Still Life ภาพชีวิต‘จีน’ยุคใหม่ : เนือยนิ่งจมหายในสายน้ำ



Still Life
ภาพชีวิต‘จีน’ยุคใหม่
เนือยนิ่งจมหายในสายน้ำ

พล พะยาบ
คอลัมน์อาทิตย์เธียเตอร์ มติชนรายวัน 25 กุมภาพันธ์ และ 4, 11, 18 มีนาคม 2550


*หากจางอี้โหมวคือนักสร้างหนังจากจีนแผ่นดินใหญ่ที่โลกจับตามองด้วยความชื่นชมยกย่องตลอดทศวรรษก่อน ผู้ที่ก้าวขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งเดียวกัน ณ เวลาปัจจุบันย่อมเป็น เจี่ยจางเคอ

ความคลับคล้ายใกล้เคียงระหว่างจางอี้โหมว เจ้าของผลงานมีชื่ออย่าง Ju Dou(1990) Raise the Red Lantern(1991) และ The Road Home(1999) กับเจี่ยจางเคอ คือทั้งสองต่างผ่านการสู้รบปรบมือกับกองเซ็นเซอร์จีนมาพอสมควร โดยฝ่ายแรกเคยถูกห้ามฉายผลงานในบ้านเกิดและถูกสั่งแก้ไขบทบ่อยครั้ง ขณะที่ฝ่ายหลังเริ่มต้นทำหนังโดยไม่ได้รับการรับรองฐานะเป็นผู้กำกับฯ เพราะเลือกทำงานแบบ “ใต้ดิน” เพื่อเลี่ยงการเซ็นเซอร์

ความบังเอิญที่มาคล้องจองกันอีกประการหนึ่งคือ ทั้งสองต่างประสบความสำเร็จคว้ารางวัลสิงโตทอง อันเป็นรางวัลสูงสุดจากเทศกาลหนังเวนิซ ประเทศอิตาลี ด้วยผลงานลำดับที่ 5 เหมือนกัน(นับเฉพาะหนังยาว) นั่นคือ จางอี้โหมวกับ The Story of Qiu Ju ในปี 1992 ส่วนรุ่นน้องกับผลงานเรื่อง Still Life ในปี 2006

เหตุที่ผู้เขียนอ้างอิงถึงจางอี้โหมวในการเขียนถึงเจี่ยจางเคอไม่ใช่เพียงเพราะสถานะหรือความสำเร็จซึ่งคลับคล้ายกันดังที่กล่าวมา แต่เพราะจางอี้โหมวค่อนข้างเป็นที่รู้จักในหมู่ผู้ชมคนไทย(ผลงานล่าสุดที่ฉายในบ้านเราคือ Curse of the Golden Flower)

ที่สำคัญคือ ผลงานของทั้งคู่ที่ประสบความสำเร็จอย่างนับเนื่องและเชื่อมต่อกัน เป็นเสมือนบทบันทึกอย่างดีที่สะท้อนให้เราเห็นภาพความเปลี่ยนแปลงทางสังคมของจีนซึ่งกำลังหลั่งไหลรวดเร็วไปตามกระแสโลกปัจจุบัน และไม่มีอะไรมาต้านขวางได้

จากคุณค่าของสังคมจีนดั้งเดิมหรือสังคมชนบทตั้งแต่ยุคปิดประเทศในหนังของจางอี้โหมว สู่ภาพของสังคมดั้งเดิมที่ล่มสลาย คนชนบทกลับกลายเป็นคนเมืองภายใต้วิถีชีวิตสมัยใหม่ในช่วงเวลาที่จีนกลายเป็นส่วนหนึ่งของโลกไร้พรมแดน ในหนังของเจี่ยจางเคอ

ใน The World (2004) ผลงานลำดับก่อนหน้านี้ เจี่ยจางเคอใช้ฉาก “เวิลด์ ปาร์ค” อันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่จำลองสถานที่สำคัญทั่วโลกมารวมกันไว้ แล้วให้ตัวละครซึ่งล้วนแต่เดินทางมาจากต่างจังหวัดใช้ชีวิตอยู่ในนั้น เพื่อสื่อให้เห็นว่าคนจีนยุคใหม่ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของโลก แต่ขณะเดียวกันคุณภาพชีวิตของพวกเขายังตกต่ำ

*มาถึง Still Life หรือ Sanxia haoren หนังเรื่องล่าสุดมี “เขื่อนซานเสีย” ที่ได้ชื่อว่าใหญ่ที่สุดในโลก และว่ากันว่าสามารถมองเห็นจากนอกโลกเป็นฉากหลังอันทรงพลัง พร้อมกับสะท้อนภาพชีวิตของคนมากมายที่ได้รับผลกระทบจากย่างก้าวสู่ความเจริญรุดหน้าในครั้งนี้

หนังพาไปยังเมืองเฟิงเจีย มณฑลเสฉวน บนฝั่งแม่น้ำแยงซีเกียง เมืองที่มีการอพยพโยกย้ายผู้คนจำนวนมากที่สุดเพราะเหตุน้ำท่วมหลังการสร้างเขื่อน ซานหมิง คนงานเหมืองถ่านหินวัยกลางคนล่องเรือมาจากซานซีบ้านเกิดเพื่อตามหาภรรยาที่หนีหายไปตั้งแต่ 16 ปีก่อน และลูกสาวที่เขาไม่เคยพบหน้า ปัญหาคือสถานที่อันเป็นที่อยู่ของภรรยาตามที่เขียนทิ้งไว้บนซองบุหรี่เก่าคร่ำ บัดนี้จมอยู่ใต้น้ำเสียแล้ว

