happy memories
Group Blog
 
 
ธันวาคม 2548
 
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
16 ธันวาคม 2548
 
All Blogs
 
ชีวิตและผลงานของครูแจ๋ว

ประวัติชีวิตและผลงานของครูสง่า อารัมภีร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล) จากหนังสือ "คอนเสิร์ตเชิดชูครูเพลง ครั้งที่ ๓"



นายสง่า อารัมภีรหรือที่รู้จักในนามแฝงว่า แจ๋ว วรจักร เป็นคนกรุงเทพฯโดยกำเนิด บรรพบุรษมีเชื้อสายมาจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เกิดที่ตำบลบางขุนพรหม เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๔ บิดาชื่อสมบุญและมารดาชื่อพิศ ตระกูลฝ่ายบิดามีอาชีพในการทำดอกไม้ไฟ และฝ่ายมารดามีอาชีพทำนา มีพี่น้องท้องเดียวกันรวมทั้งนายสง่า ๗ คน นายสง่าเป็นคน ๓ และเป็นบุตรชายคนโต มีพี่สาว ๒ คน น้องสาว ๑ คนและน้องชาย ๓ คน เมื่อเกิดมานั้น บิดามารดาเห็นว่าเป็นเด็กมีชะตาแรง ด้วยความเชื่อถึอในเรื่องโหราศาสตร์ จึงได้ยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของนาวาอากาศเอก ขุนสวัสดิ์ทิฆัมพร และ ม.ล. ทรงสอางค์ ทิฆัมพร ทั้งยังได้มีการเปลี่ยนดวงชะตามาเป็นคนเกิดวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ โดยเชื่อว่าจะทำให้ชีวิตของนายสง่าดีขึ้นด้วยประการทั้งปวง

ชีวิตในระยะแรกเริ่มอยู่ในภาวะขัดสน ได้เรียนหนังสือแต่ไม่ได้สอบไล่หลายครั้ง เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าเล่าเรียน จนเมื่อมาอยู่กับบิดามารดาบุญธรรมแล้วความเป็นอยู่จึงสะดวกสบายขึ้น นับเป็นโชคดีอย่างหนี่งที่นายสง่าเกิดที่ตำบลบางขุนพรหม ซึ่งยุคที่เป็นเด็กนั้นเขตบางขุนพรหมเป็นหมู่บ้านแห่งนักดนตรี เริ่มจากวังบางขุนพรหมซึ่งเป็นที่ประทับของสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต อันเป็นสถานที่มีวงดนตรีบรรเลงเป็นประจำ ทั้งวงปี่พาทย์ มโหรี เครื่องสาย จนถึงแตรวงบรรเลงเพลงไทยและเพลงฝรั้ง นายสง่าก็ได้ยินได้ฟังเพลงไพเราะดังออกมาจากเขตวังนั้นมิได้ขาด นอกจากนี้เขตใกล้เคียงอันเป็นที่ตั้งของวัดอินทรวิหาร วัดใหม่อมตรส วัดสามพระยายังเป็นที่อยู่ของนักดนตรีกลุ่มเครื่องสายที่สำคัญหลายบ้าน อาทิ บ้านของหลวงเสนาะไพเราะเสียงซอ (อุ่น โรยชีวิน) บ้านหลวงเสียงเสนาะกรรณ(พัน มุกตวาภัย) บ้านขุนสนิทบรรเลงการ (จง จิตตเสวี) และครูละเมียด จิตเสวี บ้านของนายเตียง ธนโกเศศ เรื่อยมาถึงบ้านพิณพาทย์ในซอยวัดสามพระยา เสียงดนตรีจึงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตในวัยเด็ก ซึ่งฝังลึกติดตัวเรื่อยมา ประกอบกับบิดามารดาบุญธรรมเป็นผู้รักดนตรี สรรหาเครื่องเล่นจานเสียงเพลงไทยเพลงฝรั่งมาไว้ฟังเล่นในบ้าน เสียงเพลงจึงเป็นเพื่อนนายสง่ามาตั้งแต่วัยเด็ก ได้ฟังเพลงของ “พรานบูรพ์” อันเป็นเพลงไทยสากลในระยะแรกเริ่ม ซึ่งแต่งขึ้นเป็นเพลงประกอบภาพแสดงละครมากเป็นพิเศษ จึงฝังใจในเพลงประกอบละครเรื่อยมา





