happy memories
Group Blog
 
All blogs
 

อำลา อาลัย...คุณลุงสุเทพ วงศ์กำแหง











ร่างบล็อกนี้ไว้หลังจากอัพบล็อก คอนเสิร์ตครูชาลีและครูสุรพล ที่อัพไว้เมื่อช่วงต้นปี หลังจากอัพบล็อกไปไม่กี่วันก็ทราบข่าวการเสียชีวิตของ คุณลุงสุเทพ วงศ์กำแหง รู้สึกทั้งเสียใจและเสียดายมาก เพราะโตมากับเพลงของท่าน ชอบเพลงของคุณลุงในยุคแรก ๆ ที่สุด โดยเฉพาะเพลงที่เป็นต้นฉบับ อย่างเพลง ฟ้ารำลึก, สวรรค์มืด, อนุสาวรีย์รัก, เดือนหลงฟ้า, ยอดรักคนยาก, พะเนียงรัก, เจ้าคิดถึงพี่ไหม, หรีดรัก, เท่านี้ก็ซึ้ง, คำสารภาพของชายโฉด, บาดหัวใจ, กัลปังหา, จอมใจเวียงฟ้า, ลาทีความระทม, พรุ่งนี้ฉันจะรักเธอจนวันตาย, รักอย่ารู้คลายและอื่น ๆ อีกมากมายเกิน ๓,๐๐๐ เพลง

เพราะเป็นนักร้องในดวงใจ บล็อกไว้อาลัยก็เลยจัดเต็ม ยาวโลดดดด รวบรวมคอลัมน์และข้อมูลเกี่ยวกับคุณสุเทพมาลงบล็อก โดยเฉพาะคอลัมน์เพลงเก่าในนสพ.แทบลอยด์ไทยโพสต์ที่เอามาอัพประจำ คราวนี้ก็มี แต่เสียดายที่คอลัมน์หายไปแล้ว ลองเมล์ไปถามกองบ.ก.ดู ได้คำตอบมาว่า ต้องปรับลดหน้าลงก็เพราะโควิดยังรังควานไม่เลิก ถ้าสถานการณ์ดีขึ้นอาจจะได้อ่านอีกครั้ง ที่ดีใจมากคือได้รู้ว่าผู้เขียนคอลัมน์นี้คือ อาจารย์สมพจน์ สิงห์สุวรรณ และต้องขออภัยที่บางคอลัมน์ไม่ได้บอกที่มา เซฟข้อมูลแแต่ลืมก็อปปี้ลิงค์เก็บไว้ ยังไงก็ขอขอบคุณท่านเจ้าของคอลัมน์ที่นำมาลงบล็อกนี้ทุกท่านเลยค่ะ

ขอแสดงความเสียใจต่อ ครอบครัววงศ์กำแหง ที่ต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไป ขอดวงวิญญาณ คุณลุงสุเทพ ไปสู่สุคติในสัมปรายภพค่ะ







ช่วงนี้โรคโควิดสิบเก้ากำลังระบาดอยู่
ถึงคนป่วยและเสียชีวิตจะน้อยลงก็อย่าวางใจ
อย่าลืมล้างมือ กินร้อน ช้อนใครช้อนมัน รักษาระยะอยู่ห่าง ๆ กัน
เพื่อน ๆ ดูแลสุขภาพกันด้วยจ้า









ลาก่อนสำหรับวันนี้
คำร้อง ชาลี อินทรวิจิตร
ทำนอง สมาน กาญจนะผลิน


ลาก่อนสำหรับวันนี้
ขอลาทีทั้งที่อาลัย
จนกว่าจะพบกันใหม่
ถึงจากไปฝากใจมา

ลาก่อนแล้วอย่าโศกศัลย์
คิดถึงกันทุกวันดีกว่า
จำจากไปเพราะเวลา
หวังว่าคุณคงเห็นใจ

ให้อายุยืนหมื่นปี
ให้ราศรีงามแจ่มใส
ให้คนรักทั่วทั่วไป
ให้โพยภัยพินาศพลัน

ลาก่อนสำหรับวันนี้
ขอลาทีทั้งที่ตื้นตัน
จนกว่าจะถึงวันนั้น
หวังเจอะกันวันนั้นเอย

ลาก่อนสำหรับวันนี้
ขอลาทีทั้งที่อาลัย
จนกว่าจะพบกันใหม่
ถึงจากไปฝากใจมา

ลาก่อนแล้วอย่าโศกศัลย์
คิดถึงกันทุกวันดีกว่า…
จำจากไปเพราะเวลา
หวังว่าคุณคงเห็นใจ

ให้อายุยืนหมื่นปี
ให้ราศรีงามแจ่มใส
ให้คนรักทั่วทั่วไป
ให้โพยภัยพินาศพลัน

ลาก่อนสำหรับวันนี้
ขอลาทีทั้งที่ตื้นตัน
จนกว่าจะถึงวันนั้น
หวังเจอะกันวันนั้นเอย






ภาพจาก youtube.com


‘ลาก่อนสำหรับวันนี้’ สุเทพ วงศ์กำแหง ศิลปินแห่งชาติในดวงใจคนไทยนิรันดร์


“ลาก่อน สำหรับวันนี้

ขอลาที ทั้งที่อาลัย

จนกว่า จะพบกันใหม่

ถึงจากไป ฝากใจมา...”


เพียงได้ฟังวรรคแรก ท่อนแรกของเพลงนี้ ด้วยน้ำเสียงของผู้ขับร้องที่ขยี้หัวใจราว “ขยี้แพรในฟองเบียร์” อย่างนั้น จะหาใครแทนได้ หากมิใช่เสียงของศิลปินแห่งชาติในดวงใจของคนไทยที่ชื่อ สุเทพ วงศ์กำแหง ที่เพิ่งจากเราไปเมื่อเช้าวันพฤหัสบดีที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมานี้เอง

เพลงนี้ชื่อ “ลาก่อนสำหรับวันนี้ เป็นผลงานของสามศิลปินแห่งชาติ คำร้อง ชาลี อินทรวิจิตร ทำนอง สมาน กาญจนะผลิน ขับร้องโดย สุเทพ วงศ์กำแหง


“ลาก่อน แล้วอย่าโศกศัลย์

คิดถึงกัน ทุกวันดีกว่า

จำจาก ไปเพราะเวลา

หวังว่าคุณคงเห็นใจ...”





ครูสมาน ครูสง่า และ ครูชาลี
ภาพจาก komchadluek.net และ บล็อกคุณก๋งแก่(หง่อมจริง ๆ)


ไม่น้อยกว่า ๕๐ ปีมาแล้วที่เราจะได้เคยฟังเพลงนี้จากรายการเพลงทางวิทยุทั่วประเทศ ที่นักจัดรายการเพลงทางวิทยุมักจะนำมาเปิดในตอนท้ายของแต่ละรายการ พร้อมกับการกล่าวอำลาแฟนเพลงช่วงใกล้จะจบรายการ แต่เมื่อมาถึงวันนี้ เพลงนี้คงจะต้องนำมาเปิดในช่วงต้นรายการของแต่ละรายการเพื่อประกอบคำไว้อาลัยด้วยใจรักในชายคนนี้ที่ชื่อ สุเทพ วงศ์กำแหง


“ให้อายุยืน หมื่นปี

ให้ราศี งามแจ่มใส

ให้คนรัก ทั่วทั่วไป

ให้โพยภัย พินาศพลัน...”





ภาพจาก sanook.com


และเมื่อเวลา ๑๖.๓๐ น. วันศุกร์ที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ ณ ศาลาพระครูประจักษ์ วัดธาตุทอง กรุงเทพฯ ได้มีพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพและรดน้ำศพแก่ เรืออากาศตรีสุเทพ วงศ์กำแหง ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล-ขับร้อง) ปี ๒๕๓๓ หลังถึงแก่กรรมด้วยโรคชราในวัย ๘๖ ปี เมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่บ้านเลขที่ ๒๖๗ ซอยปรีดีพนมยงค์ ๔๒ แยก ๗ แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ




บรรยากาศภายในงานเต็มไปด้วยความอาลัยรักของญาติพี่น้อง เพื่อนสนิท ศิลปินแห่งชาติ และคนในวงการบันเทิง ที่มาร่วมแสดงความเสียใจกับครอบครัว นำโดย นายชวน หลีกภัย ประธานสภา และอดีตนายกรัฐมนตรี, นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มาร่วมแสดงความไว้อาลัย รวมถึงศิลปินแห่งชาติ ครูชาลี อินทรวิจิตร, นายชรินทร์ นันทนาคร, สมบูรณ์สุข นิยมศิริ (เปี๊ยก โปสเตอร์), ครูนคร ถนอมทรัพย์, ครูพิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตร, วิรัช อยู่ถาวร, วินัย พันธุรักษ์, สดใส ร่มโพธิ์ทอง, นันทวัน เมฆใหญ่, ศรีไศล สุชาติวุฒิ, วงจันทร์ ไพโรจน์, ธานินทร์ อินทรเทพ, ฎากร เทพทอง, พรเทพ เทพรัตน์, โฉมฉาย อรุณฉาน, ทิพย์วัลย์ ปิ่นภิบาล, จิตติมา เจือใจ, นฤพนธ์ ดุริยพันธ์, รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส, สุชาติ ชวางกูล, เท่ห์-อุเทน พรหมมินทร์, นฤมล ล้อมทอง กรรมการผู้จัดการ ศาลาเฉลิมกรุง รวมถึงบรรดาแฟนเพลงเข้าร่วมพิธีรดน้ำศพอย่างคับคั่ง




กำหนดการสวดพระอภิธรรมศพ เรืออากาศตรีสุเทพ วงศ์กำแหง ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล-ขับร้อง) ปี ๒๕๓๓ ณ ศาลาพระครูประจักษ์ วัดธาตุทอง เขตวัฒนา กรุงเทพฯ รดน้ำศพ/พระราชทานน้ำหลวงอาบศพ วันศุกร์ที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ รดน้ำศพเวลา ๑๕.๐๐ น. พระราชทานน้ำหลวงอาบศพเวลา ๑๗.๐๐ น. สวดพระอภิธรรมวันศุกร์ที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ถึงวันพฤหัสบดีที่ ๕ มีนาคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๙.๐๐ น.




