happy memories
Group Blog
 
All blogs
 

เพลง "เดือนหงายที่ป่าซาง




รายการ "The Golden Song เวทีเพลงเพราะ" กลับมาอีกแล้วค่ะ ปีนี้เป็นปีที่ ๓ เริ่มออกอากาศได้พักใหญ่แล้ว อาทิตย์นี้ (๗ มี.ค.) แข่งรอบสาย C ปีนี้เชียร์หลายท่าน อย่างผู้ที่ผ่านเข้ารอบทั้ง ๔ ของอาทิตย์นี้ ร้องดีหมดทุกท่านเลย อีกท่านที่ชอบสุดมากกกคือ คุณหมอวิภู กำเนิดดี ท่านเป็นอาจารย์แพทย์แห่งภาควิชา เวชศาตร์ฟื้นฟู วิทยาลัยแพทย์พระมงกุฏฯ มียศเป็นนายพันเอกด้วย ตอนแรกก็คุ้นชื่อมาก ตอนหลังถึงได้รู้ว่าเป็นนักร้องยอดเยี่ยมของสยามกลการนี่เอง คุณหมอร้องเพลงได้เพราะจับจิต ใส่อารมณ์แบบจัดเต็มมาก เชียร์ให้ได้แชมป์ปีนี้ค่ะ

เคยอัพ บล็อก ชมรายการเวทีเพลงเพราะมาแล้ว หลังจากจบการประกวดปีที่สอง ช่องเวิร์คพอยท์ก็ทำรายการคล้ายกันออกมา ชื่อ "เพลงเอก Best Song Contest" ดูแล้วชอบแต่ไม่มากเท่าเวทีเพลงเพราะ แต่ที่ประทับใจมากไม่แพ้กันคือผู้ประกวด แต่ละท่านมีคุณภาพของเสียงร้องยอดเยี่ยม ออกเสียงอักขระชัดเจน มีหลายท่านที่ตกรอบไปอย่างน่าเสียดาย การประกวดจบไปแล้ว แต่ยังติดใจเสียงของผู้ประกวดอยู่ มีอยู่สองท่านที่ชอบและเชียร์สุด ๆ คือ คุณธัช กิตติธัช แก้วอุทัย แชมป์คนแรกของรายการ และ คุณแฟร้ง นิยม หนุ่มใหญ่ชาวสวนมะพร้าว ถึงอายุจะเยอะแล้วแต่กำลังเสียงสุดยอด ถ้าเสียงไม่เจ๋งจริงคงไม่กล้าเลือกเพลงของ คุณชรินทร์ นันทนาคร มาร้อง อย่างเพลง "ท่าฉลอม" “สุดฟากฟ้า" และที่ชอบมาก ๆ คือเพลง "เดือนหงายที่ป่าซาง" ที่เอามาอัพบล็อกนี้แหละค่ะ เนื้อร้องและทำนองอันไพเราะเพราะพริ้งเป็นผลงานของ ครูสนิท ศ. คุณแฟร้งร้องเพลงนี้ได้สุดยอด ถึงจะใช้พลังเสียงเยอะแต่ก็ร้องได้นิ่งและนุ่มนวลมาก เรียกว่าใกล้เคียงต้นฉบับเลยค่ะ แถมเป็นคนมีอารมณ์ขันอีกต่างหาก

เสียดายที่หาข้อมูลและประวัติของคุณแฟร้งไม่ค่อยได้ เนื้อหาในบล็อกนี้เลยนำเรื่องราวของ ครูสนิท ศ. มาอัพ และตบท้ายด้วยข้อมูลรายการเพลงเอก อยากคุยถึงรายการยาวหน่อย แต่ข้อมูลของครูสนิท ศ.ค่อนข้างเยอะ ขอยกยอดไปคราวหน้าละกัน

ต้องขอบคุณผู้ที่อยู่เบื้องหลังและเบื้องหน้าของทั้งสองรายการมาก ที่ร่วมด้วยช่วยกันทำให้เพลงลูกกรุงกลับมามีชีวิตชีวา และให้คนรุ่นใหม่ได้เสพความไพเราะของภาษาและท่วงทำนองเพลงที่ครูเพลงบรรจงร้อยเรียงออกมาด้วยหัวใจ และทำให้คนที่รักเพลงลูกกรุงอย่างเรามีความสุขทุกครั้งที่ได้ดูจริง ๆ ค่ะ

ยังไม่แน่ใจว่าบล็อกหน้าจะอัพได้เมื่อไหร่ เพราะต้องส่งคอมไปซ่อม ดีที่อาการไม่หนักเท่าไหร่ แต่ต้องรอน้องชายว่างก่อน อาจจะอัพบล็อกเพิ่มได้อีกสักบล็อก แต่ถ้าค้างบล็อกนี้ไว้นานก็ขออนุญาตลากิจไว้ล่วงหน้าเลยละกันค่า












เดือนหงายที่ป่าซาง
คำร้อง-ทำนอง สนิท.ศ


คืนใดเดือนหงาย คล้ายมนต์ต้องใจ
แลดูทางไหน ไร้ความรื่นรมย์
เหม่อมองสุดหมาย สายใจสุดสอย น้อยใจจำข่ม
ไม่อาจเสกสมในสิ่งหวังปอง


ดวงดาวพราวแสน แม้นลอยร่วงมา
ยังปองใจคว้า เดือนมาคู่ครอง
หากบุญไม่สม ขอชมอยู่พื้นดินยืนแลจ้อง
ส่งใจร่ำร้องทำนองเพลงวอน


*เดือน ขออย่าเลือนลับเลื่อนลา
ฉายส่องพา นิทรานอน
เพลงทิพย์บรรเลง ดับแรงร้อน
ฝันอาวรณ์ ใจผูกพัน


**เมืองแมนในฝัน นั้นคือป่าซาง
ยังคงอ้างว้าง ไร้นางแนบขวัญ
อยู่เดียวเปลี่ยวเหงา ขอเอาอกน้อย
ไว้คอยรักมั่น จวบนางในฝันนั้นมาพะนอ








"สนิท ศ. หรือ สนิท ศิริวิสูตร" เจ้าของตำนานรักเกี่ยวกับป่าซาง อาทิ ร่มฟ้าป่าซาง, เดือนหงายที่ป่าซาง, ป่าซางกลางใจ, แม่สาย, ไม่รักพี่แล้วจะรักใคร ฯลฯ เป็นครูเพลงชาวเชียงใหม่เหมือนกับ ครูพิมพ์ พวงนาค เกิดเมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๗ ที่ห้องแถวในตรอก “เล่งโจ๊ว” ใกล้ตลาดวโรรส อ.เมือง จังหวัดเชียงใหม่ครอบครัวขายเครื่องสังฆภัณฑ์ในตลาดวโรรส บิดาชื่อ ไฮซิ่ว มารดาชื่อ คำนวล เริ่มต้นการศึกษาที่โรงเรียนจีนฮั่วเอง และโรงเรียนคำเที่ยงอนุสรณ์ ไปศึกษาต่อชั้นประถมปีที่ ๔ และชั้นมัธยมปีที่ ๑ ที่โรงเรียนปริ๊นส์รอแยลส์ ถึงชั้นมัธยมปีที่ ๒ และเรียนจบชั้นมัธยมปีที่ ๖ ที่โรงเรียนยุพราชวิทยาลัยรุ่นโตโจ ได้รับการยกเว้นให้ผ่านชั้น ม.๖ โดยไม่ต้องสอบเพราะเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่สองพอดี







เดิมนั้นอยากเรียนที่ โรงเรียนเพาะช่าง แต่ขาดคนสนับสนุนจึงไปเป็นครูสอนหนังสือที่ โรงเรียนบูรณศิลป์ ที่เชียงใหม่ แล้วเข้าทำงานที่ ธนาคารออมสิน สาขาจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นโอกาสที่ได้เข้าสู่วงการเพลง เพราะธนาคารออมสินสาขานี้สนใจดนตรี ต่อมาได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้จัดการสาขาที่จังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นสาขาแห่งแรกในภาคเหนือ




เดิม สนิท ศ. สนใจอยากเรียนต่อเพราะช่างแต่ไม่ได้รับการสนับสนุน จึงหันไปเป็นครูที่รร.บูรณศิลป์ (รร.ราษฎร์) ที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของ จ.เชียงใหม่ สอนไม่นานก็ย้ายมาทำงานธนาคารออมสิน อยู่เรื่อยมาจนได้เป็นผู้จัดการ ประจำที่จ.ลำพูนซึ่งเป็นสาขาแรกที่เปิดในจ.ภาคเหนือ ต่อมาลาออกมาทำงานโรงพิมพ์พุทธนิคม เชียงใหม่ในตำแหน่งผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสารชาวพุทธ สนิท ศ. รักงานหนังสือพิมพ์มาก เป็นนักข่าวผู้ช่วยบรรณาธิการหนังสือพิมพ์อีกหลายฉบับ รวมทั้งหนังสือพิมพ์ชาวเหนือที่มี "สงัด บรรจงศิลป์" นักหนังสือพิมพ์ชื่อดังคนหนึ่งในยุคนั้นเป็นบรรณาธิการด้วย เคยเป็นผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย และสยามนิกร ประจำจังหวัดเชียงใหม่ และเป็นบรรณาธิการนิตยสารนิรามัยและเสียงเวฬุวัน และธรรมมาธิตสาร หนังสือพิมพ์ไทยเดิมรายวันข่าวเหนือ ที่มีสงัด บรรจงศิลป์ เป็นบก. เป็นต้น




ปี พ.ศ. ๒๕๐๓ กลับเข้าไปทำงานที่ธนาคารออมสินอีกครั้ง และได้แต่งเพลงให้กับวงดนตรีธนาคารออมสินที่มี "ครูสมาน กาญจนะผลิน” เป็นหัวหน้าวง และ "เล็ก ชะอุ่มงาม" เป็นผู้อำนวยการเพลง




สำหรับทางด้านดนตรีนั้น ชอบร้องเพลงมาตั้งแต่เด็ก ตามประวัติเล่าว่า เคยหนีห้องเรียนวิชาลูกคิดซึ่งเป็นวิชาเกี่ยวกับการค้า  และแอบไปดูนักเรียนชั้นสูงกว่าเรียนวิชาดนตรี และมักแอบเข้าไปเล่นออร์แกนในห้องประชุมของโรงเรียน เริ่มแต่งบทกวีขณะเรียนมัธยมปีที่ ๓ ที่โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ฝึกแต่งเพลงขณะเรียนมัธยมศึกษาปีที่ ๔ เพลงแรกชื่อ “ฟ้าจันทร์ฉันเธอ” เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๓ แต่งเพลงไว้ทั้งหมด ๖๒๗ เพลง ด้วยเป็นชาวเชียงใหม่เพลงในห้วงคำนึงของ สนิท ศ. จะมีจังหวะเพลงพื้นเมืองที่สะท้อนมาในผลงานที่มอบให้ ทัศนัย ชะอุ่มงาม ขับร้อง คือ “เพลงริมฝั่งปิง” และ “เพลงห้วยฝายหิน”




เพลงของ ครูสนิท ศ. ที่โด่งดังและมีชื่อเสียงมากมี ๒ เพลงคือ “เพลงวังบัวบาน” ขับร้องโดย มัณฑนา โมรากุล เมื่อแต่งเสร็จแล้วก็ส่งให้ พจน์ จารุวณิช หัวหน้าคณะจารุกนก เพื่อใช้ประกอบละครวิทยุ คุณพจน์ เห็นว่าเหมาะกับ มัณฑนา โมรากุล ขับร้อง ก็นำออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียง และต่อมาได้บันทึกแผ่นเสียง จนถึงปัจจุบันมีผู้นำมาร้องหลายคน อีกเพลงคือ "ใครจะรักเธอเท่าฉัน" ขับร้องโดย วินัย จุลละบุษปะ ซึ่งส่วนใหญ่ เป็นเพลงในละครวิทยุคณะจารุกนกของ "ครูพจน์ จารุวณิช"







สนิท ศ. มีความปราณีตอย่างยิ่ง เมื่อสมัยเป็นนักเรียนชั้นมัธยมปีที่ ๓ โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ นิยมกวีนิพนธ์ของ สุนทรภู่ และ ศรีปราชญ์ เป็นอย่างมาก แสดงให้เห็นถึงความปราณีต ความลึกซึ้ง ดื่มด่ำในรจนาโวหาร และเรื่องราวตลอดคติธรรมต่าง ๆ เป็นที่ประจักษ์แก่ผู้ที่ติดตามผลงานประพันธ์เพลง




