happy memories
Group Blog
 
All blogs
 

เพลง "เดือนหงายที่ป่าซาง" (๒)













เดือนหงายที่ป่าซาง - เซม ภานุรุจ







เดือนหงายที่ป่าซาง
คำร้อง-ทำนอง สนิท.ศ

คืนใดเดือนหงาย คล้ายมนต์ต้องใจ
แลดูทางไหน ไร้ความรื่นรมย์
เหม่อมองสุดหมาย สายใจสุดสอย น้อยใจจำข่ม
ไม่อาจเสกสมในสิ่งหวังปอง

ดวงดาวพราวแสน แม้นลอยร่วงมา
ยังปองใจคว้า เดือนมาคู่ครอง
หากบุญไม่สม ขอชมอยู่พื้นดินยืนแลจ้อง
ส่งใจร่ำร้องทำนองเพลงวอน

*เดือน ขออย่าเลือนลับเลื่อนลา
ฉายส่องพา นิทรานอน
เพลงทิพย์บรรเลง ดับแรงร้อน
ฝันอาวรณ์ ใจผูกพัน

**เมืองแมนในฝัน นั้นคือป่าซาง
ยังคงอ้างว้าง ไร้นางแนบขวัญ
อยู่เดียวเปลี่ยวเหงา ขอเอาอกน้อย
ไว้คอยรักมั่น จวบนางในฝันนั้นมาพะนอ







รายการประกวดร้องเพลงลูกกรุง “เพลงเอก” กลับมาอีกเป็นรอบที่ ๓ แล้ว แต่เราลืมดูทุกที เพราะจำวันออกอากาศไม่ค่อยจะได้ รายการฉายวันพุธหลังข่าว มาตรงกับเวลาดูรายการ “เล่าข่าวข้น” ของคุณกนก และ คุณธีระ ณ ท็อปนิวส์พอดี แต่ไม่เป็นไร ตามดูย้อนหลังในยูทูบได้ทุกตอน




เคยอัพเพลง “เดือนหงายที่ป่าซาง” มาครั้งนึง หลังจากดูคุณแฟร้งร้องเพลงนี้ประกวดเมื่อปีที่แล้ว ปีนี้ก็มีผู้แข่งขันนำเพลงนี้มาร้องประกวดอีก แล้วร้องได้เพราะไม่แพ้กัน พอได้ดูคลิปเพลงนี้เลยขออนุญาตนำเพลงนี้กลับมาอัพอีกรอบ




คลิปที่ดูเป็นรอบรองชนะเลิศ ปีนี้สาว ๆ ไม่ได้เข้ารอบเลยสักคน มีแต่หนุ่ม ๆ ห้าคนที่เข้ารอบ รอบนี้ได้โจทย์ร้องเพลงช้า คุณเซม ภานุรุจ ที่ร้องเพลงนี้ได้อันดับที่สอง อีกคนนึงที่ชอบมากคือ คุณบอม อดิเทพ ร้องเพลงโปรดของเราคือเพลง “สวรรค์มืด” ปีนี้เลยเชียร์หนุ่มสองคนนี้ วันพรุ่งนี้ (๒๗ มี.ค.) ใครจะได้เป็นแชมป์คงได้รู้กัน




การกลับมาของรายการครั้งนี้ยังคงความสนุก เข้มข้น พร้อมกติกาใหม่ที่น่าสนใจและถูกใจแฟนรายการที่เฝ้ารอ แต่สัปดาห์จะมีโจทย์เพลงให้แข่งกันร้อง มี ๔ โจทย์คือ เพลงดังหนังละคร, เพลงทัศนาจร, เพลงดิน น้ำ ลม ฟ้า, เพลงไทยทำนองเทศ แต่ละทีมจะต้องส่งตัวแทนออกมาเพื่อแข่งขันตามโจทย์ที่กำหนด และต้องมี ๑ คนกลับบ้านไป




คณะกรรมการและพิธีกรยังเหมือนเดิม พิธีกรมี ๔ ท่าน คือ คุณรัดเกล้า อามรดิษ, คุณก้อง สหรัถ, คุณแหม่ม พัชริดา, และ คุณโต๋ ศักดิ์สิทธิ์ มีคุณซี ศิวัฒน์ เป็นพิธีกร ปีนี้เปลี่ยนกติกาใหม่ โดยจับฉลากแบ่ง ๔ ทีม แต่ละทีมมีโค้ชเป็นแชมป์และรองแชมป์ของปีที่ผ่านมา ได้แก่ ธัช กิตติธัช (แชมป์เพลงเอกซีซั่น ๑), นุ อนุกูล (รองแชมป์เพลงเอกซีซั่น ๑), แบ็งค์ เฉลิมรัฐ (แชมป์เพลงเอกซีซั่น ๒) และ โบ๊ท ปรัชญา (รองแชมป์ เพลงเอกซีซั่น ๒)







รายการ “เพลงเอก ซีซั่น ๓” ออกอากาศทุกวันพุธ เวลา ๒๐.๐๕ น. วันพุธที่จะถึงนี้จะเป็นรอบชิงชนะเลิศ ถ้าอยากชมก็เปิดช่องเวิร์คพอยท์ ๒๓ และสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของรายการได้ทุกช่องทางออนไลน์ของรายการ “เพลงเอก”
















รายนามผู้ที่เข้ารอบตามลำดับคะแนนมีดังนี้

อันดับ ๑ คุณบาร็อก ชลธาร ได้ ๙๘ คะแนน ร้องเพลง “นกขมิ้น”

อันอับ ๒ คุณเซม ภานุรุจ ได้ ๙๘ คะแนน ร้องเพลง “เดือนหงายที่ป่าซาง”

อันดับ ๓ คุณเอิร์ด ณัฐกรณ์ ได้ ๙๗ คะแนน ร้องเพลง “หนี้เสน่หา”

อันดับ ๔ คุณบอม อดิเทพ ได้ ๙๑ คะแนน ร้องเพลง “สวรรค์มืด”

อันดับ ๕ คุณวิรัช ศรีพงษ์ ได้ ๙๐ คะแนน ร้องเพลง “ม่านมงคล”






นกขมิ้น - บาร็อก ชลธาร








เดือนหงายที่ป่าซาง - เซม ภานุรุจ







เอิร์ธ ณัฐกรณ์ - หนี้เสน่หา
เอิร์ธ ณัฐกรณ์ - หนี้เสน่หา







บอม อดิเทพ - สวรรค์มืด
บอม อดิเทพ - สวรรค์มืด









วิรัช ศรีพงษ์ - ม่านมงคล








ภาพ คลิปเพลง และข้อมูลจาก
workpointtv.com
wikipedia.org






บีจีจากเวบ wallcoo กรอบจากคุณ ebaemi

Free TextEditor




 

Create Date : 26 มีนาคม 2567    
Last Update : 26 มีนาคม 2567 9:39:11 น.
Counter : 682 Pageviews.  
(โหวต blog นี้) 

ไมเคิล บูเบล











ตั้งใจจะอัพบล็อกนี้ฉลองวันคริสต์มาสปีที่แล้ว แต่ทำยังไงก็อัพไม่ได้ ก็อปเนื้อหาบล็อกแล้วหลังไมค์ไปถามทีมงานบล็อกแก๊งค์ ได้คำตอบว่ามีคำที่หมายถึงการพนันที่ถูกตั้งค่าแบนในระบบ ต้องปรับเปลี่ยนไปใช้คำอื่นแทน เป็นครั้งแรกที่เจอปัญหาแบบนี้ เวลาเขียนบล็อกที่ไม่มีความรู้แต่อยากอัพ ก็จะอาศัยป๋ากูไม่ก็ค้นในเวบต่าง ๆ แล้วก็แฮบมาทั้งหมดหรือบางส่วน บล็อกนี้ทำอย่างแรกเพราะไม่รู้ประวัตินักร้องคนโปรดเลย ส่วนคำที่ถูกแบนคือคำว่า 'สะ-ล็อต' (ต้องพิมพ์เป็นคำอ่านจะได้ไม่ถูกแบน) อยู่ในประโยค..."ผมได้เห็นความมุ่งมั่นของเขา (บูเบลย์) แต่เราต้องดูธุรกิจดนตรีด้วย ว่าตอนนั้นมี 'สะ-ล็อต' พอให้เสียบสำหรับนักร้องหนุ่มเทพบุตรเสียงทองอะไรแบบนี้ไหม"...ผู้เขียนบทความแปลแบบทับศัพท์ เราอ่านแล้วก็งงว่าหมายถึงอะไร บทความค่อนข้างยาว ดีที่ทีมงานยกประโยคเจ้าปัญหามาให้ดู และแนะนำให้ปรับเปลี่ยน พอแก้ไขก็อัพได้เรียบร้อย ต้องขอบคุณทีมงานบล็อกแก๊งค์อีกครั้งค่ะ

อารัมภบทแล้วก็เข้าเรื่องเลย คือเมื่อปลายปีที่แล้วได้อ่านโพสของ คุณ Kiccha Buranond ที่ไมเคิล บูเบล (Michael Bublé) ประกาศว่าจะเลิกร้องเพลง เพราะต้องการดูแลลูกชายตัวน้อยที่เป็นมะเร็งตับ ไม่ได้ข่าวไมเคิลมาค่อนข้างนาน พออ่านข่าวนี้แล้วตกใจและเสียดายสุด ๆ แต่ก็เข้าใจและชื่นชมเขาด้วย ชอบเสียงแกมาก เป็นนักร้องคนโปรดที่สุดคนหนึ่ง ถึงจะเป็นนักร้องสมัยใหม่แต่ร้องเพลงเก่า โดยเฉพาะเพลงแจ๊สได้ดีเยี่ยม และมีสไตล์เป็นของตัวเองมาก ยิ่งร้องเพลงของ ลุงแฟรงค์​ ซิเนตร้า ด้วยละก็ สุดดยอดดดดด ที่จริง ไมเคิล อายุยังไม่ถึงห้าสิบเลย ยังดีที่อาการป่วยของลูกชายดีขึ้นมากแล้ว ได้แต่หวังว่าเขาจะกลับมาจับไมค์อีกครั้ง ขอส่งกำลังใจให้ ไมเคิล และครอบครัวบูเบล ขอให้น้องโนอาห์หายป่วย สุขภาพแข็งแรงในเร็ววัน

แอบงงกับนามสกุลของไมเคิลว่าอ่านยังไงกันแน่ เจอที่อ่านว่า บูเบลย์...บูเบ...บูเบล และที่อ่านผิดเป็น...บับเบิล...บูเบิล ถ้าดูจากตัว 'é' เป็นภาษาฝรั่งเศส อ่านออกเสียงว่า 'เอ' เพราะงั้นตัว 'เบล' ต้องอ่านว่า เบ มี 'ล ลิง' กล้ำน่าจะถูกที่สุด จะมี 'ย์' หรือไม่ก็ตามสะดวกเลยค่ะ