ซานหมิงสอบถามจากผู้คนที่ยังหลงเหลือ กระทั่งได้พบพี่ชายของภรรยาและได้ข้อมูลว่าเธอล่องเรืออยู่ที่อี๋ชาง อาจจะ 1-2 เดือนจึงจะกลับมา ระหว่างการรอคอยซานหมิงทำงานเป็นคนงานทุบตึกในเมืองร้างที่กำลังจะกลายเป็นพื้นที่น้ำท่วมในอนาคต และเข้าพักแรมในห้องเช่ารวมราคาถูกร่วมกับคนงานคนอื่นๆ

นอกจากเรื่องราวของซานหมิงแล้ว ยังมี เสินฮง นางพยาบาลผู้เดินทางมายังเมืองเหนือเขื่อนเพื่อตามหาสามีที่ห่างหายกันไป 2 ปี ดูจากสีหน้าท่าทางแล้วเหมือนว่าเธอต้องการให้เขากลับมาหาเธอ ข้อมูลที่เสินฮงมีคือเขาเคยทำงานในโรงงานในเขตเมืองเฟิงเจียที่ปัจจุบันปิดตัวลงแล้ว

เสินฮงไปขอความช่วยเหลือจากตงหมิง เพื่อนสนิทของสามีซึ่งทำงานเป็นคนขุดหาโบราณวัตถุก่อนจะต้องจมอยู่ใต้น้ำ หลังจากตระเวนหาอยู่ทั้งวัน วันรุ่งขึ้นเธอก็ได้พบสามี แต่ธุระที่เสินฮงบอกแก่เขากลับกลายเป็นว่าเธอมีคนรักใหม่และต้องการหย่า

ณ เขื่อนยักษ์อันเป็นฉากหลัง ในดินแดนที่กำลังสูญสลายและเกิดใหม่ ชายคนหนึ่งมาที่นี่เพื่อตามหาและขอคืนครอบครัวของตนเอง ขณะที่หญิงสาวเดินทางมาเพราะต้องการยุติชีวิตคู่เพื่อเริ่มต้นชีวิตคู่ครั้งใหม่

หนังของเจี่ยจางเคอไม่ได้เดินตามขนบแบบงานของจางอี้โหมว ไม่มีเค้าโครงให้จับต้องได้มากนัก ขณะที่เนื้อหาเรื่องราวก็เหมือนปล่อยให้คืบเคลื่อนอย่างเชื่องช้าโดยให้ผู้ชมเฝ้าติดตามกันเอง ด้วยภาพเล่าเรื่องจำนวนมาก เน้นการสื่อความหมายและอารมณ์ความรู้สึก กับบทสนทนาซึ่งมีไม่มากนัก ผลคือหนังของเขาไม่ใช่งานที่เดินเข้าหาผู้ชม แต่เป็นงานที่คอยเรียกร้องให้ผู้ชมเข้าหา

อย่างไรก็ตาม สำหรับ Still Life ถือว่าเจี่ยจางเคอตะล่อมงานของเขาให้กระชับมากขึ้น เป็นกันเองมากขึ้น ฉากปล่อยยาวหรือ long take แทบจะไม่มีให้เห็น จนหนังมีความยาวประมาณชั่วโมงครึ่งเท่านั้น ต่างจาก The World ซึ่งยาวถึง 140 นาที เมื่อได้การถ่ายภาพมีมิติงดงามอันเป็นจุดเด่นของเจี่ยจางเคอ การนำเสนอความขัดแย้งแตกต่างด้วยอารมณ์ยั่วล้อ แล้วยังภาพแฟนตาซีเกินจริงที่ใส่แทรกมาให้ตื่นตะลึงท่ามความนิ่งงัน Still Life จึงเป็นงานที่น่าติดตามค้นหาอย่างยิ่ง

แล้วหนังเรื่องนี้สื่อถึงอะไร...ถ้าจะบอกว่าสะท้อนผลกระทบของการสร้างเขื่อนยักษ์ก็น่าจะได้ แต่ไม่ใช่ทั้งหมดและไม่ใช่ประเด็นหลัก อันที่จริงหนังกล่าวถึงความเปลี่ยนแปลง การล่มสลาย และการดำรงรักษาคุณค่าบางประการในสังคมจีนที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและหนักหน่วง โดยสื่อผ่านสัญลักษณ์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเขื่อน สายน้ำ ซากปรักหักพัง ธนบัตร ลูกกวาด ซองบุหรี่ ไปจนถึงโจวเหวินฟะ และเจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้


ซานเสีย : สร้างเพื่อสูญเสีย

ซานเสีย หรือเขื่อน 3 หุบเขา (Three Gorges Dam) เป็นเขื่อนขนาดยักษ์ที่กั้นแม่น้ำแยงซีเกียง บริเวณอี๋ชาง มณฑลหูเป่ย เป็นอภิมหาโครงการที่กินเวลายาวนานนับชั่วอายุคนจากดำริริเริ่มของ ดร.ซุนยัดเซ็น ในปี 1919 เปลี่ยนผ่านผู้นำคนแล้วคนเล่า กว่าจะลงมือสร้างได้ในปี 1994 และคาดว่าจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี 2009

*การขวางกั้นแม่น้ำแยงซีเกียงสายใหญ่ทำให้ขนาดของเขื่อนกินอาณาบริเวณกว้าง ก่อความเปลี่ยนแปลงตลอดลำน้ำทั้งเหนือเขื่อนและใต้เขื่อนซึ่งมีจุดสิ้นสุดที่เมืองเซี่ยงไฮ้ และด้วยลักษณะภูมิศาสตร์ของแม่น้ำแยงซีเกียงที่พาดขวางตอนกลางของประเทศ เขื่อนยักษ์แห่งนี้จึงราวกับเป็นศูนย์กลางที่สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วผืนน้ำ

