The Day I Became a Woman ผ้าคลุมศีรษะสตรีอิหร่าน ตามสายตาตะวันตก
The Day I Became a Woman ผ้าคลุมศีรษะสตรีอิหร่าน ตามสายตาตะวันตก- พล พะยาบ - คอลัมน์อาทิตย์เธียเตอร์ มติชนรายวัน 8, 15, 22 พฤษภาคม 2548 (1) พร้อมกับการเติบโตของลัทธิเฟมินิสม์ สิทธิของสตรีชาวอิหร่านมักจะถูกหยิกยกมาพูดถึงเสมอในฐานะที่เป็นหนึ่งในตัวอย่าง ด้านลบ อันชัดเจนที่สุด นับตั้งแต่เปอร์เซียยอมรับนับถือศาสนาอิสลาม เรื่อยมาจนถึงยุคระบอบชาห์ที่เปิดรับวัฒนธรรมตะวันตก และหลังการปฏิวัติโดย อยาตอลลาห์ โคไมนี จนกลายเป็นรัฐอิสลามจารีตนิยมในปี 1979 สตรีเปอร์เซียนชาวอิหร่านยังคงต้องอยู่ภายใต้กฎข้อห้ามมากมาย อาทิ ต้องได้รับอนุญาตจากสามีก่อนเดินทาง ห้ามพูดคุยสนิทสนมกับชายที่ไม่ใช่สามี หากขึ้นรถโดยสารสาธารณะก็ต้องนั่งด้านหลัง ยังไม่พูดถึงการสวมผ้าคลุมศีรษะที่เรียกว่า ฮิญาบ และ ชาดอว์ ชุดสีดำสนิทที่คลุมจากหัวจรดเท้า อันกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของการจำกัดสิทธิสตรี และเป็นภาพความล้าหลังในสายตาของชาวตะวันตก ทั้งที่จะว่าไปแล้ว นี่คือวัฒนธรรมของคนเชื้อชาติหนึ่งที่แตกต่างออกไปเท่านั้น สภาพแท้จริงของผู้หญิงภายในสังคมอิหร่านจะเป็นเช่นไรก็ตาม ภาพที่สะท้อนออกมาสู่สังคมภายนอกได้ก่อเกิดทัศนคติต่อต้านตามแบบ เสรีนิยม ของชาวตะวันตก เมื่อผนวกกับเหตุการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศกับสหรัฐอเมริกาที่ผันผวนไปในทางลบ นับแต่การตัดสัมพันธ์ทางการทูตโดยอดีตประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ มาจนถึงการประกาศว่าอิหร่านเป็นหนึ่งใน อักษะแห่งความชั่วร้าย โดยประธานาธิบดีบุช จูเนียร์ อิหร่านจึงเป็นผู้ร้ายอย่างมั่นคงเสมอมา ดังนั้น ใครมีท่าทีไม่เห็นด้วยกับอิหร่าน โดยเฉพาะหากเป็นคนอิหร่านเองด้วยแล้ว แม้เป็นเรื่องสังคม-วัฒนธรรมจะได้รับโอกาสให้ พูดเสียงดัง ในเวทีโลก ดังกรณีของ ชิริน เอบาดี สตรีนักกฎหมายชาวอิหร่านซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี 2003 จากการพยายามต่อสู้เรียกร้องความเท่าเทียมกันทางกฎหมายให้เพื่อนหญิงร่วมชาติ ภาพสะท้อนดังกล่าวเกิดขึ้นในวงการหนังด้วยเช่นกัน นอกจากจารีตประเพณีอันเคร่งครัดจนร้อยรัดวิถีชีวิตชาวอิหร่านทั้งชายและหญิงแล้ว กรอบจารีตยังแปรมาเป็นกฎเซ็นเซอร์ยิบย่อยให้คนทำหนังชาวอิหร่านต้องปฏิบัติตาม กฎหมายฉบับหนึ่งที่ออกมาหลังปฏิวัติอิสลามแบ่งการเซ็นเซอร์ไว้ถึง 4 ขั้นตอน ตั้งแต่ขั้นตอนพิจารณาบทหนัง รายชื่อทีมงาน ขั้นพิจารณาแก้ไขเปลี่ยนแปลงเมื่อหนังสร้างเสร็จ หรือจะ แบน หนังเรื่องนั้นก็ได้ จนถึงขั้นสุดท้ายคือการจัดเรตเอ-บี-ซี เพื่อจำกัดการโฆษณาและการฉาย