Bright Star ความรักของกวี




Bright Star
ความรักของกวี

พล พะยาบ
คอลัมน์อาทิตย์เธียเตอร์ มติชนรายวัน 7 มีนาคม 2553


*จอห์น คีตส์ (1795-1821) คือกวียุคโรแมนติคชาวอังกฤษที่ได้รับการยกย่องมากที่สุดคนหนึ่ง ยืนเรียงเคียงข้างอย่างโดดเด่นกับไบรอนและเชลลีย์ สองกวีรุ่นราวคราวเดียวซึ่งต่างเสียชีวิตขณะยังหนุ่มแน่นเหมือนกัน

ตลอดชีวิตอันแสนสั้นของคีสต์มากมายด้วยความทุกข์ตรมขมขื่น พ่อและแม่จากไปแต่วัยเยาว์ ทิ้งให้คีตส์ซึ่งเป็นพี่ชายคนโต น้องชายสองคน และน้องสาวคนเล็ก อยู่ในอุปการะของเศรษฐีผู้ตระหนี่ถี่เหนียว เขาเข้าศึกษาวิชาชีพศัลยแพทย์จนสำเร็จแต่มุ่งมั่นเลือกเส้นทางเป็นกวี แม้ต้องอยู่อย่างไร้เงินตรา-ชื่อเสียง ถูกปรามาสกล่าวร้าย เจ็บป่วยด้วยโรคเดียวกับที่คร่าชีวิตแม่และน้องชาย ก่อนจะหลับลงชั่วนิรันดร์ขณะอายุเพียง 25 ปี

กระนั้น แม้จะทุกข์ยากลำบากเพียงใด สิ่งที่ช่วยชุบชูจิตใจของคีตส์ได้เสมอคือการเขียนบทกวี อ่านงานเขียนดีๆ มีกัลยาณมิตรรายล้อม และความรู้สึกที่มอบให้หญิงสาวผู้เป็นที่รัก...แฟนนี บรอว์น

Bright Star (2009) คือหนังว่าด้วยความรักระหว่าง จอห์น คีตส์ กับ แฟนนี บรอว์น นั่นเอง

เจน แคมเปียน ผู้กำกับหญิงชาวนิวซีแลนด์ได้แรงบันดาลใจจากหนังสือชีวประวัติชื่อ Keats ของ แอนดรูว์ โมชั่น ในบทที่กล่าวถึง แฟนนี บรอว์น และบทกวี Bright Star ซึ่งคีตส์เขียนให้เธอ ในหนังสือเล่มดังกล่าวรวมถึงการศึกษาประวัติชีวิตของคีสต์ตลอดเวลาที่ผ่านมามักจะอ้างอิงจากจดหมายที่คีตส์เขียนถึงน้องๆ ถึงแฟนนี และมิตรที่สนิทสนมรักใคร่ รวมทั้งวิเคราะห์จากถ้อยคำในบทกวี แต่เมื่อเรื่องราวระหว่างคีตส์กับแฟนนีมาอยู่ในมือของแคมเปียนแล้ว มุมมองของหนังจึงถูกปรับเปลี่ยนไปจากความคุ้นเคย

แคมเปียนซึ่งทำหนังว่าด้วยความปรารถนาของตัวละครหญิงมาโดยตลอด ตั้งแต่เริ่มมีชื่อเสียงจาก An Angel at My Table (1990) ประสบความสำเร็จสูงสุดจาก The Piano (1993) ก่อนจะเจือจางลงตามลำดับจาก The Portrait of a Lady (1996) Holy Smoke! (1999) และ In the Cut (2003) ทำ Bright Star โดยให้ตัวละครหลักเป็นแฟนนีซึ่งกำลังตกอยู่ในห้วงรักต่อกวีหนุ่ม