ก็อปโพสของคุณ Kiccha Buranond ที่เขียนถึงไมเคิลมาให้อ่านค่ะ

ซุเปอร์สตาร์ Michael Bublé ของแคนาดา นักร้องรูปงาม เสียงไพเราะ มีจังหวะลีลาดีที่ทั้งเท่และเซ็กส์ซี่ เป็นชายที่มีพรสวรรค์และเสน่ห์อย่างมากมาย

แต่แล้วในขณะนี้ ในวัย ๔๘ ปี เขาประกาศว่าชีวิตของเขาผิดไปเลย หลังจากที่ลูกชายคนโตในวัย ๑๐ ขวบเป็นมะเร็ง เมื่อ ๗ - ๘ ปีมาแล้ว

เขาว่าหนึ่งสิ่งในตัวของเขาที่หายไปเลยคือ "อีโก้" เขาว่าขอบคุณสวรรค์ที่เขาได้มีโอกาสลงดิน เพื่่อสละพลังอีโก้ทั้งหมด ไปเป็นพลังของ "พ่อ" ที่จะสละทั้งชีวิต รวมทั้งอาชีพที่ยิ่งใหญ่และโด่งดัง ...ให้แก่ลูกชาย ซึ่งเคยป่วยด้วยโรคนี้

ตั้งแต่นั้นมา เขาจึงเลิกแสดง ลาเวที เลิกอัดแผ่นเสียง (ตั้งแต่ลูกชายป่วยใหม่ ๆ แล้วลดน้อยลงหรือ remission จนถึงปัจจุบัน)

(นอกจาก Noah คนโต ไมเคิลยังมีลูกอีกสามคน ที่เป็นน้องของโนห์ ทั้งหญิงชาย เล็กสุดในวัย ๑๖ เดือน)

ขอเล่าว่า ในชีวิตนี้ ผมเคยเห็นความเจ็บป่วยอย่างหนักและอันตรายของลูก ที่เปลี่ยนชีวิตของพ่อ/แม่ ... จากคนเป็นอีกคน

เช่นไมเคิล บลูเบ ที่จะหายตัวไปเลยจากวงการเพลง (ผมติดใจเขามากในเพลง Sway)

...แต่เขาว่าเขาไม่มีความรักให้แก่วงการหรืออาชีพใด ๆ อีกต่อไป

จึงจะขอแก้ไขความเข้าใจผิดของหลายคน ...ที่แม้ว่านามสกุล Bublé ของไมเคิล จะฟังแสนฝรั่งเศส

แต่แท้จริงแล้วมันแผลงออกจากนามสกุลจริงของเขาว่า Bubli

*** กล่าวคือไมเคิลเป็นคนอิตาเลี่ยนของแคนาดา

...ไม่ใช่ฝรั่งเศส/แคเนเดี้ยน

ผมเสียดายเขาจัง เขามีเสน่ห์มาก และเคยร้องมากมายหลายเพลงอเมริกันเก่าแก่ ที่ผมโตขึ้นมาด้วยในอดีต

*** แต่ก็ชื่นชมเขาจัง ที่ตั้งหน้าตั้งตาจะเป็นพ่อที่ดีอย่างเต็มที่

...ช่างเป็นอีโก้ที่น่าสรรเสริญเป็นอย่างยิ่ง

และขอให้โนห์ หายขาดปลอดภัยไปจากโรคร้ายนี้

***จงอย่าได้กลับคืนมาอีกเลย


ข้อมูลจาก เพจ Kiccha Buranond











ไมเคิล สตีเวน บูเบล (Michael Steven Bublé) เกิดเมื่อวันที่ ๙ กันยายน ค.ศ. ๑๙๗๕) เป็นนักร้อง นักแต่งเพลงชาวแคนาดา ที่ได้รับสัญชาติอิตาลีใน ค.ศ. ๒๐๐๕ อัลบั้มแรกของเขาได้ขึ้นถึงสิบอันดับแรกในประเทศแคนาดาและสหราชอาณาจักร รวมถึงอัลบั้ม It's Time (2005) และ Call Me Irresponsible (2007) ซึ่งขึ้นถึงอันดับหนึ่งในชาร์ตอัลบั้มแห่งแคนาดา, ชาร์ตอัลบั้มแห่งสหราชอาณาจักร, บิลบอร์ด ๒๐๐ ของสหรัฐอเมริกา, ชาร์ต ARIA ของออสเตรเลีย และหลายประเทศในทวีปยุโรป บูเบลมียอดขายมากกว่า ๔๐ ล้านแผ่นทั่วโลก และได้ชนะรางวัลมากมาย รวมถึงรางวัลแกรมมี ๔ ครั้ง และรางวัลจูโนอีกนับไม่ถ้วน







หลายคนอาจจะรู้จักนักร้องหนุ่มอารมณ์ดีอย่าง ไมเคิล บูเบลย์ (Michael Bublé) ในฐานะเจ้าของเพลงฮิต ‘Home’ รวมถึงการเป็นยอดเอนเตอร์เทนบนเวทีที่เปี่ยมไปด้วยลีลาน่าตื่นตาตื่นใจ ภาพลักษณ์ที่ถูกยกให้เป็นนักร้องแบบ crooner (หรือแปลเป็นไทยว่า นักครวญเพลง) กลายเป็นจุดขายของ บูเบลย์ ที่ทำให้ผู้คนต่างจดจำเขาได้ แม้ชีวิตภายใต้ความอลังการของวงบิ๊กแบนด์ด้านหลังจะสร้างความหรูหราให้เขาอย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่หากได้เรียนรู้เรื่องราวชีวิต ก่อนความสำเร็จของเขา คุณจะค้นพบถึงชีวิตที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบอย่างแท้จริง







วันที่ ๙ กันยายน ปี ๑๙๗๕ คือวันที่ ลูอิส และแอมเบอร์ บูเบลย์ ได้ให้กำเนิดลูกชายคนโตของครอบครัว เขาทั้งสองตั้งชื่อให้กับเด็กทารกคนนี้ว่า “ไมเคิล” บูเบลย์ ไม่ได้เติบโตมาท่ามกลางเสียงดนตรี ช่วงชีวิตในวัยเด็กของเขาถูกล้อมรอบไปด้วยเสียงคลื่นจากทะเล เพราะด้วยการที่ ลูอิส เป็นชาวประมงจับปลาแซลมอน นั่นจึงทำให้เขาต้องหอบลูกมาเลี้ยงบนเรือหลายครั้ง ซึ่งสำหรับ บูเบลย์ มันกลายเป็นความทรงจำที่ไม่ค่อยดีนัก เพราะตอนนั้นเขาเริ่มรู้ตัวเองว่าสิ่งที่เขาอยากจะทำจริง ๆ ไม่ใช่การออกทะเลหาปลา แต่เป็นการได้ร้องเพลงบนเวที เขาถึงขั้นนำคำภีร์ไบเบิลมาไว้ที่ใต้หมอนและภาวนาขอพระเป็นเจ้าทุกคืนก่อนนอนว่าให้ความฝันในการเป็นนักร้องของเขาเป็นจริงด้วยเถิด




“มันเป็นงานที่ใช้ร่างกายโหดที่สุดที่ผมเคยเจอในชีวิต เราต้องออกทะเลไป ๒-๓ เดือนครั้ง เราต้องออกมาจับปลาตอนเช้ามืด ท่ามกลางสายฝนและอากาศที่หนาว ผมทั้งป่วยทั้งเหนื่อยและห่อเหี่ยวในใจ ผมร้องไห้และพูดกับพ่อว่า ‘พ่อเป็นไอ้งี่เง่ารู้ตัวไหม พ่อพาลูกชายตัวเองมาเจออะไรแบบนี้เนี่ยนะ’ ตอนนั้นผมกลัวว่าตัวเองจะต้องลงเอยแบบพ่อ แต่เมื่อมองกลับไป การทำงานแบบผู้ใหญ่ในหมู่คนที่มีอายุมากกว่าคุณสองเท่าได้ มันคือประสบการณ์ชีวิต มันสอนผมมากเกี่ยวกับความรับผิดชอบและความหมายของการเป็นผู้ชายนะ” บูเบลย์ เล่าย้อนถึงประสบการณ์บนเรือหาปลาในวัยเด็ก

 บูเบลย์ ไม่เหมือนกับเด็กทั่วไป ที่สามารถปั่นจักรยานวิ่งเล่นตามสวนได้ สิ่งเดียวที่ทำให้หัวใจของเด็กผู้ชายคนนี้พองโตได้ ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่เรียกว่า “ดนตรี”




“ผมยังจำได้อยู่เลยตอนที่ยังเป็นเด็ก ผมเคยไปที่หัวเรือและเริ่มร้องเพลง ทำเหมือนว่าตัวเองกำลังโด่งดัง” บูเบลย์หลงรักในการฟังเพลงมาตั้งแต่เด็ก เรียกได้ว่าเพื่อนเขาชอบฟังอะไรเขาก็มักจะฟังตามทุกเพลงโดยไม่มีเหตุผล ด้วยการที่พ่อของเขาต้องออกทะเลบ่อย ๆ ทำให้บูเบลย์ได้ใช้เวลาอยู่กับมิทช์ซานตาก้าคุณตาของเขาบ่อย ๆ มิทช์มีบ้านอยู่ใกล้กับบูเบลย์ห่างกันไปเพียงไม่กี่หลังเขาเป็นนักฟังเพลงแจ๊สตัวยงที่หลงรักในสุ้มเสียงแบบบิ๊กแบนด์และสวิง

“พ่อของไมเคิล (บูเบลย์) ไม่ค่อยได้อยู่บ้านนัก ทำให้พวกเด็ก ๆ ต้องมาที่บ้านเราบ่อย ๆ แต่สิ่งหนึ่งที่น่าประหลาดใจก็คือทุกครั้ง ไมเคิล จะเดินเข้าไปหาคุณตาของเขาเสมอ เพื่อให้คุณตาสอนฟังเพลงเก่า ๆ มันเป็นสิ่งพวกเขาชอบเหมือนกัน และดูเหมือนแต่ละเพลงที่ ไมเคิล ได้ยินครั้งแรก เขาจะสามารถร้องตามได้เสมอ” โยรันดา คุณยายของ บูเบลย์ เล่าย้อนความหลัง