การศึกษา


นายสง่าเริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนเทียนธูปพลี ซึ่งอยู่ในย่านบางขุนพรหม การเล่าเรียนอยู่ในเกณฑ์ดีมาก อ่านหนังสือแตกฉานมาตั้งแต่เล็ก ต่อมาบิดามารดาบุญธรรมย้ายไปราชการที่จังหวัดลพบุรี จึงเรียนหนังสือที่บ้านโดยมารดาบุญธรรมเป็นผู้สอน โดยเฉพาะภาษาไทยนั้นได้เรียนก้าวหน้าไปไกลมาก ได้สอบเทียบชั้นมัธยมปีที่ ๓ ได้ และได้เริ่มเข้าฝึกงานแก้เครื่องยนต์ที่หมวดซ่อมของกองบินน้อยที่ ๔ โคกกระเทียม จังหวัดลพบุรี สมัยนั้นเห็นว่าการเรียนได้อ่านออกเขียนได้ เป็นที่พอใจแล้วจึงฝึกงานอาชีพ การศึกษาในโรงเรียนจึงจบลงเพียงนั้น

ในเรื่องของการศึกษาวิชาดนตรี กล่าวได้ว่านายสง่าเรียนด้วยตนเองมาโดยตลอด เริ่มจากการฟังเพลงซึ่งมีแผ่นเสียงเพลงประกอบละครเป็นพื้น ได้แก่ เพลงพรานบูรพ์ซึ่งมีนางสาวประทุม ประทีปะเสนเป็นนักร้องสำรคัญ ต่อมาเป็นแผ่นเสียงเพลงละครเรื่องต่าง ๆ ของหลวงวิจิตรวาทการ เพลงจากภาพยนตร์เสียงศรีกรุงของเรือโทมานิตย์ เสนะวีณิณ และขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) ยุคนั้นเป็นยุคของเพลงละครทั้งหมด รวมทั้งละครร้องในแนวเก่าของกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ละครแม่เลื่อน แม่บุนนาค เป็นต้น ทั้งหมดนี้จัดได้ว่าเป็นครูด้วยประสบการณ์การฟังเท่านั้น

นายสง่าเป็นผู้รักการอ่านหนังสือ (เรียกได้ว่าหนอนหนังสือมาตั้งแต่อายุ ๑o ขวบ) หนังสือนิยายยุคนั้นไม่ว่าจะเป็นของดอกไม้สด แม่อนงค์ แม่ราตรี ยาขอบ ตลอดจนหนังสือวารสารเช่น เสนาศึกษาก้อ่านจนหมด ทั้งวรรณคดีเก่าก็มิได้ละเว้น จึงเป็นผู้มีประสบการณ์กับภาษาไทยในแนวลึก ชอบโคลง ฉัทน์ กาพย์ กลอน และรักบทประพันธ์ประเภทกาพย์ห่อโคลงมากเป็นพิเศษ สามารถที่จะเขียนบทความ เรียบแรียงบทกลอนต่างๆได้ตั้งแต่ยังอยู่ในวัยรุ่น ในระหว่างที่เรียนแก้เครื่องยนต์นั้น จิตใจมิได้อยุ่กับเครื่องยนต์เลย อ่านหนังสือหรือได้ยินใครบรรยายถึงสถานที่แห้งใดงามน่าชม จิตใจก็อยากจะออกไปชมให้เห็นกับตา ดังนั้น ในปี ๒๔๗๙ ขณะที่ผู้ปกครองไปธุรกิจที่กรุงเทพฯ นายสง่าจึงออกจากบ้านไปท่องเที่ยวตามลำพัง รับจ้างทำงานคุมเครื่องเรื่อยนต์ที่บ้านแหลม เพชรบุรีจนถึงปี ๒๔๘o จึงกลับบ้านและเข้ารับราชการทหารถึงปี ๒๔๘๓

การเข้ารับราชการทหารที่ลพบุรีนนนั้น กองบินน้อยที่ ๔ โคกกระเทียมมีเรืออากาศเฉลิมเกียรติ วัฒนางกูรเป็นหัวหน้าหน่วย จัดให้มีวงดนตรีบรรเลงเพื่อความรื่นเริงของหน่วยงานขึ้น นายสง่าเป็นนักร้องประจำก่อนที่จะได้เรียนดนตรี เพราะมีพื้นเดิมสามารถร้องเพลงเก่า ๆ ได้แม่นยำมาก่อน เมื่อว่างการร้องเพลงก็ถือโอกาสหัดเป่าปี่สั้น ปี่ปิคโกโล่ พื้นเดิมที่ได้ยินมามากตั้งแต่เด็ก ทำให้เรียนได้รวดเร็วมาก

