happy memories
Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2563
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
13 ธันวาคม 2563
 
All Blogs
 
เพลง "จะคอยขวัญใจ"




เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๒ พ.ย. ที่ผ่านมาดูรายการ "คุณพระช่วย" ช่วง "ศิลปะแผ่นดิน ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๒" สัมภาษณ์ครูเพลง ครูเนรัญชรา ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ผู้ประพันธ์เพลงไทยสากล) ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๒ ท่านประพันธ์เพลงลูกกรุงที่เราชอบมาก ๆ ไว้หลายเพลง เช่น หยาดน้ำฝนหยดน้ำตา, เขตฟ้าเขตฝัน, ดอกฟ้าผกาดิน, เศรษฐีน้ำตา, หนี้เสน่หา (คลิกที่ชื่อเพลงตามไปฟังในยูทูบได้เลยจ้า) และ จะคอยขวัญใจ ที่อัพให้ฟังในบล็อกนี้ ไม่ได้ฟังเพลงนี้มานาน พอได้ยินในรายการและเป็นเวอร์ชั่นต้นฉบับด้วย เลยรู้สึกว่าเพราะเป็นพิเศษ (เล่นเอาฮัมเพลงนี้ทั้งวัน ตอนอัพบล็อกก็ยังร้องเพลงคลอไปด้วย ) แถมได้ฟังสัมภาษณ์ครูเนรัญชราด้วย ท่านอายุเกือบเก้าสิบแล้ว แต่ดูอ่อนกว่าวัยและความจำก็ยังดีมาก ถอดบทสัมภาษณ์มาลงบล็อกเก็บไว้ แถมด้วยบทความที่เขียนถึงครูอีกสองสามเวบ ไม่มีเวลาตัดแต่งย่อยความไม่ให้ยาวเกิน หอบมาให้อ่านแบบยาวโลดดด

อากาศช่วงนี้เย็นลง แต่ไม่กี่วันก็น่าจะร้อนขึ้น โควิดก็ดูท่าจะมารอบสอง แถมฝุ่นพีเอ็มสองจุดห้าก็ตามมาสมทบอีก เพื่อน ๆ ดูแลสุขภาพให้ดีและอย่าลืมล้างมือ กินร้อน ช้อนเรา และใส่หน้ากากเวลาออกนอกบ้านด้วยนะคะ








"จะคอยขวัญใจ"
คำร้อง-ทำนอง เนรัญชรา


จะคอย จะคอย จะคอย จะคอยขวัญใจ
จะช้าอย่างใดจะนานเท่าไรไม่หวั่น
จะปวดใจร้าวโศกศัลย์
จะเจ็บใจช้ำจาบัลย์พลีแล้วชีวันจะคอย

จะทน จะทน จะทน จะทนเพื่อเธอ
จะรักเสมอจะรักแต่เธอฝังรอย
เฝ้าครวญเฝ้าคิดเฝ้าคอย
เฝ้าครวญกับสายลมลอยว่าฉันยังคอยห่วงใย

เธอจ๋าเธอลืมสิ้นถึงถิ่นเคยเยือน
ลืมรักลืมเลือนห่างหาย
ก่อนนี้เคยเคียงร่วมเรียงร่วมใจ
หรือมีรักใหม่จึงได้ลืมฉัน

ไม่ลืม ไม่ลืม ไม่ลืม ไม่ลืมรักเธอ
ยังรักเสมอยังรักแต่เธอคงมั่น
ความรักความหลังผูกพัน
จะคอยตราบสูญชีวันชั่วนิจนิรันดร์จะคอย












รายการคุณพระช่วย ช่วง "ศิลปะแผ่นดิน ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๒"
ออกอากาศวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๓


บทเพลงที่คุณผู้ชมได้ฟังไปเป็นบทเพลงขับร้องโดยศิลปินผู้มีชื่อเสียงของประเทศ เป็นผลงานการประพันธ์จากนักแต่งเพลงชั้นครู วันนี้รายการคุณพระช่วยจะพาคุณผู้ชมไปทำความรู้จักกับอีกหนึ่งศิลปะแผ่นดินที่ชะโลมจิตใจผู้คน คอยปลอบประโลมความรู้สึกด้วยบทเพลงอันไพเราะและทรงคุณค่ากับศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ผู้ประพันธ์เพลงไทยสากล) พ.ศ. ๒๕๖๒ กับ อาจารย์สติ สติฐิต กับตอนที่ชื่อว่า “เนรัญชรา จากปลายปากกาสู่เพลงลูกกรุง”




อาจารย์สติ สติฐิต ใช้ชื่อในนามผู้ประพันธ์เพลงว่า “เนรัญชรา” ได้เรียนรู้การเขียนโน๊ตเพลงกับนักดนตรีจากครูในกองดุริยางค์ทหารอากาศ โดยเพลงแรกที่ประพันธ์คือ “จะคอยขวัญใจ” โดยใช้ถ้อยคำและทำนองที่ง่าย ๆ ขับร้องโดย สุเทพ วงศ์กำแหง นักร้องผู้มีชื่อเสียงในวงดุริยางค์ทหารอากาศในขณะนั้น นอกจากนั้น ยังประพันธ์เพลงให้กับนักร้องคนอื่น ๆ ขับร้องจนมีชื่อเสียงอีกมากมายหลายคน อาทิ นิทัศน์ ละอองศรี, สวลี ผกาพันธุ์, จินตนา สุขสถิตย์, มนูญ เทพประทาน, ธานินทร์ อินทรเทพ, รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส และอีกมากมายหลายท่าน ซึ่งท่านที่กล่าวมานั้นได้ขับร้องจนได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจนถึงปัจจุบัน




