happy memories
Group Blog
 
All blogs
 

สายลมเหนือ



ภาพจาก orchidlanna.wordpress.com



วันหยุดสบาย ๆ หาเพลงเบา ๆ น่ารัก ๆ อย่าง "สายลมเหนือ" มาให้ฟังค่ะ ได้ข้อมูลจากคอลัมน์เพลงเก่าในนสพ.ไทยโพสต์และเวบผู้จัดการ เพลงนี้แปลงเนื้อมาจากเพลงฝรั่งชื่อ "Daisy Bell" หรือที่บางคน (และเราด้วย) จำชื่อเป็น "On A Bicycle Built For Two" เพลงต้นฉบับเพราะมาก ครูไสล ไกรเลิศ นำมาแปลงเป็นเนื้อไทยได้ไพเราะไม่แพ้กัน อากาศเดี๋ยวเย็นเดี๋ยวร้อน เพื่อน ๆ ดูแลสุขภาพกันด้วยนะคะ



บล็อกคุณปอนล่าสุด
พลังแห่งรัก










สายลมเหนือ
คำร้อง ไสล ไกรเลิศ
ทำนอง Daisy Bell


พลิ้วลมลอยอยู่ ดอกบานแล้วดูโสภา
แลสวยงามสง่า อยากเด็ดเอามาไว้ชม
บุญน้อยเลยไม่สม ภิรมย์ได้
เฉิดฉวี มีสง่า ร้อยมาลัย

       
เด็ดไปเอาไว้เชย เจ้าเคยเอาไว้ชม
กลัดเสียบผม ชมต่างตาคราจากกัน
ฉันคอย เธออยู่ ผ่านเลยฤดูเหมันต์
คอยหาย ใจหวั่น ภาพเธอผ่องพรรณเย้าตา

       
คืนนี้เดือนเด่นฟ้า นภาผ่อง
สุขอย่างนี้ มีเธออยู่ รู้ใจปอง
พี่เชย ปรางเนื้อทอง เจ้ามองสะเทิ้นอาย
หลบชม้าย ชายเนตรเมิน เชิญพี่ชม

       
ลมเหนือ โชยรักเอย
เจ้าโรยร่วงหล่น ใจหม่นทนระทม
ลมเหนือ เยือนรักเอย
เจ้าเตือนใจข่ม สุดหาใดข่มฤทัย

       
ลมพัดพามณฑา เจ้าหอมยังไม่สิ้น
หอมเอยเพียงกลิ่น เนื้อนวลละไม
คนรักกันพลันห่างเหิน เมินไปได้
ไม่เหลือเยื่อใย โอ้ใจเจ้าเอ๋ย








ภาพจาก hof-records.com


'สายลมเหนือ' ความงามจากอดีตอันจรุงใจ
เหมือนเสียงระฆังของดอกเดซีต้นฤดูใบไม้ผลิ



"พลิ้ว ลม ลอย อยู่

ดอกบาน แล้วดู โสภา

แล สวย งาม สง่า

อยากเด็ด เจ้ามา ไว้ชม..."



ยามลมหนาวผ่านพลิ้วมาตอนเช้าตรู่ ทำให้นึกถึงช่วงเวลาในวัยหนุ่มสาวคราวนั้น วันที่ยังเป็นเด็กบ้านนอกมีบ้านพักอยู่ริมทุ่ง อากาศเช้าหนาวเย็นแต่ยังจำถึงความหนาวเย็นแต่เป็นสุขนั้นไม่มีวันลืม มารู้สึกหวนหาวันเวลาอย่างนั้นอีกครั้งก็ในวันนี้ วันที่ต้องมาอยู่ท่ามกลางกำแพงของตึกสูง ๆ เหมือนมีภูเขาล้อมรอบอยู่ในขอบเขตอันอบอ้าวของเตาไฟฟ้าแห่งกรุงเทพมหานคร จะปีใหม่แล้ว กรุงเทพฯ ยังร้อนอบอ้าวอยู่เลย ค่อยรู้สึกฉ่ำเย็นขึ้นบ้างเมื่อได้ยินเพลง "สายลมเหนือ" แว่วมา


บุญน้อยเลยไม่สม ภิรมย์ได้

เฉิดฉวี มีสง่า ร้อยมาลัย

เด็ดไปเอาไว้เชย เจ้าเคยเอาไว้ชม

กลัดเสียบผม ชมต่างตาคราจากกัน






ภาพจาก weloveshopping.com



ตอนที่ได้ฟังเพลงนี้แรก ๆ ก็เคยคิดเคยเคลิ้มไปว่า ดอกไม้ดอกนั้นจะเป็นไม้ดอกหรือดอกฟ้าพันธุ์ใดหนอ ผู้แต่งท่านจึงได้พร่ำรำพันฝันถึงด้วยถ้อยกวีหวานที่ไพเราะได้ปานนั้น เสียงผู้ขับขานก็เป็นเสียงของหนุ่มหล่อที่แสนสง่ามงามในน้ำเสียง ก้องกังวานล่องมากับลมเหนืออันแสนสุขจนเกินที่จะหาคำบรรยายได้





ภาพจาก thaigoodview.com



จนในที่สุดได้มีโอกาสพบกับผู้ประพันธ์เพลงนี้ คือ ครูไสล ไกรเลิศ หรือ "น้าไหล" ของพวกเรา ซึ่งเป็นนักแต่งเพลงที่ชอบเสียงและชอบสีไวโอลินมาตั้งแต่หนุ่ม ๆ ครูจึงได้เล่าให้ฟังว่า


"เพลงนี้เป็นฝรั่งที่ไพเราะมาก เขาบรรยายถึงดอกไม้ดอกหนึ่งที่สวยงามมาก แล้วเขาก็เปรียบกับความรักและความงามของผู้หญิงที่เขารักได้อย่างน่าประทับใจ ดอกไม้ดอกนั้นชื่อ เดซี เขาว่ามันมีกลีบสีขาวแต่เกสรเป็นสีเหลือง ฉันไม่เคยเห็นหรอก แต่ฉันก็พยายามจะแต่งออกมาเป็นเนื้อภาษาไทยให้ได้ดีที่สุดเท่านี้แหละ"





ภาพจาก wall.alphacoders.com



นั่นเป็นทั้งคำสอนและคำบอกเล่าของครูในระดับบรมครูของวงการเพลงไทยในอดีตท่านหนึ่ง ที่คงพอช่วยให้จินตนาการของผู้ที่ได้ฟังเพลง "สายลมเหนือ" ต้นฉบับเสียงร้องของ สุเทพ วงศ์กำแหง ศิลปินแห่งชาติ พอให้ได้มีจินตนาการร่วมไปกับการพังเพลงนี้มากขึ้น กับเนื้อร้องภาษาไทยฉบับ ครูไสล ไกรเลิศ





ภาพจาก wall.alphacoders.com



สุเทพ วงศ์กำแหง เขียนไว้ใน คำไว้อาลัย ครูไสล ไกรเลิศ ใน หนังสืออนุสรณ์งานฌาปนกิจศพ นายไสล ไกรเลิศ เมื่อ วันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๙ เอาไว้อีกว่า