วันที ๗ มิถนายน พ.ศ. ๒๔๘๔ บิดามารดาบุญธรรมได้ย้ายกลับเข้ามาประจำกองทัพอากาศที่กรุงเทพฯ นายสง่า อารัมภีร์ได้ติดตามลงมาด้วย และในปีนี้เองก็ได้เรียนดนตรีอย่างจริงจังกับครูคนแรกในชีวิตคือ เรืออากาศโทโพธิ์ ศานติกุล ด้วยเหตุที่มีความรักและความตั้งใจในการเรียนดนตรี นายสง่าแม้จะอายุน้อยเกินกำหนดการเป็นนักเรียนดุริยางค์กองทัพอากาศ ครูก็เมตตาให้เป็นนักเรียนพิเศษประเภทฝากเรียน ซึ่งได้เรียนดนตรีจริงจังเป็นครั้งแรก ประกอบกับระยะนั้นรัฐบาลได้มอบหมายให้กองทัพอากาศสร้างภาพยนตร์ เรื่องบ้านไร่นาเรา จากโครงเรื่องของจอมพลป. พิบูลสงคราม มีพระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยกร) เป็นผู้แต่งทำนองเพลงประกอบ และขุนวิจิตรมาตราเป็นผู้แต่งเนื้อร้อง นายสง่าจึงได้เข้าถึงการประพันธ์เพลงชั้นเอกของยุค ด้วยการสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิด ยอมตัวเป็นผู้รับใช้ท่านทั้งสองและหาโอกาสต่าง ๆ ที่จะเรียนจากท่าน จนแม้แต่กระดาษโน้ตที่เป็นลายมือของพระเจนดุริยางค์ร่างทำนองต่าง ๆ นายสง่าก็เก็บไว้บนหิ้งบูชา การได้คลุกคลีกับวงการภาพยนตร์ครั้งแรกได้ข้อแนะนำมา นอกจากได้เรียนรู้เรื่องเพลงประกอบภาพยนตร์เป็นครั้งแรกแล้ว ยังได้ร่วมเป็นตัวแสดงประกอบอีกด้วย นับเป็นประสบการณ์ครั้งแรก ที่ชี้ชะตาแนวการดำเนินชีวิตการดนตรีประกอบการแสดงครั้งแรกของนายสง่า ซึ่งดำเนินต่อมาจนประสบความสำเร็จเป็นนักประพันธ์เพลง

ครูที่ได้เป็นตัวอย่างในการเรียนรู้วิธีประพันธ์เพลง นอกจากครูโพธิ์ ศานติกุล (โพธิ์ดำ) แล้ว ยังมีอีกท่านหนึ่งคือ ครูโพธิ์ ชูประดิษฐ์ (โพธิ์ขาว) ท่านผู้นี้เป็นนักประพันธ์ทำนองเพลงไทยสากลของกองดุริยางค์ทหารอากาศรุ่นนั้น ส่วนบทร้องประพันธ์โดยนักเขียนคนสำคัญที่ใช้นามปากกาว่า เวทางค์ หรือเรืออากาศโท ทองอินทร์ บุณยเสนา อีกสองท่านที่ต่อมาเป็นบุคคลสำคัญคือ ครูเนรมิต (อำนวย กัสสนิมิ) กับครูมารุต (ทวี ณ บางช้าง) เพียง ๖ - ๘ ท่านที่นายสง่า อารัมภีรได้ใกล้ชิดในระหว่างที่อยู่กองดุริยางค์กองทัพอากาศยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ นั้น ก็เพียงพอที่จะตักตวงความรู้และประสบการณ์ในการประพันธ์เพลง บรรเลงดนตรีได้ถึงชั้นแนวหน้าของดนตรีไทยสากล

นายสง่าได้เริ่มงานประพันธ์เพลงไทยสากลโดยเป็นผู้ช่วยอยู่ห่าง ๆ ในราชการบางครั้งต้องแต่งเพลงใหม่เพื่อใช้ในราชการก็ทำหน้าที่เป็นผู้แต่งบทร้อง และในปี ๒๔๘๕ นั้นเองจึงได้มีโอกาสรับใช้ใกล้ชิดพระเจน ดุริยางค์ (ปิติวาทยากร) เมื่อครั้งท่านไปทำงานที่โรงถ่ายภาพยนตร์ของทหารอากาศที่ทุ่งมหาเมฆ เป็นระยะที่ท่านเมตตาสองวิชาจะโน้ตเพลงของเสียงปิอาโนให้ และในปีนันนายสง่าก็สอบผ่านวิชาดนตรีปีที่ ๒ ไปได้ จากความตั้งใจจริงเอาใจใส่ฝึกฝนอย่างหนักต่อเนื่องกันเป็นเวลา ๓ - ๕ ปีจึงมีความรู้ทางดนตรีดีมากขึ้นเป็นลำดับ แทบจะเรียกได้ว่าออกหางานทำได้แล้วอย่างสบาย ครั้นในปี ๒๔๘๖ กองภาพยนตร์ทหารอากาศได้ตั้งโรงเรียนนาฏศิลป์ ธนบาลต้องการนำผู้บรรเลงเปียโนประกอบการเต้นรำ นายสง่า อารัมภีร์จึงได้ทำหน้าที่นั้น รวมทั้งนักเขียนนามปากกา "เวทางค์" ได้สอนให้หัดเขียนข่าวและเขียนหนังสือให้ ทั้งแนะนำให้รู้จักนักเขียนที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น ได้แก่ "ยาขอบ" "แม่อนงค์" "นายรำคาญ" "อาษา" "อุษณา เพลิงธรรม" "อรวรรณ" "เหม เวชกร" รวมทั้งพระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ผู้เป็นเจ้าของบริษัทภาพยนตร์ ทำให้รู้จักผู้คนกว้างขวางขึ้น อาศัยที่เป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตนและสามารถร่วมกับวงสุนทราภรณ์ได้ ความสนิทสนมจึงเพิ่มพูนมากขึ้น จนในที่สุดหนทางเข้าสู่วงการละครเวทีก็เปิดให้นายสง่า อารัมภีร์อย่างราบรื่นและกว้างขวาง