ทั้งคู่ใช้หมดเวลาไปกับการนั่งฟังแผ่นด้วยกันตลอดช่วงวันหยุดฤดูร้อน ลากยาวจนไปถึงวันคริสต์มาสปีหนึ่ง เมื่อเห็นหลานชายชอบร้องเพลง มิทช์ ก็ได้ซื้อกล่องคาราโอเกะให้กับ บูเบลย์ เป็นของขวัญวันคริสต์มาส และดูเหมือน บูเบลย์ จะชื่นชอบของขวัญชิ้นนี้มาก เขาไม่รอช้าที่จะหยิบไม้กวาดมาทำเป็นไมค์ และร้องตามไปในเพลง ‘New York, New York’ โดยเลียนเสียงทุ้มแบบทรงเสน่ห์ของ แฟรงก์ ซินาทรา พรสวรรค์ที่ บูเบลย์ แสดงออกมาในวันนั้นทำให้ มิทช์ รู้ว่าสิ่งนี้จะส่งให้หลานชายของเขากลายเป็นดาว




ถ้าถามว่าใครคือคนแรกที่ผลักดัน บูเบลย์ ให้เดินหน้าทำตามฝันของตัวเอง ตำแหน่งป๋าดันที่ว่านั้นคงต้องยกให้กับ มิทช์ เพราะเขาคือคนที่จ่ายเงินค่าเรียนร้องเพลงให้กับ บูเบลย์ แถมยังเป็นคนที่พา บูเบลย์ ไปร้องตามบาร์แจ๊สอีกด้วย แม้ว่าตอนนั้น บูเบลย์ จะมีอายุไม่ถึงที่จะเข้าไปในบาร์ แต่สุดท้าย มิทช์ ก็หาทางดันหลานชายตัวเองให้ได้ขึ้นไปร้องในนั้นจนได้ เขารู้ว่าสถานที่แบบนี้คือโอกาสสำคัญสำหรับนักร้องรุ่นใหม่

“คุณตาคือเพื่อนสนิทที่สุดของผมในวัยเด็ก เขาคือคนที่เปิดโลกดนตรีให้กับผม จนมันกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผมตลอดมา แม้ตอนแรกผมจะชอบดนตรีร็อกแอนด์โรลล์ หรือดนตรีร่วมสมัยหน่อย แต่ครั้งแรกที่คุณตาเปิดเพลงของ The Mills Brothers ทุกอย่างมันเหมือนมีเวทมนตร์ขึ้นมาเลย เนื้อเพลงมันช่างโรแมนติก ทุกอย่างเหมือนจริงมาก มันเป็นเพลงที่เข้ากับตัวผม มันเหมือนกับการได้เห็นอนาคตตัวเองเลย มันทำให้ผมอยากจะเป็นนักร้อง และผมรู้ว่านี่คือเพลงที่ผมอยากจะร้อง"




หลังจากนั้น บูเบลย์ ก็เดินล่าหาความฝัน และผันตัวมาเป็นนักร้องสมัครเล่นตามงานต่าง ๆ จนได้มีโอกาสไปเจอกับผู้จัดการส่วนตัวคนแรกของเขาอย่าง เบฟเวอรี่ เดลิช โดย เดลิช เล่าต่อว่า ในวันที่ บูเบลย์ ไม่มีแม้แต่เงินหรืองาน แต่ตัวนักร้องหนุ่มก็เชื่อว่า วันหนึ่งเขาจะเป็นนักร้องที่ประสบความสำเร็จได้แน่นอน

“ไมเคิลขอให้ฉันไปเป็นผู้จัดการของเขา ฉันเลยถามว่า ‘ทำไมคุณถึงต้องมีผู้จัดการล่ะ’ เขาบอกว่า ‘ผมจะทำสิ่งนี้ได้ดีเยี่ยมเลยแหละ และผมจะให้คุณ ๑๕% ของทุกอย่างที่ผมทำเงินได้’ ฉันเลยบอกว่า ไมเคิล จะได้ ๑๕% ได้อย่างไร ในเมื่อตอนนี้มันเป็น ๐ ล่ะ”




บูเบลย์ ในวัย ๒๔ ปีเพียบพร้อมไปด้วยแพสชั่นและไฟในการจะเป็นนักร้องเขาเดินก้าวออกจากเบอร์นาบีเมืองบ้านเกิดมุ่งหน้าสู่โตรอนโต้เพื่อโอกาสในเส้นทางดนตรีที่มากขึ้นแต่จนแล้วจนรอดเขาก็ไม่เคยได้รับโอกาสนั้นสักที

ย้อนกลับไปในปี ๒๐๐๐ บูเบลย์ ได้มีโอกาสทำเพลงกับค่ายอินดี้แห่งหนึ่ง เขาถึงขั้นต้องยอมทุบกระปุกเงินเก็บของตัวเองเพื่อทำมัน แต่ผลงานชุดดังกล่าวก็ไม่ได้เป็นที่แพร่หลายพอให้เขาเข้าใกล้ความฝันมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นการทุ่มเงินเก็บทั้งหมดของตัวเองทำให้ บูเบลย์ ถังแตกอย่างจัง สถานการณ์ต่าง ๆ เริ่มบีบบังคับให้เขาต้องมานั่งทบทวนตัวเองว่าตลอด ๗ ปี ในฐานะนักร้อง เขาคงไม่สามารถเอาดนตรีมาทำเป็นอาชีพได้แล้ว




วันหนึ่ง บูเบลย์ ได้มีโอกาสไปร้องในงานปาร์ตี้สังสรรค์ของเหล่านักธุรกิจแห่งหนึ่ง หลังจบโชว์มีชายคนหนึ่งที่ชื่อว่า ไมเคิล แมคสวีนนีย์ เดินตรงมาหาเขา พร้อมกับชื่นชมการร้องและการเอนเตอร์เทนของ บูเบลย์ เป็นอย่างมาก บูเบลย์ ที่ไม่ได้คิดอะไรมากตอนนั้นก็ได้ยื่นแผ่นซีดีอัลบั้มของเขาแผ่นสุดท้ายที่เหลืออยู่ให้กับ แมคสวีนนีย์ พร้อมกับบอกว่า “ถ้าคุณกับภรรยาชอบมันก็ดีเลย แต่ถ้าไม่ชอบมันก็คงกลายเป็นถาดรองแก้วที่เยี่ยมเลย”  ซึ่งตอนนั้น บูเบลย์ ก็ยังไม่รู้ว่าชายคนนี้จะกลายเป็นคนที่มอบโอกาสครั้งสำคัญที่สุดในชีวิตให้กับเขา




ในคืนเดียวกันนั้น แมคสวีนนีย์ ได้กลับมาบ้านและเปิดซีดีชุดดังกล่าวฟัง เขาทั้งทึ่งและรู้สึกประทับใจกับเสียงร้องของ บูเบลย์ อย่างบอกไม่ถูก จนอยากจะส่งต่อความประทับใจนั้นออกไป แต่ทันใดนั้นเองเขาก็ฉุกคิดได้ว่าเพื่อนของเขากำลังมองหานักร้องในงานแต่งงานของลูกสาวพอดี ไม่กี่วันต่อมา แมคสวีนนีย์ ก็ได้ยื่นแผ่นซีดีแผ่นนี้ให้กับเพื่อนของเขาที่ชื่อว่า ไบรอัน มัลโรนี ชายผู้เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีแคนาดา!!!




มัลโรนีและภรรยา ถูกใจใช่เลยกับเสียงร้องของ บูเบลย์ และได้ติดต่อให้นักร้องหนุ่มมาร้องในงานแต่งดังกล่าว “ภรรยาของผมบอกว่า ไม่อยากจะเชื่อกับสิ่งที่ได้ฟัง เธอรู้สึกว่าเสียงร้องของเขาเหมือนอยู่ตรงกลางระหว่าง บ๊อบบี้ ดาร์ริน กับ แฟรงก์ ซินาทรา”

ตอนแรก บูเบลย์ ปฏิเสธที่จะร้องในงานนี้ เพราะเขาคิดว่าการร้องเพลงในงานแต่งจะทำให้เขาโชคร้าย แต่พอมารู้ทีหลังว่างานนี้จะมีคนในอุตสาหกรรมดนตรีเข้ามาร่วมงานด้วย บูเบลย์ จึงตัดสินใจที่รับหน้าที่นี้ โดยไม่รู้ว่ามันคือค่ำคืนจะที่เปลี่ยนชีวิตเขาไปตลอดกาล




มันคืองานรวมตัวของเหล่าคนดังอย่างแท้จริง ทั้งเหล่านักการเมือง ดารา หรือบรรณาธิการจากสื่อหลายสำนักต่างก็ตบเท้าเข้าร่วมงานนี้ (เจ้าบ่าวเป็น บก.ของนิตยสาร Harper) โอกาสเป็นของคนที่พร้อมเสมอ! บูเบลย์ที่รู้สึกชีวิตไม่มีอะไรจะเสียกับงานนี้ก็ได้แสดงอย่างเต็มที่ในแบบฉบับของตัวเอง ซึ่งโชว์ดังกล่าวไปเข้าหูเข้าตาหนึ่งในแขกของงานอย่าง เดวิด ฟอสเตอร์ โปรดิวเซอร์ระดับตำนาน ที่ปั้นทั้ง ซีลีน ดีออน และ วิทนีย์ ฮูสตัน เข้าอย่างจัง

“ไบรอัน (มัลโรนี) กอดและจับมือกับเดวิด (ฟอสเตอร์) ที่หน้างาน ผมเห็นเขาพยายามเชียร์ผมกับเดวิด เขาพูดทำนองว่า ‘นี่นี่คุณมาฟังเด็กหนุ่มคนนี้ร้องสิ เขาเยี่ยมไปเลยใช่ไหม คุณแค่ลองดูเขาร้อง’ ตอนนั้นเขาขายผมเก่งมากเลย” บูเบลย์ เล่าถึงวินาทีแรกที่เขาได้เจอกับฟอสเตอร์




ตอนแรก ฟอสเตอร์ ลังเลที่จะยื่นสัญญาการเป็นนักร้องในค่าย 143 Records ของเขา (ค่ายย่อยในเครือวอเนอร์) ให้กับ บูเบลย์ เขารับรู้ดีถึงความสามารถของนักร้องคนนี้แต่ก็มีความไม่แน่ใจว่าเด็กคนนี้จะสามารถเป็น “ป๊อปสตาร์” ได้ ตอนนั้นเขาแทบจินตนาการไม่ออกด้วยซ้ำว่าจะขาย บูเบลย์ ยังไงในตลาดดนตรีโลก




