The Wayward Cloud เมฆจ๋า...ฉันว้าเหว่ใจ



The Wayward Cloud
เมฆจ๋า...ฉันว้าเหว่ใจ

พล พะยาบ
คอลัมน์อาทิตย์เธียเตอร์ มติชนรายวัน 13, 20 พฤศจิกายน 2548


*(1)

หยิบยืมท่อนหนึ่งของเนื้อเพลง “บ้านเรา” ประพันธ์คำร้องโดย ชาลี อินทรวิจิตร มารับกับชื่อหนัง The Wayward Cloud เพราะเห็นว่าเข้ากันและสอดคล้องกับเนื้อหาของหนัง

ว่าด้วยอารมณ์ล่องลอยไร้หลัก และการโหยหาความรัก...

The Wayward Cloud เป็นผลงานลำดับล่าสุดของ ไฉ้หมิงเลี่ยง ผู้กำกับฯชาวไต้หวันรุ่นถัดจาก โหวเสี่ยวเสียน(Café Lumiere) และ เอ็ดเวิร์ด หยาง(Yi Yi) แต่ไฉ้หมิงเลี่ยงดูจะยืนอยู่ล้ำหน้ากว่ารุ่นพี่เล็กน้อยในระดับนานาชาติ ทั้งด้วยรางวัลและการยกย่องยอมรับ จากผลงานเพียง 6 เรื่อง ได้แก่ Rebels of the Neon God(1992) Vive L'Amour(1994) The River(1997) The Hole(1998) What Time Is It There?(2001) และ Goodbye, Dragon Inn(2003)

ไฉ้หมิงเลี่ยงเป็นคนจีนที่เกิดและเติบโตในมาเลเซีย ก่อนจะย้ายมาไต้หวันเมื่ออายุ 20 ปี ความเป็นคน 2 ถิ่นฐานทำให้เขารู้สึกเสมอว่าตนเองไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของทั้งแผ่นดินมาเลเซียและไต้หวัน รวมทั้งสถานที่อื่นใดในโลก

นอกจากนี้ การที่บ้านเก่าอย่างไต้หวันเต็มไปด้วยความวุ่นวายสับสน และอยู่ในสภาพไม่อาจระบุ “สถานะ” อย่างแท้จริง ยิ่งทำให้ความรู้สึกแปลกแยกเข้าไปฝังแน่นในทัศนคติของไฉ้หมิงเลี่ยงโดยไม่อาจเลี่ยงพ้น

กระทั่งถูกถ่ายทอดลงในหนังของเขาทุกเรื่อง

เช่นใน Vive L'Amour ตัวละครแอบเข้าไปอาศัยในบ้านว่าง, The Hole คน 2 คนในห้องพักที่มีน้ำซึมผ่านเพดานถึงกัน, What Time Is It There? ตัวละครตกอยู่ในสภาพแปลกที่แปลกถิ่นในปารีส

เหล่านี้คือฉากที่มีชีวิต มีเรื่องราว มีความหมาย ในหนังของไฉ้หมิงเลี่ยง

นอกจากแก่นสารเกี่ยวกับความแปลกแยกในถิ่นที่อยู่แล้ว แก่นสารอีกประการหนึ่งที่สามารถพบได้ในหนังของไฉ้หมิงเลี่ยงคือ ความสัมพันธ์และระยะห่างระหว่างผู้คน ซึ่งไม่อาจระบุได้แน่ชัดว่าเท่าไรจึงจะเหมาะสม จนแปรเป็นความเหงาเข้าครอบงำจิตใจตัวละคร รวมทั้งซึมซาบสู่ความรู้สึกผู้ชมซึ่งสัมผัสได้โดยตรงด้วยภาษาหนังสไตล์ไฉ้หมิงเลี่ยง

นั่นคือเงียบด้วยบทสนทนาเพียงน้อยนิด นิ่งโดยการแช่กล้องทิ้งไว้แบบลองเทค ไร้ความหวือหวา จนกลายเป็นการเล่าเรื่องด้วยภาพที่ต้องใช้ความอดทนพอสมควรในการรับชม