คาดกันว่าผู้คนกว่า 1.9 ล้านคนต้องย้ายถิ่นฐานเพราะบ้านเก่าเมืองเกิดจมอยู่ใต้น้ำ โรงงานจำนวนมากปิดตัวลงกลายเป็นปัญหาสังคมจากภาวะว่างงาน การทุจริตของเจ้าหน้าที่ผุดให้เห็นพร้อมกับน้ำที่บ่าท่วม นักเลงอันธพาลระบาดจากกลุ่มผู้รับเหมาที่ต้องการเร่งงาน(เช่น การไล่รื้อ) ให้ทันกำหนด สถานที่ทางประวัติศาสตร์-โบราณวัตถุอายุกว่า 4,000 ปี ต้องจมอยู่ใต้น้ำ

ทั้งหมดนี้ถูกสะท้อนออกมาในหนังเรื่อง Still Life

นอกจากฉากหลังของหนังคือเมืองเฟิงเจีย มณฑลเสฉวน ซึ่งเป็นเมืองที่มีสัดส่วนผู้อพยพโยกย้ายเพราะน้ำท่วมหลังสร้างเขื่อนสูงที่สุด และหนึ่งในนั้นคือภรรยาของซานหมิงแล้ว เจี่ยจางเคอไม่ได้นำเสนอผลกระทบด้านลบของการสร้างเขื่อนโดยเน้นย้ำหรือหยิบยกมาเป็นเหตุการณ์ที่มีผลต่อเรื่องราว แต่จัดวางไว้เป็นองค์ประกอบของฉาก เป็นภาพผ่านของตัวละคร เหมือนเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่และพบเห็นได้ทั่วไป ขึ้นอยู่กับว่าผู้ชมจะสังเกตและคิดตามได้มากน้อยเพียงใด

เช่น ช่วงท้ายของฉากที่ซานหมิงเดินทางมาถึงจุดที่เคยเป็นหมู่บ้านของภรรยา ก่อนที่ภาพจะตัดไปสู่ฉากต่อไป จู่ๆ คนขับรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างก็ชี้ให้ซานหมิงดูจุดที่เรือเฟอร์รี่จอดอยู่แล้วบอกว่าเคยเป็นบ้านของตน ภาพต่อเนื่องในฉากถัดจากนี้คือการมีปากเสียงกันระหว่างกลุ่มชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยที่มีการเลือกปฏิบัติ ซึ่งภาพดังกล่าวเป็นเพียงองค์ประกอบของฉากสำนักงานจัดหาที่อยู่ใหม่ที่ซานหมิงเพิ่งเดินทางมาถึง ไม่ได้เป็นเหตุการณ์ที่มีผลต่อเรื่องราวของหนัง

องค์ประกอบของฉาก-ภาพผ่านของตัวละครที่ยกมานี้ คือภาพสะท้อนของผลกระทบด้านลบเกี่ยวกับการสูญเสียถิ่นที่อยู่ และได้รับการเยียวยาจากรัฐไม่ดีพอเพราะการคอร์รัปชั่นของเจ้าหน้าที่

อีกตัวอย่างที่ใกล้เคียงกันคือ ฉากที่เสินฮงเดินทางมาถึงโรงงานเก่าซึ่งสามีของเธอเคยทำงานอยู่ มีกลุ่มคนกำลังทะเลาะกับผู้จัดการโรงงานที่เบี้ยวจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างที่เสียแขน ไม่นานจากนั้นเสินฮงได้พบกับเด็กสาววัย 16 ปี ที่มาของานทำ สารที่สื่อผ่านในส่วนนี้คือปัญหาเรื่องคุณภาพชีวิตและการว่างงานนั่นเอง

องค์ประกอบของฉากและภาพผ่านของตัวละครลักษณะนี้ยังมีให้เห็นอีกหลายครั้งตลอดทั้งเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นสาวใหญ่ที่ซานหมิงสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับภรรยา หนังบอกเป็นนัยว่าเธอขายตัว หรือ “หน่า” เด็กหนุ่มเพื่อนสนิทของซานหมิงกับพรรคพวกได้รับการว่าจ้างจาก “ลูกพี่ปิน” ให้ไปทำร้ายใครบางคน ซึ่งลูกพี่ปินก็คือสามีของเสินฮงที่เป็นหัวหน้าควบคุมการไล่รื้อทุบตึก ทำให้พอสันนิษฐานได้ว่าผู้รับเหมาที่นี่ใช้ความรุนแรงต่อชาวบ้าน ขณะที่สาวใหญ่ที่ขายตัวก็เป็นภรรยาของลูกจ้างโรงงานที่เสียแขนและไม่ได้รับชดเชย จึงเป็นไปได้ว่าเธอเลือกอาชีพนี้หลังจากสามีขาดรายได้

นี่เป็นเพียงตัวอย่างของการทิ้งร่องรอยให้ผู้ชมสังเกตคิดตามของเจี่ยจางเคอ เผยให้เห็นผลกระทบด้านลบของการสร้างเขื่อนซึ่งมีมากมายและพบเห็นได้ทั่วไป กระทั่งเขื่อนยักษ์ที่ทางการหวังจะใช้เป็นแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าและป้องกันอุทกภัยมีฐานะไม่ต่างจากเขื่อนผลิตปัญหาดีๆ นี่เอง