โดยจะมีวงดนตรีอาลัยจาก ๓ วงดนตรี วงกาญจนะผลิน, วงเฉลิมราชย์ และวงดนตรี กรมประชาสัมพันธ์ สลับแสดงดนตรีเพื่อเป็นการไว้อาลัย จากนั้นจะเก็บศพไว้บำเพ็ญกุศล ๑๐๐ วัน และ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม จะดำเนินการของพระราชทานเพลิงศพต่อไป


“ลาก่อน สำหรับวันนี้

ขอลาที ทั้งที่ตื้นตัน

จนกว่า จะถึงวันนั้น

หวังเจอะกัน วันนั้นเอย”



ข้อมูลจากนสพ.แทบลอยด์ไทยโพสต์ ๑-๗ มีนาคม ๒๕๖๓












"เรืออากาศตรี สุเทพ วงศ์กำแหง" เกิดเมื่อวันที่ ๑๒ พ.ค. ๒๔๗๗ ที่จ.นครราชสีมา รับการศึกษาตั้งแต่เบื้องต้นจนจบชั้น ม. ๖ ที่จังหวัดบ้านเกิด โดยหลังจบ ม. ๖ ก็ย้ายเข้ามาอาศัยอยู่กับญาติที่กทม. และด้วยนิสัยรักการวาดเขียนและงานศิลปะเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงได้สมัครเข้าเรียนต่อที่รร.เพาะช่าง ซึ่งระหว่างที่เรียนอยู่ นอกจากท่านจะแสดงฝีมืออย่างโดดเด่นในทางศิลปะแล้ว ยังเป็นนักร้องเสียงดีประจำห้องเรียนอีกด้วย




คุณสุเทพ ได้มีโอกาสรู้จักและคุ้นเคยกับ ครูไศล ไกรเลิศ นักแต่งเพลงผู้มีชื่อเสียง เนื่องจากบ้านอยู่ใกล้กัน เมื่อ ครูไศล มองเห็นแววความสามารถของ คุณสุเทพ ก็คิดจะช่วยสนับสนุนส่งเสริม จึงชักชวนให้มาช่วยงาน เช่น ช่วยเขียนโน้ตเพลง เขียนตัวหนังสือ ตลอดจนติดตามไปช่วยงานในธุรกิจบันเทิงต่าง ๆ เสมอ ทั้งยังได้รับโอกาสให้ร้องเพลงสลับฉากละคร ร้องเพลงตามงานบันเทิงต่าง ๆ รวมไปถึงการทดลองเสียงแทนนักร้องตัวจริงก่อนที่จะทำการอัดเสียงเสมอ จนได้รับคัดเลือกให้ร้องเพลงบันทึกแผ่นเสียงของตนเองบ้าง




ต่อมาท่านได้รับการสนับสนุนจาก พลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์ ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ชื่นชอบการร้องเพลงของท่าน โดยช่วยส่งเสริมท่านในทางต่าง ๆ ทั้งยังชักชวนให้เข้ารับราชการในกองทัพอากาศ โดยได้ประจำอยู่ที่วงดุริยางค์ทหารอากาศ โดยมี ครูปรีชา เมตไตรย์ เป็นผู้ควบคุมวง ระหว่างนั้น คุณสุเทพได้บันทึกแผ่นเสียงมากขึ้นอีก และสถานีวิทยุต่าง ๆ ก็ได้นำเพลงที่ท่านร้องบันทึกแผ่นเสียงนี้ไปเปิดจนเป็นที่รู้จักแพร่หลายอย่างรวดเร็ว




ภายหลังจากออกจากกองทัพอากาศแล้ว คุณสุเทพก็ได้ร้องเพลงเป็นอาชีพหลักอย่างเต็มตัว ได้เข้าร่วมกับคณะชื่นชุมนุมศิลปิน และได้มีโอกาสร้องเพลงทั้งในรายการวิทยุและโทรทัศน์อยู่เนือง ๆ ทำให้ชื่อเสียงเพิ่มขึ้น ได้ร้องเพลงประกอบภาพยนตร์ไทยเป็นจำนวนมาก รวมทั้งได้ร่วมแสดงภาพยนตร์บางเรื่อง ทำให้ท่านเป็นนักร้องที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงภายในระยะเวลารวดเร็ว จนได้รับฉายาจาก รงค์ วงษ์สวรรค์ ว่า "นักร้องเสียงขยี้แพรบนฟองเบียร์" มีผลงานดีเด่นเป็นเวลาต่อเนื่องมานานกว่า ๔๐ ปี




สำหรับ รางวัลเชิดชูเกียรติตลอดชีวิตในวงการบันเทิงนั้น "คุณสุเทพ วงศ์กำแหง" ได้รับพระราชทานรางวัลแผ่นเสียงทองคำ ไม่น้อยกว่า ๕ ครั้ง รางวัลเสาอากาศทองคำในฐานะนักร้องยอดเยี่ยม ๒ ครั้ง และรางวัลอื่น ๆ อีกมากมาย จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล – ขับร้อง) ในปีพ.ศ. ๒๕๓๓




นอกจากนี้ ในด้านการเมือง "สุเทพ วงศ์กำแหง" เป็นศิลปินที่สนใจการเมือง มีส่วนสนับสนุนนักศึกษาให้เรียกร้องประชาธิปไตยสมัยเหตุการณ์ ๑๔ ต.ค. พ.ศ. ๒๕๑๖ เป็นสมาชิกพรรคแนวร่วมสังคมนิยมแห่งประเทศไทย ต่อมาได้ได้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎร สังกัดพรรคพลังใหม่ และได้รับเลือกตั้งหลายสมัย




โดยในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ เคยเข้าร่วมก่อตั้งและเป็นเลขาธิการพรรคพลังใหม่ ซึ่งนำโดยนายแพทย์กระแส ชนะวงศ์ หัวหน้าพรรค ร้อยตรีสมหวัง ศรีชัย รองหัวหน้าพรรค และแกนนำคนสำคัญอาทิเช่น ชัชวาลย์ ชมภูแดง บรรลือ ชำนาญกิจ ทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ได้รับแต่งตั้งเป็นรองหัวหน้าพรรคกิจประชาคม

ทั้งนี้ "สุเทพ" เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร สังกัดพรรคพลังธรรม ในปี พ.ศ. ๒๕๓๑ ได้ร่วมลงนามทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอนายกรัฐมนตรีพระราชทาน เมื่อวันที่ ๕ มี.ค. พ.ศ. ๒๕๔๙ โดยอ้างอิงความตามมาตรา ๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ อีกด้วย






ข้อมูลจาก wikipedia.org









หลายคนอาจจะไม่ทราบว่า สุเทพ วงศ์กำแหง ศิลปินแห่งชาติ นอกจากจะประสบความสำเร็จเป็นนักร้องชื่อดังแล้ว ครั้งหนึ่งท่านยังเคยเป็นนักเขียน เขียนเรื่องราวประสบการณ์ส่วนตัวลงในนิตยสารบันเทิงหลายเล่ม และยังเป็นนักแสดงละครโทรทัศน์และภาพยนตร์ เรื่องที่อยู่ในความทรงจำ ได้แก่เรื่อง สวรรค์มืด, ขบวนการเสรีจีน




ผู้เขียนกลับไปอ่านนิตยสารบันเทิงในอดีตหลายเล่มที่เก็บไว้ เจอข้อเขียนของ สุเทพ วงศ์กำแหง บ่อยครั้ง อย่างตอนหนึ่งที่สุเทพเขียนลงในนิตยสารดาราฉบับ ๑ มกราคม ๒๕๐๑ ในหัวข้อ ‘สุเทพ วงศ์กำแหง เขียนผมยังรักคุณไม่คลาย’ เมื่อสมัยหนึ่ง ที่โรงเรียนเพาะช่าง ชีวิตของผมรุ่งโรจน์ขึ้นที่นั่น ด้วยอาชีพช่างเขียนที่บรรยายความเพ้อฝันลงบนแผ่นผ้า ชีวิตอิสระและการทำงานเพื่อประชาชนนั้นเป็นสิ่งที่ผมรักมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ดังนั้น ผมจึงได้ความรู้อันแตกฉานมาจากสถานศึกษาแห่งนี้เต็มที่ ชีวิตของช่างเขียนหรือดาราก็มีจุดหมายเหมือน ๆ กัน นั่นคือการเสนองานออกสู่ประชาชนให้ได้รับความบันเทิงและพึงพอใจ ผมเองหวังแต่เพียงว่าอย่างมากก็เป็นเพียงช่างเขียนเท่านั้นเอง เห็นจะไม่มีทางอื่นอีกแล้วที่จะก้าวเข้าไปทำหน้าที่ให้ความพึงใจกับคุณดีกว่านั้นแน่