การเซ็นเซอร์ดังกล่าวทำให้คนทำหนังแดนเปอร์เซียที่ต้องการแสดงออกทางความคิดต่อสภาพสังคมของตน หาทางออกด้วยการใช้สัญลักษณ์หรือเนื้อหาที่สื่อนัยยะแทนเพื่อหลบเลี่ยงการเซ็นเซอร์ งานสร้างสรรค์กลั่นกรองด้วยวิธีคิดอันละเอียดอ่อนนี่เอง เป็นที่มาของคนทำหนังคลื่นลูกใหม่ผู้ก้าวพ้นพรมแดนปิดสู่โลกกว้างระลอกแล้วระลอกเล่า นับแต่ อับบาส เคียรอสตามี เบิกทางให้โลกรู้จักหนังอิหร่านด้วยหนังอย่าง Where is My Friends Home(1987) Homework(1990) จนมาถึงคลื่นลูกต่อๆ มา ไม่ว่าจะเป็น โมห์เซน มัคห์มัลบาฟ ที่มีงานเด่นอย่าง A Moment of Innocence(1996) และ Gabbeh(1996) จาฟาร์ พานาฮี กับ The Mirror(1997) และ The Circle(2000) หรือที่เป็นขวัญใจนักดูหนังบ้านเราอย่าง Children of Heaven(1997) ของ มาจ์อิด มาจ์อีดี ผลงานส่วนใหญ่ของคนทำหนังเหล่านี้ ถ้าไม่เป็นเรื่องของตัวละครเด็กก็จะเกี่ยวกับวิถีชีวิตของหญิงอิหร่าน การใช้ตัวละครเด็กถูกตีความว่าเด็กคือวัยที่มีอิสระในสังคม ไม่ถูกบังคับด้วยกฎเกณฑ์มากมาย หรืออาจเป็นการแอบประชดประเทียดกองเซ็นเซอร์ของผู้สร้างหนังว่าตนเองเป็น เด็กดี-ไร้เดียงสา ส่วนเรื่องเกี่ยวกับตัวละครผู้หญิง สามารถมองเห็นนัยยะวิพากษ์สภาพความเป็นผู้หญิงในสังคมอิหร่านที่ต้องมีสถานะต่ำกว่าผู้ชายตลอดชีวิต โดยไม่ต้องตีความซับซ้อนแต่อย่างใด หนังอิหร่านทั้ง 2 แบบเมื่อออกมาเป็นที่รู้จักในเวทีนานาชาติ จึงเท่ากับเป็นการสื่อสารท่าที ไม่เห็นด้วย ไปจนถึง ต่อต้าน รัฐอิหร่านโดยคนอิหร่านเอง เข้าทางภาพลักษณ์ด้านร้ายที่ชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐละเลงไว้ตลอดมา ยิ่งหนังเรื่องไหนโดนแบนในประเทศ ไม่ใช่แค่ ความดี ตามแนวทางของหนังเรื่องหนึ่งเท่านั้น ยังมี ความชอบ พ่วงเข้ามาด้วยในฐานะที่เพิ่มภาพร้ายๆ ให้อิหร่าน กระทั่งกลายเป็นคุณสมบัติ ความกล้า ของผู้สร้างสำหรับโฆษณาหนังเรื่องนั้นอีกต่อหนึ่ง ขณะเดียวกัน คนทำหนังชาวอิหร่านเมื่อเห็นว่าหนังที่มีท่าทีวิพากษ์ตนเองมีโอกาสจะประสบความสำเร็จและเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ จึงผลิตหนังลักษณะนี้ตามกันออกมาตามแต่จะสร้างสรรค์เนื้อหาหรือเทคนิควิธีการ แต่ไม่ว่าอย่างไร สารจากหนังเหล่านี้ล้วนแต่ซ้ำเดิม ไม่ได้เพิ่มเติมหรือแปลกใหม่แต่อย่างใด กลายเป็นหนังร้อยเนื้อแนวคิดเดียว จนยากจะแยกออกว่าหนังเรื่องหนึ่งถูกสร้างขึ้นด้วยทัศนคติด้านสังคมจริงๆ หรือสร้างเพราะรู้ว่าโลกภายนอกต้องการ กระทั่งลามมาถึงอัฟกานิสถาน ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงที่ถูกสหรัฐบอมบ์ใส่เมื่อไม่นาน มี Osama(2003) หนังวิพากษ์รัฐบาลทาลิบันกับการจำกัดสิทธิสตรี ซึ่งดูแล้วไม่ใช่ประเด็นใหม่ ไม่ได้จุดประกายความคิดหรือเปิดโลกทรรศน์ให้ผู้ชม