แต่หากผู้ชมปล่อยใจไปกับภาพตรงหน้าได้ “ความเหงา” คืออารมณ์แรกที่จะสัมผัสรับรู้


สำหรับ The Wayward Cloud หนังเรื่องล่าสุดของเขา แน่นอนว่ายังพร้อมด้วยคุณสมบัติประทับลายเซ็นของไฉ้หมิงเลี่ยงทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นอาการไร้หลักล่องลอย แปลกที่แปลกถิ่น ระยะห่างของความสัมพันธ์ กับความเหงาของตัวละคร ทั้งยังมีนักแสดงเจ้าประจำ รวมทั้งภาษาภาพที่คุ้นเคย

อย่างไรก็ตาม ยังมีส่วนที่ต่างออกไปอย่างชัดเจนจนแฟนๆ ของไฉ้หมิงเลี่ยงต้องแปลกใจ นั่นคือสีสันของหนังที่ดูสดใส การถ่ายภาพ-ตัดต่อในมุมและช็อตที่หลากหลายมากขึ้น

ที่สำคัญคือเป็นหนังเพลงแฟนตาซีสีสันฉูดฉาดราวกับคาบาเรต์โชว์ ทั้งยังอุดมไปด้วยฉากเปลือยเพราะมีเนื้อหาเกี่ยวกับกองถ่ายหนังโป๊

The Wayward Cloud มีเรื่องราวต่อเนื่องจาก What Time Is It There? นั่นคือ ตัวละครชาย-หญิง เสี่ยงกัง (หลี่คังเซิง) และ เชียงชวี่ (เฉินเชียงชวี่) ที่เคยพบกันเพียงผิวเผินในครั้งนั้น แต่ใจโหยหากันมาตลอด ได้กลับมาเจอกันอีกครั้งในคราวนี้

ใน What Time Is It There? เสี่ยงกัง พ่อค้านาฬิกาแผงลอยที่เพิ่งสูญเสียพ่อ ขายนาฬิกาข้อมือเรือนหนึ่งให้แก่เชียงชวี่ซึ่งกำลังเดินทางไปฝรั่งเศส หลังจากนั้น เขาและเธอซึ่งตกอยู่ในอาการเหงาจับจิต ต่างรำลึกถึงกันโดยมีนาฬิกาข้อมือเรือนนั้นเป็นสะพานเชื่อมโยงความรู้สึก

มาถึง The Wayward Cloud เชียงชวี่กลับมาไต้หวัน อยู่ตามลำพังอย่างเปลี่ยวเหงาในอพาร์ตเมนต์ร้างผู้คน ส่วนเสี่ยงกังก็ไม่ได้ขายนาฬิกาแล้วแต่กลายเป็นนักแสดงหนังโป๊

ไต้หวันในวันนี้ขาดแคลนน้ำอย่างหนัก ถึงกับต้องรณรงค์กินแตงโมแทนน้ำ ไม่ต่างจากเชียงชวี่ที่อยู่ในห้วงอารมณ์แห้งแล้งห่อเหี่ยว เธอตัดสินใจจะไปจากที่นี่แต่กระเป๋าเดินทางเจ้ากรรมกลับเปิดไม่ได้

แต่แล้วเธอก็ได้พบเสี่ยงกัง ชายขายนาฬิกาที่เธอนึกถึงมาตลอด คำถามแรกที่เชียงชวี่ถามเสี่ยงกังคือเขายังขายนาฬิกาอยู่หรือเปล่า เสี่ยงกังส่ายหน้าแทนคำตอบ เขาปิดบังเธอเรื่องอาชีพเล่นหนังโป๊

ทั้งยังไม่บอกเชียงชวี่เรื่องกองถ่ายหนังที่อยู่ในตึกเดียวกับห้องพักของเธอ


การพบกันทำให้คนเหงา 2 คนมีชีวิตชีวาขึ้นมา ถึงกระนั้น ในห้องพักที่มีชาย-หญิงอยู่ตามลำพัง คนหนึ่งเป็นนักแสดงหนังโป๊ อีกคนห่อเหี่ยวขาดรักมาเนิ่นนานและมีท่าทีเรียกร้องต้องการ แต่บทรักของเขาและเธอกลับไม่บรรเลงเสียที

