Zelary อีกแง่มุมของมหาสงคราม



Zelary
อีกแง่มุมของมหาสงคราม

พล พะยาบ
คอลัมน์อาทิตย์เธียเตอร์ มติชนรายวัน 10 เมษายน 2548


*ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะเปิดฉาก ประวัติศาสตร์บทหนึ่งบันทึกไว้ว่า ประเทศเชโกสโลวะเกียถูกอังกฤษและฝรั่งเศสหักหลังด้วยการยินยอมให้กองทัพนาซีเข้ายึดครองดินแดนใดก็ได้ของเชโกสโลวะเกียที่มีคนเชื้อสายเยอรมันอาศัยเกินกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ทำให้แคว้นซูเดเตนถูกรวบไปเป็นส่วนหนึ่งของเยอรมนี

แต่โลภจริตแห่งฮิตเลอร์ยังไม่หยุดแค่นั้น วันที่ 13 มีนาคม 1939 เขาเรียกประธานาธิบดีเอมิล ฮาชา ของเชโกสโลวะเกียมาพบ เพื่อให้ยอมรับแต่โดยดีว่าเยอรมนีจะยึดประเทศ เมื่อประธานาธิบดีฮาชาปฏิเสธ ฮิตเลอร์จึงขู่ว่าจะส่งเครื่องบินไปถล่มกรุงปรากให้ราบคาบ ผู้หญิงและเด็กเป็นล้านๆ คนจะต้องตาย ด้วยไม่มีทางเลือกประธานาธิบดีฮาชาจำต้องเซ็นรับรองการสูญเสียอิสรภาพของชาติและประชาชนชาวเช็ก วันรุ่งขึ้นกองทัพนาซีจึงยาตราเข้ากรุงปรากในฐานะผู้ยึดครอง ไม่กี่ปีจากนั้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็อุบัติขึ้น

นี่คือจุดเริ่มต้นของความขมขื่น-บีบคั้นที่ผู้คนในเชโกสโลวะเกีย ซึ่งปัจจุบันแม้จะแยกออกเป็นประเทศอิสระ 2 ประเทศ คือ เช็ก และสโลวะเกีย แล้วก็ตาม ยังคงจดจำเป็นบาดแผลไม่มีวันลบเลือน

กระทั่งเป็นที่มาของ Zelary (2003)โศกนาฏกรรมความรักภายใต้ภาวะไร้ซึ่งอิสรภาพ หนังที่หน่วยงานรัฐทั้งเช็กและสโลวะเกียให้การสนับสนุน

Zelary สร้างจากนิยายเรื่อง Jozova Hanule ของ คเวตา เลกาโตวา (Kveta Legatova) ซึ่งดัดแปลงจากเรื่องจริง กำกับฯโดย อองเดรจ์ โทรจาน (Ondrej Trojan) เล่าถึงเหตุการณ์ในปี 1943 เกี่ยวกับ เอลิสกา หญิงสาวนักเรียนแพทย์ที่ต้องหยุดเรียนกลางคันเพราะนาซีสั่งปิดโรงเรียน เธอผันตนเองมาเป็นพยาบาลในโรงพยาบาลรัฐซึ่ง ริชาร์ด แฟนของเธอเป็นศัลยแพทย์อยู่ด้วย

คืนหนึ่งทั้งสองได้ช่วยชีวิต โจซา หนุ่มใหญ่ชาวชนบทที่ประสบอุบัติเหตุร้ายแรงโดยเอลิสกาถ่ายเลือดของเธอให้กับเขา

*อีกสถานะหนึ่งของริชาร์ดและเอลิสกาคือเป็นผู้ร่วมขบวนการใต้ดินต่อต้านนาซี เมื่อเกสตาโปดมกลิ่นรู้เข้า จึงตามจับกุมและสังหารทุกคนที่เกี่ยวข้อง ริชาร์ดหนีออกนอกประเทศ ส่วนเอลิสกาต้องไปกับโจซา เปลี่ยนชื่อตนเองว่า ฮานา แล้วแฝงตัวเป็นชาวบ้านอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆ ชื่อว่า เซลารี่ ในหุบเขาห่างไกลสายตาทหารเยอรมัน

ที่สำคัญ เธอต้องแต่งงานกับโจซา เพื่อให้อยู่ในหมู่บ้านโดยไม่เป็นเหมือนสิ่งแปลกปลอม