“ทุกครั้งที่แต่งเพลง มีความปรารถนาให้ทุกคนเห็นภาพที่ปรากฎอยู่ในฉาก ตามสภาพความเป็นจริงที่ผมมองเห็น อยากให้ผู้ฟังได้ชื่นชอบและเหตุการณ์เรื่องราวที่ผมพรรณนา อยากให้ผู้ฟังมีมโนธรรมที่สูงส่งตามมโนธรรมที่ผมได้แทรกไว้ อยากให้ผู้ฟังได้รับรสดื่มด่ำท่วงทำนองที่ผมเรียบเรียงจากรสนิยม จากความรู้สึกต่าง ๆ ที่ผมเจาะจงใส่ไว้ในบทเพลง”




จากข้อความที่ สนิท ศ. ได้เขียนไว้ แสดงให้เห็นว่าเพลงวังบัวบานนั้นได้ถ่ายทอดสิ่งที่งดงามจากมหาเวสสันดรชาดก ปรับออกมาเป็นบทร้องเพลงไทยสากล บรรยายให้เห็นภาพของบัวบาน นางเอกของเรื่องที่กระโดดน้ำตาย เพราะพลาดรักจากชายที่ตนรัก

ในด้านของความรัก ผู้ประพันธ์เพลงส่วนใหญ่มักจะประพันธ์เพลงอะไรบางอย่างที่เกี่ยวกับผู้หญิงที่ตนรัก สนิท ศ. เล่าว่า เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ได้พบผู้หญิงที่รัก และในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ก็ได้สลัดรักไป จากนั้น ๑ ปี ก็ได้แต่งเพลงเพื่อระรึกถึงเธอ คือ “เพลงอันเป็นที่รักแห่งดวงใจ” ขับร้องโดย ทัศนัย ชะอุ่มงาม




ในปี พ.ศ. ๒๔๙๑ ได้พบกับละครของประเทศเวียดนามที่มาตระเวนแสดงในจังหวัดเชียงใหม่ ก็ได้แต่งเพลงขึ้นทั้งบทร้องและทำนองให้กับคณะละคร ทั้งหมด ๒๔ เพลง และมีความรักกับดาราละครคนหนึ่ง และเมื่อจะจากกัน ก็ได้ประพันธ์คำร้องและทำนอง “เพลงม่านชีวิต” ขับร้องโดย ทัศนัย ชะอุ่มงาม เพื่อปลอบประโลมใจดาราละครคนนั้น และปลอบใจตัวเองที่ต้องแยกจากกัน เหมือนมีบ้านแล้วมีม่านบังชีวิตอยู่ และจะคอยจนกว่าท้องฟ้าจะแจ่มใส เมื่อเมฆม่านกระจายไปแล้วเผื่อจะได้พบกันอีกครั้ง แต่ก็ไม่ได้บอกว่าจะได้พบกันอีกหรือไม่

“เพลงห่วงอาวรณ์” ขับร้องโดย ทัศนัย ชะอุ่มงาม ประพันธ์คำร้องและทำนองโดย สนิท ศ. แต่งให้กับเพื่อนที่เป็นทหารออกจากค่ายกาวิละ จังหวัดเชียงใหม่ ไปรับราชการที่อื่น







นักประพันธ์เพลงจะนำปรัชญาชีวิตมาเขียนเป็นผลงาน เช่นเดียวกับ สนิท ศ. ที่ได้นำปรัชญาชีวิต เกิด แก่ เจ็บ ตาย ร้าย ดี ซึ่งแรงบันดาลใจนี้เกิดขึ้นจากคณะละครชาวเวียดนามเดินทางไปถึงจังหวัดพิจิตร และเกิดอุบัติเหตุเรือล่ม สูญเสียทรัพย์สิน และชีวิตนางเอกละคร และชาวคณะอีกหลายคน ทำให้ สนิท ศ. รู้สึกสะเทือนใจกับบรรดาเพื่อนศิลปินที่จากไป จึงได้แต่งเพลงชื่อ “เพลงโชคมนุษย์” ขับร้องโดย ทัศนัย ชะอุ่มงาม







“เพลงยอดสน” ขับร้องโดย มัณฑนา โมรากุล ประพันธ์คำร้องและทำนองโดย สนิท ศ. “เพลงยอดสน” ในจังหวะสโลว์ ฟอกซ์ทรอท (Slow Foxtrot) เมื่อส่งมาจากเชียงใหม่ พจน์ จารุวณิช ก็บันทึกเสียง โดยให้ มัณฑนา โมรากุล เป็นผู้ขับร้อง ธงชัย ฉัตรานนท์ ผู้อนุรักษ์เพลงยอดสน บันทึกไว้ว่า สนิท ศ. เป็นนักประพันธ์เพลงชาวเชียงใหม่ ส่งเพลงมาให้ พจน์ จารุวณิช หัวหน้าคณะจารุกนก เพื่อให้ มัณฑนา โมรากุล ร้องอัดเสียง หลังออกอากาศก็ได้รับความนิยมในเวลารวดเร็ว ต่อมามีผู้นำเพลงนี้มาร้องใหม่ เปลี่ยนจังหวะไป ทำให้ท่วงทำนองไม่น่าฟังอย่างเดิม




“เพลงดอกบัว” ขับร้องโดย ทัศนัย ชะอุ่มงาม ในสมัยจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม พ.ศ. ๒๔๙๑ นิยมเรียกผู้หญิงว่า ดอกไม้ของชาติ และดอกบัวถือเป็นดอกไม้ประจำชาติ ผู้หญิงจึงควรจะงามเหมือนดอกบัว สนิท ศ. จึงได้แต่งเพลงดอกบัวขึ้นมา นำไปขับร้องประกวดถ้วยทองคำของ จอมพล ป. พิบูลย์สงคราม ได้รับรางวัลชนะเลิศฝ่ายหญิง เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๒ ซึ่งเป็นเพลงที่สร้างชื่อเสียงอย่างมากให้กับ ทัศนัย ชะอุ่มงาม







นอกจากจะเป็นผู้ผลักดันและสร้างชื่อเสียงให้กับ มัณฑนา โมรากุล, วรนุช อารีย์ และศรีสุดา รัชตะวรรณ แล้ว ละครคณะจารุกนก ของ พจน์ จารุวณิช ยังมีความสนิทสนมคุ้นเคยกับนักร้องนักดนตรีของกรมโฆษณาการทุกคน โดยเฉพาะ "ครูเอื้อ สุนทรสนาน" หัวหน้าวงของวงดนตรีกรมโฆษณาการ หรือวงดนตรีสุนทราภรณ์ ในฐานะเพื่อนนักเรียนเก่าที่โรงเรียนวัดระฆังโฆสิตาราม และได้ร่วมกันทำงานละครและเพลงอย่างใกล้ชิด เพลงที่คณะจารุกนกแต่งไว้บางเพลงนั้น วงดนตรีสุนทราภรณ์ นำเอามาเล่นจนคนฟังแยกไม่ออก ว่าเป็นเพลงของใคร เช่นเพลง หนึ่งน้องนางเดียว เป็นต้น




ครูสนิท ศ. ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๘ ครูเอื้อ สุนทรสนาน เขียนไว้ในหนังสือ ในงานฌาปนกิจศพ นายพจน์ จารุวณิช เมื่อเดือน กุมภาพันธ์ ๒๕๐๙ ว่า

“...ข้าพเจ้ากับคุณพจน์ เคยเรียนร่วมกันมาตั้งแต่ชั้น ป.๑ จนกระทั่งต่างก็จบจากโรงเรียนวัดระฆังโฆสิตต่อมาได้ร่วมงานทางด้านละครเพลง จนคณะละครของคุณพจน์สลายตัวไป คุณพจน์ เป็นผู้ที่ใฝ่ใจรักในการเขียนเพลงอย่างดี และเขียนได้ดีจริง ๆ และได้เคยเขียนร่วมกันมา ซึ่งข้าพเจ้ายังนับถืออยู่ทุกวันนี้...”

ทุกวันนี้วงดนตรีจารุกนก ยังคงมีผลงานการการบรรเลงอย่างต่อเนื่อง ทุกวันเสาร์สัปดาห์ที่สองของเดือน ที่ห้องสมุดดนตรีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ในบริเวณหอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี โดยมี "ครูจรี บุลประเสริฐ" เป็นหัวหน้าควบคุมวงและมี "คุณโศภดาต์ เกตุผึ้ง" เป็นผู้จัดการวง (ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๘) ซึ่งเป็นการแสดงที่เปิดให้ชมฟรี















รายการประกวดเพลงลูกกรุง “เพลงเอก” Best Song Contest ฉายทางช่องเวิร์คพอยท์ (๒๓) ในวันเสาร์ เวลาหลังข่าวภาคค่ำ คณะกรรมการมี ๔ ท่านคือ ก้อง สหรัถ สังคปรีชา, แหม่ม พัชริดา วัฒนา, รัดเกล้า อามระดิษ และ โต๋ ศักดิ์สิทธิ์ เวชสุภาพร ได้พิธีกรมากความสามารถอย่าง “ซี ศิวัฒน์” มาร่วมสร้างสีสันในรายการ




กติกาการแข่งขันแบ่งเป็น ๔ รอบ คือ รอบเปิดม่าน, รอบออร์เครสตรา, รอบสำแดงโชว์, และรอบชิงชนะเลิศ ในรอบเปิดม่าน ผู้เข้าประกวดจะยืนขับร้องเพลงที่เตรียมมาข้างหลังม่าน ขณะที่ร้องอยู่ ม่านจะค่อย ๆ เลื่อนลงมา ถ้าม่านหยุดถึงพื้นคือหมดเวลาร้อง วงจะหยุดบรรเลง และตกรอบ แต่ถ้ากรรมการท่านใดท่านหนึ่ง หรือทั้งสามท่าน กดปุ่มเปิดม่านที่อยู่ตรงหน้ากรรมการ ม่านจะเปิดขึ้นทันที และมีโอกาสได้ร้องเพลงต่อจนจบเพลง และเมื่อร้องจบ กรรมการจะลงมติตัดสิน ผู้ที่ได้ ๓ ผ่าน จะได้เข้ารอบต่อไป




รายการจบไปแล้ว การแข่งขันรอบชิงชนะเลิศออกอากาศเมื่อวันเสาร์ที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ การแข่งขันรอบนี้มีผู้เข้ารอบชิงชนะเลิศทั้งหมด ๕ คน เป็นการแข่งขันร้องเพลงลูกกรุง สุนทราภรณ์ และบทเพลงอมตะ ในชื่อธีม “บ้านเรา” แชมป์คนแรกคือ กิตติธัช แก้วอุทัย (ธัช) ศิษย์เก่าหลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต โดย ธัช ขับร้องเพลง “พรานทะเล” และ “วอลซ์นาวี” จนประสบความสำเร็จสามารถพิชิตใจกรรมการทั้ง ๔ ท่าน ได้เป็นแชมป์คนแรกของรายการ





 


คลิกอ่านข้อมูลและชมคลิปรายการได้ที่นี่ค่ะ
เพจเพลงเอก
youtube.com


ข้อมูลจาก
dusit.ac.th
mgronline.com
workpoint.co.th
komchadluek.net
sirindhornmusiclibrary.li.mahidol.ac.th






บีจีจากเวบ wallcoo กรอบจากคุณ ebaemi ไลน์จากคุณญามี่

Free TextEditor




 

Create Date : 07 มีนาคม 2564    
Last Update : 23 มีนาคม 2567 15:48:02 น.
Counter : 4749 Pageviews.  