หนังจับช่วงเวลา 3 ปีสุดท้ายของคีตส์ (เบน วิชอว์) ขณะที่ ทอม น้องชายป่วยหนักด้วยวัณโรค และหลังจากพิมพ์กวีนิพนธ์ Endymion ออกจำหน่ายได้ไม่นาน คีตส์อาศัยอยู่กับ ชาร์ลส์ บราวน์ เพื่อนสนิทที่เวนต์เวิร์ธเพลซซึ่งเช่าบ้านพักร่วมกับครอบครัวดิลค์ กระทั่งรู้จักกับครอบครัวของแม่หม้ายบรอว์นที่มีลูกสาวชื่อ แฟนนี (แอ็บบี คอร์นิช) วัย 18 ปี และน้องอีก 2 คน

แฟนนีเป็นเด็กสาวเฉลียวฉลาด มั่นใจในตนเอง กล้าคิดกล้าพูด มีความสามารถด้านเย็บปักถักร้อยและออกแบบเสื้อผ้า เธอชอบพอคีตส์จึงหาซื้อ Endymion (ซึ่งขายไม่ออก) มาอ่านเพื่อทำความรู้จักคีตส์ให้มากขึ้น และขอให้คีตส์สอนเธอให้เข้าถึงบทกวี

เมื่อครอบครัวดิลค์ย้ายออกไปและครอบครัวบรอว์นย้ายมาอยู่แทน ทั้งสองจึงกลายเป็นคนที่อยู่ร่วมบ้านเดียวกัน มีห้องนอนติดกัน ร่วมรื่นรมย์กับความงดงามของธรรมชาติทุกเช้าค่ำ กระทั่งความสนิทสนมรักใคร่ก่อตัวมากขึ้นเป็นลำดับ คราใดที่คีตส์ต้องเดินทางไปพักอาศัยยังที่ห่างไกล แฟนนีได้แต่โหยหาเป็นทุกข์ จะมีชีวิตชีวาขึ้นก็ต่อเมื่อมีจดหมายจากกวีหนุ่มเดินทางมาถึง

*ความรักของหนุ่มสาวทั้งสองคล้ายจะสวยงามราบรื่น แต่แม่ของแฟนนีและคนใกล้ชิดมักจะเตือนว่าฐานะของคีตส์ไม่อาจเลี้ยงดูเธอได้ คีตส์เองก็ตระหนักถึงเรื่องนี้ดีจึงพยายามหักห้ามความรู้สึกที่มีให้แฟนนี ซ้ำร้ายกว่านั้นคืออาการของโรคร้ายที่กำเริบขึ้นในตัวคีตส์ และเขารู้ดีว่าคงมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นาน

แล้วหญิงสาวผู้ทุ่มเทให้ความรักอย่างแฟนนีจะทนรับความจริงอันโหดร้ายนี้ได้อย่างไร

อาจเพราะชื่อหนังที่ส่องประกายสดใส เรื่องราวความรักบริสุทธิ์ของหนุ่มสาว ประกอบกับความงามในถ้อยคำกวี แคมเปียนจึงทำ Bright Star ด้วยบรรยากาศเปี่ยมสีสันแตกต่างจากภาพทึมเทา-ซีดจางใน The Piano ทึบทึมมืดหม่นใน The Portrait of a Lady หรือวูบไหวบดเบลอใน Holy Smoke! และ In the Cut

เกรก เฟรเซอร์ ผู้กำกับภาพชาวออสเตรเลียทำให้ Bright Star ราวกับภาพเขียนของจิตรกรมาร้อยเรียงต่อกัน หลายฉากจัดองค์ประกอบภาพให้ตัวละครยืนอยู่ริมหน้าต่าง รับแสงส่องผ่านเข้ามาในห้อง ชวนให้นึกถึงภาพเขียนของ โยฮันเนส เฟร์เมียร์ ศิลปินชาวดัตช์ ขณะที่ฉากกลางแจ้ง เช่น ฉากปิกนิก หรือฉากที่ตัวละครอยู่ท่ามกลางทุ่งดอกไม้ ก็คล้ายกับภาพเขียนอิมเพรสชั่นนิสม์อันคุ้นตา (ปี 2009 เฟรเซอร์มีงานกำกับภาพเยี่ยมๆ อีก 2 เรื่องคือ Last Ride และ The Boys Are Back)

