าโรคผื่นที่เกิดจากไวรัสตัวอื่น เมื่อมีต่อมน้ำเหลืองโตขึ้นได้ 1 วัน ก็จะเริ่มมีผื่นขึ้น และคงอยู่ประมาณ 3 วัน ผื่นมักจะเริ่มที่บริเวณหน้า แล้วกระจายไปทั้งตัวอย่างรวดเร็ว ผื่นมีขนาดแตกต่างกันใหญ่บ้างเล็กบ้าง บางทีก็รวมกันเป็นปื้นใหญ่ อาจมีอาการคันเล็กน้อย ผื่นจะจางลงค่อนข้างเร็ว ไม่ค่อยมีผิวหนังลอกเท่าไหร่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมีผู้ป่วยประมาณครึ่งเดียวที่จะมีอาการออกผื่นนี้

ในกรณีแบบนี้ แพทย์จะให้การวินิจฉัยได้ถ้าเจาะเลือดตรวจหาภูมิคุ้มกัน อาการอื่นที่อาจพบได้คล้ายโรคหัด แต่อาการน้อยกว่ามาก ได้แก่คอแดง เยื่อบุตาอักเสบ ไข้ต่ำๆ ในรายที่ผู้ป่วยหญิงที่ค่อนข้างโตมักพบอาการปวดตามข้อร่วมด้วยได้เช่นกัน พบโรคแทรกซ้อนน้อยมาก

บางท่านอาจจะสงสัยว่า เท่าที่อ่านมาโรคก็ดูไม่รุนแรงเท่าไหร่ ทำไมต้องเอามาเผยแพร่ให้เปลืองหน้ากระดาษด้วย

โรคหัดเยอรมันมีความสำคัญก็เพราะ ความสามารถของตัวเชื้อในการก่อให้เกิดความพิการแต่กำเนิด หรืออธิบายง่ายๆว่า ในผู้หญิงตั้งครรภ์ที่บังเอิญเกิดป่วยด้วยโรคนี้ขึ้นมา พบว่าหนึ่งในสี่ของเด็กที่คลอดจะมีความพิการออกมาด้วย นอกจากนี้ยังทำให้อัตราการแท้ง การตายในครรภ์ สูงกว่าปกติด้วย

ความพิการแต่กำเนิดในทารกอาจจะเกิดเพียงอย่างเดียว หรือเกิดร่วมกันหลายอย่างก็ได้ ตัวอย่างความพิการที่อาจพบ ได้แก่ ต้อกระจก หูหนวก ความพิการของผนังหัวใจและเส้นเลือดบริเวณหัวใจ ศีรษะเล็ก (ทำให้สมองเล็กไปด้วย) ปัญญาอ่อน เป็นต้น

ในปี 2527 ที่ผู้เขียนได้กล่าวไว้ตอนต้น เกิดการระบาดใหญ่ของโรคหัดเยอรมันโดยมีรายงานเข้ามาที่กองระบาดวิทยา ถึงเกือบหมื่นรายซึ่งนับว่าสูงกว่าปี 2526 ถึง 14 เท่า ในจำนวนนี้ เกือบครึ่งหนึ่งเป็นรายงานของผู้ป่วยที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ จึงทำให้แพทย์โรงพยาบาลต่างๆทำงานหนักมาก จนถึงกับต้องออกข่าวเพื่อให้ความเข้าใจแก่ประชาชน

ปกติแล้วมักจะพบผู้ป่วยมากขึ้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ถึง เมษายน อัตราป่วยเฉพาะกลุ่มอายุพบสูงสุดในกลุ่มอายุต่ำกว่า 5 ปี แต่ผู้ป่วยเกือบทั้งหมดอายุต่ำกว่า 25 ปี ผู้ชายและผู้หญิงพบในอัตราส่วนใกล้เคียงกัน

ลักษณะทางระบาดวิทยาคือ ถ้าหากไม่มีการฉีดวัคซีนในสัดส่วนที่สูงในประชากรแล้ว โรคมักจะมีการระบาดใหญ่ ทุกๆ 2-3 ปี สิ่งที่แพทย์สามารถจะคาดเดาไว้ล่วงหน้าก็คือเมื่อใดก็ตามที่มีการระบาดของโรคหัดเยอรมันขึ้นแล้ว อีก 8-9 เดือนต่อมาก็จะพบโรคพิการแต่กำเนิดที่มีสาเหตุจากเชื้อไวรัสหัดเยอรมันสูงขึ้นมา ดังปรากฏการณ์ที่เกิดในประเทศไทย เมื่อพ.ศ.2527 ดังนั้นประชาชนจึงควรมีความรู้ในการป้องกันโรคเป็นอย่างดี ดังจะกล่าวต่อไป เพื่อจะได้ไม่เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า สายเกินแก้ขึ้นมา
ก่อนจะทราบวิธีป้องกัน เราควรจะมาทำความเข้าใจก่อนว่า โรคติดต่อได้อย่างไร?