16 ปี แห่งความหลัง

ตัวเลข 16 ปี ถูกซานหมิงเอ่ยถึงบ่อยครั้ง...ความหมายเบื้องต้นของ 16 ปี คือระยะเวลาที่เขาพลัดพรากจากภรรยา บทสนทนาระหว่างซานหมิงกับหน่าบอกให้รู้ว่าซานหมิงซื้อตัวภรรยาผ่านนายหน้าในราคา 3,000 หยวน แต่ระหว่างที่ตั้งครรภ์เธอร้องจะกลับบ้าน เมื่อเรื่องไปถึงตำรวจซานหมิงจึงต้องปล่อยเธอกลับ

ตัวเลข 16 ลำดับต่อมา...ที่อยู่ของภรรยาที่ซานหมิงใช้เป็นเข็มทิศนำทางจนมาถึงเฟิงเจียถูกเขียนไว้บนซองบุหรี่ยี่ห้อ “มะม่วง” ซึ่งซานหมิงพูดอวดให้หน่าฟังว่าเป็นยี่ห้อบุหรี่ที่ดีที่สุดเมื่อ 16 ปีก่อน

ในฉากที่ซานหมิงพูดคุยทำความรู้จักกับเพื่อนคนงานที่อาศัยอยู่ร่วมห้อง เพื่อนถามว่าตอนล่องเรือจากซานซีสู่เฟิงเจียเห็นหุบเขาขนาบน้ำซึ่งเป็นหุบแรกจาก 3 หุบ หรือไม่ พร้อมกับหยิบธนบัตร 10 หยวน ที่ด้านหลังมีรูปหุบเขาดังกล่าวให้ซานหมิงดู ซานหมิงเห็นแล้วจึงล้วงธนบัตรมาอวดเพื่อนบ้าง โดยกล่าวโฆษณาว่าเป็นรูปน้ำตกที่แม่น้ำหวงเหอติดกับซานซีบ้านเกิดของเขา

หากเปิดดูทำเนียบธนบัตรของจีนจะพบว่าธนบัตร 10 หยวน ที่มีรูปหุบเขาแห่งแยงซีเกียงนั้นเป็นธนบัตรแบบ 5 เริ่มใช้เมื่อปี 1999 จนถึงปัจจุบัน ส่วนธนบัตรรูปน้ำตกแห่งหวงเหอของซานหมิงเป็นธนบัตรแบบ 4 ราคา 50 หยวน เริ่มใช้ปี 1992 แต่จัดอยู่ในรุ่นที่ 2 ของแบบ 4 ที่ออกมาในปี 1990 หรือ 16 ปีก่อนนั่นเอง(นับจากเวลาท้องเรื่องคือปี 2006)


ตัวเลข 16 ปี จึงมีความหมายมากสำหรับซานหมิง เพราะเป็นอดีตที่หอมหวาน มีความดีงาม ความภาคภูมิใจ ไม่แปลกที่เขาจะดูแปลกแยกและเข้าไม่ได้กับโลกปัจจุบัน นอกจากนี้ 16 ปีก่อนยังเป็นปีสุดท้ายของชีวิตครอบครัวซึ่งเขากำลังพยายามหาทางสานต่อ

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาตัวเลข 16 ปี ดูอีกที จะพบว่านั่นเป็นปีแรกหลังการประท้วงของนักศึกษาที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี 1989 เป็นผลให้สถานการณ์การประท้วงการสร้างเขื่อนซานเสียอ่อนแรงลงไปเมื่อแกนนำถูกจับกุมและจับตาอย่างใกล้ชิด

จากวันนั้นจนถึงวันนี้เขื่อนใกล้สร้างแล้วเสร็จ ทอดวางขวางกั้นลำน้ำสายกว้าง แต่สิ่งที่โถมทะลักเข้าใส่ผู้คนคือความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ของจีนในโลกยุคใหม่

คือความเปลี่ยนแปลงที่ทำลายคุณค่าบางประการ หากแต่ตัวละครอย่างซานหมิงพยายามรื้อฟื้นเพื่อรักษาเอาไว้...แม้ไม่อาจรู้ว่าจะสำเร็จหรือเปล่า


ความเปลี่ยนแปลงไม่คืนกลับ

ประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรมของจีนระบุว่า เครื่องอุปโภคบริโภคพื้นฐานที่จำเป็นในชีวิตประจำวันของคนจีน ประกอบด้วยสิ่งของ 7 ประการ ได้แก่ เชื้อเพลิง ข้าว น้ำมัน เกลือ ซีอิ๊ว น้ำส้ม และชา แต่ในระหว่างที่หนังดำเนินอยู่ มี 4 ครั้งที่มีตัวหนังสือเล็กๆ ปรากฏขึ้นที่มุมภาพ เขียนเป็นคำตรงกับสิ่งของที่เห็นในหนังขณะนั้นว่า “บุหรี่” “เหล้า” “ชา” และ “ลูกอม”

บุหรี่คือสิ่งที่ซานหมิงใช้แสดงน้ำใจต่อผู้อื่น เหล้าคือของฝากที่ซานหมิงมอบให้แก่พี่ชายของภรรยา ส่วนลูกอม...หน่าเพื่อนรุ่นน้องและภรรยาต่างยื่นให้ซานหมิงกิน ขณะที่ชานั้นต่างออกไป ไม่มีใครหยิบยื่นให้ใคร แต่เป็นหนึ่งในสัมภาระที่สามีของเสินฮงทิ้งไว้ในล็อคเกอร์ที่โรงงานร้างซึ่งเขาเคยทำงานเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ก่อนจะย้ายไปทำงานเป็นหัวหน้าคุมงานทุบตึก