ทั้งหมดนั้นนับเป็นการเรียนดนตรีสากลจากประสบการ์ชีวิต โดยมีผู้แนะนำสั่งสอนให้หลายท่านด้วยความเตตา ทำให้ท่านมีความรู้ที่ลึกซึ้ง





ชีวิตการทำงาน


ในระหว่างที่รับราชการเป็นทหารอากาศนั้นได้ทำหน้าที่นักร้อง นักดนตรี ช่วยแต่งเพลงจนได้รับพระราชทานยศเป็นจ่าอากาศตรี เมื่อว่างราชการก็ออกเล่นดนตรีหารายได้พิเศษ ได้คุ้นเคยกับ "แก้วฟ้า" (แก้ว อัจฉริยกุล) "นารถ ถาวรบุตร" "เอื้อ สุนทรสนาน" ได้ช่วยงานครูนารถ ถาวรบุตรในการทำดนตรีสำหรับมหาอุปรากรเรื่อง ดารามณี ซึ่งพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาทรงนิพนธ์ขึ้นแต่ไม่ได้เปิดการแสดง สงครามทำให้ภาพยนตร์ขาดตลาด การละครเวทีจึงเข้ามาแทนที่บิดาบุญธรรมคือ นาวาอากาศเอกขุนสวัสดิ์ทิฆัมพรและคุณแม่พิศวงได้ก่อตั้งคณะละครศิวารมณ์ขึ้นในปี ๒๔๘๗ แสดงประจำที่ศาลาเฉลิมกรุงด้วยเรื่องนันทาเทวีเป็นเรื่องแรก ติดตามด้วยเรื่องพันท้ายนรสิงห์ ทำให้นายสง่าต้องทำหน้าที่นักดนตรี นักแต่งเพลงให้แก่คณะละครของบิดาและมารดาบุญธรรม ซึ่งให้วิชาดนตรีทางอ้อมมาตลอด และละครเรื่องพันท้ายนรสิงห์นี่เอง ส่งให้เพลง "น้ำตาแสงไต้" ของนายสง่า อารัมภีร์เด่นดังเป็นที่รู้จักกันไปทั่ว เพลงนี้นายสง่าอธิบายว่า ใช้ประสบการณ์จากทำนองเพลงไทยเดิมเขมรไทรโยคปนกับเพลงลาวครวญสร้างทำนองขึ้นใหม่ทั้งหมด ส่วนบทร้องเป็นครูเนรมิต ครูมารุต และสุรสิทธิ์ สัตยวงศ์ร่วมกันแต่ง

เพลงน้ำตาแสงไต้ไม่ใช่เพลงแรกที่นายสง่า อารัมภีร์แต่ง แต่เป็นบทเพลงแรกที่ประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่ กลายเป็นเพลงอมตะจนทุกวันนี้ เพลงแรกที่ท่านแต่งคือ "บัวงาม" แต่งช่วงน้ำท่วมใหญ่ปี ๒๔๘๕

แต่เนื่องจากนายสง่าได้เข้าไปมีบทบาทในคณะละครศิวารมย์จนได้รับความสำเร็จดังกล่าวมาแล้ว ทำให้เป็นงานประจำติดตัว ดังนั้น เมื่อกองทัพอากาศแต่งตั้งยศให้เป็นจ่าอากาศโท และกำลังย้ายที่ทำงาน คือกองดุริยางค์ทหารอากาศจากทุ่งมหาเมฆกลับไปดอนเมือง จึงตัดสินใจลาออกจากกองทัพอากาศ มาทำงานให้แก่วงการละครอย่างเต็มตัวในปี ๒๔๘๘ จากบรรดาเพื่อนร่วมงานที่เคยเรียนโรงเรียนดุริยางค์ทหารอากาศและทำงานร่วมกันมา และกำลังมีชื่อเสียงในวงการบันเทิงอันได้แก่ สุรพล แสงเอก ชูศรี มีสมมนต์ และไศล ไกรเลิศ เป็นอาทิ