นอกจากได้เห็นอีกกรณีหนึ่งของผู้ถูกกระทำในโลกมุสลิมที่เคร่งครัด แต่ยังดีเด่นจนได้รับรางวัลที่เมืองคานส์ ลูกโลกทองคำ และอีกหลายเทศกาลในหลายประเทศ The Day I Became a Woman หนังปี 2000 ของผู้กำกับฯหญิง มาร์ซิเยห์ เมชคีนี ที่หยิบมากล่าวถึงคราวนี้ก็คือผลต่อเนื่องจากปรากฏการณ์เดียวกัน(2) มาร์ซิเยห์ เมชคินี คลุกคลีอยู่กับภาพยนตร์มาโดยตลอด เธอเป็นภรรยาของโมห์เซน มัคห์มัลบาฟ ผู้กำกับฯฝีมือดี เรียนในโรงเรียนภาพยนตร์ของโมห์เซน ได้ฝึกมือเป็นผู้ช่วยผู้กำกับให้หนังหลายเรื่องของสามี และของ ซามิรา มัคห์มัลบาฟ บุตรสาว The Day I Became a Woman เป็นงานกำกับฯเรื่องแรกของเธอ ในหนังเรื่องนี้ มาร์ซิเยห์ได้นำผ้าคลุมศีรษะของสตรีมุสลิม หรือ ฮิญาบ มาใช้เป็นสัญลักษณ์สำคัญ เพื่อสื่อถึง จุดเริ่มต้น ที่ผู้หญิงอิหร่านคนหนึ่งต้องถูกพันธนาการทางสังคมไปตลอดชีวิต ทำไมต้องเป็น ฮิญาบ? เพราะสิ่งนี้มีฐานะเป็นสัญลักษณ์ สากล ของการจำกัดสิทธิสตรี-สิทธิมนุษยชนในอิหร่านเท่านั้นหรือ? ก่อนจะตอบคำถามนี้ ผู้เขียนขอเล่าที่มา-ความหมายของผ้าผืนนี้ในทางสังคมอิหร่านสักเล็กน้อย ย้อนกลับไปปี 1939 อิหร่านกลายเป็นประเทศมุสลิมประเทศแรกที่ห้ามการสวมผ้าคลุมศีรษะตามคำสั่งของ เรซา ชาห์ ปาห์ลาวี ด้วยนโยบายทำประเทศให้ทันสมัย(ยุคเดียวกับ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ปฏิวัติวัฒนธรรมไทย) โดยไม่คาดคิด คำสั่งห้ามดังกล่าวถูกต่อต้านอย่างรุนแรงจากสตรีชาวอิหร่านส่วนใหญ่ซึ่งยึดมั่นในศาสนาและจารีตดั้งเดิม จนต้องยกเลิกไปในปี 1941 อย่างไรก็ตาม ระบอบชาห์ที่เปิดรับวัฒนธรรมตะวันตก และมุ่งพัฒนาด้านอุตสาหกรรม ทำให้สังคมอิหร่านเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนถ่างกว้างมากขึ้น คนชนบทอพยพหลั่งไหลสู่เมือง ความวิตกกังวลค่อยๆ ก่อตัว สมทบกับแนวคิดต่อต้านจักรวรรดินิยม ต่อต้านอเมริกัน จนกลายเป็นขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านระบอบชาห์ในที่สุด ถึงจุดนี้ หญิงอิหร่านไม่ได้สวมฮิญาบ(รวมทั้งชาดอว์ และเครื่องแต่งกายสตรีมุสลิมอื่นๆ) โดยยึดตามจารีตทางศาสนา แต่เพื่อแสดงออกทางการเมืองเป็นหลัก เสมือนว่าเป็นสัญลักษณ์ของการปลดปล่อยตนเองเป็นอิสระจากผู้ปกครอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วงระหว่างการปฏิวัติอิสลามนำโดย อยาตอลลาห์ โคไมนี กระทั่งประสบความสำเร็จ ขับไล่ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี ออกนอกประเทศได้ในปี 1979 แต่แล้วหญิงอิหร่านที่เคยสวมฮิญาบสนับสนุนโคไมนีก็ต้องพบกับความขมขื่นผิดหวัง เมื่อโคไมนีออกคำสั่ง บังคับ ให้พวกเธอสวมฮิญาบ โดยถือเป็นหนึ่งในกฎหมายอิสลามที่โคไมนีใช้ปกครองประเทศ คำสั่งดังกล่าวมีขึ้นหลังจากโคไมนีซึ่งก่อนหน้านี้ต้องลี้ภัยทางการเมือง