เพลง "จะคอยขวัญใจ"




เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๒ พ.ย. ที่ผ่านมาดูรายการ "คุณพระช่วย" ช่วง "ศิลปะแผ่นดิน ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๒" สัมภาษณ์ครูเพลง ครูเนรัญชรา ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ผู้ประพันธ์เพลงไทยสากล) ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๒ ท่านประพันธ์เพลงลูกกรุงที่เราชอบมาก ๆ ไว้หลายเพลง เช่น หยาดน้ำฝนหยดน้ำตา, เขตฟ้าเขตฝัน, ดอกฟ้าผกาดิน, เศรษฐีน้ำตา, หนี้เสน่หา (คลิกที่ชื่อเพลงตามไปฟังในยูทูบได้เลยจ้า) และ จะคอยขวัญใจ ที่อัพให้ฟังในบล็อกนี้ ไม่ได้ฟังเพลงนี้มานาน พอได้ยินในรายการและเป็นเวอร์ชั่นต้นฉบับด้วย เลยรู้สึกว่าเพราะเป็นพิเศษ (เล่นเอาฮัมเพลงนี้ทั้งวัน ตอนอัพบล็อกก็ยังร้องเพลงคลอไปด้วย ) แถมได้ฟังสัมภาษณ์ครูเนรัญชราด้วย ท่านอายุเกือบเก้าสิบแล้ว แต่ดูอ่อนกว่าวัยและความจำก็ยังดีมาก ถอดบทสัมภาษณ์มาลงบล็อกเก็บไว้ แถมด้วยบทความที่เขียนถึงครูอีกสองสามเวบ ไม่มีเวลาตัดแต่งย่อยความไม่ให้ยาวเกิน หอบมาให้อ่านแบบยาวโลดดด

อากาศช่วงนี้เย็นลง แต่ไม่กี่วันก็น่าจะร้อนขึ้น โควิดก็ดูท่าจะมารอบสอง แถมฝุ่นพีเอ็มสองจุดห้าก็ตามมาสมทบอีก เพื่อน ๆ ดูแลสุขภาพให้ดีและอย่าลืมล้างมือ กินร้อน ช้อนเรา และใส่หน้ากากเวลาออกนอกบ้านด้วยนะคะ








"จะคอยขวัญใจ"
คำร้อง-ทำนอง เนรัญชรา


จะคอย จะคอย จะคอย จะคอยขวัญใจ
จะช้าอย่างใดจะนานเท่าไรไม่หวั่น
จะปวดใจร้าวโศกศัลย์
จะเจ็บใจช้ำจาบัลย์พลีแล้วชีวันจะคอย

จะทน จะทน จะทน จะทนเพื่อเธอ
จะรักเสมอจะรักแต่เธอฝังรอย
เฝ้าครวญเฝ้าคิดเฝ้าคอย
เฝ้าครวญกับสายลมลอยว่าฉันยังคอยห่วงใย

เธอจ๋าเธอลืมสิ้นถึงถิ่นเคยเยือน
ลืมรักลืมเลือนห่างหาย
ก่อนนี้เคยเคียงร่วมเรียงร่วมใจ
หรือมีรักใหม่จึงได้ลืมฉัน

ไม่ลืม ไม่ลืม ไม่ลืม ไม่ลืมรักเธอ
ยังรักเสมอยังรักแต่เธอคงมั่น
ความรักความหลังผูกพัน
จะคอยตราบสูญชีวันชั่วนิจนิรันดร์จะคอย












รายการคุณพระช่วย ช่วง "ศิลปะแผ่นดิน ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๒"
ออกอากาศวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๓


บทเพลงที่คุณผู้ชมได้ฟังไปเป็นบทเพลงขับร้องโดยศิลปินผู้มีชื่อเสียงของประเทศ เป็นผลงานการประพันธ์จากนักแต่งเพลงชั้นครู วันนี้รายการคุณพระช่วยจะพาคุณผู้ชมไปทำความรู้จักกับอีกหนึ่งศิลปะแผ่นดินที่ชะโลมจิตใจผู้คน คอยปลอบประโลมความรู้สึกด้วยบทเพลงอันไพเราะและทรงคุณค่ากับศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ผู้ประพันธ์เพลงไทยสากล) พ.ศ. ๒๕๖๒ กับ อาจารย์สติ สติฐิต กับตอนที่ชื่อว่า “เนรัญชรา จากปลายปากกาสู่เพลงลูกกรุง”




อาจารย์สติ สติฐิต ใช้ชื่อในนามผู้ประพันธ์เพลงว่า “เนรัญชรา” ได้เรียนรู้การเขียนโน๊ตเพลงกับนักดนตรีจากครูในกองดุริยางค์ทหารอากาศ โดยเพลงแรกที่ประพันธ์คือ “จะคอยขวัญใจ” โดยใช้ถ้อยคำและทำนองที่ง่าย ๆ ขับร้องโดย สุเทพ วงศ์กำแหง นักร้องผู้มีชื่อเสียงในวงดุริยางค์ทหารอากาศในขณะนั้น นอกจากนั้น ยังประพันธ์เพลงให้กับนักร้องคนอื่น ๆ ขับร้องจนมีชื่อเสียงอีกมากมายหลายคน อาทิ นิทัศน์ ละอองศรี, สวลี ผกาพันธุ์, จินตนา สุขสถิตย์, มนูญ เทพประทาน, ธานินทร์ อินทรเทพ, รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส และอีกมากมายหลายท่าน ซึ่งท่านที่กล่าวมานั้นได้ขับร้องจนได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจนถึงปัจจุบัน




อาจารย์สติ สติฐิต หรือในนาม “เนรัญชรา” เป็นผู้มีความสามารถและเชี่ยวชาญด้านการประพันธ์เพลงไทยสากล ทั้งคำร้องและทำนอง การใช้ถ้อยคำในแต่ละเพลงบ่งบอกถึงความรู้ความสามารถในการใช้ภาษาที่สละสลวย งดงาม ทันสมัย และทำนองเพลงก็มีความไพเราะเป็นอย่างมาก เช่นเพลง “หนี้เสน่หา” “เศรษฐีนำ้ตา” “บ้านของเรา” “ฤทธิ์กามเทพ” “ดอกฟ้าผกาดิน” รวมถึงเพลง “หยาดน้ำฝนหยดน้ำตา” ที่ได้รับรางวัลเสาอากาศทองคำ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๒๑ จากเพลง “หยาดน้ำฝนหยดน้ำตา” จากชุด ราคาแห่งความคิดถึง และรางวัลอื่น ๆ อีกมากมาย ปัจจุบัน เนรัญชรา มีผลงานประพันธ์เพลงมากกว่า ๑,๐๐๐ เพลง ซึ่งได้รับการบันทึกเสียงโดยนักร้องหลายคนที่มีชื่อเสียงโด่งดังจนถึงปัจจุบัน




พิธีกร (อาร์ม กรกันต์) “สวัสดีครับอาจารย์ อยากจะทราบจุดเริ่มต้นของการเป็นนักแต่งเพลงหรือผู้ประพันธ์เพลงของอาจารย์ครับ”

อ.สติ “ผมทำงานเป็นทหารอากาศเมื่อปี ๒๔๙๔ พอ ๒๕๐๐ ผมก็ต้องออกมา ไม่มีงานทำผมก็อยากเป็นนักร้อง ก็ไปร้องเพลงสลับฉากละครคณะศิวารมณ์ยุคสุดท้าย เมื่อปี ๒๕๐๐ ก่อนที่จะเลิกกิจการไป ร้องอยู่เดือนกว่า ๆ จากนั้นก็ไม่มีงานอีก ผมก็ไปหา ครูสง่า อารัมภีร ครูสง่าบอกว่าไปร้องกับทหารเรือดีไหม ผมเป็นทหารอากาศนะ ออกจากทหารอากาศเลย เพื่อไปเป็นทหารเรือสักพัก เพื่อไปร้องเพลงทหารเรือ วงครูพยงค์ มุกดา ร้องประมาณเกือบจะต้นปี ๒๕๐๑ ปรากฏว่าผมเบื่อ ผมก็หันมาแต่งเพลง ตอนนั้นก็เอาเพลงเก่าชื่อเพลง “จะคอยขวัญใจ” ซึ่งแต่งเรียบร้อยแล้วแต่ว่าเราไม่มีความรู้เรื่องโน๊ตเพลง ตอนนั้นไม่ได้เรียน เลยให้ ครูทีฆา โพธิเวส ไปจดโน๊ต พอจดโน๊ตเสร็จ ครูทีฆาบอกว่า เฮ้ย ดีนี่หว่า เดี๋ยวให้เทพร้อง ผมยังไม่ทราบว่าเป็นใคร ผมก็ถามว่า เทพไหน? อ้าว! จะมีเทพไหน ก็สุเทพ วงศ์กำแหง เขาก็เอาไปร้องในรายการเปิดสถานีกองทัพบกสนามเป้า ถือว่าเป็นนักแต่งเพลงแล้ว แต่ยังไม่ใช่นักแต่งเพลงอาชีพ”




อาร์ม “นี่เป็นจุดเริ่มต้น แล้วที่มาของนามปากกา “เนรัญชรา” ครับครู”

อจ.สติ “ทีแรกผมใช้ชื่อจริง สติ สติฐิต โฆษกเขาไปประกาศ ตอนนั้นมีโฆษกทหารอากาศคนหนึ่ง ชื่อ ประเดิม เขมะศรีสุวรรณ ชื่อผมมันซ้ำกัน สติ แล้วต่อนามสกุล สติฐิต ก็เลยบอกว่า คุณเปลี่ยนชื่อไ้ด้ไหม ผมประกาศชื่อคนอื่น อย่าง ครูป. ชื่นประโยชน์, ครูมงคล อมาตยกุล, ครูไสล ไกรเลิศ, ครูสง่า อารัมภีร เวลาประกาศได้คล่อง แต่ว่าออกเสียง สติ สติฐิต รู้สึกเขาจะเขิน ๆ ไปพบคำหนึ่ง เป็นชื่อแม่น้ำในอินเดีย เนรัญชระ...เนรัญชร”







อาร์ม “เป็นชื่อแม่น้ำในอินเดีย”

อ.สติ “ผมก็เลยใช้ชื่อแม่น้ำ มันเหมือนสายน้ำ ใช้เนรัญชรา โอ้ย เขาดีใจใหญ่ ดี ๆ อ่านง่าย เนรัญชรา(หัวเราะ)”

อาร์ม “พออาจาร์ยเริ่มเป็นที่รู้จักแล้ว แน่นอนก็ต้องมีงานให้ประพันธ์เพลงเข้ามาหลายบทเพลงเลย อยากทราบวิธีการแต่งเพลงของอาจารย์ จุดเริ่มต้น แนวคิด หรือแรงบันดาลใจอะไรที่ทำให้อาจารย์แต่งเพลงได้ไพเราะขนาดนี้ครับ”

อ.สติ “มันเกิดขึ้นมาเอง มันอยู่ในความรู้สึกของเรา ทุกคนมีทั้งนั้นแหละ มันไปสะดุดตอนไหนเราก็เขียนตอนนั้นขึ้นมา ถ้ามันไม่สะดุดก็เป็นเพลงหวาน ๆ มีความสุข แต่ถ้าเกิดมันสะดุด รู้สึกสะดุดว่ามันค่อนข้างเศร้า มันก็ออกมาทำนองนั้น เราจะต้องตั้งทำนองให้สวยไว้ก่อน”

อาร์ม “เริ่มจากทำนองก่อนหรือครับ”

อ.สติ “ต้องตั้งให้สวย โครงสร้างน่ะ ส่วนเนื้อร้อง ต้องให้รู้ว่าเราจะเริ่มจากจุดไหน วลีไหน เราต้องหาคำที่สะกิดความรู้สึกให้ได้ ตอนสุดท้าย ตอนจบเนี่ยมันเหมือนเรื่องสั้น เราต้องจบให้มันมีความรู้สึกว่าจบไปแล้วคนก็สะกิด อยากจะฟังอีก มีอยู่เพลงนึง ตอนนั้นผมไปบ้านครูสุเทพ อยู่ในซอยจันทรโรจน์วงศ์ แล้วมีอยู่ตอนนึง มันเกิดขึ้นมาเอง ไม่ได้วางโครงสร้างจะเขียนขึ้นมาเลย ผมก็แต่งไป มันออกมาเสร็จได้ในเวลา ๓-๔ นาที ไม่ถึง ๑๐ นาทีนะ”




อาร์ม “โอ้โห นี่แทบจะเท่ากับเวลาเพลงจริง ๆ เลยนะครับ”

อ.สติ “ใช่ ทั้งทำนองทั้งเนื้อร้องเลยนะ ออกมาพร้อมกันเลย เพลงนั้นชื่อ “หนี้เสน่หา” เป็นเพลงเดียวที่ผมรู้สึกเหมือนพระเจ้าจับมือเขียน มันประหลาดมากทีเดียว” แล้วครูก็ร้องเพลงออกมา...หากลูกเป็นนกก็คงปีกหัก ต้องการพักรักษาแผลใจ...ผมก็จดเลยนะ จดแทบไม่ทัน ต้องจดโน๊ต เอาแต่หัวโน๊ตไว้ หางโน๊ตยังไม่ได้ กลัวลืม จด จด จด แล้ว...