อาจารย์สติ สติฐิต หรือในนาม “เนรัญชรา” เป็นผู้มีความสามารถและเชี่ยวชาญด้านการประพันธ์เพลงไทยสากล ทั้งคำร้องและทำนอง การใช้ถ้อยคำในแต่ละเพลงบ่งบอกถึงความรู้ความสามารถในการใช้ภาษาที่สละสลวย งดงาม ทันสมัย และทำนองเพลงก็มีความไพเราะเป็นอย่างมาก เช่นเพลง “หนี้เสน่หา” “เศรษฐีนำ้ตา” “บ้านของเรา” “ฤทธิ์กามเทพ” “ดอกฟ้าผกาดิน” รวมถึงเพลง “หยาดน้ำฝนหยดน้ำตา” ที่ได้รับรางวัลเสาอากาศทองคำ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๒๑ จากเพลง “หยาดน้ำฝนหยดน้ำตา” จากชุด ราคาแห่งความคิดถึง และรางวัลอื่น ๆ อีกมากมาย ปัจจุบัน เนรัญชรา มีผลงานประพันธ์เพลงมากกว่า ๑,๐๐๐ เพลง ซึ่งได้รับการบันทึกเสียงโดยนักร้องหลายคนที่มีชื่อเสียงโด่งดังจนถึงปัจจุบัน




พิธีกร (อาร์ม กรกันต์) “สวัสดีครับอาจารย์ อยากจะทราบจุดเริ่มต้นของการเป็นนักแต่งเพลงหรือผู้ประพันธ์เพลงของอาจารย์ครับ”

อ.สติ “ผมทำงานเป็นทหารอากาศเมื่อปี ๒๔๙๔ พอ ๒๕๐๐ ผมก็ต้องออกมา ไม่มีงานทำผมก็อยากเป็นนักร้อง ก็ไปร้องเพลงสลับฉากละครคณะศิวารมณ์ยุคสุดท้าย เมื่อปี ๒๕๐๐ ก่อนที่จะเลิกกิจการไป ร้องอยู่เดือนกว่า ๆ จากนั้นก็ไม่มีงานอีก ผมก็ไปหา ครูสง่า อารัมภีร ครูสง่าบอกว่าไปร้องกับทหารเรือดีไหม ผมเป็นทหารอากาศนะ ออกจากทหารอากาศเลย เพื่อไปเป็นทหารเรือสักพัก เพื่อไปร้องเพลงทหารเรือ วงครูพยงค์ มุกดา ร้องประมาณเกือบจะต้นปี ๒๕๐๑ ปรากฏว่าผมเบื่อ ผมก็หันมาแต่งเพลง ตอนนั้นก็เอาเพลงเก่าชื่อเพลง “จะคอยขวัญใจ” ซึ่งแต่งเรียบร้อยแล้วแต่ว่าเราไม่มีความรู้เรื่องโน๊ตเพลง ตอนนั้นไม่ได้เรียน เลยให้ ครูทีฆา โพธิเวส ไปจดโน๊ต พอจดโน๊ตเสร็จ ครูทีฆาบอกว่า เฮ้ย ดีนี่หว่า เดี๋ยวให้เทพร้อง ผมยังไม่ทราบว่าเป็นใคร ผมก็ถามว่า เทพไหน? อ้าว! จะมีเทพไหน ก็สุเทพ วงศ์กำแหง เขาก็เอาไปร้องในรายการเปิดสถานีกองทัพบกสนามเป้า ถือว่าเป็นนักแต่งเพลงแล้ว แต่ยังไม่ใช่นักแต่งเพลงอาชีพ”




อาร์ม “นี่เป็นจุดเริ่มต้น แล้วที่มาของนามปากกา “เนรัญชรา” ครับครู”

อจ.สติ “ทีแรกผมใช้ชื่อจริง สติ สติฐิต โฆษกเขาไปประกาศ ตอนนั้นมีโฆษกทหารอากาศคนหนึ่ง ชื่อ ประเดิม เขมะศรีสุวรรณ ชื่อผมมันซ้ำกัน สติ แล้วต่อนามสกุล สติฐิต ก็เลยบอกว่า คุณเปลี่ยนชื่อไ้ด้ไหม ผมประกาศชื่อคนอื่น อย่าง ครูป. ชื่นประโยชน์, ครูมงคล อมาตยกุล, ครูไสล ไกรเลิศ, ครูสง่า อารัมภีร เวลาประกาศได้คล่อง แต่ว่าออกเสียง สติ สติฐิต รู้สึกเขาจะเขิน ๆ ไปพบคำหนึ่ง เป็นชื่อแม่น้ำในอินเดีย เนรัญชระ...เนรัญชร”







อาร์ม “เป็นชื่อแม่น้ำในอินเดีย”