หวนคืนสู่บ้านเกิดได้เพียง 1 เดือน และเพียง 1 วัน ก่อนวันสตรีสากล(8 มีนาคม) ซึ่งกลุ่มผู้หญิงอิหร่านเตรียมจัดงานเฉลิมฉลองการที่พวกเธอร่วมกันแสดงพลังล้มระบอบชาห์ได้สำเร็จ เมื่อสัญลักษณ์ของการปลดปล่อยกลายมาเป็นหนึ่งในพันธนาการ มวลชนแห่งงานฉลองจึงแปรเปลี่ยนเป็นปฏิกิริยาตอบโต้โดยฉับพลัน นี่เองที่เป็นพื้นฐานที่มาของการเรียกร้องสิทธิสตรีในอิหร่าน หรือจะบอกว่าขบวนการเฟมินิสม์ในอิหร่านมี ฮิญาบ เป็นชนวนเริ่มต้นก็ว่าได้ และยังแสดงให้เห็นว่าที่ผ่านมาสตรีอิหร่านทั้งเคยสนับสนุนและคัดค้านการสวมฮิญาบ แต่สถานการณ์ปัจจุบันทำให้โน้มนำไปในทางคัดค้าน ดังนั้น หากพิจารณาจากเรื่องราวความเป็นมาในอดีต การนำฮิญาบมาใช้ใน The Day I Became a Woman จึงไม่ใช่เพียงสื่อถึงสิทธิสตรีซึ่งถูกจำกัดในความหมายที่รับรู้กันเป็นสากล หรือเพื่อตอบสนองต่อตลาดหรือเวทีประกวดหนังนานาชาติเท่านั้น แต่ในสังคมอิหร่านเองจะรับรู้ถึงความหมายได้เข้มข้นและลึกซึ้งยิ่งกว่า ด้วยเหตุนี้ The Day I Became a Woman จึงถูกกองเซ็นเซอร์อิหร่านจัดเรตให้ฉายเฉพาะพื้นที่คนจน ซึ่งยากที่จะเจียดเงินเข้าไปดูหนังสักเรื่องหนึ่ง เพื่อเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม หนังแบ่งออกเป็น 3 เรื่องราวเชื่อมโยงถึงกันแบบหลวมๆ โดยเริ่มต้นและจบด้วยภาพเดียวกัน คือภาพผืนผ้าสีดำขนาดปานกลางถูกขึงรับลมอยู่กับแท่งไม้คล้ายเป็นใบเรือ เบื้องหลังเป็นผืนน้ำทะเลกว้างไกล จากภาพเปิดเรื่อง หนังเฉลยต่อมาว่าผ้าสีดำดังกล่าวคือฮิญาบผืนแรกในชีวิตของเด็กผู้หญิงชื่อ ฮาวา ซึ่งกำลังจะมีอายุครบ 9 ขวบ นั่นหมายความว่านับแต่นี้ไปเธอจะไม่ใช่เด็กหญิงที่มีอิสระอีกแล้ว แต่ต้องกลายเป็นผู้หญิงที่มีกฎเกณฑ์ ข้อห้าม ข้อบังคับมากมายห้อมล้อมรัดรึง โดยเริ่มจากการสวมผ้าคลุมหน้าและเครื่องแต่งกายปกปิดมิดชิด ฮาวาขอร้องแม่และยายออกไปเที่ยวเล่นกับเพื่อนสนิทที่เป็นเด็กผู้ชาย โดยอ้างว่าเธอเกิดตอนเที่ยงวัน จึงยังพอมีเวลาเหลืออยู่ แม่ของเธออนุญาตโดยให้พกกิ่งไม้ไปปักบนผืนทรายเพื่อดูเวลา พร้อมกำชับว่าเธอมีเวลาเที่ยวเล่นถึงแค่เมื่อเงาของกิ่งไม้หายไป เรื่องต่อมา หญิงสาวชื่อ อาฮู และผู้หญิงอีกหลายสิบคนซึ่งสวมชุดสีดำสนิทกำลังขี่จักรยานแข่งขันกัน แต่แล้วจู่ๆ มีผู้ชายขี่ม้าควบตามมา เขาคือสามีของอาฮู บังคับให้เธอหยุดขี่จักรยานแล้วตามเขากลับบ้าน ทั้งขู่ว่าจะหย่าถ้าเธอไม่ทำตามคำสั่ง นอกจากสามีแล้ว ยังมีพ่อ พี่ชาย และนักบวช ผลัดกันขี่ม้ามาตามอาฮู หญิงสาวเหนื่อยล้าเหลือกำลัง แต่ยังตั้งหน้าตั้งตาขี่จักรยานต่อไป เรื่องสุดท้าย ฮูรา หญิงชราซึ่งได้รับมรดกก้อนใหญ่ ตระเวนจับจ่ายซื้อสิ่งของเครื่องใช้มากมายที่เธอไม่เคยมีเคยใช้มาตลอดชีวิต