แต่แล้วผมก็ไปถึง เมื่อ ไสล ไกรเลิศ ผู้ได้หมุนเข็มชีวิตของผมไปเสียอีกทางหนึ่ง ด้วยเสียงของผมเอง เพลงคนธรรพ์รำพึง จึงได้รับการต้อนรับจากประชาชนผู้อารีอย่างคับคั่ง หัวใจผมพองโตจนคับอก ถ้าจะบรรยาย ก็เห็นจะหลายสมุดเล่มไทสำหรับความปิติครั้งนั้น ชีวิตผมหมุนไปสู่ความรุ่งโรจน์ในอาชีพนักร้องอย่างรวดเร็ว ผมแทบจะไม่มีเวลาเป็นตัวของตัวเองเลย จากเวทีนี้ไปสู่เวทีนั้น ทั้งแผ่นเสียง ละคร ตลอดจนถึงการปรากฏกายในภาพยนตร์ เพราะคุณเท่านั้นที่เป็นแรงผลักดันให้ชีวิตผมเด่นชัดถึงเพียงนี้ คุณยังรักผมไม่คลายต่างหาก ผมจึงต้องรักคุณไม่คลายดุจเดียวกัน







สุเทพ วงศ์กำแหง เข้าสู่วงการละครเวทีโดย สุวัฒน์ วรดิลก นักเขียนและนักหนังสือพิมพ์อาวุโส ให้แสดงคู่กับ เยาวนารถ ปัญญะโชติ ในละครประวัติศาสตร์สมัยพระเจ้าตากสิน เรื่องจอมดาบพิชัยสงคราม สุเทพเคยให้สัมภาษณ์ว่า เหนื่อยตรงฉากฟันดาบเพราะเขาใช้ดาบจริง ต้องระมัดระวัง พอแสดงไปก็ชักชิน แสดงตามธรรมชาติ เคยมีนักข่าวถาม สุเทพ ว่าชอบแสดงหนังหรือละครมากกว่า สุเทพตอบว่าชอบแสดงหนังมากกว่า เริ่มจากเป็นดาราประกอบในเรื่อง ‘ก่อนอรุณจะรุ่ง’ ของประภาพรรณ นาคทอง เรื่องที่สองคือ ‘วิมานรัก’




เรื่องที่สามคือ ‘สวรรค์มืด’ ของบริษัทกัญชลาภาพยนตร์ฯ สวรรค์มืด ภาพยนตร์เสียงสี ๓๕ มม. จากบทประพันธ์ละครโทรทัศน์ของ สุวัฒน์ วรดิลก นำแสดงโดย สุเทพ วงศ์กำแหง, สืบเนื่อง กันภัย, เพ็ญศรี พุ่มชูศรี, ชาลี อินทรวิจิตร, อดิศักดิ์ เศวตนันท์, พูลสวัสดิ์ ธีมากร และชูศรี มีสมมนต์ กำกับการแสดงโดย รัตน์ เปสตันยี กำกับภาพโดย ประสาท สุขุม ออกแบบเครื่องแต่งกายโดย ม.จ.ไกรสิงห์ วุฒิชัย ออกโดย อุไร ศิริสมบัติ, ปง อัศวินิกุล บันทึกเสียง ปัจจุบันเขายังมีชีวิตอยู่




หนังฉายที่เฉลิมกรุงและเฉลิมบุรี กลางเดือนมกราคม ๒๕๐๑ สวรรค์มืด เล่าเรื่องราวเของเนียร นำแสดงโดย สืบเนื่อง กันภัย สาวกำพร้าไปขโมยอาหารของเศรษฐีคนหนึ่งซึ่งตั้งใจซื้อไปเลี้ยงสุนัขที่บ้าน เธอวิ่งหนีตำรวจหลบไปอยู่ในรถเก็บขยะของชูวิทย์ คนเก็บขยะ นำแสดงโดย สุเทพ วงศ์กำแหง ชูวิทย์พาเนียรไปซ่อนที่บ้าน ทั้งสองเกิดหลงรักกัน จนกระทั่งชูวิทย์ถูกเกณฑ์ทหาร ถูกส่งไปรบและถูกสะเก็ดระเบิดจนตาบอด ขณะเดียวกันเนียรได้รับการอุปการะเลี้ยงดูจากเศรษฐีหญิงใจบุญ เมื่อชูวิทย์กลับมาหาเนียร เธอทำตัวไม่ถูก ทุกอย่างไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป







อีกเรื่องหนึ่งที่ยังคงความประทับใจกับหลาย ๆ คน ได้แก่ ‘ขบวนการเสรีจีน’ จากบทประพันธ์ของ สด กูรมะโรหิต เป็นหนังขาวดำ ๓๕ มม. เสียงในฟิลม์ อำนวยการสร้างโดย คันจราภาพยนตร์, ประสาท สุขุม ถ่ายภาพ, ลัดดา สารตายน เป็นผู้กำกับม ผู้แสดงได้แก่ มิสคูมี่, สุเทพ วงศ์กำแหง, สวลี ผกาพันธุ์, อดิศักดิ์ เศวตนันท์, ประจวบ ฤกษ์ยามดี, ศรินทิพย์ ศิริวรรณ, อดิเรก จันทร์เรือง ‘ขบวนการเสรีจีน’ เป็นภาพยนตร์ชีวิตการต่อสู้ของนักศึกษาจีนผู้มีความรักชาติเหนือสิ่งอื่นใดในช่วงญี่ปุ่นยึดครอง ‘ขบวนการเสรีจีน’ ฉายที่โรงภาพยนตร์คาเธ่ย์ เยาวราช ในวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๐๑ หนังได้รับรางวัลตุ๊กตาทองบทประพันธ์ยอดเยี่ยมโดย สด กูรมะโรหิต และดาราประกอบหญิงยอดเยี่ยมมอบให้กับ ศิรินทิพย์ ศิริวรรณ ทางบริษัทคาเธ่ย์ออร์กาไนเซชันซื้อภาพยนตร์เรื่องนี้จัดจำหน่ายทั่วเอเชีย









แด่.. “พี่เทพ” ครูที่แสนดี
โดย ธานินทร์ อินทรเทพ



เช้ามืด ๒๗ ก.พ. เสียงโทรศัพท์ดังขึ้น..ใครวะ โทรมาแต่เช้า...

“พี่เล็ก” เสียงจากปลายสายดูร้อนรน.. “พี่เทพ เสียแล้วตอนตี ๔”

เฮ้ย! เราใจหายวูบ ทั้ง ๆ ที่ได้พยายามทำใจอยู่บ้าง เพราะปีที่แล้ว พี่เทพ เข้าๆ ออก ๆ รพ. อยู่ประจำ แต่ก็ไม่นึกเลยว่าจะรวดเร็วจนตั้งตัวไม่ทัน จากนั้นภาพความหลังเก่า ๆ ก็ผุดขึ้นมาเต็มในหัว

ย้อนอดีต ปลายปี ๒๕๐๔ พี่เทพ ไปงานวันเกิด อาพยงค์ มุกดา ครูคนแรกของผมที่ตึก มุกดา ดุริยางค์ แถวสามแยกไฟฉาย ฝั่งธนฯ




อาพยงค์ พูดกับ พี่เทพ ว่า.. “เทพ พี่ฝากลูกศิษย์คนนึง ชื่อ ธานินทร์ ชอบ เทพ มาก ร้องแต่เพลง เทพ พี่ฝากให้ เทพ ช่วยสนับสนุนต่อ ถ้าอยู่กับพี่คงไปได้ไม่ไกล เพราะวงดนตรีของพี่ต้องเดินสายออกต่างจังหวัดบ่อย คงไม่เหมาะกับแนวเพลงที่เค้าร้อง”

พี่เทพ มองหน้าผม แล้ว อาพยงค์ ก็เปิดเพลงที่อัดเสียงผมไว้ ให้ พี่เทพ ฟัง พี่เทพ ฟังแล้วบอกโอเค. แต่มีข้อแม้เรื่องชื่อ ธานินทร์ อินทรแจ้ง ต้องเปลี่ยนเป็น “ธานินทร์ อินทรเทพ” ซึ่ง อาพยงค์ ก็ไม่มีข้อแม้แต่อย่างใด




ผมหิ้วกระเป๋าเสื้อผ้ามาอยู่กับ พี่เทพ ที่ซอยจันทโรจน์วงค์ ย่านถนนพหลโยธิน และ พี่เทพ ก็พาไปออกงานที่ พี่เทพ ไปร้องตลอด โดยแนะนำผมให้แฟนเพลงรู้จัก และว่า นี่คือตัวแทนของ พี่เทพ ในอนาคต

พี่เทพ พาผมไปร้อง นาทูริสต์ ไนท์คลับ ถนนสาทรใต้ ซึ่ง พี่เทพ ร้องอยู่ประจำ จน อาจารย์แมนรัตน์ มาได้ยินผมร้องเพลง “รักเอย” ที่ท่านแต่ง จึงบอก พี่เทพ ว่าให้นำเพลงนี้ไปอัดเสียง โดยให้ผมร้อง

นั่นคือการบันทึกเสียงเพลงแรกเมื่อมาอยู่กับ พี่เทพ




ช่วงนั้น พี่เทพ เป็นสุดยอดนักร้องในประเทศไทย นักแต่งเพลงไม่ว่าเก่าหรือใหม่ก็อยากให้ พี่เทพ ร้องเพลงที่ตัวเองแต่งกันทั้งนั้น

มีนักแต่งเพลงมือใหม่ชื่อ จงรัก จันทร์คณา เอาเพลงมาให้ พี่เทพ ร้อง เพลง “เหมือนคนละฟากฟ้า” พี่เทพ บอกว่า "เพลงพี่ฮิทมากมายแล้ว เพลงนี้น่าจะให้ ธานินทร์ ร้อง รับรองดังแน่ จะเป็นการสานต่อให้ ธานินทร์"