จากบทบาทของสิ่งของ 4 อย่างนี้ กล่าวได้ว่า บุหรี่ เหล้า และลูกอม มีสถานะเหมือนเป็นเครื่องบริโภคที่อยู่ในชีวิตประจำวันของตัวละคร ทั้งที่ไม่ได้เป็นของจำเป็นดั้งเดิม 7 ประการที่กล่าวถึงข้างต้น ขณะที่ชาซึ่งเป็นของจำเป็นเพียงอย่างเดียวที่ได้ปรากฏในเรื่องราวกลับถูกทิ้งขว้างหลงลืม

เมื่อนำสิ่งของเหล่านี้มาเชื่อมโยงกับตัวละครจะเห็นภาพชัดยิ่งขึ้น โดยบุหรี่ เหล้า และลูกอม ซึ่งเข้ามาแทนที่ “คุณค่าดั้งเดิม” ได้หมุนเวียนอยู่ในชีวิตของตัวละครที่เป็น “เหยื่อ” ของความเปลี่ยนแปลง หรือถูก “ดูดกลืน” ในกระแสปัจจุบัน

ส่วนชา...หนึ่งใน “คุณค่าดั้งเดิม” กลายเป็นสิ่งของที่ตัวละครซึ่ง “ไหลตามน้ำ” หรือ “สบประโยชน์” จากความเปลี่ยนแปลง มองไม่เห็นคุณค่าอีก

ยังมี “คุณค่าดั้งเดิม” ที่ต้องสูญสลายไปอีกอย่างหนึ่งคือ แหล่งประวัติศาสตร์-โบราณวัตถุอายุนับพันปี ตลอดระยะทาง 600 กิโลเมตร แม้ส่วนหนึ่งจะถูกเคลื่อนย้ายไปได้ แต่มีอีกมากมายที่ต้องจมอยู่ใต้น้ำ โดยหนังให้ภาพเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ที่ตัวละคร ตงหมิง เพื่อนสนิทของสามีเสินฮง ซึ่งกำลังเร่งงานขุดหาโบราณวัตถุสมัยราชวงศ์ฮั่นก่อนสายน้ำจะกลบกลืนไปตลอดกาล

เห็นได้ว่า “คุณค่าดั้งเดิม” ซึ่งหนังยกมาอ้างถึงล้วนแต่มีเรื่องราวความเป็นมายาวนาน แต่บัดนี้ได้ถูกความเปลี่ยนแปลงลบทำลายคุณค่าลง โดยสิ่งที่เป็นต้นเหตุหรือมาแทนที่นั้นเพิ่งเกิดขึ้นได้ไม่นาน อย่างหนึ่งที่เห็นเด่นชัดคือ เขื่อนซานเสีย ที่เดินหน้าเต็มตัวหลังจากการปราบปรามนักศึกษาที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อปี 1989 ขณะที่สิ่งของ 3 อย่าง คือ บุหรี่ เหล้า และลูกอม หนังได้ระบุย้ำไปที่ “ลูกอม” ถึง 2 ครั้งจากคำพูดของตัวละครว่าเป็นยี่ห้อ “กระต่ายขาว” (White Rabbit Brand)

*ลูกอมยี่ห้อนี้มีแหล่งผลิตที่เซี่ยงไฮ้ เป็นสินค้าส่งออกไปหลายประเทศ มีความเป็นมาพร้อมๆ กับการขึ้นปกครองประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในปี 1949 และเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองในหลายเหตุการณ์ เช่น เป็นของชำร่วยในวันชาติปีที่ 10 เมื่อ ค.ศ.1959 และเป็นของกำนัลที่ โจว เอิน ไหล มอบให้แด่ ริชาร์ด นิกสัน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เมื่อครั้งมาเยือนจีนในปี 1972

เมื่อนำมาพิจารณาร่วมกับฉากเรือท่องเที่ยวที่บรรยายความเป็นมาอันน่าภาคภูมิใจของเขื่อนซานเสียว่าเป็นเป้าหมายของผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนมาหลายสมัย รวมทั้งภาพเหมา เจ๋อ ตุง บนธนบัตรที่ด้านหลังเป็นรูปเขาขนาบน้ำแห่งแยงซีเกียงอันเป็นบริเวณที่มีการสร้างเขื่อน การวิพากษ์ความเปลี่ยนแปลงของจีนยุคใหม่ที่หนังสื่อออกมาจึงอาจมองได้ว่ากำลังวิพากษ์ผู้นำหรือพรรคคอมมิวนิสต์จีนไปด้วย

แต่ถึงกระนั้น การวิพากษ์ในครั้งนี้ก็ทำได้อย่างแนบเนียนเสียจนไม่มีปัญหาเรื่องโดนเซ็นเซอร์


'ทำลาย-รักษา' ภารกิจคู่ขนาน

ตัวละครซานหมิงเดินทางมายังเมืองเฟิงเจียเพื่อตามหาภรรยาหลังจากแยกจากกันเมื่อ 16 ปีก่อน เขาต้องการพบหน้าลูกที่เขาไม่เคยพบ ต้องการสร้างครอบครัวขึ้นอีกครั้ง ขณะที่หญิงสาวอย่างเสินฮงเดินทางมาที่นี่เพื่อตามหาสามีที่ขาดการติดต่อเป็นเวลา 2 ปี โดยมีจุดประสงค์เพื่อบอกเลิกและขอหย่า

นี่จึงเป็นเรื่องราวอันแตกต่างว่าด้วยการ “รักษา” และ “ทำลาย” ที่ดำเนินคู่ขนานในหนัง