อ.สติ “ผมก็เลยใช้ชื่อแม่น้ำ มันเหมือนสายน้ำ ใช้เนรัญชรา โอ้ย เขาดีใจใหญ่ ดี ๆ อ่านง่าย เนรัญชรา(หัวเราะ)”

อาร์ม “พออาจาร์ยเริ่มเป็นที่รู้จักแล้ว แน่นอนก็ต้องมีงานให้ประพันธ์เพลงเข้ามาหลายบทเพลงเลย อยากทราบวิธีการแต่งเพลงของอาจารย์ จุดเริ่มต้น แนวคิด หรือแรงบันดาลใจอะไรที่ทำให้อาจารย์แต่งเพลงได้ไพเราะขนาดนี้ครับ”

อ.สติ “มันเกิดขึ้นมาเอง มันอยู่ในความรู้สึกของเรา ทุกคนมีทั้งนั้นแหละ มันไปสะดุดตอนไหนเราก็เขียนตอนนั้นขึ้นมา ถ้ามันไม่สะดุดก็เป็นเพลงหวาน ๆ มีความสุข แต่ถ้าเกิดมันสะดุด รู้สึกสะดุดว่ามันค่อนข้างเศร้า มันก็ออกมาทำนองนั้น เราจะต้องตั้งทำนองให้สวยไว้ก่อน”

อาร์ม “เริ่มจากทำนองก่อนหรือครับ”

อ.สติ “ต้องตั้งให้สวย โครงสร้างน่ะ ส่วนเนื้อร้อง ต้องให้รู้ว่าเราจะเริ่มจากจุดไหน วลีไหน เราต้องหาคำที่สะกิดความรู้สึกให้ได้ ตอนสุดท้าย ตอนจบเนี่ยมันเหมือนเรื่องสั้น เราต้องจบให้มันมีความรู้สึกว่าจบไปแล้วคนก็สะกิด อยากจะฟังอีก มีอยู่เพลงนึง ตอนนั้นผมไปบ้านครูสุเทพ อยู่ในซอยจันทรโรจน์วงศ์ แล้วมีอยู่ตอนนึง มันเกิดขึ้นมาเอง ไม่ได้วางโครงสร้างจะเขียนขึ้นมาเลย ผมก็แต่งไป มันออกมาเสร็จได้ในเวลา ๓-๔ นาที ไม่ถึง ๑๐ นาทีนะ”




อาร์ม “โอ้โห นี่แทบจะเท่ากับเวลาเพลงจริง ๆ เลยนะครับ”

อ.สติ “ใช่ ทั้งทำนองทั้งเนื้อร้องเลยนะ ออกมาพร้อมกันเลย เพลงนั้นชื่อ “หนี้เสน่หา” เป็นเพลงเดียวที่ผมรู้สึกเหมือนพระเจ้าจับมือเขียน มันประหลาดมากทีเดียว” แล้วครูก็ร้องเพลงออกมา...หากลูกเป็นนกก็คงปีกหัก ต้องการพักรักษาแผลใจ...ผมก็จดเลยนะ จดแทบไม่ทัน ต้องจดโน๊ต เอาแต่หัวโน๊ตไว้ หางโน๊ตยังไม่ได้ กลัวลืม จด จด จด แล้ว...

อาร์ม “อาจารย์ได้เล่าถึงการเป็นนักร้องลูกกรุงในยุคนั้นกับบทบาทของนักแต่งเพลง สองบทบาทนี้เกี่ยวข้องอะไรยังไงครับ?”

อ.สติ “นักร้องในยุคนั้นเรารู้สึกว่าฟังเสียงแต่ละท่านไม่เหมือนกัน เสียงของครูสุเทพ ก็แบบหนึ่ง ครูธานินทร์ก็อีกแบบหนึ่ง เราก็แค่ฟังว่าเพราะทั้งสองคน เพราะคนละอย่าง คราวนี้ว่าบริษัทให้เราแต่งเพลง ตอนนั้นนึกไม่ออกว่าจะแต่งอะไร แต่ว่ามันเป็นอาชีพ ไม่แต่งก็ไม่มีเงินซื้อข้าวกิน ไปนั่งนึกว่าจะแต่งอะไร ก็เอาระดับเสียงของนักร้องแต่ละท่านมานั่งนึกดูว่าจะเหมาะกับคนนั้นคนนี้ยังไง บางคนเสียงสูงสวย บางคนเสียงกลาง”




อาร์ม “แปลว่าการแต่งเพลงให้นักร้องลูกกรุงแต่ละท่าน ดูตามบุคลิกเสียงของนักร้องด้วย”