อาร์ม “อาจารย์ได้เล่าถึงการเป็นนักร้องลูกกรุงในยุคนั้นกับบทบาทของนักแต่งเพลง สองบทบาทนี้เกี่ยวข้องอะไรยังไงครับ?”

อ.สติ “นักร้องในยุคนั้นเรารู้สึกว่าฟังเสียงแต่ละท่านไม่เหมือนกัน เสียงของครูสุเทพ ก็แบบหนึ่ง ครูธานินทร์ก็อีกแบบหนึ่ง เราก็แค่ฟังว่าเพราะทั้งสองคน เพราะคนละอย่าง คราวนี้ว่าบริษัทให้เราแต่งเพลง ตอนนั้นนึกไม่ออกว่าจะแต่งอะไร แต่ว่ามันเป็นอาชีพ ไม่แต่งก็ไม่มีเงินซื้อข้าวกิน ไปนั่งนึกว่าจะแต่งอะไร ก็เอาระดับเสียงของนักร้องแต่ละท่านมานั่งนึกดูว่าจะเหมาะกับคนนั้นคนนี้ยังไง บางคนเสียงสูงสวย บางคนเสียงกลาง”




อาร์ม “แปลว่าการแต่งเพลงให้นักร้องลูกกรุงแต่ละท่าน ดูตามบุคลิกเสียงของนักร้องด้วย”

ครูธานินทร์ “คือสมัยก่อนนักแต่งเพลงสักคนจะแต่งเพลงให้นักร้องคนใดคนหนึ่งร้อง เขาจะดูน้ำเสียงก่อนว่าเพลงที่แต่งจะเหมาะกับนักร้องคนไหน คือพี่ติ เนรัญชรา ไม่ได้แต่งเพลงให้ผมคนเดียวหรือพี่เทพคนเดียว มีทั้งพี่รี่ (สวลี ผกาพันธุ์) คุณชรินทร์ สมัยก่อนจะร้องเพลงของเนรัญชราเยอะมาก คือเอกลักษณ์ของพี่ติ เนรัญชรา ทุกถ้อยวลีมีสัมผัสนอก สัมผัสใน เนื้อร้องทำนองจะคล้องจองกัน ความหมายก็ดีมาก อย่างเพลงพี่ติที่พี่เทพเคยร้องไว้แล้วผมนำมาร้องใหม่ก็มีหลายเพลง อย่างเพลง “ลาทีความระทม” ถ้อยหคำสวยมาก...ฉันทนเจ็บช้ำระกำอกร้าวเมื่อคราวสูญสิ้น เฝ้ากินน้ำตาขมขื่น ฉันทนปวดใจทนทุกวันคืน สบหน้าสะอื้น กล้ำกลืนแต่ความทุกข์ระทม... คือพี่ติได้เปรียบนักแต่งเพลงคนอื่นที่เป็นโน๊ต แกจะเขียนเมโลดี้ก่อน ก่อนที่จะมาแต่งเนื้อ คำมันถึงไปกันได้หมดเลย”

อาร์ม “อาจาร์ยอยากจะฝากอะไรถึงนักแต่งเพลงยุคปัจจุบันบ้างไหมครับ”

อ.สติ “ต้องซื่อสัตย์ต่ออาชีพนี้ บางคนไปลอกเขามาแล้วก็อ้างว่าเป็นของตัวเอง มันเป็นบาป”




อาร์ม “คือต้องซื่อสัตย์ในอาชีพ”

อ.สติ “ใช่ ซื่อสัตย์ในอาชีพ แล้วในสมัยนี้ความไพเราะมันก็อีกแบบหนึ่ง หนักไปทางด้านจังหวะก็สนุกสนาน แล้วก็มีเพลงช้าน้อยมาก แต่ยังไงก็อย่าให้มีคำหยาบโลน หยาบกระด้าง ให้ใช้คำสุภาพ ใช้ภาษาสวย ๆ ให้มันจบแบบมีความหมาย”

และนี่คือเรื่องราวของ ครูเนรัญชรา หรือ อาจารย์สติ สติฐิต ผู้ประพันธ์บทเพลงลูกกรุงอันไพเราะมากกว่า ๑,๐๐๐ บทเพลง มอบให้คนจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบันนี้ ชะโลมจิตใจของคนได้มากมาย พูดไ้ด้เต็มปากว่าเป็นเพชรอีกหนึ่งเม็ดที่งดงามในวงการเพลงลูกกรุงไทย ต้องขอบคุณศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ผู้ประพันธ์เพลงไทยสากล) ปี ๒๕๖๒ อาจารย์สติ สติฐิต ครับ และต้องขอบคุณผู้ร่วมส่งเสริมศิลปะแผ่นดินเชิดชูศิลปินแห่งชาติ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม และกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม”


ข้อมูลจากรายการ "คุณพระช่วย















บทเพลงแห่งชีวิตของ "สุเทพ วงศ์กำแหง" (ตอนหนึ่ง)
สัมภาษณ์โดย... ประภัสสร เสวิกุล


รายการวงวรรณกรรมในวันนี้ได้รับเกียรติอย่างสูงจากศิลปินแห่งชาติ ซึ่งอยู่คู่กับวงการบันเทิงมาเนิ่นนาน คือ คุณสุเทพ วงศ์กำแหง พี่เทพร้องเพลงไว้อย่างมากมาย สักประมาณเท่าไหร่ครับ

สุเทพ เกือบ ๕,๐๐๐ เพลง กำลังรวบรวมหลักฐานอยู่

คงต้องมีการบันทึกไว้ในกินเนสส์บุคส์แล้วมังครับ มาถึงเรื่องงาน "คอนเสิร์ตแห่งชีวิตกับ สุเทพ วงศ์กำแหง" อยากจะเรียนถามถึงที่มาของงานนี้

สุเทพ ความจริงแล้วจะต้องทำคอนเสิร์ตทุกปีอยู่แล้ว ทีนี้เมื่อปีที่แล้วไม่ได้ทำ ก็เลยเลื่อนมาปีนี้ พอถึงปีนี้ ก็คิดได้ว่าเราเริ่มร้องเพลงมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ นี่ก็ปี พ.ศ. ๒๕๔๕ แล้วมันก็ครบ ๕๐ ปีแล้ว ก็มาคิดว่างานที่จะทำควรจะเป็นอะไร ก็มาคิดว่าครั้งหนึ่งเคยไปประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๐ แล้วกลับมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๓ และก็มีเพลง ๆ หนึ่งที่ทำให้เกิดมีชื่อเสียงขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งก็คือเพลง "จะคอยขวัญใจ" ซึ่งเป็นเพลงของครู "เนรัญชรา" ซึ่งมีชื่อจริงว่า สติ สติฐิต เขาแต่งเพลงนี้ให้ร้องก่อนไปญี่ปุ่น พี่ก็ร้องให้ทางทีวีช่อง ๕ ตอนนั้นเป็นช่อง ๗ ขาว-ดำ จำได้ว่านอนร้องอยู่บนแคร่ไม้ไผ่ ร้องจบแล้วก็ไปญี่ปุ่นก็นึกไม่ถึงว่ากลับมาแล้วจะต้องมาร้องเพลงนี้ ก็มีคนมากระซิบบอกว่า เทพไปญี่ปุ่น มีคน ๆ หนึ่งเขาแต่งเพลงไว้ให้ร้อง แต่ยังไม่ได้ร้องให้เขาเลย ร้องแค่ออกทีวีให้เขาครั้งเดียว ตอนนี้เขาคอยอยู่ ก็ทำให้นึกภาพออกว่าเป็นเพลงนี้ จึงได้ตั้งใจร้องอย่างดี เพราะอย่างน้อยก็เห็นคุณค่าแห่งการรอยคอย เพราะเขาคอยเราอยู่ถึง ๓ ปีเขายังคอยได้ บังเอิญเพลงนี้ก็เกิดฮิตขึ้นมาทำให้กลับมาดังได้อีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ไปญี่ปุ่น ชื่อเสียงก็ซบเซาไปพักหนึ่ง




แปลว่า ๓ ปีนี้ เพลงนี้ก็ยังรอพี่อยู่

สุเทพ ครับ เพราะยังไม่ได้อัดไม่ได้อะไรเลย รอพี่อยู่กลับมาแล้วจึงมาอัด ก็มาฮิตอีกครั้งหนึ่ง เพลงของ "เนรัญชรา" มีเยอะมาก แล้วก็ป้อนเข้ามาเรื่อย พวก "ลาทีความระทม" พรุ่งนี้ฉันจะรักเธอจนตาย" ก็ออกมาทำให้เรามีชื่อเสียงมากขึ้นทุกที ๆ เหมือนกับเราเป็นคู่บุญ พี่ก็นึกถึงว่าสิ่งที่เราไม่ควรจะลืม ก็คือ การนำเอาผลงานของครู "เนรัญชรา" มาร้องให้ฟัง ให้รู้ว่าเพลงที่เขาแต่งมันเป็นอย่างไรเพราะอย่างไร

ก็คงจะเห็นภาพและได้ยินเสียงของพี่สุเทพกันมาก แต่ภาพของครู "เนรัญชรา" คนคงจะเห็นได้น้อยมาก ครูอายุมากหรือยังครับ

สุเทพ เขาอายุเท่าพี่ครับ




แล้วพี่พบกับครูครั้งแรกเลยที่ไหนครับ

สุเทพ ความจริงเขาเป็นคนมีประวัติที่แปลก คือ แปลกที่เขาไม่ได้เป็นนักแต่งเพลงมาก่อน เขาเป็นคอนโทรลเลอร์ของสถานีวิทยุทหารอากาศ ซึ่งสถานีวิทยุทหารอากาศก็อยู่ในกองดุริยางค์กองทัพอากาศ เขาไปเป็นพนักงานวิทยุอยู่ที่ประจวบฯ แล้วถูกส่งตัวมาให้มาทำงานกับสถานีวิทยุทหารอากาศ ทุ่งมหาเมฆ และระหว่างที่เขาเดินเข้า-ออกกองทัพอากาศก็มีการซ้อมดนตรีของวงทหารอากาศ เขาฟังแล้วคงชอบใจ เกิดความรู้สึกเป็นสุขที่ได้ฟังเพลง เขาก็เที่ยวไปถามเพื่อน ๆ ที่เป็นนักดนตรี พี่ใย (น.ท.ปรีชา เมตไตรย์) ว่า โน้ตเขียนยากไหม พี่ใยก็สอนให้ ก็บอกว่าโน้ตตัวนี้มีค่าเท่ากับหนึ่งจังหวะ โน้ตตัวนี้สองจังหวะ สี่จังหวะ เขาก็เรียนด้วยตัวเองและในที่สุดเขาก็เขียนโน้ตเองได้ เขาแต่งเพลงเองได้ เขาไปเล่าให้ใครฟังก็ไม่มีใครเชื่อ บางคนเป็นนักดนตรีบอกอะไรกัน ผมเป็นนักดนตรีแท้ ๆ ผมยังเขียนโน้ตไม่ได้เลย หรือเขียนได้ก็ไม่รวดเร็วอย่างนี้ เขาก็ไม่ได้เรียนโน้ตมาก่อน แต่ทำไมเขียนได้จึงเป็นเรื่องที่แปลก เขาเริ่มต้นเขียนเพลงขึ้นมาหลายเพลง และก็ให้คนอื่นร้องบ้าง แต่ก็ไม่ได้รับความนิยมหรือไม่ฮิต ตัวเขาเองเขาก็ชอบร้องเพลง เขาก็พยายามที่จะร้องแต่ไปไม่ไหว ในที่สุดแล้วเขาก็เอามาให้พี่ ตอนนั้นพี่เป็นทหารอากาศและก่อนที่พี่จะลาออกจากทหารอากาศพี่บังเอิญไปเมืองจีนกับพี่สุวัฒน์ วรดิลก ในช่วงนั้น พอกลับมาทางเจ้านายก็ถามว่าคุณจะติดตะรางหรือคุณจะลาออก พี่ก็บอกว่าผมจะลาออก ก็ลาออกจากการเป็นทหาร คุณ "เนรัญชรา" เอง เขาก็เป็นทหาร เขาก็เอาเพลงมาให้ร้อง ความผูกพันมันอยู่ตรงนี้




