6 : 30 ชั่วการครบรอบของคืนวัน

6 : 30 ชั่วการครบรอบของคืนวัน
พล พะยาบ คอลัมน์อาทิตย์เธียเตอร์ มติชนรายวัน 20 มกราคม 2551
ที่ผ่านมาเคยเขียนถึงหนังอินโดนีเซียผ่านคอลัมน์นี้มาแล้ว 3 เรื่อง เรื่องแรก Janji Joni หรือ Joni's Promise (2005) เป็นหนังโรแมนติก-คอมิดี้เน้นเรื่องราวสนุกสนาน เรื่องที่สอง Long Road to Heaven (2007) จำลองและลงลึกยังเหตุการณ์ระเบิดบาหลี และสุดท้าย Love for Share (2006) เกี่ยวกับการมีภรรยามากกว่า 1 คน ในสังคมอินโดนีเซีย ซึ่งเขียนรวมกับหนังอีก 3 เรื่อง ในหัวข้อว่าด้วยหนังจากประเทศเพื่อนบ้าน
จากตัวอย่าง 3 เรื่องนี้ คงบอกถึงความหลากหลายของหนังอินโดนีเซียได้ในระดับหนึ่ง ยิ่งเมื่อมองภาพรวมจะยิ่งพบว่าวงการหนังแดนอิเหนามีพื้นที่ให้กับความหลากหลายของเนื้อหาเรื่องราวและประเภทของหนังจนน่าอิจฉา หากเทียบกับบ้านเราที่มีหนังเข้าฉายรายปีในจำนวนไม่ต่างกันนัก คือราว 50 เรื่อง แต่กว่าครึ่งค่อนเป็นหนังผีกับหนังตลก (คาเฟ่)
เล่าย้อนไปอีกนิดว่าอุตสาหกรรมหนังอินโดนีเซียกับอุตสาหกรรมหนังไทยตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ถือว่าคลับคล้ายใกล้เคียงกัน ไม่ว่าจะเป็นช่วงซบเซาอย่างหนักต้นยุค 90 ก่อนจะฟื้นตัวช่วงปลายทศวรรษ (ของไทยเริ่มจากปรากฏการณ์ 2499 อันธพาลครองเมือง ปี 2540 หรือ ค.ศ.1997 ส่วนของอินโดนีเซียคือหลังการลงจากอำนาจของซูฮาร์โตในปี 1998) จากนั้นอุตสาหกรรมหนังของทั้งสองประเทศก็เดินหน้าได้อย่างหนักแน่น แม้ปริมาณหนังในแต่ละปีจะไม่มากเท่ากับช่วงก่อนซบเซาก็ตาม
หนังไทยปัจจุบันอาจจะเหนือกว่าตรงที่มีหนังและคนทำหนังเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติมากกว่าอย่างต่อเนื่อง เป็นความเหนือกว่าซึ่งไม่แน่ว่าในอนาคตอันใกล้อินโดนีเซียอาจจะทำได้เช่นกัน แต่ในทางกลับกันวงการหนังอินโดนีเซียมีข้อได้เปรียบในจุดที่หนังไทยยากจะทำได้ นั่นคือความเข้มแข็งในวัฒนธรรมการดูหนังจนสามารถป้อนความหลากหลายทั้งด้านเนื้อหาและประเภทของหนังลงไปในตลาดได้อย่างเต็มที่
นี่ยังไม่นับเรื่องการเปิดกว้าง เช่นมิติทางศาสนาหรือการเมืองที่สามารถนำเสนอได้ในระดับหนึ่ง ต่างจากของไทยซึ่งเรื่องเหล่านี้แทบจะแตะต้องไม่ได้หากไม่พูดถึงในด้านบวกหรือไม่ยึดเอาตามตำรา
เข้าเรื่อง 6 : 30 ดีกว่า...
