Bug แมลงสมคบคิด



Bug
แมลงสมคบคิด

พล พะยาบ
คอลัมน์อาทิตย์เธียเตอร์ มติชนรายวัน 23 กันยายน 2550


*ทศวรรษที่แล้วคำว่า “ทฤษฎีสมคบคิด” หรือ Conspiracy Theory แพร่หลายติดปาก โดยเฉพาะเมื่อกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมป๊อปร่วมสมัย เช่นในหนังชุดทางโทรทัศน์เรื่อง The X-Files หรือนิยายเล่มดังของ อุมแบร์โต เอโก เรื่อง Foucault's Pendulum

ปี 1997 มีหนังที่เกาะกระแสดังกล่าวด้วยการตั้งชื่อกันตรงๆ ว่า Conspiracy Theory ผลงานกำกับฯของ ริชาร์ด ดอนเนอร์ แสดงโดยดาราขายดีอย่าง เมล กิบสัน และจูเลีย โรเบิร์ตส์ หนังมาในแนวทางแอ๊คชั่นระทึกขวัญเจือกลิ่นอายโรแมนติกระหว่างคู่พระ-นาง แถมยังมีเพลงประกอบคุ้นเคยอย่าง Can't Take My Eyes Off You ที่ใส่เข้ามาอย่างเหมาะเจาะโดนใจ เรื่องราวเกี่ยวกับคนขับแท็กซี่ท่าทางวิกลจริตซึ่งเชื่อว่าตนเองถูกตามล่าปองร้ายโดยกลุ่มคนที่โยงใยกับแผนสมคบคิดของรัฐบาล หนังค่อยๆ เผยว่าเขาเคยเป็นหนูทดลองในโครงการลับด้านการทหาร

ด้วยกระแสหรือความบังเอิญก็ตามที ก่อนหน้าหนัง Conspiracy Theory ออกฉายเพียงปีเดียว มีละครเวทีเรื่อง Bug ออกแสดง ด้วยตัวละครชายที่มีความเชื่อฝังหัวเกี่ยวกับแผนสมคบคิดเหมือนกัน แถมยังบอกว่าตนเป็นหนูทดลองในโครงการลับของทหารเหมือนกันอีก นอกจากนี้ ตัวละครชายทั้งในหนังและละครเวทีต่างต้องมาเกี่ยวข้องและเอาตัวรอดร่วมกับตัวละครหญิง

ต่างไปตรงที่หนัง Conspiracy Theory ก็เหมือนหนังฮอลลีวู้ดทั่วไปที่สามารถทำเรื่องไม่น่าเป็นจริงให้กลายเป็นรูปเป็นร่างและขายได้ มีตัวละครที่ถึงพร้อมกับการเป็นพระเอก-นางเอก แถมท้ายด้วยบทจบอันสวยงาม ส่วนละครเวทีเรื่อง Bug ปล่อยให้เรื่องสมคบคิดเป็นปริศนาต่อไป แล้วเล่นกับภาวะความสงสัยคลุมเครืออันนำไปสู่ความกลัว-ความวิตกจริตจนเกินควบคุม มีตัวละครขาดพร่อง กับบทจบที่เรียกว่าเป็นหายนะ

พูดอีกอย่างหนึ่งได้ว่า Bug คือเรื่องราวว่าด้วยทฤษฎีสมคบคิดที่ไม่ได้ถูกสวมทับด้วยวัฒนธรรมป๊อปซึ่งสร้างความสนุกสนานตื่นเต้นเช่นในหนัง Conspiracy Theory หรือนิยาย The Da Vinci Code แต่เป็นความจริงอันโหดร้ายจาก “ความเชื่อ” เรื่องทฤษฎีสมคบคิด

*เมื่อ Bug ถูกนำมาดัดแปลงเป็นหนังฉายในปี 2006 บวกกับฝีมือกำกับฯของ วิลเลียม ฟรีดกิน รุ่นใหญ่ที่ถนัดทำหนังเคร่งเครียดจริงจัง ผู้ประสบความสำเร็จจากหนังสยองขวัญระดับตำนานเรื่อง The Exorcist มันจึงเป็นเหมือนหนัง Conspiracy Theory ฉบับหลอน-โหด-ตึงเครียด แบบไม่ประนีประนอม ทำให้ปิดประตูตายสำหรับการเป็นหนังฮิต ยังไม่นับว่าเรื่องราวที่พูดถึงการสมคบคิดเป็นฉากๆ เป็นเรื่องล้าสมัยแล้วใน พ.ศ.นี้