การที่หนังให้ซานหมิงประทับใจหรือรู้คุณค่าในบางสิ่งบางอย่าง เช่น บุหรี่ และธนบัตร(กล่าวถึงในตอนที่แล้ว) โดยมีระยะเวลาย้อนไปเมื่อ 16 ปีก่อน ตรงกับช่วงเวลาที่ชีวิตครอบครัวมาถึงจุดสิ้นสุด และเป็น 16 ปีก่อนที่แนบชิดกับเหตุการณ์เทียนอันเหมิน อันนำไปสู่การเดินเครื่องสร้างเขื่อนซานเสียโดยไร้อุปสรรคจากการประท้วงขัดขวาง

ความพยายามในการตามหาเพื่อรักษาคุณค่า(ในที่นี้คือครอบครัว) ที่สูญหายไปในกระแสความเปลี่ยนแปลง ท่ามกลางซากปรักหักพังของเมืองที่กำลังจมน้ำ โดยที่ตัวซานหมิงเองยังต้องทำงานชั่วคราวเป็นคน “ทำลาย” ตึก จึงเป็นภาพความแตกต่างว่าด้วยการ “รักษา” และ “ทำลาย” ที่ตัวละครต้องพบกับความยากลำบาก แต่ก็เห็นความหวังอยู่ปลายทาง

สำหรับเสินฮงที่ต้องการ “ยุติ” หรือ “ทำลาย” ชีวิตคู่ ฉากหลังของเรื่องราวนี้กลับมีความหมายตรงกันข้าม เพราะส่วนใหญ่อยู่บริเวณเหนือเขื่อนซึ่งเต็มไปด้วยสิ่งปลูกสร้างของเมืองใหม่ สะพานขนาดใหญ่ประดับไฟงดงาม สถานีผลิตกระแสไฟฟ้า นอกจากนี้ อาชีพพยาบาลของเธอยังมีหน้าที่เยียวยา “รักษา” คนเจ็บป่วย ส่วนตงหมิง เพื่อนสนิทของสามีที่เธอมาขอความช่วยเหลือก็มีหน้าที่ขุดหาโบราณวัตถุเพื่อเก็บ “รักษา” เอาไว้

อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลา 2 ปีที่สามีของเสินฮงขาดการติดต่อและเปลี่ยนงานเป็นหัวหน้าคุมงานทุบตึก เท่ากับ 2 ปีที่หนังกล่าวถึงหลายครั้งว่าเมืองเฟิงเจียเดิมได้จมอยู่ใต้น้ำ ขณะที่ตัวเสินฮงซึ่งมีพฤติกรรมดื่ม “น้ำ” ตลอดเวลายังสื่อไปได้ถึงน้ำที่หลากท่วมหลังการมาถึงของเขื่อน กระทั่งกล่าวได้ว่าผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงได้เอ่อท่วมเสินฮงจนเกินกว่าจะเลี่ยงพ้น

ดังนั้น แม้สภาพแวดล้อมจะเสกสรรค์ปั้นแต่งให้สวยหรูอย่างไร สำหรับเสินฮงแล้วคุณค่าบางประการย่อมต้องสูญสิ้นลงจากผลต่อเนื่องของความเปลี่ยนแปลงอยู่ดี

จากภาพชีวิตของ 2 ตัวละครจึงพอกล่าวได้ว่า แก่นสารหลักของหนังเป็นการตั้งคำถามว่าท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอันเชี่ยวกราก เราจะรักษาคุณค่าบางประการไว้ได้หรือไม่ หรือจะปล่อยให้ถูกทำลายไปตามความเปลี่ยนแปลงนั้น


เงินไร้พรมแดน-โลกาภิวัตน์

สารที่เห็นได้ชัดเจนจากหนังของเจี่ย จาง เคอ ตั้งแต่ Platform(2000) Unknown Pleasures(2002) The World(2004) มาจนถึง Still Life คือการเปลี่ยนแปลงทางสังคมจีนในโลกสมัยใหม่ การละทิ้งถิ่นที่อยู่ คนชนบทอพยพมาหางานทำในเมือง อิทธิพลของโลกตะวันตก โลกยุคไร้พรมแดน ที่กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของชาวจีน

แต่หากกล่าวเฉพาะ The World กับ Still Life หนัง 2 เรื่องหลังสุดที่เจี่ย จาง เคอ เปลี่ยนจากการทำหนังใต้ดินหรือทำหนังโดยไม่ผ่านขั้นตอนของทางการมาทำทุกอย่างโดยถูกต้องตามระเบียบนั้น สารที่นำเสนออย่างต่อเนื่องกันคือความภาคภูมิใจของจีนที่ทำให้ตนยังเป็นเอกในโลกไร้พรมแดน มิใช่เป็นเพียงแค่ส่วนประกอบที่ถูกโลกภายนอกลากจูงตามแต่ใจ(แม้สภาพความเป็นจริงจะเป็นเช่นนั้น)

ฉากเวิลด์ปาร์คซึ่งจำลองสถานที่สำคัญทั่วโลกใน The World สามารถสื่อนัยดังกล่าวได้เด่นชัด เช่นเดียวกับเขื่อนซานเสียใน Still Life ซึ่งมีขนาดใหญ่โตมโหฬาร และมีเสียงบรรยายจากเรือท่องเที่ยวว่า “เขื่อนนี้ทำให้โลกหันมามองจีนอีกครั้ง”