ต่อมา ฟอสเตอร์ จึงได้ชวนให้ บูเบลย์ ไปที่สตูดิโอของเขาที่มาลิบู เพื่อลองใช้เวลาด้วยกันในห้องอัดโดยหวังว่าเขาจะได้เห็นศักยภาพที่แท้จริงของเด็กคนนี้ แต่แล้วผ่านไปสองวัน ในสตูดิโอของ ฟอสเตอร์ เขามอง บูเบลย์ ผ่านกระจกในห้องบันทึกเสียงด้วยความเคร่งเครียด ก่อนจะเอามือเกาหัวตัวเอง และมานั่งกอดอกที่เก้าอี้หลังโต๊ะมิกซ์ และพูดกับ บูเบลย์ ว่า “ไมเคิล นายเป็นยอดเอนเตอร์เทนเนอร์และมีเสียงร้องที่ดี แต่ไม่มีอะไรที่ฉันจะช่วยนายได้”




แม้จะถูกปฏิเสธแต่ บูเบลย์ ก็ไม่คิดจะยอมแพ้ เขารู้ว่าการจะก้าวขึ้นมาเป็นนักร้องไม่ได้ทำกันได้ง่าย ๆ ท้ายที่สุด บูเบลย์ กับเดลิช ยอมย้ายมาที่ลอสแอนเจลิส เพื่อคอยตามตื้อ ฟอสเตอร์ “ผมถึงขั้นขับรถตามเขา (ฟอสเตอร์) ไปที่บ้านแล้วคอยถามว่า ‘เมื่อไหร่คุณจะเซ็นสัญญากับผมเนี่ย” บูเบลย์ ให้สัมภาษณ์กับ Macleans

ตื๊อเท่านั้นที่ครองโลก! หลังจากถูกตื๊ออยู่นาน ฟอสเตอร์ ก็ยอมใจอ่อน แต่มันก็มาพร้อมข้อเสนอที่ยากสำหรับ บูเบลย์ ในตอนนั้น เขาบอกว่าหากจะให้เขาเข้ามาโปรดิวซ์อัลบั้มให้ บูเบลย์ ต้องหาเงินมาให้ได้ ๕๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือตีเป็นเงินไทยประมาณ ๑๖ ล้านบาทเพื่อให้ครอบคลุมกับค่าโปรดักชั่นทั้งหมดโดยไม่มีอะไรรับประกันจากค่ายหลักอย่างวอเนอร์อีกด้วย




ไป ๆ มา ๆ เรื่องนี้ไปเข้าหูมัลโรนีและภรรยาที่กลายเป็นแฟนคลับของ บูเบลย์ ไปแล้วในขณะนั้น ทั้งคู่พยายามช่วย บูเบลย์ สุดความสามารถโดยเฉพาะการโทรไปกดดัน ฟอสเตอร์ แทบทุกวัน ซึ่งนี่ไม่ใช่นักร้องแคนาเดียนคนแรกที่สองสามีภรรยาคู่นี้แนะนำให้กับ ฟอสเตอร์ ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น ทั้งคู่เคยแนะนำนักร้องสาวแคนาเดียนลูกครึ่งฝรั่งเศสที่มีชื่อว่า ซีลีน ดีออน ให้กับยอดโปรดิวเซอร์คนนี้มาแล้ว และในท้ายที่สุดความพยายามของทั้งคู่ก็สำเร็จผลเมื่อ ฟอสเตอร์ ยอมใจอ่อนหันมาเป็นโปรดิวเซอร์ให้กับ บูเบลย์ ในสตูดิโอชุดแรกของนักร้องหนุ่ม โดยใช้ชื่อว่า “Michael Bublé”

“ใช่ ผมได้ยินเสียงของเขา ผมได้เห็นความมุ่งมั่นของเขา (บูเบลย์) แต่เราต้องดูธุรกิจดนตรีด้วย ว่าตอนนั้นมีหนทางใดที่จะทำให้เขาเป็นนักร้องหนุ่มเทพบุตรเสียงทองอะไรแบบนี้ไหม ซึ่งจะว่าไปตอนนั้น แฮร์รี่ คอนนิก จูเนียร์ ก็เปิดประตูตรงนี้ไว้อ้าซ่า เพราะเขาหนีไปเล่นหนังแทน มันจึงทำให้การนำเสนอแบบนี้มันว่างในตลาดพอดี” ฟอสเตอร์ เล่าย้อนความหลัง




ในปี ๒๐๐๓ ชื่อของนักร้องดาวรุ่งอย่าง ไมเคิล บูเบลย์ กลายเป็นที่รู้จักเป็นวงกว้าง หลังความสำเร็จจากอัลบั้มแรกที่สร้างเซอร์ไพรส์คนทั้งอุตสาหกรรมดนตรีด้วยยอดขายกว่าสามล้านก็อปปี้ทั่วโลก ด้วยเสียงร้องแบบเทเนอร์ทรงเสน่ห์บวกกับการเป็นเอนเตอร์เทนเนอร์ที่ดี ทำให้ บูเบลย์ ถูกนำไปเปรียบเทียบกับฮีโร่ของเขาอย่าง ซินาทรา




“เพลงแรกที่เราบันทึกเสียงกันคือ ‘I’ve Got You Under My Skin’ ตอนนั้นเดวิด ทำหน้าตาแบบว่า ‘ไอ้เด็กนี่มันรู้เรื่องอะไรบ้างเนี่ย’ เขารู้ว่าตัวเองต้องทำอย่างไรกับผม เขารู้ทิศทางที่มันควรจะเป็น มันเป็นเพลงที่ดีแต่ตอนนั้นผมไม่อยากจะร้องเพลงนี้เลย หน้าผมตอนอัดเสียงบ่งบอกได้เลยว่า ผมไม่อยากร้อง แต่ท้ายที่สุดมันออกมาเยี่ยมไปเลย สิ่งที่แย่ที่สุดของเพลงนี้คือเสียงของผมมันเหมือนกับ ซินาทรา มากไปหน่อย แต่ทุกวันนี้มันก็ยังเป็นเพลงที่เยี่ยมสำหรับผมอยู่เลย” บูเบลย์ พูดถึงวันแรกที่เข้าห้องบันทึกเสียงกับ ฟอสเตอร์




ทุกคนล้วนแต่ตั้งคำถามว่า อัลบั้มที่มีแต่เพลงสแตนดาร์ดและไม่มีเพลงที่ถูกแต่งใหม่เลย เหตุใดมันถึงได้รับความสนใจมากนัก? แต่ถ้าหากลองกลับไปฟังเสียงร้องของ บูเบลย์ ในเพลง ‘Come Fly With Me’ ทุกคนจะค้นพบคำตอบของคำถามนี้ ทั้งหมดมันคือการนำพาห้วงอารมณ์ที่ ซินาทรา เคยทำไว้นำกลับมาถ่ายทอดในโลกยุคใหม่ การนำส่วนผสมของดนตรีแจ๊สมาแต่งองค์ทรงเครื่องใหม่ และนำเสนอในแบบป๊อป คัลเจอร์ บวกกับลีลาและภาพลักษณ์ตามแบบฉบับของเหล่า “เอนเตอร์เทนเนอร์” ทำให้ บูเบลย์ กลายเป็นยอดเอนเตอร์เทนเนอร์คนใหม่ของวงการ

“เพลง ‘Come Fly With Me’ มีความน่าสนใจมากกว่าเพลงอื่น ๆ แม้จะมีบทวิจารณ์ในแง่ลบออกมาสองสามชิ้น แต่คนส่วนมากก็ชอบเพลงนี้” ฟอสเตอร์ พูดถึงความพิเศษของเพลงดังกล่าว

แม้ตอนนั้น บูเบลย์ ถูกเรียกในฐานะ “ร่างทรงของ ซินาทรา“ แต่แล้วสองปีให้หลังเขาได้ค้นพบลายเซ็นของตัวเองในฐานะนักร้องอย่างแท้จริงจากอัลบั้มชุดที่สอง It's Time ซึ่งมีเพลงฮิตที่ทำให้คนทั่วโลกรู้จักเขาอย่าง ‘Home’ เพลงป๊อปซึ้ง ๆ ผลงานจากปลายปากกาของเอมีฟอสเตอร์ลูกสาวแท้ ๆ ของฟอสเตอร์




ปัจจุบัน บูเบลย์ มีผลงานเป็นสตูดิโออัลบั้มออกมาแล้ว ๘ อัลบั้ม และกลายเป็นหนึ่งในนักร้องที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่ง มีเพลงฮิตมากมาย เช่น ‘Everything’, ‘Haven't Met You Yet’ หรือ ‘Lost’ ครั้งหนึ่ง บูเบลย์ เคยถูกถามว่าท่ามกลางผลงานยอดขายระดับแพลตตินัมเป็นโหล ๆ ที่ได้ เขามีเป้าหมายอื่นที่ตั้งไว้อีกหรือไม่? สิ่งที่ บูเบลย์ ตอบกลับไปในวันนั้นก็คือ “ย้อนกลับไปในวันที่อยู่บนเรือหาปลาของพ่อและฝันที่จะเป็นนักร้อง ทุกวันนี้มันคือความฝันเดียวที่ผมมี และตอนนี้ผมได้รับช่วงเวลาที่ผมต้องการนั้นแล้ว”







น่าเสียดายที่ ไมเคิล ประกาศวางไมค์ หลังจากลูกชายป่วยเป็นโรคมะเร็ง และทำให้ บูเบลย์ พบกับมุมมองใหม่ในการใช้ชีวิต โดย บูเบลย์ กล่าวกับเดลีเมล์เมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคมที่ผ่านมาว่า “นี่จะเป็นการให้สัมภาษณ์ครั้งสุดท้ายของผม ผมขอลาจากหน้าที่การงาน ผมได้ทำเพลงที่สมบูรณ์ และตอนนี้ผมสามารถจากไปในตอนที่ยังอยู่บนที่สูงมาก”




ข่าวระบุว่า อัลบั้มใหม่ของ บูเบลย์ ที่กำหนดจะเปิดตัวในเดือนพฤศจิกายนนี้มีชื่อว่า “เลิฟ” ที่เป็นการบอกเล่าเรื่องราวของความเจ็บปวด และความยากลำบากที่ บูเบลย์ ต้องอดทนในขณะที่ “โนอาห์” ลูกชายของ บูเบลย์ ป่วยเป็นโรคมะเร็งตับ ตั้งแต่ปี ๒๕๕๙

“ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าผมหายใจได้อย่างไร” บูเบลย์กล่าว และว่า ช่วงเวลาที่โนอาห์ต้องอยู่โรงพยาบาลได้เปลี่ยนแปลงแนวคิดของเขารวมถึงการจัดลำดับความสำคัญในชีวิต