       
“...ด้วยความใกล้ชิดระหว่างผม กับครู ซึ่งมีอยู่ช่วงหนึ่งไม่มากและก็ไม่น้อยนัก ผมก็ย่อมจะรู้ตื้นลึกหนาบางของครูของผมได้ดี เหมือนอ่านหนังสือเล่มหนึ่งที่มีเนื้อหาสาระ และพิมพ์ด้วยอักษรตัวโต ๆ อ่านก็ง่าย ใช้ภาษาถ้อยคำธรรมดา ไม่ต้องเสียเวลาแปลแต่ประการใด เพลงที่ครูได้ประพันธ์เอาไว้ จะเห็นความละเมียดละไมในถ้อยคำ แต่ละคำที่ประจงวางเอาไว้อย่างพอเหมาะพอเจาะ ตรงกับทำนอง สัมผัสแต่ละวรรคตอน ได้อรรถรส ไม่สุกเอาเผากิน ร้องก็ง่าย ไม่จำเป็นต้องผันเสียงช่วย เหมือนเพลงบางเพลงให้เหนื่อยแรง การวางวรรค หรือการย่อหน้าของเพลงแต่ละเพลงก็เช่นกัน ท่านไม่ยอมให้ลูกศิษย์ของท่านวางรูปการเขียนเนื้อเพลงผิดแบบโดยเด็ดขาด ท่านจะพิถีพิถันให้แลดูเป็นระเบียบเรียบร้อย ผิดกับการปฏิบัติตนที่ท่านเป็นอยู่ คือกินอยู่อย่างไรก็ได้ จนบางคนก็ว่าท่านตรง ๆ ว่า “ง่ายเกินไป”





วิเชียร ภู่โชติ
ภาพจาก youtube.com



สายลมเหนือ- วิเชียร ภู่โชติ (๒๔๙๙)




เพลงนี้บันทึกเสียงครั้งแรกโดย วิเชียร ภู่โชติ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๔ และ สุเทพ วงศ์กำแหง นำมาร้องใหม่อีกครั้ง โดยที่ทำนองนั้นนำเอามาจากเพลง เดซี่ เบลล์ ของฝรั่ง เบื้องหลังของเพลง สายลมเหนือ นี้ ชรินทร์ นันทนาคร เขียนถึงเบื้องหลังความเป็นมาเอาไว้ใน "แด่ความงามของความรัก" จากคอลัมน์ หกแยกบันเทิง หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ว่า ครูไสล ไกรเลิศ ตั้งใจใส่ชื่อภรรยาสุดที่รักที่หลบลี้หนีหน้าครูไป ใน แด่ความงามของความรัก ไว้ในเพลงนี้อย่างแยบยล





ภาพวาดผลงานครูจักรพันธุ์
ภาพจาก oamc.ku.ac.th


       
“...ลมอะไรก็ไม่รู้ พัดพาไปจุฬาฯซอย ๑๑ ได้พบกับครูเพลงผู้ยิ่งใหญ่ ไสล ไกรเลิศ กินกับครู นอนกับครู มิใยที่น้ำไฟถูกตัด และภรรยาครูหอบผ้าหนีไปอยู่บ้านแม่ แต่ครูก็ยิ้มและตั้งใจเขียนเพลง ขวัญเอ๋ย เคยภิรมย์ชิดชื่นสุขสันต์...
       

นี่คือ ศิลปิน ผู้เขียนเพลงขาย และขายสิทธิ์ตลอดชีวิต ด้วยเงินจำนวนที่ฟังแล้วน่าใจหาย ถึงอย่างไร เพลงเดียวดาย ก็โด่งดังไปทั้งประเทศ แต่ภรรยาที่ชื่อ ละมัย ของครูยังไม่กลับมา ครูเขียนอีกเพลง ชื่อ สายลมเหนือ โดยเฉพาะท่อนสุดท้าย เขียนด้วยจิตวิญญาณของความห่วงหาอาลัย ที่ไพเราะเพราะพริ้งว่า

       
“…ลมพัดมามณฑาเจ้าหอมยังไม่สิ้น

หอมเอยเพียงกลิ่น นวลเนื้อ ละมัย
       
คนรักกันมาพลันห่างเหินเมินไปได้

ไม่เหลือเยื่อใยโอ้ใจเจ้าเอ๋ย...”

       
       
ครูแอบใส่ชื่อภรรยา คือ ละมัย ไว้ในบทเพลง และคราวนี้ได้ผล โลกแห่งบทเพลงก็คือ โลกแห่งจินตนาการอันบริสุทธิ์ผุดผ่อง โดยเฉพาะของ ครูเพลงชื่อ ไสล ไกรเลิศ ที่มีต่อผู้เป็นที่รักยิ่ง





ภาพจาก wallpaperswide.com



ฤดูใบไม้ผลิเป็นฤดูในเขตอบอุ่นและเขตหนาว โดยทั่วไป ทางซีกโลกเหนือจะมีระยะเวลาตั้งแต่ประมาณวันที่ ๒๑ มีนาคม ถึงวันที่ ๒o มิถุนายน ของแต่ละปี ส่วนทางซีกโลกใต้จะมีระยะเวลาตั้งแต่เดือนกันยายนถึงเดือนพฤศจิกายน ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศไทยก็คงจะใกล้เคียงกับฤดูหนาว ที่ถือว่าเป็นช่วงเวลาอากาศกำลังสบายสำหรับประเทศไทย ที่อากาศมักจะร้อนอบอ้าวตลอดปี แม้แต่ในตอนกลาววันของฤดูหนาวนั้นเอง อย่างปีนี้มาจนจะถึงวันขึ้นปีใหม่แล้ว ช่วงกลางวันและช่วงหัวค่ำ อากาศยังค่อนข้างร้อนอบอ้าวอยู่เลย โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร





ภาพจาก youtube.com



ความหมายของดอกเดซี หรือ Daisy คือดอกไม้สีขาวที่บานในตอนต้นฤดูใบไม้ผลิ ส่วนคำว่า Bell นั้นหมายถึง ระฆัง Daisy Bell จึงหมายถึงระฆังของดอกเดซี ซึ่งเป็นภาษากวีแบบสาทกโวหารของฝรั่ง ที่เปรียบให้เห็นความงามของความรัก ที่งามเสมือนเสียงระฆังของดอกเดซีอะไรประมาณนั้น





ภาพจาก wikipedia.org



เพลงนี้มีเรื่องจักรยานเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แต่เป็นจักรยานที่นั่งขับขี่ได้สองคน ซึ่งส่วนใหญ่ก็ทำไว้ให้คนที่เป็นเพื่อนสนิท พี่น้อง หรือคู่รักใช้นั่งขับขี่ไปด้วยกัน เป็นจินตนาการของนักแต่งเพลงชาวอังกฤษคนหนึ่งชื่อ Harry Dacre ที่ไปเยือนประเทศอเมริกแล้วมีเหตุการณ์ทีทำให้เขาเกิดแรงบันดาลใจแต่งเพลงนี้ขึ้นมาเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๓๕ ซึ่งเป็นยุคต้น ๆ ของวงการเพลงไทยสากลของเรา





Harry Dacre
ภาพจาก marvelcinematicuniverse.wikia.com






ภาพจาก sheilahanlon.com



ทั้งฉบับภาษาไทยและอังกฤษ ท่อนที่มีคนชอบร้องกันมากที่สุด แต่ท่อนสร้ายหรือท่อนฮุกเท่านั้นไม่นิยมร้องกันทั้งเพลง ซึ่งเป็นท่อนสั้น ๆ แต่ติดตรึงนักฟังเพลงทั้งหลายมาแล้วทั้งโลก คือ


Daisy, Daisy, give me your answer, do

I'm half crazy all for the love of you

It won't be a stylish marriage

I can't afford the carriage

But you'd look sweet on the seat

Of a bicycle built for two.



Daisy Bell-Nat King Cole







ภาพจาก singbookswithemily.wordpress.com





ภาพจาก sheilahanlon.com




ข้อมูลจาก
นสพ.แทบลอยด์ไทยโพสต์ ๒ ม.ค. ๒๕๕๙
manager.co.th




บล็อกนี้อยู่ในหมวดแฟนคลับ



บีจีจากคุณเนยสีฟ้า ไลน์จากคุณญามี่ กรอบจากคุณ ebaemi

Free TextEditor





 

Create Date : 10 มกราคม 2559    
Last Update : 10 มกราคม 2559 7:48:44 น.
Counter : 5057 Pageviews.  