ทั้งเครื่องใช้ในครัวเรือน ชุดเจ้าสาว และเตียงนอนขนาดใหญ่ ฮูราเป็นหญิงโสด เงินทองมากมายที่จะช่วยให้เธอได้แต่งงานกับผู้ชายสักคนมาถึงมือเธอในช่วงเวลาที่สายไปเสียแล้ว 3 เรื่องราวกับสตรี 3 วัย ในวันที่พวกเธอไม่ได้เป็นแค่คนคนหนึ่ง แต่เป็น ผู้หญิง ชาวอิหร่าน ซึ่งถูกร้อยรัดด้วยกฎเกณฑ์ทางสังคม โจทย์อันชัดแจ้งนี้ได้ถูกถ่ายทอดโดยใช้สัญลักษณ์มากมาย โดยสัญลักษณ์สำคัญคือผ้าคลุมศีรษะหรือฮิญาบนั่นเอง(3) แม้ว่าชื่อภาษาอังกฤษของหนังเรื่องนี้จะตรงกับเรื่องราวแรกซึ่งเกี่ยวกับเด็กหญิงที่กำลังครบวัย 9 ขวบ จึงต้องเปลี่ยนสถานะเป็นหญิงสาว แต่อีก 2 เรื่องราวที่ตามมา ทั้งเรื่องของหญิงสาวที่แต่งงานแล้ว และเรื่องเกี่ยวกับหญิงชรา ได้ช่วยเติมเต็มความหมายให้กับชื่อหนังมากยิ่งขึ้น เพราะในความเป็นจริง ความเปลี่ยนแปลงมิใช่แค่เพียงวันแรกที่เด็กหญิงต้องสวมฮิญาบ แต่จะส่งผลผูกมัดเธอไปตลอดชีวิต ฮาวา เด็กหญิงในเรื่องแรกอาจอ่อนวัยเกินกว่าจะคิดถึงเรื่องพวกนี้ แต่การที่เธอพยายามยื้อช่วงเวลาสุดท้ายไว้ให้นานที่สุดเพื่อจะได้เที่ยวเล่นกินขนมอร่อยๆ กับเพื่อน ขณะที่ในใจวิตกกระวนกระวายเพราะแม่ของเธอขู่ว่าถ้าเธอกลับมาไม่ทัน พระเจ้าจะไม่ให้อภัย ทำให้การกลายเป็นหญิงสาวเป็นกิจกรรมที่ใจร้ายต่อเด็กไปในทันที ฉากที่ฮาวายืนคุยและแบ่งปันขนมกับเด็กชายเพื่อนสนิทอย่างทุลักทุเล โดยที่เธออยู่ด้านนอก ส่วนเพื่อนยืนอยู่หลังลูกกรงที่กั้นขวางทั้งสองไว้ จึงหมายถึงโลกของหญิง-ชายที่แยกต่างหากจากกันโดยสิ้นเชิง ดีกรีด้านร้ายของการดำรงสถานะผู้หญิงเพิ่มมากขึ้นในเรื่องราวที่สอง อาฮู หญิงสาวที่แต่งงานแล้วดื้อขี่จักรยานโดยไม่สนใจคำสั่งและคำด่าทอสาปแช่ง ของพ่อ พี่ชาย และนักบวช รวมทั้งคำขู่ว่าจะหย่าของสามีที่ขี่ม้ามาตามเธอ(การขี่จักรยานเป็นหนึ่งในข้อห้ามสำหรับสตรีอิหร่าน) เมื่ออีกฝ่ายล่าถอย อาฮูยังตั้งหน้าตั้งตาขี่จักรยานต่อไป ระหว่างนี้คำถามหนึ่งจะผุดขึ้นในใจผู้ชมว่าเธอจะขี่ไปได้แค่ไหนและมีจุดหมายอยู่ที่ใด ภาพกลุ่มคนขี่ม้าที่เห็นขวางทางอาฮูในตอนท้ายคือคำตอบว่าที่สุดแล้วความพยายามมากมายของเธอก็ไม่เกิดผลใดๆ ขณะที่เด็กหญิงและหญิงที่แต่งงานแล้วพยายามดิ้นหนีพันธนาการ หญิงชราผู้ได้รับมรดกมากมายเที่ยวจับจ่ายซื้อสิ่งของเครื่องใช้ที่เธอไม่เคยมีเคยใช้ในเรื่องสุดท้าย ดูแตกต่างออกไปเพราะมีเธออิสระอย่างเต็มที่ แต่ความจริงค่อยๆ เผยว่า เธอมีฐานะยากจนมาตลอดชีวิต ไม่มีใครใส่ใจช่วยเหลือ ไม่เคยแม้กระทั่งดื่มน้ำเย็นจากตู้เย็น และความยากจนทำให้เธอไม่ได้ลิ้มรสชีวิตคู่ เพราะเธอไม่อยู่ในฐานะที่สมควรถูกเลือกให้แต่งงาน ดังนั้น การที่หญิงชราตระเวนซื้อสิ่งของมากมายที่เธอไม่เคยมีมาทั้งชีวิต จึงเป็นการดิ้นหนีพันธนาการ แล้วไขว่คว้าหาความสุขให้ตนเองแม้เพียงช่วงเวลาสั้นๆ ไม่ต่างจากช่วงเวลาก่อนครบวัยของเด็กหญิงในเรื่องแรก และช่วงเวลาการขี่จักรยานของหญิงที่แต่งงานแล้วในเรื่องที่สอง การใช้ภาพสัญลักษณ์ของการจำกัดสิทธิสตรีอย่างฮิญาบ ถูกขึงเป็นใบเรือแล่นลมสู่ท้องทะเลกว้างในฉากเปิดเรื่อง จึงหมายถึงอิสรภาพของสตรีอิหร่านในอุดมคติ ในวันที่ไม่ถูกร้อยรัดผูกมัดด้วยกฎเกณฑ์ข้อห้ามใดๆ หรืออีกนัยหนึ่งคือการส่งสารไป ฟ้อง โลกภายนอกนั่นเอง อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงประการหนึ่งของ The Day I Became a Woman ที่ต้องนำมาพิจารณาคือ หนังถูกสร้างเพื่อนำเสนอต่อโลกภายนอก เกินครึ่งคือเวทีหนังนานาชาติในยุโรปและสหรัฐ มิใช่เพื่อคนอิหร่านเอง เพราะผู้สร้างย่อมรู้ว่าหนังต้องถูกแบนหรือจำกัดการฉายในประเทศอย่างแน่นอน ดังนั้น มุมมองของ มาร์ซิเยห์ เมชคีนี ผู้กำกับฯ และ โมห์เซน มัคห์มัลบาฟ ผู้ร่วมเขียนบท ในการนำเสนอประเด็นกฎหมายจารีตที่มีผลต่อสตรีอิหร่านจึงตอบสนองทัศนคติแบบเสรีนิยมและโลกสมัยใหม่ของผู้ชมต่างชาติให้ตีความ-รับรู้ แทนที่จะนำเสนอภาพวิถีชีวิตแท้ๆ ของสตรีอิหร่านภายใต้วัฒนธรรมตนเอง ซึ่งอาจมีความขัดแย้งภายในแต่ชาวต่างชาติคงเข้าไม่ถึง หนังตั้งโจทย์ไว้ว่าการสวมฮิญาบและกฎหมายจารีตมากมายที่ร้อยรัดวิถีชีวิตสตรีอิหร่าน คือความล้าหลังคร่ำครึ แล้วนำมาปะทะเปรียบเทียบกับวัฒนธรรมในโลกสมัยใหม่ ในแต่ละเรื่องราวจึงมีภาพวัฒนธรรมหรือวิถีดั้งเดิมกับวิถีใหม่ๆ ที่ดูขัดแย้งกัน เพื่อช่วยขับเน้นโจทย์ของหนัง ราวกับจะบอกว่าปัจจุบันโลกไปถึงไหนกันแล้ว แต่อิหร่านยังคงล้าหลังทางวัฒนธรรมไม่เปลี่ยนแปลง ในเรื่องแรก แม่ของฮาวาให้เธอใช้กิ่งไม้ปักบนทรายเพื่อดูเวลาว่าเธอมีเวลาเที่ยวเล่นถึงเมื่อไร วิถีโบราณหรือพูดในเชิงลบว่า ความล้าหลัง กับการสิ้นอิสรภาพของเด็กผู้หญิงจึงถูกดึงมาเกี่ยวข้องกัน เรื่องที่สอง อาฮูผู้พยายามหนีพ้นพันธนาการใช้จักรยานเป็นพาหนะ ขณะที่กลุ่มผู้ชายที่ไล่ตามเธอใช้การขี่ม้า ภาพล้อจักรยานที่วิ่งหมุนวนสลับกับภาพขาม้าวิ่งควบคือเจตนาที่จะเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างโลกเก่ากับโลกใหม่ ซึ่งสุดท้ายแล้วโลกเก่ามีอิทธิพลมากกว่า (หนังตอนที่สองถ่ายทำบนเกาะคิช แหล่งท่องเที่ยวทางทะเลในอ่าวเปอร์เซีย ซึ่งเป็นสถานที่เดียวในประเทศที่อนุญาตให้ผู้หญิงอิหร่านขี่จักรยาน รวมทั้งกฎข้อห้ามมากมายได้รับการยกเว้นบนเกาะนี้ ทั้งยังเป็นแหล่งความเจริญและวัฒนธรรมตะวันตกซึ่งหาไม่ได้บนแผ่นดินอิหร่าน) ส่วนเรื่องสุดท้าย หญิงชราตักตวงช่วงเวลาดีๆ ด้วยการซื้อข้าวของเครื่องใช้ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกสมัยใหม่ มีชุดเจ้าสาวสีขาวแบบสากล แทนที่จะเป็นเครื่องแต่งกายตามธรรมเนียมอิหร่าน