“ผมไม่มีคำถามว่าผมคือใคร ผมแค่มีคำถามกับสิ่งอื่น ๆ” บูเบลย์กล่าว

บูเบลย์ ในวัย ๔๓ ปี ยังได้รำลึกถึงความพยายามของเขากับภรรยา ที่จะทำให้สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดให้ดีที่สุด ด้วยการเรียกโรงพยาบาลว่า “โรงแรมแสนสนุก” และทำเต็นท์ขึ้นมาให้ลูกชายพักแทนที่จะนอนบนเตียง

บูเบลย์ ยังได้พูดถึงการทำให้ชีวิตหน้าที่การงานกับการดูแลลูกชายเป็นไปอย่างสมดุลย์ว่า ความทารุณที่เกิดขึ้นมันเหมือนกับตั๋วที่ทำให้เขาคิดทบทวนถึงลำดับความสำคัญต่าง ๆ ในชีวิต




“การเจ็บป่วยทำให้ผมตระหนักว่า ผมโง่แค่ไหนที่กังวลเกี่ยวกับสิ่งที่ไม่ได้สำคัญเหล่านี้” บูเบลย์กล่าว และว่า “ผมต้องตกอยู่ในความลำบากเพราะความมีอัตตาของตัวเอง ที่ทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยขึ้น” และยังบอกด้วยว่า ตอนนี้เขาอยู่ห่างจากข่าวสารและสื่อสังคมออนไลน์

“ผมคิดว่าจะไม่อ่านชื่อของตัวเองในสื่อต่าง ๆ อีกแล้ว และไม่อ่านบทวิจารณ์ และจะไม่ใช้สื่อสังคมออนไลน์อีกแล้ว”




ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนกรกฎาคม บูเบลย์ ได้เคยพูดถึงการที่จะยุติอาชีพนักร้องของเขาในช่วงที่ลูกชายป่วยว่า “ผมคิดว่าจะไม่กลับมาในแวดวงเพลงอีก”

ทั้งนี้ โนอาห์ ลูกชายวัย ๕ ขวบของ บูเบลย์ ตอนนี้มีอาการทุเลาลงแล้ว โดย บูเบลย์ ยังมีลูกอีกคนคือ เอเลียส วัย ๒ ขวบ และวิดา ทารกน้อยที่เพิ่งคลอดเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา








ภาพและข้อมูลจาก
thepeople.co
wikipedia.org
matichon.co.th





บีจีจากเวบ wallcoo กรอบจากคุณ ebaemi ไลน์จากคุณญามี่





 

Create Date : 20 มกราคม 2567    
Last Update : 20 มกราคม 2567 22:36:04 น.
Counter : 672 Pageviews.  
(โหวต blog นี้) 

เพลง "ภูกระดึง"





การสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง เพราะรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เป็นหัวหอกนำเรื่องนี้กลับมาและตั้งท่าจะทำให้สำเร็จให้ได้ แต่ก็มีเสียงค้านเยอะ ซึ่งเราก็ไม่เห็นด้วยเหมือนกัน ก็ภูกระดึงเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ ถ้าให้ขึ้นได้สะดวก นักท่องเที่ยวก็จะเยอะขึ้น ธรรมชาติอาจจะรองรับไม่ไหว คิดว่ากว่าจะได้ข้อสรุป คงจะมีเรื่องถกเถียงถึงข้อดีและเสียอีกหลายยก มาฟังเพลง “ภูกระดึง” กันดีกว่าค่ะ เพลงนี้เป็นของวงสุนทราภรณ์ ครูแก้ว อัฉริยะกุล ประพันธ์คำร้อง ครูเอื้อ สุนทรสนาน ประพันธ์ทำนอง เพลงนี้มีหลายเวอร์ชั่น แต่เราชอบต้นฉบับที่ขับร้องโดย “คุณมัณฑนา โมรากุล” ที่สุด ไม่ได้ลงประวัติของท่านในบล็อกนี้ ตามไปอ่านบล็อกชีวประวัติที่อัพไว้เมื่อนานมาแล้วที่ลิงค์ด้านล่างได้เลยค่ะ

บล็อกมัณฑนา โมรากุล




ภูกระดึง (ต้นฉบับ)







ภูกระดึง
คำร้อง- ครูแก้ว อัฉริยะกุล
ทำนอง- ครูเอื้อ สุนทรสนาน


เขาภูกระดึงเสน่ห์ตรึงใจจริง
สัณฐานเหมือนดังกระดิ่งทับหล้า
สูงล้ำดั่งค้ำนภา
สูงลิ่วทิวทัศน์ตื่นตาสวยกว่าเทวาสรรค์สร้าง

หนทางขึ้นลงไม่เรียบแต่ชวนเพลิน
เห็นเนินซ้อนเนินลดหลั่นสล้าง
น้ำใสตกไหลเป็นทาง
ไหลพุ่งจากสูงสุดทางไหลหลั่งพื้นล่างสุธา

สระอโนดาตดาษน้ำธาร
น้ำใสตระการปานแก้วแววตา
ริมธารละลานไปด้วยบุปผา 
ดอกแดงกุหลาบพนาประดับลัดดากล้วยไม้ไพร

หนาวเย็นด้วยลมอากาศชื่นชมดี
ทุกยามนาทีลมโบกพัดให้
เหมือนแม้นสวรรค์ชาวไทย
ทุกสิ่งยวนเย้าหทัยโน้มจิตโน้มใจสุดฝืน

เสียงภูแว่วดังชวนชื่นดั่งฟังเพลง
เหมือนลมบรรเลงเป็นเพลงรักชื่น
หวิวหวิวพร่างพลิ้ววันคืน
เหมือนกล่อมและย้อมจิตชื่นระรื่นด้วยลมพลิ้วพร่าง

สนยามต้องลมโอนอ่อนเอนลมปลิว
สนยืนเป็นทิวแลลิ่วสล้าง
หงส์เหินสุดเหินเนินทาง
ทุกสิ่งดูสวยสะอางทุกแห่งทุกทางตื่นตา

เมื่อขึ้นสุดเหนื่อยเมื่อยล้ากาย
ครั้นถึงก็คลายหายเหนื่อยเมื่อยล้า
ผิวหญิงเมื่อขึ้นถึงยอดภูผา
แก้มแดงผิวตึงซึ้งตา เนื้อเต่งโสภาผ่องโสพรรณ

ทุกคนได้ยลขออยู่ไปจนตาย
เพราะความสบายยอมตายที่นั่น
โสฬสฟากฟ้าลาวัณย์
สามโลกไม่แม้นเทียบทันเหมือนหนึ่งสวรรค์นั่นเอย







เพลง "ภูกระดึง" ขับร้องโดย มัณฑนา โมรากุล คำร้อง แก้ว อัจฉริยะกุล ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน บันทึกเสียงครั้งแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๓








อุทยานแห่งชาติภูกระดึง ตั้งอยู่ที่ ต.ศรีฐาน อ.ภูกระดึง จ.เลย เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงมากของประเทศไทย ด้วยความสูง ๔๐๐-๑,๒๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล ทำให้ภูกระดึงมีอากาศเย็นสบายตลอดปี ชื่อ"ภูกระดึง" หมายถึงภูเขาที่มีรูปร่างคล้ายระฆังหรือกระดิ่ง ดังเนื้อร้องที่ครูแก้วขึ้นต้นว่า

"เขาภูกระดึงเสน่ห์ตรึงใจจริง สัณฐานเหมือนดังกระดิ่งทับหล้า”

ครูแก้วเขียนคำร้องบรรยายลักษณะทางภูมิศาสตร์ของภูกระดึงไว้อย่างละเอียดว่า

"หนทางขึ้นลงไม่เรียบแต่ชวนเพลิน เห็นเนินซ้อนเนินลดหลั่นสล้าง”

"สระอโนดาตดาษน้ำธาร น้ำใสตระการปานแก้วแววตา

ริมธารละลานไปด้วยบุปผา ดอกแดงกุหลาบพนา ประดับลัดดากล้วยไม้ไพร”





จะเห็นได้ว่า ครูแก้วบรรยายถึงภูกระดึงแบบเก็บรายละเอียดได้หมด จนคิดว่าครูแก้วน่าจะเคยไปเที่ยวภูกระดึงมาแล้วหลายรอบ แต่ความเป็นจริงคือ ครูแก้วไม่เคยไปภูกระดึงเลยแม้แต่ครั้งเดียว อาศัยอ่านหนังสือและฟังคำบอกเล่าของผู้ที่เคยไปแล้วเท่านั้น เหมือนกับ ครูไพบูลย์ บุตรขัน ที่แต่ง เพลงมนต์เมืองเหนือ โดยที่ไม่เคยไป เขียงใหม่เลยเช่นกัน




เพลง"ภูกระดึง"สร้างแรงบันดาลใจให้หลายคนพากันไปเที่ยวภูกระดึง บางคนกลับมาเขียนต่อว่าว่าโดนครูแก้วและคุณมัณฑนาหลอก เพราะภูกระดึงจริงไม่งามเท่าที่ครูแก้วบรรยายไว้ในเพลง แสดงให้เห็นถึงความเป็นอัจฉริยะของครูแก้วอย่างแท้จริง จึงสามารถพรรณนารายละเอียดต่าง ๆ จนเห็นภาพได้อย่างชัดเจน








ตำนานเพลงภูกระดึง คนไทยเริ่มเดินเท้าขึ้นภูกระดึงมาตั้งแต่ก่อนปี ๒๕๐๐ คงไม่แปลกอะไรที่มีทั้งงานเขียน บทกกวี และบทเพลงมากมายเล่าขานถึงธรรมชาติงดงามเหนือยอดภูผาแห่งนี้ หนึ่งในเพลงที่เล่าขานเรื่องราว คือเพลง “ภูกระดึง” ของ วงสุนทราภรณ์ ที่เป็นวงดนตรีอันดับหนึ่งแบบชนิดไม่มีคู่แข่งของเมืองไทยในยุคนั้น เดี๋ยวนี้คงหาโอกาสฟังได้ยาก แต่ในบางครั้งบางคราวทางอุทยานแห่งชาติภูกระดึงจะนำเพลงนี้มาเปิดผ่านเครื่องกระจายเสียงก่อนประกาศข่าวแจ้งนักท่องเที่ยว ภาษาคลาสสิคแบบนี้สะท้อนยุคเก่าก่อนที่ไม่มีเพลงเขียนด้วยสไตล์นี้อีกแล้ว หรือบางที อาจรวมถึง ภูกระดึงในอดีตที่เคยสมบูรณ์ไปด้วยความงามของธรรมชาติยิ่งกว่าในปัจจุบัน