จากดวงใจ




ภาพจาก 7-themes.com








จากดวงใจ
คำร้อง แก้ว อัจฉริยะกุล
ทำนอง สมาน กาญจนะผลิน


เพลงนี้จากดวงใจ

ล่องลอยไปตามสายลม

ปลอบทุกข์ปรนสุขให้ชื่นชม

กล่อมอารมณ์ให้ภิรมย์สำราญ


เพลงนี้จากดวงใจ

ล่องลอยไปทั่วทุกสถาน

ขับกล่อมน้อมโน้มวิญญาณ

ให้เบิกบานชั่วกาลเอย






ต้องขอบพระคุณเหล่าเพี่ ๆ น้อง ๆ และพื่อนบล็อกทุกท่านมากที่แวะมาร่วมฉลองวันเกิดด้วยคำอวยพรดี ๆ และมีคุณค่ามากในบล็อกที่แล้วนะคะ รู้สึกซาบซึ้งและประทับใจมาก พรดี ๆ ที่ให้อวยชัยให้พรมาก็ขอให้ย้อนกลับไปหาทุกท่านหลายร้อยหลายพันเท่าเลย ขอบคุณจริง ๆ ค่ะ


วันหยุดสบาย ๆ หาเพลงเก่าเพราะ ๆ มาให้ฟัง เป็นเพลงของคุณขรินทร์ที่ประพันธ์โดย ครูแก้วและครูสมาน เพลงนี้สั้น ๆ มีเนื้อเพลงแค่ไม่กี่ประโยค ฟังเพลิน ๆ ดีค่ะ



บล็อกคุณปอนล่าสุด ไม่ได้อัพซะหลายอาทิตย์
เอามารวมกันไว้ในบล็อกเดียวกันเลย มีทั้งหมด ๔ บท
ฝังหัวใจไว้ในหุบเขานั้น


บล็อกเสพงานศิลป์ล่าสุด
เสพงานศิลป์ ๒๔o











ภาพจาก 7-themes.com


'จากดวงใจ' ชรินทร์ นันทนาคร
ครูแก้วแต่งให้รายการชรินทร์โชว์



"เพลงนี้จากดวงใจ    

ล่องลอยไปตามสายลม

ปลอบทุกข์ปรนสุขให้ชื่นชม

กล่อมอารมณ์ให้ภิรมย์สำราญ....."



เสียงเพลงนี้จะล่องลอยมาตามสายลมสมตามที่เนื้อเพลงพรรณนาเอาไว้ ทันทีที่เริ่มรายการ "ชรินทร์โชว์" อันโด่งดังของ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง ๔ บางขุนพรหม ในยุคนั้น นั่นหมายถึงในยุคที่ประเทศไทยของเรามีสถานีโทรทัศน์อยู่เพียงช่องเดียว





ตึกไทยทีวีช่อง ๔ บางขุนพรหม
ภาพจาก manager.co.th






จำนง รังสิกุล หัวหน้าสถานี้ผู้บุกเบิก ช่อง ๔ บางขุนพรหม
ภาพจาก manager.co.th



สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง ๔ บางขุนพรหม นับว่าเป็นสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งแรกของประเทศไทย ดำเนินงานภายใต้การบริหารของ บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด โดยจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท เมื่อวันที่ ๑o พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๕ มีพิธีเปิดและแพร่สัญญาณเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๙๘ ซึ่งตรงกับวันชาติในสมัยนั้น โดยมี จอมพลแปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น  เป็นประธานในพิธีเปิด  สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง ๔ นี้  ตั้งอยู่ที่วังบางขุนพรหม อันเป็นที่ทำการของ ธนาคารแห่งประเทศไทย ในปัจจุบัน อยู่จนถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๗ จึงได้ย้ายห้องส่งโทรทัศน์ไปที่ถนนพระสุเมรุ แขวงบางลำพู และต่อมา พ.ศ. ๒๕๑๙ จึงได้เปลี่ยนระบบการออกอากาศ จากภาพขาวดำเป็นภาพสี ทาง ช่อง ๙ อย่างสมบูรณ์ พร้อมกับได้เปลี่ยนชื่อเป็น สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสี ช่อง ๙ อ.ส.ม.ท. และ โมเดิร์นไนน์ทีวี ในปัจจุบัน





ภาพจาก thaigramophone.com





เพลงเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรรมของช่อง ๔ บางขุนพรหม
โดยเฉพาะรายการ "เพลงแห่งความหลัง"
ภาพจาก manager.co.th



ในช่วงแรกที่เริ่มแพร่ภาพออกอากาศ รัฐบาลไทยสมัยนั้นก็ได้ใช้สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง ๔ นี่เองเป็นสื่อหลักของรัฐบาลในการถ่ายทอดการปราศรัยของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี รวมทั้งการเผยแพร่ผลงานของรัฐบาล ถ่ายทอดการประชุมรัฐสภา ตลอดจนถ่ายทอดสดงานเฉลิมฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ ในปี พ.ศ. ๒๕oo  ต่อมากองทัพบก โดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น ได้สั่งการให้จัดตั้งสถานีโทรทัศน์ขึ้นอีกแห่งหนึ่ง คือ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง ๗ ขาวดำ หรือปัจจุบันคือ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง ๕ ช่วงระหว่างปี พ.ศ. ๒๕oo-๒๕o๑  ซึ่งต่อมารายการ "ชรินทร์โชว์" ก็ได้ย้ายมาออกอากาศ ณ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง ๕ เรื่อยมาจนถึงช่วงสุดท้ายของรายการ





ภาพจาก thaifilm.com



เพลง "จากดวงใจ" เป็นเพลงที่ ครูแก้ว อัจฉริยะกุล แต่งให้กับ ชรินทร์ นันทนาคร เพื่อนำไปใช้เป็นเพลงนำในรายการ "ชรินทร์โชว์" มาตั้งแต่ยุคแรกที่ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง ๔ บางขุนพรหม โดยมี ครูสมาน กาญจนะผลิน เป็นผู้แต่งทำนอง เรียบเรียงเสียงประสานและบรรเลงโดยวงดนตรี คีตะวัฒน์ ซึ่งมี ไพบูลย์ ลีสุวัฒน์ มือกลอง และนักแต่งเพลงชื่อดังเป็นหัวหน้าวงดนตรี ซึ่งเป็นวงดนตรีที่บรรเลงอยู่ในรายการ "ชรินทร์โชว์" มาโดยตลอด





ครูแก้ว อัจฉริยกุล
ภาพจาก บล็อกคุณก๋งแก่(หง่อมจริงๆ)





ภาพจาก thaifilm.com



สำหรับวงดนตรี "คีตวัฒน์" ต้องถือว่าเป็นหนึ่งในสามวงดนตรีวงใหญ่ที่นับว่ายิ่งใหญ่ที่สุดในวงการดนตรีของไทยในยุคนั้น เพราะยุคนั้นเมืองไทยมีวงบิ๊กแบนด์ที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมอยู่เพียง ๓ วง คือ วงสุนทราภรณ์ ของ ครูเอื้อ สุนทรสนาน, วงคีตวัฒน์ของ ไพบูลย์ ลีสุวัฒน์ และ วงกรรณเกษม ของ จำนรรจ์ กุณฑลจินดา เท่านั้นเพลง "จากดวงใจ" เป็นเพลงสองท่อน  แต่เนื้อร้องเป็นคำกวีอันยิ่งใหญ่ที่สามารถสื่อความหมายให้เห็นภาพของรายการ "ชรินทร์โชว์" ว่าเป็นรายการที่ยิ่งใหญ่และงามสง่าน่าชื่นชม ถ่ายทอดความรู้สึกให้เห็นถึงความตั้งใจของผู้ผลิตรายการว่ามีความตั้งใจอย่างสูงที่จะให้เป็นรายการจรรโลงใจของผู้ชมทั้งประเทศ ด้วยคุณค่าของศิลปะและความรื่นเริงบันเทิงใจอย่างเต็มเปี่ยม





ภาพจาก thailanewspaper.com


"เพลงนี้จากดวงใจ    

ล่องลอยไปทั่วทุกสถาน

ขับกล่อมน้อมโน้มวิญญาณ

ให้เบิกบานชั่วกาลเอย....."