ชีวิตของนายสง่า อารัมภีร์จึงหันเข้าสู่วงการละครเวที และผลิตผลงานเพลงละครเป็นงานหลักมาตั้งแต่ปี ๒๔๘๘ ในขณะที่เพื่อนร่วมงานอื่น ๆ ใช้ชีวิตในวงการดนตรอย่างสามัญคือ เล่น ร้อง แต่ง สำหรับบิรการทั่วไป แต่งานของนายสง่าเป็นงานศิลปะประยุกต์ทางดนตรีและละคร ซึ่งต้องอาศัยความสามารถพิเศษหลายประการมารวมกัน ต้องอาศัยความรอบรู้ในการดนตรี การแสดง และการจัดการแต่งเพลงให้พอเหมาะกับคุณภาพเสียงของนักแสดง ให้เหมาะกับบทบาทในการแสดงละครนั้น ดนตรีมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่ง มิฉะนั้นจะไม่สามารถดึงคนให้ชมละครอยู่ได้ถึง ๒ - ๓ ชั่วโมง ดังนั้น งานที่นายสง่าทำจึงจัดเป็นผลงานสร้างสรรค์เพื่อประชาชนอย่างแท้จริง

งานของคณะแสดงละครเป็นงานต่อเนื่อง บางครั้งต้องแบ่งการแสดง ๒ ที่หรือ ๓ ที่พร้อมกัน เพราะเมื่อมีชื่อเสียงประสบความสำเร็จในเพลงน้ำตาแสงไต้แล้ว คณะละครอื่นๆก็ขอร้องให้ช่วยแต่งเพลงให้ อันได้แก่ คณะเทพศิลป์ คณะชุมนุมศิลปิน ฯลฯ การแสดงเปิดที่โรงละครหลายแห่ง อาทิ ศาลาเฉลิมกรุง ศาลาเฉลิมบุรี พัฒนากร ศาลาเฉลิมนคร โรงละครเทียนกัวเทียน โรงละครไชบู๊ไท้ (มักแสดงละครจีนและเพลงสำเนียงจีน) เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง งานแสดงที่โรงละครเฉลิมไทยก็เด่นดังขึ้น เป็นโรงละครเอกในยุคนั้น งานแต่งเพลงก็เพิ่มขึ้นอีกเป็นทวีคูณ ทั้งเพลงที่ใช้ร้องในฉากจนถึงเพลงสลับหน้าม่าน (เวลาเปลี่ยนฉาก) ก็ต้องแต่งขึ้นใช้การ นับจำนวนเพลงที่ผลิตขึ้นในยุคนั้นไม่ต่ำกว่า ๒๕o เพลง

ความเป็นศิลปินของนายสง่า อารัมภีร์ไม่ได้มีแต่เพลงในเรื่องดนตรี แต่ยังเขียนบทความ ร่วมแต่งบทละครทั้งละครเวทีและละครวิทยุ ได้ร่วมแต่งเพลงกับเพื่อนร่วมอาชีพอีกหลายคนกว้างออกไปทุกที อาทิ ได้ร่วมงานกับ สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ ชาลี อินทรวิจิตร สมาน กาญจนผลิน ไศล ไกรเลิศ ได้ร่วมงานกับบิรษัทผลิตแผ่นเสียง ต.เง็กชวน นำไทย และกมลสุโกศล รวมทั้งฝึกฝนตนเองในวิชาถ่ายรูป สามารถเป็นช่างภาพ เรียนอัดล้างขยายและแต่งภาพขาวดำด้วยเส้นดินสอ โดยเรียนจาก ม.ล.ต้อย ชุมสาย และประชุม ชาตาบุตร์ ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่ถนนวรจักร และ ณ ที่นี้เองที่นายสง่าได้พบกับสุภาพสตรีนาม วิภา ชาติบุตร์ ภายหลังได้แต่งงานกันในปีพ.ศ. ๒๔๙o และอยู่ที่บ้านวรจักรนั้น ด้วยเหตุนี้เอง นามปากกาของนายสง่าจึงใช้เป็นประจำในวงการเขียนคอลัมน์ดนตรีและการละครว่า "แจ๋ว วรจักร" เป็นนามปากกาที่รู้จักกันทั่วไปมาจนทุกวันนี้ และมีผู้กล่าวกันว่านามปากกานี้ท่านตั้งขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความรักด้วย

ความสามารถของนายสง่า อารัมภรี์ค่อยๆปรากฏขึ้นทุกปีที่ผ่านไป งานที่ทำร่วมกับพระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคลกับบริษัทอัศวินภาพยนตร์ ละโว้ภาพยนตร์ของพระองค์เจ้าอนุสรณ์มงคลการ ช่วยส่งให้เพลงของนายสง่าเป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยการบันทึกแผ่นเสียงร่วมกับบริษัทดีคูเปอร์ ยอห์นสต้น บริษัทนำไท บริษัทกมลสุโกศล และห้าง เง็กชวนตรากระต่าย ได้คัดเลือกนักร้องที่เป็นนักแสดงบันทึกเสียงไว้มากมาย เช่น สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์ สวลี ผกาพันธุ์ ฉลอง สิมะเสถึยร อันเป็นผลงานในช่วงปีพ.ศ. ๒๔๙๑ - ๒๔๙๕

