happy memories
Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2553
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
18 สิงหาคม 2553
 
All Blogs
 
คิดถึงครูสุรพล ๒




ภาพจากเวบ udclick.com


//video.aol.ca/video-detail/-/506346567



ครูเพลงที่มีความผูกพันอยู่กับกองดุริยางค์ทหารอากาศนั้น นอกจากท่านพระเจนดุริยางค์ ครูสง่า อารัมภีร ครูมนัส ปิติสานต์ และครูเนรัญชราแล้ว หากไม่กล่าวถึงราชาเพลงลูกทุ่ง "สุรพล สมบัติเจริญ" คงเป็นเรื่องที่ยอมกันไม่ได้

แม้ว่าครูสุรพล สมบัติเจริญ จะมีโอกาสเข้ามาเกี่ยวข้องว่องแวะด้วยในช่วงเวลาอันสั้น แต่ก็ต้องถือว่า เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของกองดุริยางค์ทหารอากาศกับเขาด้วยคน หนึ่ง แม้ระยะหลังจะหันมาเอาดีและโด่งดังจากผลงานเพลงประเภทลูกทุ่งก็ตามที




ภาพจากเวบ oknation.net


"ครูสุรพล สมบัติเจริญ" เกิดที่อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๓ มีชื่อเดิมว่า "ลำดวน สมบัติเจริญ" เป็นบุตรชายคนที่ ๒ ในบรรดาพี่น้องท้องเดียวกัน ๖ คน บิดาชื่อนายเปลื้อง สมบัติเจริญ เป็นข้าราชการแผนกสรรพกร จังหวัดสุพรรณบุรี มารดาชื่อ นางวงศ์ สมบัติเจริญ เป็นแม่ค้าขายของเล็ก ๆ น้อย ๆ อยู่กับบ้าน

เข้าเรียนหนังสือที่โรงเรียนประสาทวิทย์และโรงเรียนประจำจังหวัด คือโรงเรียนกรรณสูตรวิทยาลัยจนจบชั้นมัธยมปีที่ ๖ ใน ปีพ.ศ. ๒๔๙o แล้วเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวายเหมือนกับครูป. ชื่นประโยชน์ แต่เรียนอยู่ได้ปีเดียวก็ลาออกเพราะไม่ชอบ เลยไปเป็นครูสอนหนังสือที่โรงเรียนจีน กงลิเสวียเสี้ยว แต่ก็ลาออกอีกเพราะอยากจะเป็นนักร้อง




ภาพจากเวบ musichome.in.th


เมื่ออายุเข้าเกณฑ์ก็สมัครเป็นทหารเกณฑ์ กองพาหนะ สังกัดกองทัพเรือ แล้วย้ายเข้ามาที่กรุงเทพฯ แต่ก็ยังไม่มีโอกาสได้เป็นนักร้องกับเขาเสียที ทั้ง ๆ ที่หลงใหลใฝ่ฝันอยากจะเป็นเหมือนนักร้องรุ่นพี่ ๆ เช่น เบญจิมนทร์ หรือตุ้มทอง โชคชนะ นักร้องประจำวงที่มีชื่อเสียงมากในยุคนั้น

จากหนังสือ "วิวัฒนาการเพลงลูกทุ่งในสังคมไทย" ของศิริพร กรอบทอง เขียนบอกเอาไว้ว่า ครูสุรพล สมบัติเจริญ เคยให้สัมภาษณ์ไว้ครั้งหนึ่ง เกี่ยวกับเรื่องความรัก ความชอบ ในการแต่งเพลงของตนว่า

"...ผมน่ะ มันชอบมาตั้งแต่ชั้นประถมแล้ว พูดแล้วเหมือนโม้ คุณหัดแต่งตั้งแต่อยู่โรงเรียนประสาทวิทย์แล้ว ก็นึก ๆ หาทำนองมาใส่ ร้องกันให้ฟังในชั้น...




ภาพจากเวบ last.fm/music


สมัครเป็นคนงานของกองทัพเรืออยู่พักหนึ่ง ระหว่างนั้นใครมีงานรำวงที่ไหนผมต้องไปช่วย รู้จักไม่รู้จักไม่สำคัญ ขอให้ได้ร้องเป็นใช้ได้ ว่างก็หัดแต่งเพลงดูเพราะรู้สึกว่าไม่ยากเย็นเข็นใจอะไรเลย.."

