happy memories
Group Blog
 
All blogs
 

คอนเสิร์ตรักคิดถึงพี่รี่ สวลี ผกาพันธุ์








สวลีนี้หรือคือน้ำผึ้ง


อันหอมซึ้งด้วยพรหมวิหารสี่


หวานน้ำคำน้ำเสียงทิพย์ดนตรี


สวลีกล่อมโลกให้โศกคลาย


ผกาพันธุ์ผลิบานให้โลกชื่น


ทั้งยามตื่นหลับฝันมิจางหาย


แม้คืนขันธ์ล่วงดับลับมลาย


ผกาพันธุ์ยิ่งผายผกายงาม


ณัฐพล เหลายา ร้อยกรอง
๑๖ กันยายน ๒๕๖๑
จาก เพจคุณณัฐพล เหลายา








เดือนดารา
คำร้อง สกนธ์ มิตรานนท์

ทำนอง นารถ ถาวรบุตร


ดู เดือนดารา  เมื่อยามลับท้องนภา

ยิ่งคิด ยิ่งพาใจเศร้า

แสงสว่าง ที่เคยพร่างพราว

ยังเร้าใจอยู่ ไม่รู้...เลือน

งามแสงเดือนเป็นเพื่อนชม ชุ่มชื้นอารมณ์

ลมค่อยพัดมาเยือน  คล้ายความรักเตือน

เหมือนดังดารา ส่องฟากฟ้าให้งาม

คอยเมื่อครามีจันทร์เยือนมา

แสนเศร้าอุรา พารักไกล

ดู เดือนดารา เมื่อยามลับไปไกลตา

ก่อนนี้เคยมาอยู่ใกล้

แสงส่อง...ต้องดวงหทัย

เรารัก เราใคร่ ได้ชิดชม

ยามนี้เดือนเตือนจากจร  ซ่อนทรวงสะท้อน

ถอนจากรักจำตรม  นภาระทม

ไร้เดือนเพื่อนชม  ชอกช้ำจำลา

เดือน จะลับไปทุกโมงยาม

ความรักร่วงเลย  พลอยเศร้าใจ





วันนี้ (๑๖ ก.ย. ๒๕๖๑) เวลา ๑๗.๒๗ น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปพระราชทานเพลิงศพ คุณเชอร์รี่ เศวตนันท์ ฮอฟแมน (คุณสวลี ผกาพันธุ์) ณ เมรุวัดธาตุทอง ขออัพบล็อกส่งดวงวิญญาณของป้ารี่ให้ไปสู่ภพภูมิที่ดีในสัมปรายภพ และขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวเศวตนันท์อีกครั้ง และต้องขออภัยที่บล็อกนี้ไม่ได้ใส่ที่มาของภาพ ยังไงก็ขอบคุณเจ้าของภาพทุกภาพไว้ตรงนี้ด้วยค่ะ






บล็อกป้ารี่ที่เคยอัพไว้
สวลี ผกาพันธุ์
บล็อกอำลา อาลัย…ป้ารี่ สวลี ผกาพันธุ์







จาก 'บ้านทรายทอง' ถึง 'เดือนดารา'
คอนเสิร์ตรักคิดถึงพี่รี่ สวลี ผกาพันธุ์



นับเป็นประวัติศาสตร์สำคัญอีกครั้งของวงการเพลงไทยสากลอมตะ ที่จะต้องบันทึกไว้ ประวัติการณ์ได้ปรากฏขึ้นที่ศูยน์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ถนนรัชดาภิเษก ตั้งแต่ช่วงเวลาเที่ยงวันไปจนถึงเกือบเที่ยงคืน เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๖๑ ที่ผ่านมานี้เอง






คอนเสิร์ตเพื่อพี่รี่ สวลี ผกาพันธุ์ ศิลปินแห่งชาติ และ รศ.ดร.วีณา เชิดบุญชาติ เพื่อ กองทุนสมาคมนักร้องแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และ กองทุน สวลี ผกาพันธุ์ ในกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม เป็นคอนเสิร์ตที่บุคลากรในแวดวงศิลปวัฒนธรรมและวงการเพลงไทย ได้ร่วมกันแสดงความรำลึกถึงศิลปินยอดนิยมท่านหนึ่งที่ได้จากไปท่ามกลางความอาลัยรักของทุก ๆ คน คือ สวลี ผกาพันธุ์ ศิลปินแห่งชาติ






ถ้าผู้ชมที่ซื้อบัตรรอบค่ำไว้ จะต้องเห็นปรากฏการณ์พิเศษอย่างหนึ่งคือ เวลาที่ท่านไปถึงจะเป็นเวลาที่ผู้ชมในรอบบ่ายกำลังทยอยออกมาจากหอประชุมเพื่อเตรียมเดินทางกลับ และเป็นเวลาที่ผู้ชมรอบค่ำก็ทยอยกันไปที่หน้าหอประชุมเพื่อเตรียมจะเข้าชมในรอบค่ำ ผู้ชมทั้งสองรอบก็จะต้องเผชิญหน้ากันอยู่ตรงทางเดินนั้นเองอย่างล้นหลาม ใครอารมณ์ดีก็จะรู้สึกถึงความยิ่งใหญ่ของคอนเสิร์ตนี้ได้ ตั้งแต่นาทีที่ยืนออกันอยู่ที่ทางเดินนั้น เหมือนเพลงเพลงหนึ่งที่ได้เริ่มต้นขึ้นต้นรายการ



"นี่คือสถาน แห่งบ้านทรายทอง ที่ฉันปองมาสู่

ฉันยังไม่รู้ เขาจะต้อนรับ ขับสู้เพียงไหน..."



นี่คือเพลงเอกจากละครเรื่อง "บ้านทรายทอง" ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ยุคละครเวที ศาลาเฉลิมไทย อำนวยการสร้างโดย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณพันธฺุยุคล นำแสดงโดย สวลี ผกาพันธุ์, ฉลอง สิมะเสถียร, กำจาย รัตนดิลก และ กัณฑรีย์ นาคประภา ซึ่ง สวลี ผกาพันธฺุ์ มีชื่อเสียงเป็นนักร้องนักแสดงอย่างเต็มตัว มาจากการรับบทสาวน้อยถักผมเปียเป็น พจมาน สว่างวงศ์ คนแรกจากละครเวทีเรื่องนี้ และเมื่อถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ครั้งแรกด้วย






แต่ในคอนเสิร์ตนี้ "บ้านทรายทอง" เป็นเพลงที่ต้องนำมาขับร้องหมู่ เพราะมีศิลปินนักร้องมาร่วมในคอนเสิร์ตอย่างมากมายเป็นประวัติการณ์จริง ๆ นำโดย ๘ ศิลปินแห่งชาติ สุเทพ วงศ์กำแหง, ชรินทร์ นันทนาคร, จินตนา สุขสถิตย์, สันติ ลุนเผ่, เศรษฐา ศิระฉายา, วิรัช อยู่ถาวร และ ชาลี อินทรวิจิตร ร่วมด้วย ธานินทร์ อินทรเทพ, ศรีไศล สุชาติวุฒิ, ผสุดี วงศ์กำแหง, อรวี สัจจานนท์, ศรวณี โพธิเทศ, ผุสดี เอื้อเฟื้อ, สุดา ชื่นบาน, โฉมฉาย อรุณฉาน, วินัย พันธุรักษ์, วิชัย ปุญญะยันต์, ชัยรัตน์ เทียบเทียม, จิตติมา เจือใจ, ทิพย์วัลย์ ปิ่นภิบาล, สมศรี ม่วงศรเขียว, อุเทน พรหมมินทร์, ชรัมภ์​ เทพชัย, พรหมเทพ เทพรัตน์, นันทวัน เมฆใหญ่, อุมาพร บัวพึ่ง, ฉวีวรรณ ทองแย้ม, เจิน เจิน, การกันต์ สุทธิโกเศศ, รุ่งโรจน์ สาลิเทพ, ดร.นฎาประไพ สุจริตกุล และ ดร.วีณา เชิดบุญชาติ บรรเลงโดยวงดนตรีวงใหญ่ "กาญจนะผลิน"