แล้วก็เป็นจริง..เพลงนี้ได้รับรางวัล “แผ่นเสียงทองคำพระราชทาน” ปี ๒๕๐๗

จากถนนพหลโยธิน พี่เทพ ได้ย้ายไปอยู่ซอยสวนพลู ทุ่งมหาเมฆ และที่นั่น คือจุดเริ่มต้นของการรวมตัว “สุเทพโชว์” ก็มีพี่เทพ, พี่อ๊อด-อดิเรก จันทร์เรือง, พี่ปื๊ด-ทนงศักดิ์ ภักดีเทวา, อดุลย์ กรีน แล้วก็ผม-เด็กสุด




ความเป็นครูของ พี่เทพ ไม่ใช่แค่ให้ความรู้ในการร้องเพลงอย่างเดียว เวลาพาไปทานอาหารตามโรงแรมหรู ๆ ใหญ่ ๆ พี่เทพ จะคอยสอนวิธีการกินอาหารด้วยเอาใจใส่ ช้อนควรถืออย่างไร ส้อมควรถือยังไง เวลาตักซุปควรตักอย่างไร แม้กระทั่งเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ พี่เทพ ก็จะคอยแนะนำอยู่ตลอด




ช่วงหนึ่ง พี่เทพ หันไปเล่นการเมือง เป็นส.ส.อยู่พักใหญ่ แต่คงด้วยได้เห็นสัจธรรมบ้างอย่าง จึงได้กลับมาร้องเพลงอีก ซึ่งแฟน ๆ ก็ยังคงให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น

เมื่อสัก ๕-๖ ปีที่ผ่านมา ทรูฯ จะจัดคอนเสิร์ต “สามตำนานเพลงรักแห่งสยาม” โดยจะรวม พี่เทพ, พี่ชรินทร์ นันทนาคร และผมเป็นครั้งแรกบนเวที แต่ไม่สามารถจะเจรจาให้พี่ทั้งสองร่วมเล่นคอนเสิร์ทเวทีเดียวกันได้ เหตุผลใครไม่รู้ แต่ผมรู้!




ทรูฯ จึงมอบให้ผมเป็นคนเจรจา ซึ่งก็ต้องบอกล่ะว่า.. พี่เทพ ง่าย ไม่มีปัญหา ส่วน พี่ชรินทร์ ยากมาก สารพัดเรื่อง ผมเทียวไปเทียวมาบ้าน พี่ชรินทร์ อยู่หลายรอบ จน พี่ชรินทร์ บอกว่า “ธานินทร์ มีปัญหาเรื่องเงินเอาที่เรา”

ผมตอบไปว่า “พี่ให้ผม ๆ ไม่มีปัญญาคืนพี่หรอก พี่ไปร้องเพลงร่วมกับผมกับพี่เทพดีกว่า”

แกก็ไม่ตอบ จนในที่สุดผมเอาเงินมัดจำไปให้ที่บ้าน พี่ชรินทร์ บอกว่า “อย่าเอาเงินมามัดมือเรา พี่อี๊ด-เพชรา นั่งอยู่ใกล้ ๆ ได้ยินจึงบอกกับผม “เล็ก เค้าไม่เอา มาให้พี่” เท่านั้นแหละ จึงได้เกิดคอนเสิร์ต “สามตำนานเพลงรักแห่งสยาม”

โดยในวันที่แถลงข่าว พิธีกรได้สัมภาษณ์ พี่ชรินทร์ ว่า มาคอนเสิร์ตนี้ได้อย่างไร? พี่ชรินทร์ตอบ “ไม่รู้มาได้ไง เพชรา ซิ เค้ารัก ธานินทร์ เราถึงต้องมา”




หลังจบคอนเสิร์ต “สามตำนานเพลงรักแห่งสยาม” พี่เทพ-พี่ชรินทร์ ก็กลับมารักกันเหมือนเดิม ไปไหนไปด้วยกัน จนถึงวันที่ พี่เทพ มาจากไป

พี่เทพ ครับ... ผมรู้ว่า พี่เทพ รักผม และพี่ก็รู้ คนใกล้ชิดพี่ก็รู้ว่าผมรักเคารพพี่เพียงใด

พี่ครับ..พี่เหนื่อยมาพอแล้วหลับให้สบายเถิดครับ ทุกคนเสียใจอาลัยพี่

เช้าวันที่พี่จากไป ท้องฟ้ามืดครึ้มทั้งที่ไม่ใช่ฤดูของมัน…

แม้แต่ฟ้ายังรํ่าไห้กับ “ครูที่แสนดี!"


ข้อมูลจาก เพจ Anjali Jumnong







รวมเพลงประทับใจ (๑) สุเทพ วงศ์กำแหง




เพลงแห่งความทรงจำ สุเทพ วงศ์กำแหง (๑)




เพลงแห่งความทรงจำ สุเทพ วงศ์กำแหง (๒)









บีจีจากคุณจอมแก่นแสนซน กรอบจากคุณ goffymew ไลน์จากคุณญามี่

Free TextEditor





 

Create Date : 05 พฤษภาคม 2563    
Last Update : 7 พฤษภาคม 2563 21:09:39 น.
Counter : 5976 Pageviews.  

คอนเสิร์ต "เพื่อครู...ชาลี อินทรวิจิตร & สุรพล โทณะวณิก สองศิลปินแห่งชาติ"




ภาพจาก เพจศาลาเฉลิมกรุง


อีกหน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์ของวงการเพลงไทยกำลังจะปรากฏขึ้นในต้นเดือนมีนาคมนี้ โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ร่วมกับสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์, สมาคมนักร้องแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กรมสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และมูลนิธิศาลาเฉลิมกรุง เตรียมจัดคอนเสิร์ต “เพื่อครู” ชาลี อินทรวิจิตร & สุรพล โทณะวณิก สองศิลปินแห่งชาติ ในวันอาทิตย์ที่ ๘ มีนาคม ๒๕๖๓ รอบ ๑๔.๐๐ น. ณ หอประชุมใหญ่ ศูยน์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย




คอนเสิร์ตนี้จัดขึ้นเพื่อหารายได้เพื่อช่วยเหลือ ครูชาลี อินทรวิจิตร ศิลปินแห่งชาติ สาขา ศิลปะการแสดง ผู้ประพันธ์คำร้อง-ผู้กำกับภาพยนตร์ ปี ๒๕๖๓ และ ครูสุรพล โทณะวณิก ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง การประพันธ์เพลงไทยสากล ปี ๒๕๔๐ ทั้งสองท่านมีผลงานเพลงมากมายเป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชน และเป็นผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ

ครูชาลี อินทรวิจิตรเริ่มชีวิตในวงการบันเทิงมาจากการเป็นนักร้องนักแสดงจากละครเวทีมาจนถึงยุคภาพยนตร์ ต่อมาจึงหันมาเป็นนักแต่งเพลงอย่างจริงจัง เป็นผู้ประพันธ์คำร้องบทเพลงที่ยิ่งใหญ่ฝากไว้ในแผ่นดินอย่างมากมายกว่า ๑,๐๐๐ เพลง เป็นผู้กำกับภาพยนตร์ และได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ผู้ประพันธ์คำร้อง-ผู้กำกับภาพยนตร์ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๓๖ มีผลงานประพันธ์คำร้องเพลงที่มีชื่อเสียง ได้แก่ สดุดีมหาราชา, แสนแสบ, ท่าฉลอม, สาวนครชัยศรี, ทุ่งรวงทอง, มนต์รักดอกคำใต้, แม่กลอง, เรือนแพ, จำเลยรัก ฯลฯ




เดิมชื่อ สง่า อินทรวิจิตร เกิดเมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ ที่จังหวัดสมุทรสาคร จบการศึกษาจากโรงเรียนอำนวยศิลป์และโรงเรียนวิศวกรรมรถไฟรุ่นแรก แผนกการเดินรถ มีผลงานการประพันธ์คำร้องเพลงกว่า ๑,๐๐๐ เพลง มีผลงานการแสดง เช่น สวรรค์มืด (๒๕๐๑), จอมใจเวียงฟ้า (๒๕๐๕), ไอ้ผาง ร.ฟ.ท. และกำกับภาพยนตร์อีกจำนวนมาก เช่น ปราสาททราย (๒๕๑๒), กิ่งแก้ว (๒๕๑๓) และ สื่อกามเทพ (๒๕๑๔) เป็นต้น




เคยสมรสกับนักแสดงหญิง ศรินทิพย์ ศิริวรรณ แต่หายไประหว่างการถ่ายทำเรื่อง อีจู้กู้ปู่ป้า ของ กำธร ทัพคัลไลย เมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๓๐ จนถึงปัจจุบันยังไม่พบตัว ภายหลังเหตุการณ์นั้น ครูชาลี ได้แต่งเพลงเพื่อระลึกถึง โดยใช้ทำนองเพลง Aubrey ของ เดวิด เกตส์ แห่งวงเบรด (Bread) ใช้ชื่อเพลงว่า “เมื่อเธอจากฉันไป” ขับร้องโดย พรพิมล ธรรมสาร ต่อมานำมาขับร้องใหม่โดย อรวี สัจจานนท์




ส่วน ครูน้อย สุรพล โทณะวณิก นั้นเกิดที่กรุงเทพมหานคร แต่เป็นลูกกำพร้าตั้งแต่อายุ ๖ ขวบ ต้องอาศัยอยู่กับวัด ในวัยเด็กได้ติดตาม พระครูคุณรสศิริขันธ์ เจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ ไปอยู่ที่จังหวัดสุรินทร์ จนเรียนจบชั้น ม.๓ แล้วย้ายไปอยู่จังหวัดนครราชสีมา ก่อนจะย้ายกลับมากรุงเทพฯ