ครั้นถึงปีพ.ศ. ๒๔๙๖ ภาพยนตร์เริ่มมีบทบาทชัดเจนขึ้นและความนิยมละครลดน้อยลง พ.ศ. ๒๔๙๗ เริ่มมีการฉายภาพยนตร์จอใหญ่ ซินิมาสโคปที่เรียกว่าหนังจอยักษ์ คนก็เริ่มละจากวงการละครไปหาวงการภาพยนตร์ ปี ๒๔๙๗ เป็นปีที่ชาวคณะศิวารมย์ต่อสู้เพื่อแสดงละครเป็นยุคสุดท้าย ณ โรงละครศรีอยุธยา แต่ไม่ประสบความสำเร็จจึงต้องลาจากเวทีละครหันมาสู่ภาพยนตร์ และต้องแต่งเพลงอย่างเอกเทศเพื่อป้อนตลาดแผ่นเสียงต่อไป

เมื่อว่างงานแต่งเพลงประกอบละครและงานแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์มีน้อย นายสง่าก็หันมาเป็นนักเขียนและร่วมทีมงานหนังสือพิมพ์หลายฉบับ อาทิ หนังสือพิมพ์ไทย (๒๔๙๘) นิตยสารดารา (๒๔๙๘) เพิ่มพูนประสิทธิภาพในการทำงานและประสบการณ์ยิ่งขึ้น รวมทั้งไปทำหน้าที่เลือกเพลงที่จะบันทึกแผ่นเสียงให้กับห้างกมลสุโกศลด้วย

มิถุนายน ๒๔๙๘ เป็นการเริ่มศกใหม่ของวงการโทรทัศน์ แม้จะเป็นเพียงขาวดำที่ช่อง ๔ บางขุนพรหม แต่ก็เป็นโอกาสที่จะได้แสดงฝีมือในด้านละครเวที ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่งสำหรับชีวิตการทำงาน นับเป็นงานที่ท้าทายมาก เพราะงานแสดงสดทางทีวีผิดกับภาพยนตร์ และนอกจากนั้นยังมีรายการเพลงออกอากาศบ่อยอีกด้วย การไม่จับงานที่ช่วยให้งานที่เคยทำมาก่อนได้รับการนำมากออกอากาศซ้ำเป็นรูปแบบละครทีวี รวมทั้งต้องสรรหานักร้อง ทดสอบการขับร้องหน้ากล้อง ตลอดจนฝึกซ้อมดารานักร้องทั้งหลายอีกด้วย

นายสง่า อารัมภีร์ได้มีส่วนช่วยให้นักร้องเพลงไทยสากล มีผลงานดีเด่นเป็นที่รู้จักมากมายหลายคน อาทิ เพ็ญศรี พุ่มชูศรี สุเทพ วงศ์กำแหง ชรินทร์ นันทนาคร สวลี ผกาพันธุ์ จินตนา สุขสถิตย์ นริศ อารี ม.ร.ว ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ ธานินทร์ อินทรเทพ ทนงศักดิ์ ภักดีเทวา สุพรรณ บูรณพิมพ์ ชาญ เย็นแข สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์ พิสมัย วิไลศักดิ์ นงลักษณ์ โรจนพันธ์ ฯลฯ อีกเป็นจำนวนมาก หากไม่นับนักร้องยุคปัจจุบัน





ผลงาน


นายสง่า อารัมภีร์มีผลผลิตจากงานที่ทำต่อเนื่องจากปีพ.ศ. ๒๔๘๔ ถึง ๒๕๓๑ เป็นเวลากว่า ๔o ปี สิ่งหนึ่งที่สมควรกล่าวไว้ใหนที่นี้คือ ความเป็นผู้ทำงานอย่างครบวงจร ซึ่งนักประพันธ์เพลงหลายคนไม่สามารถทำได้เหมือน ในขณะที่นักแต่งเพลงบางคนที่ประสบความสำเร็จจะเขียนแต่เพียงทำนอง หรือเขียนแต่เพียงบทร้องเพลง แต่สง่า อารัมภีร์สามารถแต่งทั้งทำนองและเนื้อร้องไปพร้อมๆกัน เพลงที่เกิดจากสมองจึงสมบูรณ์ในรูปแบบ ความหมาย อารมณ์ และเหมาะสมแก่นักร้องที่แต่งให้ในคราวเดียวกัน เป็นความพร้อมที่ประเสริฐสุด นอกจากนั้น ความที่เป็นนักดนตรีเขียนโน้ตเพลงได้ รู้หลักการประสานเสียง รู้ความสามารถของนักดนตรีและนักร้องที่จะร้องเพลงของตน เพลงที่แต่งขึ้นจึงใช้การได้ทันทีโดยไม่ต้องเสียเวลาแก้ไข และใช้นำออกแสดงละครเวที ละครวิทยุ ตลอดจนละครทีวีได้สะดวกรวดเร็ว