นั่นอาจเพราะเสี่ยงกังไม่อาจมอบร่างกายที่ใช้กับนักแสดงร่วมนับไม่ถ้วนครั้ง...ให้กับหญิงคนพิเศษ

ไต้หวันกับชายหนุ่ม-หญิงสาวในเวลานี้จึงตกอยู่ในวิกฤตขาดแคลนน้ำหล่อเลี้ยงไม่ต่างกัน

เฝ้อรอคอยเมฆฝนที่เถลไถลไปจากฟ้าให้ย้อนคืนมา


(2)

ความต่อเนื่องที่แตกต่างระหว่าง What Time Is It There?(2001) กับเรื่องราวบทต่อมาใน The Wayward Cloud คืออาการยึดมั่นกับอะไรบางอย่างของตัวละครที่ย้อนทวนเปลี่ยนทิศทาง

ใน What Time Is It There? เสี่ยงกังสูญเสียพ่อ เขาตกอยู่ในสภาพหลงคว้างไร้สิ่งยึดเหนี่ยว อาศัยอยู่กับแม่ที่เอาแต่หมกมุ่นครุ่นคิดว่าพ่อจะกลับมา

การได้พบและขายนาฬิกาข้อมือของตนเองให้แก่เชียงชวี่ ก่อนที่เธอจะเดินทางไปปารีส ประเทศฝรั่งเศส ทำให้ “เวลา” ในไต้หวันสำหรับเสี่ยงกังหมดลง

เขาปรับเปลี่ยนเวลานาฬิกาทุกเรือนให้เป็นเวลาปารีส หันเหความสนใจทั้งหมดของตนเองไปที่นั่นโดยหาวิดีโอหนังฝรั่งเศสมาดู ซึ่งเรื่องที่เขาซื้อหามาได้คือเรื่อง The 400 Blows ของ ฟรังซัวส์ ทรุฟโฟต์ ผู้กำกับฯหัวก้าวหน้า หัวหอกกลุ่มคลื่นลูกใหม่ของฝรั่งเศส(French New Wave) ช่วงปลายทศวรรษ 50-60

ขณะที่เชียงชวี่ซึ่งตกอยู่ในสภาพแปลกแยกในปารีส ได้พบกับ ฌอง-ปิแอร์ เลอด์ ในสุสาน เขาคือผู้แสดงเป็นเด็กชายอังตวนผู้แปลกแยกโดดเดี่ยว ผู้ปฏิเสธวิถีทางที่ถูกกำหนดไว้ แล้วเลือกใช้ชีวิตตามที่ตนเองต้องการ ในหนังเรื่อง The 400 Blows

“ความตาย” และ “ความเปลี่ยวเหงาแปลกแยก” ที่เสี่ยงกังและเชียงชวี่เผชิญ จึงต่างมี “วิถีแห่งการแสวงหา” เข้ามาเยียวยา

เป็นการเลือกทางออกของชาวไต้หวัน 2 คนโดยมองออกไปนอก “ที่ทาง” ของตนเอง ทั้งที่ช่วงเวลานั้นคือวาระเฉลิมฉลองครบ 50 ปี ของไต้หวัน ภายใต้การนำของอดีตประธานาธิบดีเจียง ไค เช็ก(ปี 2000)


แก่นสารดังกล่าวนอกจากจะแสดงการคารวะครูด้านภาพยนตร์ชาวฝรั่งเศสอย่างทรุฟโฟต์แล้ว ยังแสดงให้เห็นว่า ไฉ้หมิงเลี่ยงไม่ได้ผูกพันกับดินแดนไต้หวัน ตรงกันข้าม..เขารู้สึกแปลกแยกด้วยซ้ำ ด้วยเหตุที่เขาไม่ได้เกิดและเติบโตในไต้หวันนั่นเอง

มาถึง The Wayward Cloud ไฉ้หมิงเลี่ยงปูพื้นเรื่องให้ไต้หวันตกอยู่ในสภาพวิกฤตขาดแคลนน้ำ ตัวละครที่เคยแปลกแยกเปลี่ยวเหงาแม้ว่ายังคงตกอยู่ในอาการเดิม แต่ทั้งสองเลิกเยียวยาตนเองด้วยวิธีเดิมไปแล้ว