อย่างคำว่า “สระอโนดาต” ที่กลายมาเป็นชื่อสระน้ำใสบนยอดภูกระดึง ก็มาจากคติอินเดีย ที่พูดถึง ป่าหิมพานต์ที่มีสระอยู่ ๗ สระ คือ สระอโนดาต, มันทากินี, กุณาล, สหัปปดาต, กัณมุณฑ์, รดาการ, และฉัททันต์ ส่วนลานหินใกล้ ๆ สระอโนดาต บนยอดภูกระดึง สมัยก่อนก็เรียกกันว่า “ลานกินรี” ให้สอดคล้องกับชื่อสระอโนดาต ที่มีตัวกินรีออกมาเริงร่ายเล่นน้ำ แต่สมัยนี้ชื่อนี้ดูเหมือนจะหายไปจากแผนที่ของภูกระดึงแล้ว










พูดถึงเพลงก็ต้องหาภาพวิวของภูกระดึงมาให้ชมด้วย
ยังไม่เคยไปเที่ยว เลยต้องขออนุญาตกินแรงคนที่เก็บถ่ายภาพงาม ๆ ของภูกระดึงไว้
แฮบมาจาหลายเวบ ขอขอบคุณเจ้าของภาพทุกภาพไว้ ณ ที่นี้ด้วยค่ะ

















































































































































































ภาพและข้อมูลจาก
บล็อกคุณ foresaw
travel.kapook.com
เพจพร่างเพชรในเกร็ดเพลง
บล็อกภูกระดึง ๒๕๖๖ - หลังแป
กระทู้ “ภูกระดึง...ฉันคิดถึงเธอ”
กระทู้ “ตะลุยเดี่ยวเที่ยว Summer ที่ “ภูกระดึง” ฯ






บีจีจากเวบ wallcoo ไลน์จากคุณญามี่
กรอบจากคุณ ebaemi และ คุณ somjaidean100

Free TextEditor




 

Create Date : 19 ธันวาคม 2566    
Last Update : 19 ธันวาคม 2566 8:46:34 น.
Counter : 603 Pageviews.  

คอนเสิร์ตครูเพลงลูกกรุง & ลูกทุ่ง "จิ๋วแต่แจ๋ว"





งานแถลงข่าวคอนเสิร์ต “จิ๋วแต่แจ๋ว”




ประชัน! เพลงดังอมตะ ครั้งแรก...บนเวทีศาลาเฉลิมกรุง 
ระหว่างสุดยอดเพลงดังอมตะ
ครูเพลงลูกกรุง แจ๋ว วรจักร & ครูเพลงลูกทุ่ง จิ๋ว พิจิตร
ในคอนเสิร์ตเชิดชูครูเพลง “จิ๋วแต่แจ๋ว”


เมื่อเอ่ยถึงเพลงไทยสากลไพเราะหวานซึ้งเต็มเปี่ยมไปด้วยสุนทรียรสของความเป็นเพลงลูกกรุงเนื้อแท้อย่าง เรือนแพ น้ำตาแสงไต้ รักข้ามขอบฟ้า มนต์รักดอกคำใต้ หรือไม่ว่าจะเป็นเพลงลูกทุ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงภาพวิถีชีวิตและประเพณีพื้นบ้านของสังคมไทยที่ร้องกันได้ทุกสมัยอย่าง ไวพจน์ลาบวช หม้ายขันหมาก คาถามหานิยม สุโขทัยระทม ส่งให้นึกถึงบรมครูนักแต่งเพลงที่สร้างสรรค์มรดกงานเพลงสำคัญไว้ให้กับประเทศชาติ ศาลาเฉลิมกรุงตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์และสืบสานบทเพลงไทย จึงได้จัดคอนเสิร์ตเชิดชูครูเพลง “จิ๋วแต่แจ๋ว” ถ่ายทอดผลงานเพลงเอกของครูเพลงลูกกรุง ครูสง่า อารัมภีร(แจ๋ว วรจักร) ศิลปินแห่งชาติ และครูเพลงลูกทุ่ง ครูดิเรก เกศรีระคุปต์ (จิ๋ว พิจิตร) ในวันอาทิตย์ที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๖ รอบ ๑๔.๐๐ น. ณ ศาลาเฉลิมกรุง




คอนเสิร์ตเชิดชูครูเพลง “จิ๋วแต่แจ๋ว” เป็นการนำสุดยอดผลงานเพลงดังอมตะ มาประชัน! ครั้งแรก...บนเวทีศาลาเฉลิมกรุง ระหว่างสุดยอดงานเพลงยอดเยี่ยมของครูเพลงลูกกรุง ครูแจ๋ว วรจักร...สง่า อารัมภีร (ศิลปินแห่งชาติ) กับสุดยอดเพลงดังอมตะของครูเพลงลูกทุ่ง ครูจิ๋ว พิจิตร...ดิเรก เกศรีระคุปต์ มาถ่ายทอดโดยศิลปินนักร้องคุณภาพ ศิลปิน ๓ วิ วิรัช อยู่ถาวร (ศิลปินแห่งชาติ) – วินัย พันธุรักษ์ (ศิลปินแห่งชาติ) – วิชัย ปุญญะยันต์ นันทวัน เมฆใหญ่ สุวรรณปิยะศิริ บูรพา – ญาดา อารัมภีร(ทายาทครูสง่า อารัมภีร) มนตรี แพร่ศิริพุฒิพงศ์ นักร้องแชมป์จากเวทีศาลาเฉลิมกรุงและเวที The Golden Song โชคชัย หมู่มาก (แอ๊ค) ภาสกรณ์ รุ่งเรืองเดชาภัทร์ (สปาย) สรวีย์ ธนพูนหิรัญ (ผิงผิง) ร่วมด้วยศิลปินนักร้องลูกทุ่งชื่อดัง ขวัญจิต ศรีประจันต์ (ศิลปินแห่งชาติ) - สมหญิง ศรีประจันต์ ยิ่งยง ยอดบัวงาม ทศพล หิมพานต์ สายัณห์ นิรันดร รุ่ง สุริยา เจเน็ต เขียว จอมขวัญ กัลยา ฯลฯ เพลินตาไปกับทีมหางเครื่องสวยงามอลังการ บรรเลงโดย วงเฉลิมราชย์ ควบคุมวงโดย วิรัช อยู่ถาวร (ศิลปินแห่งชาติ) พิธีกรโดย บูรพา อารัมภีร – สายฝน ชีช้าง







พบกับสุดยอดผลงานเพลงของนักแต่งเพลงชั้นครูแห่งวงการเพลงลูกกรุง ครูสง่า อารัมภีร (แจ๋ว วรจักร) ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล) ปี ๒๕๓๑ ด้วยความมานะพยายามฝึกฝนวิชาดนตรีด้วยตนเองจึงสามารถร่วมงานเป็นนักประพันธ์เพลงประกอบการแสดงละครเวทีของคณะละคร ศิวารมย์ประสบความสำเร็จครั้งแรกเมื่อแต่งเพลง “น้ำตาแสงไต้” ซึ่งแต่งขึ้นที่ศาลาเฉลิมกรุง เพื่อใช้ในละครเรื่องพันท้ายนรสิงห์ ครูแจ๋วเป็นผู้ที่มีความสามารถรอบตัวโดยประพันธ์ทั้งบทร้อง ทำนอง แยกเสียงประสาน ควบคุมวงดนตรี สรรหานักร้องที่เหมาะสมกับเพลงที่ประพันธ์ขึ้นนั้น ตลอดจนถึงการบันทึกเสียง ได้ส่งเสริมให้นักร้องจำนวนมากมีชื่อเสียงเด่นดังเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ อาทิ เพ็ญศรี พุ่มชูศรี สุเทพ วงศ์กำแหง ชรินทร์ นันทนาคร สวลี ผกาพันธุ์ จินตนา สุขสถิตย์ นริศ อารีย์ ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ ธานินทร์ อินทรเทพ ทนงศักดิ์ ภักดีเทวา ฯลฯ รวมผลงานเพลงที่สร้างสรรค์ขึ้น มากกว่า ๒,๐๐๐ เพลง ซึ่งรวมทั้งเพลงประกอบละครและภาพยนตร์กว่า ๒๕๐ เรื่อง เพลงที่มีชื่อเสียง อาทิ เรือนแพ น้ำตาแสงไต้ รักข้ามขอบฟ้า ทะเลไม่เคยหลับ วนาสวาท หนึ่งในร้อย สีชัง ทาสเทวี ฝนนี้ เป็นต้น




ด้านวงการเพลงลูกทุ่งไทย ครูจิ๋ว พิจิตร (ดิเรก เศรีระคุปต์) ได้รับการยกย่องเป็นนักแต่งเพลง แหล่ที่มีชื่อเสียง ด้วยผลงานเพลงเกี่ยวกับประเพณีวัฒนธรรม เช่น เพลงงานบวชนาค ซึ่งเนื้อหาสาระของ บทเพลงที่ครูจิ๋วแต่ง ส่งให้เห็นถึงภาพวิถีชีวิตของคนไทยในชนบทพื้นบ้าน เป็นผู้จุดประกาย ไวพจน์ เพชรสุพรรณ (ศิลปินแห่งชาติ) ดังทะลุฟ้าจากเพลง “แบ่งสมบัติ” เป็นผู้ปลุกปั้น ขวัญจิต ศรีประจันต์ (ศิลปินแห่งชาติ) แจ้งเกิดในวงการจากเพลง “กับข้าวเพชฌฆาต” ชินกร ไกรลาศ (ศิลปินแห่งชาติ) ดังตามด้วยเพลง “เดือนคว่ำเดือนหงาย” ตลอดระยะเวลาที่โลดแล่นอยู่ในวงการเพลงลูกทุ่ง ครูจิ๋ว มีผลงานประพันธ์เพลงเกือบ ๒,๐๐๐ เพลง ให้นักร้องลูกทุ่งหลายคนขับร้องจนโด่งดัง อาทิ พุ่มพวง ดวงจันทร์ ในเพลง “หม้ายขันหมาก” เพชร โพธาราม ในเพลง “สุโขทัยระทม” ยอดรัก สลักใจ ในเพลง “คาถามหานิยม” และเพลงที่คนลูกทุ่งจะต้องจดจำกันได้ เช่น ใส่กลอนหรือเปล่า หน้าด้านหน้าทน มันมากับความแค้น ไวพจน์ลาบวช ฯลฯ โดยมีนักร้องรุ่นหลังนำมาขับร้องต่อกันมาอีกหลายรุ่น