นอกจากกระแสโลกไร้พรมแดนแล้ว “ทุนนิยม” หรือโลกแห่งเงินตราคืออีกความเชี่ยวกรากที่เจี่ย จาง เคอ สะท้อนออกมาโดยเน้นย้ำอย่างยิ่งในหนังเรื่องล่าสุด ไล่ตั้งแต่การใช้ธนบัตรที่มีรูปหุบเขา 1 ใน 3 หุบ อันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญบริเวณที่มีการสร้างเขื่อน ทั้งยังเป็นที่มาของชื่อเขื่อน เป็นสัญลักษณ์ให้เห็นว่าเงินมีอำนาจเหนือกว่า และกำหนดความเป็นไปของทุกสิ่ง

เช่นเดียวกับโปสเตอร์หนังที่ใช้ลวดลายของธนบัตรนี้เป็นแบ็คกราวนด์แล้วให้ตัวละครหลักอย่างซานหมิงและเสินฮงอยู่ด้านหน้า เท่ากับว่าตัวละครก็ตกอยู่ภายใต้อำนาจ “เงิน” หรือ “ทุน” เช่นกัน

บทบาทของเงินถูกนำเสนอตั้งแต่ฉากแรกที่ซานหมิงเดินทางมาถึงเฟิงเจีย เขาโดนลากไปนั่งดูการสาธิตเสกกระดาษให้เป็นธนบัตรดอลลาร์ ยูโร และลงท้ายที่เงินหยวน ก่อนจะโดนรีดไถค่าวิชา

ฉากนี้นอกจากจะสื่อถึงอิทธิพลของเงิน ทั้งเงินหยวนและเงินสากลอย่างดอลลาร์กับยูโรแล้ว เป็นที่รู้กันว่าจีนถูกต่างชาติโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาโจมตีเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์มาตลอด การเสกกระดาษให้เป็นธนบัตรดอลลลาร์กับยูโรจึงเป็นมุขเสียดสีตนเองอยู่กลายๆ เพราะแม้แต่เงินยังเสกได้อย่างง่ายดาย โดยให้ตัวละครที่มาไถเงินค่าวิชาจากซานหมิงพูดว่า “ไม่รู้จักทรัพย์สินทางปัญญารึไง”

เงินปรากฏเป็นสัญลักษณ์อีกครั้งในฉากที่ หน่า ผู้คลั่งไคล้โจว เหวิน ฟะ ดูหนังเรื่อง A Better Tomorrow(โหด เลว ดี - 1986) ตัวละครที่โจว เหวิน ฟะแสดง เผาธนบัตรดอลลาร์เพื่อจุดบุหรี่ หน่าลองเลียนแบบฉากนี้บ้างแต่ก็ทำได้แค่เผาเศษกระดาษแทนธนบัตร

นอกจาก A Better Tomorrow แล้ว หน่ายังใช้เสียงเรียกเข้าโทรศัพท์มือถือหรือริงโทนเป็นเพลงธีมจากหนังชุด Shang Hai tan(1983) หรือ “เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้” ที่โจว เหวิน ฟะ รับบทสำคัญ และด้วยความที่อยากเป็นอย่างลูกพี่โจว ทำให้หน่าทำตัวเป็นนักเลงหัวไม้และพบจุดจบที่คาดไม่ถึง

บทลงท้ายของซานหมิงที่ยอมกลับบ้านไปทำงานหาเงิน 1 หมื่นหยวนมาใช้หนี้นายจ้างของภรรยา เพื่อจะพาเธอกลับไปเป็นครอบครัวเดียวกันอีกครั้ง แสดงให้เห็นว่าแม้เงินจะมีอิทธิพลพียงใด แต่สำหรับคนคนหนึ่ง คุณค่าบางอย่างย่อมมีความสำคัญเหนือกว่า


ย้อนแย้ง-เกินจริง-นิ่งงัน

จุดเด่นด้านภาษาภาพของ เจี่ย จาง เคอ มี 3 ลักษณะ หนึ่งคือการเล่นกับความขัดแย้งคู่ขนาน (paradox) โดยหยิบสิ่งที่ต่างกันคนละขั้วมาไว้ในเฟรมภาพเดียวกัน สองคือภาพที่แสดงออกอย่างเกินจริงและเหนือจริง สามคือภาพนิ่งที่เปี่ยมความหมาย

ความขัดแย้งคู่ขนานถูกใช้เพื่อสื่อถึงความเปลี่ยนแปลงในยุคโลกาภิวัตน์โดยตรง เช่น คู่ขัดแย้งระหว่างโลกยุคใหม่กับโลกยุคเก่า วัฒนธรรมใหม่ๆ กับวัฒนธรรมดั้งเดิม หรือความร่ำรวยกับความยากจน ตัวอย่างเช่นในเรื่อง The World มีภาพระยะไกลสุดของหอไอเฟลจำลอง สักพักมีคนจรจัดหิ้วถุงขยะเดินผ่านด้านหน้าของภาพ หรือใน Still Life มีภาพคนใส่ชุดงิ้ว 3 คน นั่งก้มหน้าก้มตาเล่นเกมกด และภาพซากปรักหักพังของตึกที่โดนทุบ “ทำลาย” ในอาณาบริเวณของการ “สร้าง” เขื่อน

ฉากที่เสินฮงขอหย่ากับสามีโดยมีเขื่อนซานเสียที่เพิ่งสร้างเสร็จอยู่ด้านหลัง ถือเป็นการใช้ความหมายของเรื่องราวและฉากหลังมาสร้างความขัดแย้งได้เช่นกัน