เนื่องจากเรื่องราวถูกถ่ายทอดผ่านตัวละครแฟนนี รายละเอียดหลายอย่างของคีตส์จึงไม่ถูกกล่าวถึง เช่น ความห่วงกังวลเรื่องน้องชายที่อยู่ในอเมริกา การสร้างสรรค์ผลงานเพื่อหาเลี้ยงปากท้อง รวมทั้งมิตรสหายจำนวนไม่น้อยที่คีตส์คบหาสมาคม แต่ก็ยังมีรายละเอียดบางอย่างถูกใส่เข้ามาพอให้ผู้ศึกษาประวัติของคีตส์ใช้เชื่อมโยงได้ ไม่ว่าจะเป็นการเอ่ยถึงข้อเขียนวิจารณ์บทกวี Endymion ในนิตยสารแบล็ควูดส์ เอดินบะระ ซึ่งโจมตีคีตส์อย่างสาดเสียเทเสีย (ทวีปวร เล่าไว้ใน “จอห์น คีตส์ กวีบริสุทธิ์ผู้อาภัพ” ในหนังสือ “เก้ารัตนกวีของโลก” ว่าเหตุที่แบล็ควูดส์โจมตีคีตส์ เพราะเห็นว่าเขาเป็นพวกเดียวกับนักหนังสือพิมพ์หัวเสรีนิยมอันเปรียบได้กับปิศาจร้ายของชนชั้นปกครองในสมัยนั้น)

หรือการหยิบยกบทกวีเด่นๆ อย่าง When I have Fears that I may Cease to Be (1818) La Belle Dame sans Merci (1819) รวมถึง Bright Star (1819) มาสอดคล้องกับเรื่องราวได้อย่างดี รวมทั้ง Ode to a Nightingale (1819) ที่ใส่เป็นเสียงวอยซ์โอเวอร์ไว้ในเครดิตช่วงท้าย แต่ช่วงกลางเรื่องก็มีฉากเล็กๆ ที่ชวนให้คิดว่าเป็นแรงบันดาลใจของบทกวีชิ้นนี้

หนังให้แฟนนีเป็นหญิงสาวที่มีความคิดอ่านและการกระทำอย่างอิสระ ไม่อยู่ในกรอบเคร่งครัดหรืออ่อนน้อมถ่อมตนตามแบบสังคมสมัยนั้น (ยุครีเจนซีหรือก่อนวิคตอเรียน) บ่อยครั้งที่เธอเป็นฝ่ายเข้าหาคีตส์ ลอบหมั้นหมายกันแบบลับๆ โดยไม่แยแสต่อคำติฉินนินทา ทั้งยังเสนอตนแต่งงานกับเขาเพื่อจะได้ไปดูแลยามป่วยไข้ในต่างแดน ขณะเดียวกัน เมื่อแรงผลักของเธอคือความลุ่มรักหมดใจ อารมณ์ความรู้สึกทั้งสุข-เศร้าจึงพรั่งพรูให้สัมผัสตลอดเวลาร่วม 2 ชั่วโมงของหนัง

หญิงสาวชื่อ แฟนนี บรอว์น ที่เคยเป็นเพียงส่วนหนึ่งในประวัติชีวิตของกวีผู้ยิ่งใหญ่ จึงกลับกลายเป็นตัวละครหญิงที่มีคาแร็กเตอร์แข็งแรง เต็มไปด้วยแรงปรารถนาจากความรักอันบริสุทธิ์ โดยไม่ต้องพึ่งพาเซ็กซ์เหมือนตัวละครหญิงในหนังเรื่องอื่นของแคมเปียน

อีกจุดที่ผู้เขียนมองว่าน่าสนใจคือ บทกวีใน Bright Star ไม่ได้มีฐานะเป็นเพียงองค์ประกอบเพื่อสุนทรียะ ให้ความหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือใส่เข้ามาเพราะเห็นว่าเป็นหนังเกี่ยวกับกวี แต่แคมเปียนดึง “ความเป็นกวี” ให้เป็นคาแร็กเตอร์ของตัวละครด้วย