จากหญิงสาวชาวเมืองต้องปรับตัวอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆ ในชนบท ไร้ซึ่งสิ่งอำนวยความสะดวกแม้กระทั่งไฟฟ้า ทั้งยังต้องอยู่ร่วมชายคากับชายหนุ่มบ้านป่าท่าทางเถื่อนๆ ที่เธอไม่รู้จักมักคุ้น ฮานาค่อยๆ ปรับตัวให้เข้ากับสภาพชีวิตใหม่และสามีโดยนิตินัย ในที่สุดเธอก็สามารถกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของเซลารี่ พร้อมหัวใจที่เปิดรับโจซาในฐานะสามีของเธอ

กระนั้น แม้จะมีชีวิตสงบเงียบ มีคนที่เธอรัก แต่ฮานาก็ตระหนักว่าเธอไม่ใช่คนที่นี่ หากเป็นผู้ลี้ภัยที่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ ใจที่ระวังระแวงจึงไม่อาจสงบเงียบได้ตลอดเวลา หลังหุบเขายังมีสงคราม มีทหารเยอรมันที่เธอหวาดผวา ซึ่งไม่อาจล่วงรู้ได้ว่าจะมาถึงตัวเธอเมื่อไร ที่สำคัญคือคำถามว่าเธอจะต้องอยู่ที่นี่ตลอดไปหรือเปล่า

หนังหลีกเลี่ยงฉากบังคับกระตุ้นอารมณ์ลุ้นระทึกในหนังประเภทนี้ เช่น ฉากการหลบหนีเอาตัวรอด หรือฉากตรวจสอบของทหารเยอรมัน หันมาใส่ใจกับรายละเอียดชีวิตของฮานา(เอลิสกา) ว่าเธอจะอยู่อย่างไรในสถานการณ์บีบบังคับเช่นนี้

การที่หนังเปิดเรื่องด้วยฉากเธอและริชาร์ดกำลังพลอดรักกันอย่างมีความสุข ทั้งที่รู้ว่าข้างนอกมีทหารเยอรมันถือปืนยืนอยู่บนถนน จึงไม่ต่างจากเชโกสโลวะเกียก่อนจะถูกนาซีเข้ายึดครอง เอลิสกาและริชาร์ดภายในห้องหับส่วนตัวเปรียบได้กับเชโกสโลวะเกียซึ่งแม้จะได้รับผลกระทบจากนาซี แต่ก็ยังใช้ชีวิตกันต่อไปได้ตามใจ

แต่ทันทีที่นาซียึดครองแล้ว ใช่เพียงอิสรภาพที่สูญเสีย ยังมีการพลัดพรากของผู้คนในครอบครัว จำนวนไม่น้อยถูกฆ่า เหมือนกับเอลิสกาต้องพลัดพรากกับริชาร์ด ขณะที่เพื่อนหลายคนที่ร่วมขบวนการถูกสังหาร (ช่วงนาซียึดครอง ชาวยิวและชาวเช็กในเชโกสโลวะเกียถูกสังหารรวมกันกว่า 1 แสนคน)

การหลบหนีและการแต่งงานของเอลิสกาเพื่อความปลอดภัย ไม่ต่างกับเชโกสโลวะเกียซึ่งต้องเขียนแผนที่ประเทศใหม่ ผู้คนต้องย้ายถิ่นที่อยู่ (ชาวเช็กในดินแดนที่มีชาวเยอรมันเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ ต้องย้ายออกไปที่อื่น) และเปลี่ยนสถานะจากรัฐอิสระมาเป็นรัฐในอารักขาของเยอรมนี เพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสียเลือดเนื้อและชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่


แม้จะเป็นเรื่องของหญิงสาวผู้ต้องหลบหนีการตามล่าของเยอรมัน แต่หนังไม่ได้นำเสนอการดิ้นรนเอาชีวิตรอดเป็นด้านหลัก ซับพล็อตเกี่ยวกับเพื่อนบ้านหนุ่มที่ชอบทำร้ายผู้หญิงและคอยหาทางล่วงเกินฮานา กับเรื่องของเด็กเหลือขอที่ถูกพ่อเลี้ยงกับครูใหญ่เกลียดชัง แต่ภายหลังเขาเป็นผู้ช่วยชีวิตคนในหมู่บ้าน คือสิ่งที่หนังตั้งคำถามว่าพวกเขาจะใช้ชีวิตกันอย่างไร จะรักใคร่-ชิงชังกันเอง หรือปล่อยปละละเลยบางชีวิตให้ต้องผจญเคราะห์กรรมตามลำพัง

