Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2552
 
23 กรกฏาคม 2552
 
All Blogs
 

4 โรคฮิตคนกรุงเป็นมากสุด

4 โรคฮิตคนกรุงเป็นมากสุด
ยึดหลัก3อ ก่อนป่วยเรื้อรัง

ไมเกรน
คุณกำลังปวดศีรษะครึ่งซีกบริเวณขมับหรือท้ายทอย ปวดตุ๊บๆ ในสมอง อาเจียน
มองเห็นแสงเป็นเส้นๆ ระยิบระยับแสงจ้าสะท้อน หรือเห็นภาพบิดเบี้ยวบ้างหรือเปล่า
ถ้าใช่ร่างกายกำลังส่งสัญญาณโรคไมเกรนบอกคุณแล้วล่ะ

ทำไมถึงเป็นไมเกรน
เป็นอีกหนึ่งโรคยอดฮิตที่ขาดไม่ได้สำหรับคนเมือง ส่วนสาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดจากอะไร
ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากสมองที่มีความไวในการตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม ที่อยู่นอกร่างกายหรือในร่างกาย
ทำให้หลอดเลือดมีการอักเสบ เมื่อมีตัวกระตุ้นมาทำให้หลอดเลือดขยายจึงปวดศีรษะ

เช็คอาการปวดหัวแบบไหนที่เป็นไมเกรน
*ปวดศีรษะครึ่งซีกบริเวณขมับหรือท้ายทอยอาจจะปวดข้างเดียว หรือสองข้างพร้อมกัน หรือเป็นสลับข้างก็ได้
ปวดตุ๊บๆ ในสมองเป็นเวลานานครั้งละ 20 นาทีขึ้นไป
*ปวดศีรษะรุนแรง อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย โดยเป็นก่อน หลัง หรือขณะปวดศีรษะ
*ก่อนปวดศีรษะประมาณ 10 - 20 นาที จะมีอาการทางสายตานำมาก่อน
เช่น เห็นแสงเป็นเส้นๆระยิบระยับ แสงจ้าสะท้อน หรือเห็นภาพบิดเบี้ยว

ปัจจัยชักนำการเกิดไมเกรน
สำหรับคนเมืองสิ่งแวดล้อมรอบตัวล้วนเป็นปัจจัยชักนำในการเกิดโรคทั้งนั้น โดยเฉพาะพฤติกรรมการกินอยู่
เช่น ทำงานหนัก นอนดึก ตื่นเช้า ทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอ รวมทั้งความเครียดที่สะสมจากการทำงาน
ปัญหาต่างๆ ที่ทำให้วิตกกังวล นอกจากนี้ยังมีอาหารบางชนิดด้วย เช่น ชา กาแฟ นม เนย ผงชูรส

ฉะนั้นหากหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านี้ได้โดยอาจจะหาเวลานั่งพักหลับตาช่วงระหว่างวัน จะช่วยบรรเทาอาการได้เยอะ
หรือหากิจกรรมที่ทำเพื่อผ่อนคลาย ทำแล้วมีความสุขก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยได้ดีเลย



โรคกระเพาะ
ถ้าคุณกำลังปวดศีรษะด้านหน้า จุกเสียดแน่นท้อง มีลมตีขึ้นตลอดเวลากินอาหาร กลืนข้าวไม่ลง
ถ่ายและอาเจียนเป็นเลือดสีดำ นี่เป็นสัญญาณอันตรายที่ร่างกายกำลังบอกว่าคุณกำลังเป็นโรคกระเพาะ
โรคที่ไม่ร้ายแรง แต่เรื้อรัง

เช็คอาการปวดท้องแบบไหน ใช่โรคกระเพาะ
*แผลที่เกิดขึ้นในลำไส้เล็กส่วนต้น จะมีอาการปวดท้องบริเวณท้องด้านขวาส่วนบนเวลาหิว ทำให้หิวบ่อย
*แผลเกิดที่ในกระเพาะอาหาร จะมีอาการปวดท้องเวลาอิ่มจะรู้สึกแสบๆ เจ็บๆ บริเวณยอดอก และลิ้นปี่
เนื่องจากกระเพาะอาหารอยู่ใกล้บริเวณนั้น ส่วนในรายที่เป็นมากๆ จะไม่สามารถแยกได้ว่าปวดตรงส่วนไหน
อาการจะเริ่มที่แสบท้อง ปวดท้องหิวก็ปวด อิ่มก็ปวด จนถึงรายที่เป็นร้ายแรง อาจปวดท้องอย่างหนัก
มีอาเจียนและถ่ายเป็นเลือดร่วมด้วย

3 ตัวการเกิดโรคกระเพาะ
จากความเชื่อเดิมที่เคยรู้กันว่าโรคกระเพาะ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียเฮลิแบคเตอร์ไพโลไร
แต่ปัจจุบันได้มีผลการวิจัยของแพทย์ในประเทศไทยหลายครั้ง จากการตรวจคนไทยส่วนใหญ่จะไม่พบเชื้อตัวนี้
แต่จะมีปัจจัยการเกิดโรคกระเพาะ 3 ตัวแปร คือ ร่างกาย จิตใจ และสังคม