ต่อมาจึงตัดสินใจลาออกแล้วไปสมัครเป็นลูกจ้างรายวันที่หมวดคลัง สนามบิน แผนกช่างโยธาทหารอากาศ กองทัพอากาศ ดอนเมือง และเปลี่ยนชื่อเสียใหม่ว่าสุรพล สมบัติเจริญ แทนลำดวนชื่อเก่า




ภาพจากเวบ baanmaha.com


มาเริ่มชีวิตเป็นนักร้องเมื่อสมัครเป็นนักมวยค่ายเลือดชาวฟ้าของ เรืออากาศตรีปราโมทย์ วรรณพงษ์ และมีโอกาสได้ร้องเพลงในงานสังสรรค์ จึงสนับสนุนให้ไปอยู่เป็นนักร้องที่กองดุริยางค์ทหารอากาศ ทุ่งมหาเมฆ เพื่อจะเอาดีในการเป็นนักร้องอย่างที่เจ้าตัวมุ่งมาดปรารถนาและมุ่งหวังตั้งใจไว้แต่เดิม โดยได้ย้ายไปเมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๗ ซึ่งเป็นหน่วยงานเดียวกันกับสุเทพ วงศ์กำแหง และครูนคร ถนอมทัรพย์(กุงกาดิน)

เจนภพ จบกระบวนวรรณ เขียนเล่าเอาไว้ในหนังสือบางข้อเขียน เกี่ยวกับสุรพล สมบัติเจริญ ถึงเรื่องราวตอนนี้ไว้ว่า

"เพราะหัวหน้าคณะนักมวยเลือดชาวฟ้านี่เอง ที่ทำให้สุรพลได้ย้ายเข้าไปประจำกองดุริยางค์ทหารอากาศ และชีวิตที่สุรพลโปรดปรานที่สุดก็เริ่มต้นที่นี่เอง เขาขยันและฝึกตัวเองอย่างหนัก จนที่สุดก็ได้ออกร้องเพลงประจำวงดุริยางค์บ่อยขึ้น..."




ภาพจากเวบ udclick.com


ประชุม พุ่มศริริ นักร้องหญิงของกองดุริยางค์ทหารอากาศเคยให้สัมภาษณ์กับเจนภพ จบกระบวนวรรณ คอลัมนิสต์ชื่อดังซึ่งเป็นเอ็นไซโครมีเดียเรื่องราวของเพลงลูกทุ่ง เคลื่อนที่ ณ ศูนย์สังคีตศิลป์ ของธนาคารกรุงเทพฯ ครั้งหนึ่งว่า

"...สุรพลเป็นคนมีใจฝักใฝ่ในเรื่องการร้องรำทำเพลงมาก พอว่างจากงานในหน้าที่ก็จะนั่งเขียนเพลง เคาะจังหวะไปเรื่อย ๆ อย่างไม่รู้จักเบื่อหน่าย ใครมีงานที่ไหน ไม่ว่างานอะไร แกจะต้องเสนอตัวไปช่วยร้องเพลงเป็นคนแรก เป็นที่รักของทุกคนในกรมกอง นิสัยดี คุยสนุกสนาน เหมือนไม่มีความทุกข์อะไรในใจเลย...

ส่วนเรื่องเสียงที่ว่าไปพ้องกับนักร้องรุ่นพี่อย่างเบญจามินทร์นั้น แกก็ไม่ได้ดัด มันบังเอิญไปมีส่วนคล้ายกันเอง.."




ภาพจากเวบ utopianvision.co.uk





ผลงานชิ้นแรก


เพลงแรกที่แต่งและบันทึกเสียงคือเพลงน้ำตาลาวเวียง ซึ่งแต่งไว้เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๖ พร้อมกับเพลงอื่น ๆ อีกรวม ๙ เพลง แต่เพลงที่โด่งดังและเป็นที่รู้จักของคนทั่ว ๆ ไปก็คือเพลงชูชกสองกุมาร ที่สุรพล สมบัติเจริญ ร้องเป็นตัวชูชก และเป็นผลงานเพลงชุดแรกที่ได้บันทึกแผ่นเสียง

"เอกพัน ธันวารชร" บุตรชายของนาย ต.เง็กชวน เจ้าของแผ่นเสียงตรากระต่าย เขียนเล่าเหตุการณ์ที่น่าสนใจบนหลังซองแผ่นเสียงตรากระต่าย ในการจัดทำแผ่นเสียงลองเพลย์เพลงชุดแรกของสุรพล สมบัติเจริญ ไว้ว่า

"...เมื่อต้นปีหรือกลางปี พ.ศ. ๒๔๙๖ ข้าพเจ้า(ผู้เขียน)ได้ติดตามท่านผู้ใหญ่ไปที่กองดุริยางค์ทหารอากาศ ในฐานะผู้ทำหน้าที่ฟัง คัดเลือกเพลง เพื่อนำไปบันทึกเสียงผลิตแผ่นเสียงออกจำหน่ายต่อไป ในการไปคราวนั้น ข้าพเจ้าได้มีโอกาสพบกับชายผู้หนึ่ง รูปร่างสูงโปร่งสันทัด มีปอยขนที่เม็ดไฝใต้คางข้างซ้าย ในระหว่างเวลาพักกลางวันเขาเดินตรงมาหาข้าพเจ้าพร้อมกับแนะนำตัวเอง ระหว่างการสนทนาชายผู้นั้นได้ปรารภขึ้นว่า

"ผมอยากจะร้องเพลงอัดแผ่นเสียงบ้าง แต่ไม่มีใครสนับสนุนช่วยเหลือ..."