ส่วนที่แตกต่างแปลกตาจากหนังยุโรปที่ใช้ฉากสงครามโลกครั้งที่ 2 แน่นอนว่าคือฉากชนบทแวดล้อมด้วยป่าเขาดูสงบสวยงาม แทนที่จะเป็นบ้านเมืองพังพินาศ หรือสมรภูมิรบอันเคร่งเครียดดุเดือด จุดนี้น่าจะเป็นส่วนดึงดูดความสนใจผู้ชมไม่ให้เบือนหน้าหนีไปเสียก่อน หากรู้ว่าเป็นหนังเกี่ยวกับมหาสงครามซึ่งชมกันมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน ส่วนชาวเช็ก-สโลวัก และชาวยุโรปบางประเทศคงสัมผัสกลิ่นอายแห่งอดีตที่พาให้รำลึกถึงคืนวันขมขื่นเมื่อ 60 ปีก่อนได้อย่างดี

หนังไม่ได้เสนอภาพโศกนาฏกรรมรันทด เช่น Schindler’s List หรือ The Pianist ไม่ได้ฟูมฟายแบบความรักของโกโบริกับอังศุมาลิน แต่เป็นอีกมุมหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งต่างออกไป ทั้งยังเป็นหนังจากชาติที่เราคงไม่ค่อยมีโอกาสชมหนังของเขาได้บ่อยๆ

แม้ไม่ได้ถึงกับซาบซึ้งตรึงใจ แต่โดยรวมแล้วถือว่าน่าชื่นชม




หมายเหตุ

1.Zelary เป็นตัวแทนสาธารณรัฐเช็ก เข้ารอบสุดท้ายออสการ์หนังภาษาต่างประเทศ ปี 2004 แต่แพ้ให้กับ The Barbarian Invasions จากแคนาดา

2.แอนนา ไกส์เลโรวา (Anna Geislerova) ผู้รับบท ฮานา หรือ เอลิสกา คว้ากินรีทองคำสาขานักแสดงหญิง ในบางกอกอินเตอร์ฯฟิล์ม ปี 2005






บล็อกที่อัพพร้อมกัน : Bug แมลงสมคบคิด


Create Date : 07 ตุลาคม 2550
Last Update : 8 ตุลาคม 2550 0:35:42 น. 6 comments
Counter : 3477 Pageviews.

 
เห็นฉากหลังเขียวๆแล้วก็ไม่นึกว่าจะเป็นช่วงที่อยู่ในระหว่างสงครามเลย...ได้บรรยากาศไปอีกแบบค่ะ


โดย: renton_renton วันที่: 8 ตุลาคม 2550 เวลา:12:26:53 น.  

 
แนะนำหนังสือดี 1 เล่มครับ ผมรออ่านอย่างใจจดใจจ่อ




"คุณนายดัลโลเวย์" หรือ Mrs Dalloway ของ Virginia Woolf
คัดข้อความจากที่คุณ kwachuen โพสต์ไว้ที่บอร์ดไทยไรเตอร์

จากผู้แปล ดลสิทธิ์ บางคมบาง

Mrs Dalloway เคยเป็นภาพยนตร์มาเมื่อหลายปีก่อน นำแสดงเป็น Mrs Dalloway โดยดารารุ่นใหญ่ Vanessa Redgrave และเมื่อไม่นานมานี้ก็มีภาพยนตร์ดัดแปลงและเสริมต่อเรื่องราวจากวรรณกรรมเรื่องเดียวกันนี้ ในชื่อ The Hours นำแสดงเป็น Virginia Woolf ผู้เขียน โดยดาราดัง Nicole Kidman ซึ่งเป็นที่ต้อนรับไม่น้อย และนักอ่านคอวรรณกรรมคงได้ผ่านตากันมาแล้ว