ครูธานินทร์ “คือสมัยก่อนนักแต่งเพลงสักคนจะแต่งเพลงให้นักร้องคนใดคนหนึ่งร้อง เขาจะดูน้ำเสียงก่อนว่าเพลงที่แต่งจะเหมาะกับนักร้องคนไหน คือพี่ติ เนรัญชรา ไม่ได้แต่งเพลงให้ผมคนเดียวหรือพี่เทพคนเดียว มีทั้งพี่รี่ (สวลี ผกาพันธุ์) คุณชรินทร์ สมัยก่อนจะร้องเพลงของเนรัญชราเยอะมาก คือเอกลักษณ์ของพี่ติ เนรัญชรา ทุกถ้อยวลีมีสัมผัสนอก สัมผัสใน เนื้อร้องทำนองจะคล้องจองกัน ความหมายก็ดีมาก อย่างเพลงพี่ติที่พี่เทพเคยร้องไว้แล้วผมนำมาร้องใหม่ก็มีหลายเพลง อย่างเพลง “ลาทีความระทม” ถ้อยหคำสวยมาก...ฉันทนเจ็บช้ำระกำอกร้าวเมื่อคราวสูญสิ้น เฝ้ากินน้ำตาขมขื่น ฉันทนปวดใจทนทุกวันคืน สบหน้าสะอื้น กล้ำกลืนแต่ความทุกข์ระทม... คือพี่ติได้เปรียบนักแต่งเพลงคนอื่นที่เป็นโน๊ต แกจะเขียนเมโลดี้ก่อน ก่อนที่จะมาแต่งเนื้อ คำมันถึงไปกันได้หมดเลย”

อาร์ม “อาจาร์ยอยากจะฝากอะไรถึงนักแต่งเพลงยุคปัจจุบันบ้างไหมครับ”

อ.สติ “ต้องซื่อสัตย์ต่ออาชีพนี้ บางคนไปลอกเขามาแล้วก็อ้างว่าเป็นของตัวเอง มันเป็นบาป”




อาร์ม “คือต้องซื่อสัตย์ในอาชีพ”

อ.สติ “ใช่ ซื่อสัตย์ในอาชีพ แล้วในสมัยนี้ความไพเราะมันก็อีกแบบหนึ่ง หนักไปทางด้านจังหวะก็สนุกสนาน แล้วก็มีเพลงช้าน้อยมาก แต่ยังไงก็อย่าให้มีคำหยาบโลน หยาบกระด้าง ให้ใช้คำสุภาพ ใช้ภาษาสวย ๆ ให้มันจบแบบมีความหมาย”

และนี่คือเรื่องราวของ ครูเนรัญชรา หรือ อาจารย์สติ สติฐิต ผู้ประพันธ์บทเพลงลูกกรุงอันไพเราะมากกว่า ๑,๐๐๐ บทเพลง มอบให้คนจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบันนี้ ชะโลมจิตใจของคนได้มากมาย พูดไ้ด้เต็มปากว่าเป็นเพชรอีกหนึ่งเม็ดที่งดงามในวงการเพลงลูกกรุงไทย ต้องขอบคุณศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ผู้ประพันธ์เพลงไทยสากล) ปี ๒๕๖๒ อาจารย์สติ สติฐิต ครับ และต้องขอบคุณผู้ร่วมส่งเสริมศิลปะแผ่นดินเชิดชูศิลปินแห่งชาติ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม และกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม”


ข้อมูลจากรายการ "คุณพระช่วย















บทเพลงแห่งชีวิตของ "สุเทพ วงศ์กำแหง" (ตอนหนึ่ง)
สัมภาษณ์โดย... ประภัสสร เสวิกุล


รายการวงวรรณกรรมในวันนี้ได้รับเกียรติอย่างสูงจากศิลปินแห่งชาติ ซึ่งอยู่คู่กับวงการบันเทิงมาเนิ่นนาน คือ คุณสุเทพ วงศ์กำแหง พี่เทพร้องเพลงไว้อย่างมากมาย สักประมาณเท่าไหร่ครับ

สุเทพ เกือบ ๕,๐๐๐ เพลง กำลังรวบรวมหลักฐานอยู่

คงต้องมีการบันทึกไว้ในกินเนสส์บุคส์แล้วมังครับ มาถึงเรื่องงาน "คอนเสิร์ตแห่งชีวิตกับ สุเทพ วงศ์กำแหง" อยากจะเรียนถามถึงที่มาของงานนี้

สุเทพ ความจริงแล้วจะต้องทำคอนเสิร์ตทุกปีอยู่แล้ว ทีนี้เมื่อปีที่แล้วไม่ได้ทำ ก็เลยเลื่อนมาปีนี้ พอถึงปีนี้ ก็คิดได้ว่าเราเริ่มร้องเพลงมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ นี่ก็ปี พ.ศ. ๒๕๔๕ แล้วมันก็ครบ ๕๐ ปีแล้ว ก็มาคิดว่างานที่จะทำควรจะเป็นอะไร ก็มาคิดว่าครั้งหนึ่งเคยไปประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๐ แล้วกลับมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๓ และก็มีเพลง ๆ หนึ่งที่ทำให้เกิดมีชื่อเสียงขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งก็คือเพลง "จะคอยขวัญใจ" ซึ่งเป็นเพลงของครู "เนรัญชรา" ซึ่งมีชื่อจริงว่า สติ สติฐิต เขาแต่งเพลงนี้ให้ร้องก่อนไปญี่ปุ่น พี่ก็ร้องให้ทางทีวีช่อง ๕ ตอนนั้นเป็นช่อง ๗ ขาว-ดำ จำได้ว่านอนร้องอยู่บนแคร่ไม้ไผ่ ร้องจบแล้วก็ไปญี่ปุ่นก็นึกไม่ถึงว่ากลับมาแล้วจะต้องมาร้องเพลงนี้ ก็มีคนมากระซิบบอกว่า เทพไปญี่ปุ่น มีคน ๆ หนึ่งเขาแต่งเพลงไว้ให้ร้อง แต่ยังไม่ได้ร้องให้เขาเลย ร้องแค่ออกทีวีให้เขาครั้งเดียว ตอนนี้เขาคอยอยู่ ก็ทำให้นึกภาพออกว่าเป็นเพลงนี้ จึงได้ตั้งใจร้องอย่างดี เพราะอย่างน้อยก็เห็นคุณค่าแห่งการรอยคอย เพราะเขาคอยเราอยู่ถึง ๓ ปีเขายังคอยได้ บังเอิญเพลงนี้ก็เกิดฮิตขึ้นมาทำให้กลับมาดังได้อีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ไปญี่ปุ่น ชื่อเสียงก็ซบเซาไปพักหนึ่ง