"เขตรั้วไพศาล โอบบ้านทรายทอง คือแขนของพระเจ้า

ขอจงเอื้อมมือ และโอบกอดเรา ผู้ผ่านเข้ามา

เพียงเดียวดาย อาจตายเพราะโง่ โอ้อนิจจา

โปรดอย่าอิจฉา สมาชิกใหม่ ของบ้านทรายทอง..."



และเมื่อจบเพลงเปิดรายการแล้วก็มีเสียงของ สวลี ผกาพันธุ์ ของแท้ก้องกังวานขึ้นมาทั้งห้องประชุมในฐานะผู้ดำเนินรายการคอนเสิร์ตในวันนั้นด้วยตัวเอง คงเป็นเสียงที่บันทึกจากคอนเสิร์ตครั้งก่อน ๆ และเสียงจากรายการ "ท่องทะเลเพลง" ที่ สวลี ผกาพันธุ์ เป็นผู้ดำเนินรายการอยู่ทางช่อง ทรินิตี้ สีลม นั่นเอง แต่ก็ทำให้ได้บรรยากาศเหมือน สวลี ผกาพันธุ์ ยังมีชีวิตอยู่ และมาทำหน้าที่ผู้ดำเนินรายการคอนเสิร์ตของเธอด้วยตนเองเหมือนทุก ๆ ครั้ง หลายคนคงน้ำตาซึมและขนลุกซู่เมื่อได้ยินเสียงของเธอ






เพลงส่วนใหญ่ในคอนเสิร์ตนี้จะเป็นเพลงที่ สวลี ผกาพันธุ์ ได้เคยร้องไว้นั่นเอง บางเพลงก็นำเสนอเป็นเพลงร้องหมู่ บางเพลงก็จะมีรีวิวสวยงามประกอบด้วย ส่วนใหญ่เพลงที่นำมาร้องเดี่ยวก็จะเหลือเพียงเที่ยวเดียว ไม่ต้องร้องย้อน เพราะมีนักร้องมามากมาย ถึงกระนั้นก็ยังทำให้คอนเสิร์ตมาถึงเพลงส่งท้ายเอาเมื่อเวลาใกล้จะ ๒๓.๐๐ น. แล้ว และเพลงส่งท้ายเป็นเพลงที่ร้องโดยเสียงของ สวลี ผกาพันธุ์ เหมือนเธอเดินออกมาร้องด้วยตนเอง โดยการเปิดเสียงร้องแล้วก็ปรับแสงสีบนเวทีให้สลัวลง


"ดูเดือนดารา เมื่อยามลับท้องนภา

ยิ่งคิดยิ่งพาใช้เศร้า

แสงสว่างที่เคยพร่างพราว

ยังเร้าใจอยู่ไม่รู้...เลือน..."



เพลงนี้คือ "เดือนดารา" ผลงานของ ครูนารถ ถาวรบุตร แต่งร่วมกับ ครูสกนธ์ มิตรานนท์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๓ จึงมีอายุครบ ๘๐ ปีในอีกเพียง ๒ ปีข้างหน้านี้ เป็นเพลงประกอบละครจุลอุปรากร เรื่อง "แนวที่ ๕" จากบทประพันธ์ของ พันโท หลวงศาสนุประพันธุ์ อำนวยการสร้างโดย พันเอกมังกร พรหมโยธี






ผู้ขับร้องเพลง "เดือนดารา" ในยุคต่อมาที่ได้นำมาขับร้องใหม่ และเป็นต้นฉบับที่ได้บันทึกเสียงไว้อย่างสมบูรณ์ที่สุดคือ สวลี ผกาพันธุ์ ศิลปินแห่งชาติ และเป็นเพลงที่ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทานนักร้องหญิงยอดเยี่ยม ในการจัดประกวดเพลงแผ่นเสียงทองคำครั้งที่ ๓ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๔


"งามแสงเดีือนเป็นเพื่อนชม

ชุ่มชื้นอารมณ์ลม...ลมค่อยพัดมาเยือน

คล้ายความรักเตือน

เหมือนดังดารา...ส่องฟากฟ้าให้งาม..."



เมื่อผู้ร้องนำร้องจบท่อนนี้แล้ว ก็จะมีสร้อยของเพลงคือ "คอยเมื่อครามีจันทร์เยือนมา แสงเศร้าอุรา...พารักไกล" เป็นการร้องประสานเสียงที่ไพเราะมาก


"ดูเดือนดารา เมื่อยามลับไปไกลตา

ก่อนนี้เคยมาอยู่ใกล้

แสงส่อง...ต้องดวงหทัย

เรารัก เราใคร่ ได้ชิดชม..."







ยิ่งได้ฟัง "เดือนดารา" จากเสียงร้องของ สวลี ผกาพันธุ์ อย่างคาดไม่ถึงเป็นเพลงส่งท้ายในคอนเสิร์ตอำลาอาลัยของเธออย่างนี้แล้ว ผู้ชมหลายคนก็คงยังค้างในอารมณ์โศกเศร้าและเป็นสุขเคล้ากันไปอย่างอธิบายไม่ถูก จนกระทั่งเดินทางกลับไปถึงที่พักและหลับตาลงเพื่อนอนหลับและฝันถึงในคืนนั้น


"ยามนี้เดือนเตือนจากจร

ซ่อนทรวงสะท้อน ถอนจากรักจำตรม

นภาระทมไร้เดือนเพื่อนชม

ชอกช้ำจำลา

(สร้อย) เดือนจะลับไปทุกโมงยาม

ความรักร่วงเลย...พลอยเศร้าใจ..."
















บีจีและไลน์จากคุณเนยสีฟ้า กรอบจากคุณ ebeimi

Free TextEditor





 

Create Date : 16 กันยายน 2561    
Last Update : 17 กันยายน 2561 23:02:06 น.
Counter : 3221 Pageviews.  

คอนเสิร์ต "คิดถึง…ครูแจ๋ว" ๒๕๖๑ (B รียูเนี่ยน ๒)














'เมื่อวานนี้' สวลี ผกาพันธุ์ คิดถึงครูแจ๋ว สง่า อารัมภีร


"เมื่อวานนี้ เรายังดีกันอยู่

เหตุใดไม่รู้ หลงเคืองกัน

ฉันเอง หัวใจได้แต่งงงัน

เธอโกรธฉัน ด้วยเหตุใด



เมื่อเสียงเพลงนี้หวานเจื้อยแจ้วขึ้นมา อาจมีหลายคนคงนึกอยากให้เปลี่ยนเนื้อร้องของวรรคแรกนี้เสียใหม่ว่า

"เมื่อวานนี้ ยังดี ๆ กันอยู่...เหตุใดไม่รู้หายหน้าไป..."