และแน่นอนว่าถ้อยคำและลีลาของเพลงที่สร้างขึ้นนั้น  เป็นการเน้นรูปแบบลีลาและอารมณ์ของผู้ขับร้อง คือ ชรินทร์ นันทนาคร อย่างเจาะจงที่สุด รวมไปถึงการเรียบเรียงเสียงประสานดนตรี ที่วางรูปแบบไว้ให้เหมาะกับเป็นเพลงนำรายการโดยตรง จึงโดดเด่นในความยิ่งใหญ่อลังการมาตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของอินโทรดักชั่น จากนั้นจึงกรีดกรายอ่อนหวานและอ้อยอิ่งไปตามลีลาของผู้ร้องได้อย่างงดงาม ซึ่งถ้าหากจะนำมาบรรเลงในยุคนี้ก็จำเป็นต้องใช้วงดนตรีระดับบิ๊กแบนด์ และจำเป็นต้องใช้โน้ตเพลงตามต้นฉบับเดิมที่เรียบเรียงไว้ด้วย จึงจะสามารถรักษาอรรถรสของเพลงไว้ได้โดยสมบูรณ์หรือใกล้เคียงกับต้นฉบับมากที่สุด





๓ สหายยอดขุนพลเพลง
สุเทพ วงศ์กำแหง (นักร้อง) ไพบูลย์ฯ (นักดนตรี) ชาลี อินทรวิจิตร (นักแต่งเพลง)
วันที่ ๑๖ ต.ค. ๒oo๓ ที่เบอร์แบงค์
ภาพจาก thailanewspaper.com



คอนเสิร์ต ขุนพลอักษร ละคร เพลง เนื่องในโอกาส ๑oo ปีชาตกาล "แก้วฟ้า" รัตนศิลปิน "ครูแก้ว อัจฉริยะกุล" ณ หอประชุมกรมประชาสัมพันธ์ ซอยอารีย์สัมพันธ์ ถนน พระรามที่ ๖ วันแรกคือวันเสาร์ที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๘ เริ่มเวลา ๑๓.๓o น. จัดโดย สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย บรรเลงโดยวงดนตรี กรมประชาสัมพันธ์ นักร้องจะมี สุเทพ วงศ์กำแหง ศิลปินแห่งชาติ, วงจันทร์ ไพโรจน์, โฉมฉาย อรุณฉาน, นฤพนธ์ ดุริยะพันธ์, ศรีสุดา เริงใจ, อุไรวรรณ ทรงงาม, สุชาติ ชวางกูร และคณะนักร้องประสานเสียง วงสวนพลู อำนวยเพลงโดย ดุษฎี พนมยงค์ บุญทัศนกุล ศิลปินแห่งชาติ





ภาพจาก musicstation.kapook.com



วันที่สอง อาทิตย์ที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๘ เวลา ๑๓.๓o น. จัดโดย สมาคมนักร้องแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ฯ บรรเลงโดยวงดนตรี "กาญจนะผลิน" โดย จิรวุฒิ กาญจนะผลิน นำโดยสามศิลปินแห่งชาติ สุเทพ วงศ์กำแหง, สวลี ผกาพันธุ์, ชรินทร์ นันทนาคร ร่วมด้วย วินัย พันธุรักษ์, ศักดา อิทธิชัย, อุมาพร บัวพึ่ง, ชรัมภ์ เทพชัย, จิตติมา เจือใจ, ทิพย์วัลย์ ปิ่นภิบาล และอีกหลาย ๆ ท่าน

เราอาจได้ฟังเพลง "จากดวงใจ" จากคอนเสิร์ตนี้ทั้งสองวันก็ได้ แต่อย่างน้อยก็ต้องมีหนึ่งวัน.



ข้อมูลจาก ryt9.com
นสพ.ไทยโพสต์ ๒๔ พ.ค. ๒๕๕๘



บล็อกนี้อยู่ในหมวดแฟนคลับ



บีจีจากคุณเนยสีฟ้า ไลน์จากคุณญามี่ กรอบจากคุณ ebaemi

Free TextEditor





 

Create Date : 12 ธันวาคม 2558    
Last Update : 12 ธันวาคม 2558 20:07:20 น.
Counter : 4004 Pageviews.  

ลอยกระทง...บทเพลงแห่งสายน้ำ




ภาพจาก lgmobilelover.com








ลอยกระทง
คำร้อง แก้ว อัจฉริยะกุล
ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน


วันเพ็ญเดือนสิบสอง
น้ำนองเต็มตลิ่ง
เราทั้งหลายชายหญิง
สนุกกันจริง วันลอยกระทง

ลอย ลอยกระทง ลอย ลอยกระทง
ลอยกระทงกันแล้ว
ขอเชิญน้องแก้วออกมารำวง

รำวงวันลอยกระทง
รำวงวันลอยกระทง
บุญจะส่งให้เราสุขใจ
บุญจะส่งให้เราสุขใจ


Loy Krathong
คำร้อง เชิดศักดิ์ ตันสกุล
ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน


November full moon shine

Loy Krathong
Loy Krathong

And the water high

In the gold river and the Klong


Loy Loy Krathong

Loy Loy Krathong

Loy Krathong is here 

And everybody full of cheer


We’re together at the Klong

Each one with his Krathong

As we push away we pray,

We can see a better day








ภาพจาก momypedia.com


'ลอยกระทง' บทเพลงแห่งสายน้ำ



ลอย ลอยกระทง
ลอย ลอยกระทง
ลอยกระทงกันแล้ว
ขอเชิญน้องแก้วออกมารำวง

         

นี่คือเสียงเพลงที่เราจะได้ยินกันแทบทั้งวัน เมื่อเทศกาลลอยกระทงมาถึง เป็นเทศกาลที่อาจจะเรียกว่าเป็นวันเแห่งความรักของสังคมไทยได้อีกวัน บรรยากาศของวันลอยกระทงจะแตกต่างจากวันตรุษสงกรานต์ ซึ่งจะครึกครื้นกันเป็นพิเศษในตอนกลางวัน แต่เทศกาลลอยกระทงนั้นจะเป็นบรรยากาศอันแสนโรแมนติกในยามค่ำคืน ใกล้เคียงกับคืนวันวาเลนไทน์ ในวันแห่งความรักของชาวตะวันตก





ภาพจาก momypedia.com

         

โดยเฉพาะในปีนี้ที่การเมืองเริ่มจะนิ่ง จนเป็นที่คาดหมายกันว่าเงินจะสะพัดในเทศกาลลอยกระทงปีนี้ โดยมีสัดส่วนตัวเลขเปรียบเทียบกับปี ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา ซึ่งตัวเลขอยู่ที่ ๑๑,๑๓๔ ล้านบาท ส่วนตัวเลขของปี ๒๕๕๘ ตามคาดหมายกันว่าจะไม่ต่ำกว่า ๑๑,๔๑๓ ล้านบาท ซึ่งถือว่าจะโตกว่าปีที่ผ่านมาประมาณ ๒๗๙ ล้านบาท





ภาพจาก ประเพณีไทยๆ.com

         

บรรยากาศอย่างนี้ก็มีส่วนทำให้พวกเราชาวประชาหน้าใสกันขึ้นบ้าง พอจะฟังเพลง "ลอยกระทง" และบทเพลงแห่งสายน้ำทั้งหลายได้อย่างชุ่มฉ่ำหัวใจกันได้เต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นเพลง "ลอยกระทง" ต้นฉบับของชาวคณะ สุนทราภรณ์ ซึ่งประพันธ์ทำนองและคำร้องโดยศิลปินแห่งชาติของไทย ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญระดับโลกไปแล้ว คือ ครูเอื้อ สุนทรสนาน และ ครูแก้ว อัจฉริยะกุล