ในวัยหนุ่ม สุรพล โทณะวณิก ทำงานที่โรงละครเวิ้งนครเกษม ได้รู้จักครูเพลง นักดนตรี และนักแสดงในวงการ ก่อนจะได้ไปช่วยงานอยู่กับ สุวัฒน์ วรดิลก และ ศักดิ์เกษม หุตาคม (อิงอร) และได้ทำงานเขียนเรื่องสั้นให้กับหนังสือพิมพ์และนิตยสารหลายฉบับ เช่น เพลินจิต, แสนสุข (วันอาทิตย์) และ ชาวกรุง เป็นนักข่าวอาชญากรรม และเคยดำรงตำแหน่งบรรณาธิการหนังสือพิมพ์




สุรพล โทณะวณิก เริ่มแต่งเพลงครั้งแรกประมาณปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ผลงานเพลงที่มีชื่อเสียง เช่น “ลาแล้วแก้วตา” และ “จูบ” ขับร้องโดย พิทยา บุณยรัตพันธ์, “รอ” “ถมไม่เต็ม” “ในโลกแห่งความฝัน” ขับร้องโดย สุเทพ วงศ์กำแหง, “ใครหนอ” และ “ฟ้ามิอาจกั้น” ขับร้องโดย สวลี ผกาพันธุ์, “ยามรัก” และ “แม่เนื้ออุ่น” ขับร้องโดย ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์, “แตกดังโพละ” ขับร้องโดย มีศักดิ์ นาครัตน์ ฯลฯ




ผลงานเพลงในยุคหลัง เช่นเพลง “ลมรัก” และ “อยากลืมกลับจำ” ในปี พ.ศ. ๒๕๒๔ ขับร้องโดย วงเดอะฮอตเปปเปอร์ซิงเกอร์ ผุสดี เอื้อเฟื้อ และ รุ่งพิรุณ เมธารมณ์ ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทานประจำปี พ.ศ. ๒๕๒๖

เคยมีผลงานกำกับภาพยนตร์ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๑๕-๒๕๑๖ เรื่อง “ไอ้แกละเพื่อนรัก” นำแสดงโดย สรพงศ์ ชาตรี, นัยนา ชีวานันท์ และ “อีหนู” หรือ ๑๓ สาว ๑๑ บริสุทธิ์ พ.ศ. ๒๕๑๖ นำแสดงโดย กรุง ศรีวิไล

ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทานจากเพลง “ใครหนอ”, “ในโลกแห่งความฝัน” และ “เพชรตัดเพชร” ในปี พ.ศ. ๒๕๐๗ และได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (การประพันธ์เพลงไทยสากล) ประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๐




ในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ สุรพล โทณะวณิก ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติผู้ประพันธ์เพลงดีเด่นในอดีตจากโครงการ เพชรในเพลง ครั้งที่ ๗ จากเพลง ใครหนอ ขับร้องโดย สวลี ผกาพันธ์ ได้รับในวัน “ภาษาไทยแห่งชาติ” วันพฤหัสบดีที่ ๒๙ กรกฎาคสม พ.ศ. ๒๕๕๓ ณ ศูยน์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

ครูทั้งสองท่านเคยจัดคอนเสิร์ตร่วมกันมาแล้ว ๒ ครั้ง ชื่อ “คอนเสิร์ตวันดวลเพลง ชาลี อินทรวิจิตร - สุรพล โทณะวณิก” แต่ครั้งนี้จะยิ่งใหญ่กว่าทั้งสองครั้งรวมกัน เพราะจะเป็นการรวมตัวรวมใจของนักร้องและนักดนตรีทุกรุ่น โดยนำบทเพลงผลงานการประพันธ์ของ ครูชาลี และ ครูสุรพล มาขับร้องทุกคน







ถ่ายทอดบทเพลงโดยศิลปินแห่งชาติ สุเทพ วงศ์กำแหง, ชรินทร์ นันทนาคร, รวงทอง ทองลั่นธม, เศรษฐา ศิระฉายา, วิรัช อยู่ถาวร ร่วมด้วยนักร้องคุณภาพ สุดา ชื่นบาน, ฉันทนา กิติยพันธ์, ศรวณี โพธิเทศ, รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส, ศรีไศล สุชาตวุฒิ, วินัย พันธุรักษ์, วิชัย ปุญญะยันต์, นันทวัน เมฆใหญ่ สุวรรณปิยะศิริ, โฉมฉาย อุรณฉาน, ทิพย์วัลย์ ปิ่นภิบาล, อุมาพร บัวพึ่ง, จิตติมา เจือใจ, ชรัส เฟื่องอารมย์, นนทิยา จิวบางป่า, ไกรวิทย์ พุ่มสุโข, อรวรรณ เย็นพูนสุข, ดิเรก อมาตยกุล, สุนทร สุจริตฉันท์, ตวงสิทธิ์ เรียมจินดา, วสุ แสงสิงแก้ว, พริมรตา เดชอุดม, ศรัณย์ คุ้งบรรพต รวมถึงศิลปินจากรายการประกวดร้องเพลง The Golden Song สุธีศักดิ์ ภักดีเทวา(โจ้), โชคชัย หมู่มาก (แอ๊ค), ดนุพงศ์ หลงสกุลณี (สิงห์), ซาจีร่า มูฮัมหมัด (เอ็มม่า) ซึ่งบรรเลงโดย วงเฉลิมราชย์ ควบคุมโดย อ.วิรัช อยู่ถาวร (ศิลปินแห่งชาติ)







รายได้จากการจัดงานเพื่อ ครูชาลี อินทรวิจิตร และ ครูสุรพล โทณะวณิก บัตรราคา ๒,๐๐๐ /๑,๕๐๐ /๑,๐๐๐ และ ๕๐๐ บาท ผู้ที่สนใจสามารถซื้อบัตรได้ที่ ศาลาเฉลิมกรุง โทร.๐-๒๒๒๕-๘๗๕๗-๘, ๐-๒๖๒๓-๘๑๔๘-๙ และไทยทิคเก็ตเมเจอร์โทร. ๐-๒๒๖๒-๓๔๕๖ https://www.thaiticketmajor.com หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนวัฒนธรรม ๑๗๖๕ และติดตามข่าวสารได้ทาง https://www.culture.go.th , เฟสบุ๊กกรมส่งเสริมวัฒนธรรม และ Line @ วัฒนธรรม





ข้อมูลจาก
เพจศาลาเฉลิมกรุง
bangkoklifenews.com
นสพ.แทบลอยด์ไทยโพสต์ ๒๓-๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓






บีจีจากเวบ wallcoo

Free TextEditor





 

Create Date : 20 กุมภาพันธ์ 2563    
Last Update : 24 กุมภาพันธ์ 2563 23:17:40 น.
Counter : 4213 Pageviews.  

เพลง "บุพเพสันนิวาส"




ภาพจาก เพจ Arthit Kannikar








บุพเพสันนิวาส
คำร้อง สุรัฐ  พุกกะเวส
ทำนอง  เวส  สุนทรจามร


เมื่อคิดให้ดีโลกนี้ประหลาด
บุพเพสันนิวาสที่ประสาทความรักภิรมย์
คู่ใครคู่เขารักจะคอยเฝ้าชม
คอยภิรมย์เรื่อยไป


ขอบน้ำขวางหน้า ขอบฟ้าขวางกั้น
บุพเพยังสรรค์ประสบให้ได้พบสบรักกันได้
ห่างกันแค่ไหนเขาสูงบังกั้นไว้
รักยังได้บูชา


* ความรักศักดิ์ศรี
รักไม่มีพรมแดน รักไม่มีศาสนา
แม้นใครบุญญาได้ครองกันมา
พรหมลิขิตพาชื่นใจ


** รักเหมือนโคถึกที่คึกพิโรธ
ความรักเช่นนั้นให้โทษ
จะไปโกรธโทษรักไม่ได้
ไม่ใช่บุพเพสันนิวาสแน่ไซร้ รักจึงได้แรมลา







ภาพจาก เพจ Sarawut Itsaranuwut


‘บุพเพสันนิวาส’ สุเทพ วงศ์กำแหง อมตะวาทะแห่งรักของ สุรัฐ พุกกะเวส


“เมื่อคิดให้ดีโลกนี้ประหลาด

บุพเพสันนิวาสที่ประสาทความรักภิรมย์

คู่ใครคู่เขารักจะคอยเฝ้าชม

คอยภิรมย์เรื่อยไป...”


จบแต่ยังไม่จบ คือจบไม่ได้ เพราะดูคล้ายแฟนละครเขาไม่ยอมให้จบ นั่นก็คือละครยอดฮิตของช่อง ๓ เรื่อง “บุพเพสันนิวาส” ทั้ง ๆ ที่ได้อำลาจอไปแล้วเมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๖๑ ซึ่งเป็นการออกอากาศตอนจบหรือตอนอวสานนั่นเอง แต่ด้วยความฮิตติดเทรนระดับปรากฏการณ์พิเศษขนาดนี้ ออเจ้าทั้งหลายก็ยังได้ชม “บุพเพสันนิวาส” ตอนพิเศษต่อมาอีกในวันที่ ๑๒ และอีก ๒ ตอน คือในวันที่ ๑๘ และ เมษายน แล้วก็ยังมีประกาศจากทีมผู้สร้างที่ค่อนข้างเป็นทางการว่า ขณะนี้กำลังเตรียม “บุพเพสันนิวาส” ภาค ๒ กันแล้ว ภายใต้ชื่อว่า “พรหมลิขิต” โดยคู่พระคู่นางและนักแสดงที่แทบจะเป็นทีมเดียวกันทั้งหมด












“ขอบน้ำขวางหน้า ขอบฟ้าขวางกั้น

บุพเพยังสรรค์ประสบให้ได้พบสบรักกันได้

ห่างกันแค่ไหนเขาสูงบังกั้นไว้

รักยังได้บูชา...”