สำหรับภาพเกินจริงและภาพเหนือจริงถูกใช้เพื่อสื่อความหมายคล้ายๆ กับภาพขัดแย้งคู่ขนาน เช่นใน Still Life มีอยู่ 2 ฉากที่ปรากฏเด็กชายคนเดียวกันร้องเพลงที่มีเนื้อหาบรรยายถึงความรัก(เพลงหนึ่งมีชื่อแปลเป็นไทยว่า “หนูรักข้าว” ของ หยาง เฉิน กัง ซึ่งวงทวินส์เคยนำมาร้องใหม่)

ใช่หรือไม่ว่าเพลงรักสำหรับผู้ใหญ่โดยเด็กผู้ชายที่ร้องได้อย่างเต็มอารมณ์เป็นภาพที่ดูเกินจริง การที่เด็กคนนี้ปรากฏทั้งในตอนของซานหมิงและตอนของเสินฮง สองตัวละครที่กำลังตามหาคนรักเหมือนกันแต่ต่างวัตถุประสงค์ จึงราวกับว่าหนังกำลังตั้งคำถามถึง “ความรัก” ว่ายังมีความหมายต่อผู้คนเพียงใด


ส่วนภาพเหนือจริง เช่น การปรากฏของแสงคล้ายยูเอฟโอเหนือท้องฟ้า ภาพสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่(คาดว่าเป็นหอควบคุมเขื่อน) กลายเป็นยาวอวกาศพุ่งทะยานขึ้นฟ้า หรือภาพคนไต่ลวดที่ปรากฏให้ซานหมิงเห็นในฉากสุดท้าย ทั้งหมดนี้ล้วนแต่สื่อถึงสภาพความแปลกแยกของตัวละครในโลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วเกินกว่าจะตามได้ทัน

สำหรับภาพนิ่งไม่ใช่การหยุดภาพ แต่เป็นการแช่กล้องทิ้งไว้ชั่วอึดใจหนึ่งโดยที่ผู้แสดงหรือตัวละครยืนนิ่งอยู่ ภาพที่ได้นอกจากจะมีองค์ประกอบสวยงามแล้ว ยังสื่อความหมายได้อย่างดี(ชื่อหนัง Still Life หมายถึงภาพหุ่นนิ่ง ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของงานศิลปะ) ตัวอย่างเช่นภาพตัวละครลูกจ้างโรงงานที่เสียแขนยืนนิ่งอยู่กับน้องสาว มีสิ่งปลูกสร้างที่ไม่ใช้งานแล้วของโรงงานอยู่ด้านหลัง สังเกตว่ารูปทรงของวัตถุ(คน) กับฉากหลังเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คนจึงเปรียบเป็นสิ่งของ “หมดสภาพ” ไม่ต่างจากโรงงานที่ต้องปิดตัวเพราะการสร้างเขื่อน

ภาพทั้ง 3 ลักษณะที่ยกมาเป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น ยังมีภาพหรือฉากให้สังเกตคิดตามอีกมากมายในหนังเรื่องนี้


สรุป

Still Life คืองานที่ เจี่ย จาง เคอ ขึ้นสู่จุดสูงสุดด้วยการหลอมรวมความเป็นศิลปิน นักคิด นักออกแบบ และแสดงออกมาได้ในอย่างงดงามลงตัว ที่สำคัญคืองานของเขาเปี่ยมด้วยประเด็นทางสังคม วิพากษ์อย่างคมคาย มีชั้นเชิง ไม่ฟูมฟายกับปัจเจกหรือไหลเรื่อยกับอารมณ์ความรู้สึก แม้จะยังประนีประนอมกับผู้ชมในวงกว้างได้ไม่ถึงที่สุด ด้วยกรอบการสร้างสรรค์ที่แตกต่างจากกระแสหลัก แต่นี่มิใช่หรือที่ทำให้งานชิ้นนี้มีคุณค่ายิ่งนัก

อย่างน้อยที่สุด...หนังทำให้เรารู้จัก “จีน” ในอีกแง่มุมหนึ่ง เป็นแง่มุมที่ไม่ใช่เพียงผิวเผิน หรือเต็มไปด้วยการคาดเดาเช่นที่ผ่านมา



Create Date : 24 มิถุนายน 2550
Last Update : 25 มิถุนายน 2550 3:16:27 น. 5 comments
Counter : 2796 Pageviews.

 
ละเอียดดีจังเลยครับ แต่ว่าไม่เคยดูอ่ะ


โดย: sak (psak28 ) วันที่: 24 มิถุนายน 2550 เวลา:14:40:26 น.  

 
กรี๊ด อยากดูง่า

เคยดูแต่ The World ชอบมาก


โดย: merveillesxx วันที่: 24 มิถุนายน 2550 เวลา:17:41:13 น.  

 
น่าดูมากๆ เลยค่า


โดย: แพนด้ามหาภัย วันที่: 24 มิถุนายน 2550 เวลา:21:45:19 น.  

 
ยาวมั่กๆ ยังอ่านไม่หมด
แต่คิดถึงลูกอมกระต่ายขาว


โดย: ทะเลอาบแสงจันทร์ วันที่: 26 มิถุนายน 2550 เวลา:1:43:31 น.  

 
นี่ขนาดหนังยาวแค่ 100 กว่านาทีนะเนี่ย..

ละเอียดและลึกซึ้งมากเลยค่า ทั้งคนทำหนังและผู้เขียน...^_^


โดย: renton_renton วันที่: 28 มิถุนายน 2550 เวลา:8:25:56 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

แค่เพียงรู้สึกสุขใจ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




บทวิจารณ์ภาพยนตร์รางวัลกองทุน
ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ปี 2549

..............................








พญาอินทรี




ศราทร @ wordpress
Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2550
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
 
24 มิถุนายน 2550
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แค่เพียงรู้สึกสุขใจ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.