Eros ในราคะและรักใคร่



Eros
ในราคะและรักใคร่

พล พะยาบ
คอลัมน์อาทิตย์เธียเตอร์ มติชนรายวัน 21 สิงหาคม 2548


*นี่คืองานรวมกันเฉพาะกิจที่ใครต่อใครเฝ้ารอคอยเมื่อรู้ข่าว เมื่อสุดยอดผู้กำกับภาพยนตร์ 3 คน จาก 3 ทวีป มีโอกาสสร้างสรรค์งานภายใต้คอนเซ็ปต์เดียวกัน

Eros เป็นดำริริเริ่มของโปรดิวเซอร์ที่อยากให้ มิเคลันเจโล อันโตนิโอนี ปรมาจารย์หนังชาวอิตาเลียน เจ้าของงานขึ้นหิ้งอย่าง L' Avventura(1960) L' Eclisse(1962) และ Blow-up(1966) ซึ่งปัจจุบันอายุกว่า 90 ปี จึงไม่สามารถทำหนังขนาดยาวได้อีก(หนังยาวเรื่องสุดท้ายของเขาคือ Beyond the Clouds ปี 1995 ได้ วิม เวนเดอร์ ช่วยสานต่อจนเสร็จ) มาเล่าถึงเรื่องรัก-ใคร่ในช่วงบั้นปลายชีวิต

อันโตนิโอนีจึงทำหนังสั้นเรื่อง Il filo pericoloso delle cose หรือ The Dangerous Thread of Things ก่อนที่หว่องกาไว และสตีเวน โซเดอร์เบิร์ก จะทำหนังของแต่ละคนเพื่อนำมารวมไว้เป็นเรื่องเดียวกัน

โดยใช้คอนเซ็ปต์และชื่อเรื่องว่า Eros

สำหรับ 2 ผู้กำกับฯที่มาร่วมโปรเจ็คต์นี้คงไม่ต้องบรรยายสรรพคุณกันมากนัก โดยเฉพาะรายแรกซึ่งมีแฟนหนังระดับสาวกอยู่ทั่วโลก เป็นผู้กำกับฯที่ทุกคนรอคอยผลงานใหม่อย่างใจจดใจจ่อ

ส่วนรายหลังคือเจ้าของงานฮิตอย่าง Erin Brockovich(2000) และ Ocean’s Eleven(2001) เป็นผู้ริเริ่มทำหนังแบบขายตรงโดยนำร่องด้วยเรื่อง Bubble(2006) ทั้งยังเคยทำหนังอาร์ตเรื่อง Sex, Lies, and Videotape(1989) ซึ่งมีแก่นเกี่ยวกับตัณหาราคะใกล้เคียงกับ Eros มาแล้ว

Eros คือเทพแห่งความรักในตำนานกรีก ซึ่งก็คือคิวปิดหรือกามเทพในตำนานโรมันนั่นเอง ในที่นี้ Eros ไม่ได้หมายถึงเทพ แต่หมายถึงเรื่องราวเกี่ยวกับราคะ-รักใคร่ ตามแต่มุมมอง ทัศนคติ และสไตล์ของผู้กำกับฯแต่ละคนที่จะใช้นำเสนอ

เรื่องแรก The Hand ของหว่องกาไว ใช้ฉากฮ่องกงช่วงทศวรรษที่ 60 เกี่ยวกับ คุณนายหัว(กง ลี่)โสเภณีชั้นสูง กับเสี่ยวจาง(จาง เชง) ช่างตัดเสื้อหนุ่มผู้ลุ่มรักลูกค้าสาว เขาถูกคุณนายหัวสะกดให้ติดกับอารมณ์ตั้งแต่ครั้งแรกที่พบกัน

ครั้งนั้น เสี่ยวจางนั่งรอเพื่อเข้าพบคุณนายหัว เขาได้ยินเสียงบทรักของหญิงสาวกับชายหนุ่มดังทะลุผนังห้องจนไม่อาจสะกดความรู้สึกไว้ได้