ว่าไปแล้วชื่อของ Virginia Woolf เป็นที่กล่าวขวัญและรู้จักกันดีในแวดวงวรรณกรรมไทยมาเนิ่นนาน ในฐานะนักเขียนแนวกระแสสำนึก (Stream of Consciousness) ผู้มีผลงานอันน่าทึ่ง เป็นที่กล่าวขวัญและอยู่ในความนิยมของนักอ่านทั่วโลกมานานยาว เพียงแต่ผลงานของเธอไม่มีผู้ใดแปลออกมาเป็นภาษาไทยเท่านั้น

ในการแปลครั้งนี้จึงเป็นความพยายามของผู้แปลในอันจะให้นักอ่านชาวไทยได้รู้จักตัวเนื้องานของนักเขียนคนสำคัญคนหนึ่งของศตวรรษที่ยี่สิบผู้นี้ และ คุณนายดัลโลเวย์ เล่มที่ท่านถืออยู่นี้จึงเป็นผลงานเล่มแรกของเธอที่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทย

Virginia Woolf เป็นนักเขียนชาวอังกฤษ ร่วมสมัยเดียวกันพอดีกับ James Joyce นักเขียนชาวไอริช ซึ่งมีผลงาน A portrait of an Artist as a Young Man และ The Dubliners แปลเป็นภาษาไทยมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยทั้งคู่นี้ต่างเกิดในปี ๑๘๘๒ และเสียชีวิตในปี ๑๙๔๑ ด้วยกัน

นักเขียนแนวกระแสสำนึกอีกคนในฟากยุโรปตะวันออก ที่ร่วมสมัยเดียวกันกับ Virginia Woolf และมีผลงานแปลเป็นภาษาไทยหลายเล่มหลายสำนวนด้วยกัน เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักอ่านคอวรรณกรรม ได้แก่ Franz Kafka (๑๘๘๓ – ๑๙๒๔)

นักอ่านที่ผ่านการอ่านงานเขียนของ Kafka มาก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะในสำนวนแปลของผู้แปลในชื่อเล่ม ในความนิ่งนึก คงจะพอคุ้นเคยกับการอ่านงานเขียนในแนวกระแสสำนึก (Stream of Consciousness) มาบ้าง และคงพบมาแล้วถึงความแตกต่างจากงานเขียนของนักเขียนอื่นโดยทั่วไป

คุณนายดัลโลเวย์ เล่มนี้ก็เช่นนั้น และอาจเป็นปัญหาอยู่บ้างสำหรับนักอ่านที่ยังไม่คุ้น แต่ผู้แปลเชื่อว่า เมื่อได้อ่านลึกเข้าไปในตัวเรื่องแล้ว เขาจะพบว่านี่เป็นประสบการณ์ในการอ่านที่แตกต่างอย่างยิ่ง โดยผู้อ่านจะสัมผัสได้ถึงชีวิตภายในของตัวละคอนได้ลึกกว่างานประเภทอื่นๆที่เขาได้เคยอ่านมา ทั้งเหมือนจะเสริมให้เขาต้องใช้จิตนาการที่ลึกมากขึ้นในการจะรับรสวรรณกรรมให้เป็นไปโดยเต็ม

และก่อนเข้าสู่การอ่าน ผู้แปลขอชี้แจงเกี่ยวกับการใช้วรรค -ซึ่งนักอ่านบางคนอาจเห็นว่ามีมากเกินไป น่าจะรวบเข้าด้วยกันได้โดยไม่เสียความ- ว่า ผู้แปลใช้วรรคด้วยความมุ่งหมาย ๑) แยกคำไม่ให้สับสน ๒) คั่นความที่แทรกเข้ามา ๓) ทอดเสียงท้ายคำที่ทิ้งวรรคให้ไปรับกับคำที่ตามมา ๔) เป็นจังหวะให้กับเสียงของความคิด เช่นจังหวะของคลื่นทะเล ตามจังหวะของกระแสสำนึก ดังนั้นในการอ่านจึงอาจต้องทอดสายตาไปหาคำที่รับความกันกับคำในท้ายวรรคอยู่บ้าง ซึ่งจากการอ่านไปได้สักระยะก็จะจับกฎเกณฑ์ได้โดยง่าย

ผู้แปลหวังไว้กับตัวเองว่าจะมีโอกาสนำผลงานของ Virginia Woolf เรื่องอื่นๆมาเสนออีกได้ในโอกาสข้างหน้า

สิงหาคม ๒๕๕๐
ซับตาเมา โป่งน้ำร้อน จันทบุรี.