ครูเอื้อ-ครูแก้ว
ภาพจาก dailynews.co.th

         

ยังมีบทเพลงแห่งสายน้ำอีกหลายต่อหลายเพลง ที่เมื่อได้ฟังแล้วก็สามารถปรุงแต่งบรรยากาศของเทศกาลวันลอยกระทงได้เป็นอย่างดี เช่นเพลง "สวรรค์ในเรือเพลง" คำร้อง ทำนองโดย ไสล ไกรเลิศ ต้นฉบับเสียงร้องโดย สุเทพ​ วงศ์กำแหง ศิลปินแห่งชาติ ที่ขึ้นต้นเพลงว่า


"ล่องลอยนาวา ฟ้างามสวยอร่ามเรืองรอง

แสงจันทร์ส่องล่องตามสายชล พวกเราทุกคนเริงร่า

ข้างขึ้นเดือนสิบสอง น้ำนองสองฝั่งเจ้าพระยา

น้ำเหนือล่องหลั่งนองล้นมา พวกเราต่างร่าเริงใจ..."




สวรรค์ในเรือเพลง







ภาพจาก saisampan.net





ภาพจาก youtube.com

         

หรือเพลง "ชาวแพ" ขับร้องโดย สุเทพ วงษ์กำแหง และ สุเทพ คอรัส เพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง "ประกาศิตจางซูเหลียง" ของ สุพรรณ พราหมณ์พันธ์ อันเป็นบทเพลงของสองผู้ยิ่งใหญ่ ครูนารถ ถาวรบุตร และ ครูชาลี อินทรวิจิตร ศิลปินแห่งชาติ เมื่อมีโอกาสได้แต่งเพลงร่วมกันเป็นครั้งแรก


"เมื่อเจ้าพระยาถูกลูบไล้ด้วยลมระรวย

สายน้ำระทวยเศร้าและสวยเป็นนิรันดร์

ชีวิตชาวแพเหมือนจอกและแหนไหลตามไปนั้น

ทุกวันเราเห็นมันลอยเปะปะไป..."



ชาวแพ







ภาพจาก thaifilm.com

         

หรือจะเป็นเพลงลูกทุ่งอมตะที่แต่งคำร้องและทำนองโดย ฉลอง ภู่สว่าง เสียงร้องของพระเอกลูกทุ่งตลอดกาล ศรชัย เมฆวิเชียร ก็ล้วนแต่ชวนสร้างบรรยากาศที่สดชื่นอ่นหวานเบิกบานใจได้เป็นอย่างดี



เสียงคลื่นมันสาดมันซัด
พายงัดเดี๋ยวเรือก็ล่ม
ฝนพรำล่ะฟ้าร่ำระงม ฝนพรำล่ะฟ้าร่ำระงม
เดี๋ยวเรือก็ล่มพายงัด พายงัด

น้องสาวแวะคุยกันก่อน
อย่าทำแสนงอนเพราะลมคลื่นจัด
จอดก่อนเถิดแม่คนสวย จอดก่อนเถิดแม่คนสวย
พี่ขอไปด้วยแล้วพี่จะช่วยพายงัด






ภาพจาก youtube.com

         

และยังมีเพลง "ลอยกระทง" ที่ถือว่าเป็นเพลงที่เคยดังระเบิดมาแล้วยุคหนึ่ง ในฐานะเป็นเพลงที่มีเนื้อร้องเป็นภาษาอังกฤษ ทำนองเพลงเพลงนี้เป็นทำนองเดียวกับเพลง "ลอยกระทง" ต้นแบบของ วงดนตรีสุนทราภรณ์ ที่แต่งทำนองโดย ครูเอื้อ สุนทราภรณ์ นั่นเอง ผู้ขับร้องก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ก็คือเจ้าตำรับลูกคอเจ็ดชั้น ดอน สอนระเบียบ แห่งวง พีเอ็มไฟร์ เจ้าเก่านั่นเอง





ภาพจาก manager.co.th



แต่ผู้แต่งเนื้อร้องภาษาอังกฤษนี่สิ ใครบ้างจะรู้ว่าไม่ได้เป็นฝรั่งต่างแดนที่ไหน ที่แท้ก็นักแต่งเพลงไทยยอดนิยมคนบ้านเรา คือ เชิดศักดิ์ ตันสกุล แห่งวิก ๗ สี หมอชิตเรานี่เอง ฝีมือไม่แพ้นักแต่งเพลงชาวยุโรปหรืออเมริกาแม้แต่น้อย ไม่เชื่อก็ขอเชิญชมและลองชิมรับฟังดูได้



Loy Krathong







ภาพจาก 1938centuryboy.wordpress.com

         

ล่าสุดนี้ก็มีข่าวว่า คุณรัตน์ สอนระเบียบ ผู้สืบทอดมรดกลูกคอเจ็ดชั้นมาจาก ดอน สอนระเบียบ ผู้พี่ กำลังมีโครงการจะนำผลงานเพลงดี ๆ ที่พี่ชายเคยขับร้องไว้มาบันทึกเสียงใหม่ออกสู่ตลาดเร็ว ๆ นี้ แม้จะไม่ทันเทศกาลลอยกระทงปีนี้ แต่ในไม่ช้าก็คงได้ฟังกัน


ปีนี้จึงต้องฟังเพลงเก่ากันไปพลางก่อน ทั้งเพลง "ลอยกระทง" ภาคภาษาไทยและภาคภาษาอังกฤษ


"November full moon shine


Loy Krathong 
Loy Krathong


And the water high


In the gold river and the Klong…"





ภาพจาก skyscanner.co.th



ข้อมูลจาก นสพ.แทบลอยด์ไทยโพสต์ ๒๒ พ.ย. ๒๕๕๘



บล็อกนี้อยู่ในหมวดแฟนคลับ



บีจีจากเวบ wallcoo กรอบจากคุณ ebaemi

Free TextEditor





 

Create Date : 23 พฤศจิกายน 2558    
Last Update : 24 พฤศจิกายน 2558 23:38:02 น.
Counter : 2996 Pageviews.  

ดาวประจำใจ...วินัย จุลบุษปะ











ดาวประจำใจ
คำร้อง ทำนอง สนิท​ ศ.


คืนค่ำฟ้าเลือนขาดเดือนพราว
ประดับวับวาวแต่ดาวดวง
ทอส่องแสงงามอร่ามแดนสรวง
แม้เดือนเลื่อนลอยลับล่วง เหลือดวงดาวพราวไสว

ดวงหนึ่งนั้นดาวประจำเมือง
แววโรจน์แสงเรืองเรื่ออำไพ
ลอยเด่นนภา แจ่มจ้าสุกใส
สวยเกินดาราน้อยใหญ่ สูงไกลเกินใครหมายปอง

ประกายพราวแสงวาบวับ
ฟ้าระยับงามจับตาล้วนชวนมอง
แสงระยิบลอยอยู่ ไกลลิบเรืองรอง
ดาวครองท้องฟ้าดาดาษเรียงราย

ประหนึ่งเพชรแพรวส่องแวววาม
ประดับฟ้าครามพร่างพราวพราย
เป็นเพื่อนฟ้าคราขาดเด่นเดือนฉาย
ทุกคราราตรีแสงพรายหลายร้อยหลายพันแสนดวง

เธอเปรียบเหมือนดาวประจำใจ
เลอเลิศวิไลอยู่ในทรวง
เป็นเอกพธูอยู่ แนบใจหวง
เหนือนารีใดทั้งปวง ขวัญดวงชีวันมั่นหมาย

ดวงเนตรของเธอจ้องคมวาว
เรืองโรจน์ล้ำดาวเด่นพราวพราย
ทอส่องแสงรักประจักษ์ใจหมาย
ฝังซึ้งตรึงใจมิวาย มิคลายรักเธอแท้จริง

จอดจิตใจหลงเสน่ห์โฉม
รักน้อมโน้มใจใฝ่ถนอมเอนอิง
ฟ้าระยิบดาวสั่งกระซิบวอนวิง
เธอจงรักจริงใจอย่ากลับกลาย

ครองสุขสัมพันธ์คู่กันไป
เป็นมิ่งขวัญใจไม่คืนคลาย
จนกว่าฟ้าดินดับสิ้นสลาย
สัญญารักเดียวมิคลาย
หมายเธอร่วมเรียงนิรันดร์








ภาพจาก komchadluek.net


'ดาวประจำใจ วินัย จุลบุษปะ'
โดย เคน สองแคว

         

คอเพลงสุนทรภรณ์ และผู้ที่นิยมชมชอบเพลงอมตะ ไม่มีใครไม่รู้จักบทเพลง ”พรหมลิขิต” “เย็นลมว่าว” “พรานล่อเนื้อ” ฯลฯ ที่มีผู้นำมาขับร้องใหม่หลายต้นฉบับ แต่น้ำเสียงที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ขับร้องไว้เป็นต้นแบบ คือ วินัย จุลบุษปะ นั้น หาใครเทียบได้ยาก





ภาพจาก กระทู้พันทิป

         

หลายคนผูกพันกับเสียงของวินัย จุลบุษปะ มานานนม โดยที่ไม่ทราบมาก่อนว่า เป็นเสียงของท่านขับร้อง กับบทเพลง “มช. ถิ่นสวรรค์” ที่ขึ้นต้นว่า “ณ พิ้นดินถิ่นสวรรค์ ดินแดนแห่งฝัน ขวัญบุรีศรีไทย ...” หนึ่งในเพลงประจำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวะแทงโก้ ที่ยังนิยมใช้ร้องบรรเลงกันจนถึงปัจจุบัน





ภาพจาก wikipedia.org

         

นอกจากนั้นทราบมาว่า ท่านร้องเพลงประจำสถาบันอีกแทบทุกสถาบัน อาทิเพลง “สามพราน” ของโรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน “ดาวจุฬา” เพลงของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย “รั้วแดงกำแพงเหลือง” ซึ่งเป็นเพลงประจำสถาบันของนักเรียนนายร้อย จปร. ฯลฯ





ภาพจากเวบ palm-plaza.us

         

ครูวินัยเสียชีวิตไปเมื่อ ๑๖ ปี ที่ผ่านมา ซึ่งถ้าท่านยังอยู่จนถึงวันนี้ จะมีอายุ ๙๓ ปี ท่านเกิดมาเป็นศิลปินโดยอาชีพ เพราะเรียนจบชั้นมัธยมที่โรงเรียนวัดราชบพิธ แล้ว ประกอบอาชีพขับร้องเพลง โดยไม่ได้ทำงานอย่างอื่น ญาติผู้ใหญ่เห็นว่ารักการร้องเพลง จึงฝากงานให้ที่กรมโฆษณาการ (ปัจจุบันคือ กรมประชาสัมพันธ์) และได้ฝึกฝนร้องเพลงกับ ครูเวส สุนทรจามร  ฝึกรุ่นเดียวกับ เพ็ญศรี พุ่มชูศรี จนได้บรรจุเป็นนักร้องกรมโฆษณาการเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๘





ภาพจาก chulabook.com

         

ท่านรับราชการที่กรมประชาสัมพันธ์นานถึง ๓๘ ปี โดยไม่เคยไปทำงานที่อื่นเลย และได้รับตำแหน่งหัวหน้าวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์สืบแทน ครูเอื้อ สุนทรสนาน ซึ่งเกษียณอายุราชการ ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๕





ภาพจาก inphono.com

         

ครูวินัย มีผลงานขับร้องทั้งสิ้น ๒๑๙ เพลง ที่มีชื่อเสียงคือ “เย็นลมว่าว” แต่งโดยครูเอื้อ สุนทรสนาน และครูแก้ว อัจฉริยะกุล คู่ชีวิตของท่าน คือ ศรีสุดา รัชตะวรรณ นักร้องเจ้าของเสียงต้นฉบับ เพลง “มองอะไร” ที่มีน้ำเสียงเป็นเอกลักษณ์หาใครเลียบแบบได้ยากยิ่งนัก ทั้งคุณวินัย ศรีสุดา ไม่มีบุตรสืบสกุล หลังเกษียณอายุราชการ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๖ ทั้งคู่ได้ร่วมกันตั้งวงดนตรีชื่อว่า วงดนตรีสังคีตสัมพันธ์ โดยมีครูเสถียร ปานคง อดีตข้าราชการกรมประชาสัมพันธ์ เป็นผู้ควบคุมวง ม.ล.ปราลี ประสมทรัพย์ ร่วมกับ จารุลินทร์ มุสิกพงษ์ เป็นผู้จัด และรายการ “เพื่อนฝัน”จะร่วมกันจัดเชิดชูครูเพลง “ดาวประจำใจ วินัย จุลบุษปะ” รายได้การกุศล มอบให้ วงกรมประชาสัมพันธ์ เพื่อซื้อตู้ใส่โน๊ตเพลง ในวันอาทิตย์ที่ ๑๕ พฤศจิกายน นี้





นักร้องคู่ชีวิต วินัย-ศรีสุดา
ภาพจาก chumchonradio.net

         

ในงานนี้ จะมีดนตรีไทยของกรมประชาสัมพันธ์ ดนตรีสากลจากวงเกษมศรี บรรเลงร่วมกันในบางเพลง ศิลปินประกอบด้วย ศิลปินแห่งชาติ สุเทพ วงศ์กำแหง รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส มาริษา อมาตยกุล โฉมฉาย อรุณฉาน อโศก สุขศิริพรฤทธิ์ สุปราณี พุกสมบุญ (เจ้าของเสียงเพลง “บ้านเรือนเคียงกัน”) จิตติมา เจือใจ นฤพนธ์ ดุริยพันธ์ อุไรวรรณ ทรงงาม ศรีสุดา เริงใจ ฯลฯ





ภาพจาก manager.co.th



และที่พิเศษ คือ พ.ต.อ.ณภัทร จุลบุษปะ จะมาร้องเพลงและให้ข้อมูลเกี่ยวกับคุณวินัย และมี พ.อ.พิเศษ กอบศักดิ์ ชมวัน นายทหารจากค่ายธนะรัตน์ ปราณบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ที่ชนะเลิศ การประกวดร้องเพลงแนวเสียง วินัย จุลบุษปะ ที่นอกจากเสียงจะเหมือนครูวินัยแล้ว หน้าตาและสีผิวยังละม้ายอีกด้วย



ในอ้อมพฤกษ์เศร้า-กอบศักดิ์ ชมวัน







ภาพจาก manager.co.th

         