แปลว่า ๓ ปีนี้ เพลงนี้ก็ยังรอพี่อยู่

สุเทพ ครับ เพราะยังไม่ได้อัดไม่ได้อะไรเลย รอพี่อยู่กลับมาแล้วจึงมาอัด ก็มาฮิตอีกครั้งหนึ่ง เพลงของ "เนรัญชรา" มีเยอะมาก แล้วก็ป้อนเข้ามาเรื่อย พวก "ลาทีความระทม" พรุ่งนี้ฉันจะรักเธอจนตาย" ก็ออกมาทำให้เรามีชื่อเสียงมากขึ้นทุกที ๆ เหมือนกับเราเป็นคู่บุญ พี่ก็นึกถึงว่าสิ่งที่เราไม่ควรจะลืม ก็คือ การนำเอาผลงานของครู "เนรัญชรา" มาร้องให้ฟัง ให้รู้ว่าเพลงที่เขาแต่งมันเป็นอย่างไรเพราะอย่างไร

ก็คงจะเห็นภาพและได้ยินเสียงของพี่สุเทพกันมาก แต่ภาพของครู "เนรัญชรา" คนคงจะเห็นได้น้อยมาก ครูอายุมากหรือยังครับ

สุเทพ เขาอายุเท่าพี่ครับ




แล้วพี่พบกับครูครั้งแรกเลยที่ไหนครับ

สุเทพ ความจริงเขาเป็นคนมีประวัติที่แปลก คือ แปลกที่เขาไม่ได้เป็นนักแต่งเพลงมาก่อน เขาเป็นคอนโทรลเลอร์ของสถานีวิทยุทหารอากาศ ซึ่งสถานีวิทยุทหารอากาศก็อยู่ในกองดุริยางค์กองทัพอากาศ เขาไปเป็นพนักงานวิทยุอยู่ที่ประจวบฯ แล้วถูกส่งตัวมาให้มาทำงานกับสถานีวิทยุทหารอากาศ ทุ่งมหาเมฆ และระหว่างที่เขาเดินเข้า-ออกกองทัพอากาศก็มีการซ้อมดนตรีของวงทหารอากาศ เขาฟังแล้วคงชอบใจ เกิดความรู้สึกเป็นสุขที่ได้ฟังเพลง เขาก็เที่ยวไปถามเพื่อน ๆ ที่เป็นนักดนตรี พี่ใย (น.ท.ปรีชา เมตไตรย์) ว่า โน้ตเขียนยากไหม พี่ใยก็สอนให้ ก็บอกว่าโน้ตตัวนี้มีค่าเท่ากับหนึ่งจังหวะ โน้ตตัวนี้สองจังหวะ สี่จังหวะ เขาก็เรียนด้วยตัวเองและในที่สุดเขาก็เขียนโน้ตเองได้ เขาแต่งเพลงเองได้ เขาไปเล่าให้ใครฟังก็ไม่มีใครเชื่อ บางคนเป็นนักดนตรีบอกอะไรกัน ผมเป็นนักดนตรีแท้ ๆ ผมยังเขียนโน้ตไม่ได้เลย หรือเขียนได้ก็ไม่รวดเร็วอย่างนี้ เขาก็ไม่ได้เรียนโน้ตมาก่อน แต่ทำไมเขียนได้จึงเป็นเรื่องที่แปลก เขาเริ่มต้นเขียนเพลงขึ้นมาหลายเพลง และก็ให้คนอื่นร้องบ้าง แต่ก็ไม่ได้รับความนิยมหรือไม่ฮิต ตัวเขาเองเขาก็ชอบร้องเพลง เขาก็พยายามที่จะร้องแต่ไปไม่ไหว ในที่สุดแล้วเขาก็เอามาให้พี่ ตอนนั้นพี่เป็นทหารอากาศและก่อนที่พี่จะลาออกจากทหารอากาศพี่บังเอิญไปเมืองจีนกับพี่สุวัฒน์ วรดิลก ในช่วงนั้น พอกลับมาทางเจ้านายก็ถามว่าคุณจะติดตะรางหรือคุณจะลาออก พี่ก็บอกว่าผมจะลาออก ก็ลาออกจากการเป็นทหาร คุณ "เนรัญชรา" เอง เขาก็เป็นทหาร เขาก็เอาเพลงมาให้ร้อง ความผูกพันมันอยู่ตรงนี้