น้ำตาลาวเวียง





ภาพจากเวบ thaigramophone.com


ในตอนท้ายของการพบปะกันวันนั้น ชายผู้นั้นได้เอ่ยปากฝากตัวกับข้าพเจ้า ขอให้ช่วยรับเขาไว้เป็นนักร้องแผ่นเสียงสักคนหนึ่งเถิด ข้าพเจ้ารับปากกับเขาว่า ยินดีให้ความสนับสนุนช่วยเหลือเขาอย่างเต็มที่เท่าที่จะช่วยได้...

บางครั้งข้าพเจ้าขอให้เขาร้องเพลงที่ถนัด และเพลงที่เขาแต่งขึ้นเองให้ข้าพเจ้าฟัง เพื่อฟังน้ำเสียงและท่วงทีลีลาการร้องของเขา เพื่อเป็นแนวทางพิจารณาต่อไป เพลงที่เขาร้องให้ข้าพเจ้าฟังเป็นเพลงรำวงเสียเป็นส่วนมาก จะมีบางเพลงที่กระเดียดไปทางเพลงไทยสากลอยู่บ้าง แต่ก็ไม่เข้ากับลักษณะตามแบบฉบับของเพลง




ภาพจากเวบ udclick.com


อย่างไรก็ตามจากการได้ฟังเขาร้องเพลงให้ข้าพเจ้าฟัง ๒ - ๓ ครั้ง ข้าพเจ้ารู้สึกติดใจในน้ำเสียงของเขา ท่านที่ชอบฟังเพลงและนักเล่นแผ่นเสียงคงจะจำและนึกออกว่า ในระยะนั้น มีนักร้องผู้หนึ่งมีชื่อเสียงทางร้องเพลงอัดแผ่นเสียงและบนเวทีการแสดง เพลงที่ร้องส่วนมากเห็นจะเป็นเพลงรำวง เขาผู้นั้นคือ "เบญจมินทร์" ผู้มีเสียงเหน่อ ๆ ไม่เหมือนใคร

...ข้าพเจ้าทราบจากปากเขาว่า เขาเคยเป็นคณะกองเชียร์รำวงมาก่อน และแต่งเพลงรำวงได้...ข้าพเจ้า ได้บอกเขาให้ทราบในวันต่อมาว่า ให้เขาเริ่มคิดแต่งเพลงประเภทรำวงตามที่เขาถนัดได้แล้ว พร้อมยังแนะนำทางการแต่งเพลงให้เขาด้วย

นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา เขาก็มาขลุกอยู่ที่บ้านข้าพเจ้า เขาแต่งเพลงด้วยความตั้งอกตั้งใจและอย่างเอาจริงเอาจัง จึงบางวันต้องค้างหลับนอนที่บ้านข้าพเจ้าหลายวันติดต่อกันก็เคยมี การแต่งเพลงเสร็จแต่ละเพลง บางครั้งก็อาจจะมีการซ้อมกันเสียคราวหนึ่ง โดยที่เขามาแต่ตัวกับสมองสำหรับคิดเพลง เครื่องไม้เครื่องมือสำหรับที่จะใช้ซ้อมจึงเป็นปัญหา ต้องอาศัยเอาปี๊บน้ำมันมีตีเป็นกลองแทน เอาขวดน้ำใส่ทรายมาเขย่าแทนลูกกะตา ตลอดจนถ้วย โถ ชาม โอ่ง ไห บรรดามีก็เอามาช่วยกันตีให้เป็นจังหวะรำวง ให้คนของข้าพเจ้าที่บ้านเข้าช่วยด้วย..."