ฟังบทเพลงอันไพเราะ คัดสรรสุดยอดเพลงเอกมาประชันกันครั้งแรกบนเวทีศาลาเฉลิมกรุง พลาดไม่ได้! คอนเสิร์ตเชิดชูครูเพลง “จิ๋วแต่แจ๋ว” ครูแจ๋ว วรจักร...สง่า อารัมภีร (ศิลปินแห่งชาติ) & ครูจิ๋ว พิจิตร...ดิเรก เกศรีระคุปต์ วันอาทิตย์ที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๖ นี้ รอบ ๑๔.๐๐ น. เพียงรอบเดียวเท่านั้น! บัตรราคา ๑,๐๐๐ บาท ทุกที่นั่ง เปิดจำหน่ายบัตรแล้ววันนี้ที่ ศาลาเฉลิมกรุง โทร. ๐-๒๒๒๕-๘๗๕๗-๘ และไทยทิคเก็ตเมเจอร์ https://www.thaiticketmajor.com โทร.๐-๒๒๖๒-๓๔๕๖





เคยอัพบล็อกเกี่ยวกับ ครูสง่า อารัมภีร ไว้หลายบล็อก คลิกลิงค์ด้านล่างเข้าไปอ่านได้เลยค่ะ

คิดถึง…ครูแจ๋ว
ชีวิตและผลงานของครูแจ๋ว
คอนเสิร์ต “คิดถึง…ครูแจ๋ว” ๒๕๖๑
ความรักในบทเพลงเหนือกาลเวลา “สง่า อารัมภีร ๑
คอนเสิร์ต หีบเพลงชัก...แทนคำรัก “ครูแจ๋ว” ๒
ความรักในบทเพลงเหนือกาลเวลา “สง่า อารัมภีร







 
๔ ทุ่มเศษของวันจันทร์ที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๕๓ นับเป็นวันสูญเสียของวงการเพลงลูกทุ่งเป็นอย่างมาก เมื่อ ครูจิ๋ว พิจิตร นักแต่งเพลงวัย ปี ที่มีงานเพลงเกี่ยวกับวัฒนธรรม ประเพณีไทยมากที่สุดของวงการ โดยเฉพาะเพลงที่เกี่ยวกับประเพณีการบวช ที่ยังรับใช้สังคมไทยมาจนทุกวันนี้

ก่อนหน้านั้นเพียง ๑ วัน คือ วันอาทิตย์ที่ ๑๗ ตุลาคมที่ผ่านมาบรรดาลูกศิษย์ได้จัดคอนเสิร์ต "ลูกผู้ชายชื่อ...จิ๋ว" ขึ้นที่ศาลาเฉลิมกรุง ซึ่งถือเป็นคอนเสริต์ครั้งเดียวและครั้งสุดท้ายของครู ซึ่งก่อนจะจัดงานคอนเสิร์ตเพียงวันเดียวครูจิ๋วถูกพาส่งโรงพยาบาลโดยไม่มีโอกาสไปนั่งดูคอนเสิร์ตที่ลูกศิษย์จัดขึ้น

สำหรับคอนเสิร์ต "ลูกผู้ชายชื่อ...จิ๋ว" นั้น เป็นการรวมนักร้องที่เคยขับร้องเพลงครูจิ๋ว โดยหนึ่งในสามนั้นได้รับการเชิดชูเป็น ศิลปินแห่งชาติ คือ ขวัญจิต ศรีประจันต์, ไวพจน์ เพชรสุพรรณ และ ชินกร ไกรลาส และยังมี ชาย เมืองสิงห์ ชัยชนะ บุญนะโชติ กับ ผ่องศรี วรนุชมาร่วมขับร้องด้วย







นอกจากนั้นยังมีนักร้องรุ่นใหม่ อาทิ ยิ่งยง ยอดบัวงาม, ดาว มยุรี, รุ่ง สุริยา, ทศพล หิมพานต์, จอมขวัญ กัลยา ดำรง วงศ์ทอง, เจเน็ท เขียว ฯลฯ ที่มาถ่ายทอดเพลงครูอย่างสนุกสนาน เมื่อบ่ายวันอาทิตย์ที่ผ่านมาก่อนครูจิ๋วจะเสียชีวิต ๑ วัน โดยทุกคนสวมใส่ชุดสีม่วงที่ครูจิ๋วชอบเป็นพิเศษ




ภรณ์นภัส เกศรีระคุปต์ บุตรสาว ของครูจิ๋วให้สัมภาษณ์ถึงการจากไปของผู้เป็นพ่อกับทีมข่าว "คม ชัด ลึก" ว่า 


“วันเสาร์ตอน ๔ โมงเย็นแม่บ้านบอกว่า คุณพ่อนั่งไม่อยู่ พี่เลยให้มอเตอร์ไซค์รับจ้างมาอุ้มคุณพ่อขึ้นรถ พี่เป็นคนขับ ก็คุยกับพ่อไปตลอดทาง ตกลงกันว่าถ้าหมอให้นํ้าเกลือก็ให้พ่อนอนที่โรงพยาบาลแล้ววันคอนเสิร์ตจะให้พี่ชายไปรับเพื่อไปร่วมงานคอนเสิร์ตที่พวกเราจัดให้พ่อ ช่วงที่พ่อจะจากไปลูกๆ ได้ดูใจได้สวดมนต์ให้พ่อสวดตาม ถึงเวลา ๒๒.๔๕ น. พ่อก็จากไป หมอบอกว่าปอดติดเชื้อ อาการของพ่อไม่มีแรงอย่างเดียว อย่างอื่นไม่มีอะไร พ่อจะคอยถามตลอดว่า วันนี้วันอะไรใกล้ถึงวันคอนเสิร์ตแล้ว ท่านดีใจมากที่จะได้เจอกับลูกศิษย์ แต่ท่านก็ไม่ได้มา วันคอนเสิร์ตเราก็ปิดไม่ได้บอกใคร ไม่คิดว่าท่านจะจากไป"

สำหรับศพของครูจิ๋ว พิจิตร ตั้งสวดอยู่ที่ศาลาใหญ่วัดหลักสี่ถึงวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๕๓ และได้รับพระราชทานเพลิงศพในวันอังคารที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๕๓




ครูจิ๋ว พิจิตร ชื่อจริง ดิเรก เกศีระคุปต์ เกิดเมื่อ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ ที่ตำบลบางแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดอ่างทอง พ่อชื่อนายเปลื้อง แม่ชื่อนางสงวน เกศีระคุปต์ พ่อรับราชการครู แม่มีอาชีพทำนาทำสวนและค้าขาย มีพี่น้องด้วยกัน ๖ คน ครูจิ๋วเป็นลูกคนโต จบการศึกษาชั้นมัธยม ๖ ที่โรงเรียนปัทมโรจน์ราษฎร์บำรุง อ.เมือง จ.อ่างทอง เมื่อจบ ม.๖ ได้สมัครเป็นครูประชาบาลสอนนักเรียนอยู่ปีกว่า ๆ ก็ลาออกไปประจำอยู่กับคณะละคร “ส.นาฏศิลป์” ที่ปากน้ำโพ จ.นครสวรรค์ อยู่ได้พักหนึ่ง โดยตอนที่อยู่คณะละครร้องครูจะเล่นอยู่ในรุ่นเดียวกันกับ ดอกดิน กัญญามาลย์, คำรณ สัมปุณณานนท์, เลิศ ประสมทรัพย์ ต่อมาก็ไปเล่นเป็นตัวตลกอยู่กับลิเกคณะ “แก้วมณี” อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร จนมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วภาคเหนือ และนามปากกา “จิ๋ว พิจิตร” ได้เกิดขึ้น ณ ที่นี่เอง







ต่อมา พระเอกลิเกชื่อดัง “บุญสม อยุธยา” หรือ “พร ภิรมย์” ได้ไปพบและชื่นชอบในความสามารถ จึงชักชวนให้มาอยู่กรุงเทพฯ ด้วยกัน พร ภิรย์ ได้สอนวิธีแต่งเพลงที่ถูกต้องให้ ครูจิ๋วแต่งเพลงแรกในชีวิตที่แต่งคือ “ชายไร้โบสถ์” ให้ “สมยศ ทัศนพันธ์” ขับร้อง แต่ตอนนั้นท่านยังเป็นนักแต่งเพลงไม่มีชื่อ ตอนบันทึกเสียงจึงใช้ชื่อครู “เนียน วิชิตนันท์” เป็นผู้แต่งแทน แต่ปัจจุบันถูกแก้ไขให้กลับมาเป็นของท่านเรียบร้อยแล้ว เพลงอื่นๆ ในยุคแรก เช่น “เงาพิศวาส” เป็นเพลงแรกที่ แต่งให้ มานพ แก้วมณี ขับร้อง เพลง “หัวอกกำนัน” แต่งให้ รุ่งเพชร แหลมสิงห์ขับร้อง เพลง “อินเดียอาดูร” “ย่ำต๊อกมาบ้านแต้” แต่งเองร้องเอง







เมื่ออยู่กับ พร ภิรมย์ มานานพอสมควร จึงตัดสินใจเข้าไปเป็นนักแต่งเพลงประจำวงดนตรี ไวพจน์ เพชรสุพรรณ เพลงชุดแรกที่แต่งให้ไวพจน์ ร้อง คือ “แบ่งสมบัติ” “รักพิลึก” “ลาน้องไปเวียดนาม” “หน้าด้านหน้าทน” “เบี้ยวเป็นเบี้ยว” ประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง และยังปั้นนักร้องสาวจากวงดนตรี ชุมนุมศิลปินของครูจำรัส วิภาตะวัธ ที่เบนเข็มชีวิตมาเป็นนักร้องประจำวงไวพจน์อีกคนหนึ่ง นั้นคือ “ขวัญจิตร ศรีประจันต์” จากเพลงแรก “เบื่อสมบัติ” และตามด้วย “เกลียดคนหน้าด้าน” “ขวัญใจคนจร” “กับข้าวเพ็ชฌฆาต” “แม่ครัวตัวอย่าง” “หม้ายขันหมาก” “แหลมตะลุมพุก” และอีกมากมายหลายเพลง ทำให้ “ขวัญจิตร ศรีประจันต์” โด่งดังจนถึงทุกวันนี้ เพลง ''สุโขทัยระทม'' คืออีกหนึ่งเพลงที่ครูจิ๋วแต่งขึ้นให้ เพชร โพธาราม ขับร้อง เมื่อครั้งอยู่กับวงดนตรี ไวพจน์ และต่อมา สายัณห์ นิรันดร ได้นำเอามาร้องใหม่ และโด่งดังอย่างมากอีกครั้ง เพลงนี้ครูใช้เวลาแต่งในขณะเดินทางด้วยรถยนต์ ผ่านจังหวัดสุโขทัย ซึ่งกำลังมีเหตุไฟไหม้บ้านเรือนประชาชนอยู่พอดี







ผลงานเพลงดัง ครูจิ๋วพิจิตร มีหลายแนวเพลง อาทิ ใส่กลอนหรือเปล่า ปีหน้าแต่งแน่ หน้าด้านหน้าทน มันมากับความแค้น กับข้าวเพชฌฆาต สุโขทัยระทม เดือนคว่ำเดือนหงาย คาถาหานิยม ลาน้องไปเวียดนาม กล่อมลูก เบื่อสมบัติ เกลียดคนหน้าด้าน ขวัญใจคนจร กับข้าวเพ็ชฌฆาต แม่ครัวตัวอย่าง หม้ายขันหมาก แหลมตะลุมพุก แบ่งสมบัติ รักพิลึก เบี้ยวเป็นเบี้ยว ยายฉิมเก็บเห็ด





ข้อมูลจาก
mgronline.com

komchadluek.net





บีจีจากคุณเนยสีฟ้า กรอบจากคุณ KungHangGerman ไลน์จากคุณญามี่





 

Create Date : 24 ตุลาคม 2566    
Last Update : 29 ตุลาคม 2566 22:37:10 น.
Counter : 843 Pageviews.  