เมื่อได้เข้าพบคุณนายหัว เธอบังคับให้เขาถอดกางเกงแล้วใช้มือลูบไล้ขับไล่อาการกำหนัดให้ จากนั้นเป็นต้นมา หนุ่มช่างตัดเสื้อก็กลายเป็นทาสรักของคุณนายหัว หลายต่อหลายครั้งที่เขาได้ใกล้ชิดเธอ แต่ก็เป็นแค่การวัดสัดส่วนเพื่อนำไปตัดเสื้อผ้าชุดแพงๆ ให้เธอเท่านั้น

เวลาที่เสี่ยวจางไปหา เขามักจะพบเธออยู่กับผู้ชายเสมอ เบื้องหลังผนังห้องและภายใต้เสื้อผ้าอาภรณ์คือพื้นที่ส่วนตัวของคุณนายหัวที่เสี่ยวจางไม่อาจก้าวล่วงเข้าไปได้ดังเช่นผู้ชายคนอื่นๆ

เมื่อวันเวลาดีๆ ของคุณนายหัวหมดลง เงินทองร่อยหรอ ซ้ำยังเป็นโรคร้าย ผู้ชายที่เคยคบหาก็จากไปไม่เหลียวแล มีเพียงเสี่ยวจางเท่านั้นที่ยังอยู่เคียงข้างเธอจนถึงเวลาสุดท้ายของชีวิต

The Hand คืองานที่มีร่องรอยเดียวกับงานยุคหลังอย่าง In The Mood for Love และ 2046 นั่นคือเรื่องราวอารมณ์รักใคร่ของคนหนุ่มสาวฮ่องกงยุค 60 ที่ถูกอดีตหน่วงรั้งไว้จนเกินกว่าหันหลังลาจาก

คอนเซ็ปต์ Eros จึงถือว่าเข้าทางหว่องกาไว...



อาภรณ์อันงดงามจากฝีมืออันประณีตคือสัญลักษณ์แห่งราคะ-รักใคร่ที่เสี่ยวจางมีต่อคุณนายหัว ชุดที่แนบชิดห่อหุ้มร่างกายเสมือนเป็นตัวแทนชายหนุ่มผู้ไม่อาจได้ครอบครองร่างกายหญิงสาว เมื่อได้งานกำกับภาพของขาประจำอย่าง คริสโตเฟอร์ ดอยล์ มาช่วยขับเน้นลายผ้าเลื่อมพรายตรึงสายตาผู้ชม อีกทั้งงานกำกับศิลป์ของวิลเลี่ยม ชาง ขาประจำอีกคนซึ่งโดดเด่นไม่แพ้กัน ยิ่งทำให้ทุกๆ ภาพของหนังสั้นเรื่องนี้งดงามเกินกว่าจะละความสนใจไปได้

ที่สำคัญ ความที่เป็นหนังขนาดสั้นเพียง 40 นาที การนำเสนอเรื่องราวเดียว พล็อตเดียว โดยมีตัวละครหลักแค่ 2 คน ทำให้หว่องน่าจะทำงานง่ายยิ่งขึ้น กระทั่งได้ผลลัพธ์ในระดับที่ดีเยี่ยมเช่นนี้

เรื่องที่ 2 “Equilibrium” ของโซเดอร์เบิร์ก เกี่ยวกับหนุ่มนักโฆษณา นิค เพนโรส(โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์) ที่ฝันวาบหวามถึงหญิงสาวแปลกหน้า เขาเล่าให้ ดร.เพิร์ล(อลัน อาร์กิน) จิตแพทย์ฟัง แต่ ดร.เพิร์ลไม่ได้ตั้งใจฟังเท่าใดนัก เพราะมัวแต่ชะเง้อมองไปนอกหน้าต่าง หยิบกล้องส่องทางไกลมาส่องดู และพับเครื่องบินกระดาษร่อนออกไป

เมื่อนิคตื่นขึ้นเพราะเสียงนาฬิกาปลุก เขาเห็นภรรยาหน้าตาเหมือนหญิงสาวในฝัน ขณะที่ ดร.เพิร์ล ก็ช่างคล้ายคลึงกับ ฮัล เพื่อนร่วมงานในบริษัทเอเยนซี่โฆษณา

นิคคิดถึงเครื่องบินกระดาษที่ร่อนออกทางหน้าต่าง...เรื่องใดคือความจริง-ความฝันกันแน่