เพลงแรกของคุณ "เนรัญชรา" ที่พี่ร้องคือเพลงอะไรครับ

สุเทพ เพลง "จะคอยขวัญใจ"

ที่กองดุริยางค์ทหารอากาศนี่มีศิลปินหลายคนที่เกิดจากที่นี่ ครูสง่า อารัมภีร ครูสุรพล สมบัติเจริญ ครูปรีชา เมตไตรย์ ครูถวัลย์ วรวิบูลย์ พี่เทพเอง และครู "เนรัญชรา" นี่ด้วย พูดถึงงาน "คอนเสิร์ตแห่งชีวิตฯ" จะมีรูปแบบเป็นอย่างไรครับ

สุเทพ พี่ได้รวบรวมเอาเพลงของคุณ "เนรัญชรา" ทั้งหมดที่ฮิต ๆ มาวางขึ้นต้น ตรงกลางและลงท้ายให้มันสอดคล้องกัน ในที่สุดก็ได้เป็นเรื่องขึ้นมา ก็เป็นเรื่องของผู้ชายคนหนึ่งที่ไปรักผู้หญิง จวนจะมีความสุขด้วยกันอยู่แล้ว ก็มีแฟนเก่ามาตามเอาคืนไป ผู้ชายก็อกหัก ก็ทำเป็นคอนเซ็ปต์ตรงนี้ขึ้นมา ตั้งเอาไว้ ก็ทำได้ประมาณ ๓๐ เพลง มีพี่ มีพี่สวลี (ผกาพันธ์) มีคุณสุวัจชัย (สุทธิมา) รวม ๓ คน ที่เหลืออีก ๒๐ เพลง ก็ให้คนอื่นที่เขาเคยร้องเพลงฮิต ๆ อย่าง ธานินทร์ (อินทรเทพ) เขาร้องเพลง "จากเจ้าพระยาถึงฝั่งโขง" เอาเนื้อร้องของคุณสนธิกาญจน์ กาญจนาสน์ มา คุณ "เนรัญชรา" มาใส่ทำนองซึ่งเพราะมาก ๆ ก็อิจฉาคุณสนธิกาญจน์ ซึ่งถ้าเขายังมีชีวิตอยู่ เขาจะรู้ว่าเพลงของเขาดีเหลือเกิน




มีเพลงสักกี่เพลงครับ

สุเทพ ๕๐ เพลง

รายได้ตรงนี้นำไปทำอะไรบ้างครับ

สุเทพ พี่มอบให้คุณ "เนรัญชรา" เพื่อจัดตั้งมูลนิธิเนรัญชรา เพราะท่านเป็นคนที่ลำบาก แต่ท่านไม่พูด

เป็นเรื่องปกติของครูเพลงไทย

สุเทพ แปลกจริง ๆ พี่แจ๋ว (สง่า อารัมภีร) ก็ไม่ค่อยพูด พี่สมาน (สมาน กาญจนะผลิน) ก็ไม่ค่อยพูด แต่จะมีคนคุยเก่งคือ คุณชาลี อินทรวิจิตร




ครูสง่า อารัมภีรและครูสมาน กาญจนผลิน นักประพันธ์เพลงคู่บุญ
เจ้าของฉายา "เพลงรัก...ครูสมาน เพลงหวาน...ครูสง่า"
ภาพจากเวบ komchadluek.net


ก็ถือว่าต้องเป็นหน้าที่ของลูกศิษย์ที่ต้องอุปการะ ขอถามต่อไปว่า ผลตอบแทนของนักร้องนี่คุ้มค่าไหมครับ

สุเทพ ผมเคยคิดเหมือนกันว่า ที่ผ่าน ๆ มา เราเป็นนักร้องเราถูกเจ้าของบริษัททำเทปเอาเปรียบ เอาแผ่นเสียงมาอัดลงเทป มาอัดลงซีดี และยังมีวีซีดี ซึ่งมันก็จะพัฒนาไปเรื่อย แต่สิ่งหนึ่งที่เราถูกเอาเปรียบอยู่ตลอดเวลาก็คือ การที่เขานำไปทำโดยไม่ได้ขออนุญาตเราเลย แล้วไม่มีอะไรตอบแทนมาให้เราด้วย หมายถึงเขาซื้อเพลงตอนที่ทำแผ่นเสียงไปครั้งเดียวบางเจ้าบอกว่าต้นฉบับเดิม พ.ศ. ๒๕๑๖

สุเทพ ความจริงพี่ร้องเพลงตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ แล้วอัดแผ่นเสียงจริง ๆ ประมาณ ปี ๒๔๙๖ และในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ เพลงฮิตก็มี "รักคุณเข้าแล้ว" เป็นเพลงที่สมาน กาญจนะผลิน และครูสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ และที่พี่เลือกเป็นทหารอากาศก็เพราะเพลงนี้




เพลงนี้รู้สึกจะกลายเป็นเพลงนานาชาติไปแล้วครับ คงต้องคุยกับพี่ถึงเรื่องความเป็นมาในอดีต พี่สุเทพนี่เรียกได้ว่าเป็นศิลปินเต็มตัว นอกจากจะร้องเพลงแล้ว ภาพยนตร์ก็แสดง

สุเทพ เป็นผลพลอยได้มั้งครับ สมัยก่อนเขามักจะคว้าเอาคนดัง ๆ อย่างผมนี่ร้องเพลงฮิตหน่อย เขาก็เลยมาชวนไปเล่นหนัง ผู้ใหญ่เขาเอ็นดู เล่นก็เล่น

บทสัมภาษณ์ข้างบนนี้มาจากหนังสือ "วิทยุสราญรมย์” ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๑๕ (เมษายน-มิถุนายน ๒๕๔๕) นับเวลาแล้วก็ ๑๐ ปีเต็ม ๆ ตัว ส.ท่าเกษม นั้นเป็นแฟนงานเขียนของ คุณประภัสสร เสวิกุล บรรณาธิการของหนังสือฉบับนี้ ติดตามอ่านนวนิยาย งานวรรณกรรมของท่านใน นิตยสารสกุลไทย ตั้งแต่อยู่ประเทศไทย

นอกจากจะเป็นนักประพันธ์รุ่นครูบาอาจารย์แล้ว อาชีพประจำของท่านคือ นักการทูตซึ่งทำให้มีประสบการณ์และวัตถุดิบจากการเดินทางไปประจำยังประเทศต่าง ๆ




มีคุณผู้อ่านถามกันมาว่า แปรพักตร์เสียแล้วหรือ ? เห็นเขียนแต่เพลงสากล ระยะหลังนี้คอลัมน์ "คุยกันวันเสาร์” ไม่เขียนถึงเพลงไทยเลย ยังเหมือนเดิมทุกประการ ! เพียงแต่มีโอกาสได้ไปดูโชว์ของนักร้องที่นิยมชมชอบสมัยอยู่เมืองไทย จึงถือโอกาสที่ยังมีเวลาเหลืออยู่ (ทั้งคนร้องและคนฟัง) เดินทางไปหาความสำราญ เพราะชีวิตนั้นสั้นนัก เมื่อยังมีลมหายใจอยู่ก็หาความสุขท่องเที่ยวไปเรื่อย ๆ เป็นกำไรชีวิต !

นำรูป "หัวใจ” ผลงานของ ร.ต.สุเทพ วงศ์กำแหง มาลงซ้ำ หลังจากเคยลงมาแล้วในคอลัมน์ "รอวัน...ที่ใจเต็มดวง” ไม่ได้ใส่ชื่อเจ้าของภาพที่แท้จริง เลยโดนเผาจากคนที่ ส.ท่าเกษม เคยมอบสัมพันธไมตรีให้ด้วยความจริงใจ บทเรียนที่ได้รับคือ "รู้หน้าแต่ไม่รู้ใจ”

ลาก่อนสำหรับเสาร์นี้
ส.ท่าเกษม
พฤษภาคม ๑๒ ’๑๒


ข้อมูลจาก https://www.thailanewspaper.com/article/saturday/1392.php













"สันติ บุตรไชย" ได้เขียนเล่าเอาไว้ในหนังสือ "นักเขียนเพลงเพื่อชีวิต" อย่างน่าสนใจว่า

"ครั้งหนึ่งครูประเดิม เขมะศรีสุวรรณ เจ้าของฉายาโฆษกทั่วราชอณาจักร แม้มีความสามารถในด้านนี้แต่ขณะประกาศรายชื่อ เขาต้องยอมรับว่า นามสติ สติฐิต อ่านยากจริง ๆ"

"เขาประกาศรายชื่อได้คล่อง แต่พอมาถึงชื่อผม เขาถึงกับอึ้งไปก่อนจะค่อยๆ อ่าน ทำให้ผมเริ่มคิดว่าต้องใช้นามปากกาแทน คือผมชอบลีลาเพลงที่มีคนบอกว่ามันเรื่อยไหล มีลีลา โยกคลอนเหมือนกับสายน้ำ ผมเลยคิดว่าควรใช้เกี่ยวกับแม่น้ำ..นามปากกา "เจ้าพระยา" ถูกคิดขึ้นมาแวบแรกในห้วงคำนึง แต่แล้วเมื่อมานึกต่อไปว่า นามนี้มันประหนึ่งบรรดาศักดิ์หรือศักดินาที่เขาไม่นิยม จึงตัดสินใจเปลี่ยนอีกครั้งมาเป็นเนรัญชรา"




เพลงที่ครู "ทีฆา โพธิเวส" นำไปให้วงดนตรีลูกฟ้าบรรเลงเพลงหนึ่งนั้น คือเพลงจะคอยขวัญใจ ซึ่งขับร้องครั้งแรกโดย "ธรรมนูญ ปุงคานนท์" และต่อมา "สุเทพ วงศ์กำแหง" นำไปขับร้องออกอากาศสด ๆ ในงานวันเปิดสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง ๕ แล้วก็เดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศญี่ปุ่นเลย จึงยังไม่มีโอกาสบันทึกแผ่นเสียงแต่อย่างไร ครูเนรัญชราต้องรอจนสุเทพ วงศ์กำแหง เดินทางกลับมา จึงมีโอกาสได้บันทึกแผ่นเสียง และแจ้งเกิดในวงการแต่งเพลงตั้งแต่นั้นมา




ครูเนรัญชราเล่าเหตุการณ์ตอนนี้เอาไว้ด้วยว่า

"...เพลงแรกที่แต่งชื่อเพลงจะคอยขวัญใจ แต่กว่าจะได้อัดเสียงก็คอยแล้วคอยเล่า ทางบริษัทกมลสุโกศลไม่เชื่อฝีมือไม่รับไว้ หัวหน้าวง พ.ต.ท.ทีฆา โพธิเวส ได้จดโน้ตเพลงจะคอยขวัญใจแล้วเชิญให้คุณสุเทพ วงศ์กำแหงร้องสดในวันเปิดสถานีทีวีสนามเป้า คุณสุเทพขับร้องได้ไพเราะมาก ดีใจที่สุดที่ได้ชมในวันนั้น แต่ก็ยังไม่ได้บันทึกแผ่นเสียง คุณสุเทพเดินทางไปศึกษาต่อที่ญี่ปุ่น"

"จนคุณสุเทพกลับมาจากที่ญี่ปุ่นทราบว่าเพลงจะคอยขวัญใจยังไม่มีใครร้อง คุณสุเทพ สงสารมาก ไปบอกกับทางบริษัทกมลสุโกศลและรับรองว่าจะทำให้เพลงนี้ขายได้ จะร้องให้ทั้งแผ่น ๗๘ และลองเพลย์ ก็เลยประสบความสำเร็จ โดยรอมาเกือบสามปี"

ถ้าคุณสุเทพไม่ช่วย ก็ไม่มีนักแต่งเพลง "เนรัญชรา"


ข้อมูลจาก
บล็อกนายยั้งคิด













จ่าอากาศเอก สติ สติฐิต (เกิด ๒๔ ธันวาคม ๒๔๗๗) ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ผู้ประพันธ์เพลงไทยสากล) ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๒ นักแต่งเพลงชาวไทยเจ้าของรางวัลเสาอากาศทองคำพระราชทาน เจ้าของนามปากกาที่บรรดาแฟนเพลงรู้จักกันคือ ครูเนรัญชรา ซึ่งได้ประพันธ์เพลงดัง ๆ ไว้มากมายอาทิ หยาดน้ำฝนหยดน้ำตา บ้านของเรา ฤทธิ์กามเทพ เป็นต้น




ครูเนรัญชราเกิดเมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ ที่ ตำบลบ้านแพน อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจาก โรงเรียนวัดราชาธิวาส จากนั้นจึงได้เข้าศึกษาต่อจนจบการศึกษาจาก โรงเรียนจ่าอากาศ และได้ไปประจำการที่ กองบินน้อยที่ ๕ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จนกระทั่งลาออกจากราชการด้วยยศ จ่าอากาศเอก เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐

เมื่อลาออกจากราชการทหารอากาศครูเนรัญชราจึงได้ผันตัวมาเป็นนักแต่งเพลงแบบเต็มตัวโดยได้เรียนการเขียนโน้ตเพลงจากนักดนตรีในกองดุริยางค์ทหารอากาศจนสามารถเขียนโน้ตเพลงได้โดยไม่ต้องเทียบเสียงกับเปียโน




โดยเพลงแรกที่ประพันธ์ขึ้นและสร้างชื่อเสียงให้คือเพลง จะคอยขวัญใจ จากเสียงร้องของ สุเทพ วงศ์กำแหง ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ขับร้องเพลงไทยสากล) ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๓๓ นอกจากนี้ท่านยังได้ประพันธ์เพลงให้กับนักร้องลูกกรุงชื่อดังอีกหลายคนอาทิ นิทัศน์ ละอองศรี สวลี ผกาพันธุ์ จินตนา สุขสถิตย์ มนูญ เทพประทาน ธานินทร์ อินทรเทพ รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส เป็นต้น


ผลงานเพลงจากปลายปากกาของครูเนรัญชรา

หยาดน้ำฝนหยดน้ำตา
เขตฟ้าเขตฝัน
ฤทธิ์กามเทพ
บ้านของเรา
จะคอยขวัญใจ
หนี้เสน่หา
ดอกฟ้าผกาดิน
เศรษฐีน้ำตา



ข้อมูลจาก
wikipedia.org











บีจีจากเวบ wallcoo กรอบจากคุณ somjaidean100

Free TextEditor





 

Create Date : 13 ธันวาคม 2563    
Last Update : 5 มีนาคม 2564 19:18:41 น.
Counter : 3957 Pageviews.  

เพลง "สีชัง"










สีชัง
คำร้อง : พระราชนิพนธ์ใน รัชกาลที่ ๖
ทำนอง : สง่า อารัมภีร


สีชัง ชังชื่อแล้ว อย่าชัง

อย่าโกรธพี่จริงจัง จิตข้อง

ตัวไกล จิตก็ยัง แน่วแนบ

เสน่ห์สนิทน้อง นิจโอ้อาดูร


สีชัง ชังแต่ชื่อ

เกาะนั้นหรือ จะชังใคร

ขอแต่ แม่ดวงใจ อย่าชังชิง พี่จริงจัง

ตัวไกล ใจพี่อยู่ เป็นคู่น้อง ครองยืนยาว


ห่างเจ้าเฝ้าแลหลัง

ตั้งใจติด มิตรสมาน

สีชัง ชังแต่ชื่อ

เกาะนั้นหรือ จะชังใคร


ขอแต่ แม่ดวงใจ อย่าชังชิง พี่จริงจัง

ตัวไกล ใจพี่อยู่ เป็นคู่น้อง ครองยืนยาว

ห่างเจ้า เฝ้าแลหลัง

ตั้งใจติด มิตร...สมาน...







“สีชัง” ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิ์วัตน์
สีแห่งความรำลึกถึง จาก...สง่า อารัมภีร


จากกรุงเทพมหานครขับรถสู่ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ใช้เวลาชั่วโมงเศษ ๆ เราก็จะไปถึงศรีราชา เลี้ยวขวาตรงสี่แยกไฟแดงเข้าไปทางเกาะลอย จะเห็นป้ายเขียนไว้ว่า ไปท่าเรือเกาะสีชัง ระยะทางห่างจากชายฝั่งอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ไปทางทิศตะวันตกประมาณ ๑๒ กิโลเมตร เกาะสีชังเป็นเกาะขนาดใหญ่ มีพื้นที่รวมประมาณ ๗.๙ ตารางกิโลเมตร มีถิ่นฐานของชุมชนนานนับร้อยปี มีสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญทางประวัติศาสตร์ มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่งดงาม ตลอดจนมีปูชนียสถานปูชนียวัตถุ ท่าเทียบเรือ โรงเรียน โรงพยาบาล สถานที่พักตากอากาศ และหน่วยงานราชการหลายแห่งตั้งอยู่







เกาะสีชังตั้งอยู่โดดเด่นบริเวณปากอ่าว อันเป็นบริเวณที่เชื่อมต่อระหว่างทะเลอ่าวไทย และทะเลหลวงภายนอก จึงเปรียบเสมือนประตูผ่านเข้าอ่าวไทยจากทะเลใหญ่ และกลายเป็นสัญลักษณ์ของการมาถึง หรือออกจากประเทศไทย มาตั้งแต่สมัยโบราณมาจนถึงปัจจุบัน


“สีชังชังชื่อแล้ว อย่าชัง

อย่าโกรธพี่จริงจัง จิตข้อง

ตัวไกลจิตก็ยัง เนาแนบ

เสน่ห์สนิทน้อง นิจโอ้อาดูร.....”





แฟนเพลงชาวไทยทั้งประเทศจะได้ยินโคลงสี่สุภาพบทนี้จากเสียงขับร้องที่นุ่มละมุนอ่อนหวานของนักร้องชายท่านหนึ่งจาดอดีตเมื่อประมาณ ๖๐ ปีมาแล้ว จากเพลงไทยสากลอมตะที่มีชื่อเพลงว่า “สีชัง” และจากนั้นเป็นต้นมาชื่อของนักร้องชายท่านนี้คือ ม.ร.ว. ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ ก็ประทับอยู่ในความทรงจำของแฟนเพลงยุคนั้นมาจนถึงปัจจุบัน


“สีชังชังแต่ชื่อ

เกาะนั้นหรือจะชังใคร

ขอแต่แม่ดวงใจ

อย่าชังชิงพี่จริงจัง.....”






จากท่อนที่สองถัดมาไปจนถึงท่อนสุดท้ายจะเป็นรูปแบบของ กาพย์ยานี ๑๑ อันเป็นคำประพันธ์ในรูปแบบ “กาพย์ห่อโคลง” เป็นเพลงที่นำเนื้อร้องมาจากบทละครร้องเรื่อง "พระร่วง" หรือ "ขอมดำดิน" ซึ่งเป็นบทพระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการซ้อมรบของกองทัพเรือที่สัตหีบ ได้พระราชนิพนธ์ “กาพย์เห่เรือยุคใหม่” พระราชทานแก่หนังสือ “สมุทรสาร” ซึ่งเป็นวรรณคดีปลุกใจให้รักชาติ และต่อมา ครูแจ๋ว สง่า อารัมภีร ศิลปินแห่งชาติ จึงได้อัญเชิญมาใส่ทำนองเพลง แล้วมอบให้ ม.ร.ว. ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ เป็นต้นฉบับเสียงร้องในการบันทึกเสียงคนแรก จนในที่สุดนักร้องและนักแต่งคู่นี้ก็กลายเป็นคูหู ทั้งคู่ชิม คู่กิน และคู่ดื่มกันมา จนเป็นที่ทราบกันดีในบรรดาบุคคลใกล้ชิดในวงการเพลงไทย







ม.ร.ว. ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ นั้นได้สืบสายเลือดศิลปินการขับร้องเพลงไทยเดิมมาจาก หม่อมหลวงกล่อมโกศล เศวตะทัต และ หม่อมเจริญ สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา หม่อมมารดา ด้วยพรสวรรค์จากสายเลือด จึงทำให้คุณชายได้กลายเป็นนักร้องสุนทราภรณ์รุ่นแรก มีผลงานการขับร้องโด่งดังอย่างต่อเนื่องมายาวนาน มีเพลงดังระดับตำนานมากมาย เช่น สีชัง, ยามรัก, หวงรัก, วนาสวาท ฯลฯ จนได้เป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล-ขับร้อง) พ.ศ. ๒๕๕๑







จากวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๖๒ ที่ได้รับข่าวเศร้าว่า ม.ร.ว. ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ ศิลปินแห่งชาติ นักแสดง นักร้อง นักเขียน และนักจัดรายการวิทยุโทรทัศน์ ผู้เป็นที่รักและมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักจากการแนะนำและจัดระดับความอร่อยของร้านอาหาร ในชื่อ “เชลล์ชวนชิม” รายการโทรทัศน์ “การบินไทยไขจักรวาล”, “ครอบจักรวาล” และมีรายการวิทยุ ติดต่อกันมานานหลายปี ได้จากเราไปแล้วด้วยวัย ๙๓ ปีของท่าน แต่เสียงเพลงอมตะจำนวนมากมายที่ท่านได้ขับร้องไว้ ก็ยังคงดังเจื้อยแจ้วอยู่ตามสถานีวิทยุต่าง ๆ ทั่วประเทศมาจนถึงวันนี้ และคงอีกนานแสนนาน แต่ไม่ว่าจะได้ฟังเพลงใดที่ท่านร้องไว้ ผู้ฟังที่เป็นแฟนเสียงของท่านก็จะยังไม่มีทางจะอิ่มใจ หากยังมิได้ฟัง “สีชัง” เพลงนี้

“ตัวไกลใจพี่อยู่

เป็นคู่น้องครองยืนยัง

ห่างเจ้าเฝ้าแลหลัง

ตั้งใจติดมิตรสมาน”






ข้อมูลจาก
เพจสมพจน์ สิงห์สุวรรณ
สกู๊ปเพลงดัง นสพ.ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๖๒







บีจีจากเวบ wallcoo กรอบจากคุณ Hawaii_Havaii

Free TextEditor





 

Create Date : 04 พฤศจิกายน 2563    
Last Update : 4 พฤศจิกายน 2563 23:24:39 น.
Counter : 2918 Pageviews.  

เพลง "ฝากรักเอาไว้ในเพลง"




"นางราคาดีดพิณ นางอรดีตีกรับ"
ศิลปิน ครูจักรพันธุ์ โปษยกฤต
เทคนิค สีน้ำมัน
ดร.ธวัช อังสุวรังษี เจ้าของภาพ









ฝากรักเอาไว้ในเพลง
คำร้อง ทำนอง : บุญช่วย กมลวาทิน



ฝากรักเอาไว้ในเพลงสักคำ
ขอให้เธอจดจำเอาไว้
เพื่อจะได้คอยเตือนหัวใจ
ว่าเราเคยได้รักกัน


ถ้อยคำที่ฉันได้มอบกับเธอ
ขอให้ใจใฝ่ละเมอเฝ้าฝัน
เพื่อจะได้เตือนความสัมพันธ์
คำรักนั้นอย่าเลือน

ฟังเถอะฟังเอาไว้
เมื่อเราห่างไกล เพลงจะได้คอยเตือน
เมื่อยามเหงาไม่มีเพื่อน
จะได้คอยเตือนเหมือนฉันอยู่ใกล้เธอ


ฝากรักเอาไว้ในเพลงให้จำ
หัวใจฉันจะช้ำก็เพราะเธอ
ผูกใจมั่นฝันละเมอ
อยู่กับเธอผู้เดียว






‘ซอสามสาย’
ศิลปิน ครูจักรพันธุ์ โปษยกฤต
สีน้ำบนกระดาษ พ.ศ. ๒๕๒๗



‘ฝากรักเอาไว้ในเพลง’ จินตนา สุขสถิตย์
พลังรักที่ยังทรงพลัง บุญช่วย กมลวาทิน


กับวันเวลาที่ในบรรยากาศกำลังเต็มไปด้วยฝุ่น และในโซเชียลมีเดียเต็มไปด้วยข่าว ตั้งแต่ข่าวการบ้านการเมืองทั้งในและนอกประเทศ ไปจนถึงข่าวอาชญากรรมที่โหดร้ายทารุณ จนทำให้ข่าวคราวในเรื่องของความรักขาดหายไปบ้าง ก็คงจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เพลงรักหวาน ๆ ซึ้ง ๆ ก็พลอยเงียบเหงาไปด้วย




จนบางครั้งก็อดที่จะทำให้เราคิดไปว่าโลกทุกวันนี้ ทั้งที่ชาวบ้านและชาวโลกเขาเลิกรักกันไปแล้วหรืออย่างไร และหากเป็นเช่นนั้นจริง อะไรจะเกิดขึ้นบ้าง แต่ก็ยังมีเพลงหนึ่งที่ได้ฟังครั้งใดเราก็จะรู้ได้ว่าพลังแห่งความรักนั้นยังแข็งแกร่งอยู่เสมอ


“ฝากรักเอาไว้ในเพลงสักคำ

ขอให้เธอจดจำเอาไว้

เพื่อจะได้คอยเตือนหัวใจ

ว่าเราเคยได้รักกัน...”