เพลงฮิตตลอดกาล...For the Good Times





For The Good Times



For The Good Times เพลงที่แต่งโดย Kris Kristofferson นักแสดง นักแต่งเพลง และศิลปินแนวคันทรี่ชาวอเมริกัน ที่โด่งดังในยุค ๗๐ โดย Bill Nash นำมาร้องเป็นคนแรกในปี ค.ศ. ๑๙๖๘ ก่อนที่ Kris Kristofferson จะนำมาร้องเอง บรรจุอยู่ในอัลบั้มแรกของเขาที่ชื่อ Kristofferson เมื่อปี ค.ศ. ๑๙๗๐




คนไทยเรารู้จักและซาบซึ้งเพลงนี้กันเป็นอย่างดีจากเสียงร้องของ Perry Como ที่ออกอากาศเป็นครั้งแรกในเดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ. ๑๙๗๓ กลายเป็นเพลงฮิต ไต่ขึ้นถึงอันดับ ๗ ในชาร์ตเพลงของอังกฤษเมื่อเดือนสิงหาคมในปีเดียวกัน และอยู่ในชาร์ตนานถึง ๒๗ สัปดาห์ หรือเกือบ ๆ ๗ เดือนเลยทีเดียว




Perry Como เป็นศิลปินชาวอเมริกันที่มีชื่อเต็ม ๆ ว่า Pierino Ronald Como ด้วยพรสวรรค์และความสามารถที่หลากหลาย ทั้งนักร้อง นักแสดง พิธีกรรายการทีวี โด่งดังที่สุดในช่วงยุค ๕๐ - ๖๐ และกินเวลามายาวนานกว่า ๕๐ ปี







Perry Como หรือ เพอร์รี่ โคโม (๘ พ.ค. ๒๔๕๕ - ๑๒ พ.ค. ๒๕๔๔) เกิดที่ Canonsburg รัฐเพนซิลเวเนีย เป็นลูกชายคนที่ ๗ จากทั้งหมด ๑๐ คน ของคุณพ่อ Pietro Como และคุณแม่ Lucia Travaglini ครอบครัวชาวอิตาเลียนที่อพยพมาจากอิตาลี ถึงแม้จะยากจน แต่ครอบครัวนี้ก็มีออร์แกนเก่า ๆ ตั้งอยู่ในบ้านที่ซื้อมาในราคาถูก เพราะบิดาเป็นคนชอบเล่นดนตรี ทำให้ Perry Como รักเสียงดนตรีตั้งแต่ยังเล็ก ปีนป่ายขึ้นไปดีดออร์แกนเล่น โดยสามารถเลียนแบบ เล่นเป็นทำนองเพลงได้ จากเพียงแค่ได้ยินเสียงโน้ต




เมื่อย่างเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น…Perry Como มีพรสวรรค์สามารถเล่นเครื่องดนตรีได้หลากหลาย ทั้งทรอมโบน กีตาร์ และออร์แกน หารายได้จากการเป็นนักดนตรีรับเล่นตามงานและสถานที่ต่าง ๆ เช่น ตามงานแต่งงาน และตามโบสถ์ แต่ถึงแม้จะมีพรสวรรค์และความสามารถทางด้านดนตรี อาชีพที่ Perry Como ใฝ่ฝันอยากจะเป็นคือ ช่างตัดผม







Perry Como เริ่มต้นจากการเป็นลูกจ้าง จนมีร้านพร้อมลูกน้องเป็นของตัวเอง ลูกค้าของเขาส่วนมากคือคนงานในโรงงานเหล็ก ต่อมาลูกค้าคนหนึ่งจะเข้าพิธีแต่งงาน และมาตัดผมเสริมหล่อที่ร้านของเขาพร้อมเพื่อนเจ้าบ่าว ซึ่ง Perry Como ก็จะร้องเพลงรักขับกล่อมในขณะที่ให้บริการ จนเป็นที่ติดอกติดใจของเจ้าบ่าวและเพื่อน ๆ บอกต่อ ๆ กันออกไปจนเขากลายเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะช่างตัดผมสำหรับงานแต่งงาน มีว่าที่เจ้าบ่าวจองคิวตามมาใช้บริการมากมายทั้งในรัฐเพนซิลวาเนีย ลามไปจนถึงรัฐโอไฮโอ




ในปี ค.ศ. ๑๙๓๒ Perry Como ได้ย้ายเมือง ไปทำงานที่ร้านตัดผมของลุงที่ตั้งอยู่ในโรงแรมที่มักมีวงดนตรีแวะเวียนมาเล่นอยู่เป็นประจำ วันหนึ่ง…Perry Como ได้มีโอกาสขึ้นไปร้องเพลงบนเวทีกับวง Freddy Carlone and Ted Weems ซึ่งเจ้าของวง Freddy Carlone ถูกอกถูกใจ ถึงกับชวนเขามาร่วมงานด้วยในทันที ซึ่งเขาก็ตอบตกลงทั้ง ๆ ที่รายได้น้อยกว่ามากในตอนนั้น และนั่นคือก้าวแรกในการเป็นศิลปินของเขา







สามปีต่อมา…Perry Como ได้ย้ายไปสังกัดกับวงออเคสตร้าของ Ted Weems เปิดโอกาสให้เขาได้ร้องเพลงอัดแผ่นเสียงเป็นครั้งแรก ในปี ค.ศ. ๑๙๓๖ ก่อนที่ในภายหลังจะลาออกจากวง และมีแผนที่จะกลับมาเปิดบาร์เบอร์อีกครั้งในปี ค.ศ. ๑๙๔๒ แต่ก็ต้องล้มเลิกแผนไปเมื่อได้รับการชักชวนให้เป็นศิลปินภายใต้สังกัดการดูแลของ Tommy Rockwell ซึ่งสัญญาจะป้อนงานต่าง ๆให้เขาอย่างมากมาย







และ Rockwell ก็ทำได้ตามอย่างที่พูด Perry Como มีรายการวิทยุกับ CBS เป็นครั้งแรก และได้เซ็นสัญญากับบริษัทแผ่นเสียง RCA ซึ่งต่อเนื่องยาวนานในเวลาต่อมาถึง ๔๔ ปี รวมถึงการได้เซ็นสัญญากับบริษัทภาพยนตร์ 20th Century Fox เป็นเวลานานถึง ๗ ปี ในปี ค.ศ. ๑๙๔๓ และต่อมามีรายการโทรทัศน์เป็นของตัวเอง ในชื่อ The Perry Como Show ทางสถานีโทรทัศน์ NBC ที่ทำให้เขาได้รับรางวัล Emmys หรือ เอ็มมี่ ถึง ๕ ครั้ง ในช่วงปี ค.ศ. ๑๙๕๕ - ๑๙๕๙







และรายการโทรทัศน์นี้เอง ที่ทำให้ Perry Como โด่งดัง เป็นที่คลั่งไคล้ของสาว ๆ อเมริกันทั้งประเทศ ต่างยกให้เขาเป็น ‘สามีแห่งชาติ’ และในปี ค.ศ. ๑๙๕๘ ได้รับเสียงโหวตจากวัยรุ่นทั่วทั้งประเทศ ยกให้เป็นนักร้องชายยอดนิยม แซงหน้าซูเปอร์สตาร์อย่าง Elvis Presley ที่เคยครองตำแหน่งนี้มาแล้วก่อนหน้านี้ และประสบความสำเร็จความมีชื่อเสียงมาอย่างต่อเนื่องในยุค ๖๐ และ ๗๐




ในปี ค.ศ. ๑๙๘๒…Perry Como ได้รับการเชิญจากทำเนียบขาว ให้ไปเป็นแขกรับเชิญร้องเพลงในงานเลี้ยงสเตท ดินเนอร์ ต้อนรับประธานาธิบดีอิตาลี ร่วมกับศิลปินอีกท่านที่มีเชื้อสายอิตาเลียน นั่นคือ Frank Sinatra สร้างความประทับใจให้กับตัวท่านประธานาธิบดีอิตาลีมากมายถึงกับลุกขึ้นมาร่วมร้องเพลงด้วย







และอีกครั้งในปีถัดมา…ในงานเลี้ยงสเตท ดินเนอร์ ถวายการต้อนรับควีน เอลิซาเบธที่สอง ในแคลิฟอร์เนีย ซึ่ง Perry Como ได้รับเชิญให้มาร้องเพลงในงานนั้น เพราะเป็นพระราชประสงค์ของควีนเอลิซาเบธที่สองเอง







Perry Como จากไปในวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ค.ศ. ๒๐๐๑ ขณะมีอายุได้ ๘๘ ปี มาร่วมรำลึกถึงคุณลุงอีกครั้งด้วยเพลง For The Good Times เพลงนี้กลายเป็นเพลงรักเพลงฮิตติดอันดับสำหรับหนุ่ม ๆ สาว ๆ บ้านเราในยุคนั้น และกลายมาเป็น ‘เพลงฮิต…ตลอดกาล’ มาจนถึงทุกวันนี้






ผลผงานเพลงส่วนหนึ่งของลุงเพอร์รี ขอบคุณท่านเจ้าของภาพไว้ ณ ที่นี้ค่ะ















ข้อมูลจาก
wikipedia.org
เพจ Eat . Pray . Live





บีจีจาก wallcoo.com

Free TextEditor





 

Create Date : 29 พฤษภาคม 2566    
Last Update : 29 พฤษภาคม 2566 8:45:03 น.
Counter : 1213 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  

haiku
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 161 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add haiku's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.