การที่ได้สั่งสมความรู้ภาษาไทยจากวรรณคดีและหนังสือต่าง ๆ ที่อ่านมาแต่วัยเยาว์ มีโอาสช่วยให้บทเพลงที่แต่งขึ้นนั้นมีคุณภาพทางภาษา และมีคุณลักษณะทางฉันทลักษณ์ที่งดงาม จนงานหลายชิ้นที่ประพันธ์คำร้องขึ้นนั้นงดงามประหนึ่งบทกวีนิพนธ์

การที่เป็นผู้ที่มีความเฉลียวฉลาด มีสายตาแหลมคมในการคัดเลือกนักร้องมาร้องเพลงที่ตนเองแต่งขึ้น ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ผลงานเพลงที่แต่งขึ้นนั้นประสบความสำเร็จ

การที่รู้จักเลือนักดนตรี วงดนตรี และสถานที่บันทึกเสียงเพลงที่ดีก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้งานบันทึกแผ่นเสียงดำเนินไปอย่างราบรื่น จะมีอยู่เพียงการจัดจำหน่ายซึ่งไม่ได้ทำเอง ซึ่งสมัยก่อนที่งานดนตรีจะเปลี่ยนรูปมาเป็นธุรกิจการค้า งานที่จะต้องทำในการจัดจำหน่ายก็ไม่ใช่วิธีการที่จะต้องแข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตายเหมือนทุกวันนี้ จึงสามารถกล่าวได้ว่าลักษณะการผลิตงานเป็นงานประเภทครบวงจรที่น่าชื่นชมยิ่ง

เป็นความจริงที่เพลงหลายเพลงของนายสง่า อารัมภีร์มีผู้ร่วมงานช่วยแต่งบทร้องบ้าง แต่งทำนองบ้าง แต่ก็ไม่มากเท่างานที่ทำด้วยตนเองแบบสำเร็จรูปตั้งแต่ต้นจนจบ

ขอเสนอตัวอย่างผลงานของนายสง่า อารัมภีร์พอเป็นสังเขปดังนี้

ก. งานประพันธ์เพลง


๑. เพลงประกอบละครเวที ได้แก่บรรดาเพลงที่ร่วมกับคณะศิวารมย์ เทพศิลป์
เสน่ห์ศิลป์ ชุนนุมศิลป์ มีทั้งเพลงประกอบขับร้อง เพลงระบำ เพลงมาร์ช ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือเพลงน้ำตาแสงไต้ จากละครเวทีเรื่องพันท้ายนรสิงห์ มีเพลงประเภทนี้สำหรับละครกว่า ๒๕o เรื่อง

๒. เพลงประกอบภาพยนตร์ ร่วมงานกับอัศวินภาพยนตร์ ดาราไทยภาพยนตร์ เนรมิตภาพยนตร์ เพลงที่มีชื่อมากที่สุดคือ น้ำตาแสงไต้ หนึ่งในร้อย เรือนแพ ผลงานเพลงประกอบภาพยนตร์มีมากกว่า ๕o เรื่อง

๓. เพลงประกอบละครทีวี ร่วมงานกับหลายคณะที่มีชื่อมากคือ เพลงในเรื่องทหารเสือพระนเรศวร

๔. เพลงที่แต่งอย่างเป็นเอกเทศ ไม่อยู่ในการแสดง

ประเภทเพลงที่นิยมใช้ในวันมงคลสมรสซึ่งมีชื่อเสียงมากคือ ระฆังทอง นิทราทิพย์ คืนหนึ่ง ฝนนี้

เพลงที่ขับร้องโดยนักร้องต่างๆและมีชื่อเสียงแพร่หลายเช่น

สวลี ผกาพันธุ์ เพลงดวงใจ พรุ่งนี้ ระฆังทอง รักจริงหรือเปล่า หากรู้สักนิด หนึ่งในร้อย เมื่อวานนี้ นิทราทิพย์

สุเทพ วงศ์กำแหง: เพลงพี่รักเธอไม่คลาย คืนหนึ่ง ฟังดนตรีเถิดชื่นใจ ผมน้อยใจ สุดที่รัก จนกว่าจะพบกันอีก