Bug เล่าถึงหญิงสาวชื่อ แอ็กเนส(แอชลีย์ จัดด์) ที่เช่าห้องพักโรงแรมราคาถูกอยู่ตามลำพัง จมอยู่กับความหลังอันเจ็บปวดเรื่องลูกชายที่หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยเมื่อหลายปีก่อน วันหนึ่ง อาร์.ซี.(ลินน์ คอนลินส์) เพื่อนเลสเบี้ยนที่ทำงานบาร์ด้วยกัน พาชายลึกลับชื่อ ปีเตอร์(ไมเคิล แชนนอน) มาให้แอ็กเนสรู้จัก เขาและเธอคุยกันถูกคอ กระทั่งปีเตอร์กลายเป็นเพื่อนที่แอ็กเนสให้การต้อนรับอย่างดีในห้องพักของเธอ โดยเฉพาะในยามที่ เจอร์รี่(แฮร์รี่ คอนนิค จูเนียร์) สามีนิสัยเลวซึ่งถูกส่งตัวไปอยู่ในคุกเมื่อ 2 ปีก่อน กลับมาหาเธออีกครั้ง

ความเปลี่ยนแปลงของปีเตอร์เริ่มต้นเมื่อเขาพบแมลงบนเตียงนอน เมื่อถูกแอ็กเนสซักไซ้ไล่เรียงถึงประวัติที่มา ปีเตอร์จึงยอมบอกว่าตนเองเป็นทหารผ่านศึกสงครามอ่าวที่หลบหนีการทดลองของกองทัพ ส่วนแมลงเป็นพวกเดียวกับกลุ่มคนที่ตามล่าเขา เมื่อแมลงเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ เรื่องราวจากปากของปีเตอร์ก็เพิ่มความลึกลับซับซ้อนยิ่งขึ้น

กระทั่งไม่มีอะไรควบคุมได้...ทั้งจำนวนแมลงและเรื่องราวสมคบคิด

กล่าวสำหรับละครเวทีเรื่อง Bug คือผลพวงโดยตรงจากเหตุระเบิดตึกที่ทำการรัฐบาลกลางในโอกลาโฮมา ซิตี้ เมื่อปี 1995 อันเป็นการก่อวินาศกรรมบนแผ่นดินสหรัฐครั้งร้ายแรงที่สุดก่อนจะเกิด 9/11 ในอีก 6 ปีต่อมา โดย เทรซี เลตส์ เขียนบทขึ้นหลังจากเกิดเหตุระเบิดครั้งนั้น และเปิดแสดงครั้งแรกในเดือนกันยายน ปี 1996 ฉากหลังของเรื่องราวจึงกำหนดไว้ในโรงแรมในรัฐโอกลาโฮมา มีการกล่าวถึง ทิโมธี แม็กเวห์ ผู้เป็นมือระเบิดอยู่ในแผนสมคบคิด

นอกจากนี้ บทละครยังอ้างถึง ทีโอดอร์ หรือ เท็ด คาซินสกี้ มือระเบิดไปรษณีย์คนสำคัญซึ่งประกาศวางมือในปี 1995 ก่อนจะถูกจับกุมตอนต้นปี 1996 โยงสงครามอ่าวครั้งแรกเมื่อปลายปี 1990 ถึงต้นปี 1991 และลัทธิฆาตกรรม-ฆ่าตัวตายหมู่ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งช่วงต้นทศวรรษ 90

สรุปก็คือ บทละครได้รวบรวมเชื่อมโยงเหตุแห่งความปั่นป่วน-ความวิตกกังวลอย่างรุนแรงในช่วงต้นทศวรรษ 90 เพื่อสะท้อนถึงภาวะจิตใจของผู้คนในยุคนั้นนั่นเอง

เมื่อ เทรซี่ เลตส์ ดัดแปลงบทละครตนเองเป็นบทหนัง เขาแทบไม่ได้เปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่รองรับแก่นสารเดิม ตัวละครในหนัง(ซึ่งไม่ได้เจาะจงว่าเป็นเมื่อใด) จึงยังพูดถึงแต่บุคคลและเหตุการณ์เมื่อทศวรรษก่อน ทั้งที่สถานการณ์โลกก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หลังเหตุวินาศกรรม 9/11 จนแทบจะรื้อแนวคิด-ความเชื่อก่อนหน้านั้นไปแล้วหมดสิ้น