เพลงนี้ก็คือเพลง "เมื่อวานนี้" คำร้อง-ทำนอง สง่า อารัมภีร ศิลปินแห่งชาติ ต้นฉบับเสียงร้องโดย สวลี ผกาพันธุ์ ศิลปินแห่งชาติ





ภาพจากเวบ thaimisc.pukpik.com






สง่า อารัมภีร หรือ ครูแจ๋ว เจ้าของนามปากกา "แจ๋ว วรจักร" นักแต่งเพลง นักเขียน นักหนังสือพิมพ์อาวุโสนั้น ท่านจากไปเมื่อ ๒๐ ปีที่ผ่านมา คือตั้งแต่ ๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๒ ครูแจ๋ว สง่า อารัมภีร บรมครูเพลงผู้มีพรสวรรค์ในการสร้างสรรค์ผลงานเพลง มีความสามารถรอบตัวโดยประพันธ์ทั้งเนื้อร้อง ทำนองเพลง แยกและเรียบเรียงเสียงประสาน ควบคุมวงดนตรี รวมถึงการสรรหานักร้องที่เหมาะสมกับเพลงที่ประพันธ์ตลอดจนถึงการบันทึกเสียง ร้อยเรียงกลั่นกรองมาเป็นบทเพลงที่พร้อมด้วยสุนทรียภาพแห่งความไพเราะสุดซาบซึ้ง สร้างชื่อให้กับนักร้องชื่อดังหลายท่าน จากเวลาอันยาวนานบนเส้นทางบันเทิงในชีวิตของครูแจ๋วได้รวบรวมผลงานอันทรงคุณค่าไว้มากมาย จนได้รับรางวัลชีวิตอันล้ำค่าซึ่งเป็นเกียรติและเป็นความภาคภูมิใจ คือการได้รับประกาศเกียรติคุณให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง(เพลงไทยสากล) ในปี ๒๕๓๑






ส่วน สวลี ผกาพันธุ์ หรือชื่อจริงว่า เชอร์รี่ เศวตนันท์ สกุลเดิมคือ ฮอฟแมนน์ เป็นราชินีเพลงลูกกรุงและนักแสดงชาวไทย มีผลงานบันทึกเสียงประมาณ ๑,๕๐๐ เพลง เป็นนักแสดงรุ่นบุกเบิกของวงการภาพยนตร์ไทยยุคฟิล์ม ๑๖ มิลลิเมตร มีผลงานแสดงสร้างชื่อจากภาพยนตร์เรื่อง "ดรรชนีนาง" รับบทเป็น "ดรรชนี" และเป็นนักแสดงคนแรกที่รับบทเป็น "พจมาน สว่างวงศ์" จากละครเวทีเรื่อง "บ้านทรายทอง"





ภาพจาก บล็อกคุณนอกลู่นอกทาง





ฉลอง สิมะเสถียร และ สวลี ผกาพันธุ์
พระ-นางในละครเรื่อง "บ้านทรายทอง" เวอร์ชั่นต้นฉบับ



เธอเป็นนักร้องสตรีรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทานมากที่สุดถึง ๔ ครั้ง จากเพลง ฆ่าฉันให้ตายดีกว่า และเพลงใครหนอ ในปี ๒๕๐๗, เพลงหนีรัก ในปี ๒๕๐๙ และเพลงเดือนดารา ในปี ๒๕๑๔ และรับรางวัลศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล-ขับร้อง) พ.ศ. ๒๕๓๒ เพิ่งจะจากไปอย่างสงบจากการสำลักยาจนขาดอากาศหายใจ ที่บ้านพักของตนเองเมื่อเวลา ๒๐.๐๐ น. ของคืนวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ อายุ ๘๑ ปี ๙๗ วัน










แต่การจากไปอย่างสงบและกระทันหันโดยไม่มีข่าวคราวการเจ็บป่วยล่วงหน้าของเธอ ทำให้แฟนเพลงและผู้ใกล้ชิดหลายต่อหลายคนของเธอทำใจยากที่จะคิดว่าเธอได้จากไปแล้วจริง ๆ แต่กลับหมือนเธอยังมีรอยยิ้มหวาน ๆ อยู่ข้าง ๆ เราเสมอเหมือนทุก ๆ วันที่ผ่านมา และต่างก็รู้สึกว่าใกล้ถึงวันคอนเสิร์ตประจำปีของเธออีกแล้ว เพราะส่วนใหญ่เธอมักจะมีคอนเสิร์ตใกล้ ๆ กับวันคล้ายวันเกิดของเธอในเดือนสิงหาคมเสมอ เราทั้งหลายจึงรู้สึกว่าอีกไม่นานคงได้พบหน้า ได้ฟังเพลง และได้เห็นรอยยิ้มของเธออีก


"ผิดใจกันนิด แม้คิดอภัยกันหน่อย

อย่าเพิ่งใจน้อย คอยดูใจ

สัญญา ของเรานั้นว่าอย่างไร

ไม่อภัย เชียวหรือเธอ..."










พิธีกรคู่ขวัญและคู่ชีวิต บูรพา-ญาดา อารัมภีร



แต่ก็โชคดีที่ความคิดถึงของเราที่มีต่อเธอก็ดูเหมือนจะไม่ไกลเกินฝันนัก เพราะในอีกไม่กี่วันนี่เองเรากำลังจะได้ชมคอนเสิร์ตที่พิเศษสุด และทันอกทันใจหรือว่องไวปาน กามนิต หนุ่ม อะไรประมาณนั้น คอนเสิร์ตนี้ก็คือ คอนเสิร์ต "คิดถึง ครูแจ๋ว" ชุดเพลง สง่า อารัมภีร เพื่อ สวลี ผกาพันธุ์ ในวันอาทิตย์ที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๑ ที่กำลังจะมาถึงนี่เอง รอบ ๑๔.๐๐ น. ณ ศาลาเฉลิมกรุง


"โกรธกัน นั้นมันง่ายจริงนา

สบตา แล้วก็พากันเก้อ

เหินห่าง ดังไม่เคยเจอ

พึมพำพร่ำเพ้อ แล้วก็ตัดไมตรี"











คอนเสิร์ต "คิดถึง ครูแจ๋ว" ในครั้งนี้จะนำเสนอ ชุด เพลงสง่า อารัมภีร เพื่อ สวลี ผกาพันธุ์ โดยรวบรวมเพลงดังของ ครูแจ๋ว สง่า อารัมภีร ที่แต่งขึ้นให้ สวลี ผกาพันธุ์ ร้องจนเป็นผลงานเพลงดังอมตะ มาถ่ายทอดโดยนักร้องคุณภาพผู้มีความผูกพันกับทั้ง ครูแจ๋ว และ สวลี ผกาพันธุ์ ไปในโอกาสเดียวกัน อาทิ พรุ่งนี้ รักจริงหรือเปล่า ดวงใจ สอนน้อง ระฆังทอง รักข้ามขอบฟ้า เมื่อวานนี้ ชีวิตฉันขาดเธอไม่ได้ ความรัก รักในยามยาก ฝนนี้ คืนหนึ่ง หนึ่งในร้อย และอีกมากมาย