โซเดอร์เบิร์กใช้เทคนิคด้านภาพสร้างความแตกต่างระหว่างความฝัน-ความจริง โดยความฝันถึงหญิงสาว เขาใช้สีโทนน้ำเงิน เปลี่ยนเป็นขาว-ดำ เมื่อนิคอยู่กับจิตแพทย์ และเป็นภาพปกติเมื่ออยู่กับภรรยาและฮัล

หากงานของหว่องกาไว เป็นความรักใคร่ที่ติดค้างในความรู้สึก Equilibrium ของโซเดอร์เบิร์ก ก็คือความรักใคร่ที่คั่งค้างอยู่ในความฝัน โซเดอร์เบิร์กตีความเรื่องรักใคร่ด้วยอารมณ์ขัน ขณะเดียวกันความซับซ้อนของเรื่องราวก็ส่งผลให้ทำความเข้าใจได้ยาก และทำให้หนังแปลกแยกจากเรื่องแรกของหว่อง และเรื่องปิดท้ายของอันโตนิโอนีที่เน้นอารมณ์ความรู้สึกมากกว่า

สำหรับ The Dangerous Thread of Things ของอันโตนิโอนี เกี่ยวกับคริสโตเฟอร์และโคลอี้ คู่รักซึ่งมาพักผ่อนที่รีสอร์ตหอคอยหินในทัสคานี เขาและเธอทะเลาะกันตลอดเวลาด้วยเรื่องที่จับใจความไม่ได้ การพูดคุยของทั้งสองไม่ใช่คำพูดที่เป็นธรรมชาติ การกระทำของพวกเขาหลายครั้งก็ไร้จุดหมาย

เมื่อโคลอี้บอกคริสโตเฟอร์ว่ามีหญิงสาวเซ็กซี่พักอยู่ที่รีสอร์ตใกล้กัน เขาจึงไปหาและมีเซ็กซ์เร่าร้อนกับเธอ

ฉากสุดท้าย หญิงสาวที่มีเซ็กซ์กับคริสโตเฟอร์เปลือยร่างโลดเต้นอยู่ริมหาดทราย โคลอี้ก็เช่นกัน เธอเปลือยเปล่าหมดจดและเต้นรำอย่างงดงาม ก่อนที่ทั้งสองจะได้มาพบกันในที่สุด

The Dangerous Thread of Things ดัดแปลงจากหนังสือ Quel Bowling sul Tevere ของอันโตนิโอนีเอง เช่นเดียวกับ Beyond the Clouds หนังเรื่องหลังสุดของเขาซึ่งเกี่ยวกับความสัมพันธ์บนขอบเขตและเงื่อนไขมากมาย

ใครคุ้นเคยกับงานของผู้กำกับฯอาวุโสท่านนี้คงพอนึกภาพออก เขาทำหนังเป็นเหมือนบทกวีไร้ฉันทลักษณ์ งดงามโดยสัมผัสแต่ยากเข้าถึง เป็นงานนามธรรมที่ยากอธิบายด้วยคำพูด แม้ว่าผู้ชมจะสามารถสัมผัสอารมณ์รักใคร่-ราคะจากงานนี้ได้ก็ตาม

หากเปรียบเทียบกัน 3 เรื่อง 3 รส ภายใต้โจทย์ Eros ซึ่งเป็นรากศัพท์ของคำว่าอีโรติก งานของหว่องกาไวตอบโจทย์ได้ตรงและให้ผู้ชมเสพซับเรื่องราวและอารมณ์ได้มากที่สุด เพราะฉะนั้น ใครชอบ “หว่องกาไว” ไม่ควรพลาด

แต่หากอยากเห็นงานเซอร์เรียลของโซเดอร์เบิร์ก และหนังอารมณ์กวีของอันโตนิโอนี เพื่อเป็นใบเบิกทางสำหรับเรื่องอื่นๆ ของเขา หนังสั้นใน Eros ถือได้ว่าน่าสนใจไม่แพ้กัน

จะมองว่าเป็นจุดด้อยก็ตรงที่หนังแต่ละเรื่องไปกันคนละทิศทาง จนเกินกว่าจะรวมไว้ด้วยกัน



Create Date : 10 พฤศจิกายน 2549
Last Update : 10 พฤศจิกายน 2549 20:24:15 น. 9 comments
Counter : 5618 Pageviews.