โรคหัดเยอรมันจะติดต่อจากบุคคลสู่บุคคล กล่าวคือ เมื่อผู้ป่วยเริ่มมีอาการในระยะแรกคล้ายหวัด ถ้าหากผู้ใกล้ชิดสัมผัสกับน้ำมูกน้ำลายก็จะติดโรคไป เชื้อไวรัสสามารถแพร่ขยายและติดต่อได้ง่ายมาก ระยะติดต่อประมาณ 2-3 สัปดาห์ (ระยะติดต่อนับจากระยะที่เริ่มมีอาการป่วยไปจนถึงวันที่ผู้ป่วยจะไม่มีการแพร่เชื้อเกิดขึ้นต่อไป)

การป้องกัน
วิธีที่ได้ผลที่สุดคือ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมัน เพราะฉีดเพียงครั้งเดียวจะป้องกันโรคได้ตลอดชีวิต

ปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมควบคุมโรคติดต่อ ได้กำหนดให้ฉีดวัคซีนนี้แก่เด็กนักเรียนหญิงที่กำลังจะออกจากโรงเรียนชั้นประถม เหตุที่ตั้งเป้าหมายเช่นนี้ ก็เพื่อจะเริ่มดำเนินการป้องกันโรคพิการแต่กำเนิดที่เกิดจากเชื้อหัดเยอรมันก่อน ในระดับประเทศ

แต่ในแง่ของประชาชนแล้ว สามารถขอรับบริการ การฉีดวัคซีนได้จากโรงพยาบาลทุกแห่ง คลินิกบางแห่ง อายุของผู้ที่ได้รับวัคซีนควรจะมีอายุมากกว่า 15 เดือน (1 ขวบ 3 เดือน) ขึ้นไป เพราะหากฉีดตอนอายุต่ำกว่านี้จะกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ไม่ค่อยดีเท่าที่ควร

ข้อควรรู้เกี่ยวกับวัคซีน

1. วัคซีนที่ใช้ปัจจุบันทำออกมา 2 แบบใหญ่ๆ คือ วัคซีนเดี่ยวๆ ซึ่งใช้กับโครงการใหญ่ระดับประเทศหรือผู้ที่เจาะจงฉีดป้องกันเฉพาะหัดเยอรมัน อีกชนิดหนึ่งคือวัคซีนแบบรวม 3 ตัว (หัด เยอรมัน และคางทูม) ซึ่งควรฉีดในเด็กทุกรายที่ไม่เคยรับวัคซีนตัวใดตัวหนึ่งมาก่อน

2. ข้อห้ามการใช้วัคซีนคือผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์หรืออาจจะมีการตั้งครรภ์ใน 2 เดือน ผู้ที่มีไข้หรืออาการของไข้หวัด ผู้ที่มีประวัติแพ้ยานีโอมัยซิน เด็กที่มีประวัติชัก เมื่อมีไข้สูง และผู้ที่มีความผิดปกติในภูมิคุ้มกันของร่างกาย หรือกำลังได้รับยากดภูมิคุ้มกัน

การป้องกันเมื่อมีผู้ป่วยในครอบครัว คือ ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดควรระมัดระวังการสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย ปัสสาวะ และอุจจาระของผู้ป่วยเพราะแพร่เชื้อได้ ควรล้างมือทุกครั้งเมื่อสัมผัสผู้ป่วย เวลานอนควรแยกห้องผู้ป่วยต่างหาก เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น

นอกจากนี้หากผู้ป่วยเป็นนักเรียน และถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคหัดเยอรมัน ควรให้หยุดเรียนอย่างน้อย 7 วัน (นับจากวันที่เริ่มมีผื่นขึ้น) เพื่อป้องกันการแพร่โรค นอกจากนี้โรงเรียนควรแจ้งแก่กรมควบคุมโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือสาธารณสุขจังหวัดของตน เพื่อพิจารณาการให้วัคซีนแก่นักเรียนทุกคนหากมีลักษณะของการระบาดเกิดขึ้น

สำหรับสตรี หากมีการป่วยด้วยโรคหัดเยอรมันขึ้นในระหว่างการตั้งครรภ์ ควรปรึกษากับสูติแพทย์ เพื่อพิจารณาแนวทางการดูแลต่อไป แต่เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นควรจะได้รับการฉีดวัคซีนก่อนที่พร้อมจะมีบุตร เพราะถ้าป่วยขึ้นมาในขณะตั้งครรภ์มักจบด้วยการทำแท้งเป็นส่วนใหญ่



ขอบคุณ หมอชาวบ้าน



Create Date : 23 กุมภาพันธ์ 2552
Last Update : 23 กุมภาพันธ์ 2552 5:31:36 น.
Counter : 1475 Pageviews.

2 comments
  
อยากให้เพิ่มเนื้อหาให้มากกว่านี้ เช่น พยาธิสภาพของโรคเป็นต้น
โดย: หมอ IP: 117.47.230.35 วันที่: 28 ตุลาคม 2552 เวลา:10:39:16 น.
  
ดีมากๆๆ เลยคับได้รู้ข้อมูลเพราะที่บ้านเป็น ขอบคุณคับ
โดย: บอย.... IP: 58.97.37.61 วันที่: 21 ธันวาคม 2553 เวลา:4:35:52 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

pimpagee
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]



Smile...Small...Smooth...Smart...

counter
สร้าง Playlist ของคุณได้ที่นี่
New Comments