เราจะได้พบกับศิลปินเพลงที่ใกล้ชิดและคุ้นเคยกับ ราชินีเพลง สวลี ผกาพันธุ์ เป็นส่วนใหญ่ นำโดย สุเทพ วงศ์กำแหง ศิลปินแห่งชาติ, จินตนา สุขสถิตย์​ ศิลปินแห่งชาติ, ศิลปิน ๓ วิ วิรัช อยู่ถาวร ศิลปินแห่งชาติ, วินัย พันธุรักษ์, วิชัย ปุญญะยันต์, จิตติมา เจือใจ, สุดา ชื่นบาน, นันทวัน เมฆใหญ่ สุวรรณปิยะศิริ, ศรีไศล สุชาติวุฒิ, ผุสดี เอื้อเฟื้อ, อุมาพร บัวพึ่ง, โฉมฉาย อรุณฉาน, ทิพย์วัลย์ ปิ่นภิบาล, กัญจนปกรณ์ แสดงหาญ, นัจนันท์ พฤกษ์ไพบูลย์, ภัทรานิษฐ์ เพฑูริยาเวทย์, ภาสกรณ์ รุ่งเรืองเดชาภัทร์ โดยมีพิธีกรในงานคือ บูรพา อารัมภีร และ ดร.ญาดา อารัมภีร










บรรเลงดนตรีโดย วงเฉลิมราชย์ ควบคุมวงโดย วิรัช อยู่ถาวร ศิลปินแห่งชาติ ในวันอาทิตย์ที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๖๑ รอบ ๑๔.๐๐ น. ณ ศาลาเฉลิมกรุง บัตรราคา ๑,๐๐๐ บาท และ ๗๐๐ บาท จำหน่ายบัตรที่ ศาลาเฉลิมกรุง โทร. ๐-๒๒๒๕-๘๗๕๗-๘, ๐-๒๖๒๓-๘๑๔๘-๙ และไทยทิคเก็ตเมเจอร์ โทร. ๐-๒๒๖๒-๓๔๕๖ หรือ https://www.thaiticketmajor.com







แถลงข่าวคอนเสิร์ต





ภาพและข้อมูลจาก
khaosod.co.th
mgronline.com
เพจศาลาเฉลิมกรุง
thaiticketmajor.com
นสพ.แทบบลอยด์ไทยโพสต์ ๓ มิย. ๒๕๖๑












บีจีจากเวบ wallcoo

Free TextEditor





 

Create Date : 09 มิถุนายน 2561    
Last Update : 9 มิถุนายน 2561 23:25:38 น.
Counter : 3062 Pageviews.  

เพลง "นัดพบ"




ภาพจาก architectureartdesigns.com








นัดพบ
คำร้อง-ทำนอง เพ็ชรรัตน์


ถ้าเราจะนัดพบกัน เมื่อตะวันลับไม้
ฉันไม่หลอกจะบอกให้ อย่าเอ็ดไป สิจงฟัง
ฟังสิฟังสัก นิดแล้วอย่าคิดว่าฉันสอนว่าฉันสั่ง
ฟังสิฟัง ฟังกันเล่นเพลินเพลิน
แต่มันสุขเหลือเกินไม่เชื่อเชิญลองจำ


ถ้าเราจะนัดพบกัน เมื่อตะวันพลบค่ำ
ธรรมชาติชุ่มฉ่ำฉ่ำชื้นชื่นใจ
ใต้ร่มไม้ใบบางบาง แสงสว่างรำไรรำไร
ไม่ต้องระวังไม่ต้องระไว
จะอายทำไมกับพระจันทร์
ถ้าเราจะนัดพบกันควรให้จันทร์เห็นใจ


ลมอ่อนอ่อนพัดผ่าน ชูกิ่งก้านช่อใบ
บ้างก็แกว่งบ้างก็ไกว บ้างเขยื้อนสะเทือนไหว
สะบัดใบไปตามลม
ผสมน้ำค้างพร่างพรม เรไรจิ้งหรีดกรีดผสม
ต่างเคล้าต่างคลอ ต่างล้ออารมณ์เนา ให้ชมให้ชื่นใจ


นี่แหละที่นัดพบ แต่เราไม่พบกับใคร
เพียงแต่พบกับธรรมชาติ แล้วเราก็อาจจะสุขใจ
ไม่ต้องพบกับใครที่ไหน
นะใจ เพลินใจ เพลินตา








ภาพจาก hdwallpapers.in


'นัดพบ' สุพรรณี ปิยะสิรานนท์ ความรักในความงามธรรมชาติ


"ถ้าเราจะนัดพบกัน เมื่อตะวันลับไม้
ฉันไม่หลอกจะบอกให้ อย่าเอ็ดไป สิจงฟัง
ฟังสิฟังสัก นิดแล้วอย่าคิดว่าฉันสอนว่าฉันสั่ง
ฟังสิฟัง ฟังกันเล่นเพลินเพลิน
แต่มันสุขเหลือเกินไม่เชื่อเชิญลองจำ..."



เมื่อกำลังตกอยู่ในห้วงของความรัก คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า วันเวลานัดหมายกับคนรักนั้นช่างเป็นวันเวลาที่แสนดีอะไรอย่างนั้น ดอกไม้ใบหญ้า...ท้องฟ้าและทิวไม้ เมื่อมองไปนั้นก็ช่างงามนัก ทั้งแมกไม้...สายลม หรือแม้แต่หยาดน้ำค้างในยามเช้า หรือเสียงหริ่งเรไรในยามพลบค่ำ ก็ช่างดูงดงามและอ่อนพลิ้ว อ่อนไหว แสนดีไปหมด


"ถ้าเราจะนัดพบกัน เมื่อตะวันพลบค่ำ
ธรรมชาติชุ่มฉ่ำฉ่ำชื้นชื่นใจ
ใต้ร่มไม้ใบบางบาง แสงสว่างรำไรรำไร
ไม่ต้องระวังไม่ต้องระไว
จะอายทำไมกับพระจันทร์
ถ้าเราจะนัดพบกันควรให้จันทร์เห็นใจ..."






ภาพจาก angloinfo.com



เพลง "นัดพบ" ต้นฉบับนั้น บันทึกเสียงเมื่อปี ๒๔๗๗ บนแผ่นเสียงครั่ง ประพันธ์โดย เพ็ชรรัตน์" หรือ สมประสงค์ รัตนทัศนีย์ ขับร้องโดย เชื่อม บุณยเกียรติ ซึ่งขณะนั้นเป็นดาราละครร้องผู้มีชื่อเสียง ต่อมาบันทึกเสียงอีกครั้งในยุคแผ่นพลาสติกโดย สุพรรณี ปิยะสิรานนท์ และ นงลักษณ์ โรจนพรรณ ต่อมาตามลำดับ เป็นเพลงอมตะอีกเพลงหนึ่งซึ่งได้รับความนิยมมาก





คุณสมประสงค์ รัตนทัศนีย์
ภาพจาก oknation.nationtv.tv



สุพรรณี ปิยะสิรานนท์ นั้นต้องถือว่าเป็นเจ้าของเสียงร้องเพลง "นัดพบ" ที่มีผู้ฟังรู้จักมากที่สุด เธอเป็นหนึ่งในผู้ประกาศของ สถานีโทรทัศน์ช่อง ๔ บางขุนพรหม และเป็นนางเอกละครเรื่อง "เงาะป่า"