หนังปี 2006 ของผู้กำกับฯ รินาลดี ปุสโปโย เรื่องนี้ ไม่ใช่หนังฮิตหรือหนังดัง แต่มีสถานะเป็นหนังอิสระ ซึ่งรินาลดีกับ อดิลลา ดิมรีทิ นักแสดงนำของเรื่องร่วมกันสร้างและเขียนบท และต่างเป็นผลงานเรื่องแรกของแต่ละคนทั้งในฐานะผู้กำกับฯและนักแสดง นางเอกชื่อ ดินนา โอลิเวีย ก็เพิ่งเล่นหนังมา 2 เรื่องก่อนหน้านี้ มีเพียง วิงกี วิรยาวัน ซึ่งมีชื่อเสียงพอสมควร และเคยแสดงในหนังดังทั้ง Janji Joni และ Love for Share มาช่วยดึงคนดู
ที่น่าสนใจคือ 6 : 30 ใช้ฉากหลังและถ่ายทำในซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ตลอดทั้งเรื่อง โดยใช้ทุนสร้างเพียง 10 ล้านบาท นั่นยิ่งบ่งบอกถึงขนาดและความอิสระของหนังเรื่องนี้
หนังเริ่มต้นเวลาหกโมงครึ่งของเช้าวันหนึ่งและจบลงเวลาหกโมงครึ่งของเช้าวันรุ่งขึ้น 24 ชั่วโมงดังกล่าวเป็นวันสุดท้ายในซานฟรานซิสโกของอลิต (อดิลลา) ก่อนจะบินกลับอินโดนีเซีย หลังจาก 5 ปีเต็มที่เขาจากบ้านเกิดมาอยู่ที่นี่ โดยแม่ของอลิตได้นัดแนะว่าจะบินจากต่างจังหวัดมารอพบที่บ้านในจาการ์ตา พร้อมทำขนมซึ่งลูกชายร้างรารสชาติมาเนิ่นนานไว้รอต้อนรับ
ที่ซานฟรานซิสโก อลิตพักอยู่กับบิมา (วิงกี) เพื่อนสนิทซึ่งทำงานมั่นคง มีรายได้สูง ต่างจากอลิตที่มีงานหลักเป็นคนรับรถในที่จอดรถและวาดภาพขาย บุคลิกของบิมากับอลิตก็ต่างกันโดยสิ้นเชิง บิมาเป็นผู้ใหญ่ ใช้ชีวิตอย่างมีเป้าหมาย มีระเบียบ และค่อนข้างเงียบขรึม ส่วนอลิตมีความเป็นเด็กสูง ไม่ค่อยเป็นโล้เป็นพาย ใช้ชีวิตไปวันๆ แบบไม่เคร่งครัดกับเรื่องใด
ระหว่างความแตกต่างของคนทั้งสองมีหญิงสาวชื่อ ทาสยา (ดินนา) สอดผสานอยู่ทั้ง 2 ฝั่ง เธอเคยเป็นคนรักของบิมา ก่อนจะเลิกกันไปเมื่อ 3 ปีก่อน ขณะเดียวกัน ทาสยาก็สนิทกับอลิตชนิดเล่นหัวกันได้โดยไม่รู้เลยว่าเขาแอบรักเธอมาตลอด นอกจากวันสุดท้ายนี้ที่อลิตตั้งใจจะเปิดเผยความรู้สึกของตน
สามเพื่อนสนิทนัดกันว่าจะเลี้ยงส่งอลิตและออกไปสนุกด้วยกันตลอดคืนเป็นครั้งสุดท้าย แต่ค่ำคืนแห่งการล่ำลาดูท่าจะไม่ราบรื่นด้วยความในใจของแต่ละคนที่ทะลักทลาย อีกทั้งยังมีเรื่องไม่คาดฝันรอคอยพวกเขาอยู่...ก่อนที่เวลาอันเป็นจุดสิ้นสุดจะมาถึง
เรื่องราววันสุดท้ายก่อนที่ตัวละครจะต้องลาจากไปที่ไหนสักแห่งชวนให้นึกถึงเรื่อง 25th Hour (2002) ของสไปค์ ลี เกี่ยวกับวันสุดท้ายของพ่อค้ายา(เอ็ดเวิร์ด นอร์ตัน) ก่อนจะเข้าไปรับโทษในคุก โดยตัวละครต้องตระเวนไปตามที่ต่างๆ และสะสางบางเรื่องราวเหมือนกัน เพียงแต่ 6 : 30 ไม่มีฉากแฟลชแบ็คเหมือน 25th Hour
ผลงานกำกับฯเรื่องแรกของรินาลดีโดยภาพรวมยังไม่ลงตัวนัก การเล่นกับระยะเวลาทำให้หลายฉากดูเลื่อนลอยไร้จุดหมาย แม้ว่าหากมองอีกแง่หนึ่งอาจเป็นความตั้งใจของผู้สร้างที่จะสื่อถึงการล่องลอยไร้แก่นสารของอลิต บางฉากถูกปล่อยให้ยืดยาวเกินไป เช่นฉากอลิตนั่งคุยกับบิมาที่ท่าน้ำยาวร่วม 15 นาที ความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครผ่านการแสดงออกดูคลุมเครือ กระนั้น การแสดงของนักแสดงทั้งสาม การถ่ายภาพ และเพลงประกอบ คือส่วนดีที่เข้ามาชดเชยและกลบเกลื่อนจุดด้อยอื่นๆ ไปได้