เพลงแรกของคุณ "เนรัญชรา" ที่พี่ร้องคือเพลงอะไรครับ

สุเทพ เพลง "จะคอยขวัญใจ"

ที่กองดุริยางค์ทหารอากาศนี่มีศิลปินหลายคนที่เกิดจากที่นี่ ครูสง่า อารัมภีร ครูสุรพล สมบัติเจริญ ครูปรีชา เมตไตรย์ ครูถวัลย์ วรวิบูลย์ พี่เทพเอง และครู "เนรัญชรา" นี่ด้วย พูดถึงงาน "คอนเสิร์ตแห่งชีวิตฯ" จะมีรูปแบบเป็นอย่างไรครับ

สุเทพ พี่ได้รวบรวมเอาเพลงของคุณ "เนรัญชรา" ทั้งหมดที่ฮิต ๆ มาวางขึ้นต้น ตรงกลางและลงท้ายให้มันสอดคล้องกัน ในที่สุดก็ได้เป็นเรื่องขึ้นมา ก็เป็นเรื่องของผู้ชายคนหนึ่งที่ไปรักผู้หญิง จวนจะมีความสุขด้วยกันอยู่แล้ว ก็มีแฟนเก่ามาตามเอาคืนไป ผู้ชายก็อกหัก ก็ทำเป็นคอนเซ็ปต์ตรงนี้ขึ้นมา ตั้งเอาไว้ ก็ทำได้ประมาณ ๓๐ เพลง มีพี่ มีพี่สวลี (ผกาพันธ์) มีคุณสุวัจชัย (สุทธิมา) รวม ๓ คน ที่เหลืออีก ๒๐ เพลง ก็ให้คนอื่นที่เขาเคยร้องเพลงฮิต ๆ อย่าง ธานินทร์ (อินทรเทพ) เขาร้องเพลง "จากเจ้าพระยาถึงฝั่งโขง" เอาเนื้อร้องของคุณสนธิกาญจน์ กาญจนาสน์ มา คุณ "เนรัญชรา" มาใส่ทำนองซึ่งเพราะมาก ๆ ก็อิจฉาคุณสนธิกาญจน์ ซึ่งถ้าเขายังมีชีวิตอยู่ เขาจะรู้ว่าเพลงของเขาดีเหลือเกิน




มีเพลงสักกี่เพลงครับ

สุเทพ ๕๐ เพลง

รายได้ตรงนี้นำไปทำอะไรบ้างครับ

สุเทพ พี่มอบให้คุณ "เนรัญชรา" เพื่อจัดตั้งมูลนิธิเนรัญชรา เพราะท่านเป็นคนที่ลำบาก แต่ท่านไม่พูด

เป็นเรื่องปกติของครูเพลงไทย

สุเทพ แปลกจริง ๆ พี่แจ๋ว (สง่า อารัมภีร) ก็ไม่ค่อยพูด พี่สมาน (สมาน กาญจนะผลิน) ก็ไม่ค่อยพูด แต่จะมีคนคุยเก่งคือ คุณชาลี อินทรวิจิตร




ครูสง่า อารัมภีรและครูสมาน กาญจนผลิน นักประพันธ์เพลงคู่บุญ
เจ้าของฉายา "เพลงรัก...ครูสมาน เพลงหวาน...ครูสง่า"
ภาพจากเวบ komchadluek.net


ก็ถือว่าต้องเป็นหน้าที่ของลูกศิษย์ที่ต้องอุปการะ ขอถามต่อไปว่า ผลตอบแทนของนักร้องนี่คุ้มค่าไหมครับ

สุเทพ ผมเคยคิดเหมือนกันว่า ที่ผ่าน ๆ มา เราเป็นนักร้องเราถูกเจ้าของบริษัททำเทปเอาเปรียบ เอาแผ่นเสียงมาอัดลงเทป มาอัดลงซีดี และยังมีวีซีดี ซึ่งมันก็จะพัฒนาไปเรื่อย แต่สิ่งหนึ่งที่เราถูกเอาเปรียบอยู่ตลอดเวลาก็คือ การที่เขานำไปทำโดยไม่ได้ขออนุญาตเราเลย แล้วไม่มีอะไรตอบแทนมาให้เราด้วย หมายถึงเขาซื้อเพลงตอนที่ทำแผ่นเสียงไปครั้งเดียวบางเจ้าบอกว่าต้นฉบับเดิม พ.ศ. ๒๕๑๖

สุเทพ ความจริงพี่ร้องเพลงตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ แล้วอัดแผ่นเสียงจริง ๆ ประมาณ ปี ๒๔๙๖ และในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ เพลงฮิตก็มี "รักคุณเข้าแล้ว" เป็นเพลงที่สมาน กาญจนะผลิน และครูสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ และที่พี่เลือกเป็นทหารอากาศก็เพราะเพลงนี้




เพลงนี้รู้สึกจะกลายเป็นเพลงนานาชาติไปแล้วครับ คงต้องคุยกับพี่ถึงเรื่องความเป็นมาในอดีต พี่สุเทพนี่เรียกได้ว่าเป็นศิลปินเต็มตัว นอกจากจะร้องเพลงแล้ว ภาพยนตร์ก็แสดง