คุณนงลักษณ์ โรจนพรรณ
ภาพจาก youtube.com






คุณอรวี สัจจานนท์ ขับร้องเพลง "นัดพบ" ร่วมกับ คุณสุพรรณี ปิยสิรานนท์
ในคอนเสิร์ต "เพลงหวานบางขุนพรหม" ในวันที่ ๒๖-๒๗ ธันวาคม ๒๕๕๒
ภาพจาก thaifilm.com



นอกเหนือจาก "พรานบูรณ์" แล้ว เรายังมีครูเพลงรุ่นเก่าที่ช่วยสร้างสีสันให้แก่วงการเพลงไทยสากลยุคแรก ๆ คือ สมประสงค์ รัตน์ทัศนีย์ ซึ่งเป็นเจ้าของนามปากกา "เพ็ชรรัตน์" เป็นบุตรคนเดียวของ "คุณหญิงเทียน" และ พระยามหิมานุภาพ (เป่า) ต้นตระกูลผู้รับพระราชทานนามสกุล "รัตนทัศนีีย์" จาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖





ภาพจาก saisampan.net



นามปากกา "เพ็ชรรัตน์" นั้น ได้รับพระราชทานจาก ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ เช่นกัน เพลง "นัดพบ" ผลงานของ "เพ็ชรรัตน์" เป็นเพลงเอกในละครเรื่อง "กระดี่ได้น้ำ" จึงมีแนวการร้องแบบละครร้องที่มีเสน่ห์น่าฟัง





ภาพจาก thaifilm.com



คำนิยามของ "ศิลปะ" หมายถึง "สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อถ่ายทอดความรู้สึกและความงาม" ดังนั้น ความงามของธรรมชาติซึ่งเป็นส่ิงที่เกิดขึ้นเอง มิใช่สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น จึงไม่เป็นงานศิลปะ แต่อย่างไรก็ตาม ธรรมชาติกับศิลปะมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันเป็นอย่างมาก เนื่องจากธรรมชาติมีความสัมพันธ์กับชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์อย่างแนบแน่นมาช้านานแล้ว





ภาพจาก hd-wallpapersdownload.com



เราจึงอาจเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ในโลกยุคใหม่ที่มนุษย์อยู่ห่างไกลหรือทอดทิ้งธรรมชาติไปเหมือนไม่อาลัยไยดีไปแล้วนั้น งานศิลปะยุคใหม่จึงดูมีความเข็งกระด้างไม่ต่างอะไรกับจิตใจคนในยุคนี้


แต่บทเพลง "นัดพบ" ของครู "เพ็ชรรัตน์" นั้น สะท้อนให้เห็นได้อย่างลึกซึ้งว่า ศิลปะไทยในอดีต โดยเฉพาะนักประพันธ์เพลงของไทยนั้นอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ จนความงามในเชิงศิลปะนั้นเกือบเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับความงามของธรรมชาติแท้


"ลมอ่อนอ่อนพัดผ่าน ชูกิ่งก้านช่อใบ
บ้างก็แกว่งบ้างก็ไกว บ้างเขยื้อนสะเทือนไหว
สะบัดใบไปตามลม
ผสมน้ำค้างพร่างพรม เรไรจิ้งหรีดกรีดผสม
ต่างเคล้าต่างคลอ ต่างล้ออารมณ์เนา ให้ชมให้ชื่นใจ..."






ภาพจาก wisdomquotesandstories.com



ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นความคิดของใครก็ตาม ที่ชี้ชวนให้มีการจัดทัวร์ให้กับนักแต่งเพลงของเราให้ได้มีโอกาสไปสัมผัสกับธรรมชาติแท้ ๆ ระหว่างที่กำลังคิด กำลังสร้างสรรค์งานเพลงกันบ้าง เพลงไทยยุคใหม่ในวันนี้ก็คงจะน่าฟังกว่าที่กำลังเป็นอยู่ในขณะนี้มากทีเดียว เหมือนเนื้อร้องท่อนสุดท้ายของเพลง "นัดพบ" ของ ครูเพ็ชรรัตน์" ที่แม้มีอายุตั้งเกือบ ๑๐๐ ปีแล้ว แต่ก็ยังหวานชื่นใจเหมือนเพิ่งแต่งเมื่อวานนี้นี่เอง


"นี่แหละที่นัดพบ แต่เราไม่พบกับใคร
เพียงแต่พบกับธรรมชาติ แล้วเราก็อาจจะสุขใจ
ไม่ต้องพบกับใครที่ไหน
นะใจ เพลินใจ เพลินตา..."






ภาพจากบล็อก "รักนี้ชั่วนิรันดร์ ๑๗"



ข้อมูลจาก
นสพ.ไทยโพสต์ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๕๙







บีจีจากคุณชมพร กรอบจากคุณ KungHangGerman

Free TextEditor





 

Create Date : 25 กุมภาพันธ์ 2561    
Last Update : 15 ธันวาคม 2562 21:04:01 น.
Counter : 4678 Pageviews.  

เพลง "ยามรัก"




ภาพจาก w-dog.net



เข้าเทศกาลวันแห่งความรักก็ต้องหาอะไรหวาน ๆ มาอัพให้เข้ากับบรรยากาศเนาะ เลือกเพลง "ยามรัก" เวอร์ชั่นดั้งเดิมมาให้ฟังค่ะ เพลงนี้มีหลายเวอร์ชั่น แต่ก็ยังรักเสียงของคุณชายถนัดศรีที่สุด ปีนี้วันวาเลนไทน์กับตรุษจีนตรงกันเลย ขอรวบยอดอวยพร ซินเจียอยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้ อั่งเปาตั่วตั่วไก๊ ขอให้เพื่อน ๆ มีความสุขมาก ๆ มีเงินใช้ไม่ขาดมือ และขอให้สมหวังในความรัก คนที่ยังไม่มีก็ขอให้เจอคนที่ใช่ในเร็ววัน สุขสันต์วันตรุษจีนและวันแห่งความรักจ้า


ยามรัก






ยามรัก
คำร้อง วังสันต์
ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน


ยามเช้า พี่ก็เฝ้า คิดถึงน้อง

ยามสาย พี่หมายจ้อง เที่ยวมองหา

ยามบ่าย พี่วุ่นวาย ถึงกานดา

ยามเย็น ไม่เห็น หน้า ผวาทรวง


ค่ำนี้ พี่จะมี ใครเคียงข้าง

หนาวน้ำค้าง เหน็บจิต ให้คิดห่วง

พี่ก็หนาว น้องคงหนาว นอนร้าวทรวง

โอ้พุ่มพวง อย่าให้รอ ถึงเช้าเลย





'ยามรัก' ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ เวลาของหัวใจ ผลงานของ 'วังสันต์'