 
อยากดูจัง หนังของลุงหว่อง ดูท่าจะเหงาดี แถมยังมีลุงคริสโตเฟอร์ ดอล์ยขี้เมามาร่วมทำให้แสงสวยงามอีกแรง น่าสนใจเป็นยิ่งนักค่ะ ส่วน Equilibrium นี่ ได้ยินชื่อก็นึกไปถึงหนังที่ คริสเตียน เบลเคยแสดงไว้ แต่ในเซตนี้คงไม่เกี่ยวกัน เรื่องนี้ก็น่าสนใจตรงเรื่องความจริง-ความฝัน และเรื่องสุดท้าย The Dangerous Thread of Things อันนี้เคยดูผลงานเก่าก่อนของ ผกก. Blow-up แล้วชอบมั่กๆค่ะ ก็เลยอยากดูฝีมือแกกำกับอีก

ขอบคุณนะค๊า ที่เอามาแนะนำกัน จะไปหามาดูแน่ๆค่ะ



โดย: renton_renton วันที่: 11 พฤศจิกายน 2549 เวลา:0:08:09 น.  

 
หาจากไหนมาดูพี่?
อยากเขียนออกมาได้จัง..เรื่องซับซ้อนแบบนี้


โดย: podduang-pk วันที่: 11 พฤศจิกายน 2549 เวลา:17:20:22 น.  

 
น่าสนใจอย่างยิ่งครับ โดยเฉพาะ The Hand ของหว่องฯ


โดย: เจ้าชายไร้เงา วันที่: 11 พฤศจิกายน 2549 เวลา:17:27:30 น.  

 
เคยดูแล้วชอบของ โชเดอร์เบิร์ก ครับ
ถึงตอนดูจะง่วงนอนไปหน่อย
แต่จบแล้ว มันรู้สึกคัน ๆ หัวใจดี
ชวนให้ค้นหาว่า ตานี่มันคิดอะไรอยู่



โดย: ShadowServant วันที่: 12 พฤศจิกายน 2549 เวลา:14:50:19 น.  

 
jhj,n


โดย: khk IP: 61.91.204.18 วันที่: 18 ธันวาคม 2551 เวลา:16:24:06 น.  

 
DDDDDDDDDDDDDDDDDDDDDDDDDDDDDDDDDDDDDDDDDDDDDDDD


โดย: FeRn IP: 61.91.204.18 วันที่: 18 ธันวาคม 2551 เวลา:16:37:03 น.  

 
เพิ่งไปหามาได้ ดูแล้วได้อารมณ์ดี


โดย: น้อง บางปะกง IP: 125.25.5.106 วันที่: 22 กรกฎาคม 2552 เวลา:19:48:19 น.  

 
ซื้อหนังเรื่องนี้ที่ไหนคะ

ชอบผลงานการแสดงของ กงลี่มากเลย

และหนังเรื่องนี้เธอร่วมแสดงด้วย

น่าอิจฉาคนที่ได้ดูนะคะ

คนีท่ชื่นชอบแวะมาทักทายกันบ้างนะคะ

e-mail : paAF912@gmail.com


โดย: ต๋อม อุดรธานี IP: 192.168.182.29, 58.147.103.69 วันที่: 4 พฤศจิกายน 2552 เวลา:14:12:00 น.  

 

^
^
เรื่องนี้มีขายทั่วไปครับ

//www.boomerangshop.com/web/productdetail.aspx?pid=251366

//www.boomerangshop.com/web/productdetail.aspx?pid=183359





โดย: แค่เพียงรู้สึกสุขใจ วันที่: 6 พฤศจิกายน 2552 เวลา:0:49:50 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

แค่เพียงรู้สึกสุขใจ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




บทวิจารณ์ภาพยนตร์รางวัลกองทุน
ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ปี 2549

..............................








พญาอินทรี




ศราทร @ wordpress
Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2549
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
 
10 พฤศจิกายน 2549
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แค่เพียงรู้สึกสุขใจ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.