ด้านร่างกาย
เกิดจากสุขภาพไม่แข็งแรง เพราะหากแข็งแรงกระเพาะอาหารก็จะแข็งแรงไปด้วย
ดังนั้นการป้องกันการจู่โจมของกรดน้ำย่อยในกระเพาะ และเชื้อแบคทีเรียก็จะมีประสิทธิภาพ
ไม่สามารถทำลายเยื่อบุกระเพาะได้

ด้านจิตใจ ความเครียด ความโกรธ ความกังวล
มีผลต่อการกระตุ้นให้กระเพาะของเราสร้างกรดเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ
เมื่อกรดมีมากจนผนังเยื่อบุและเยื่อเมือกป้องกันไม่ไหว กระเพาะจึงอักเสบและเป็นแผล

ด้านสังคม สังคมเร่งด่วน
คนวัยทำงานไม่มีเวลากินอาหาร กินอาหารไม่ตรงเวลา
ในขณะที่ร่างกายมีระบบ Biological Clock หรือ นาฬิกาชีวภาพที่อยู่ภายในร่างกาย เมื่อถึงเวลาน้ำย่อยทำงาน
แต่อาหารไม่ตกถึงท้อง น้ำย่อยก็โจมตีเยื่อบุกระเพาะแทน
นอกจากนี้อาหารบางอย่างยังเป็นตัวกระตุ้นทำลายกระเพาะ เช่น ชา กาแฟ บุหรี่ น้ำอัดลม

ทำอย่างไรเมื่อเป็นโรคกระเพาะ
โรคกระเพาะเป็นโรคที่สามารถรักษาหายได้ แต่ต้องอาศัยการรักษากับแพทย์ควบคู่กับการปฏิบัติตัวของผู้ป่วย
เรียกว่าถ้าอยากหายก็ต้องร่วมด้วยช่วยกัน เพราะถ้ารักษาหายแล้วแต่ยังปฏิบัติตัวแบบเดิมๆ
ยังกินอาหารไม่ตรงเวลา ดื่มสุรา สูบบุหรี่ ยังคงวิ่งเข้าหาสิ่งที่จะทำร้ายกระเพาะอาหาร
โรคกระเพาะก็กลับมาถามหาคุณอีก จึงเป็นที่มาของความคิดที่ว่าเป็นโรคเรื้อรัง เมื่อเป็นแล้วไม่หายเสียที



กรดไหลย้อน
อีกหนึ่งโรคที่มักแวะมาทักทายหนุ่มสาวออฟฟิศที่ต้องทำงานหนัก นอนดึก เครียด ใช้ชีวิตประจำวันไม่ถูกต้อง
ยิ่งการกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ ย่อยช้าจะทำให้เกิดแก๊สและความดันในกระเพาะสูงขึ้น
โอกาสเกิดเป็นกรดไหลย้อนก็จะยิ่งสูง

เช็คอาการสัญญาณบอกโรค
อาการจำเพาะ คือ อาการที่เกี่ยวข้องกับการไหลย้อนของกรดโดยตรง เช่น เจ็บหน้าอก แสบร้อนหน้าอก
แน่นหน้าอก หรือรู้สึกมีอาการแน่นบริเวณกลางหน้าอก โดยมีอาการบ่อยและเป็นมานานแล้ว

อาการไม่จำเพาะ คือ
อาการที่ไม่ได้เกิดจากตัวโรคโดยตรง แต่เกิดจากสภาวะที่เกี่ยวเนื่องกันที่อาจส่งผลไปยังอวัยวะอื่นๆ ได้
เช่น เสียงแหบเรื้อรัง ไอเรื้อรัง และอาจจะมีโรคหอบหืดร่วมด้วย

กรดไหลย้อนแตกต่างกับโรคกระเพาะอย่างไร
สำหรับใครที่ยังมีความเข้าใจผิดคิดว่า โรคกรดไหลย้อนคล้ายกับโรคกระเพาะหรือเปล่านั้น
บอกได้เลยว่าอาการไม่เหมือนกันเลย ซึ่งอาการเด่นชัดของโรคกรดไหลย้อนจะชัดเจนอยู่แล้ว
โดยให้สังเกตจากอาการหากเป็นโรคกระเพาะจะจุกและเจ็บบริเวณลิ้นปี่ หรือบริเวณท้อง
แต่ถ้าเป็นโรคกรดไหลย้อน จะเจ็บบริเวณหน้าอก หรือตรงกลางหน้าอก

อย่ากลัว และพร้อมรับมือ
ใครที่กำลังเผชิญกับโรคนี้อยู่หรือมีแนวโน้มจะเป็นควรดูแลตัวเองด้วยวิธีง่ายๆ คือ
สำหรับคนอ้วนที่มีน้ำหนักมากควรลดน้ำหนัก และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
เวลากินไม่ควรกินอาหารให้อิ่มจนเกินไป และก่อนนอน 2 - 3 ชั่วโมงไม่ควรกินอาหาร
เพื่อให้ระบบการย่อยทำงานไม่หนักจนเกินไป
ลดอาหารที่มีไขมันสูง งดการสูบบุหรี่ และดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ไม่ควรนอนดึก