สุเทพ เป็นผลพลอยได้มั้งครับ สมัยก่อนเขามักจะคว้าเอาคนดัง ๆ อย่างผมนี่ร้องเพลงฮิตหน่อย เขาก็เลยมาชวนไปเล่นหนัง ผู้ใหญ่เขาเอ็นดู เล่นก็เล่น

บทสัมภาษณ์ข้างบนนี้มาจากหนังสือ "วิทยุสราญรมย์” ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๑๕ (เมษายน-มิถุนายน ๒๕๔๕) นับเวลาแล้วก็ ๑๐ ปีเต็ม ๆ ตัว ส.ท่าเกษม นั้นเป็นแฟนงานเขียนของ คุณประภัสสร เสวิกุล บรรณาธิการของหนังสือฉบับนี้ ติดตามอ่านนวนิยาย งานวรรณกรรมของท่านใน นิตยสารสกุลไทย ตั้งแต่อยู่ประเทศไทย

นอกจากจะเป็นนักประพันธ์รุ่นครูบาอาจารย์แล้ว อาชีพประจำของท่านคือ นักการทูตซึ่งทำให้มีประสบการณ์และวัตถุดิบจากการเดินทางไปประจำยังประเทศต่าง ๆ




มีคุณผู้อ่านถามกันมาว่า แปรพักตร์เสียแล้วหรือ ? เห็นเขียนแต่เพลงสากล ระยะหลังนี้คอลัมน์ "คุยกันวันเสาร์” ไม่เขียนถึงเพลงไทยเลย ยังเหมือนเดิมทุกประการ ! เพียงแต่มีโอกาสได้ไปดูโชว์ของนักร้องที่นิยมชมชอบสมัยอยู่เมืองไทย จึงถือโอกาสที่ยังมีเวลาเหลืออยู่ (ทั้งคนร้องและคนฟัง) เดินทางไปหาความสำราญ เพราะชีวิตนั้นสั้นนัก เมื่อยังมีลมหายใจอยู่ก็หาความสุขท่องเที่ยวไปเรื่อย ๆ เป็นกำไรชีวิต !

นำรูป "หัวใจ” ผลงานของ ร.ต.สุเทพ วงศ์กำแหง มาลงซ้ำ หลังจากเคยลงมาแล้วในคอลัมน์ "รอวัน...ที่ใจเต็มดวง” ไม่ได้ใส่ชื่อเจ้าของภาพที่แท้จริง เลยโดนเผาจากคนที่ ส.ท่าเกษม เคยมอบสัมพันธไมตรีให้ด้วยความจริงใจ บทเรียนที่ได้รับคือ "รู้หน้าแต่ไม่รู้ใจ”

ลาก่อนสำหรับเสาร์นี้
ส.ท่าเกษม
พฤษภาคม ๑๒ ’๑๒


ข้อมูลจาก https://www.thailanewspaper.com/article/saturday/1392.php













"สันติ บุตรไชย" ได้เขียนเล่าเอาไว้ในหนังสือ "นักเขียนเพลงเพื่อชีวิต" อย่างน่าสนใจว่า

"ครั้งหนึ่งครูประเดิม เขมะศรีสุวรรณ เจ้าของฉายาโฆษกทั่วราชอณาจักร แม้มีความสามารถในด้านนี้แต่ขณะประกาศรายชื่อ เขาต้องยอมรับว่า นามสติ สติฐิต อ่านยากจริง ๆ"

"เขาประกาศรายชื่อได้คล่อง แต่พอมาถึงชื่อผม เขาถึงกับอึ้งไปก่อนจะค่อยๆ อ่าน ทำให้ผมเริ่มคิดว่าต้องใช้นามปากกาแทน คือผมชอบลีลาเพลงที่มีคนบอกว่ามันเรื่อยไหล มีลีลา โยกคลอนเหมือนกับสายน้ำ ผมเลยคิดว่าควรใช้เกี่ยวกับแม่น้ำ..นามปากกา "เจ้าพระยา" ถูกคิดขึ้นมาแวบแรกในห้วงคำนึง แต่แล้วเมื่อมานึกต่อไปว่า นามนี้มันประหนึ่งบรรดาศักดิ์หรือศักดินาที่เขาไม่นิยม จึงตัดสินใจเปลี่ยนอีกครั้งมาเป็นเนรัญชรา"




เพลงที่ครู "ทีฆา โพธิเวส" นำไปให้วงดนตรีลูกฟ้าบรรเลงเพลงหนึ่งนั้น คือเพลงจะคอยขวัญใจ ซึ่งขับร้องครั้งแรกโดย "ธรรมนูญ ปุงคานนท์" และต่อมา "สุเทพ วงศ์กำแหง" นำไปขับร้องออกอากาศสด ๆ ในงานวันเปิดสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง ๕ แล้วก็เดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศญี่ปุ่นเลย จึงยังไม่มีโอกาสบันทึกแผ่นเสียงแต่อย่างไร ครูเนรัญชราต้องรอจนสุเทพ วงศ์กำแหง เดินทางกลับมา จึงมีโอกาสได้บันทึกแผ่นเสียง และแจ้งเกิดในวงการแต่งเพลงตั้งแต่นั้นมา