เธอบอกว่าสิ่งของเหล่านี้มี คุณค่าทางใจ ต่อเธอ ทั้งการปักไม้บนทรายเพื่อดูเวลาสิ้นอิสรภาพของเด็กหญิง กลุ่มชายขี่ม้าพยายามหยุดหญิงสาวขี่จักรยาน และข้าวของเครื่องใช้สมัยใหม่ที่มีคุณค่าทางใจต่อหญิงชรา อาจเป็นเจตนาของผู้สร้างที่ต้องการสื่อเรื่องการจำกัดสิทธิสตรีอิหร่านให้เข้าถึงชาวต่างชาติ จึงนำเสนอภาพเปรียบเทียบด้านดีงาม-เลวร้ายของโลกเก่ากับโลกใหม่กันตรงๆ จนแทบจะเป็นหนังโฆษณาชวนเชื่อ แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่าผู้สร้างซึ่งเป็นชาวอิหร่านเองเป็นพวกนิยมตะวันตกหรือโลกยุคใหม่อันทันสมัยและเปี่ยมเสรีภาพ จนอคติกับจารีตดั้งเดิมที่ยังมีคุณค่าแบบ อนุรักษนิยม อยู่หรือเปล่า หรือจุดประสงค์แท้จริงคือการ เอาใจ ทัศนคติ อิหร่านวายร้าย ของชาติมหาอำนาจที่พยายามครอบงำโลกมาตลอด เพื่อความสำเร็จบนเวทีประกวดหนังนานาชาติ ซึ่ง The Day I Became a Woman สามารถคว้าหลายรางวัลในหลายเทศกาล โดยหนึ่งในนั้นคือ รางวัลยูเนสโก ที่เทศกาลภาพยนตร์เวนิซ ประเทศอิตาลี หากเปรียบเทียบกับหนังอิหร่านหลายๆ เรื่อง ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดใน The Day I Became a Woman คือ หนังไม่ได้ยึดติดกับแนวทางสัจนิยม(Realism) ที่เห็นในหนังอิหร่านเรื่องดังหลายต่อหลายเรื่อง แต่จะมีลักษณะของหนังแนวทดลอง อาจเพราะเป็นการทำงานโดยมีผู้กำกับฯจอมเทคนิคอย่างโมห์เซน มัคห์มัลบาฟ หนุนหลัง อีกทั้งความเป็นนักเรียนหนังกับผลงานกำกับฯชิ้นแรก ทำให้มีรูปแบบหนังแนวอื่นผสมผสานใส่เข้ามาเหมือนเป็นการลองวิชา ทั้งเรียลิสม์ในเรื่องแรก เหนือจริงหรือ Surrealism ในเรื่องที่สอง ขณะที่เรื่องสุดท้ายมีกลิ่นอายเกินจริงแบบสัจนิยมมายา(Magical Realism) จนทำให้หนังดูแปลกใหม่และน่าสนใจยิ่งขึ้น The Day I Became a Woman อาจจะเป็นหนังอิหร่านที่เปิดเผยเจตนาในการทำตามโจทย์มากเกินไป ทั้งยังชวนให้เกิดความคลุมเครือในเรื่องทัศนคติของผู้สร้าง แต่หากข้ามจุดนี้และมองไปยังความเป็นหนังเรื่องหนึ่งๆ ต้องยอมรับว่านี่คือหนังที่น่าชมเชยในเรื่องความคิดสร้างสรรค์ ทั้งในส่วนของเรื่องราวและวิธีการเล่าเรื่องและนับเป็นหนังเรื่องเด่นจากดินแดนเปอร์เซียเรื่องท้ายๆ ก่อนที่กระแสหนังอิหร่านจะอ่อนแรงลงไปเมื่อขึ้นศตวรรษที่ 21 พร้อมกับเกิดแนวทางหรือเทรนด์ใหม่ๆ เข้ามาแทนที่บนเวทีหนังโลก
Create Date : 31 กรกฎาคม 2549
Last Update : 14 ธันวาคม 2549 18:20:18 น.
8 comments
Counter : 5634 Pageviews.
โดย: nanoguy (nanoguy ) วันที่: 6 มกราคม 2550 เวลา:0:14:56 น.
โดย: amoderndog (amoderndog ) วันที่: 2 เมษายน 2551 เวลา:13:01:10 น.
โดย: rose IP: 125.24.207.148 วันที่: 9 มิถุนายน 2552 เวลา:23:15:47 น.