ประเทศไทยมีภาษาไทยเป็นภาษาทางการ เป็นภาษาหลักที่ใช้ติดต่อสื่อสารและการศึกษา และยังเป็นภาษาพดที่ใช้กันทั่วประเทศ โดยใช้อักษรไทยเป็นรูปแบบมาตรฐานในการเขียน ซึ่งพ่อขุนรามคำแหงทรงประดิษฐ์ขึ้นอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย นอกเหนือจากภาษาไทยกลางแล้ว ภาษาไทยสำเนียงอื่นยังมีการใช้งานในแต่ละภูมิภาค เช่น ภาษาไทยถิ่นเหนือ ถิ่นใต้ และถิ่นอีสาน แล้วยังมีภาษาของชนกลุ่มน้อยในประเทศอีกเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงภาษาอังกฤษที่มีสอนกันอยู่ในหลายระดับ ทั้งในโรงเรียนและระดับมหาวิทยาลัย แต่ผู้ที่สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้คล่องในประเทศไทยังมีน้อยอยู่ ส่วนใหญ่อยู่ในเขตเมืองและในครอบครัวมีการศึกษาดีเท่านั้น






มาจนถึงวันนี้ วันที่ไทยเปิดประตูก้าวเข้าสู่ยุคประชาคมอาเซียนแล้ว ภาษาไทยก็ยิ่งมีเสน่ห์หอมหวนยิ่งขึ้น เพราะประเทศเพื่อนบ้านทั้งใกล้ไกลนิยมเข้ามาเยือนแล้วอาศัยพักพิงอยู่ในประเทศไทยกันมากขึ้น มากกว่าที่คนไทยจะไปอาศัยอยู่ในประเทศอื่น หรือถึงแม้จะได้ไปอยู่อาศัยในต่างแดนกันมาแล้วหลายปีดีดัก ทั้งเต็มใจหรือจำใจก็ตาม แต่เมื่อถึงเวลาหนึ่งต่างก็โหยหาอ้อมกอดของประเทศไทย เพื่อจะได้กลับมาอยู่พูดภาษาไทยและฟังเพลงไทยกันอยู่ดี สมกับคำกล่าวที่ว่า ประเทศไทยเป็นหลังที่สองของนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ แต่เป็นบ้านหลังแรกและหลังสุดท้ายของคนไทย


ยามเช้า พี่ก็เฝ้า คิดถึงน้อง

ยามสาย พี่หมายจ้อง เที่ยวมองหา

ยามบ่าย พี่วุ่นวาย ถึงกานดา

ยามเย็น ไม่เห็นหน้า ผวาทรวง...







และนี่คือภาษาไทยที่มาในรูป "ภาษาเพลง" ที่งดงามด้วยศาสตร์และศิลป์ อันหมายถึง เป็นทั้ง "ศิลปะเพื่อศิลปะ" และเป็นทั้ง "พาณิชย์ศิลป์" ที่สมบูรณ์แบบอยู่ในตัวเอง ยิ่งใหญ่และงดงามสมศักดิ์ศรีในนามผลงานของวงดนตรี "สุนทราภรณ์" ประพันธ์คำร้องโดย "วังสันต์" ทำนองโดย เอื้อ สุนทรสนาน เสียงร้องต้นฉบับโดย ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ บันทึกเสียงครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๓ ท่านปรากฏตัวพิเศษฉากเพลง "ยามรัก" ในภาพยนตร์ไทยซาวด์ออนฟิล์ม เรื่อง "กลัวเมีย" ของ ศรีกรุงภาพยนตร์ (ภาพยนตร์เสียงศรีกรุง) พ.ศ. ๒๕๑๔ กำกับการแสดงโดย ขุนวิจิตรมาตรา นำแสดงโดย สมบัติ เมทะนี และ อรัญญา นามวงศ์






แต่ถ้าจะมีคำถามต่อไปอีกนิดว่า ครูเอื้อ สุนทรสนาน นั้น เรารู้ว่าท่านเป็นศิลปินเพลงของไทยที่เป็นบุคคลสำคัญของโลก ส่วน ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ นั้น เราก็รู้จักท่านดีว่า ท่านเป็นคุณชายเสียงเสน่ห์ ศิลปินแห่งชาติ แต่นามปากกา "วังสันต์" นั้นก็คือ "ครูน้อย" หรือ สุรพล โทณะวณิก นักแต่งเพลง นักเขียน นักข่าว นักหนังสือพิมพ์ ซึ่งได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๐ นั่นเอง






"ครูน้อย" หรือ สุรพล โทณะวณิก ได้ให้เหตุผลการใช้นามปากกา "วังสันต์" ว่า

"ตามปกติแล้ว ผมจะแต่งเพลงทั้งคำร้องและทำนอง เพลงของผมทุกเพลงจึงต้องเขียนให้ครบว่า คำร้อง ทำนอง สุรพล โทณะวณิก แต่ถ้าจะให้ผมทำงานร่วมกับนักแต่งเพลงคนอื่น ผมก็จะขอใช้นามปากกาอะไรสักอย่าง หรือไม่ บางเพลงก็จะยกให้คนอื่นเขาไปเลย..."






"ยามรัก"
เป็นอีกหนึ่งบทเพลงที่ได้พิสูจน์ความเป็นเพลงไทยสากลมาตรฐานที่ยืนยง เป็นบทเพลงอมตะอยู่ในหัวใจนักนิยมเพลงเมืองไทยอย่างไม่มีวันเสื่อมคลาย เพราะไม่ว่าจะฟังกันในวันเวลาใดต้นฉบับหรือฉบับบันทึกเสียงใหม่ หรือจะให้ใครมาเป็นผู้ร้องให้ฟังก็ตาม แต่เพลง "ยามรัก" ก็จะยังซาบซึ้งในใจของทั้งผู้ร้องและผู้ฟังไม่เปลี่ยนแปลง






ยิ่งเป็นบทพิสูจน์ที่ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า "ภาษาไทยในบทเพลง" นั้นเป็น "อัตลักษณ์" ในระดับ "จิตวิญญาณ" ของความเป็นไทยโดยแท้ ยากที่จะทำร้ายหรือความเป็นไทยโดยแท้ ยากที่จะทำร้ายหรือทำลาย หรือตะแบงแสร้งเสให้เป็นอย่างอื่นไปได้ ดังจะเห็นได้จากเพลงไทยสมัยใหม่จำนวนไม่น้อย ซึ่งใช้นักร้องระดับเยาวชนของไทยที่ได้รับใบสั่งให้ร้องเพลงไทยให้เป็นเด็กต่างประเทศมาร้องเพลงไทย ล้วนแต่พากันตกม้าตายกับแบบไม่ทันข้ามปี โดยเฉพาะเพลงของค่ายเพลงที่ทำการตลาดในสไตล์ "ทำลายวัฒนธรรรมเก่า-สร้างวัฒนธรรมใหม่" เพื่ิอจะยึดธุรกิจนั้น ต่างก็หกคะเมนตกม้าอาการปางตายกันมาแล้วในวันนี้






นับเป็นบทเรียนที่พึงจดจำกันไว้ในอนาคต โดยเฉพาะในห้วงเวลาของเทคโนโลยีการสื่อสารของโลกปัจจุบัน ที่ทำให้โลกแคบลง อาณาเขตเส้นแดนของประเทศเริ่มจะเลือนรางจางหายไป ศิลปินไทยและนักธุรกิจศิลป์ของไทย จึงต่างต้องมีจุดยืนของตนเองให้มั่นคง ว่าเราจะเชิดชู "ภาษาไทย" เอาไว้ใน "เพลงไทย" ของเรา ให้เป็นทั้ง "อัตลักษณ์" และ "จุดขาย" ของเราในตลาดโลก หรือเราจะสร้างสรรค์เพลงไทยของเราเพื่อการค้าเอาไว้ในนามของผู้สร้างสรรค์ในสัญชาติอื่นกันแน่






เราจะต้องรอกันอีกนานเท่าใดที่จะมีนักแต่งเพลงไทยอย่าง "วังสันต์" หรือ สุรพล โทณะวณิก หรือ ครูเอื้อ สุนทรสนาน มาแต่งเพลงให้เราได้ฟังอย่างลึกซึ้งตรึงใจอยู่ทุกเมื่อเชื่อยามอย่างเพลง "ยามรัก" เพลงนี้


"ค่ำนี้ พี่จะมี ใครเคียงข้าง

หนาวน้ำค้าง เหน็บจิต ให้คิดห่วง

พี่ก็หนาว น้องก็หนาว นอนร้าวทรวง

โอ้พุ่มพวง อย่าให้รอ ถึงเช้าเลย...