แต่เนื้อเพลงที่คุ้นเคยนี้เป็นต้นฉบับเดิมเพลงเดิมที่แต่งคำร้องโดย สุรัฐ พุกกะเวส ทำนองโดย เวส สุนทรจามร ผู้ขับร้องคนแรกคือ ประพนธ์ สุนทรจามร ประมาณปี ๒๔๙๕ นั่นคือเมื่อ ๖๖ ปีมาแล้ว เป็นเพลงที่โด่งดังมาตลอดทุกยุคทุกสมัย รู้จักกันดีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ มาถึงวันนี้ลองเข้าไปเปิดดูในยูทูบ อยากรู้ว่ามีคนฟังไปกี่ครั้ง รู้สึกแปลกใจที่ต้นฉบับเดิมมีคนฟังอยู่เพียงเล็กน้อย เนื่องด้วยเพิ่งมีการนำเข้าไปไว้ในยูทูบเมื่อไม่นานมานี้เอง ฉบับที่เผยแพร่เมื่อ ๓๐ ตุลาคม ๒๐๑๗ มีผู้เข้าชม ๕๕๖ ครั้ง ส่วนฉบับที่เผยแพร่เมื่อ ๒๘ พฤจิกายนปีเดียวกัน มีผู้เข้าชม ๖๒๔ ครั้ง เมื่อรวมกันแล้วก็เพิ่งมีผู้เข้าชมเพียง ๑,๑๔๑ ครั้ง




คลิกฟังเพลง






ส่วนฉบับต่อมาซึ่งขับร้องโดย ชาญ เย็นแข กระเตื้องขึ้นมาเล็กน้อยนั่นคือฉบับเผยแพร่เมื่อ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๐๑๕ มีผู้เข้าชม ๕,๖๖๕ ครั้ง ฉบับเผยแพร่เมื่อ ๔ กันยายน ๒๐๑๖ มีผู้เข้าชม ๖,๐๓๙ ครั้ง รวมแล้วก็จะมีผู้เข้าชม ๑๑,๗๐๔ ครั้ง

ฉบับที่ได้รับการต้อนรับมากที่สุดในกลุ่มเพลงไทยสากลมาตรฐาน น่าจะเป็นฉบับของ สุเทพ วงศ์กำแหง ศิลปินแห่งชาติ เผยแพร่เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๐๑๐ เพียงฉบับเดียวก็มีผู้เข้าชมถึง ๗๘๒,๗๐๐ ครั้ง (๗๘๐,๐๐๐ วิวยูทูบ) ในขณะนี้




คลิกฟังเพลง






คลิกฟังเพลง



แต่เมื่อดูสถิติผู้เข้าชมเพลงใหม่ที่แต่งขึ้นเป็นเพลงประกอบละครเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” ยอดฮิตที่เป็นกระแสนิยมไทยอยู่ในขณะนี้ซึ่งใช้ชื่อเดียวกันคือ “บุพเพสันนิวาส” ผลงานของ วิเชียร ตันติพิมลพันธ์ นักแต่งเพลงละคร ขับร้องโดย ไอซ์ ศรันยู วินัยพานิช เผยแพร่เมื่อ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๐๑๘ ฉบับเดียวขณะนี้มีผู้เข้าชมถึง ๓๓,๓๕๑,๑๗๖ ครั้ง (๓๓ ล้านวิวยูทูบ) ทั้ง ๆ ที่เป็นรูปแบบเพลงประกอบละครที่ฟังสบาย ๆ เพลงหนึ่ง โดยไม่ต้องมีเนื้อหาหรือปรัชญาให้เข้มข้นคมคำเลิศล้ำนัก แต่ก็เป็นที่เชื่อได้ว่า หลังละครจบไปไม่เกินสามหรือสี่เดือนคนก็แทบจะลืมกันแล้ว หรือจนกว่า “บุพเพสันนิวาส” ภาค ๒ จะกลับมาใหม่ ส่วนเพลงที่จะยังเหลืออยู่ให้ได้ฟังกันต่อไปเป็นสิบเป็นร้อยปี ก็จะยังเป็นเพลง “บุพเพสันนิวาส” ต้นฉบับแรก อันเป็น “อมตะวาทะแห่งรัก” ของ สุรัฐ พุกกะเวส เพลงเดียวนั้นตลอดไป


“ความรักศักดิ์ศรี

รักไม่มีพรมแดน รักไม่มีศาสนา

แม้นใครบุญญาได้ครองกันมา

พรหมลิขิตพาชื่นใจ...”









ภาพจาก เพจ Sarawut Itsaranuwut


คลิกชมภาพวาดนักแสดงฝีมือคุณคุณอาทิตย์ และ คุณสราวุธ ได้อีกที่บล็อกนี้ค่ะ
สุขสันต์วันสงกรานต์ด้วยภาพวาดงาม ๆ จากละคร "บุพเพสันนิวาส"



ข้อมูลจาก นสพแทบลอยด์ไทยโพสต์ ๑๖-๒๑ เมษายน ๒๕๖๑







บีจีจากเวบ wallcoo กรอบจากคุณ goffymew

Free TextEditor





 

Create Date : 16 มกราคม 2563    
Last Update : 17 มกราคม 2563 5:13:53 น.
Counter : 7101 Pageviews.  

เพลง "จอมใจเวียงฟ้า"




ผลงานครูจักรพันธุ์ โปษยกฤต
ภาพจาก insightartsofthailand.blogspot.com


ไม่ได้อัพเพลงให้ฟังซะนาน เลือกเพลงลูกกรุงเก่า ๆ เหมือนเคย เพลงนี้เป็นหนึ่งในเพลงที่ชอบมากที่สุด คิดว่าคงไม่ค่อยมีคนรู้จักเพลงนี้เท่าไหร่ ต้องกราบขอบคุณ ครูชาลี อินทรวิจิตร และ ครูสมาน กาญจนะผลิน ที่ร่วมกันประพันธ์เพลงนี้ออกมาได้ไพเราะมาก ๆ และยิ่งร้องโดย คุณสุเทพ วงศ์กำแหง ด้วย เพลงเลยเพราะมากถึงมากที่สุด และขอบคุณท่านเจ้าของคอลัมน์ที่เขียนถึงเพลงเก่า ๆ ในนสพ.แทบลอย์ไทยโพสต์ผ่านบล็อกนี้ด้วย เราแฮ้บมาอัพบล็อกตลอด เสียดายที่ไม่มีทั้งชื่อคอลัมน์และผู้เขียน ยังไงก็ขอให้มีคอลัมน์นี้ต่อไปอีกนาน ๆ เลยค่ะ

อยากชวนเพื่อน ๆ ไปชมนิทรรศการหุ่นกระบอกสามก๊กของครูจักรพันธุ์ค่ะ งานจัดถึงเดือน ก.พ.ปีหน้า เราไปชมมาแล้วประทับใจมาก ทำบล็อกไว้ คลิกลิงค์เข้าไปชมภาพได้เลยจ้า

นิทรรศการหุ่นกระบอกเรื่อง "สามก๊ก ตอนโจโฉแตกทัพเรือ"









จอมใจเวียงฟ้า

คำร้อง ชาลี อินทรวิจิตร
ทำนอง สมาน กาญจนะผลิน


โอ้เวียงฟ้ามุกดาสวรรค์
งามผ่องพรรณทั่วสรรพางค์
จะพิศใดงามไม่สร่าง
น้ำใจดั่งน้ำค้าง สำอางทั่วไป


กุหลาบเมื่อยามแย้ม
ไม่แจ่มเท่าเธอยิ้ม น้องพิมพ์มาจากใคร
มุกงามประดับใจวิไลสะอาดตา
โสภาเสน่ห์นวล


ชื่อเวียงฟ้าฟ้าห่วงถวิล
คงจ่อจินต์ถวิลรัญจวน
พี่หรือจะไม่ใจป่วน
เพ้อรำพึงถึงนวลหลงครวญถึงนาง


เฝ้าแต่จอดใจรัก เจ้าจากไปใจร้าว
เพราะใจเจ้าจืดจาง
พี่รักไม่สร่าง ห่างน้องจึงเศร้า
ครวญถึงเจ้าเวียงฟ้า









'จอมใจเวียงฟ้า' สุเทพ วงศ์กำแหง บนอักษรศิลป์ของ ชาลี อินทรวิจิตร


“โอ้เวียงฟ้ามุกดาสวรรค์

งามผ่องพรรณท้่วสรรพางค์

จะพิศใดงามไม่สร่าง

น้ำใจดั่งน้ำค้าง สำอางทั่วไป...