จินตนา สุขสถิตย์: เพลงนกขมิ้น มงกุฏเพชร กุลสตรี

ชรินทร์ นันทนาคร: เพลงทาษเทวี เรือนแพ ฝนนี้ รักไม่มีพรมแดน สไบแพร แก้วตาพี่ กิ่งแก้วแขวนฟ้า สุดฝากฟ้า เกล็ดแก้ว

เพ็ญศรี พุ่มชูศรี: เพลงเริงละลม แม้ทะเลยังระทม สอนรัก นกน้อยในกรงทอง รักคนที่เขารักเราดีกว่า

ธานินทร์ อินทรเทพ: เพลงไกลกังวล ตุ๊กตายอดรัก ดาวเรือง

ลินจง บุนนากรินทร์: เพลงรักแรมไกล เหมันต์ครวญ

ฉลอง สิมะเสถียร: เพลงสายน้ำผึ้ง ครวญสวาท เพชรล้ำค่า ยอดฟ้าเวียงดอย เรียมครวญ

รวงทอง ทองลั่นทม: เพลงที่รักเราไม่ควรพบกันเลย สวรรค์หาย น้ำไหลใจคน ยอดอนงค์

ทนงศักดิ์ ภักดีเทวา: เพลงสายโลหิต แก้วกิ่งฟ้า รักแท้

สุพรรณ บูรณพิมพ์: เพลงภิรมย์รัก เรียกหารัก พ้อรัก วิญญาณรัก ลอยลำ พร่ำรัก โอ้รัก แม่พิมพ์ของชาติ

นริศ อารีย์: เพลงฟ้าสูงแผ่นดินต่ำ

ชาญ เย็นแข: เพลงคนึงนาง เทวีฝันไป ห่วงรัก ห่วงอาลัย เพลินชมไพร

สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์: เพลงน้ำตาแสงไต้

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงผลงานที่นักร้องอัดแผ่นเสียงในอดีต นักร้องใหม่ที่นำเพลงของนายสง่า อารัมภีร์มาร้องบันทึกแผ่นเสียงซ้ำจนมีชื่อเสียงก็มี เช่น เพลงหนึ่งในร้อย ร้องโดย ยุรนันท์ ภมรมนตรี ฯลฯ





ข. งานเขียนหนังสือและบทความต่างๆ


เป็นนักเขียนที่มีผลงานแพร่หลาย ใช้นามปากกาหลายชื่อดังต่อไปนี้ มหาเมฆ น้อยหน่า อัญชลี ณ เวียงฟ้า แจ๋ว วรจักร

หนังสือที่เขียนปรากฏผลงานอยู่ในสยามสมัย (๒๔๘๗ -๘๘) ดาราไทย ไทยรัฐ เสียงปวงชน ฟ้าเมืองไทย ไทยโทรทัศน์ ฟ้าเมืองทอง ฟ้าอาชีพ ฟ้านารี ถนนดนตรี

ค. งานสร้างสรรค์อื่น ๆ


-เป็นผู้ก่อตั้งและกรรมการสมาคมนักแต่งเพลง
-เป็นคณะกรรมการดำเนินการห้องสมุดดนตรี
ทูลกระหม่อมบริพัตร หอสมุดแห่งชาติ
-เป็นผู้ก่อตั้งสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
-เป็นผู้ก่อตั้งสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
-เป็นผู้ก่อตั้งสมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิง
-เป็นที่ปรึกษาคณะไทยช่วยไทย
ชมรมกล่อมขวัญผู้ปฏิบัติราชการชายแดน
ชมรมมิตร์มวลชนมิตร์สังเคราะห์

ผลงานของนายสง่า อารัมภีร์ หรือ แจ๋ว วรจักรมีทั้งหมดประมาณ ๒ooo เพลง เพลงที่ท่านปรารถนาจะทำก็คือ เพลงที่เกี่ยวกับแม่น้ำทุกสายในประเทศไทย

สำหรับผู้ร่วมผลงานเพลงได้แก่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอภาณุพันธุ์ยุคล พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าาอนุสรณ์มงคลการ แก้ว อัจฉริยะกุล สุรัฐ พุกกะเวส สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ อาจินต์ ปัญจพรรค์ ชลอ ไตรตรองศร ชาลี อินทรวิจิตร ธม ธาตรี อ. กวี สัตโกวิท และไศล ไกรเลิศ เป็นต้น

จากประวัติชีวิตและผลงานของนายสง่า อารัมภีร์ที่กล่าวมา สมควรอย่างยิ่งที่ท่านจะได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล) พุทธศักราช ๒๕๓๑


บีจีจากคุณยายกุ๊กไก่ ไลน์จากคุณญามี่

Free TextEditor





Create Date : 16 ธันวาคม 2548
Last Update : 29 กุมภาพันธ์ 2555 21:46:08 น. 0 comments
Counter : 5479 Pageviews.

haiku
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 161 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add haiku's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.