ภาพจากเวบ forum.thaidvd.net

รักแท้จากหนุ่มไทย - เบญจมินทร์



ในเรื่องการแต่งเพลงนั้นเจนภพ จบกระบวนวรรณ เล่าว่า ครูสุรพล สมบัติเจริญ เขียนโน้ตไม่เป็น แต่อาศัยจากการร้องด้วยตนเองเป็นหลัก โดยอ้างถึงเรื่องราวที่เอกพล ธันวารชร เล่าเอาไว้ดังนี้ว่า

"เนื่องจากเขาเขียนโน้ตเพลงไม่ได้ การคิดแต่งเพลงใช้วิธีร้องเป็นคำ และทำนองเพลงไปตามที่เขาคิดขึ้นในขณะนั้น ปากร้องไป มือก็เคาะจังหวะเพลงไป เมื่อได้ประโยคคำร้องและทำนองเพลงตอนหนึ่ง เขาก็จะจดคำร้องนั้นลงบนแผ่นกระดาษ เขาปฏิบัติดังนี้เรื่อยไป บางครั้งกลับย้อนมาร้องตอนต้น ๆ ใหม่ ตรงไหนที่ไม่ถูกใจหรือเห็นว่าไม่ไพเราะ ก็แก้ไขใหม่ ซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกว่าจะถูกใจเขา"




ภาพจากเวบ oknation.net


...เพลงรำวงของเขาเริ่มเข้ารับการบันทึกเสียงเป็นครั้งแรก ในชีวิตงานอัดแผ่นเสียงของเขา เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๖ เพลงน้ำตาลาวเวียง เป็นเพลงแรกของเขาที่เขาขับร้องอัดแผ่นเสียงไว้ในครั้งนั้น

แต่ศิริพร กรอบทอง เขียนเล่าไว้ในหนังสือ วิวัฒนาการเพลงลูกทุ่งในสังคมไทยว่า ครูสุรพล สมบัติเจริญ เคยให้สัมภาษณ์ถึงเพลงแรกที่แต่ง คือเพลงชูชกสองกุมาร ดังนี้

"...เพลงชูชกสองกุมารซึ่งเป็นเพลงแรกของผมสำเร็จขึ้นตอนนั้น สมคบกับเพื่อนช่วยกันใส่ทำนองแล้วนำไปเสนอ ต.เง็กชวน ได้ค่าเหนื่อย ๔oo บาท..."


ชูชกสองกุมาร.




เพลงชูชกสองกุมาร
คำร้อง/ทำนอง สุรพล สมบัติเจริญ


แม่เจ้า โอ้แม่มัทรี ลูกขอให้ช่วยปรานี
มาช่วยลูกทีแม่คุณทูนหัว
พ่อสิ้นเอ็นดูทิ้งให้ลูกไปอยู่กับชูชกชั่ว
เพราะมันมาขอตัว แม้นไม่ไปมันก็เฆี่ยนตี

ปากร้องเรียกหา แม่จ๋าอยู่ไหน
มาช่วยเร็วไว เพราะหนูกำลังโดนเฆี่ยนตี
โอ้ย แม่จ๋า แม่จ๋า แม่จ๋า แม่มัทรี
สิ้นรักแล้วหรือนี่ จึงปล่อยเขาตีหนูแทบตาย

ชิชะ เจ้าเด็กน้อยอย่าทำสำออย
ประเดี๋ยวจะโดนรอยหวาย
โอยแทบว่าจะสิ้นใจตาย
โอย แทบว่าจะสิ้นใจตาย

ลุงจ๋าอย่าทำหนูเลย
โธ่ ลุงเอ๋ย จงปล่อยหนูไป
นี่แน่ะ ไอ้วายร้าย
เดี๋ยวตีเสียตาย ยังมาทำสำออย

โธ่ ลุงจ๋า อย่าเตะตีด่า หรือว่าลูกน้อย
ป่านนี้แม่คงคอย โอ้พ่อผมน้อยจงปล่อยหนูไป

หนอยแน่ะ ไอ้ตัวดี มาว่ากูนี้หัวล้านได้
มานี่ อื้อ อื้อ ตีให้ตาย

จะเอาไว้ไย ไอ้เด็กสันดาน
จะเอาไว้ไย ไอ้เด็กสันดาน อื้อ โอ๊ย...

(บันทึกแผ่นเสียงไว้ในราวปี พ.ศ. ๒๔๙๖)


เพลงนี้เด็กชายจ้อยเป็นผู้ขับร้องคู่กันกับสุรพล สมบัติเจริญ ไม่มีใครทราบชื่อจริง เพียงแต่รู้ว่า เมื่อโตเป็นหนุ่มขึ้นมา ก็ไปทำมาหากินด้วยการเป็นนักพากย์ภาพยนตร์ตามโรงหนังทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด


ข้อมูลจากเวบ manager.co.th


บีจีจากคุณยายกุ๊กไก่ ไลน์จากคุณญามี่

Free TextEditor




Create Date : 18 สิงหาคม 2553
Last Update : 18 สิงหาคม 2553 22:51:32 น. 0 comments
Counter : 4522 Pageviews.

haiku
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 161 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add haiku's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.