Location :
[ดู Profile ทั้งหมด]
ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [? ]
บทวิจารณ์ภาพยนตร์รางวัลกองทุน ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ปี 2549 ..............................select movie / blog ....... --international-- ....... The Walking Dead I Wish I Knew 127 Hours The Expendables vs. Salt No puedo vivir sin ti Bright Star The World is Big and Salvation Lurks Around the Corner Sin Nombre Invictus Afghan Star Moon Gigante The Promotion An Education Up in the Air Snow (Snijeg) Liverpool Tahaan Lion's Den Tulpan Everlasting Moments Absurdistan Topsy-Turvy Ramchand Pakistani The Pope's Toilet Antonio's Secret พลเมืองจูหลิง Flashbacks of a Fool And When Did You Last See Your Father? The Boy in the Striped Pyjamas Gran Torino Departures Gomorra Abouna + Daratt Grace Is Gone The Road to San Diego Into the Wild Slumdog Millionaire The Silly Age The Year My Parents Went on Vacation It's Hard to Be Nice Ben X Caramel The Class Kings จาก Kolya ถึง Empties The Unknown Woman Dokuz Heima Cocalero The Blood of My Brother & Iraq in Fragments 12:08 East of Bucharest Rescue Dawn Mongol 6 : 30 Something Like Happiness To Each His Cinema The Counterfeiters ข้างหลังภาพ Lions for Lambs + Michael Clayton Father and Daughter Possible Lives กอด The Buried Forest รัก-ออกแบบไม่ได้ Lights in the Dusk The Piano Teacher Do You Remember Dolly Bell? Sisters in Law Al Otro Lado A Time for Drunken Horses Zelary Bug The Invasion The Science of Sleep Paris, I love you Still Life The Lives of Others Heading South Renaissance ABC Africa The Death of Mr. Lazarescu Maria Full of Grace The Last Communist Eli, Eli, lema sabachthani? 4 : 30 Late August, Early September The Circle The Cave of the Yellow Dog Italian for Beginners Love/Juice Your Name is Justine The Syrian Bride Dragon Head Reconstruction Eros The Scarlet Letter The Night of Truth Familia Rodante Bonjour Monsieur Shlomi Lantana Flanders Tokyo . Sora The World Whisky Buffalo Boy S21 : The Khmer Rouge Killing Machine Fire, Earth, Water C.R.A.Z.Y. All about My Mother Jasmine Women Battle in Heaven The Day I Became a Woman Man on the Train CSI : Grave Danger Innocence Life Is a Miracle Drugstore Girl Der Untergang The Bow Happily Ever After The Wayward Cloud The House of Sand Or, My Treasure Janji Joni Moolaade Vodka Lemon Angel on the Right Twentynine Palms The Taste of Tea ....... --independent-- ....... Goodbye Solo The Hurt Locker (500) Days of Summer Towelhead Kabluey Three Burials of Melquiades Estrada Titus Chuck & Buck The Woodsman Pollock Last Days The Limey Inside Deep Throat Coffee and Cigarettes Garden State My Name is Joe Sexy Beast Real Women Have Curves The Brown Bunny Before Sunset Elephant Bubble You Can Count on Me 9 Songs ....... --classic-- ....... Memories of Underdevelopment (1968) The Last Laugh The Snows of Kilimanjaro The Cabinet of Dr.Caligari Nanook of the North The Apu Trilogy ....... --หนังมีไว้ให้คิด-- ....... The Schoolgirl's Diary Long Road to Heaven The Imam and the Pastor Maquilapolis ....... --what a film!-- ....... Kabuliwala (1956) Macunaima (1969) Kozijat rog (1972) The Girl and the Echo (1964) Fruits of Passion (1981) Happy Gypsies (1967) ....... --introducing-- ....... Death Race 2000 (1975) ซอมบี้ปากีฯ+ผีดิบมาเลย์+ซูเปอร์แมนตุรกี Zinda Muoi Father and Daughter ....... --directed by-- ....... Ouran (1968) Pierwsza milosc (1974) Salome (1978) 4 หนังสั้น เคียรอสตามี recommended ....... - 'รงค์ วงษ์สวรรค์ กับภาพยนตร์ - เทมาเส็ก พิคเจอร์ส - Heading South - Still Life - The Apu Trilogy - The Day I Became a Woman - จาก Fire, Earth สู่ Water พญาอินทรี ศราทร @ wordpress
1
2 3 4 5 6 7 8
9 10 11 12 13 14 15
16 17 18 19 20 21 22
23 24 25 26 27 28 29
30 31
อ่านทั้งหมดมานี้ก็ได้ข้อมูลต่างๆเพิ่มเติมให้กับตัวเองได้เยอะเลยอ่ะค่ะ ขอบคุณจิงจิง
เคยดู Osama ตอนเทศกาลหนัง
ส่วน Gabbeh กะ Salam Cinema แผ่นยังรอให้เปิดดูอยู่ค่ะ