ถ้า Bug ถูกสร้างเป็นหนังตั้งแต่ทศวรรษก่อน มันคงมีคุณค่าที่น่าจดจำในฐานะหนังสะท้อนความเป็นไปแห่งยุค แต่เมื่อมาปรากฏในอีก 10 ปีล่วงพ้น ประเด็นทางสังคมที่ Bug สะท้อนออกมาจึงเหมือนเป็นเรื่องราวรำลึก-ศึกษาความหลังที่หาดูได้ทางช่องฮิสทรี่ แชนแนล

*อย่างไรก็ตาม ในส่วนของตัวหนังเองต้องถือว่าอยู่ในระดับดีเยี่ยม ส่วนที่น่าชื่นชมเป็นพิเศษคือการแสดงอันทรงพลัง ทั้งแอชลีย์ จัดด์, ไมเคิล แชนนอน และแฮร์รี่ คอนนิค จูเนียร์ สำหรับแชนนอนแม้จะเป็นนักแสดงที่ไม่เป็นที่รู้จัก แต่เขาคือผู้แสดงบทเดียวกันนี้เมื่อคราวเป็นละครเวที โดยฟรีดกินยืนยันว่าจะให้มารับบทเดิมในหนังแม้ทางสตูดิโอจะอยากได้นักแสดงที่มีชื่อเสียงมากกว่านี้

ผู้กำกับฯฟรีดกินแม่นยำอย่างยิ่งกับการใช้ภาพและเสียงเล่าเรื่องและสื่อความหมาย เราจึงได้เห็นการเปิดเรื่องที่น่าจดจำโดยเริ่มตั้งแต่ภาพคนนอนตายในห้องผนังสะท้อนแสงสีฟ้า ตัดมาที่เสียงโทรศัพท์กับแอ็กเนส จนถึงภาพและเสียงจากเฮลิคอปเตอร์ที่พามายังโรงแรม เพียงแค่ 3 ฉากต่อเนื่องนี้ก็เพียงพอให้ผู้ชมตั้งใจและเตรียมใจพบกับสิ่งที่จะตามมาแล้ว

เรื่องราวภายในห้องแคบๆ กับตัวละครหลักเพียง 2-3 ตัว ที่ค่อยๆ เขม็งเกลียวความตึงเครียด กับสภาพของฉากและตัวละครที่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน จากห้องปกติสู่ห้องที่เต็มไปด้วยเครื่องไล่แมลงก่อนจะปิดท้ายด้วยห้องที่บุด้วยฟอยล์ เช่นเดียวกับตัวละครที่ดูปกติธรรมดาในตอนแรกสู่รูปลักษณ์ทรุดโทรมและท่าทางผิดปกติมากขึ้นทุกขณะ ทำให้รู้สึกเหมือนว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในหนังไม่ต่างจากขั้นตอนแห่งวงจรชีวิตแมลง

จากตัวอ่อนเป็นดักแด้ รอเวลาสุกงอม...เพื่อจะสลัดหลุดพ้นในท้ายที่สุด



Create Date : 07 ตุลาคม 2550
Last Update : 7 ตุลาคม 2550 0:01:08 น. 3 comments
Counter : 1431 Pageviews.

 


โดย: ตาอ้วนชวนคุย วันที่: 7 ตุลาคม 2550 เวลา:0:27:00 น.  

 
ไมเคิล แชนนอน แสดงได้หลอนมากๆ แอชลีย์ จัดด์ ก็หลอนตามแกไปด้วย..ยอดเยี่ยมทั้งคู่เลย


โดย: renton_renton วันที่: 8 ตุลาคม 2550 เวลา:12:31:01 น.  

 
เขียนรีวิวหนังได้สุดยอดมากๆครับ


โดย: YoiChi IP: 202.57.132.197 วันที่: 4 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา:16:09:22 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

แค่เพียงรู้สึกสุขใจ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




บทวิจารณ์ภาพยนตร์รางวัลกองทุน
ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ปี 2549

..............................








พญาอินทรี




ศราทร @ wordpress
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2550
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
7 ตุลาคม 2550
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แค่เพียงรู้สึกสุขใจ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.