นี่คือเพลงที่มีชื่อว่า “จอมใจเวียงฟ้า” ผลงานเพลงยิ่งใหญ่อยู่ในหัวใจของนักนิยมเพลงไทยมาตลอดเวลา ๕๗ ปีที่ผ่านมา ถ้าเป็นคนก็ถือว่าใกล้ววัยเกษียณมากแล้ว คือมีอายุเกือบจะ ๖๐ ปี เป็นผลงานร่วมกันของสามศิลปินแห่งชาติ คำร้อง ชาลี อินทรวิจิตร ทำนอง สมาน กาญจนะผลิน ขับร้องโดย สุเทพ วงศ์กำแหง เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ไทยชื่อเดียวกัน คือรื่อง “จอมใจเวียงฟ้า”







“จอมใจเวียงฟ้า” เป็นเพลงที่ได้รับการยกย่องจากนักนิยมเพลงไทยว่าเป็นสุดยอดของ “อักษรศิลป์ในบทเพลง” เพราะไม่เพียงเป็น “กวี” แต่เป็น “กวีที่เหนือกวี” ที่โดดเด่นและมีผู้กล่าวขวัญถึงมากที่สุด ก็คือท่อนที่สอง ซึ่งแม้แต่ พร พิรุณ ศิลปินแห่งชาตินักแต่งเพลงสุดยอดฝีมืออีกท่านหนึ่ง ก็ได้เคยกล่าวไว้หลายครั้งว่าเนื้อเพลง “จอมใจเวียงฟ้า” ท่อนนี้ “ครูชาลี” ท่านเขียนได้สุดยอดจริง ๆ


“กุหลาบเมื่อยามแย้ม

ไม่แจ่มเท่าเธอยิ้ม น้องพิมพ์มาจากใคร

มุกงามประดับใจวิไลสะอาดตา

โสภาเสน่ห์นวล...”











“จอมใจเวียงฟ้า” เป็นภาพยนตร์ไทยที่ออกฉายเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๖ จากบทประพันธ์ของ “กัญชลีกร” สร้างโดย สนั่นศิลป์ภาพยนตร์ โดยมี สนั่น จรัสศิลป์ เป็นผู้อำนวยการสร้าง กำกับการแสดงโดย วสันต์ สุนทรปักษิณ เป็นผู้จัดการทั่วไปโดย ประสพ ปิ่นน้อย ถ่ายภาพโดย อ.อรรถจินดา, สนอง เตชะทน และ สมชาย จันทวังโส นำแสดงโดย “เจมส์ดีนเมืองไทย”ในยุคนั้นคือ จิตรกร สุนทรปักษิน พระเอกตุ๊กตาทองคนแรก จากภาพยนตร์เรื่อง “เด็กเสเพล” ๒๕๐๓ ประชันบทบาทกับพระเอกยอดนิยมในยุคนั้นอีกคนคือ ชนะ ศรีอุบล ร่วมด้วย เมตตา รุ่งรัตน์, อรสา อิศรางกูร ณ อยุธยา, ชาลี อินทรวิจิตร, กัณฑรีย์ นาคประภา, ดอกดิน กัญญามาลย์, ชูศรี มีสมมนต์ ฯลฯ เข้าฉายที่โรงภาพยนตร์ ศาลาเฉลิมกรุง เมื่อ ๒๓ มีนาคม ๒๕๐๕


ชื่อเวียงฟ้าฟ้าห่วงถวิล

คงจ่อจินต์ถวิลรัญจวน

พี่หรือจะไม่ใจป่วน

เพ้อรำพึงถึงนวลหลงครวญถึงนาง








ภาษาไทยนั้นมีความงาม ประณีตไพเราะ ซึ่งสะท้อน “อัตลักษณ์ของคนไทย” บทกวีและบทเพลงของไทยย่อมเป็นกระจกเงาที่สะท้อนความงามของภาษาไทย และความงามนี้จะช่วยกล่อมเกลาจิตใจคนไทยให้ละเมียดละไม และอ่อนโยนต่อกันและกัน การใช้ภาษาไทยเพื่อสื่อสารระหว่างกันย่อมต้องอาศัยศิลปะ เพื่อให้เกิดความรู้สึกที่สร้างสรรค์งดงาม เกิดความเข้าใจอันดี เป็นมิตรต่อกัน และจรรโลงอารมณ์ให้เกิดความซาบซึ้ง




สังคมแห่งการเกลียดชัง แตกแยก และทำร้ายทำลายกัน ราวกับเป็นเรื่องของความทันยุคทันสมัยที่กำลังเป็นอยู่ในทุกวันนี้ ทั้งในบทเพลง ข่าวสาร และละครโทรทัศน์ อาจจะบรรเทาเบาบางลงไปได้บ้าง นอกจากนี้ ภาษาไทยยังเป็นศาสตร์ที่มีระเบียบ กฎเกณฑ์ ที่คนไทยต้องเรียนรู้และใช้ให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์นั้น จึงจะสามารถรักษาภาษาไทยไว้ได้ยาวนาน




แม้เมื่อวันเวลากำลังเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่าง โดยเฉพาะช่วยเปลี่ยนผ่านของสังคมไทยและสังคมโลก รูปแบบคำกวีและบทเพลงอาจได้รับการประยุกต์ให้เข้ากับยุคสมัยไปโดยธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลงนั้น และบทเพลงไทยหลายเพลงอาจถูกลืมกันไปบ้าง แต่ผลงานที่มี “อักษรศิลป์” ล้ำค่าอย่างเพลง “จอมใจเวียงฟ้า” ก็จะยังคงอยู่กับยุคต่อไปอีกนานแสนนานอย่างแน่นอน


เฝ้าแต่จอดใจรัก เจ้าจากไปใจร้าว

เพราะใจเจ้าจืดจาง

พี่รักไม่สร่าง ห่างน้องจึงเศร้า

ครวญถึงเจ้าเวียงฟ้า










ข้อมูลจาก นสพ.แทบลอยด์ไทยโพสต์ ๒๔-๓๐ พ.ย. ๒๕๖๒










บีจีจากเวบ Wallcoo กรอบจากคุณ KungHangGerman

Free TextEditor





 

Create Date : 16 ธันวาคม 2562    
Last Update : 22 ธันวาคม 2562 23:39:09 น.
Counter : 3824 Pageviews.  

อำลา-อาลัย ดอริส เดย์ (๒)





All the best of Doris Day




กลับมาแล้วจ้า ขออำภัยอย่างแรงที่หายศีรษะนานไปหน่อย ที่จริงงานยังไม่ซาเท่าไหร่แต่อยากอัพบล็อกเต็มแก่ ดีที่ร่างบล็อกนี้ไว้ก่อนลากิจ เขียนเปิดหัวบล็อกนิดนึงก็อัพได้เลย ขออำลา-อาลัยป้าเดย์อีกรอบ รอบแรกทั้งรูปและเรื่องค้นมาจากหลายเวบ ส่วนข้อมูลบล็อกนี้มาจากข้อเขียนของ คุณดำรัส โรจนพิเชฐ ในนสพ.แทบลอยด์ไทยโพสต์ เป็นแฟนคอลัมน์ของท่าน อ่านแล้วได้รู้เรื่องวงการเพลงและนักแสดงฝรั่งรุ่นก่า ๆ แบบลงลึกในรายละเอียด ตอนที่ป้าเดย์เสียชีวิตก็คิดว่าคุณดำรัสต้องเขียนถึงแน่ ๆ แต่ผ่านไปเป็นเดือนก็ยังไม่ได้อ่านสักที เลยไปหาข้อมูลอัพบล็อกเอง อีกสักพักใหญ่ ๆ ก็ได้อ่านสมใจ ยังไงก็ขออนุญาตคุณดำรัสนำข้อเขียนทั้งหมดมาลงบล็อก อัพบล็อกไปก็คิดถึงคุณป้าไป ถึงตอนนี้ก็ยังคิดถึงหน้าสวย ๆ เสียงหวาน ๆ และผลงานการแสดงของท่านอยู่ และผู้หญิงที่ชื่อ ดอริส เดย์ จะอยู่ในใจบล็อกเกอร์ชื่อไฮกุไปอีกนานแสนนาน ขอดวงวิญญาณ คุณป้าดอริส เดย์ ไปสู่สุขคติในสัมปรายภพ และขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวคุณป้าด้วยค่ะ


บล็อกไว้อาลัยป้าเดย์บล็อกแรก
อำลา-อาลัย ดอริส เดย์








สิ่งแรกเมื่อพูดถึง ดอริส เดย์ (Doris Day) สำหรับคนอเมริกันที่โตเป็นหนุ่มสาวในยุค 60s พวกเขามักนึกถึงภาพยนตร์ที่เธอแสดงคู่กับ ร็อก ฮัดสัน อย่างเช่น Pillow Talk, Love come back ในเรื่องเธอรับบทผู้หญิงทำงาน เธอรักความเสมอภาค ไม่ยอมอ่อนข้อให้กับผู้ชาย แต่ลึก ๆ แล้วเธอเป็นคนน่ารัก นุ่มนวล มีเสน่ห์ ผู้ชายหลงใหล จนหลายคนเรียกเธอว่า The Girl Next Door ก่อนหน้านั้นในยุค 50s และเรื่อยมาถึงยุค 70s เธอเป็นนักร้องเสียงใส ฟังชัด มีผลงานเพลงติดชาร์ตมากมาย อย่างเช่น Secret Love, If I give my heart to you, Que Sera Sera (Whatever will be will be) เพลงของเธอยังคงความอมตะมาจนถึงทุกวันนี้







ดอริส เดย์ มีชื่อเดิมว่า ดอริส ฟอน แคปเปิลคอฟฟ์ (Doris Von Kappelhoff) ครอบครัวเชื้อสายเยอรมัน เธอเกิดเมื่อวันที่ ๓ เมษายน ๑๙๒๔ ที่เมืองซินซินเนติ รัฐโอไฮโอ พ่อเป็นครูสอนดนตรี พออายุ ๘ ขวบพ่อกับแม่แยกทางกัน เธอมาอยู่กับแม่ แม่ตั้งใจจะให้เธอทำงานเป็นนักเต้นบัลเลย์ตอนโต แต่เธอประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์เมื่ออายุ ๑๕ ปี แม่เลยเลิกล้มความตั้งใจนี้ แต่มาคิดถึงช่วงที่ดอริสได้รับเชิญไปร้องเพลงออกอากาศทางสถานีวิทยุคู่กับ เอลลา ฟิตซ์เจอรัลด์ แม่จำได้ดีถึงเสียงร้องอันอ่อนหวานแฝงด้วยพลัง คิดว่าอนาคตทำงานเป็นนักร้องจะดีกว่า จากนั้นแม่จ้างโค้ชสอนร้องเพลงมาฝึกฝนเธอจนเข้าที่ จากนั้นในปี ๑๙๓๙ ดอริสเข้าทำงานเป็นนักร้องวงบาร์นี แรปป์ (Barney Rapp) และที่นี่เธอเปลี่ยนนามสกุลเป็น เดย์ เพื่อให้สะดวกต่อการเรียกขาน ฟังดูเป็นนักร้องอาชีพ