เพราะเหตุนี้แฟนนีจึงต้องเข้าถึงบทกวีเพื่อเข้าถึงคีตส์ผู้เป็นกวีโดยแท้จริง เธอค่อยๆ เรียนรู้คีตส์ผ่านถ้อยคำ จากไม่ชอบและไม่เข้าใจกลายเป็นลึกซึ้งดื่มด่ำ พร้อมๆ กับที่ความรู้สึกชอบพอพัฒนากลายเป็นความรัก

จากช่วงแรกแฟนนีเป็นผู้ฟังโดยให้คีตส์กล่าวบทกวีของเขา ต่อมาทั้งสองสลับกันกล่าวบทกวีบทเดียวกัน กระทั่งในฉากสุดท้ายแฟนนีกล่าวบทกวีของคีตส์ตามลำพัง

ราวกับค่อยๆ เป็นหนึ่งเดียวกับคนที่เธอรักในที่สุด



Create Date : 06 ตุลาคม 2553
Last Update : 6 ตุลาคม 2553 4:25:05 น. 9 comments
Counter : 2873 Pageviews.

 
คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ...


โดย: TREE AND LOVE วันที่: 6 ตุลาคม 2553 เวลา:19:03:41 น.  

 

ภาพ Bright Star สวยโดนใจมากๆ ค่ะ
ขอบคุณที่แนะนำหนังดีดีมาฝากเสมอค่ะ
แหล่ม


โดย: อุ้มสี วันที่: 6 ตุลาคม 2553 เวลา:21:41:01 น.  

 
ผมชอบเรื่องนี้มากครับ แอ๊บบี้ คอร์นิชเล่นดีมากๆ ชอบฉากท้ายๆ ที่เธอทรุดตัวลงแล้วบอกว่าหายใจไม่ออกหลังทราบข่าวฉากนั้น

ขณะนี้ ผมใช้รูปเธออ่านจดหมายกลางทุ่งสีม่วงเป็นภาพบนเดสก์ท็อปอยู่ครับ


โดย: เอกเช้า IP: 198.155.101.241 วันที่: 8 ตุลาคม 2553 เวลา:16:30:12 น.  

 
^
^
เหมือนกันเลยครับ


โดย: จขบ. IP: 124.120.24.249 วันที่: 12 ตุลาคม 2553 เวลา:15:16:29 น.  

 
เขียนเรียบเรียง อ่านง่าย เข้าใจหรือถ่ายทอด
ดีจัง ผมว่าชีวิตคนมีหลายด้านที่จะมอง
เช่นกวี มองทุกสิ่งทุกอย่างสวย แต่ชีวิตจริง
ไม่สมหวัง แต่เขามีจินตนาการได้ดี.

แล้วผมจะเข้ามาติดตามเรื่อย ๆ ครับ. อิ อิ
มิใช่เข้ามาอ่านแบบเฉื่อย ๆ คือสนใจจะติด
ตามจริง ๆ ครับ.


โดย: ไวน์กับสายน้ำ วันที่: 15 ตุลาคม 2553 เวลา:12:51:26 น.  

 
อยากดูมากครับเรื่องนี้


โดย: beerled วันที่: 21 ตุลาคม 2553 เวลา:13:25:27 น.  

 

ยัง...ไม่ได้ดูเลยค่ะ



โดย: renton_renton วันที่: 25 ตุลาคม 2553 เวลา:0:39:06 น.  

 
อ่านแล้วเข้าใจง่ายค่ะ


โดย: Sophia IP: 98.196.187.188 วันที่: 11 พฤษภาคม 2554 เวลา:9:17:31 น.  

 
ขอบคุุณครับ
kitchenaidmixerblackfriday


โดย: aomzon (aomzon ) วันที่: 10 ตุลาคม 2554 เวลา:19:26:20 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

แค่เพียงรู้สึกสุขใจ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




บทวิจารณ์ภาพยนตร์รางวัลกองทุน
ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ปี 2549

..............................








พญาอินทรี




ศราทร @ wordpress
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2553
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
6 ตุลาคม 2553
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แค่เพียงรู้สึกสุขใจ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.