ข้อมูลจาก
wikiwand.com
youtube.com
chumchonradio.net
pantip.comkapook.com
นสพ.ไทยโพสต์ ๙ ธันวาคม ๒๕๕๙







บีจีจากคุณชมพร กรอบจากคุณ ebaemi

Free TextEditor





 

Create Date : 12 กุมภาพันธ์ 2561    
Last Update : 24 พฤษภาคม 2563 22:28:00 น.
Counter : 2827 Pageviews.  

หน้ากากแอปเปิ้ล










ถึงตอนนี้ก็ได้ทราบกันแล้วว่าใครเป็นแชมป์ในรายการ the mask singer 3 เมื่อวันที่ ๑๘ ม.ค. ที่ผ่านมา ในรอบ Champ vs Champ ที่มีเพียง ๓ หน้ากากสุดท้ายที่แข็งแกร่งที่สุด หน้ากากแอปเปิ้ล หน้ากากหนอนชาเขียว และหน้ากากนางอาย ต่างก็งัดไม้ตายมาสู้กันอย่างดุเดือด รวมถึงคณะกรรมการเองก็ต่างยกทัพกันมาเพื่อรอกระชากหน้ากากกันอย่างสนุกสนาน และได้คณะกรรมการหน้าใหม่อย่าง บอย พิษณุ และ เอ ศุภชัย เรียกเสียงฮาโดยการพาแฝดคนละฝาอย่าง ไอซ์ ศุภเช มาร่วมตัดสินหน้ากากในครั้งนี้ด้วย






เริ่มเพลงแรกด้วยการฟีทเจอริ่งของ ๓ หน้ากากในเพลง โปรดส่งใครมารักฉันที ของ Instinct ซึ่งต้องบอกว่าทั้งสามคนร้องออกมาได้อย่างดีเยี่ยม เหมือนอยู่ในคอนเสิร์ตของพวกเขาเอง และหน้ากากที่ได้เริ่มการแข่งขันเป็นคนแรกนั่นก็คือ หน้ากากแอปเปิ้ล มาในเพลง รักคุณเข้าแล้ว จาก ป๊อด โมเดิร์นด๊อก น้ำเสียงสะกดคนทั้งสตูดิโออย่างอยู่หมัด






ตามมาด้วย หน้ากากหนอนชาเขียว มาในเพลง เรือเล็กควรออกจากฝั่ง ของ Bodyslam ทำเอาคนทั้งสตูดิโอลุกขึ้นมาร้องอย่างสนุกสนาน และปิดท้ายด้วย หน้ากากนางอาย ที่มาเพลงลูกทุ่ง ฉีกแนวไปจากปกติ รักคุณยิ่งกว่าใคร จาก ก๊อต จักรพันธ์ ได้ใจไปแบบเต็ม ๆ และพอถึงช่วงตอบคำถาม ก็ทำเอาคณะกรรมการปวดหัว แบบตามไม่ทัน เพราะแต่ละหน้ากากต่างก็ปล่อยมุกกันอย่างจัดเต็ม






มาถึงวินาทีลุ้นระทึกที่ กันต์ กันตถาวร จะต้องประกาศชื่อหน้ากากที่เข้ารอบทีละคน ซึ่งหน้ากากนางอายเป็นชื่อแรกที่ได้ผ่านเข้าสู่รอบ Champ of the Champ ทำให้เหลือเพียง ๒ หน้ากากเท่านั้นที่ต้องลุ้นกัน ว่าใครจะผ่านเข้าสู่รอบต่อไป และใครจะถูกกระชากหน้ากาก






และในที่สุด พิธีกรก็ได้ประกาศชื่อ หน้ากากหนอนชาเขียวออกมา ทำให้หน้ากากที่ถูกกระชาก นั่นคือ หน้ากากแอปเปิ้ล ซึ่งไม่ใช่ใครที่ไหน เขาคนนั้นก็คือ "โอ๊ต ปราโมทย์ ปาทาน" เขาได้บอกถึงสาเหตุที่เลือกเป็นหน้ากากแอปเปิ้ลว่า เพราะคุณแม่ของเขาที่เคยลำบากยากจน ตอนที่ตั้งท้องเขาคุณแม่อยากทานแอปเปิ้ลแต่ไม่สามารถซื้อทานได้ ทำได้เพียงแค่ยืนดมผลแอปเปิ้ลเท่านั้น หลังจากพูดถึงเรื่องราวต่าง ๆ เขาก็ปิดท้ายด้วยการร้องเพลงเพราะ ๆ อย่างแพลง เมื่อวาน ให้ทุกคนได้ฟังกัน







หลายคนคงไม่แปลกใจที่หน้ากากแอปเปิ้ลตกรอบไป แต่หลังถอดหน้ากากแล้ว "โอ๊ต ปราโมทย์ ปาทาน" กลับทำให้เราเห็นสิ่งที่ไม่ค่อยได้เห็น แม้บางคนจะไม่ชอบดราม่าหลังถอดหน้ากาก แต่เรารู้สึกได้ว่าทุกคำพูดที่บอกเล่านั้นเป็นจริงจากใจทุกคำ เหมือนเสียงร้องที่ไพเราะจับใจผิดกับคาแรกเตอร์ตลกต่ำตมที่แสดงให้เห็นอยู่ทุกวัน






เรารู้จักคุณโอ๊ตเป็นครั้งแรกจากรายการสัมภาษณ์อะไรสักรายการนึง จำชื่อไม่ได้ซะแล้ว เป็นหนึ่งในแขกรับเชิญประกอบ ตอนนั้นรู้ว่าเป็นนักร้องแต่ยังไม่เคยได้ยินเสียง ชอบตรงที่เป็นคนตลกมาก มีปฏิภาณดี หลังจากนั้นไม่นานก็เห็นเขาในอีกหลายรายการ มาได้ฟังเสียงร้องแบบเต็ม ๆ ก็รายการหน้ากากนักร้องนี่แหลค่ะ เราเชียร์ให้แกได้แชมป์ปีนี้แต่แห้ว






ขอตบท้ายบล็อกด้วยข้อความที่อ่านแล้วถูกใจ คุณ jingparko เขียนถึงคุณโอ๊ตได้ดีมากในกระทู้ "โอ๊ต ปราโมทย์ ปาทาน" ชายผู้มีมากกว่าเสียงร้องที่จับใจ






และแล้วแอปเปิ้ลก็ตกรอบไปตามสปอยล์แบบไม่พลิกโผ ไม่พลิกล็อค และไม่เซอร์ไพรส์ใด ๆ...