เพลงนี้คือเพลงที่ชื่อ “ฝากรักเอาไว้ในเพลง” เป็นผลงานการประพันธ์คำร้องและทำนองโดย บุญช่วย กมลวาทิน ขับร้องโดย เติบ พันธุ์งาม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๔ และทิ้งช่วงไปอีกถึง ๒๕ ปี จึงได้นำมาบันทึกเสียงใหม่อีกครั้งเมื่อ พ.ศ. ย๒๕๐๙ โดย จินตนา สุขสถิตย์ ศิลปินแห่งชาติ เพลงนี้จึงได้กลับมาโด่งดังอีกครั้งหนึ่ง




มีนักร้องยอดนิยมอีกหลายต่อหลายคนได้นำเพลงนี้มาร้องบันทึกเสียงใหม่ต่อเนื่องกันมาให้เราได้ฟังกันจนถึงปัจจุบัน เช่น ดนุพล แก้วกาญจน์, ทิพย์วรรณ ปิ่นภิบาล, นันทิดา แก้วบัวสาย, นิค นิรนาม, วิสุตา สาณะเสน, สมา สวยสด, หยาด นภาลัย, สุนารี ราชสีมา, แหวน ฐิติมา รวมศิลปินค่ายนิธิทัศน์ และ ฯลฯ







และไม่ว่าใครจะนำมาร้องใหม่ เพลงนี้ก็ยังคงความแข็งแกร่งด้วยพลังแห่งรัก ทำให้ทุกเพลงฟังแล้วมีความไพเราะซาบซึ้งได้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลย จนถึงวันนี้เพลงนี้กำลังจะมีอายุถึง ๘๐ ปีแล้ว เพราะ ครูบุญช่วย ท่านแต่งเพลงนี้และบันทึกเสียงครั้งแรกมาตั้งแต่ปี ๒๔๘๔ ซึ่งนับถึงวันนี้ก็ ๗๙ ปีเข้าไปแล้ว ซึ่งแทบไม่น่าเชื่อเลยว่าความไพเราะของเพลงจะมีอายุยืนยาวได้ขนาดนี้ หรือความรักจะมีพลังได้ถึงเพียงนั้น ไม่เหมือนเพลงดังสมัยนี้ ระดับยอดวิวยูทูบเป็น ๑๐๐ ล้านวิว แต่ไม่ถึงปีคนก็ลืมกันหมดแล้ว





“ถ้อยคำที่ฉันได้มอบกับเธอ

ขอให้ใจใฝ่ละเมอเฝ้าฝัน

เพื่อจะได้เตือนความสัมพันธ์

คำรักนั้นอย่าเลือน...”





ครูบุญช่วย กมลวาทิน เป็นชาวผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เกิดเมื่อประมาณปี ๒๔๔๕ ญาติพี่น้องเป็นนักดนตรีไทย บรรเลงประจำอยู่ที่วัดใกล้ ๆ บ้าน เสียงดนตรีจึงฝังอยู่ในสายสมองมาตั้งแต่เยาว์วัย ศึกษาชั้นประถมที่โรงเรียนวัดข้างบ้าน




ต่อมาน้าชายนักดนตรีก็พามาฝากกับญาติซึ่งเป็นนักดนตรีเหมือนกันที่กรุงเทพฯ เรียนหนังสือและเล่นดนตรีไทยจนครบเกณฑ์ทหาร จึงไปสมัครเข้าเป็นทหารดนตรีที่ กองแตรวงทหารรักษาวังฯ และได้เป็นลูกศิษย์ของ เรือโทมานิต เสนะวีนิล ซึ่งเป็นผู้ช่วยครูเครื่องสายฝรั่งของ กรมทหารรักษาวังฯ




ภาพจาก saisampan.net


เครูบุญช่วย คยร่วมงานกับ ครูนารถ ถาวรบุตร ในช่วงที่ช่วยกันแต่งเพลงให้กับ วงดนตรีของสำรักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และเป็นนักแต่งเพลงร่วมยุคและร่วมกับวง ไสล ไกรเลิศ ด้วย

เครื่องดนตรีที่ถนัดของ ครูบุญช่วย กมลวาทิน คือกลอง ตีกลองเก่ง ทั้งกลองแต๊กและกลองอเมริกันใบใหญ่ ซึ่งทักษะในด้านนี้อาจมีส่วนทำให้ท่วงทำนองของเพลงที่ท่านแต่งนั้น มักจะมีท่วงทำนองที่ลงจังหวะได้อย่างหนักแน่น จนมีส่วนไปช่วยเสริมให้พลังของคำร้องมีความหนักแน่นงดงามไปด้วย





“ฟังเถอะฟังเอาไว้

เมื่อเราห่างไกล เพลงจะได้คอยเตือน

เมื่อยามเหงาไม่มีเพื่อน

จะได้คอยเตือนเหมือนฉันอยู่ใกล้เธอ...”


อยากเห็นรายการประกวดร้องเพลงทางสถานีโทรทัศน์ต่าง ๆ นำเพลงนี้ไปร้องประกวดกันบ้าง อาจมีส่วนกระตุ้นให้พลังความรักในสังคมไทยที่กำลังอ่อนแดอย่างน่าเป็นห่วง ได้ตื่นขึ้นสู่ความแข็งแกร่งกันอีกครั้ง


“ฝากรักเอาไว้ในเพลงให้จำ

หัวใจฉันจะช้ำก็เพราะเธอ

ผูกใจมั่นฝันละเมอ

อยู่กับเธอผู้เดียว...”







ข้อมูลจาก
เพจสมพจน์ สิงห์สุวรรณ
นสพ.แทบลอยด์ไทยโพสต์ ๒๖ ม.ค. ๒๕๖๓








บีจีจากเวบ wallcoo กรอบจากคุณ goffymew

Free TextEditor





 

Create Date : 25 กรกฎาคม 2563    
Last Update : 25 กรกฎาคม 2563 22:07:20 น.
Counter : 3796 Pageviews.  

The Golden Song เวทีเพลงเพราะ...เพลงเพราะจริง ๆ ค่ะ







เมืองไทยมีรายการประกวดร้องเพลงทางทีวีมากมายจนนับนิ้วไม่ถ้วน มีทั้งที่อยู่ยั้งยืนยงและล้มหายตายจากไปในเวลาอันสั้น ปกติเราจะไม่ค่อยสนใจดูเท่าไหร่ แต่พอได้ดูรายการ "The Golden Song เวทีเพลงเพราะ" แค่หนเดียวก็เป็นเรื่องเลย ต้องตามดูแบบติดหนับตั้งแต่ปีแรก เพราะรักเพลงลูกกรุงมาก ๆ กลายเป็นรายการประกวดเพลงในดวงใจไปแล้ว ทุกวันอาทิตย์หลังเคารพธงชาติก็จะอยู่ชิดติดจอไม่ไปไหน




ตอนที่อัพบล็อกดนตรีครั้งแรก เขียนถึงผลงานเพลงของครูสง่า อารัมภีร ขึ้นต้นประโยคแรกคือ “สมัยนี้จะยังมีคนชอบฟังเพลง "ลูกกรุง" กันอยู่อีกไหมนะ” ตอนนั้นนึกเสียดาย ทั้งที่เพลงลูกกรุงมีความไพเราะมาก เนื้อเพลงเต็มไปด้วยวรรณศิลป์ ครูเพลงท่านมีความประณีตในการเลือกใช้ถ้อยคำและประพันธ์ทำนอง ฟังแล้วอิ่มในอารมณ์ แต่หาฟังได้ยากขึ้นทุกวัน เรียกว่าแทบจะหายไปจากการรับรู้รับฟังของคนไทยส่วนใหญ่ไปแล้ว เคยนึกอยากให้มีรายการเกี่ยวกับเพลงลูกกรุงสักรายการ แต่ไม่เคยได้อย่างใจสักที ไม่คิดว่าจะมาถึงวันที่ได้ดูรายการประกวดร้องเพลงลูกกรุงทางทีวี ได้ฟังเพลงโปรดแบบเต็มอิ่มขนาดนี้







ที่จริง บ้านเราก็มีการประกวดเพลงลูกกรุงอยู่เหมือนกัน อย่างที่ศาลาเฉลิมกรุง ศูยน์วัฒนธรรม หรือตามศูยน์การค้า แต่ที่ประกวดทางทีวีและเป็นที่รับรู้ในวงกว้างอย่าง "เวทีเพลงเพราะ" น่าจะเป็นครั้งแรก นับว่าเป็นเวทีที่ไม่ธรรมดาเลย เพราะเราเชื่อว่ายังไงเพลงลูกกรุงก็เป็นอมตะ เพียงแต่รอวันคนที่เห็นคุณค่า นำกลับมาให้คนไทยได้เสพความไพเราะงดงามอีก ต้องชม คุณบอย ถกลเกียรติ ที่คิดรายการนี้จริง ๆ การเลือกใช้เพลงลูกกรุงมาประกวดเป็นความแตกต่างชั้นดี ถึงจะเป็นงานยากแต่คุณบอยและทีมงานก็ตีโจทย์แตก ออกแบบกติกาไปจนถึงเวที แสง สี เสียงได้ถูกใจ แต่แอบแย้งในใจนิดนึงคือ เพลงในยุคหลัง ๆ อย่างเพลงคุณนันทิดาหรืออินโนเซนท์ เราว่าเป็นเพลงป๊อบมากกว่าเพลงลูกกรุง แต่ก็อนุโลมให้ ก็แต่ละเพลงฟังแล้วเพราะสมกับชื่อเวทีเพลงเพราะแล้ว




กติกาการแข่งขันในรอบแรกคือ ผู้เข้าแข่งขันมีเวลา ๙๐ วินาที เพื่อแสดงความสามารถและเอาชนะใจกรรมการ เพื่อให้ได้ร้องต่อจนจบเพลง ถ้ากรรมการกดปุ่มให้แค่ ๒ ท่านก็ต้องหยุดร้อง และกรรมการจะตัดสินว่าให้ผ่านหรือไม่ ถ้าไม่มีกรรมการกดให้เลยก็จะตกรอบทันที หลังจากนั้นกรรมการจะตัดสิน ถ้าได้คะแนนจากคณะกรรม ๓ ใน ๔ จะผ่านเข้าสู่รอบคัดกรอง รอบต่อมา (๔๒ คนสุดท้าย) จะแบ่งเป็น ๖ กลุ่ม ๆ ละ ๗ คน ให้ผู้แข่งขันเลือกเพลงร้องตามโจทย์ที่กำหนดให้ ร้องเพลงจบก็จะให้ผู้เข้าแข่งขันขอเปิดคะแนนจากกรรมการ ๑ ใน ๔ ท่าน พอร้องครบคนแล้วก็จะประกาศผลผู้ชนะ ๒ คนเข้าไปสู่รอบรองชนะเลิศและรอบสุดท้าย