ประวัติ
Virginia Woolf
(๑๘๘๒ – ๑๙๔๑)

ชาวอังกฤษ นักเขียนนวนิยายแนวทดลอง นักวิจารณ์ นักเขียนเรื่องสั้น นักเขียนความเรียง ชั้นนำในยุคสมัยของเธอ

เกิดในย่าน Hyde Park Gate ปี ๑๘๘๒ เจ็บป่วยทางจิตใจครั้งแรกจากความตายของพ่อของเธอ Sir Leslie Stephen ในปี ๑๙๐๔ หลังจากนั้นย้ายมาอยู่ย่าน Bloombery เกิดกลุ่มวรรณกรรมในชื่อเดียวกันจากกลุ่มเพื่อนนักเขียนและศิลปินที่คบหา รวมทั้งร่วมกับสามี Leonard Woolf ตั้งสำนักพิมพ์ Hogarth Press ที่มีชื่อเสียงขึ้นในปี ๑๙๑๗ ด้วย

เธอทำงานในช่วงสงบจากการเจ็บป่วยทางจิตใจเป็นระยะๆ มีผลงานอย่างต่อเนื่อง นวนิยายสองเรื่องแรกยังเป็นในรูปแบบตามนิยมกันมาก่อนหน้า จนเมื่อ Jacob’s Room ปรากฏขึ้นในปี ๑๙๒๒ จึงได้รับการกล่าวขวัญว่าเป็นงานที่มีนวัตการอย่างสูง จากนั้น Mrs Dolloway (๑๙๒๕) ก็ได้รับการวิจารณ์ว่าพัฒนาขึ้นอย่างมากด้วยวิธีเขียนที่ใช้บทสนทนาภายใน (Interior Monologue) หรือกระแสสำนึก (Stream of Consciousness) และเน้นบุคลิกตัวละครมากกว่าเค้าโครงเรื่อง

หลังจากนั้นมาก็มี To the Lighthouse (๑๙๒๗) The Waves (๑๙๓๑) Between the Acts (๑๙๔๑) และอื่นๆ นอกจากนั้นเธอยังมีงานเขียนประเภทความเรียง ข้อเขียนแนวสตรีนิยม งานเชิงชีวประวัติ และเรื่องสั้น ตลอดจนบทความวิจารณ์อื่นอย่างต่อเนื่องมากมายด้วย

จากการเจ็บป่วยทางด้านจิตใจอย่างต่อเนื่องยาวนาน ในที่สุดเธอก็ฆ่าตัวเองด้วยการจมน้ำตาย ในปี ๑๙๔๑.




พิมพ์แค่ 1,000 เล่มเอง
มหกรรมหนังสือ บู๊ท คมบาง อยู่ที่ N 54 โซน ซี ชั้นล่างครับ


โดย: แค่เพียงรู้สึกสุขใจ วันที่: 9 ตุลาคม 2550 เวลา:2:02:20 น.  

 
หายไปไหนมาตั้งนาน
คิดถึง


โดย: เช้านี้ยังมีเธอ วันที่: 10 ตุลาคม 2550 เวลา:14:34:51 น.  

 
อุดมด้วยสาระ


โดย: ตาพรานบุญ วันที่: 10 ตุลาคม 2550 เวลา:21:48:40 น.  

 


โดย: แค่เพียงรู้สึกสุขใจ วันที่: 12 ตุลาคม 2550 เวลา:3:41:01 น.  

 
ขออนุญาติ นำบทความไปปะบล๊อคเราค่ะ
เรื่องของ ประวัติ
Virginia Woolf
(๑๘๘๒ – ๑๙๔๑)

เราเขียนเรื่อง The hours พอดีงะ

ขออนุญาติด้วยค่ะ
ลงเครดิตให้ค่ะ


โดย: Bernadette IP: 58.8.54.130 วันที่: 6 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา:22:19:39 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

แค่เพียงรู้สึกสุขใจ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




บทวิจารณ์ภาพยนตร์รางวัลกองทุน
ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ปี 2549

..............................








พญาอินทรี




ศราทร @ wordpress
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2550
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
7 ตุลาคม 2550
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แค่เพียงรู้สึกสุขใจ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.