ร่วมด้วยการแสดงชุด “อาเชียนร่วมใจ”  โดยสมาคมศิลปเพื่อเยาวชน ศูนย์วัฒนธรรมแห่งชาติ ผู้แสดงทุกคนจะแต่งตัวแต่ละประเทศในอาเซียน ๑o ประเทศ พิธีกรโดย นันทวรรณ สุวรรณศิริ ประสาน อรัญโสต ม.ล.ปลาลี ประสมทรัพย์ โดยจะมีการแสดงเพลงของคุณวินัย ๕๔ เพลง บางเพลงนักร้องสุภาพสตรีจะเป็นผู้ถ่ายทอด ตัวอย่างบทเพลง อาทิ เมดเลย์ เพลงคุณวินัย และบทเพลงเต็ม ๆ อย่าง “พรหมลิขิต” “นางในฝัน” “ดอกฟ้าร่วง” “ทาษชีวิต” “ผิดนัด” “รักใครกันแน่” ฯลฯ และเพลง “กระแต” ซึ่งเป็นเพลงไทยเพลงแรก ๆ ที่ผสมดนตรีสากลกับดนตรีไทย “ใครจะรักเธอเท่าฉัน” “ทะเลบ้า” ฯลฯ ที่บรรเลงผสมดนตรีไทย เพลง “ ช้องนาง” โดย สุเทพ วงษ์กำแหง “มนต์รักอสูร” โดย จิตติมา เจือใจ กับ พ.อ.พิเศษ กอบศักดิ์ ฯลฯ





ภาพจาก กระทู้พันทิป

         

และอีกสิ่งที่ไม่ควรพลาดคือ มีสูจิบัตร รวมเนื้อเพลง และข้อคิดข้อเขียนจากนักร้องรุ่นเดียวกันที่มีต่อคุณ วินัย จุลบุษปะ อาทิ มัณฑนา โมรากุล วรนุช อารีย์ สุปราณี พุกสมบุญ เขียนถึงคุณวินัยในมุมที่หลายคนยังไม่เคยทราบ
         

บัตรราคา ๒,ooo- ๑,๕oo- ๑,ooo- ๗oo- ๕oo -๓oo ติดต่อซื้อได้ที่ ชัชวลีย์ o๘-๗๕๙๖-๗๕๘๙ และ ม.ล.ปราลี ประสมทรัพย์ o๘-๑๘o๖-๑๔๕๖
  
         
คิดถึงน้ำเสียงไพเราะของคุณวินัย ซึ่งเชื่อว่า เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี แต่หลายคนอาจจะไม่ทราบว่าเสียงของท่านเป็นต้นฉบับ ก็ไปร่วมย้อนรำลึกกันและได้ทำการกุศลร่วมกันได้



ข้อมูลจาก komchadluek.net
คอลัมน์ "เป็นคุ้งเป็นแคว" นสพ.คม ชัด ลึก ๑๒ พ.ย. ๒๕๕๘




บล็อกคุณปอนล่าสุด
ทัศนียภาพแห่งหัวใจ


บล็อกเสพงานศิลป์ล่าสุด
เสพงานศิลป์ ๒๓๘



บล็อกนี้อยู่ในหมวดแฟนคลับ



บีจีจากเวบ wallcoo

Free TextEditor





 

Create Date : 14 พฤศจิกายน 2558    
Last Update : 15 พฤศจิกายน 2558 19:00:28 น.
Counter : 4056 Pageviews.  

ลืมเสียเถิดอย่าคิดถึง



ภาพจาก findmemes.com









ลืมเสียเถิดอย่าคิดถึง
คำร้อง แก้ว อัจฉริยะกุล
ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน


ลืมเสียเถิดอย่าคิดถึง
ลืมรสที่ซึ้ง ใจมั่น
เพลงคิดถึง ตรึงใจไม่เว้นวัน
ฟังแล้วตื้นตัน ต้องร้องไห้


ลืมเสียเถิดว่ามีฉัน
ลืมรักเสกสรร เคยได้
จะคิดก็คิด จะเพ้อ ทำไม
จะรักก็รัก อย่าหลงอาลัย ให้ขมขื่น


นึกเสียว่า ความหลัง
ครั้งกระนั้น เหมือนนอนหลับฝัน ชั่วคืน
มันอาจจะหวาน มันอาจ จะชื่น
พอลืมตาตื่น ความชื่น ก็หาย


ลืมเสียเถิดเรื่องความหลัง
ลืมรักที่ฝัง ใจไม่หน่าย
บุญเราสอง ครองกันแต่เพียงใจ
จะมั่นหมาย ปองกาย ไม่ได้เลย








ภาพจาก buzzerg.com


'ลืมเสียเถิดอย่าคิดถึง' รวงทอง ทองลั่นธม
คำขอร้องจากคนรักของ ครูแก้ว อัจฉริยะกุล





ครูแก้ว อัจฉริยกุล
ภาพจาก บล็อกคุณก๋งแก่(หง่อมจริงๆ)



เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบวันเกิด ๑oo ปี ของ ครูแก้ว อัจฉริยะกุล หรือ "แก้วฟ้า" นักประพันธ์อาวุโสผู้จัดละครเวที เขียนบทละครวิทยุ บทละครโทรทัศน์ เจ้าของคณะละครวิทยุ และเป็นผู้ประพันธ์คำร้องเพลงอมตะจำนวนมากที่ยังถูกนำมาร้องจนถึงปัจจุบัน อาทิ "รำวงวันลอยกระทง", "รำวงเริงสงกรานต์" ในโอกาสสำคัญนี้ ได้มีการกำหนดศัพท์ทางวิชาการขึ้นว่า...๑oo ปี ชาตกาล "แก้วฟ้า" รัตนศิลปิน "ครูแก้ว อัจฉริยะกุล"





ภาพจาก musicstation.kapook.com



จึงได้ทำให้ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนี้ จะได้มีการจัดงานต่าง ๆ เพื่อเป็นการรำลึกถึงอัจฉริยะกวีท่านนี้ต่อเนื่องกันไปหลายต่อหลายงาน ซึ่งอาจจะเรียกได้อีกชื่อว่าเป็น "เทศกาล ครูแก้ว อัจฉริยะกุล" ก็คงได้ งานแรกที่ได้เริ่มขึ้นตรงตามกำหนดวันเกิดของครูแก้ว  เป็นการเสวนาทางวิชาการประกอบดนตรี ชื่องานว่า "อัจฉริยภาพด้านคีตศิลป์ ของ ครูแก้ว อัจฉริยะกุล" ดำเนินการเสวนาโดย ไพบูลย์ สำราญภูติ หรือ "คีตา พญาไท" ผู้มีคุณูปการในงานวัฒนธรรมของชาติ เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๕ พฤษภาคมที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมศูนย์มานุษยวิทยาสิรินทร ถนนบรมราชชนนี ตลิ่งชัน  ระหว่างเวลา ๑๔.oo-๑๘.oo น. งานนี้ได้ระดมบุคลากรในแวดวงคีตศิลป์และผู้รักภาษาไทยเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก





คุณไพบูลย์ สำราญภูติ หรือ "คีตา พญาไท"
ภาพจาก กระทู้พันทิป



ร่วมเสวนาโดย ยุทธ โตอติเทพ อดีตนายกสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย, สุพจน์ ชีรานนท์ เลขาธิการสมาคมนักกลอนฯ, สุธีร์ พุ่มกุมาร สมาชิกอาวุโสสมาคมนักกลอนฯ, รศ.มัลลิกา คณานุรักษ์ ผู้เชี่ยวชาญภาษาไทย, ชไมพร บางคมบาง (แสงกระจ่าง) ศิลปินแห่งชาติ อดีตนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย และ รวงทอง ทองลั่นธม ศิลปินแห่งชาติ เจ้าของรางวัล ใบโพธิ์ทองคำพระราชทาน จาก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ (ในฐานะนักร้องผู้เผยแพร่ภาษาไทยได้ชัดเจนถูกต้อง)





ภาพจาก gotranslate.xyz



วงดนตรีที่มาบรรเลงสลับการเสวนาคือวงดนตรี "เกษมศรี" นำโดย ร.อ.สมคิด เกษมศรี และมีศิลปินนักร้องกิตติมศักดิ์มาร่วมรายการหลายคน  รวมทั้งอาจารย์นักพูดอย่าง ทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์ และ นิเวศน์ กันไทยราษฎร์ การเสวนาประกอบเพลงได้ดำเนินไปอย่างอิ่มเอิบ ด้วยความสุขและความชื่นชมกับบทเพลงที่สองบรมครู คือ ครูแก้ว อัจฉริยะกุล และ ครูเอื้อ สุนทรสนาน ได้ร่วมกันสร้างสรรค์ไว้ และแล้วเรื่องราวแห่งตำนานสองตำนานก็ได้เริ่มต้นขึ้นบนเวทีเสวนาประกอบเพลงแห่งนั้น