ครูเนรัญชราเล่าเหตุการณ์ตอนนี้เอาไว้ด้วยว่า

"...เพลงแรกที่แต่งชื่อเพลงจะคอยขวัญใจ แต่กว่าจะได้อัดเสียงก็คอยแล้วคอยเล่า ทางบริษัทกมลสุโกศลไม่เชื่อฝีมือไม่รับไว้ หัวหน้าวง พ.ต.ท.ทีฆา โพธิเวส ได้จดโน้ตเพลงจะคอยขวัญใจแล้วเชิญให้คุณสุเทพ วงศ์กำแหงร้องสดในวันเปิดสถานีทีวีสนามเป้า คุณสุเทพขับร้องได้ไพเราะมาก ดีใจที่สุดที่ได้ชมในวันนั้น แต่ก็ยังไม่ได้บันทึกแผ่นเสียง คุณสุเทพเดินทางไปศึกษาต่อที่ญี่ปุ่น"

"จนคุณสุเทพกลับมาจากที่ญี่ปุ่นทราบว่าเพลงจะคอยขวัญใจยังไม่มีใครร้อง คุณสุเทพ สงสารมาก ไปบอกกับทางบริษัทกมลสุโกศลและรับรองว่าจะทำให้เพลงนี้ขายได้ จะร้องให้ทั้งแผ่น ๗๘ และลองเพลย์ ก็เลยประสบความสำเร็จ โดยรอมาเกือบสามปี"

ถ้าคุณสุเทพไม่ช่วย ก็ไม่มีนักแต่งเพลง "เนรัญชรา"


ข้อมูลจาก
บล็อกนายยั้งคิด













จ่าอากาศเอก สติ สติฐิต (เกิด ๒๔ ธันวาคม ๒๔๗๗) ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ผู้ประพันธ์เพลงไทยสากล) ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๒ นักแต่งเพลงชาวไทยเจ้าของรางวัลเสาอากาศทองคำพระราชทาน เจ้าของนามปากกาที่บรรดาแฟนเพลงรู้จักกันคือ ครูเนรัญชรา ซึ่งได้ประพันธ์เพลงดัง ๆ ไว้มากมายอาทิ หยาดน้ำฝนหยดน้ำตา บ้านของเรา ฤทธิ์กามเทพ เป็นต้น




ครูเนรัญชราเกิดเมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ ที่ ตำบลบ้านแพน อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจาก โรงเรียนวัดราชาธิวาส จากนั้นจึงได้เข้าศึกษาต่อจนจบการศึกษาจาก โรงเรียนจ่าอากาศ และได้ไปประจำการที่ กองบินน้อยที่ ๕ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จนกระทั่งลาออกจากราชการด้วยยศ จ่าอากาศเอก เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐

เมื่อลาออกจากราชการทหารอากาศครูเนรัญชราจึงได้ผันตัวมาเป็นนักแต่งเพลงแบบเต็มตัวโดยได้เรียนการเขียนโน้ตเพลงจากนักดนตรีในกองดุริยางค์ทหารอากาศจนสามารถเขียนโน้ตเพลงได้โดยไม่ต้องเทียบเสียงกับเปียโน




โดยเพลงแรกที่ประพันธ์ขึ้นและสร้างชื่อเสียงให้คือเพลง จะคอยขวัญใจ จากเสียงร้องของ สุเทพ วงศ์กำแหง ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ขับร้องเพลงไทยสากล) ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๓๓ นอกจากนี้ท่านยังได้ประพันธ์เพลงให้กับนักร้องลูกกรุงชื่อดังอีกหลายคนอาทิ นิทัศน์ ละอองศรี สวลี ผกาพันธุ์ จินตนา สุขสถิตย์ มนูญ เทพประทาน ธานินทร์ อินทรเทพ รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส เป็นต้น


ผลงานเพลงจากปลายปากกาของครูเนรัญชรา

หยาดน้ำฝนหยดน้ำตา
เขตฟ้าเขตฝัน
ฤทธิ์กามเทพ
บ้านของเรา
จะคอยขวัญใจ
หนี้เสน่หา
ดอกฟ้าผกาดิน
เศรษฐีน้ำตา



ข้อมูลจาก
wikipedia.org











บีจีจากเวบ wallcoo กรอบจากคุณ somjaidean100

Free TextEditor





Create Date : 13 ธันวาคม 2563
Last Update : 5 มีนาคม 2564 19:18:41 น. 0 comments
Counter : 3967 Pageviews.

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณฟ้าใสวันใหม่, คุณSleepless Sea, คุณmultiple, คุณเริงฤดีนะ, คุณปรศุราม, คุณไวน์กับสายน้ำ, คุณtoor36, คุณThe Kop Civil, คุณหอมกร, คุณทนายอ้วน, คุณสองแผ่นดิน, คุณnewyorknurse, คุณสายหมอกและก้อนเมฆ, คุณออโอ, คุณมาช้ายังดีกว่าไม่มา, คุณSai Eeuu, คุณกะว่าก๋า, คุณmcayenne94, คุณkae+aoe, คุณtuk-tuk@korat, คุณภาวิดา คนบ้านป่า, คุณTui Laksi, คุณทุเรียนกวน ป่วนรัก, คุณแมวเซาผู้น่าสงสาร


haiku
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 161 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add haiku's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.