เชียงชวี่อยู่ตามลำพังในอพาร์ตเมนต์ แห้งแล้งห่อเหี่ยวอย่างหนัก เธอตัดสินใจหาทางออกให้ตนเองด้วยการหนีไปเหมือนที่เธอเคยทำ แต่กลับไม่สามารถเปิดกระเป๋าเดินทางได้ เชียงชวี่โมโห เขวี้ยงกุญแจห้องเก็บของออกไปนอกหน้าต่าง หล่นลงไปในไซต์งานก่อสร้างและถูกลาดยางมะตอยทับ

กระนั้น ความโชคร้ายหรืออุปสรรคของการตัดสินใจครั้งนี้คือโชคดีที่ทำให้เชียงชวี่ได้พบเสี่ยงกัง

เสี่ยงกังหากุญแจจนเจอ เขาแงะมันออกจากพื้นยางมะตอยแล้วหันหลังเดินผละไป ภาพมุมสูงที่ยังจับค้างไว้ที่พื้นแสดงให้เห็นน้ำผุดขึ้นมาอย่างรวดเร็วจากจุดที่กุญแจถูกแงะ

ฉากถัดมาเป็นฉากร้องเพลงของเชียงชวี่กับคอรัสสาว 3 คน หน้าพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ(National Palace Museum) คลอเคลียรูปปั้นชายวัยกลางคนยืนยิ้ม ภาพสุดท้ายของฉากนี้ กล้องซูมเข้าจับที่ใบหน้ารูปปั้น เห็นรอยยิ้มเด่นชัด

“จะลืมวันแรกที่เราพบกันได้อย่างไร... ฉันจะยอมเป็นทุกอย่างที่เธอต้องการ...รักนิรันตร์ครั้งนี้ ช่างเป็นรักที่ลืมไม่ลงจริงๆ”

เนื้อเพลงที่เข้ากับเนื้อหาของเรื่อง เกี่ยวกับความรักระหว่างเสี่ยงกังกับเชียวชวี่ ดูไม่ได้เข้ากันกับรูปปั้นชายวัยกลางคนนี้เลย

แต่หากทราบว่ารูปปั้นดังกล่างคือเจียง ไค เช็ก อดีตท่านผู้นำของไต้หวัน เนื้อเพลงข้างต้นย่อมมีความหมายอีกแง่มุมหนึ่งทันที


จากที่เคยให้ตัวละครเป็นตัวแทนแสดงออกถึงความแปลกแยกของเขาต่อไต้หวัน หันออกไปพึ่งพิงเบื้องนอก คราวนี้ไฉ้หมิงเลี่ยง ได้สะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป

นั่นคือ สุดท้าย...ไม่มีที่ไหนเปรียบเหมือนบ้าน

และเขาเริ่มรู้สึกถึงความเป็นส่วนหนึ่งของไต้หวัน

น้ำที่ผุดขึ้นมาจากพื้นโดยไม่มีที่มาที่ไปในช่วงเวลาที่ไต้หวันขาดแคลนน้ำอย่างหนัก หลังจากที่ตัวละครได้มาพบกัน จึงเป็นเช่นความหวังที่ไม่มีวันแห้งหาย...และชาวไต้หวันต้องร่วมมือร่วมใจกัน

นี่อาจเป็นทัศนคติเกี่ยวกับสังคม-การเมืองเชิงกว้างที่จับต้องได้ชัดเจนครั้งแรก หลังจากที่ไฉ้หมิงเลี่ยง วนเวียนอยู่กับทัศนคติเชิงปัจเจกนิยม และภาพย่อยของความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนมาตลอด แม้จะเชื่อมโยงไปถึงบ้าง แต่ก็เพียงผาดแผ่วผิวเผินตามแต่การตีความของผู้ชม

อย่างไรก็ตาม แม้จะขยับขยายเข้าไปแตะต้องประเด็นที่กว้างขึ้น แต่สารที่เราพบเห็นคุ้นชินในหนังของเขาก็ยังอยู่ครบถ้วน โดยเฉพาะเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน ความเหงา และเซ็กซ์