ชอบองค์ประกอบของรายการนี้ทุกอย่างเลยค่ะ ตั้งแต่คณะกรรมการที่เลือกได้อย่างเหมาะสมและลงตัวมีทั้ง ๔ ท่านคือ ป้าเม้า สุดา ชื่นบาน นักร้องรุ่นเก๋าแต่ยังจ๊าบอยู่, คุณโจ้ สุธีศักดิ์ ภักดีเทวา ลูกชายของคุณทนงศักดิ์ หนึ่งในนักร้องเพลงลูกกรุงที่รักมาก ๆ, กัน นภัทร อินทร์ใจเอื้อ แชมป์ประกวดร้องเพลงในรายการเดอะสตาร์ที่ชนะใจกรรมการและผู้ชม (และเรา) ด้วยเพลง “น้ำตาแสงไต้”, และ คุณกบ สุวนันท์ คงยิ่ง สามท่านแรกรู้จักเพลงลูกกรุงเป็นอย่างดี เก็บรายละเอียดของข้อผิดพลาดของผู้เข้าแข่งขันมาให้ความเห็นและคำแนะนำแบบมืออาชีพ ฟังแล้วต้องพยักหน้าตาม ส่วนคุณกบ ทีแรกก็มีเอ๊ะในใจตอนที่เห็นเธอ แต่คุ้น ๆ ว่าคุณกบเคยเป็นพิธีกรทางรายการทอล์คโชว์อะไรสักอย่างเมื่อนานมาแล้ว ลีลาการสัมภาษณ์ดีทีเดียว แต่มาตัดสินประกวดร้องเพลงและเป็นเพลงลูกกรุงด้วย ไม่แน่ใจว่าจะทำหน้าที่ได้ดีแค่ไหน คุณกบอาจจะรู้เรื่องเพลงลูกกรุงน้อยกว่าอีกสามท่าน แต่ในฐานะที่เป็นตัวแทนของคนดู เท่าที่ดูมา มีความเป็นธรรมชาติ วิจารณ์หรือให้ความเห็นได้ดีเลยค่ะ ชอบตอนเวลากรรมการทั้งสี่ท่านออกความเห็น ได้ทั้งความรู้และมีฮาเป็นระยะ ๆ ทำให้ยิ้มกว้าง ๆ ได้ตลอด










นอกจากคณะกรรมการแล้ว อีกท่านที่เป็นเรียกได้ว่าเป็นตัวหลักของรายการคือ คุณหนึ่ง จักรวาล ผู้กำกับดนตรี, โปรดิวเซอร์และผู้เรียบเรียงเสียงประสานฝีมือระดับมือทองฝังเพชร เป็นคนเรียบเรียงเสียงประสานเพลงในรายการ รู้แต่ว่าคุณหนึ่งเป็นมือวางอันดับต้นของประเทศเรื่องทำเพลงยุคใหม่ เพิ่งรู้ว่ารักเพลงลูกกรุงมาก ๆ ก็งานนี้แหละ ไม่คิดว่าคุณหนึ่งจะทำดนตรีเพลงลูกกรุงได้ดีขนาดนี้ อ่านคำให้สัมภาษณ์แล้วรู้สึกได้เลยว่าคุณหนึ่งตั้งใจทำดนตรีด้วยความเคารพในเพลงลูกกรุง และเสริมอารมณ์เพลงให้อลังการงานสร้างมากขึ้น มีความทันสมัยแต่ยังเก็บอรรถรสของเพลงลูกกรุงไว้ได้อย่างยอดเยี่ยม โดยที่ออกแบบดนตรีให้เข้ากับผู้แข่งขันแต่ละท่านด้วย แต่ละเพลงฟังแล้วต้องยกให้ทั้่งสิบนิ้วเลยค่ะ







พิธีกรก็ชอบมาก เป็นพิธีกรคู่ที่มี คุณเกลือ กิตติ เชี่ยววงศ์กุล เป็นตัวยืน ปีแรกคู่กับ คุณป้อง-ณวัฒน์ ปีนี้เปลี่ยนเป็น คุณศักดิ์สิทธิ์ แท่งทอง คุณเกลือคร่ำหวอดงานพิธีกรมานาน แถมมีอารมณ์ขันได้ใจ ปล่อยมุกแล้วไม่แป้ก เป็นการเพิ่มสีสันให้รายการได้อย่างดี ชอบตั้งแต่ได้อ่านบทกลอนของคุณเกลือที่ใช้นามปากกาว่า “กวีตีสาม” คุณป้องมารับหน้าที่พิธีกรเป็นครั้งแรก ออกอาการเกร็งในช่วงแรก ๆ แต่ก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนคุณแท่ง ไม่ห่วงเพราะเคยเป็นพิธีกรอยู่หลายรายการ ทั้งสามท่านพูดคุยส่งมุกกันเองหรือกับกรรมการได้เฮฮาแบบลื่นไหลและพอดี ๆ มีหลายครั้งที่ดูแล้วฮาก๊ากอย่างแรง










ที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือ ผู้เข้าแข่งขัน ด้วยความที่ไม่กำหนดเพศและวัยของผู้เข้าแข่งขัน เลยได้เห็นทั้งเด็กอายุน้อยมาก แค่ ๑๑ ขวบ ไปถึง ๘๐ กว่าเข้ามาประกวด ต้องยอมรับเลยว่าทุกท่าน...ย้ำว่า...ทุกท่านเสียงดีหมด คงเพราะเพลงลูกกรุงมีมาตรฐานการร้องอยู่แล้ว คนที่จะเข้ามาแข่งก็ต้องประเมินตัวเองก่อนแล้วว่าร้องได้ถึงหรือเปล่า ส่วนใหญ่ก็จะร้องได้ (ที่บอกว่าส่วนใหญ่เพราะบางท่านมีสำเนียงลูกทุ่งเล็ดลอดออกมาให้กรรมการจับได้) ออกเสียงภาษาไทยชัดเจน แต่ถ้าจะร้องเลียนแบบต้นฉบับละก็ ไม่ต้องหวังว่าจะได้คะแนนเพิ่ม เพราะกรรมการจะออกปากประจำว่า “ดีที่คุณไม่ได้ร้องเลียนแบบ” ซึ่งเป็นข้อดีคือ ได้เห็นผู้เข้าแข่งขันร้องเพลงลูกกรุงในแบบฉบับของตัวเองจริง ๆ เสียดายก็แต่ คนที่ตกรอบไปเสียงดีทั้งนั้น นึกอยากให้ คุณบอย ต่อยอดจัดอีกสักรายการ เชิญผู้เข้าแข่งขันทั้งหมดกลับมาร้องเพลงลูกกรุงให้ฟังอีก และถ้าเชิญนักร้องลูกกรุงตัวจริงมาร่วมรายการด้วยละก็ เยี่ยมเลยค่ะ







ปีแรกได้ผู้ชนะเป็นนายทหารหนุ่มจากจังหวัดปราจีนบุรี คุณแอ็ค โชคชัย หมู่มาก ร้องเพลงได้ดีเว่อร์สมกับตำแหน่งแชมป์ เสียงทุ้มนุ่มนวล ชวนฝัน คุณแอ็คเข้าใจเลือกเพลงได้เข้ากับน้ำเสียงและบุคลิกที่เหมาะกับเพลงช้า อย่างเพลง “หลับตา” “ฝันลำเอียง” “ทั้งรักและทั้งเกลียด” “น้ำเซาะทราย” และคว้าแชมป์ไปครองด้วยเพลง “ขาดฉันแล้วเธอจะรู้สึก” ส่วนอาทิตย์ที่ผ่านมาแข่งถึงรอบ ๔๒ คนสุดท้ายในกลุ่ม E เหลืออีกกลุ่มเดียวก็จะเป็นรอบรองชนะเลิศ ปีนี้เดาไม่ถูกเลยว่าใครจะได้เป็นแชมป์ ส่งกำลังใจให้ผู้เข้าแข่งขันทุกท่านเลยค่ะ







ในรายการยังทำเซอร์ไพรส์ทั้งคนดูและคณะกรรมการ ด้วยการเชิญแขกพิเศษมาร้องเพลง เท่าที่จำได้ก็มี ป้าแดงฉันทนา กิติยพันธ์ ร้องเพลง ข้าวนอกนา อุตส่าห์แปลงร่างเป็นคนผิวดำจะมาเซอร์ไพรส์ แต่ป้าเม้าเห็นแวบแรกก็จำได้เลย, คุณพ่อของคุณกัน นภัทร ควงลูกชายร้องเพลง เรือนแพ, คุณอู๊ด เป็นต่อ ร้องเพลง ที่รัก เห็นภาพลักษณ์ดูเป็นแนวเพื่อชีวิต ไม่คิดว่าหนุ่มอู๊ดจะร้องเพลงลูกกรุงได้เพราะทีเดียว, ซินแสเป็นหนึ่ง ร้องเพลง ทั้งรักทั้งเกลียด







แขกคนพิเศษอีกท่านที่ชอบมากคือ คุณนนทิยา จิวบางป่า คุณเจี๊ยบหายหน้าไปนาน มารับหน้าที่เป็นโค้ชของผู้เข้าแข่งขัน ดีที่เธอยอมใจอ่อนหลังจากทีมงานพยายามตื้อให้ขึ้นเวทีตั้งแต่ปีแรก เพลงที่เลือกมาร้องคือ “ไฟรัก” ทั้งกรรมการและคนดูอึ้งมากกับเสียงทรงพลังและการถ่ายทอดอารมณ์เพลงที่ยอดเยี่ยม ขนาดเจ้าของเสียงร้องต้นฉบับ คุณชัชฎาภรณ์ ( รักษนาเวศ ) เทียนประภาส ยังเข้ามาเม้นท์ชมท้ายคลิปในยูทูปว่า

"ไพเราะมากค่ะน้องเจี๊ยบ ขอบคุณนะคะที่น้องได้นำเพลง "ไฟรัก" ซึ่งเป็นเพลงแรกในชีวิตของพี่มาขับร้องในวันนี้ ปลื้มใจ ทำให้พี่นึกถึงอดีตที่ผ่านไปค่ะ เพราะเพลงนี้พี่เทพ (คุณสุเทพ วงศ์กำแหง) เป็นผู้นำพี่เข้าสู่วงการเพลงตั้งแต่พ.ศ. ๒๕๐๙ พี่เป็นคนแรกที่ได้ขับร้องเพลง "ไฟรัก" นี้ บันทึกแผ่นเสียงอยู่ในชุด "สุเทพคอรัส" เนื้อร้อง - ทำนอง โดย น้าไหล (คุณครูไศล ไกรเลิศ) บันทึกแผ่นเสียงที่ "ห้องบันทึกเสียงกมลศุโกศล" นะคะ พี่หวังว่าคงจะได้ฟังน้องเจี๊ยบร้องเพลงเพราะ ๆ ให้ฟังในรายการ "The Golden Song" อีกนะคะ ชื่นชมจากใจจริงค่ะ”




และเซอร์ไพรส์อีกอย่างคือ ในรอบรองชนะเลิศ ผู้เข้าแข่งขันในแต่ละสายจะได้ร้องประกบคู่กับศิลปินรับเชิญชื่อดังที่คนดูชื่นชอบ เช่น คุณมาลีวัลย์, คุณเท่ห์ อุเทน, คุณฝน ธนสุนทร, คุณชมพู ฟรุตตี้, คุณปุ๊ อัญชลี, คุณชิน ชินวุฒ นับเป็นอีกช่วงที่คนดูชื่นชอบมากที่ได้ดูนักร้องคนโปรดมาร่วมร้องเพลงลูกกรุงให้ฟัง

ไม่บ่อยนักที่จะได้ชมรายการประกวดร้องเพลงที่ถูกใจขนาดนี้ อยากชวนทั้งท่านที่เป็นคอเพลงลูกกรุง และท่านที่ชอบเพลงไทยเพราะ ๆ หรือไม่เคยสนใจฟังเพลงไทยเลย มาชมรายการ “The Golden Song เวทีเพลงเพราะ" เปิดชมได้ทางช่องวัน ๓๑ วันอาทิตย์ เวลา ๑๘.๐๐ น. และต้องขอบคุณช่องวัน, คุณบอย ถกลเกียรติ วีรวรรณ, คณะกรรมการ, คุณหนึ่ง จักรวาล, นักดนตรี, ผู้เข้าร่วมประกวด, พิธีกร ทีมงานเบื้องหลังทุกท่าน รวมไปถึงบริษัทโฆษณาที่ร่วมด้วยช่วยกันทำรายการนี้ขึ้นมา ดูแล้วมีความสุขจริง ๆ ขอบคุณมากนะคะ






คลิกชมคลิปรายการทั้งหมดได้ที่นี่ค่ะ
คลิปรายการเวทีเพลงเพราะ



ภาพจาก
เพจ The Golden Song เวทีเพลงเพราะ








บีจีจากเวบ wallcoo

Free TextEditor





 

Create Date : 08 มิถุนายน 2563    
Last Update : 29 พฤษภาคม 2566 23:02:24 น.
Counter : 5982 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  

haiku
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 161 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add haiku's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.