สำหรับคนที่มีอาการมาก ควรนอนให้หัวสูงกว่าลำตัวจะสามารถช่วยให้อาการดีขึ้นได้
เพียงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมประจำวันให้กินอยู่อย่างถูกหลัก พักผ่อนให้เพียงพอไม่เครียด
อาการนั้นก็อาจหายไปเองได้โดยแทบไม่ต้องกินยาเลย



โรคลำไส้แปรปรวน
ทำไมช่วงนี้รู้สึกปั่นป่วนในท้องจัง เหมือนมีลมอยู่ในท้อง ต้องเรอหรือผายลมบ่อยๆ
แถมยังมีอาการท้องเสียสลับท้องผูก เป็นๆ หายๆ จนสับสนไปหมด ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นอะไรกันแน่
หากคุณมีอาการเหล่านี้ อาจเป็นสาเหตุเบื้องต้นของโรคลำไส้แปรปรวน
แต่บางครั้งก็มีอาการคล้ายคลึงกับอาการท้องเสีย
แล้วจะแยกแยะอย่างไร ต้องสังเกตตามอาการเตือนจากร่างกายด้วยตัวเอง

เช็คอาการสัญญาณบอกโรค
มีอาการปวดท้อง โดยอาจจะปวดบริเวณกลางท้องหรือปวดบริเวณท้องน้อย
แต่โดยทั่วไปจะปวดท้องน้อยด้านซ้าย ลักษณะอาการปวดมักจะปวดแบบเกร็ง
มีอาการแน่นท้อง ท้องอืด
มีอาการท้องโตขึ้น เหมือนมีลมอยู่ในท้อง อาจมีอาการเรอหรือผายลมบ่อย
มีอาการถ่ายผิดปกติ เช่น ท้องผูก ท้องเสีย หรืออาจมีท้องผูกสลับท้องเสีย
บางรายอาจมีความรู้สึกเหมือนถ่ายไม่สุด การขับถ่ายอุจจาระจะมีลักษณะเหลวหรือเป็นมูกร่วมด้วย
แต่จะไม่มีเลือด อาการมักจะเป็นๆ หายๆ มากน้อยสลับกันและมีอาการเกิน 3 เดือน

ลำไส้แปรปรวนเกิดจากอะไรได้บ้าง

1. เกิดจากการบีบตัวของลำไส้ผิดปกติ เป็นผลมาจากการหลั่งสารหรือฮอร์โมนที่ผิดปกติบางอย่างในผนังลำไส้
ทำให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องผูก หรือท้องเสียขึ้น

2. เกิดจากระบบประสาทที่ผนังลำไส้ไวต่อสิ่งเร้า หรือตัวกระตุ้นมากผิดปกติ
ตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการผิดปกติ ได้แก่ อาหารที่มีรสเผ็ด เปรี้ยว กาแฟ แอลกอฮอล์ ช็อกโกแลต
รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ได้แก่ ความเครียด ความวิตกกังวล

3. เกิดจากความผิดปกติในการควบคุมการทำงานของลำไส้ โดยปกติแล้วประสาทรับความรู้สึกที่ผนังลำไส้
ระบบกล้ามเนื้อของลำไส้และสมอง จะทำงานสอดคล้องกัน แต่หากสารที่ควบคุมการทำงานของลำไส้เกิด
ความผิดปกติก็จะส่งผลให้การทำงานของลำไส้เกิดการแปรปรวนได้



ยึดหลัก 3 อ เพื่อรับมือโรค
อ1 อาหาร ไม่ควรกินอาหารที่มีรสเผ็ด รสเปรี้ยว รวมทั้งเครื่องดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลม และแอลกอฮอล์
อ2 อารมณ์ คือ ความเครียด ความวิตกกังวล เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดลำไส้แปรปรวน
อ3 ออกกำลังกาย ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยอาทิตย์ละ 3 วัน วันละ 30 นาที
จะช่วยให้ร่างกายเกิดการผ่อนคลาย และสุขภาพแข็งแรง

ร่างกายคุณได้แอบส่งสัญญาณเตือนมาบอกว่าคุณกำลังเข้าข่าย 1 ใน 4 โรคนี้บ้างหรือเปล่า
ถ้ามีก็รีบดูแลสุขภาพตามที่เราบอก โอกาสการเกิดจะได้ลดน้อยลง
เพราะหากใส่ใจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอก็สามารถสุขภาพดีได้ แม้ไลฟ์สไตล์จะแบบไหนก็ตาม

ที่มา: สุขภาพดี สสส.




 

Create Date : 23 กรกฎาคม 2552
0 comments
Last Update : 23 กรกฎาคม 2552 10:31:23 น.
Counter : 937 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.