น้ำ-แตงโม-ความรัก-เซ็กซ์ คือสัญลักษณ์ที่สอดประสานกัน ภาพร่องรอยผืนดินแตกแยกในข่าวโทรทัศน์มองผ่านขาของเชียงชวี่จึงมองคล้ายอวัยวะของเพศหญิง เมื่อขาดแคลนความรักก็เหมือนขาดแคลนน้ำ การทดแทนด้วยสิ่งอื่นเช่นน้ำแตงโมย่อมไม่อาจชุบชูได้เต็มใจ

ฉากที่เชี่ยงชวี่แอบดื่มน้ำจากขวดของเสี่ยงกังตอนได้มาพบกัน กับภาพสุดท้ายที่เชียงชวี่ดื่มน้ำจาก “ขวดส่วนตัว” ของเสี่ยงกังจึงมีความหมายเดียวกัน แต่ให้คุณค่าทางความรู้สึกต่างกัน

ชุ่มชื่นฉ่ำเย็นโดยไม่ต้องเฝ้ารอเมฆฝนหลงฟ้าอีกต่อไป




 

Create Date : 11 มิถุนายน 2549
6 comments
Last Update : 14 ธันวาคม 2549 19:00:21 น.
Counter : 4488 Pageviews.

 

หนังเรื่องนี้ แปลกนะที่ผมรู้สึกเฉยๆ...เมื่อดูจบ (แต่ไม่ถึงกับไม่ชอบ) ที่ประทับใจมากกว่า...กลับเป็นความรู้สึกที่ว่า "ครั้งหนึ่งผมเคยดูหนัง (เกือบโป๊มากที่สุดในชีวิต) ในโรงภาพยนตร์ชั้นนำ นั่นคือ อีจีวี สยามดิสคัพเวอร์รี่" เพราะหนังเหล่านี้ ถ้าคิดอยากจะดู...ต้องไปหาดูตามโรงหนังชั่นสอง (ชานเมือง) อย่างเดียวเท่านั้น

แต่เพลงประกอบเป็นสิ่งที่ชอบจริงๆ โดยเฉพาะเพลงที่ร้องอยู่ที่อนุสาวรีย์เจียง ไค เช็ก

 

โดย: ตี๋หล่อมีเสน่ห์ 11 มิถุนายน 2549 17:00:37 น.  

 

เอ่อ รูปเลียแตงโมสวยดีอ่ะ

 

โดย: ทะเลอาบแสงจันทร์ 14 มิถุนายน 2549 11:29:17 น.  

 

ว่าด้วยอารมณ์ล่องลอยไร้หลัก และการโหยหาความรัก...

เขาหมายถึงใคร ฉันหรือเปล่า

 

โดย: เช้านี้ยังมีเธอ 15 มิถุนายน 2549 20:19:41 น.  

 

เห็นใน Starpics เล่มหลังๆ คอลัมน์ของคุณวันวนัทธ์ กล่าวถึงเรื่องนี้ด้วยครับ เป็นคอลัมน์ Cinema Sense รวมหนังโป๊น่ะ 555+

อยากดูอีกแล้ว ให้ตายเถอะ

 

โดย: nanoguy (nanoguy ) 6 มกราคม 2550 0:28:50 น.  

 

ผมชอบนะเรื่องนี้ตอนดูจบ ความรู้สึกแรกคือมันอิ่มมาก ทำน้อยแต่ได้มากจริงๆ

 

โดย: Raccimosa IP: 61.90.249.248 2 พฤษภาคม 2551 0:12:05 น.  

 

ชอบรูปบนคอมเม้นนี้จัง

เหมือนเราเลย

ยังไม่ได้อ่านหมดนะ

แต่จะแวะมาใหม่

 

โดย: SUYU IP: 125.24.28.205 22 มกราคม 2552 17:46:17 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


แค่เพียงรู้สึกสุขใจ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




บทวิจารณ์ภาพยนตร์รางวัลกองทุน
ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ปี 2549

..............................








พญาอินทรี




ศราทร @ wordpress
Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2549
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
11 มิถุนายน 2549
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แค่เพียงรู้สึกสุขใจ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.