แม้ว่าโดยเรื่องราวจะเป็นรักสามเส้า แต่หลักใหญ่ใจความหนังพูดถึงคนซึ่งใช้ชีวิตอยู่ในแผ่นดินที่ไม่ใช่บ้านเกิดเมืองนอน และระดับความเปราะบางของตัวตนซึ่งแต่ละคนมีไม่เท่ากัน
บนแผ่นดินอื่นนี้บางคนไม่เคยหาหลักใดยึดไว้ บางคนเลือกคว้าสิ่งยึดเหนี่ยวชั่วคราว ขณะที่บางคนรู้จักไขว่คว้าหาหลักยึดมั่นคงให้กับตนเอง นั่นคือคำอธิบายถึงตัวละครนำทั้งสาม
สำหรับอลิตซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมด มีฉากหนึ่งเขาเล่าให้ทาสยาฟังว่า แม่เคยพูดว่าอย่ากลัวที่จะต้องเสียในสิ่งที่รัก เพราะไม่ช้าก็เร็วเราต้องเสียมันไปอยู่ดี อย่างไรก็ตาม จากสิ่งที่อลิตเลือกทำแสดงว่าเขาไม่ได้ยึดตามคำสอนของแม่เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับการที่เขาไม่ยอมบอกรักทาสยาก่อนหน้านี้ ปล่อยให้ล่วงเลยมาจนวันสุดท้าย
งานรับรถในที่จอดรถเป็นสิ่งบ่งชี้ตัวตนของอลิตได้เช่นกัน เขาพอใจที่จะจอดตนเองไว้ในพื้นที่ว่าง อยู่กับสิ่งที่ไม่ใช่ของตน ซึ่งสุดท้ายแล้วแม้เขาไม่ต้องสูญเสียอะไรไป แต่ไม่มีอะไรเหลืออยู่กับเขาเช่นกัน
เมื่อเรื่องราวมาถึงจุดสิ้นสุดก่อนที่อลิตจะลาจากไป เราได้เห็นเขาเดินผ่านประตูที่มีตัวอักษรเขียนว่า ห้ามจอด นี่อาจสื่อถึงความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีที่จะเกิดขึ้นกับเขานับแต่นี้
อีกจุดหนึ่งที่หนังสื่อผ่านเนื้อหาและเวลาอันเป็นฉากหลังคือ หนังพูดถึงการเริ่มต้นและสิ้นสุดของทุกๆ เรื่องราว ทั้งการพบ-พราก รัก-ร้าง สมหวัง-ผิดหวัง โดยในเวลาเดียวกันสิ่งหนึ่งอาจเกิดขึ้นพร้อมกับสิ่งหนึ่งยุติลง หรือในทางตรงข้ามการสิ้นสุดของสิ่งหนึ่งอาจเป็นการเริ่มต้นของอีกสิ่งหนึ่ง
และเราอาจเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาลเพียงชั่วการครบรอบของคืนวัน
Create Date : 13 มิถุนายน 2551 |
Last Update : 20 มิถุนายน 2551 23:26:20 น. |
|
10 comments
|
Counter : 1404 Pageviews. |
 |
|
|
โดย: nanoguy IP: 125.24.142.183 วันที่: 14 มิถุนายน 2551 เวลา:2:32:15 น. |
|
|
|
โดย: tevaooth IP: 124.120.89.132 วันที่: 16 มิถุนายน 2551 เวลา:10:19:45 น. |
|
|
|
โดย: haro_haro IP: 203.153.163.34 วันที่: 16 มิถุนายน 2551 เวลา:11:48:48 น. |
|
|
|
โดย: tevatooth IP: 58.136.228.4 วันที่: 27 มิถุนายน 2551 เวลา:4:40:20 น. |
|
|
|
|
|
|
|
Location :
[ดู Profile ทั้งหมด]
|
ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]

|
บทวิจารณ์ภาพยนตร์รางวัลกองทุน ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ปี 2549 ..............................

พญาอินทรี

ศราทร @ wordpress
|
|
|
|
1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 |
8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 |
15 | 16 | 17 | 18 | 19 | 20 | 21 |
22 | 23 | 24 | 25 | 26 | 27 | 28 |
29 | 30 | |
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|