แต่หลังถอดหน้ากาก "โอ๊ต ปราโมทย์ ปาทาน" กลับทำให้เราเห็นสิ่งที่ไม่ค่อยได้เห็น แม้บางคนจะไม่ชอบดราม่าหลังถอดหน้ากาก แต่เรารู้สึกได้ว่าทุกคำพูดที่บอกเล่านั้นเป็นจริงจากใจทุกคำ เหมือนเสียงร้องที่ไพเราะจับใจผิดกับคาแรกเตอร์ตลกต่ำตมที่แสดงให้เห็นอยู่ทุกวัน

ส่วนตัวแล้วเราเริ่มสนใจโอ๊ต ปราโมทย์ หลังจากติดตาม "หน้ากากจิงโจ้" เลยทำให้รู้ว่าทั้งเป๊ก ผลิตโชค และโอ๊ต ปราโมทย์ ต่างเป็นเพื่อนสนิทและเป็นนักร้องคุณภาพที่ถูกหลงลืมมาตลอด ถ้าบอกว่าเป๊กถูกลืมเป็นเวลาสิบกว่าปี "โอ๊ต" ก็เป็นอีกคนที่ชะตากรรมไม่ต่างกัน แบบที่ว่าโอกาสจะขึ้นร้องเพลงบนเวทีใหญ่ ๆ แทบไม่มี (ยกเว้นได้รับเชิญจากเพื่อนพ้องที่สนิทกัน) แต่ด้วยความที่โอ๊ตเป็นคนตลกไหวพริบดีชนิดหาใครเทียบยาก ทำให้งานดีเจและพิธีกรเป็นที่ถูกอกถูกใจวัยรุ่นและคนทั่วไป (ถูกใจนุชทั้งหลายยามต้องการที่พักใจเวลางอนคุณหลวงผลิตด้วย 55555) ทำให้โอ๊ตค่อย ๆ ได้รับความสนใจมากขึ้นจนกลายเป็นที่นิยมอย่างที่เห็นทุกวันนี้






แต่การชอบหน้ากากแอปเปิ้ลไม่ได้เกี่ยวกับการที่ชอบโอ๊ตมาก่อน เพราะตั้งแต่เพลงแรก "อย่าพูดเลย" เสียงนี้สะกดใจมาก ฟังแล้วใสสะอาด หมดจดทุกคำจริง ๆ จนบอกกับตัวเองว่าคนร้องจะเป็นใครไม่รู้แต่เสียงแบบนี้ตกรอบแรกไม่ได้เด็ดขาด ถึงแม้กรุ๊ปต่อมาจะมีแพนเค้กและมงกุฎเพชรให้หวั่นใจบ้าง แต่ที่สุดแล้วแอปเปิ้ลคือหน้ากากเดียวที่เราอยากให้เป็นแชมป์ซีซั่นนี้มากสุด (แม้สปอยล์จะหลุดแบบโหดร้ายมากมายก็ตาม T T)






และแล้วก็ถึงคืนนี้จนได้ คืนที่ต้องถอดหน้ากาก "แอปเปิ้ล" พร้อมเรื่องเล่าที่มาของหน้ากากอันแสนเศร้า กับเรื่องราวความรักในการร้องเพลงอย่างสุดซึ้ง... ซึ่งทั้งหมดคือสิ่งที่โอ๊ตอยากบอกพวกเรามานานแต่ไม่มีโอกาสได้บอก แม้บางคนจะไม่ชอบดราม่าแต่เรากลับดีใจที่มีโอกาสฟังความในใจเหล่านี้ และเชื่อว่าโอ๊ตตั้งใจพูดแทนเพื่อนศิลปินที่ไม่มีโอกาสพูดอีกหลายคน โดยเฉพาะคำขอบคุณที่มอบให้รายการที่ช่วยชุบชีวิตเพื่อนรักของเขา "หน้ากากจิงโจ้" และคำที่ว่า "ผมเกิดมาเพื่อเป็นนักร้อง" ไม่ได้ไกลเกินกว่าที่พูดโอ๊ตพูดไว้จริง ๆ... แถมยังเพิ่มเติมการเป็นพิธีกรดีเจที่มากด้วยความตลก เฮฮา ต่ำตม (5555) ฯลฯ ไว้ได้อย่างยอดเยี่ยม






ที่สุดแล้วไม่ว่าใครจะได้แชมป์ซีซั่นนี้ สำหรับเรา "แอปเปิ้ล" คือแชมป์ที่สุดในใจแล้วจริง ๆ เพราะทุกเพลงที่เลือก ทุกคำที่ร้อง เต็มไปด้วยความรู้สึกหลากหลายอย่างที่ไม่เคยได้เห็นมาก่อน ทั้งความอบอุ่น ละมุน นุ่มลึก หรือแม้แต่ความเจ็บปวดรวดร้าวต่างๆตั้งแต่เพลงแรกจนเพลงสุดท้าย ทั้งหมดถูกอัดแน่นไปด้วยอารมณ์เพลงที่เต็มเปี่ยมแบบสุด ๆ






สุดท้ายนี้ขอมอบภาพจากทุกมุมมองที่ได้เห็นในเพลง "รักคุณเข้าอีกแล้ว"

ใช่... เรารักนายนะ "โอ๊ตเปิ้ล" นายเจ๋งสุด ๆ บอกเลย ขอบคุณที่มา TMS SS3 มามอบเสียงเพลงเพราะๆ และมาสร้างความสุขให้กับเรานะ

และที่ขาดไม่ได้ ขอบคุณพี่หนึ่ง จักรวาล สำหรับเสียงเปียโนที่(โคตร)เพราะในวันนี้
และทีมงาน TMS ที่เชิญโอ๊ตมาให้เราเห็นแง่มุมใหม่ๆที่ไม่เคยเห็น ถึงจะรู้ว่าคนตลกมักมีมุมเศร้าแบบคาดไม่ถึง แต่วันนี้เราเซอร์ไพรส์มากจริง ๆ จากที่คิดว่าจะตั้งกระทู้แบบฮา ๆ กลายเป็นต้องปาดน้ำตาก่อนตั้งกระทู้เฉยเลย นายทำอะไรเราเนี่ย โอ๊ตเปิ้ลลลล 555555

เบื้องหลังที่มากกว่าเสียงร้องไพเราะจับใจ... คือหัวใจที่ไม่ยอมแพ้ในการเป็นต้นแอปเปิ้ลที่เติบโตอย่างงดงาม ของผู้ชายที่ชื่อว่า "โอ๊ต ปราโมทย์ ปาทาน"







ภาพและข้อมูลจาก
กระทู้พันทิป
efm.fm
youtube.com
twitter.com
thevoteth.com
vihoknews.com
trendsmap.com
music.sanook.co
mobile.twitter.com
musicstation.kapook.com









บีจีจากคุณเนยสีฟ้า ไลน์จากคุณญามี่

Free TextEditor




 

Create Date : 04 กุมภาพันธ์ 2561    
Last Update : 5 กุมภาพันธ์ 2561 0:01:53 น.
Counter : 2868 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  

haiku
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 161 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add haiku's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.