อาชีพนักร้องในวงทำให้เธอต้องเดินทางไปต่างเมืองกับวงอยู่เสมอ เธอพบรักและแต่งงานกับ อัล จอร์แดน นักทรอมโบนในวง สามีเป็นคนขี้หึง ทั้งสองอยู่กันไม่ยือ ท้ายสุดแยกทางกันในปี ๑๙๔๓ ไม่นานนักเธอเปลี่ยนมาอยู่กับวงเลส บราวน์ (Les Brown and His Band of Renown) ในปี ๑๙๔๕ ช่วงที่สงครามโลกยุติลงใหม่ ๆ เลส บราวน์ บันทึกเสียงเพลง Sentimental Journey โดยมี ดอริส เดย์ ร้องนำ บรรยากาศผู้คนโหยหาความทรงจำช่ววสงคราม ประกอบกับเสียงร้องฟังเคลิบเคลิ้มของเธอ ทำให้ Sentimental Journey กลายเป็นเพลงฮิต สังกัดโคลัมเบียอ้าแขนเซ็นสัญญากับ ดอริส เดย์ เข้ามาอยู่ในสังกัด เธอออกซิงเกิลแผ่น 78 rpm หลายแผ่น ดอริส เดย์ แต่งงานครั้งที่สองกับนักแซ็กโซโฟน จอร์จ เวย์ดเลอร์ (George Weidler) ท้ายสุดแยกทางกันในปี ๑๙๔๙







โชคเริ่มเข้าข้าง ดอริส เดย์ ในปี ๑๙๔๘ เมื่อ เบตตี ฮัตตัน ดารา นักร้องซึ่งถูกเลือกให้มาแสดงภาพยนตร์เรื่อง Romance on the High Seas กับโรงถ่ายวอร์เนอร์บราเธอร์ส แต่เธอปฏิเสธเพราะต้องท้อง ดอริส เดย์ ถูกนำมาเทสต์หน้ากล้องทดสอบให้ร้องเพลง Embraceable You ของ จอร์จ เกอร์ชวิน เธอสอบผ่านได้แสดง ในเรื่องเธอขับร้องอยู่ ๓ เพลง แต่งโดย แซมมี คาห์น (ทำนอง) คำร้องโดย จูลี สไตน์ เพลง It’s Magic, It’s You or None, I’m in Love ภาพยนตร์ทำรายได้งาม อีกทั้งทำให้ผู้คนรู้จักตัว ดอริส เดย์ มากขึ้น โรงถ่ายวอร์เนอร์ตัดสินใจเซ็นสัญญาต่อกับเธอ มีคิวแสดงภาพยนตร์อีกหลายเรื่อง เริ่มจาก My Dream is You (1949), Tea for Two (1950), Lullaby of Broadway (1951), และ April in Paris (1952) ไตเติลภาพยนตร์เป็นชื่อเพลงฮิตที่เธอขับร้องทั้งสิ้น







ปี ๑๙๕๑ ดอริส เดย์ แสดงภาพยนตร์คู่กับดารา นักร้องเสียงแบริโทน กอร์ดอน แมคเครย์ (Gordon MacRae) สองเรื่อง ได้แก่ On Moonlight Bay (1951), By the Light of Sivery Moon (1953) เธอแสดงคู่กับ แฟรงก์ ซิเนตรา ในเรื่อง Young at Heart (1954) ซึ่งประจวบกับช่วงปลายสงครามเกาหลี บรรดาทหารผ่านศึกต่างโหวต ดอริส เดย์ เป็นขวัญใจเหล่าทหารหาญ







นอกจากภาพยนตร์เพลงแล้ว ดอริส เดย์ ยังแสดงภาพยนตร์ชีวิตหลายเรื่อง อาทิ Young Man with a Horn (1950) ในบทแฟนสาวนักทรัมเป็ตซึ่งแสดงโดย เคร์ก ดักลัส บทน้องสาว ยินเยอร์ โรเจอร์ส ใน Storm Warning (1951) เรื่องราวคดีฆาตกรรมคนเหยียดผิวลัทธิคลูคลักซ์แคลน บทภรรยานักเบสบอลแสดงโดย โรนัลด์ รีแกน ในเรื่อง The Winning Team (1952) บทรูธ เอทธิง นักร้องเพลงเศร้าในเรื่อง Love Me of Leave Me (1953)







ปี ๑๙๕๓ ดอริส เดย์ พบรักและแต่งงานกับ มาร์ตี เมลเชอร์ (Marty Melcher) แมวมองดาราและผู้จัดการส่วนตัวคณะ The Andrew Sisters สามี ฟอร์มบริษัทสร้างภาพยนตร์ Arwin Productions ในปี ๑๙๕๒ หลายเรื่อง ดอริส เดย์ แสดงนำ อย่างเช่น Calamity Jane (1953) ซึ่งเพลงประกอบในเรื่อง Secret Love ได้รับรางวัลเพลงประกอบภาพยตร์ยอดเยี่ยม The Pajama Game (1957) ดัดแปลงจากภาพยนตร์เรื่องเดียวกัน เล่าถึงหญิงสหาภาพหัวใจกระดูกเหล็ก จากนั้นเธอเปลี่ยนมาแสดงหนังเข่ยาขวัญให้ผู้กำกับ อัลเฟรด ฮิตช์ค็อก เรื่อง The Man Who Knew Too Much (1956) คู่กับ เจมส์ สจ๊วต เพลงเอกในเรื่องได้รับรางวัลตุ๊กตาทอง ได้แก่ Que Sera Sera (Whatever Will Be Will Be)







ดอริส เดย์ จัดเป็นดาราหญิงทำเงินสูงสุดคนหนึ่งในฮอลลีวูดยุคต้น 60s เธอได้รับค่าตัวสูง โดยเฉพาะหนังที่ถ่ายทำกับโรงถ่ายยูนิเวอร์แซล แสดงคู่กับ ร็อก ฮัดสัน อย่างเช่นเรื่อง Pillow Talk (1959), Love Come Back (1961), Send Me No Flower (1964) เธอแสดงคู่กับ แครี แกรนท์ ในเรื่อง The Touch of Mink (1962) แสดงคู่กับ เจมส์ การ์เนอร์ ในเรื่อง Move Over Darling (1961) แสดงคู่กับ ร็อด เทย์เลอร์ ในเรื่อง The Glass Bottom Boat (1966) และแสดงคู่กับ ริชาร์ด แฮริส ในเรื่อง Caprice (1967)







หลังจาก มาร์ตี เมลเลอร์ เสียชีวิตในปี ๑๙๖๘ ดอริส เดย์ พบว่าอดีตสามีทุจริต นำเงินรายได้ของเธอไปใช้ในทางที่ไม่ถูกไม่ควร เธอเกิดอาการทางประสาท ต้องเข้าบำบัดรักษาอยู่พักใหญ่ จากนั้นเธอกลับมาทำงานเป็นพิธีการรายการวาไรตี้โชว์ทางโทรทัศน์ชื่อ The Doris Day Show อยู่ ๔ ปี ในปี ๑๙๗๔ ศาลตัดสินให้ทนายที่ร่วมมือกับสามีทุจริตยักยอกเงินรายได้ของเธอ จ่ายค่าเสียหายให้เป็นเงิน ๒๒ ล้านเหรียญฯ เธอพบรักและแต่งงานอีกครั้งกับ แบรรี คอมเดน ในปี ๑๙๗๖ สุดท้ายแยกทางกันในปี ๑๙๘๒ เหตุผลที่สามีให้การต่อศาลเป็นเพราะ ดอริส เดย์ ให้ความสนใจกับสัตว์เลี้ยงของเธอมากกว่าตน







บั้นปลายชีวิต ดอริส เดย์ ย้ายไปอยู่เมืองคาร์เมล แคลิฟอร์เนีย เธอตั้งมูลนิธิสวัสดิภาพสัตว์เลี้ยง (Doris Day Animal Foundation) ดูแลสุนัข แมวจรจัดที่ป่วยและพิการ ไร้ที่พักพิง อัลบั้มชุดสุดท้ายของเธอชื่อ My Heart ออกมาในปี ๒๐๑๑ เป็นอัลบั้มรวมเพลงที่เธอบันทึกเสียงไว้ในอดีต แต่ถูกเพิกเฉย แช่อยู่บนหิ้ง ดอริส เดย์ เสียชีวิตด้วยโรคชราที่บ้านพักเมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ขณะที่มีอายุ ๙๕ ปี















ข้อมูลจากบทความของ คุณดำรัส โรจนพิเชฐ (dumrasfilm@Yahoo)
นสพ.แทบลอยด์ไทยโพสต์ ๒๑-๒๗ ก.ค. ๒๕๖๒











บีจีจาก xmple.com กรอบจากคุณ Hawaii_Havaii ไลน์จากคุณญามี่

Free TextEditor





 

Create Date : 06 ตุลาคม 2562    
Last Update : 6 ตุลาคม 2562 22:54:35 น.
Counter : 3514 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  

haiku
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 161 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add haiku's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.