ภาพจาก komchadluek.net



หลังจากหัวข้อเสวนามาถึงบทเพลงอันยิ่งใหญ่ของวงดนตรี "สุนทราภรณ์" คือเพลง "คิดถึง" ต้นฉบับของ ครูเอื้อ สุนทรสนาน ซึ่งในวงสนทนาได้เปิดเผยกันว่า เป็นเพลงที่ครูแก้วท่านได้แต่งให้กับคนรักของท่านซึ่งเป็นคนที่ท่านรักมาก แต่ได้ถูกพ่อแม่ของฝ่ายหญิงจับแยกไปแต่งงานกับชายอื่น พอฝ่ายหญิงแต่งงานไปแล้วครูแก้วก็ได้แต่งเพลงนี้มาให้ครูเอื้อใส่ทำนอง ซึ่งครูเอื้อได้รับเป็นผู้ขับร้องให้ด้วยตนเอง พอแผ่นเสียงออกมาเพลงนี้ก็โด่งดังไปทั่วบ้านทั่วเมือง ดังไปจนถึงทั่วทุกจังหวัดในประเทศไทย





ภาพจาก ryt9.com



เมื่อการเสวนาดำเนินมาจนถึงจุดนี้ ร.อ.สมคิด เกษมศรี หัวหน้าวงดนตรี อดีตนักร้อง "ดาวรุ่งสุนทราภรณ์" ก็ได้ออกมาขับร้องเพลงนี้แทน ครูเอื้อ สุนทรสนาน จนเพลงได้จบลงท่ามกลางเสียงปรบมืออย่างกึกก้องของผู้เข้าร่วมฟังการเสวนาทั้งห้องประชุม จากนั้นเจ้าของ "เสียงน้ำเซาะหิน" ศิลปินแห่งชาติ และเจ้าของรางวัลใบโพธิ์ทองคำพระราชทาน รวงทอง ทองลั่นธม ก็ได้ลุกขึ้นจากโต๊ะเสวนา เดินไปทำความเคารพภาพถ่ายของ ครูแก้ว อัจฉริยะกุล ก่อนจะถือไมค์เดินยิ้มหวานออกมากลางเวที





ร.อ.สมคิด เกษมศรี
ภาพจาก FB สมคิด เกษมศรี



"วันที่คุณครูเอื้อท่านอัดเสียงเพลงคิดถึง พวกเราทั้งนักร้องและนักดนตรีทั้งคณะก็ไปฟังกันที่ห้องอัด  วงสุนทราภรณ์จะถือเป็นประเพณีกันว่า ถ้านักร้องในวงดนตรีของเรามีการบันทึกเสียง เราก็จะไปเป็นกำลังใจกันทั้งคณะ ไม่ใช่ไปเฉพาะแต่นักดนตรีที่จะต้องบรรเลงในห้องอัดเสียงเท่านั้น นักร้องทุกคนที่ไม่ได้ร่วมบันทึกเสียงก็จะไปพร้อมกันหมดเพื่อเป็นกำลังใจให้ แล้วเราก็จะนำอาหารกลางวันไปกินด้วยกันที่หน้าห้องอัดนั่นเลย" เจ้าของเสียงน้ำเซาะหินเล่าให้ที่ประชุมฟังจนเห็นภาพตามไป





ครูเพลงคู่บุญสุนทราภรณ์...ครูเอื้อ-ครูแก้ว
เจ้าของสมญา "ทำนองเอื้อ เนื้อแก้ว"
ภาพจาก sujitwongthes.com



"วันนั้นครูเอื้อท่านก็ร้องทั้งวันเลยกว่าการบันทึกเสียงจะเสร็จลง เพราะต้องร้องไปพร้อมกับวงดนตรี  สด ๆ เลย ผิดตรงไหนก็หยุด จะแก้ไขตรงไหนก็เอาใหม่ เหนื่อยมากก็พักกัน หายเหนื่อยก็เริ่มกันใหม่  เป็นอย่างนี้อยู่ตลอดวันจนกว่าจะเสร็จสมบูรณ์ตามมาตรฐานของวงดนตรีสุนทราภรณ์ แต่พอแผ่นเสียงได้ออกอากาศไป เพลงคิดถึงก็ดังมาก และดังไม่หยุด  ดังจนกระทั่งครูแก้วคนแต่งท่านถูกต่อว่า" พูดจบตรงนี้ก็ต้องหยุดหัวเราะก่อนจะเล่าต่อว่า





ภาพจาก maemaiplengthai.com



"คนที่ต่อว่าท่านก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ก็คือคนรักของท่านที่ท่านแต่งเพลงให้นั่นเอง ต่อว่าว่าจะต้องมาคิดถึงอีกทำไม จะต้องแต่งเป็นเพลงให้เจ็บปวดอีกทำไม หยุดเถอะ...หยุดคิดถึงกันเสียที เพราะยังไง ๆ ก็แต่งงานไปแล้ว ไม่มีโอกาสอีกแล้ว หยุดคิดถึงได้แล้ว...อะไรแบบนี้ ครูแก้วท่านก็มาเล่าให้พวกเราที่ทำงานด้วยกันฟังอย่างนี้" หยุดหัวเราะอีกเล็กน้อยก่อนจะเล่าต่อ "แล้ววันหนึ่งพอมาถึงที่ทำงานท่านก็เดินมาหารวงทอง แล้วก็ยื่นเนื้อเพลงให้ แล้วก็บอกว่าเก็บไว้ให้ดีนะ จะให้เป็นคนร้องเพลงนี้นะ รวงทองก็ทั้งดีใจและตกใจ เราก็ยังเป็นนักร้องใหม่อยู่ตอนนั้น ครูนึกยังไงถึงจะให้ร้องเพลงนี้ รวงทองก็ถือเนื้อเพลงไว้อย่างนั้น...รอแล้วก็รอตั้งนาน..."





ภาพจาก perfecttranslator.com



"จนวันหนึ่งครูเอื้อก็มาเรียกตัวไปร้องต่อเพลงกับเปียโนบอกว่าทำนองเพลงเสร็จแล้ว พวกเราชาวสุนทราภรณ์จะต้องต่อเพลงใหม่จากเสียงเปียโนเท่านั้นไม่มีอย่างอื่น เพื่อให้เสียงร้องตรงโน้ตอย่างแม่นยำ จากนั้นเพลงก็จะถูกส่งไปถึงผู้เรียบเรียงเสียงประสาน คือ ครูเพิ่ม คล้ายบรรเลง แล้วในที่สุดก็ถึงวันไปอัดเสียงที่ห้องบันทึกเสียง แค่เสียงไวโอลินของดนตรีนำคืออินโทรดักชั่นขึ้นมาเท่านั้น คนร้องก็แทบจะขาดใจแล้วก่อนจะได้ร้องขึ้นต้นเพลง...ลืมเสียเถิดอย่าคิดถึง......."





ภาพจาก quoteslovelife.net




ข้อมูลจาก
ryt9.com
นสพ.ไทยโพสต์ ๒๔ พ.ค. ๒๕๕๘



บล็อกนี้อยู่ในหมวดแฟนคลับ



บีจีจากคุณเนยสีฟ้า ไลน์จากคุณญามี่ กรอบจากคุณ ebaemi

Free TextEditor





 

Create Date : 07 พฤศจิกายน 2558    
Last Update : 7 พฤศจิกายน 2558 9:42:33 น.
Counter : 3569 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  

haiku
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 161 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add haiku's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.